Home

  • นิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

    นิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

    เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้หนังสือรายเดือนของ “นิยมไพรสมาคม” มาจากมิตรสหายหลายเล่มและกำลังทะยอยอ่านอย่างบรรจง (เพราะหนังสือเหล่านี้มีอายุ 65 ปี แทบจะกรอบเป็นผงอยู่แล้ว)  

    ผมอ่านแล้วตื่นตะลึงมากครับ ผมเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลมาบ้างว่าท่านสร้างสรรค์ส่งดีๆไว้มากมาย แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องนิยมไพรสมาคมมากนัก  และดูเหมือนว่าเรื่องราวของสมาคมนี้ได้เลือนหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยแล้ว  เลยขอมาเล่าเรื่องหลายอย่างสู่กันฟังถึงประวัติศาสตร์สำคัญของการอนุรักษ์ในบ้านเราที่กำลังจะลืมเลือนไป

    ในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยยังไม่รู้จักกับคำว่า “อนุรักษ์” ใดๆเลย (ในหนังสือก็ยังไม่มีคำนี้) ตอนนั้นใครอยากจับจองที่ตรงไหนก็ไปแจ้งที่อำเภอแล้วก็ลงมือถาง สัตว์ป่าทุกชนิด (ยกเว้นช้าง) ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครอง ใครอยากล่าอะไรด้วยวิธีไหน จำนวนเท่าไหร่ก็ไม่จำกัด

    หน่วยราชการ และรัฐบาลไม่เคยสนใจเรื่องนี้  ไม่เคยมีความคิดเห็นหรือแสดงท่าทีว่าจะพยายามหยุดการทำลายล้างนี้เลย 

    ผมยังไม่แน่ใจว่า “นิยมไพรสมาคม” นั้นเริ่มต้นมาได้อย่างไร (ถ้าใครรู้ช่วยแบ่งปันชี้แนะด้วยครับ) แต่เห็นได้ชัดว่า นี่คือการรวมตัวกันของนักนิยมไพร ที่เข้าใจธรรมชาติและรักธรรมชาติอย่างแท้จริง พวกเขารวมตัวกันเพราะไม่ต้องการเห็นธรรมชาติที่เขารักถูกทำลายลงไปต่อหน้า โดยที่มีคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลผู้เป็นเลขานุการ สมาคมเป็นฟันเฟืองหลักและผู้ใหญ่อีกมากมายหลายท่านร่วมงานด้วย

    ผมอ่านพบว่า นิยมไพรสมาคมทำหนังสือหลายฉบับถึงรัฐบาลเรียกร้องให้จริงจังกับการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายที่ดิน, ออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า และประกาศให้พื้นที่สำคัญทางธรรมชาติเป็นวนอุทยาน ฯ พร้อมๆกับที่พยายามเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรมชาติให้กับคนทั่วไปด้วยการออกหนังสือ, จัดบรรยาย,​ฉายภาพยนต์ ฯลฯ

    พอได้อ่านบทความต่างๆในหนังสือนิยมไพร ผมก็ยิ่งทึ่งขึ้นไปอีกระดับ ในยุคนั้นที่ยังไม่มีคำว่า “อนุรักษ์”​ ไม่มีการศึกษาข้อมูลหรือวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าโดยรัฐเลย (ตอนนั้นกรมป่าไม้มุ่งเน้นการจัดการการทำไม้เป็นงานหลัก) นิยมไพรสมาคม น่าจะเป็นองค์กรแรกที่เริ่มทำเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวม จำแนกสัตว์ป่า,​นก, แมลง, หอย ฯ มาบันทึกและเผยแพร่ 

    นอกจากนี้หนังสือเล่มเล็กๆนี้ยังมีบทความที่พาเที่ยวธรรมชาติให้คนหันมาสนใจธรรมชาติมากขึ้น, บทความให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และเรียกร้องให้มีการสงวนรักษาธรรมชาติที่ถูกต้อง ไปจนถึงการแปลบทความและหนังสือชั้นยอดเกี่ยวกับการอนุรักษ์จากต่างประเทศมาให้อ่านกัน

    หลายปีหลังจากที่นิยมไพรสมาคมเรียกร้อง รัฐบาลในยุคนั้นก็เริ่มขยับตัว มีการร่างกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า, ประกาศเขตวนอุทยาน และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของ “การอนุรักษ์” ในบ้านเรา

    น่าเสียดายว่า นิยมไพรสมาคม หยุดดำเนินการไปด้วยสาเหตุใดที่ผมก็ไม่อาจทราบได้

    เมื่อได้อ่านหนังสือนิยมไพรหลายเล่มเข้า ผมก็เกิดความรู้สึกที่ปะปนกันหลายอย่างจนอยากจะมาบอกเล่าสู่กันฟังครับ

    ความรู้สึกแรกคือทึ่งครับ นิยมไพรสมาคมในตอนนั้นคงจะรวบรวมเอาคนเก่ง, คนรักและเข้าใจธรรมชาติ และตั้งใจจริงมาไว้ด้วยกัน จึงสามารถนำเสนอแนวความคิดที่ล้ำสมัย สามารถชี้แนะแนวทางของการอนุรักษ์ได้ก่อนกาลเช่นนั้น

    ความรู้สึกที่สอง ผมเข้าใจแล้วครับ ราชการ, รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนก็ไม่เคยคิดทำนโยบายอะไรดีๆเกี่ยวกับธรรมชาติได้เอง เพราะเขาขาดทั้งวิสัยทัศน์ที่กว้างพอ, ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และขาดแรงจูงใจให้ผลักดันอะไรที่ต่างไปจากที่ทำอยู่เดิมๆ ดังนั้นจะทำอะไรดีๆให้เกินขึ้นได้ในประเทศนี้ คงต้องเกิดจากการเรียกร้องของประชาชนที่มีความรู้ความตั้งใจดีมารวมตัวกันแล้วหาทางเรียกร้องอย่างสร้างสรรค์

    ความรู้สึกที่สามคือละเหี่ยใจครับ เมื่อเห็นสิ่งที่นิยมไพรสมาคมเคยทำในอดีตแล้วหันมามอง NGO สายอนุรักษ์ในบ้านเราตอนนี้ วิสัยทัศน์, ความเข้าใจในเชิงลึกและมุมกว้างของธรรมชาติ และความสามารถแตกต่างกันเหลือเกินครับ NGO สายอนุรักษ์ในปัจจุบันจึงไม่สามารถเรียกร้องหรือผลักดันในระดับนโยบาย ให้ออกหรือปรับเปลี่ยนกฎหมายหรือแนวทางปฏิบัติของรัฐเพื่อให้เกิดแนวทางอนุรักษ์ที่ถูกต้องได้ ส่วนใหญ่ก็ทำหน้าที่เพียงคอยต่อต้านระดับโครงการของรัฐที่มีผลเสียต่อธรรมชาติ

    ความรู้สึกที่สี่ เสียดายครับ ที่แนวทางการอนุรักษ์ที่นิยมไพรสมาคมวางรูปแบบและแนวทางไว้อย่างถูกต้องด้วยความเข้าใจธรรมชาติที่เขามีอย่างลึกซึ้งและถูกใส่ไว้ในกฎหมายอนุรักษ์ฉบับแรกๆที่พวกเขาช่วยผลักดัน ได้ถูกบิดเบือนเปลี่ยนแปลงไปจนเสียทิศทางไปจนยากที่จะทำให้การอนุรักษ์ของประเทศนี้จะประสบความสำเร็จได้

    แนวทางไหนหรือที่ผมพูดถึง? มันคือหลักการที่เป็นพื้นฐานที่สุดของการอนุรักษ์ครับ ลองอ่านข้อความนี้ดูแล้วอาจจะเข้าใจครับ

    “การสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่หมายถึงการเก็บหรือสงวนรักษาไว้โดยไม่ใช้ แต่หมายถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฉลาด คือใช้ให้ดีที่สุด ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด และให้ยืดเยื้อนานที่สุดเท่าที่จะนานได้” (1) 

    จากบทความ การสงนรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดย อาจารย์เจริญ บุญญวัฒน์

    ในหนังสือนิยมไพร ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 ปี 2501

    ผมยังหวังว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยเราจะมีองค์กรที่รวบรวมผู้คนที่มีความรู้กว้างขวาง, เข้าใจธรรมชาติอย่างถูกต้องและลึกซึ้ง และมีความตั้งใจดีที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติอย่างนิยมไพรสมาคม เกิดขึ้นมาอีกสักครั้ง และนั่นอาจจะเป็นความหวังเดียวที่จะช่วยผลักดันให้ “การอนุรักษ์”​ ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ก่อนที่จะเดินตกเหวไปในทิศทางที่มันกำลังเป็นอยู่ครับ

    หมายเหตุ 

    ผมเชื่อว่าข้อความนี้เป็นการแปลคำพูดของ Gifford Pinchot ผู้ที่เป็นผู้ก่อตั้งคนแรกของ U.S. Forest Service ที่เป็นคนสำคัญคนหนึ่งวางรากฐานการอนุรักษ์ของประเทศอเมริกา ที่สามารถฉลิกโฉมจากการทำลายล้างอย่างเลวร้ายมาเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ประสบความสำเร็จที่สุดประเทศหนึ่งในโลก  คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล เคยเดินทางไปพบกับภรรยาของ Gifford Pinchot เพื่อสนทนาและขออนุญาตนำประวัติของสามีผู้ล่วงลับมาแปลและเผยแพร่ให้คนไทยได้อ่านกัน และนิยมไพรสมาคมก็ได้แปลและจัดพิมพ์ออกมา

  • Editor ใช้ Award เดินป่า โดยตาเกิ้น

    Editor ใช้ Award เดินป่า โดยตาเกิ้น

    พวกเราที่ ThailandOutdoor มีความโชคดีที่เราได้มีโอกาสทดสอบทดลองอุปกรณ์กลางแจ้งมากมาย และก็จะมีของบางอย่างที่เราทดสอบแล้วชอบจนซื้อไว้ใช้เอง

    เราเรียกของเหล่านั้นว่า “Editor ใช้ Award” 

    และนี่คือ “Editor ใช้ Award” ปี 2022 จากตาเกิ้นครับ

    VDO ยาวนะครับเพราะอธิบายกันทุกอย่างรวมถึงเหตุผลที่เลือกใข้ในสถานการณ์ต่างๆกัน เราแบ่งเป็นช่วงๆให้เลือกดูกันได้ครับ ตามนี้เลย

    บางคนอาจจะบอกว่าผมใช้แต่ของแพงๆหรูๆ ก็อาจจะจริง หรือไม่ แล้วแต่มุมมองครับ ทุกอย่างในชีวิตเราล้วนแล้วแต่ขึ้นกับว่าเราให้ลำดับความสำคัญกับอะไร 

    สำหรับผมแล้ว ผมไม่ได้ซื้อของอื่นหรูหราอะไร แต่การออกมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การเดินป่า คือความสุขในชีวิตผม ผมจึงเลือกใข้แต่ของดีๆ ที่อยู่กับเรานานๆ ใช้ทนๆ และที่สำคัญใช้แล้วมีความสุข จะเห็นได้เลยว่าของที่ผมใช้นี้ ผมไม่ได้เปลี่ยนบ่อยๆ ของบางอย่างใช้มาตั้งแต่ก่อนมีร้าน ThailandOutdoor และอีกหลายๆอย่างก็คงจะใช้ไปตลอดชั่วชีวิต

    เมื่อเป็นอย่างนี้ ผมจึงไม่คิดว่าของเหล่านี้เป็นของหรูของแพงครับ

    ดูรายละเอียดของอุปกรณ์ทุกชิ้นได้ที่นี่เลยครับ 
    https://thailandoutdoorshop.com/collections/editor-award-2022

  • ไปเรียนหลักสูตรปืนพกต่อสู้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

    ไปเรียนหลักสูตรปืนพกต่อสู้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

    ผมเขียนบทความนี้ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2552 เขียนข้างหลังกระดาษสำเนา ป.4 (ทะเบียนปืน) ในช่องยิงทันทีที่เรียนเสร็จ เขียนด้วยความประทับใจของการสอนยิงปืนในคอร์สนี้ ถึงวันนี้แม้ว่าหลายๆอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ผมยังคงข้อความทุกอย่างที่เขียนในบทความนี้ไว้อย่างเดิมรวมทั้งรูปภาพเดิมที่อาจจะไม่ชัดนัก ด้วยความตั้งใจ

    ปัจจุบันโรงเรียนสอนยิงปืนแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมยิงปืนเขาสามยอด ยังตั้งอยู่ที่สถานที่เดิมในค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี สอนมาต่อเนื่องถึง 14 ปีแล้วถ้านับถึงวันนี้ หลักสูตรพัฒนาไปมาก และมีถึง 8 หลักสูตรให้เรียนได้ตามลำดับขั้น และยังสอนโดยหัวหน้าชุดครูท่านเดิมที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะให้คนไทยได้เรียนรู้การใช้อาวุธปืนได้อย่างถูกต้อง

    ผมเชื่อว่าที่นี่คือโรงเรียนสอนยิงปืนที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถเรียนได้ในประเทศไทย ผมเขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้ที่ตอนท้ายของบทความนี้ครับ


    ในสังคมที่บิดเบี้ยวมากขึ้นทุกวัน ดูเหมือนพวกเราสุจริตชนจะต้องเสี่ยงกับภัยคุกคามรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโจร ขโมยที่ชุกชุมขึ้นจากอาการสะดุดของเศรษฐกิจ, คนร้ายใจวิปริตหลากหลายรูปแบบ, การก่อการร้ายที่ไม่เคยจบสิ้น ไปจนถึงจลาจลที่อาจเกิดขึ้นใกล้ตัว ตัวคนเดียวไม่เท่าไหร่ คนที่มีครอบครัว ความกังวลก็ยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ

    อำนาจบ้านเมืองย่อมเป็นที่พึ่งหลัก แต่ก็ใช่ว่าความคุ้มครองการช่วยเหลือจะมีทั่วถึงหรือทันเวลาเสมอไป หลายคนจึงต้องยึดหลักตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน การมีอาวุธปืนไว้เฝ้าบ้านป้องกันครอบครัวจึงเป็นทางเลือกของคนจำนวนไม่น้อย แต่เพียงมีปืนไว้ก็ปลอดภัยแล้วหรือ? 

    ปืนอาจะไม่เหมือนดาบ แต่ที่คล้ายกันคือมันล้วนมีสองคม คือนอกจากเป็นอาวุธป้องกันตัวแล้ว ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อเจ้าของได้ด้วยหากไม่คุ้นเคย

    เกิน 80% ของคนที่มีปืนล้วนไม่เคยเอาปืนที่เขามีออกมายิงเกินหนึ่งครั้ง(ยิงตอนที่ซื้อมาใหม่ๆ) ส่วนนี้นับว่าปืนอาจเป็นของอันตรายกับเจ้าของและคนรอบข้างพอควรเลยทีเดียว เพราะความไม่คุ้นเคยกับกลไกของปืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ(ที่เรียกกันสั้นๆว่าปืนออโต)ที่มีกลไกซับซ้อนแต่เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน อาจจะนำไปสู่อุบัติเหตุได้ง่าย

    อีก ส่วนใหญ่ของ 20% ที่เหลือ แม้จะเคยเอาปืนมาซ้อมยิงเป้ากระดาษบ้างนานๆครั้ง บางคนอาจมั่นใจว่ายิงปืนได้แม่นยำ แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ปืนในสถานนะการจริงล่ะ ส่วนใหญ่คงไม่เคยรู้ว่าต้องฝึกฝนอะไรบ้าง 

    ผมเองก็ตกอยู่ในกลุ่มหลังนี้ แม้จะยิงปืนได้ดีระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่เคยมั่นใจว่าหากมีเหตุจำเป็น ผมจะหยิบปืนขึ้นมาใช้ได้แบบที่ยิงเป้ากระดาษ

    ผมเสาะหาคอร์สสอนยิงปืนในเชิงป้องกันตัวอยู่นานแต่ไม่เคยพบคอร์สที่ถูกใจ จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันนี้เมื่อมีพี่ที่เคารพท่านหนึ่งให้ดูหลักสูตรฝึกยิงปืนพกป้องกันตัวของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ฉ.ก.90


    หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ฉ.ก.90

    ทำความเข้าใจกันสักนิดว่า หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ฉ.ก.90 นั้น เป็นหน่วยพิเศษของกองทัพบกที่มีภารกิจหลักในการต่อต้านการก่อการร้ายสากล จากการฝึกที่เข้มข้นเพื่อให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามระดับก่อการร้ายข้ามชาติและประสบการณ์จากการทำงานจริง ทำให้หน่วยนี้มีความชำนาญให้การใช้อาวุธจนกลายเป็นหน่วยที่มีภารกิจเสริมในการที่จะสอนและฝึกการใช้อาวุธให้กับหน่วยงานของรัฐหน่วยอื่นเช่น หน่วยปราบปรามยาเสพติด, ตำรวจ และทหารในหน่วยอื่น มาตลอด

    ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ทางหน่วย ฉ.ก.90 ได้นำเอาความรู้, ประสบการณ์การใช้อาวุธในสถานะการจริงและการประสบการณ์ในการสอนที่สะสมมานานปี มากลั่นกรองเป็นหลักสูตรปืนพกต่อสู้ที่เหมาะสมกับประชาชนทั่วไปจะใช้ป้องกันตัวในยามจำเป็น แล้วเปิดสอนให้กับประชาชนทั่วไป

    หลักสูตรนี้ใช้เวลาฝึกกันเต็มๆ 2 วัน ลองมาดูกันครับ ว่าเราได้เรียนรู้อะไรกันบ้างจาก 2 วันนี้

    ไปฝึกยิงปืน 

    เช้าวันเสาร์ ที่สนามยิงปืนฉ.ก.90 ลพบุรี 

    การฝึกเริ่มต้นจากการบรรยายสั้นๆเพื่อเน้นย้ำสิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งแรกของการใช้อาวุธปืนนั้นก็คือความปลอดภัย จากนั้นก็เป็นการปรับพื้นฐานในการยิงปืนไม่ว่าจะเป็นท่ายืน การจับปืน การเล็ง การลั่นไก ฯ แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ก็สอดแทรกไว้ด้วยเกร็ดความรู้เกี่ยวการยิงปืนแบบต่อสู้ แม้ผมจะเคยยิงปืนมาก่อนก็ยังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากการบรรยายในห้วงสั้นๆนี้มากมายหลายอย่าง

    จากนั้นก็ถึงเวลาออกแดดลงมือจริงกัน 

    ช่วงแรกเป็นการฝึกโดยที่ยังไม่ใช้กระสุนจริง เน้นย้ำกันมากๆในเรื่องของความปลอดภัย อย่างที่กล่าวละครับ ปืนออโต้ที่นิยมกันมากในยุคนี้นั้นเป็นปืนที่มีกลไกซับซ้อนต้องทำความเข้าใจให้ดีและฝึกฝนให้คล่องจึงจะใช้ได้คล่องแคล่วและปลอดภัย ฝึกซ้อมซ้ำไปมาจนคล่องและแน่ใจว่าทุกคนทำได้อย่างปลอดภัยแล้วจริงๆ

    จากนั้นก็เป็นเรื่องของท่าทางและขั้นตอนการยิงพื้นฐานที่ได้ฟังบรรยายกันมา ท่ายิงที่ฝึกกันนี้เป็นท่ายิงที่อาจต่างไปจากท่ายิงที่เราพบเห็นกันในที่อื่นบ้างเพราะเป็นท่ายิงที่เน้นความเร็วเพื่อให้พร้อมที่จะป้องกันตัวจากภัยคุกคาม

    “เราไม่ได้ฝึกเพื่อให้พี่ๆไปแข่งขันยิงปืนแม่นยำในสนามหรือจัดท่าให้เท่ห์เพื่อไปเล่นหนังนะครับ แต่เราอยากจะให้พี่ฝึกท่าทางการยิงที่คล่องตัวและแม่นยำพอที่จะนำไปใช้ป้องกันตัวได้จริงๆในเวลาที่จำเป็นต้องใช้” ครูเน้นยำอยู่เสมอของจุดมุ่งหมายของการฝึกฝน

    ด้วยถ้อยคำสุภาพจากครูฝึกทุกคน “สิ่งที่ผมอยากจะแนะนำพี่คืออย่างนี้ครับ ….” ที่เราได้ยินตลอดทั้งวัน เมื่อออกมาจากปากผู้ที่รู้จริงในวิถีที่เต็มไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน สร้างให้เรามีความนับถือและทัศนคติที่ดีต่อสุภาพบุรุษจากกองทัพบกหน่วยนี้เป็นอย่างมาก

    การฝึกฝนในวันแรกดำเนินต่อไปด้วยการแก้ไขข้อขัดข้องของปืนแบบต่างๆ, การเปลี่ยนซองกระสุน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจและฝึกฝนให้คล่อง การทำความเข้าใจกับเงื่อนไขความพร้อมของอาวุธในแบบต่างๆที่จะใช้งานและการปฏิบัติเพื่อให้อาวุธปืนใช้งานได้ทันที ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการที่จะทำให้อาวุธของเราพร้อมใช้งานได้ในนาทีคับขันทั้งสิ้นโดยที่เรามักจะไม่เคยคำนึงถึงและไม่เคยฝึกฝนมาก่อน

    หลังจากฝึกฝนกันจนคล่องแล้วเราก็จบวันโดยการยิงกระสุนจริงเพื่อทดสอบศูนย์, นำท่าทางการยิงที่ฝึกมาใช้งานจริง และสร้างความคุ้นเคย

    เมื่อจบวันในยามเย็น พวกเราหลายคนถึงกับอ่อนระทวย แถมกลับไปด้วยรอยยิ้มของครูฝึกที่มากับคำพูดที่ว่า “พรุ่งนี้สนุกกว่านี้อีกมากครับพี่”


    ฝึกฝนให้หล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียว

    เช้าวันรุ่งขึ้น เราเริ่มวันกันด้วยการทบทวนสิ่งที่ฝึกฝนเมื่อวันวาน

    “ผมอยากจะให้พี่ๆฝึกฝนจนปืนนั้นหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวกับร่างกาย เป็นอวัยวะส่วนที่ 33 เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ในยามจำเป็นเราก็จะหยิบจับได้อย่างอัตโนมัติ”

    เมื่อฝึกซ้ำๆเข้า หลายคนที่เคยติดขัด ดึงสไลด์ไม่ออก หยิบจับปืนไม่คล่องตัว เริ่มมีท่าทางทะมัดทะแมงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

    เพื่อนๆบางคนถึงกับเอ่ยปาก “ผมซื้อปืนกระบอกนี้มาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ซื้อมายังดึงสไลด์รวมกันไม่เท่าสองวันนี้เลย”

    หลังจากทบทวนเราก็ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆอีกหลายอย่างเช่น การหันเพื่อยิงเป้าหมายทางด้านข้างและด้านหลัง, การยิงหลังที่กำบัง, การยิงและเปลี่ยนซองกระสุน และการยิงหลายเป้าหมาย โดยที่แบ่งออกเป็นสี่ฐานให้เราหมุนเวียนกับไปฝึก

    การหมุนเวียนไปฝึกที่แต่ละฐานนี้ทำให้เราได้พบกับครูฝึกทั่วถึงมากขึ้น เห็นได้ชัดเลยครับว่าครูในชุดนี้ทุกท่านมีความรู้ความสามารถในการใช้อาวุธอย่างลึกซึ้งมาก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจถ้าเราคิดย้อนไปว่าครูฝึกทุกท่าน คือเจ้าหน้าที่ในชุดปฏิบัติการ ที่ได้รับการฝึก และผ่านการปฏิบัติหน้าที่มาแล้ว มิใช่เพียงคนที่อ่านทฤษฎีแล้วมาสอนเรา นอกจากนี้ยังประทับใจกับความสุภาพ, ความเอาใจใส่และความทุ่มเทของครูทุกคน ถึงขนาดถ้านักเรียนคนไหนทำอะไรไม่ได้ครูก็ไม่เลิกสอนแม้จะต้องแยกไปสอนกันเดี่ยวๆหรือจะต้องสอนเพิ่มให้ในเวลาพัก

    การเรียนรู้ในช่วงนี้เปิดทัศนคติใหม่ๆในการใช้ปืนป้องกันตัวอีกไม่น้อย แม้จะดูหัวข้อที่ฝึกเป็นเรื่องธรรมดาแต่เทคนิคที่นำมาสอนนั้นเป็นเรื่องที่เรานึกไม่ถึง ตัวอย่างหนึ่งก็คือการใช้ที่กำบังที่เรามักจะทำกันเลียนแบบท่าที่เห็นในภาพยนต์ แต่เทคนิคที่ถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงของตัวเรากลับต่างไปมาก

    ควบคุมให้ได้

    “พี่ๆได้เรียนรู้การใช้อาวุธป้องกันตัวตามที่พวกผมแนะนำให้แล้ว แต่ข้อสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการใช้อาวุธปืน คือการควบคุมให้ได้”

    การควบคุมนั้น มิเพียงแต่ควบคุมอาวุธในมือ แต่หมายถึงการควบคุมอารมณ์และสติของผู้ใช้อาวุธด้วย และนั่นเราก็ได้เรียนรู้กันในขั้นตอนของการทดสอบ

    ในช่วงสุดท้ายของการฝึกคือการทดสอบด้วยการนำทักษะที่ฝึกแล้วมาใช้ในสนามพร้อมการจับเวลา

    การจับเวลาและความต้องการที่จะผ่านการทดสอบนับเป็นแรงกดดัน แต่มันน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับแรงกดดันจริงที่เราจะต้องเจอหากโชคร้ายไปเจอสถานการณ์จริง ถึงกระนั้นมันก็เพียงพอให้เราหลงลืมบางอย่าง สับสนกับสิ่งเล็กน้อยที่ฝึกมาจนคล่อง

    ในช่วงการทดสอบ ผมเห็นความแตกต่างของเพื่อนอย่างชัดเจน บางคนที่เมื่อวานยังดึงสไลด์ไม่ออก (อย่างเช่นภรรยาผม ที่ดึงไม่ออกหลายๆครั้งเข้าก็น้ำตาคลอพาลจะเอาปืนคว้างหัวผมแล้วเลิกเรียนอยู่รอมร่อ) ในวันนี้สามารถวิ่งเข้าไปชักปืนจากซองกระชากสไลด์แล้วยิงเข้าเป้าหมาย 5 นัดซ้อนในเวลาเพียง 12 วินาทีได้ ฯลฯ

    จุดเร่ิมต้นของสิ่งดีๆที่จะตามมา

    ผมพบว่าหลักสูตรการยิงปืนพกต่อสู้ ฉ.ก.90นี้ เป็นหลักสูตรยิงปืนที่เหมาะมากสำหรับคนที่มีปืนไว้ปกป้องครอบครัว เนื้อหาและการฝึกสมบูรณ์ครอบคลุมเรื่องที่จำเป็นต้องรู้และเพียงพอสำหรับการใช้งาน

    การเรียนรู้และการฝึกฝนทั้งสองวันนี้ สร้างความมั่นใจให้ผมพร้อมขึ้นมากหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธปกป้องครอบครัวในเวลาคับขัน 

    “พวกเราไม่ได้ทำเพื่อเชิงพาณิชย์ครับ เราเพียงแค่อยากจะให้คนไทยมีสนามฝึกยิงปืนดีๆอย่างที่ฝรั่งเขามี Blackwater เพื่อให้คนไทยได้ใช้ปืนได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย” 

    นั่นเป็นความมุ่งมั่นที่เรามิเพียงได้ยินจากปากแต่รู้สึกได้จากการปฏิบัติของครูฝึกทุกท่านในหน่วย ฉ.ก.90 

    ผมเชื่อเลยว่านี่คือจุดเริ่มต้นของสิ่งดีๆที่จะตามมาอีกมาก

    ตาเกิ้น

    มิถุนายน 2552


    ผมเชื่อว่าที่นี่คือโรงเรียนสอนยิงปืนที่ดีที่สุดในประเทศไทย

    หลังจากผ่านมา 14 ปี โรงเรียนสอนยิงปืนแห่งนี้พัฒนาไปไกลมากจากครั้งแรกที่ผมได้เข้าไปเรียน ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร,​เทคนิคการสอน, กระบวนการฝึก, อุปกรณ์ช่วยฝึก ฯ แต่ยังคงมั่นคงในหลักการที่จะให้ความรู้ในขอบเขตของประชาชนที่จะใช้อาวุธปืนป้องกันตัวและทรัพย์สินอย่างไรให้ปลอดภัยและถูกต้อง หลักการสอนเป็นไปตามปรัชญาที่ว่า “เริ่มจากง่ายไปหายาก” และ “ผู้รู้ย่อมเห็นเอง” โดยใช้ชื่อใหม่ว่าชมรมกีฬายิงปืนเขาสามยอด

    สิ่งที่ทำให้โรงเรียนแห่งนี้โดดเด่นมากก็คือการที่ชุดครูผู้ฝึกสอนล้วนแต่มีประสบการณ์จริงในการใช้อาวุธปืนประกอบเข้ากับการที่แสวงหาความรู้เทคนิคและเทคโนโลยี่ใหม่ๆของโลกการยิงปืนโดยตลอดไม่ยึดติดกับสิ่งเก่าๆเดิมๆ

    “หัวหน้าชุดครู” คือคนที่พวกเรานักเรียนที่นี่ให้ความเคารพรักและศรัทธา เพราะ “ครู” ท่านนี้ทุ่มเทมากที่จะทำให้คนไทยได้มีโอกาสเรียนรู้การใช้อาวุธปืนที่ถูกต้อง “ครู”เป็นผู้วางหลักสูตร,​ขั้นตอนและระบบการสอนไว้อย่างรอบคอบและรัดกุม, คอยพัฒนาหลักสูตรให้ดีขึ้นตลอดเวลา และยังทำหน้าที่สอนเองทุกครั้งตลอด 14 ปีที่ผ่านมา

    บอกได้แค่ว่าถ้ามีโอกาส ไปเรียนเถอะครับ อย่าพลาด


    รายละเอียดการฝึกยิงปืนหลักสูตรการยิงปืนพกต่อสู้ชมรมกีฬายิงปืนเขาสามยอด

    ปัจจุบันทางชมรมมีหลักสูตรยิงปืนทั้งหมด 8 หลักสูตรคือ

    1. หลักสูตรการยิงปืนพกต่อสู้ขั้นต้น
    2. หลักสูตรการยิงปืนพกต่อสู้ขั้นกลาง
    3. หลักสูตรการยิงปืนพกต่อสู้ขั้นสูง
    4. หลักสูตรการยิงปืนพกต่อสู้ทบทวนขั้นสูง
    5. หลักสูตรการยิงปืนลูกซองต่อสู้ขั้นต้น
    6. หลักสูตรการยิงปืนลูกซองต่อสู้ขั้นสูง
    7. หลักสูตรการยิงปืน PCC
    8. หลักสูตรการยิงปืนสั้นกล้องจุดแดง

      ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ทาง Facebook ชมรมกีฬายิงปืนเขาสามยอด https://www.facebook.com/profile.php?id=100063648667340
  • ชีวิตผ่านไปเร็วมากและงดงาม Next Thing You Know

    ชีวิตผ่านไปเร็วมากและงดงาม Next Thing You Know

    ผมชอบฟังเพลง Country American ครับ เพราะหลายๆเพลงมีเนื้อเพลงที่ดีมาก สามารถเล่าเรื่องราวได้ในเพลงเดียว คำพูดที่เลือกมาใช้ในเนื้อเพลงก็บรรจงคัดสรรมา บางครั้งถ้าตั้งใจฟังเพลงสักเพลงหนึ่งก็ราวกับได้อ่านหนังสือดีๆกินใจสักบท

    เอาเพลงนี้มาฝากกันครับ Next Thing You Know โดย Jordan Davis ตั้งใจจะเก็บเพลงนี้ไว้สำหรับวันครบรอบแต่งงานปีหน้า แต่ว่าเปลื่ยนใจ เอามาเขียนฉลองวันเกิดภรรยาผมเมื่อวานนี้ก็แล้วกันครับ

    Next Thing You Know เล่าเรื่องราวเหตุการสำคัญในชีวิตคู่ของใครสักคน อย่างชนิดที่ใครฟังก็คงได้ภาพของตัวเองและคนรักลอยขึ้นมาในใจ และก็คงคิดเหมือนกันว่า ทุกอย่างที่สวยงามในชีวิตนี้ช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน

    ขณะที่ลูกชายผมอาจจะกำลังอยู่ในเนื้อเพลงท่อนแรก น้องๆบางคนอาจจะอยู่ในท่อนที่ 2 หรือ 3 ของชีวิต และผมเองและเพื่อนๆหลายคนอยู่ในท่อนที่ 5 ที่ว่า

    “Next thing you know

    You get to know your wife again

    And you’re more in love than you’ve ever been

    With a lot of years of remember whens

    And still some down the road”

    บางคนอาจจะนึกเสียดายเวลาที่ผ่านไป มองว่านั่นเป็นเรื่องทุกข์ แต่ผมว่าไม่ใช่เลยครับ

    เมื่อย้อนมองไปเห็นความสุข เราก็ควรจะดีใจที่ได้มีเวลาเหล่านั้น และเก็บมันไว้เป็นความทรงจำที่งดงาม พร้อมกับดีใจที่จะได้มีความสุขตามช่วงเวลาต่อไปของชีวิต ไม่ว่าจะมากจะน้อย จะยาวจะสั้นแค่ไหน และการจะมีความสุขหรือไม่ล้วนแล้วแต่ขึ้นกับตัวเราเอง

    ขออนุญาตเอารูปเรื่องราวชีวิตที่มีความสุขของของเพื่อนๆหลายคนมาลงไว้นะครับ ผมเฝ้าดูอยู่อย่างมีความสุขเช่นกันครับ
    ใช้เวลาที่มีให้คุ้ม ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกันนะครับ

    ลองอ่านเนื้อเพลงดูนะครับ หรือจะดู Music VDO และฟังเพลงดูก็น่ารักมากครับ ที่ลิ้งค์นี้ครับ https://youtu.be/3c909oqLfao

    You swear that you’re stayin’ single, next thing you know

    You meet a girl at a bar and next thing you know

    You get her laughin’, it’s 2 AM

    You’re tellin’ your buddies three months in

    That she ain’t movin’ in, the next thing you know

    There’s a U-Haul trailer, next thing you know

    Your old apartment is y’all’s new place

    There goes the carpet but the deer head stays

    Next thing you know

    You’re savin’ money like never before

    Just to spend it all at a jewelry store

    Gettin’ down on one knee on her mama’s porch

    Just prayin’ she don’t say, “No”

    Next thing you know

    Your best man gives a half-drunk speech

    And you’re sunburned on a honeymoon beach

    And your left hand’s gettin’ used to that ring

    And there the next two or three years go

    Next thing you know

    You weren’t really tryin’, next thing you know

    There’s a test on the counter, next thing you know

    She’s standin’ there cryin’, noddin’ her head, “Yes”

    You’re half excited, half scared to death

    ‘Cause next thing you know

    You’re wearin’ scrubs and a funny white hat

    And the doctor’s sayin’, “How you doin’ there, dad?”

    And nobody’s ever called you that

    And you take the drive home slow

    Next thing you know

    It’s first steps, first dates, first car

    It’s 11:01 wonderin’ where they are

    You’re sayin’ that USC’s too far

    It’s amazing how fast seventeen years go

    Next thing you know

    Next thing you know

    Next thing you know

    You get to know your wife again

    And you’re more in love than you’ve ever been

    With a lot of years of remember whens

    And still some down the road

    ‘Cause next thing you know

    You got a yard full of your kid’s kids

    And you take ’em to church, teach ’em to fish

    And you tell ’em stories every chance you get

    About how fast this life down here can go

    Next thing you know

    (Next thing you know)

    Next thing you know

    (Next thing you know)

  • แค้มปิ้งชุมชน

    แค้มปิ้งชุมชน

    มาถึงวันนี้เราสูญเสียพื้นที่ที่สวยงามตามธรรมชาติไปมากมายแล้ว พื้นที่ที่มีเจ้าของก็ถูกสร้างเป็นบ้านพักเป็นรีสอร์ต ในอุทยานของรัฐเองหลายแห่งก็ถูกดัดแปลงสภาพไปจนแทบไม่เหลือธรรมชาติเดิม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเป็นสนามหญ้าเรียบ, ปลูกไม้ดอกจัดแถวเป็นแนว ไปจนถึงทำทางเดินจากแท่งปูนและไม้เทียมให้ขัดตา อีกหลายๆพื้นที่ที่จัดการโดยองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นหลายที่ก็ถูกทำลายไปด้วยเรื่องคล้ายๆกัน  

    ผมเชื่อว่าธรรมชาติที่จุในภาพนี้ก็เคยสวยงาม ก่อนที่เราจะเปลี่ยนแปลงสภาพมันไป
    บ่อยครั้งที่ความงดงามของธรรมชาติในเขตอุทยานถูกทำลายไปด้วยความไม่เข้าใจของผู้บริหารอุทยานเอง
    บางครั้งการทำลายสภาพธรรมชาติก็เกิดจากรสนิยมความชื่นชอบของพวกเรา “นักท่องเที่ยว” เอง

    เรายังพอจะมีพื้นที่สวยงามหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นดอยสูง, ริมห้วย ริมแม่น้ำ หรือชายทำเลย  พื้นที่เหล่านี้ถ้าอยู่ในเขตอุทยานก็มักจะห้ามเข้า ส่วนที่อยู่นอกอุทยาน ถ้าไม่อยู่ห่างไกลก็อาจจะเข้าถึงลำบาก แต่ก็มีอีกบางส่วนที่ซ่อนเร้นอยู่ใกล้ตาที่คนมองข้าม

    แต่จากบทเรียนที่เราเห็นๆกันมาแล้ว ก็ทำให้เกิดคำถามว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ “การเข้าถึง”,​ “การคงอยู่ของธรรมชาติ” และ “การสร้างรายได้ของชุมชน” อยู่ร่วมกันได้

    ความเป็นไปได้ทางหนึ่งก็อาจจะเป็นสิ่งที่ผมอยากเรียกว่า “แค้มปิ้งชุมชน” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ มีอยู่แล้วมากมายในหลากหลายประเทศ มีตัวอย่างดีๆให้ดูมากมาย เป็นเรื่องที่ทำได้จริง ถ้าเราเริ่มต้นกันให้ถูกและจัดการกันให้ดี

    ลานกางเต็นท์ชุมชนที่เรียบง่าย แทบจะไม่มีสิ่งแปลกปลอมที่ไม่จำเป็น ที่ Iceland

    การสร้างลานกางเต็นท์ในเขตพื้นที่ของชุมชนจะให้โอกาสนักท่องเที่ยวเข้าถึงธรรมชาติที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ได้ใกล้ชิดได้สัมผัสอาหารพื้นบ้าน, วัฒนธรรมของท้องถิ่น และชีวิตจริงของชุมชน และในขณะเดียวกันก็สร้างรายได้ให้กับชุมชนและสร้างแรงจูงใจให้เขาช่วยกันรักษาธรรมชาติสวยงามที่เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวนั้นให้คงอยู่

    แต่ขณะเดียวกันการสร้างจุดพักแรมและสิ่งอำนวนความสะดวกก็ต้องทำด้วยความเข้าใจและคำนึงถึงการรักษาธรรมชาติให้คงสภาพให้มากที่สุด สร้างเฉพาะเท่าที่จะเป็นและอยู่ในมุมที่ไม่เกะกะสายตาไม่ต้องแปลงสภาพธรรมชาติโดยไม่จำเป็น

    ล่าสุดนี้ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสความงดงามที่เรียบง่ายของชายหาดบ้านโคกตาหอม ในเขตอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบ

    ชายหาดที่งดงามนี้อยู่ไม่ไกลจากหายหาดบ้านกรูด สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักกันและเต็มไปด้วยบ้านพัก รีสอร์ต และสิ่งก่อสร้างสารพัด  แต่ที่โคกตาหอมนี้ยังคงสภาพธรรมชาติไว้แทบจะ 100%

    ชายหาดที่ธรรมชาติยังบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ของโคกตาหอม

    ชายหาดตรงนี้อยู่ติดกับพื้นที่ป่าชุมชนของหมู่บ้านโคกตาหอม มี”ธนาคารปู” ของหมู่บ้านตั้งอยู่ ธนาคารปูนี้ใช้เป็นที่พักแม่ปูที่มีไข่และติดอวนมาให้สลัดไข่ ก่อนที่จะปล่อยลูกปูคืนสู่ท้องทะเล

    เมื่อคุณมาที่นี่ คุณจะได้เห็นชายหาดถึง 3 หาดที่ยังปราศจากสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่มีแม้แต่ถนน  ธรรมชาติที่นี่ยังคงอยู่อย่างที่มันควรจะเป็น 

    ถ้าคุณอยากเข้ามาถูกโอบกอดโดยธรรมชาติ คุณก็อาจจะขับรถเข้ามาจอดที่ธนาคารปู หรือถ้าจะให้ดีและเท่ห์กว่านั้นก็ขึ้นรถไฟมาลงที่สถานีโคกตาหอมแล้วแบกเป้แบกเต็นท์เดินลัดไปหาที่กางเต็นท์ใกล้ๆชายหาด

    ที่นี่ไม่มีพูลวิลล่า แต่ทะเลข้างหน้าเป็นของคุณ และอาจจะเป็นของคุณคนเดียวหากมาในวันธรรมดาที่ไม่ใช่วันหยุด หากมีเบ็ดติดมือมาสักคัน ก็อาจจะหาอาหารธรรมชาติสดๆสะอาดๆอย่างปลาหมึก ปลาทรายมาทำอาหารกินได้ไม่ยาก ถ้าอยากกินปูกินกั้งสดๆก็รอเรือของเช้าบ้านเข้าฝั่งมาตอนเช้าหรือจะสั่งไว้ล่วงหน้าที่ธนาคารปูก็ได้ 

    ช่วงกลางวันก็สามารถจ้างเรือชาวบ้านไปส่งที่เกาะไลลาที่อยู่ห่างไปไม่ถึงกิโลเมตรจากหน้าหาด ไปนอนเล่นในร่มไม้ ดำน้ำตื้นดูปะการัง หรือตกปลาหมึก ถ้าเอาเรือคายัคหรือ SUP มาเองก็พายไปได้สบายมาก 

    เกาะไลลา อยู่ห่างไปไม่ถึงกิโลเมตร

    ที่นี่ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรนอกจากห้องน้ำง่ายๆแต่สะอาดหนึ่งห้อง อาจจะดูลำบากสำหรับบางคน แต่หลายๆคนก็คงจะยอมแลกมันกับการได้สัมผัสธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์

    ชาวบ้านโคกตาหอมและทีมงานทรัมพยากรจังหวัดประจวบ มีความตั้งใจอยากจะพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเราก็หารือกันว่า ถ้าเราพัฒนาปรับแต่งนี้เพียงเท่าที่จำเป็น ถ้าจะต้องสร้างอะไรเพิ่มก็มีเพียงห้องน้ำ แล้วกำหนดกติกาให้ชาวแค้มป์ที่รักธรรมชาติติดต่อจองที่เข้าพักล่วงหน้าได้ในจำนวนที่เหมาะสมกับพื้นที่ วิธีนี้อาจจะเป็นจุดสมดุลย์ระหว่าง “การเข้าถึง” ของนักท่องเที่ยว,​ “การคงอยู่” ของธรรมชาติ และ “การสร้างรายได้”​ ให้กับชุมชน 

    เราไปทดลองกางเต็นท์นอนและหารือแนวทางกับพี่ๆชาวบ้านโคกตาหอมกัน

    แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับพวกเรา “นักท่องเที่ยว” ด้วยว่าเรารักที่จะไปสัมผัสธรรมชาติในรูปแบบที่มันเป็นจริงๆหรือไม่ 

    ชายหาดโคกตาหอมนี้ยังไม่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ แต่หากคุณเป็นคนที่รักธรรมชาติอย่างที่มันเป็นอยู่จริง ไม่คาดหวังกับความสะดวกสบายหรูหราของการปรุงแต่ง ชาวบ้านโคกตาหอมก็พร้อมจะต้อนรับคุณในฐานะเพื่อนผู้มาเยี่ยมเยียน ขอเพียงติดต่อแจ้งผู้ใหญ่บ้านล่วงหน้าก่อนเดินทางไป พวกเขาอาจจะไม่ได้ร้องขอค่าตอบแทน แต่ผมอยากขอให้เรามอบเงินเล็กน้อยตามสมควรให้กับชุมชนไว้เป็นค่าใช้จ่ายและเป็นทุนในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

    ลานจอดรถที่ทางหมู่บ้านอาจจะปรับพื้นที่ให้กางเต็นท์ได้
    ห้องน้ำ 1 ห้องที่เรียบง่ายแต่สะอาด

    ถ้าอยากจะไปกางเต็นท์ที่หาดโคกตาหอม โทรติดต่อผู้ใหญ่ประชุม 087-081-6141 ก่อนไปนะครับ

  • ต้นแบบของสุภาพบุรุษกลางแจ้ง

    ต้นแบบของสุภาพบุรุษกลางแจ้ง

    จาก อลัน ควอเตอร์เมน จนถึง รพินทร์ ไพรวัลย์ และ Indiana Jones

    ถ้าจะพูดถึงชื่อหนึ่งที่มีบทบาทเป็นตัวอย่างของสุภาพบุรุษกลางแจ้งมานับร้อยๆปี ก็คงต้องเล่าถึง อลัน ควอเตอร์เมน ครับ

    อลัน ควอเตอร์เมน (Allan Quatermain) เป็นตัวละครเอกในนิยายเรื่อง King Solomon’s Mine ที่เขียนโดยนักเขียนชาวอังกฤษ H. Rider Haggard (Sir Henry Rider Haggard) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1885  

    ในนิยายเรื่องนี้ อลันเป็นพรานและ trader อยู่ในอัฟริกา ได้รับการติดต่อว่าจ้างโดย Sir Henry Curtis ให้นำทางออกไปตามหาน้องชายผู้ที่ทะเลาะกันหนีออกจากบ้านและเดินทางไปแสวงโชคหาขุมทรัพย์ของ King Solomon ซึ่งเป็นกษัตรชาวยิวที่ร่ำรวยมากในยุคประมาณปี 970 ก่อนคริตศักราช (ภาษาอาหรับเรียกชื่อว่าสุไลมาน) โดยที่ทั้ง 2 คนกับสหายอดีตทหารเรือชื่อกัปตันกู๊ดและคนนำทางชาวพื้นเมืองชื่อ Umbopa ที่มีเบื้องหลังน่าสงสัย ต้องเดินทางผ่านพื้นที่ทุรกันดาลไปจนถึงหุบเขาลึกลับที่มีชนเผ่าหลงสำรวจ

    หนังสือ King Solomon’s Mine ที่แปลเป็นชื่อไทยว่า “สมบัติพระศุลี”​ น่าอ่านครับ เล่มเดียวจบ หาซื้อได้ครับ

    King Solomon’s Mine นี้เป็นนิยายเรื่องแรกที่เริ่มแนวของนิยายที่เรียกว่า Lost World คือการค้นพบชนเผ่าหรือเมืองหลงสำรวจ ซึ่งก็มีผู้เอาแนวนี้ไปเขียนนิยายกันต่ออีกมากมาย อีกเรื่องหนึ่งที่ดังมากของ H. Rider Haggard เองก็คือเรื่อง She ที่แปลมาเป็นไทยว่า “สาวสองพันปี” ซึ่งถูกเอาไปสร้างเป็นภาพยนต์นับสิบครั้ง

    King Solomon’s Mine ขายดีมากครับ ดังไปทั่วโลกแปลไปหลายภาษา (ภาษาไทยก็มีการแปลมาในชื่อ สมบัติพระศุลี)  จน H. Rider Haggard ใช้ตัวละครนี้เขียนหนังสือหากินจนร่ำรวย เขียนออกมาถึง 14 เรื่องในช่วงเวลา 42 ปี เล่าเรื่องของอลันตั้งแต่ก่อนและหลังเรื่อง King Solomon’s Mine ที่เกิดขึ้นในปี 1880 รอบคลุมช่วงอายุของอลันตั้งแต่ 18 จนถึง 68 ปี

    อลัน ควอเตอร์เมน เป็นต้นแบบของตัวละครในนิยายดังและภาพยนต์อีกมากมายมาจนถึงวันนี้ครับ แต่ถ้าย้อนกลับไปก็จะพบว่าตัวละครนี้เขียนขึ้นมาจากแรงบันดาลใจของคนที่เคยมีชีวิตอยู่จริง ชื่อว่า Frederick Courteney Selous ชาวอังกฤษที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1851-1917 

    Frederick Courteney Selous นายพรานผู้ไปถึงแอฟริกาในปี 1875 ในยุคสมัยที่แอฟริกายังเป็นกาฬทวีปดำมืด ต้นแบบของนายพรานผู้ยิ่งใหญ่ในนวนิยายและภาพยนต์มากมาย

    ชีวิตจริงของ Frederick Courteney Selous นั้นโลดโผนเหลือเชื่อกว่า Allan Quatermain เสียอีก เขาเป็นพรานอาชีพที่โด่งดังในอัฟริกาที่เดินทางไปแทบจะทั่วทั้งทวีป เป็นนักแม่นปืน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปืน เป็นนักธรรมชาติวิทยา เป็นทหาร เป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นนักกีฬาที่เก่งกาจในกีฬากลางแจ้งไม่ว่าจะเป็นวิ่ง, รักบี้, ว่ายน้ำ,​ ขี่จักรยาน  เคยร่วมเดินทางซาฟารีกับประธานาธิบดี Theodore Roosevelt ฯลฯ

    Frederick Courteney Selous สมัครกลับเข้าไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนอายุ 64 ปี และเสียชีวิตในสงคราม 2 ปีหลังจากนั้น เขาเขียนหนังสือบันทึกการผจญภัยของเขาไว้หลายเล่มเช่น “A Hunter’s Wanderings in Africa”, “Travel and Adventure In South-East Africa” ฯ

    King Solomon’s Mine ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์หลายครั้ง แต่ละครั้งโดยเฉพาะช่วงยุคหลังเนื้อเรื่องถูกดัดแปลงไปมากตามสไตล์ Hollywood รอบสุดท้ายนี้แปลงจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม 

    King Solomon’s mine นวนิยายดังของ Sir H.Rider Haggard ที่ถูกสร้างเป็นภาพยนต์หลายครั้ง ในภาพนี้เป็น Version ปี 1985 นำแสดงโดย Richard Chamberlain เป็น Allan Quatermain และนางเอกคือ Sharon Stone!
    แต่ผมคิดว่า Allan Quatermain ที่เหมาะสมที่สุดและเท่ห์ที่สุด แสดงโดย Sean Connery ในเรื่อง The League of extraordinary gentlemen ซึ่ง Frederick Courteney Selous ก็ได้จำแลงกายมาเป็น Super Hero อีกครั้ง

    นิยายและเรื่องราวของอลัน ควอเตอร์เมน เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนนวนิยายทั่วโลกในสร้างสรรค์นิยายในแนวนี้ออกมา 

    ในเมืองไทยเรา นวนิยายในแนวป่าดงเรื่องแรกที่มีกลิ่นอายของ อลัน ควอเตอร์เมน ก็น่าจะเป็นเรื่อง “ล่องไพร”​ที่เริ่มจากการเป็นละครวิทยุ จากการเขียนของครูน้อย อินทนนท์ พรานใหญ่คนหนึ่งของเมืองไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497

    ในล่องไพร ตัวเอกของเรื่องคือ คุณศักดิ์ สุริยันต์ เป็นพรานชาวกรุงที่ชอบการใช้ชีวิตในป่าดง มีสหายคู่ใจเป็นพรานกระเหรี่ยงชราชื่อ “ตาเกิ้น” และเพื่อนร่วมเดินทางอีกคนคือ ร.อ.เรือง ยุทธนา คุณศักดิ์และตาเกิ้นโลดแล่นผจญภัยไปบนหน้าหนังสือด้วยกันถึง 14 เล่ม

    ครูมาลัย ชูพินิจ สุภาพบุรุษกลางแจ้งตัวจริงของเมืองไทย ท่านเขียนนิยายเรื่องป่าดงเรื่องแรกของเมืองไทย “ล่องไพร” ขึ้นมาจากประสบการณ์ป่าของตัวเอง และศักดิ์ สุริยันต์ก็คงจะถอดบุคลิกมาจากตัวท่านไม่มากก็น้อย

    และถ้าคุณได้อ่านหนังสือ “ทุ่งโล่งและดงทึบ” ซึ่งเป็นบันทึกการเดินป่าในชีวิตจริงของครูมาลัยประกอบไปด้วย คุณจะพบว่า หลายๆอย่างที่ครูมาลัยเขียนในนิยายนั้นมาจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในป่า รวมถึงตาเกิ้นที่มีตัวตนอยู่จริงในชื่อกระเหรี่ยงแก่น

    “ทุ่งโล่งและดงทึบ”​ คือบันทึกเรื่องป่าที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่เคยมีมาในประเทศไทยครับ 
    “ทุ่งโล่งและดงทึบ” คือบันทึกการเที่ยวป่าจากชีวิตจริงของ ครูมาลัย ชูพินิจ หรือที่หลายๆคนรู้จักท่านจากนามปากกา “น้อย อินทนนท์” และ “เรียมเอง”​ผู้เขียนนิยาย “ล่องไพร”, “ชั่วฟ้าดินสลาย”​, “ทุ่งมหาราช”​ ฯ 
    รวมเล่มและตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2495 น่าจะเป็นหนังสือเรื่องป่าเล่มแรกๆของเมืองไทย เรื่องราวต่างๆรวบรวมมาจากการเที่ยวป่าของครูมาลัยตั้งแต่สมัย 2470 มาจนถึง 2495 แต่ละเรื่องล้วนน่าทึ่งและมหัศจรรย์มากจนคนรุ่นเราไม่สามารถจินตนาการถึงป่าในยุคนั้นได้
    ผมได้อ่านครั้งแรกจากเล่มที่พิมพ์ในปี 2546 พิมพ์ครั้งนั้นมีการเพิ่มเติมเรื่องของครูมาลัยในยุคหลัง 2495 เข้าไปอีกหลายเรื่อง อ่านแล้วยกให้เป็นหนังสือในดวงใจตลอดมา ทึ่งในเรื่องราว เช่น “เรื่องของอ้ายเก” เรื่องของกระทิงที่ฆ่าชาวบ้านป่า ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนตอนแรกของนิยายล่องไพร ที่น่าตกใจก็คือเรื่องจริงนั้นยิ่งกว่านิยาย เรื่อง “พรานช้าง”​ เล่าเรื่องกระเหรี่ยงแก่น ที่เป็นตัวจริงของตัวละคร “ตาเกิ้น”​ในล่องไพร และทุกๆเรื่องที่อยู่ในเล่มนี้ล้วนสุดยอด
    หลังจากปี 2546 มาไม่เคยมีการเอามาพิมพ์ใหม่ จนกลายเป็นหนังสือหายากมาก ผมพยายามหาซื้อให้เพื่อนๆไม่เคยได้ เคยเขียนไปหาสำนักพิมพ์ให้พิมพ์ใหม่ก็ทำมาแล้ว
    วันนี้ดีใจสุดๆที่ มีการเอามาพิมพ์ใหม่ 
    แนะนำเลยครับ เล่มนี้ สำหรับคนชอบป่า ต้องอ่าน ต้องมีไว้ครับ

    แน่นอนว่านวนิยายแนวป่าดงที่ดังและอมตะที่สุดของไทยเราก็คือ “เพชรพระอุมา”​ ซึ่งครูพนมเทียน ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากนวนิยาย King Solomon’s Mine รวมทั้งใช้พล็อตมาเป็นเค้าโครงเรื่องของเพชรพระอุมาด้วย

    รพินทร์ ไพรวัลย์ แห่งเพชรพระอุมา ได้แรงบันดาลใจมาจาก Allan Quatermain ในเรื่อง King Solomon’s mine ซึ่งก็เป็นภาพจำลองของ Frederick Courteney Selous ครูพนมเทียนได้ใส่ประสบการณ์ป่า ปืนของท่านลงไปมากมาย และยังสร้างสรรค์ให้นิยายเล่มนี้มีอรรถรสชวนติดตาม ตื่นเต้นเร้าใจกว่า King Solomon’s mine มากนัก

    ในเรื่องเพชรพระอุมานี้ ตัวเอกของเรื่อง ร.อ.รพินทร์ ไพรวัลย์ ซึ่งเป็นพรานป่า ได้รับการว่าจ้างจาก ม.ร.ว.เชษฐา วราฤทธิ์ ให้ออกตามน้องชายที่ทะเลาะกันหนีออกจากบ้านและเดินทางไปแสวงโชคหาขุมทรัพย์ตามลายแทงโบราณ โดยที่มี พ.ต.ไชยยันต์ อนันตรัย ผู้เป็นเพื่อน และ ม.ร.ว.ดาริน วราฤทธิ์ น้องสาวติดตามเดินทางไปด้วย ทั้งหมดเดินทางผ่านป่าดงโดยมีพรานพื้นเมือง 5 คนติดตามไปจนตลอดเส้นทาง หนึ่งในนั้นคือชาวกระเหรี่ยงที่มีความเป็นมาลึกลับใช้ชื่อว่า แงซาย

    ครูพนมเทียนเริ่มเขียนเพชรพระอุมาตั้งแต่ปี 2507 และใช้เวลากว่า 25 ปี จนมาจบสมบูรณ์ในปี 2533 แบ่งเป็น 2 ภาค ภาคละ 24 เล่ม

    ถึงแม้เค้าโครงเรื่องจะคล้าย King Solomon’s Mine แต่ครูพนมเทียนก็ใส่ประสบการณ์จริงของป่าเมืองไทยที่ท่านได้พบเห็นมาด้วยตัวเอง และความรู้เรื่องอาวุธปืนระดับปรมาจารย์เข้าไปมากมายจนแทบจะเป็นตำราเรื่องป่าและปืนของเมืองไทย นอกจากนี้ก็มีความน่าสนใจของตัวละครที่โดดเด่นน่าสนใจทุกคน และยังมีเรื่องราวโรแมนติกระหว่างรพินทร์กับดารินให้ติดตามลุ้นกันตลอด เนื้อเรื่องก็เข้มข้นหลากหลายเกินพล็อตเดิมของ King Solomon’s Mine ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็เหมือนเอา King Solomon’s Mine, Mummy, Jurastic Park และ Gladiator เข้ามาผูกร้อยเป็นเรื่องเดียวกัน รับรองว่าถ้าเริ่มอ่านแล้ววางไม่ลงแน่นอนครับ

    ภาพยนต์สุดฮิตตั้งแต่ยุค 80’s มาจนถึงปัจจุบัน และกำลังจากมีภาคใหม่ออกมาในปีนี้ก็คือ Indiana Jones ซึ่งก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Allan Quatermain เช่นกัน 

    บุคคลิกของ Frederick Courteney Selous ที่ส่งผ่าน Allan Quatermain ปรากฎอยู่ในตัวนักผจญภัยที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดของ Hollywood “Indiana Jones” อย่างชัดเจนมาก

    George Lucas เขียนพล็อตของ Indiana Jones ด้วยแรงบันดาลใจจาก Allan Quatermain ผสมกับ James Bond ทำให้ได้ Character ที่เป็น idol คนใหม่ของเด็กผู้ชายทั่วโลกในยุค 80’s และ 90’s 

    จาก Raiders of the Lost Ark ในปี 1981 ที่เล่าเรื่องการผจญภัยของ Dr. Henry Walton “Indiana” Jones, Jr. ในปี 1936 ที่ประสบความสำเร็จล้นหลาม ทำให้มีการสร้างอีก 4 ภาค คือ Temple of Doom (1984), Last Crusade (1989), Kingdom of the Crystal Skull (2008) และกำลังจะออกภาคใหม่ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย Dial of Destiny ในปีนี้ (2023) เล่าเรื่องการผจญภัยครั้งสุดท้ายของ Dr.Jones ในวัย 80 ปี เชื่อว่าผู้คนมากมายรวมทั้งผมกำลังรอกันอย่างใจจดใจจ่อ 

    ด้วยความสำเร็จของภาพยนต์ ทำให้ George Lucus สร้างทีวีซี่รี่ย์ The Young Indiana Jones Chronicles (1992-1996) ที่เล่าเรื่องวัยเด็กของ Indiana Jones ในยุค 1920 และยังมีการเขียนเรื่องราวของ Dr.Jones ออกมาในรูปแบบหนังสือนวนิยายที่เล่าเรื่องตั้งแต่ Dr.Jone ยังเรียนมหาวิทยาลัยจนกระทั่งออกมาเป็นนักผจญภัยถึง 13 เล่ม แฟนพันธุ์แท้ของ Indiana Jones ไม่ควรพลาดครับ

    นวนิยาย Indiana Jones ที่แปลเป็นไทย มี 11 เล่ม เล่ารเรื่องตั้งแต่ Dr.Jone ยังเรียนในมหาวิทยาลัยจนเริ่มออกมาผจญภัย อ่านสนุกพอหายคิดถึง Dr.Jones ครับ

    ภาพยนต์ซีรี่ย์นี้มีผลกับชีวิตผมมากครับ แค่ดูเทรลเลอร์ได้ยิน theme song ผมก็ขนลุกแล้วครับ 

    ภาพจากภาพยนต์เรื่อง “ล่องไพรมหากาฬ” ซึ่งแน่นอนว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “เพชรพระอุมา” อีกต่อหนึ่ง

    ในยุคประมาณยี่สิบปีก่อน เป็นยุคของ Webboard พันธุ์ทิพย์เฟื่องฟู ผู้คนที่ชอบอะไรเหมือนๆกันจากทั่วประเทศก็เข้าไปรวมกันอยู่ในที่เดียวเป็นครั้งแรก ห้อง Blue Planet เป็นห้องที่รวบรวมคนที่รักธรรมชาติ เดินป่า ดำน้ำ ถ่ายรูป ฯ เข้ามาหากัน ทุกคนล้วนใช้นามแฝง หลายคนเลือกชื่อตัวละครหล่อๆอย่างรพินทร์ ไพรวัลย์,​ แงซาย ฯ ไปใช้กันหมด ผมเองรู้ตัวว่าไม่ได้เก่งไม่ได้หล่อแบบนั้น ก็เลยเลือกใช้ชื่อ “ตาเกิ้น” ที่แม้จะเป็นพรานกระเหรี่ยงชรา แต่ผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อมิตรสหายยิ่งกว่าชีวิต

    จาก Allan Quatermain, Frederick Courteney Selous, ศักดิ์ สุริยันต์, ตาเกิ้น,​ รพินทร์ ไพรวัลย์ มาจนถึง Indiana Jones พวกเขาเหล่านี้ได้ทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจกับเด็กๆและหนุ่มสาวในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา ให้ออกไปผจญภัย แสวงหา การใช้ชีวิตกลางแจ้งเสมอมา

    สุภาพบุรุษกลางแจ้งเหล่านี้อาจจะแตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด แต่ทุกคนมีสิ่งที่เหมือนกันคือ พวกเขารักการใช้ชีวิตกลางแจ้ง, รักที่จะผจญภัยไปในโลกกว้างเทนที่จะใช้ชีวิตสะดวกสบายนุ่มนิ่มอยู่ในเมือง, ซื่อสัตย์และรักมิตรสหาย, ให้เกียรติผู้คน, ยึดถึอความถูกต้องและพร้อมที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อมันโดยไม่คิดถึงตัวเอง ซึ่งคุณค่าเหล่านี้ก็ถูกปลูกฝังลงไปในคนที่ชื่นชมพวกเขาโดยไม่รู้ตัว

    แต่เมื่อทายาทคนสุดท้าย Dr.Indiana Jones กำลังจะเกษียณตัวเองในปีนี้แล้ว ใครเล่าจะมารับหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่าคนกลางแจ้งรุ่นต่อๆไป 

    ตาเกิ้น

    มีนาคม 2566

    ป.ล. ที่เขียนเล่ามานี้เพราะผมเพิ่งเจอว่า Allan Quatermain ในตอน King Solomon’s mine นั้น อายุ 55 ปี ผอม แกรน น้ำหนักแค่ 60 กว่ากิโลกรัม ผมสั้นตั้งชี้ ไม่ได้หล่อเหล่าอะไรเลย

    ภาพวาดจำลอง Allan Quatermain ที่วาดตามคำบรรยายของ H.Ryder Haggard Allan Quatermain ในตอน King Solomon’s mine นั้น อายุ 55 ปี ผอม แกรน น้ำหนักแค่ 60 กว่ากิโลกรัม ผมสั้นตั้งชี้ ไม่ได้หล่อเหล่าอะไรเลย

    เพราะฉะนั้น ช่วงนี้ถ้าเจอผม กรุณาเรียกผมว่า อลัน นะครับ อลัน ควอเตอร์เมน

    ถ้าหลังจากนี้ไปสักหน่อย ก็ต้องเรียกว่า โจนส์ ครับ Indiana Jones ยังพอเป็นได้อีก 25 ปีครับ

  • The Outsiders

    The Outsiders

    ธันวาคม 2543

    ขณะที่เดินไปลงเรือหางยาวริมแม่น้ำเงาที่บ้านนาดอย ผมก็เห็นชายคนหนึ่งที่ดูลักษณะแล้วไม่ใช่คนในพื้นที่ สะพายเป้ใบย่อมๆลงจากเรือเดินสวนมา

    ทางเดินจากบ้านอุ้มโล๊ะไปบ้านนาดอยเมื่อปี 2543

    “มาจากไหนครับ” เขาทักทายผมก่อน เมื่อบอกว่าผมเป็น “นักท่องเที่ยว” มาจากกรุงเทพ เขาก็แสดงสีหน้าแปลกใจเล็กน้อยแล้วแนะนำตัวว่าเขาเป็นครูอยู่บนดอยสูงที่ต้องเดินจากจุดนี้ขึ้นไปอีก 12 กิโลเมตร

    ก่อนจะแยกกันเขาก็เอ่ยว่า

    วันหลังขึ้นไปเที่ยวโรงเรียนผมบ้างนะครับ อยู่บนดอยสูงเกือบพันเมตร อากาศหนาว มีทะเลหมอกให้ดูทั้งปี

    และถ้าพอจะมีของอะไรไปบริจาคได้บ้างก็จะดีมากเลย ชาวบ้านที่นั่นขาดแคลนมาก ไม่เคยมีหน่วยงานไหนขึ้นไปบริจาคของให้เลยครับ


    สามเดือนหลังจากนั้นผมและเพื่อนๆหลายคนก็บรรทุกผ้าห่ม, สมุดดินสอที่เรารวบรวมเงินไปซื้อมาเสื้อผ้าใช้แล้ว, ของเล่น, ของใช้ที่เพื่อนฝูงในเมืองบริจาคให้มาใส่รถโฟร์วีลหลายคันวิ่งบนถนนดินเส้นแคบๆที่สูงชันขึ้นไปยังโรงเรียนบ้านแม่หาด”​

    ที่โรงเรียนเราแจกจ่ายข้าวของเสื้อผ้าใช้แล้วที่บางครั้งแกะกล่องออกมาแล้วเราก็พบว่าเป็นเสื้อผ้าของคนเมืองที่ไม่เหมาะกับคนบนดอยเท่าไหร่นัก เราแจกขนมให้เด็กๆ ในบรรดาของที่เราขนไปทั้งหมดสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ที่สุดดูเหมือนจะเป็นผ้าห่ม 

    ค่ำคืนนั้นหมู่บ้านเลี้ยงต้อนรับและขอบคุณเราด้วยสิ่งที่เขามี ข้าวหลามเผากับกองไฟ แพะย่าง ผู้คนที่ใส่ชุดชนเผ่าของชาวกระเหรี่ยงต่างหลั่งไหลกันมาห้อมล้อม บรรยายกาศครึกครื้นไปด้วยการร้องรำทำเพลง และการแสดงของเด็กๆ ตามวัฒนธรรมกระเหรี่ยง

    ภาพที่เห็นในคืนนั้นราวกับฉากหนึ่งของเรื่องสมบัติพระศุลีในแอฟริกา หากแต่ว่ามันเป็นของจริงและความทรงจำนั้นก็ยังคงอยู่อย่างกระจ่างชัดในใจผมแม้จะผ่านมากว่า 20 ปี

    พวกเรากลับออกมาด้วยความอิ่มอกอิ่มใจที่เราได้ทำดีได้ช่วยเหลือสังคม

    อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นความเชื่อของเราในตอนนั้น!


    วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วผมวนเวียนกลับมาที่ลุ่มน้ำเงาอย่างสม่ำเสมอและนับครั้งไม่ถ้วน จนเกิดความผูกพันกับแม่น้ำสายนี้และผู้คนที่อาศัยอยู่กับมัน

    ภาพที่เคยเห็นจนชินตาคือการตำข้าวและฟัดข้าวทุกเช้าเพื่อกินวันต่อวัน

    ผมได้เห็นความเจริญหลั่งไหลเข้ามา ถนนดีขึ้นเรื่อยๆ ขบวนรถออฟโร้ดที่ขนของเข้ามาบริจาคเป็นภาพที่เห็นจนชินตา สวนทางกับเสื้อผ้าชนเผ่าที่เคยเห็นใส่กันเป็นประจำกลับค่อยๆหายไป หลีกทางให้กับแฟชั่นคนเมืองที่มากับของบริจาค เปลือกขนมและของเล่นกลายเป็นขยะตกค้างอยู่ในชุมชนกลางป่าลึกเข้าไปเรื่อยๆ

    ผมเริ่มตั้งคำถามให้กับตัวเองว่าสิ่งที่ผมเคยทำ เช่นการเอาข้าวของมาบริจาคนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้องแล้วจริงหรือ

    สิ่งที่มาพร้อมกับความเจริญและถนนคือความต้องการใช้เงิน จากเดิมที่เคยปลูกข้าวแค่พอกินและอาศัยอาหารจากธรรมชาติรอบตัวไม่ว่าจะเป็นพืชผัก, ปลาในน้ำและสัตว์ป่า ทุกคนก็เริ่มถางไร่ปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพดเมื่อป่าารอบตัวหมดไป อาหารจากธรรมชาติก็หมดไปพร้อมๆกัน นอกจากข้าวแล้ว อาหารทุกอย่างก็ต้องใช้เงินซื้อกินอย่างที่ไม่เคยต้องเป็นมาก่อน

    การหาปลาและหาอาหารเป็นเรื่องปรกติของชุมชนที่อยู่กับป่า

    ทุกๆอย่างค่อยๆเแพงขึ้น ยกเว้นพืชผลทางการเกษตรที่เขาพอจะปลูกขายได้ พื้นที่ป่าที่พอมีเหลือจึงถูกถางให้โล่งออกไปอีกเรื่อยๆ

    ในเวลาหนึ่งผมเคยเขียนในบทความไว้ว่า 

    หมู่บ้านในนิทานหรือ “Shangri-la” ในนวนิยายเรื่อง Lost Horizon ของ James Hilton นั้นมีอยู่จริงในมุมเล็กๆของโลกใบนี้หลายคนได้ค้นหามันจนเจอแต่แล้วพวกเขาก็เป็นคนทำให้มันสูญหายไปด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนให้หมู่บ้านในนิทานนั้นให้ดีขึ้นโดยการนำสิ่งที่เขาคิดว่าดีงามจากที่ที่เขาคุ้นเคยเข้าไป

    ตาเกิ้น

    เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมได้เข้าไปที่หมู่บ้านหนึ่งที่เคยเป็นอยู่ห่างไกลบนสายนำ้เงา หมู่บ้านที่เคยเงียบสงบ ผู้คนเคร่งศาสนา ห้ามจำหน่ายแอลกอฮอลล์และปราศจากสิ่งเสพติดต่างๆ

    ในวันนั้นมีการสัมมนาผู้คนภายนอกหลั่งไหลกันเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นนักปกครองท้องถิ่น,​ครู, หมอ,​ ป่าไม้, เกษตรและผมเอง

    พวกเขาหารือกันว่าจะร่วมกันพัฒนาชุมชนในเงาอย่างไรเพื่อให้พร้อมที่จะรับมือความเจริญที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับถนน

    แต่ผมกวาดตามมองไปรอบๆวงสัมมนา มีคนพื้นที่ดั้งเดิมนั่งร่วมอยู่ด้วยเพียงไม่กี่คนและพวกเขาก็แทบจะไม่ออกความเห็นอะไรเลย 

    หลังจากงานค่ำคืนนั้นสว่างไสวไปด้วยแสงไฟ  การแสดงดนตรีของเด็กนักเรียน ร้านขายของต่างๆทั้งของกินของใช้ พอดึกหน่อยเสียงภาพยนต์จากหนังกลางแปลงที่ยิงกันสนั่นจอก็ดังกระหึ่ม เครื่องปั่นไฟส่งเสียงคำราม เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ไม่ใช่ของแปลกอีกต่อไป มีขายแทบทุกร้านด้วยคำอธิบายว่าขายให้นักท่องเที่ยวเท่านั้น

    หลังจากดนตรีภาคดึกจบไปไม่กี่ชั่วโมง เสียงประกาศเชิญชวนให้ไปร่วมงานวิ่งการกุศลเพื่อระดมทุนให้สุขศาลาก็ดังสนั่นหมู่บ้านแต่เช้ามืด นักวิ่งที่ส่วนใหญ่มาจากข้างนอกใส่เสื้อสีสดใสวิ่งกันครึกครื่นทั่วหมู่บ้าน 

    ท่ามกลางผู้คนและรถราที่วุ่นวายนี้ ผมมองผ่านไปเห็นผู้คนดั้งเดิมของหมู่บ้านนั่งทอผ้า, สานตระกร้าไม้ไผ่และผ่าฟืนอยู่ตามวิถีดั้งเดิมของพวกเขา


    วันต่อมาหมู่บ้านก็กลับมาเงียบสงบอีกครั้งอย่างที่เคยเป็นมา ชีวิตที่ต้องพร้อมรับกับความเจริญก็ดำเนินต่อไป

    การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ การถ่ายเทวัฒนธรรมในโลกใบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณและยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วขึ้นในทุกวันนี้ด้วยการเดินทางและการสื่อสารที่รวดเร็วขึ้น แต่สิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาสู่สังคมที่คงสภาพเดิมมาอย่างผาสุขย่อมมีทั้งดีและไม่ดี

    และที่สำคัญหลายคนที่พยายามนำมันเข้าไปอาจจะไม่เคยถามคนดั้งเดิมของสังคมว่ามันเป็นประโยชน์ให้กับพวกเขาแค่ไหน


    ในวันนั้นคณะของเราก็เก็บของออกเดินทางล่องแม่น้ำเงาด้วยเรือแคนูกัน

    ในครั้งนี้นอกจากจะล่องเรือเพื่อชมความงามของแม่น้ำเงากันตามปรกติแล้วเราก็มีความตั้งใจที่จะร่วมมือกับชาวบ้านหลายหมู่บ้านริมน้ำเงาทำโครงการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชนจากกิจกรรมการท่องเที่ยวตกปลาเชิงอนุรักษ์

    ผมเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่าการพยายามนำสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่า “Fly Fishing” และการตกปลาเชิงอนุรักษ์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ผลในการอนุรักษ์ธรรมชาติของปลาและแม่น้ำและยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนในหลายๆประเทศมาที่แม่น้ำเงาจะเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด 

    อย่างน้อยเราก็ได้เห็นตัวอย่างแล้วจากการเดินป่าและพายเรือแคนูที่ชาวแม่เงาสามารถดำเนินกิจการกันได้เองอย่างประสบความสำเร็จ ชาวบ้านที่นี่สามารถสร้างรายได้มากกว่าการปลูกพืชไร่ทั้งปีจากธรรมชาติที่พวกเขารักษาไว้ได้โดยไม่ต้องทำลายมันและก็มีชาวบ้านคนดั้งเดิมของที่นี่ไม่น้อยที่เห็นด้วยและช่วยกันทำ 

    แม้จะเป็นสิ่งแปลกปลอม แต่คนนอกอย่างผมก็คิดว่ามันน่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยยืดอายุของแชงกรีล่าแห่งนี้ออกไปได้บ้าง


    หลังจากล่องเรือและตกปลากันมาทั้งวันเราก็ตั้งแค้มป์ริมฝั่งและนั่งล้อมวงรอบกองไฟกันแล้ววงสนทนาก็เริ่มขึ้นหลังอาหารเย็น

    น้องผู้หญิงคนหนึ่งที่เพิ่งมากับเราเป็นครั้งแรกชื่นชมความงามของแม่น้ำเงาความเป็นมิตรและเอื้ออารีย์ของผู้นำทางท้องถิ่น  แต่ขณะเดียวกันก็บอกว่าสงสารที่เด็กๆในหมู่บ้านใส่รองเท้าแตะวิ่งเล่นเตะบอลกันอยู่ไม่มีรองเท้าดีๆใส่ สหายชาวนอร์เวย์ก็เอ่ยปากว่าเขารู้สึกไม่ดีเลยที่ตัวเขามีเก้าอี้อย่างดีนั่งมีเสื้อผ้าอุ่นๆใส่ แต่ไกด์ท้องถิ่นของเราต้องมายืนผิงไฟหรือไม่ก็นั่งกับพื้น

    ผมฟังแล้วก็ยิ้มเพราะผมเองก็เคยผ่านความคิดเช่นนี้มาแล้ว

    เรากำลังใช้มาตรวัดความสุขความลำบากด้วยสายตาของ outsider ครับ 

    ผมว่าถ้าจะให้ดี เมื่อเรามาที่นี่เราควรจะเรียนรู้วิถีของเขาบ้าง ลองเดินเท้าเปล่าบนหาดทราย นั่งบนพื้นดิน แล้วอาศัยไออุ่นของกองไฟดูบ้างว่ามันมีความสุขที่เรียบง่ายขนาดไหนครับ

    สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้และเลือกจะทำจากนี้ไปคือการที่จะช่วยให้เพื่อนๆผมที่นั่นมีรายได้จากธรรมชาติที่เขารักษาไว้โดยไม่ต้องทำลายมันให้เพียงพอที่จะอยู่ได้ในกระแสความเจริญที่กำลังหลั่งไหลเข้ามา จากนั้นเขาจะเลือกอะไรเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตก็ขอให้เป็นการเลือกของเขาเอง

    ตาเกิ้น

    กุมภาพันธ์ 2566

  • Salmon Fishing ที่นอร์เวย์

    Salmon Fishing ที่นอร์เวย์

    เราเดินไปตามทางเล็กๆในป่าที่พาเราลัดเลาะไปข้างๆแม่น้ำ Eidselva

    รอนนี่สหายชาวนอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้พาผมมาตกปลาที่นี่และยังคอยสอนเรื่องต่างๆเกี่ยวกับการตกปลาให้ตลอดพาผมเดินและตกปลากันมาครึ่งวันแล้วแต่เรายังไม่พบสิ่งที่ตามหากันเลย

    “ถ้าผมเป็นปลาแซลม่อนที่ขึ้นมาจากทะเล ผมจะหยุดพักตรงนี้ ก่อนจะเดินทางทวนน้ำต่อไปนะ” รอนนี่ชี้ไปที่แอ่งลึกกลางแม่น้ำที่มีน้ำไหลแรงหมุนวนอยู่บนผิวน้ำ แต่ข้างล่างลึกลงไปจนไม่เห็นก้นบ่อ ในเวลาต่อมาเราจึงตั้งชื่อจุดตกปลาตรงนี้ว่า Whirlpool หรือ “เครื่องซักผ้า”

    วังน้ำ “เครื่องซักผ้า”

    “ตีเหยื่อข้ามไปฝั่งโน้นแล้วปล่อยให้กระแสน้ำพาสายและเหยื่อสวิงลงไปในน้ำลึกนะ” รอนนี่ชี้ไปที่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำที่กว้างประมาณ 20-25 เมตร และอธิบายวิธีตกปลาที่เรียกว่า “สวิงฟลาย”

    “ระวังนะ ตรงนี้นำ้แรงมาก ยืนให้มั่นคงอย่าเดินออกไปไกลฝั่งนะ”​ รอนนี่หันมากำชับอีกครั้งก่อนจะเดินแยกไปตกปลาในจุดที่อยู่เหนือน้ำขึ้นไป

    ผมเคยมีโอกาสได้ตกปลามาหลายชนิด ในที่หลายแห่ง แต่นี่คือการตกปลาแซลม่อนครั้งแรกในชีวิต

    ตามทฤษฎีบอกว่า ปลาแซลม่อนที่ว่ายจากทะเลลึกเพื่อมาวางไข่ที่ต้นแม่น้ำนั้นจะไม่กินอะไรเลยตลอดการเดินทาง การที่จะตกมันได้เราจะต้องส่งเหยื่อลงไปผ่านหน้าปลาพอดี เพื่อยั่วให้มันงับเพราะความรำคาญมากกว่าความหิว

    การตกปลาแซลม่อนด้วยเหยื่อฟลายส่วนใหญ่จะใช้เหยื่อที่คล้ายๆ Streamer มีขนาดใหญ่สีสดเพื่อให้สะดุดตาปลา การที่จะตกปลาด้วยเหยื่อใหญ่ๆแบบนี้ได้ทั้งวันโดยไม่ล้า นักตกปลาแซลม่อนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะใช้คันฟลายแบบสองมือที่เรียกกันว่าคันสเปย์ เพราะคันแบบนี้มีวงสวิงที่ Smooth มาก ตีเพียงครั้งเดียวก็สามารถส่งเหยื่อขนาดใหญ่ๆข้ามแม่น้ำไปได้สบายๆ

    การตีสายส่งเหยื่อหนักๆเป็นเรื่องง่ายสำหรับคัน Spey

    คันฟลาย 2 มือของผมเป็นคัน Sage One เบอร์ 7 หกท่อนที่เหมาะมากสำหรับการเดินทาง มันไม่ได้ถูกหยิบมาใช้ตั้งแต่ผมไปตกปลา Steelhead เมื่อ 6 ปีก่อน แต่มันก็ยังทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยม ส่งสายพาเหยื่อ “Mikkeli Blue” ลงไปวางที่ชายน้ำฝั่งตรงข้ามได้อย่างแม่นยำทั้งๆที่คนที่ใช้มันอ่อนซ้อมมากๆ

    ผมตีสายอยู่ไม่กี่ครั้งก็เห็นปลาตัวใหญ่กระโดดขึ้นมาเหนือผิวน้ำ ผมตีสายซ้ำเพื่อส่งเหยื่อให้ผ่านบริเวณนั้นอีก 2-3 ครั้ง ปลาก็กระโดดใส่เหยื่อแต่ไม่ติดเบ็ด น่าจะเป็นปลาแซลม่อนที่โมโหร้ายตัวนึงเลย

    อีก 4-5 ครั้งต่อมา ปลาตัวเดิมก็กระโดดลอยขึ้นเหนือผิวน้ำ คราวนี้มันงับเหยื่อแล้วพาดำลึกลงไปลากสายออกจากรอกราวกับใครสักคนเอามอเตอร์ไซค์ผูกไว้ที่ปลายสาย

    โชคดีอยู่บ้างที่วังน้ำนั้นไม่กว้างใหญ่นัก ปลาจึงไม่สามารถไปได้ไกล

    ผมปรับเบรกและสู้ปลาอยู่พักใหญ่ก็เอาปลาเข้ามาใกล้ฝั่งได้และเห็นตัวเป็นครั้งแรก มันเป็นแซลม่อนที่ขนาดใหญ่ทีเดียว แต่เพียงแว่บเดียวที่มองเห็นผม มันก็ลากพาสายดำดิ่งลงไปอีก 

    วนอยู่เช่นนั้น 2-3 รอบ ปลาก็หมดแรงก่อนผม ยอมให้ลากเข้ามาเกยตื้น แต่ด้วยความที่ไม่มีสวิงอยู่กับตัวทำให้ผมต้องลุยน้ำลงไปคว้าหางและอุ้มปลาขึ้นมาอย่างทุลักทุเล

    ผมตัดสายเบ็ดและอุ้มปลาไปหารอนนี่ด้วยความดีใจ แต่ดูเหมือนรอนนี่จะดีใจกว่าผมเสียอีก เขาอยากให้ผมได้ปลามากๆ

    ปลาแซลม่อนตัวแรกของผมเป็นปลาแซลม่อนธรรมชาติของนอร์เวย์ มันเป็นตัวเมียยาว 80 เซ็นติเมตร น้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม

    นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมมีเรื่องแซลม่อนเล่าให้ฟังอีกมากมายครับ

    เรื่องของปลาแซลม่อน

    ผมและอีกหลายๆคนที่รู้จักมัน มองว่าปลาแซลม่อนเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของโลกธรรมชาติเลยทีเดียว 

    ปลาแซลม่อนจะวางไข่ในน้ำจืดบริเวณที่พื้นเป็นกรวดหินก้อนโต และมักจะเป็นที่ตื้น เป็นต้นน้ำของแม่น้ำ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวและเติบโตขึ้น ลูกปลาแซลม่อนเหล่านี้ก็จะว่ายตามน้ำออกไปสู่ทะเลลึก กลายเป็นปลาน้ำเค็มเป็นเวลาหลายปีจนเติบโตเต็มที่แล้วจึงว่ายทวนน้ำเข้ามาสู่แม่น้ำสายเดิมและกลับไปวางไข่จุดเดิมที่มันเกิดแล้วก็ตายลง

    วงจรชีวิตของ Atlantic Salmon

    ในอดีตนั้นปลาแซลม่อนมีจำนวนมากมายมหาศาล, หลากหลายสายพันธุ์ และว่ายขึ้นไปวางไข่บนแม่น้ำทุกสายสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกา ในมหาสมุทรแปซิฟิกก็มีในเกือบทุกแม่น้ำทางซีกโลกเหนือทั้งฝั่งญี่ปุ่น, รัสเซีย, อเมริกาและแคนาดา

    ด้วยจำนวนที่มากมายและเนื้อที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางอาหาร โปรตีนชั้นดี โอเมก้าสาม ฯ แซลม่อนจึงเป็นอาหารสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์วิวัฒนาการ,​ขยายเผ่าพันธุ์ และสร้างความศิวิไลซย์ขึ้นตามชายฝั่งทะเลได้

    ยิ่งไปกว่านั้นในวงจรวัฏจักรของธรรมชาติ เมื่อฝนตกลงบนภูเขาบนแผ่นดิน มันจะชะล้างเราแร่ธาติความอุดมสมบูรณ์ลงไปสู่แม่น้ำซึ่งทั้งหมดไหลลงสู่ทะเล แซลม่อนคือกลไกเดียวที่จะพาแร่ธาติเหล่านั้นกลับขึ้นมาสู่ผืนดินอีกครั้ง ปลาแซลม่อนจำนวนมหาศาลที่ขึ้นมาตายบนป่าต้นน้ำ เป็นอาหารของหมี, นาก, เหยี่ยว ฯ ที่คาบมันไปเป็นอาหารในป่ากลายเป็นปุ๋ยชั้นยอดให้ต้นไม้เติบโตสูงใหญ่ผิดจากที่อื่น

    น่าเสียดายที่มนุษย์เรามองข้ามความสำคัญนี้ และทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแซลม่อนที่เคยเป็นอาหารหลักของคนมากกว่าหมู ,ไก่, วัว ที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้เสียอีก

    ถ้ามีเวลาลองนั่งดูภาพยนต์เรื่องนี้นะครับ เล่าเรื่องปลา Salmon ได้ยอดเยี่ยมมากครับ

    นอกจากจะจับเกินขนาดจนปลามีจำนวนลดลงแล้ว ปัญหาหลักที่ทำให้แซลม่อนสูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำหลายๆสายในเมริกาและยุโรปก็คือการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำจนแซลม่อนไม่สามารถว่ายขึ้นไปวางไข่ได้

    ทุกวันนี้ปลาแซลม่อนธรรมชาติจึงกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่เหลืออยู่ไม่มากนัก

    อ้าว! แล้วปลาแซลม่อนที่เรากินกันเยอะแยะนี่มาจากไหนล่ะ?

    “Norwegian Salmon” ที่เราเห็นดาษดื่นใน Super Market ของประเทศไทยนั้นเป็นปลาเลี้ยง เป็น Salmon จากฟาร์มครับ 

    แซลม่อนจากฟาร์มนั้นแตกต่างจากแซลม่อนธรรมชาติอย่างมากทั้ง คุณภาพในฐานะอาหาร,​ ความเป็นอยู่ของปลา และผลที่มันก่อให้เกิดต่อสิ่งแวดล้อม

    ปลาแซลม่อนในฟาร์มนั้นเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างจากปลาในธรรมชาติ เช่นมีการเอาแอตแลนติกแซลม่อนไปเลี้ยงในแปซิฟิก นอกจากนี้พวกมันส่วนใหญ่ยังถูกตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้เติบโตได้เร็วได้ขนาดขายได้ในเวลาเพียงครึ่งหนึ่งของปลาสายพันธุ์ธรรมชาติ พวกมันถูกเลี้ยงอย่างแออัดอยู่ในกระชังตาข่าย

    กระชังปลาแซลม่อนเหล่านี้มักจะตั้งอยู่ในทะเลใกล้ปากแม่น้ำเพื่ออาศัยให้กระแสน้ำช่วยถ่ายเทพัดพาสิ่งสกปรกออกจากกระชัง และปากแม่น้ำเหล่านี้ก็คือเส้นทางที่แซลม่อนธรรมชาติจะต้องผ่านเพื่อเข้าออกจากทะเลสู่แม่น้ำ

    ด้วยความหนาแน่นของปลาในกระชังและการให้อาหารถี่ๆเพื่อให้ปลาโตเร็วที่สุด ทำให้เกิดของเสียจากกระชังลงสู่แหล่งน้ำอย่างมากมาย และความหนาแน่นของปลาในกระชังนี้ก็ทำให้เกิดโรคขึ้นในปลา จนต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างหนัก และบ่อยครั้งที่โรคระบาดเหล่านี้ก็แพร่กระจายไปสู่แซลม่อนธรรมชาติที่ว่ายผ่านกระชัง

    ปัญหาทีชัดเจนมากที่กระชังปลามีผลกระทบต่อปลาแซลม่อนธรรมชาติก็คือการระบาดของ Sea Lice ที่มีมากมายบนปลาในกระชัง

    เมื่อลูกปลาแซลม่อนว่ายออกจากแม่น้ำสู่ทะเลผ่านกระชังปลา มันจะถูก Sea Lice รุมเกาะและดูดกินจนลูกปลาจำนวนมากต้องตายลงไม่มีโอกาสไปเติบโต

    ในด้านคุณค่าทางอาหารนั้นก็แตกต่างกันมาก ในขณะที่ Salmon ธรรมชาติเป็นอาหารที่เปี่ยมไปคุณค่าจากโปรตีนชั้นดี, โอเมก้า 3 ฯ ซึ่งมาจากการกินอาหารสะอาดในทะเลธรรมชาติและการว่ายน้ำอย่างอิสระเสรี เนื้อปลาแซลม่อนจากฟาร์มนั้นเต็มไปด้วยไขมันที่มาจากการให้อาหารปลาถี่ๆ ยาปฏิชีวนะที่ให้อย่างต่อเนื่อง และอาจจะมีเชื้อโรคต่างๆติดมาด้วย

    แค่สีและสิ่งที่เห็นก็น่าจะบอกได้แล้วว่าเนื้อ Salmon ธรรมชาติทางขวา ต่างจาก Farm Salmon ทางซ้ายอย่างมาก

    ถึงแม้ว่าการทำฟาร์มแซลม่อนจะทำรายได้มหาศาลให้กับ Norway แต่ชาวนอร์เวย์ที่รู้ความจริงเรื่องนี้ต่อต้าน Salmon Farm และปฏิเสธที่จะบริโภคเนื้อปลาแซลม่อนจากฟาร์ม 

    บางคนถึงกับบอกว่า ไม่ซื้อมาให้แมวกิน

    ภาพยนต์ที่สนับสนุนโดย patagonia เรื่องนี้เล่าเรื่องความเสียหายจาก Salmon Farming ได้อย่างตรงไปตรงมามาก

    นอกจากนี้ยังมีปลาแซลม่อนหลุดออกมาจากกระชังอยู่เสมอ และปลาเหล่านี้เป็นอันตรายต่อแซลม่อนธรรมชาติอย่างมาก เพราะนอกจากอาจจะเอาเชื้อโรคมาแพร่แล้วมันก็อาจจะเอา DNA ที่ถูกตัดต่อของพวกมันมาปนกับสายพันธุ์ปลาในธรรมชาติ ซึ่งย่อมต้องเกิดการเสียหายอย่างร้ายแรง

    เมื่อกระชังปลาใกล้ Seattle พัง มันทำให้ปลา GMO Atlantic Salmon กว่า 3 แสนตัวหลุดไปในธรรมชาติ ไม่มีใครรู้ว่ามันจะสร้างความเสียหายมากมายขนาดไหน

    Cabin in the woods

    Eidselva เป็นแม่น้ำที่ไหลจากทะเลสาบที่ลึกที่สุดในยุโรป ลงไปสู่ Fjord ที่อุดมสมบูรณ์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนอร์เวย์ 

    ผมแบกปลาแซลม่อนหนัก 5 กิโลกรัมตัวนั้นลงจากรถเดินไปที่เคบินที่เราพักกัน มอร์เต็นท์สหายชาวนอร์เวย์อีกคนวิ่งเข้ามาแสดงความยินดีกับผมทันทีที่เห็นปลา

    เคบินที่เรามาพักเป็นเคบินแบบง่ายๆแต่สวยมาก มันสร้างขึ้นมาจากไม้ทั้งหลัง อยู่ห่างแม่น้ำแค่ 20 เมตร เดินลงจากบ้านไม่กี่ก้าวก็ตกปลาได้เลย ที่ริมน้ำมีม้าหินให้เรานั่งเล่น ในบ้านไม่มีน้ำประปา มีไฟจาก Solar Cell เล็กน้อยให้พอชาร์จโทรศัพท์ได้ มีห้องน้ำเป็นอาคารหลังเล็กและส้วมหลุมอยู่นอกบ้าน ในตัวบ้านมีห้องนอน  2 ห้อง 6 เตียง นับว่าเป็นกระท่อมสำหรับนักตกปลาที่สมบูรณ์แบบจริงๆ

    วิวจากระเบียงบ้าน

    นอกเรื่องตกปลาสักนิด เมื่อผมถามด้วยความสงสัยว่าทำไมในบ้านไม่มีน้ำประปาและส้วมก็เป็นส้วมหลุม ก็ได้คำอธิบายว่ากฎหมายของนอร์เวย์นั้นเข้มงวดมากเรื่องการบำบัดน้ำเสีย เช่นบ้านหลังซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำ หากจะต่อน้ำเข้าในบ้านหรือจะทำส้วมแบบชักโครกจะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องลงทุนนับล้านบาท

    ในเรื่องของการตกปลา ตามกฎหมายของนอร์เวย์(และประเทศอื่นๆในยุโรปส่วนมาก)  สิทธิการตกปลาในแม่น้ำจะเป็นของเจ้าของที่ดินริมน้ำ และเมื่อเราเช่าเคบินหลังนี้ เจ้าของเคบินก็แถมสิทธิในการตกปลาหน้าที่ดินของเขามาให้ด้วย

    เขตพื้นที่ตกปลารอบๆเคบิน

    ในแม่น้ำ Eidselva นอกจากปลาแซลม่อนที่ว่ายผ่านขึ้นไปวางไข่แล้วยังชุกชุมไปด้วยปลา Sea Trout ที่มาเป็นฝูงและขึ้นกินแมลงผิวน้ำให้เห็นเป็นระยะๆ วันนี้มอร์เต็นท์ที่ตกปลาอยู่หน้าบ้านก็ตกมาเป็นอาหารได้หลายตัว

    มอร์เต็นท์นั่งจิบเบียร์ดูรอนนี่ตกปลาหน้าบ้าน

    ตอนเย็นวันนั้น เจ้าของเคบินซึ่งเป็นชาวไร่เจ้าของฟาร์มแกะรอบๆเคบินนั้นเดินลงมาคุยกับเรา สอบถามว่าต้องการอะไรเพิ่มเติมมั๊ย 

    เขาเล่าให้ฟังว่าฤดูตกปลาที่นี่เร่ิมตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม ปีนี้มีคนตกปลาแซลม่อนใน Eidselva ได้แล้วประมาณ 550 ตัว ขนาดเฉลี่ยประมาณ 5 กิโลกรัม เท่ากับตัวที่ผมตกได้นี่แหละ 

    เขามีฝูงแกะประมาณ 120 ตัว ที่ในช่วงฤดูร้อนอย่างนี้จะปล่อยให้แกะหากินในป่า พอถึงฤดูหนาวก็จะไปต้อนกลับมาเพื่อขายขนขายเนื้อ 

    นอกจากปลาแซลม่อน และ Sea Trout ที่อุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำแล้ว เขายังเอาภาพกวางนับร้อยตัวในไร่ของเขาให้ดู เขาบอกว่าจากจำนวนนี้ เขากับเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันสามารถล่ากวางเป็นอาหารได้ถึง 35 ตัวในปีนี้!!!

     คืนนั้นเรานั่งฉลองกันด้วยเครื่องดื่มเศษของมอร์เต็นท์ชื่อว่า “ลูมุมบ้า”​ ที่มีส่วนผสมจากบรั่นดี, น้ำผึ้งและผงโกโก้ละลายด้วยน้ำร้อน

    เราแบ่งเอาเนื้อปลาแซลม่อนที่ปาดเป็นชิ้นฟิลเล่ออกมาเป็นอาหารเย็นวันนั้น กินกันแบบปลาดิบจิ้มน้ำจิ้มที่ภรรยาของรอนนี่เตรียมมาให้ อีกส่วนก็ทอดแบบง่ายๆ แค่นี้มันก็เป็นอาหารมื้อที่อร่อยที่สุดในโลกสำหรับผมแล้ว เพราะมันเป็นเนื้อปลาแซลม่อนธรรมชาติที่ผมตกมากับมือของตัวเองเมื่อ 3 ชั่วโมงก่อนอาหารมื้อนี้

    ไม่รู้ว่าจะเป็นความเหนื่อยจากการตกปลาหรือฤทธิ์ของลูมุมบ้า คืนนั้นผมนอนหลับสนิทเป็นตายเลยครับ

    แต่ก็หลับไปพร้อมกับคำถามในใจว่า “ทำอย่างไรแม่น้ำและแผ่นดินของเราจะอุดมสมบูรณ์อย่างนี้ได้บ้าง”

    ปลาแซลม่อน ชาวนา และการอนุรักษ์

    เช้าวันรุ่งขึ้น รอนนี่พาเราเข้าไปที่เมือง Nordfjorfeid ซึ่งเป็นจุดที่ Eidselva ไหลลงสู่ทะเล

    ที่ปากแม่น้ำ เราเดินไปยืนอยู่บนสะพาน รอนนี่ชี้ให้เราดูปลาแซลม่อน 4 ตัวใกล้ตอม่อของสะพาน พวกมันพรางตัวเข้ากับสีของน้ำและก้อนหินจนมองเห็นได้ยากมาก

    ปากแม่น้ำ Eidselva

    รอนนี่อธิบายว่าตรงนี้คือปากแม่น้ำ เป็นจุดแรกที่ปลาแซลม่อนจากทะเลจะเข้ามาพักรอจังหวะน้ำทะเลหนุนเพื่อจะว่ายทวนน้ำต่อไป  ที่ใต้สะพานมีกล้องคอยจับภาพให้เราเห็นผ่านเว็บไซต์ได้และเป็นเครื่องมือที่ใช้นับจำนวนปลาที่ว่ายเข้ามาในแม่น้ำในแต่ละปีด้วย 

    เรามีตั๋วสำหรับตกปลาวันละ 2 ใบ แต่ละใบให้เวลา 12 ชั่วโมง บางวันก็เริ่มจากบ่าย 2 โมงจนถึง ตีสอง บางวันก็เริ่มตั้งแต่ตีสองจนถึงบ่าย 2 โมง เราสามคนจึงผลัดกันออกไปตกปลาทุกวัน แต่จริงๆแล้ผมได้ออกทุกวันเพราะรอนนี่กับมอร์เต็นท์เสียสละให้เพราะเห็นว่ามาไกลจากเมืองไทย

    Eidselva ยาว 13.7 กิโลเมตร จากทะเลสาบ Hormindalsvatnet จนไปถึงทะเล ตั๋วตกปลาที่เราได้มานี้ ให้เราตกปลาได้เป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ทางฝั่งซ้าย ในช่วงกลางๆของแม่น้ำ

    จุดเริ่มต้นของพื้นที่ตกปลาของเราชื่อ Holmen สวยมาก มีโต๊ะให้นั่งพักใต้ร่มไม้

    อย่างที่ผมเล่าก่อนหน้านี้ว่าสิทธิในการตกปลาในแม่น้ำของนอร์เวย์เป็นของเจ้าของที่ดินริมฝั่งแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่ง ในแม่น้ำส่วนใหญ่ชาวไร่เจ้าของที่ดินจะรวมตัวกันกับเพื่อนบ้านเป็นกลุ่มเพื่อให้ได้พื้นที่ตกปลาที่ใหญ่พอควร แล้วมอบหมายให้คนหนึ่งในกลุ่ม หรืออาจจะเป็นคนนอกเข้ามาจัดการขายตั๋วตกปลานั้น

    รอนนี่หาตั๋วมาให้เราได้อย่างยากเย็นทั้งๆที่หาล่วงหน้าเกือบครึ่งปี เพราะนักตกปลาต่างแย่งชิงกันที่จะได้ตั๋วในแม่น้ำดีๆและเวลาเหมาะๆเช่นนี้

    ตลอดเส้นทาง 4 กิโลเมตรที่เราเดินตกปลานี้ มีทางเดินเล็กๆที่รื่นรมย์ ผ่านป่าและทุ่งหญ้าสลับกันไป บริเวณจุดตกปลาที่เป็นวังน้ำก็มักจะมีศาลาเล็กๆให้นั่งพัก แม่น้ำตลอดสายสะอาดมาก ไม่มีขยะเลยแม้แต่น้อย สองข้างฝั่งน้ำถูกดูแลอย่างดีเป็นธรรมชาติ ไม่มีการตกแต่งให้รกตาเลย

    ทางเดินริมแม่น้ำที่รื่นรมย์
    กระท่อมที่สร้างไว้ข้างทางให้นักตกปลานั่งพัก
    โต๊ะนั่งพักกลางทุ่งหญ้าริมแม่น้ำ

    เมื่อผมเอ่ยปากชมความงดงามของสายน้ำ รอนนี่ก็เล่าว่าสายน้ำของนอร์เวย์ไม่ได้เป็นอย่างนี้เสมอมา ในอดีตมันเคยเป็นแม่น้ำที่สกปรกมาก มีขยะจากการทำไร่เช่นเศษพลาสติกที่ห่อกองฟางและอื่นๆเต็มแม่น้ำไปหมด ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อมีรายได้จากนักตกปลาเข้ามา

    การตกปลาในแม่น้ำที่นอร์เวย์จะต้องซื้อใบอนุญาต 3 ส่วนคือ ส่วนแรกจ่ายให้รัฐเป็นค่าบริหารงานต่างๆ (National Fishing Fee) ปีหนึ่งประมาณ 28 Euro ส่วนที่สองคือจ่ายค่า Game Warden ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายให้กับผู้ที่คอยดูแลควบคุมให้คนปฏิบัติตามกฎกติกาของการตกปลา ล่าสัตว์ ประมาณ 10 Euro ต่อปี ส่วนที่สาม คือการจ่ายให้กับเจ้าของสิทธิในการตกปลาของแต่ละแม่น้ำโดยตรง

    เมื่อมีการตกปลาเข้ามาสร้างรายได้ให้กับชาวไร่เป็นกอบเป็นกำ  เจ้าของที่ทุกคนก็เริ่มดูแลแม่น้ำให้สะอาด ดูแลไม่ให้ตลิ่งพัง จัดทางเดินชายฝั่งให้ร่มรื่น ทำที่พักรับนักตกปลา และแน่นอน คอยดูแลปลาแซลม่อนในแม่น้ำ สำรวจประชากรปลาว่ามีจำนวนเท่าไหร่ มีการกำหนดโค้วต้าในการตกปลา มีการวางกฎเกณฑ์จำนวนนักตกปลา ซึ่งกติกาเหล่านี้คนในพื้นที่จะเป็นคนกำหนดและดูแลกันเองอย่างเต็มที่ เพราะถ้าแม่น้ำไหนมีปลามาก ปลาตัวโต สถานที่สวยงาม ก็ย่อมมีนักตกปลาอยากไปตกมาก ราคาตั๋วตกปลาก็ขยับขึ้นได้ เพิ่มรายได้โดยควบคุมจำนวนนักตกปลาไว้ให้พอดีไม่มีผลกระทบต่อปลา

    ตั๋วตกปลาในนอร์เวย์นี้ราคาแตกต่างกันไป ในบางแม่น้ำจะสามารถซื้อได้เป็นรายปี รายเดือนในราคาไม่สูงนักเช่น 100 Euro ต่อปี บางที่ก็เป็นรายวัน มีตั้งแต่ 300-500 บาทต่อวัน ไปจนถึง 30,000 Kr หรือเกือบแสนบาท ต่อ 12 ชั่วโมง!!! แต่ในที่แพงๆนี้ ล้วนแต่มีสถานที่สวยงาม มีปลาอุดมสมบูรณ์มากจนแทบจะรับประกันได้ว่าถ้าหากคุณไม่ทำอะไรโง่ๆจนเกินไปก็จะได้ปลาค่อนข้างแน่ และปลาแต่ละตัวก็มีขนาดเฉลี่ย 20 กิโลกรัมขึ้นไป!

    แต่ละแม่น้ำจะมีการกำหนดไว้ว่านักตกปลาแต่ละคนจะเก็บปลาได้กี่ตัว คิดวิเคราะห์มาจากสถิติจำนวนปลาที่ว่ายขึ้นมาในแม่น้ำและจำนวนปลาที่ตกได้ในปีก่อนหน้า

    ในปีนี้ Eidselva กำหนดให้นักตกปลาแต่ละคนเก็บปลาได้ไม่เกิน 8 ตัวในฤดูตกปลาทั้งปี และไม่เกิน 4 ตัวต่อวัน  แต่ถ้าเล็กกว่า 3 กิโลกรัมเก็บได้ไม่นับ

    เมื่อได้ปลา นักตกปลาจะต้องเก็บตัวอย่างเกล็ดปลาใส่ซองและเขียนข้อมูลเบื้องต้น เช่นความยาวของปลา วันเวลาและจุดที่ตกได้ ส่งไปที่หน่วยงานวิจัยปลา เพื่อเก็บสถิติและวิเคราะห์

    ซองบันทึกรายละเอียดและใส่เกล็ดปลาเพื่อส่งให้หน่วยงานวิจัย

    ไม่มีใครมาตรวจว่านักตกปลาแต่ละคนส่งใบนั้นหรือไม่ และนักตกปลาก็ไม่ต้องใส่ชื่อบนซอง แต่นักตกปลาทุกคนเต็มใจที่จะส่ง เพราะถ้าไม่มีคนส่งก็หมายความว่ามีปลาในแม่น้ำน้อย โค้วต้าที่จะตกได้ในปีหน้าก็จะลดลง หรือแม่น้ำสายนั้นอาจจะถูกปิดไม่ให้ตกปลา

    เห็นได้ชัดละครับว่าเมื่อมีการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างถูกต้อง สร้างรายได้ให้กับคนที่อยู่กับธรรมชาติและให้เขามีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ เขาก็จะดูแลธรรมชาติอย่างเต็มที่เพื่อให้มันคงอยู่เพื่อประโยชน์ของเขาเอง 

    และเมื่อมีกลไกของรัฐและคนที่รักธรรมชาติจากในเมือง ซึ่งในกรณีนี้ก็คือนักตกปลา มาประกอบเข้าให้ครบวงจร ทุกอย่างก็จะเดินหน้าไปได้ โดยที่รัฐไม่ต้องมาคอยควบคุม คอยห้าม หรือต้องใช้งบประมาณมาทำอะไรมากนัก ธรรมชาติแม้จะถูกใช้แต่ก็ฟื้นตัวได้เอง แม้ปลาจะถูกตกไป แต่จำนวนโดยรวมกลับเพิ่มขึ้น แม่น้ำสะอาด ป่าริมแม่น้ำฟื้นฟูขึ้น สัตว์อื่นๆก็พลอยได้ประโยชน์ไปด้วย

    เห็นตัวอย่างนี้แล้ว บ้านเราน่าจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการที่คิดแต่จะกันคนออกจากธรรมชาติบ้างนะครับ เพราะเท่าที่ทำมากว่า 60 ปี มีแต่ธรรมชาติจะหมดลงเรื่อยๆครับ


    ในวันที่ 2 ของการตกปลา ผมก็มีปลาแซลม่อนกินเบ็ดอีก 2 ครั้ง จุดตกปลาตรงนั้นมีชื่อว่า Hjelleholen อยู่เหนือน้ำจากวังเครื่องซักผ้าขึ้นไปประมาณ 200 เมตร เป็นส่วนที่สวยมากของแม่น้ำปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเป็นร่องลึกที่เหมาะมากสำหรับปลาจะว่ายทวนน้ำหรือพักซ่อนตัวอยู่ ในขณะที่ฝั่งเราเป็นหาดกรวดก้อนใหญ่ที่น้ำไม่ลึกนักทำให้ยืนและเดินตีสายได้อย่างสบายมาก   

    มอร์เต็นท์นั่งดรอนนี่ตกปลที่ Hjelleholen

    ผมใช้เหยื่อตัวเดิมที่ชื่อ Mikkeli Blue ซึ่งเป็น Tube Fly สีฟ้าสวยมากที่รอนนี่พันเอง เมื่อเดินตีสายไปถึงกลางวังน้ำ ก็มีปลาตัวหนึ่งงับเหยื่อแล้วก็ลาก แต่เมื่อหลังจากที่สู้ปลาอยู่ได้ไม่ถึง 2 นาทีก็หลุดไป 

    Mikkeli Blue

    ผมตีสายแล้วสวิงเหยื่อไปที่เดิมอีกครั้งโดยไม่ได้หวังอะไรมาก แต่ก็ต้องแปลกใจว่าพอเหยื่อเข้าไปถึงจุดเดิมก็มีปลางับเข้าทันที 

    ผมสู้ปลาอยู่ประมาณ 5 นาที  ก็เอาปลาเข้ามาใกล้ตัว มันเป็นแซลม่อนที่ไม่ใหญ่นัก น่าจะราวๆ 2 กิโลกรัม ผมมัวแต่พยายามเอา GoPro ถ่ายมันก่อนจะจับตัวก็เลยหลุดไปเสียก่อน ได้แต่แก้ตัวว่าตั้งใจจะปล่อยไปอยู่แล้ว


    เรามีตั๋วตกปลาในแม่น้ำ Eidselva ที่รอนนี่ซื้อไว้ให้ถึง 6 วัน แต่เราก็ใช้ชีวิตกันอย่างสบายๆไม่รีบร้อนที่จะออกไปตกปลา เช้ามาเราก็ต้มกาแฟ กินอาหารเช้าแบบง่ายๆ นั่งคุยกันสบายๆ แล้วจึงออกไปตกปลากัน

    รอนนี่กับมอร์เต็นท์มีความสุขกับการออกไปตกปลาด้วยกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้ง 2 คนเป็นเพื่อนรักกันมากว่า 30 ปี รอนนี่มีครอบครัวอยู่ในเมือง ส่วนมอร์เต็นท์ ปลีกวิเวกอยู่คนเดียวในกระท่อมกลางป่า แต่ทุกฤดูร้อนทั้ง 2 คนจะใช้เวลาอยู่ด้วยกันด้วยการตระเวนตกปลาในที่ต่างๆ

    เรานั่งต้มกาแฟกินกันระหว่างพักจากตกปลา

    เขาทั้ง 2 คนไม่ได้กระตือรือร้นที่อยากจะได้ปลากันมากนัก ทั้ง 2 คนเคยตกแซลม่อนได้มามากมายแล้ว ดูเหมือนเขาจะอยากให้ผมได้ปลามากกว่าที่จะตกปลาได้เองเสียอีก

    มอร์เต็นท์กับแซลม่อนที่ตกได้

    ตกค่ำเราก็กลับมาที่เคบิน กินอาหารกันแบบง่ายๆ มีอยู่มื้อหนึ่งผมเอาน้ำพริกอ่อง Freeze Dry ของแมงดึก Ready Food มาคืนรูปในกระทะแล้วราดลงบนเนื้อปลาแซลม่อน เพียงเท่านั้นก็ได้อาหารรสจัดจ้านที่สหายสองคนติดใจกันมาก

    แซลม่อนราดน้ำพริกอ่อง อร่อยกว่าภาพที่เห็นมากครับ

    หลังอาหารเราก็ดื่มเครื่องดื่มสารพัดที่พอจะหาได้ พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนเรื่องราวที่เคยเจอมาในชีวิต เรื่องราวของการตกปลาที่บ่อยครั้งนำไปสู่การคุยกันเรื่องการอนุรักษ์ปลาและธรรมชาติ ทุกคืนเราได้หัวเราะเฮฮากันจนแยกย้ายเข้านอน

    แล้วก็เริ่มวันใหม่ด้วยการออกไปตกปลาอีก 

    มันไม่ใช่แค่วันตกปลา แต่ผมอยากเรียกมันว่าวันเวลาที่ดี


    เราเจอนักตกปลาคนอื่นบ้าง แต่ไม่มากนัก เพราะมีการจำกัดจำนวนนักตกปลาไว้น้อยมากอย่างที่เล่าไปแล้ว เมื่อเจอกันก็ทักทายกันยิ้มแย้ม มีครั้งหนึ่งที่เราเจอหนุ่มสาวชาวนอร์เวย์ที่มาตกปลารอบเช้าในขณะที่เรารอที่จะเริ่มรอบบ่าย เราได้เห็นเขาได้ปลาแซลม่อนตัวแรกในชีวิตพอดี ก็เลยได้แสดงความยินดีกันใหญ่

    มอร์เต็นท์นั่งดูนักตกปลาอีกคนที่กำลังได้แซลม่อนตัวแรกของเขา

    เย็นวันหนึ่ง ผมกับรอนนี่เดินตกปลากันมาตามทาง เหนือน้ำมาจากที่เราเคยตกปลาได้สักประมาณ 1 กิโลเมตร ใกล้จุดตกปลาที่ชื่อ Nyeledet เราสลับกันตกปลามาตลอดทาง

    ผมมองไปที่ร่องน้ำลึกกลางแม่น้ำที่น่าสนใจ หลังฉากของแม่น้ำในจุดนั้นสวยงามมากด้วยทุ่งหญ้าป่าสนและทิวเขา เมื่อหันไปมองรอนนี่ เขาก็พยักหน้า บอกให้ลองเลย

    ผมเหวี่ยงเหยื่อตัวเดิมขวางแม่น้ำสวิงฟลายไปตามกระแสน้ำจนสุด จากนั้นขยับเดินตามน้ำไปทีละก้าวแล้วก็เริ่มตีสายใหม่ ในที่สุดปลาตัวหนึ่งก็งับเหยื่อแล้ววิ่งตามน้ำลงไปแรงมาก แรงจนรอนนี่บอกให้ผมเตรียมตัววิ่งตามได้เลย 

    แต่โชคดีที่ปลาไม่ไปไกลนัก หลังจากสู้ปลาอยู่พักใหญ่ ผมก็เอาตัวมันเข้ามาใกล้ฝั่งและรอนนี่ก็ช่วยคว้าตัวขึ้นมาได้ 

    ปลาตัวนี้เป็นตัวเมียขนาดใกล้เคียงกับตัวแรกที่ผมตกได้ คือประมาณ 5 กิโลกรัม รอนนี่บอกว่าน่าจะเพิ่งขึ้นจากทะเลมาได้ไม่เกิน 3-4 วันเพราะยังมี Sea Lice ที่ตายแล้วเกาะอยู่หลายตัว

    Sea lice ที่เกาะมากับตัวปลา

    จุดที่เราตกปลาได้นี้ไม่มีทางรถเข้ามาถึง ผมจึงไปหาท่อนไม้มาทำคานหามปลา เดินป่าและแวะตกปลากันเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร


    ทุกค่ำคืน อาหารมื้อเย็นริมน้ำเป็นช่วงเวลาพิเศษ แต่วันที่ได้แซลม่อนจะพิเศษขึ้นไปอีกด้วยลูมุมบ้าร้อนๆ ช่วยให้อบอุ่นขึ้นมาจากข้างในท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น

    ผมนั่งมองสายน้ำและวิวธรรมชาติตรงหน้า มันเป็นมุมมองของธรรมชาติที่งดงามยิ่งนัก น่าดีใจที่มันจะถูกรักษาไว้อย่างนี้ด้วยความสมดุลย์ของธรรมชาติ และความสมดุลย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้ธรรมชาติและมนุษย์อยู่ร่วมกันได้

    ผมรักการเดินทางไปสู่ที่แปลกใหม่ เพราะมันทำให้เรียนรู้ว่าในโลกนี้มีอะไรมากมายที่แตกต่างจากที่เราเคยรู้ หลายอย่างที่ต่างไปนี้อาจจะทำให้เราเข้าใจอะไรได้มากขึ้น หรือกระทั่งสั่นคลอนความเชื่อหลายๆอย่างที่เราเคยคิดว่าถูกต้องและเป็นจุดเริ่มต้นให้เราเปลี่ยนแปลงโลกที่เราคุ้นเคยให้ดีขึ้นได้

    ผมรักการตกปลาแบบ Fly Fishing เพราะบ่อยครั้งมันพาผมไปสู่มุมเล็กๆที่งดงามไปด้วยธรรมชาติที่ซ่อนเร้นอยู่ในโลก เช่นมุมข้างหน้าผมนี้ ที่ซึ่งถ้าไม่ตกปลาผมก็คงไม่มีทางจะได้เห็นมัน

    การได้ตกปลาแซลม่อนที่นอร์เวย์นี้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลยหากผมไม่มีสหายดีๆอย่างรอนนี่และมอร์เต็นท์พาไป มันไม่เพียงการได้มาตกปลาในที่ที่สวยที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง แต่เป็นการที่เราได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของวงจรธรรมชาติ ที่ดำเนินมานับพันนับหมื่นปี และยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้ความสมบูรณ์ของธรรมชาตินี้ยังคงอยู่อย่างสมดุลย์ต่อไปได้

    ตาเกิ้น

    11 มกราคม 2566

    จากบันทึกการเดินทาง วันที่ 6-12 สิงหาคม 2565

    ฟังเรื่องราวในรูปแบบ Podcast ได้ที่นี่และที่ Apple Podcast, Spotify, Google ฯ ครับ

    Episode 22: เมืองไทยเที่ยวได้ทุกเดือน รอบกองไฟ

    ฤดูร้อนอย่าหดหู่ครับ ป่าเหนืออาจจะร้อนแล้ง ไฟไหม้ แต่ยังมีที่เที่ยวธรรมชาติในเมืองไทยอีกมากมายครับ ตามมาเลยครับ ตาเกิ้นจะพาไป
    1. Episode 22: เมืองไทยเที่ยวได้ทุกเดือน
    2. Episode 21: ตกปลา Fly Fishing ที่ Yellowstone
    3. Episode 20 : Salmon Fishing ที่ Norway
    4. Episode 19: สุนทรียภาพ
    5. Episode 18: ช่วงเวลาที่งดงามของชีวิตกลางแจ้ง
  • Fly Fishing Yellowstone

    Fly Fishing Yellowstone

    ผมนั่งลงที่โขดหินข้าง Soda Butte Creek ลำน้ำเล็กๆที่ไหลผ่าน Lamar Valley หุบเขาที่มีผู้กล่าวว่าเป็นพื้นที่ตัวแทนของท้องทุ่งตะวันตกอเมริกาในยุคก่อนที่คนขาวจะมาถึงทวีปนี้ เพราะมันยังคงสภาพธรรมชาติไว้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง และยังจัดว่าเป็นหุบเขาที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในเรื่องของสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ Yellowstone เลยทีเดียว

    พระอาทิตย์ที่กำลังจะลับขอบฟ้าส่องแสงสีส้มเรืองรองไปทั่วท้องฟ้า, ผืนแผ่นดินและสายน้ำที่ไหลโค้งมากลางทุ่ง ขนาบด้วยเทือกเขาสูงรอบด้าน

    ก่อนพระอาทิตย์ตกดินที่ Soda Butte Creek

    ผมเคยมา Yellowstone National Park ก่อนหน้านี้แล้วถึง 4 ครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่ผมได้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของ Yellowstone นอกแผนที่แนะนำนักท่องเที่ยวได้เท่าครั้งนี้

    คงจะเป็นเพียงเพราะการตกปลาแบบ Fly Fishing ที่พาผมเข้ามาพบกับสายน้ำและธรรมชาติพิศุทธิ์ของ Yellowstone ได้เช่นนี้

    ในขณะที่นั่งชมธรรมชาติอยู่อย่างเงียบๆ ผมก็สังเกตเห็นปลาตัวหนึ่งขึ้นจิบที่ผิวน้ำตรงหน้า

    ด้วยความหวังเล็กๆว่า นั่นอาจจะเป็น Yellowstone Cutthroat Trout ปลาเฉพาะถิ่นที่มีแต่ในลุ่มแม่น้ำ Yellowstone เท่านั้น ผมค่อยๆคลานเข่าลงไปที่ริมน้ำและเหวี่ยงสายส่งเหยื่อลงไปที่ผิวน้ำอย่างระมัดระวังที่สุด

    Trout Shangri-la

    เรามาถึง Yellowstone National Park ก่อนหน้านั้น 5 วัน 

    มีคนเคยกล่าวไว้ว่ามาตกปลาที่ Yellowstone ไม่ต้องรีบร้อน เพราะในระบบนิเวศน์ของ Yellowstone มีสายน้ำน้อยใหญ่กว่าหนึ่งพันสาย ความยาวรวมกันกว่า 4,000 กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมีบึงและทะเลสาบอีกกว่า 600 แห่ง รีบยังไงก็ไม่สามารถตกปลาได้ทั่วในชั่วชีวิตนี้! 

    และนั่นก็คือแผนของเรา “ไม่รีบร้อน” ในวันแรกที่เดินทางไปถึง เราแวะนั่งกินเบียร์และสเต็กกันอย่างสบายใจโดยไม่ได้จับเบ็ดเลยแม้แต่น้อย ที่เมือง Gardiner เมืองคาวบอยเก่าแก่ที่กำเนิดมาพร้อมๆกับ National Park และตั้งอยู่หน้าประตูเข้าอุทยาน ทางทิศเหนือ

    วิวจากเมือง Gardiner ริมแม่น้ำ Yellowstone

    “เรา” ในที่นี้มีเพียง ผมและ“พี่ธิติ”​ สหายที่ผมเรียกว่า Fisherman’s Friend เราสองคนเดินทางตกปลาด้วยกันในที่แปลกๆและห่างไกลมาหลายที่ ทุกที่ที่ไปเราสองคนตกปลากันอย่างสนุกสนานมีความสุขไม่ว่าจะได้ปลาหรือไม่

    นั่นอาจจะเป็นเพราะ เราทั้ง 2 คนเหมือนกันตรงที่ว่า เราไม่เคยคาดหวังจะได้ปลา หรือปลาใหญ่จนเคร่งเครียดเกินไป เราดีใจเมื่อเพื่อนตกปลาได้มากกว่าที่จะตกได้เอง ขอเพียงได้ไปตกปลาในที่สวยงามและนั่งกินเบียร์เย็นๆกันตอนสิ้นวันก็เพียงพอ

    ชาวมอนทาน่าเขาชอบเบียร์และการตกปลาจริงจังแค่ไหนก็ลองดูยี่ห้อเบียร์เขาดูเองนะครับ

    จะเรียกเราสองคนว่า “นักตกปลา” ก็คงไม่เชิง

    เดือนตุลาคม อากาศเริ่มหนาวเย็นขึ้นเรื่อยๆ เราได้รับคำแนะนำจาก “Park Fly Shop” ร้านตกปลาเก่าแก่ของ Gardiner ว่าจุดที่ดีที่สุดตอนนี้คือแม่น้ำที่มีน้ำจากน้ำพุร้อนไหลลงมาทำให้น้ำอุ่น

    การไปตกฟลายในอเมริกานั้น แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดคือร้านตกฟลายในพื้นที่ครับ เขาจะรู้จักแม่น้ำในบริเวณนั้นเป็นอย่างดี และรู้สถานการณ์ล่าสุดของแต่ละแม่น้ำ แมลงอะไรกำลัง Hatch และเหยื่ออะไรจะได้ผลที่สุด ถ้าเป็นแหล่งตกปลายอดนิยมอย่าง Yellowstone นี้จะมีร้านอยู่ทุกเมืองเล็กเมืองน้อยและใกล้แม่น้ำสายดังๆทุกเส้น มีมากพอๆกับร้านสะดวกซื้อเลยทีเดียว ร้านเหล่านี้เขาจะยินดีให้ข้อมูลกับคนที่เดินเข้าไปถาม และตามมารยาทก็ควรจะอุดหนุนซื้อของเขาบ้างโดยเฉพาะเหยื่อฟลายที่เขาจะสามารถแนะนำเหยื่อดีๆที่ปลาในบริเวณนั้นกำลังกินในช่วงเวลานั้นให้เราได้

    ถ้าใครเดินทางจากเมือง Bozeman, Montana แนะนำให้แวะ River Edge Fly shop ครับ เป็นร้านที่พนักงานเป็นกันเองและยินดีที่จะแนะนำมากๆ และมีของน่าซื้อเยอะไปหมดอีกด้วย

    Park Fly Shop ร้านฟลายเก่าแก่ในเมือง Gardiner ชำนาญมากในเรื่องแม่น้ำตอนเหนือของ Yellowstone

    หลายคนคงสงสัยซิครับว่า Yellowstone เป็นอุทยานแห่งชาติ เข้าไปตกปลาได้ด้วยหรือ ไม่โดนจับเหมือนดีเจดังที่ตกปลาในเขตอุทยานเมืองไทยหรือ

    ไม่โดนจับครับ เพราะในอุทยานของอเมริกาเขาไม่ได้ “ห้าม” ตกปลา เขาถือว่าการตกปลาอย่างถูกต้องเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ เพราะจะทำให้คนเห็นคุณค่าของปลาในธรรมชาติและร่วมกันดูแลรักษา นอกจากนี้รายได้จากการขายใบอนุญาตตกปลาก็เป็นเงินสนับสนุนการอนุรักษ์ปลาโดยตรง และยังมีประโยชน์ทางอ้อมคือดึงดูดนักตกปลาให้มาเที่ยวอุทยาน, สร้างรายได้ให้กับอุทยานและชุมชนรอบๆอุทยานด้วย ใบอนุญาตตกปลานี้ เจ้าหน้าที่อุทยานขายเอง ซื้อได้ในที่ทำการอุทยานเลยครับ

    ใบอนุญาตตกปลาในอุทยาน Yellowstone ซื้อกับเจ้าหน้าที่อุทยานได้ในที่ทำการเลยครับ

    เขาไม่ได้ “สักแต่ว่าห้าม” เหมือนบางประเทศ แต่เขาต้ังใจศึกษาและออกกฎระเบียบเพื่อการอนุรักษ์ปลาที่ละเอียด เหมาะสมกับพื้นที่และสถานการณ์มากกว่านั้นมากครับ

    เช่นในลุ่มแม่น้ำ Yellowstone ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยอยู่ของปลา Yellowstone Cutthroat Trout มาแต่ดั้งเดิมนั้น นักตกปลาทุกคนหากตก Yellowstone Cutthroat ได้จะต้องปล่อยทุกตัว, ถ้าเป็นปลาที่ไม่ใช่ปลาพื้นถิ่นเดิมอย่าง Rainbow, Brown หรือ Brook Trout จะเอาไปกินกี่ตัวก็ได้ แต่ถ้าเป็น Lake Trout ปลาแปลกถิ่นที่เป็นศัตรูหลักของ Yellowstone Cutthroat  จะต้องฆ่าห้ามปล่อยลงน้ำเด็ดขาด

    แต่ถ้าเป็นเขตลุ่มแม่น้ำอื่นๆเช่น Firehole, Lewis, Madison ฯ เป็นแม่น้ำที่ไม่เคยมี Yellowstone Cutthroat อยู่ตั้งแต่แรกก็จะเก็บได้เฉพาะ Brook Trout ได้วันละไม่เกิน 5 ตัวต่อคน ปลาอื่นๆต้องปล่อยกลับลงน้ำทั้งหมด

    ใบอนุญาตมีตั้งแต่ 3 วัน 7วัน และตลอด 1 ฤดูตกปลา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 18 ดอลล่าร์ ไปจนถึง 40 ดอลล่าร์ต่อคน เมื่อซื้อใบอนุญาตแล้วก็จะได้หนังสือคู่มือที่มีแผนที่แม่น้ำ, ข้อมูลอธิบายชนิดของปลา และกฎระเบียบในการตกปลาละเอียดยิบ และยังมีแบบฟอร์มให้กรอกส่งคืนว่าเก็บปลาอะไรไปกินบ้างเพื่อทำสถิติและวิจัย

    กฎกติกาเหล่านี้เป็นกฎภายในอุทยานซึ่งแตกต่างไปจากกฎการตกปลาภายนอก และจะมีการปรับเปลี่ยนเรื่อยๆขึ้นกับผลการศึกษาวิจัยปลาในธรรมชาติที่เขาทำกันอย่างต่อเนื่อง 

    เราตระเวนตกปลากันไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ Gardinier River ที่อยู่ใกล้เมืองที่เราพัก, Gibbon River แม่น้ำสวยที่ไหลผ่านกลางทุ่ง ไปจนถึง Firehole River บางจุดก็อยู่ริมถนน บ้างแห่งก็ต้องเดินป่าเข้าไปไกล

    Gibbon River ไหลผ่านทุ่งหญ้าสีทอง สวยงามมาก
    วันแรกของการตกปลาที่ Gibbon River หิมะก็ตกลงมาต้อนรับเราเลย
    Gibbon River
    Westslope Cutthroat Trout จาก Gibbon River บริเวณที่มีน้ำอุ่นผุดขึ้นมาจากใต้ดิน มีกอบัวด้วย

    จริงอย่างที่ร้านฟลายบอก อากาศเย็นอย่างนี้ไม่มีที่ไหนจะดีไปกว่าแม่น้ำที่มีนำ้พุร้อนไหลลงมาทำให้น้ำอุ่นอย่าง Firehole river ที่อยู่ใจกลางอุทยาน Firehole เป็นแม่น้ำที่ยาวหลายสิบกิโลเมตรและมีจุดตกปลาเด็ดๆหลายที่ เราตกปลาที่แม่น้ำนี้กันหลายวันจนตัดสินใจย้ายไปพักที่เมือง West Yellowstone ที่ใกล้แม่น้ำนี้มากกว่า 

    Firehole River มีน้ำพุร้อนหลายแห่งไหลลงมาเติมให้น้ำอุ่นตลอดปี
    พี่ธิติ Fisherman’s friend ของผมที่ Firehole River
    Firehole River เป็นแม่น้ำที่สวยมากสายหนึ่ง
    Firehole River ตอนเช้าตรู่

    จุดที่สวยที่สุดช่วงหนึ่งของ Firehole river อยู่ท้ายน้ำลงมาจาก Midway Geyser ช่วงนี้แม่น้ำโค้งออกมาห่างถนนทำให้เงียบสงบห่างไกลจากผู้คน มีเพียงควายไบซันยืนกินหญ้าอยู่ห่างๆ สายน้ำใสพื้นเป็นหินกรวด มีสาหร่ายปกคุลมเป็นช่วงๆ แม่น้ำนี้ไหลคดโดค้งไปกลางทุ่งหญ้าที่มองไปสุดสายตาโดยไม่เห็นมนุษย์และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเลย ที่สำคัญปลากินดีมาก และมีปลาขึ้นกินแมลงที่ hatch บนผิวน้ำเป็นระยะๆตลอดทั้งวัน

    Firehole River ใกล้กับ Midway Geyser สวยมากและมีแมลง Hatch ให้ตก Fry Fly ได้เกือบทั้งวัน ถ้าเฝ้าดูเงียบๆได้แน่ๆ

    เทคนิคใหม่ที่ผมได้รับคำแนะนำมาจากร้าน Park Flyshop และได้ผลดีมากที่ Firehole river ก็คือการใช้ Wet fly

    ขณะที่ Nymph เป็นตัวอ่อนของแมลงที่ลอยตัวอยู่ลึกใกล้หน้าดิน และ Dry Fly แทนแมลงที่เพิ่งเปลี่ยนสภาพจากตัวอ่อนและกำลังจะบินขึ้นจากผิวน้ำหรือที่เรียกกันว่า hatch Wet fly คือตัวที่อยู่ตรงกลางคือแมลงตัวอ่อนที่กำลังว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อจะ hatch ถ้าปลาเห็นเจ้าตัวนี้เข้าจะกลัวกินไม่ทัน รี่เข้ามากินโดยไม่ลังเลเลยครับ 

    เหยื่อ Wet fly
    Wet fly ทำให้เราได้ปลาตลอดทั้งวัน

    ที่ Firehole นี่ผมจะตกด้วย Wet Fly เกือบตลอดเวลา จนกระทั่งเห็นปลาขึ้นมากินแมลงที่ผิวน้ำจึงจะเปลี่ยนมาเป็น Dry Fly

    น้ำของ Firehole River ใสและอุดมสมบูรณ์มาก
    เฝ้ามองปลาขึ้นผิวน้ำก่อนจะตกด้วย Dry Fly เป็นเกมส์ที่สนุกที่สุดแล้วครับ

    Madison River ในตำนาน

    แม่น้ำชื่อดังอีกสายหนึ่งของ Montana ตะวันตก ก็คือแม่น้ำ Madison ที่กำเนิดในอุทยาน Yellowstone จากการรวมกันของแม่น้ำ Firehole และ Gibbon ไหลออกไปทางตะวันตกและวกขึ้นเหนือ

    Madison River ในตอนเช้าตรู่และฝูงควายไบซันที่ทำให้รู้สึกเหมือนว่าเราได้ย้อนเวลาไปหลายร้อยปี
    Madison River

    ตลอดความยาวเกือบ 300 กิโลเมตรทั้งในและนอกอุทยาน Madison River เป็นแม่น้ำที่อุดมไปด้วยปลาเทร้าท์ และแม่น้ำในช่วงที่อยู่ในอุทยานก็มีชื่อเสียงมากในเรื่อง Brown Trout ขนาดใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในอ่างเก็บน้ำ Hebgen Lake และจะว่ายทวนน้ำขึ้นมาผสมพันธุ์วางไข่ก่อนจะถึงฤดูหนาว

    เราแวะตกปลาจุดแรกที่ Barns Hole ซึ่งอยู่ใกล้ทางเข้า West Yellowstone มาก 

    การตกปลาที่ Barns Hole นี้มีประเพณีปฏิบัติที่น่าสนใจมาก คงจะเป็นเพราะมันเป็นจุดตกปลายอดนิยม เราเองก็ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน โชคดีที่เจอสหายใหม่นักตกปลาจาก Utha ที่อัธยาศัยดีมากเข้ามาคุยและอธิบายประเพณีที่ไม่มีเขียนไว้ให้ฟัง

    โต๊ะนั่งรอที่ Barns Hole และมิตรสหายนักตกปลา
    Barns Hole และแม่น้ำอีกหลายๆส่วนถูกกำหนดให้ตกปลาด้วยวิธี Fly Fishing เท่านั้น เพราะการตกแบบ Fly Fishing จะทำร้ายปลาน้อยมากและทำให้ปลาที่ถูกปล่อยมีโอกาสรอดสูงกว่าแบบอื่นมาก นอกจากนี้การตกปลาด้วยเหยื่อเป็นอาจจะทำให้มีการปล่อยปลาที่ไม่ใช่ปลาพื้นถิ่นลงน้ำ หรืออาจจะแพร่เชื้อโรคให้กับปลา

    ที่ Barns Hole นี้มีตุดตกปลาอยู่ 3 ช่วงแต่ละช่วงยาวประมาณ 100 เมตร นักตกปลาจะต้องไปเข้าคิว มีโต๊ะให้นั่งกินกาแฟรอ เมื่อคนข้างหน้าขับเดินลงไปสัก 10 เมตรแล้วถึงจะลงไปตกได้จากนั้นก็ขยับตามๆกันไป

    Barns Hole ในส่วนที่ 2

    จากแม่น้ำที่กว้างขึ้นและเปลี่ยนเหยื่อเป็น Stramer ขนาดใหญ่สลับกับ Wetfly ผมจึงเปลี่ยนมาใช้คัน Trout Spey ซึ่งเป็นคัน 2 มือ ขนาดเล็กเบอร์ 3 

    คันฟลาย Sage MOD เหมาะมากสำหรับการตีเหยื่อ Dry Fly สามารถวางเหยื่อได้อย่างนิ่มนวลและแม่นยำ
    คันฟลาย Trout Spey ของ Sage เหมาะมากสำหรับการตกเทร้าท์ด้วย Wet Fly และ Streamer

    เราตกปลาที่นี่ทั้ง 3 ช่วง แต่ก็ไม่ได้ปลาอะไรนอกจากผมได้ Mountain White Fish 1 ตัว แต่ก็ดีใจเพราะนอกจากจะเป็นปลาที่ผมไม่เคยตกได้มาก่อนแล้วก็ยังเป็นปลาท้องถิ่นดั้งเดิมของที่นี่อีกด้วย

    Mountain White Fish

    ดูเหมือนนักตกปลาคนอื่นๆก็ไม่มีใครได้ปลากันมากนัก อาจจะเป็นเพราะอากาศและน้ำที่เย็นเกินไปหรือเราอาจจะมาไม่ตรงช่วงเวลาการผสมพันธุ์วางไข่ของ Brown trout

    Madison River ยามเย็น

    เราฉลองวันตกปลาที่เหน็ดเหนื่อยกันด้วย Bison Tomahawk Steak และไวน์

    ไม่ได้ปลาใหญ่ไม่เป็นไร ของ Tomahawk ชิ้นใหญ่ๆคนละชิ้นไปเลย

    Lamar Valley และ Yellowstone Cutthroat Trout

    พื้นที่ใน Yellowstone ที่เราหมายมั่นปั้นมือจะไปตกปลากันมากก็คือหุบเขาทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือที่ชื่อว่า Lamar Valley เพราะนอกจากจะเป็นหุบเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าและคงสภาพธรรมชาติไว้มากที่สุดของ Yellowstone แล้ว ที่นั่นยังมีลำน้ำสาขาของแม่น้ำ Yellowstone ที่มีปลา Yellowstone Cutthroat Trout อยู่อย่างชุกชุมอีกด้วย

    ฝูงควายไบซันบนเส้นทางก่อนที่เราจะไปถึง Lamar Valley

    นอกจาก Lamar River ที่ไหลขนานกับถนนเมื่อเราไปถึง Lamar Valley แล้ว ยังมีลำน้ำสาขาที่น่าสนใจอีกสองสายคือ Slough Creek และ Soda Butte Creek และเราก็ตัดสินใจไปเสี่ยงดวงกันที่ Slough Creek ก่อน

    พอขับรถเข้าป่ามาจนถึง trail head หรือจุดเริ่มต้นเดิน เราก็งงๆกันว่าจะไปทางไหนดีและต้องเตรียมอะไรเข้าไปบ้าง โชคดีที่เจอนักตกปลาอีกคนจอดรถอยู่ที่นั่น

    Larry มาจาก Oregon เขาลากเทรเล่อร์มาจอดที่ Yellowstone แล้วตะเวนตกปลานานนับดือน Larry อัธยาศัยดีมาก พอถามเรื่องเส้นทางนิดเดียวก็อธิบายแหล่งตกปลาบริเวณนี้ให้เราฟังหมด พอรู้ว่าเราไม่มีสเปรย์กันหมีก็เดินไปหยิบจากรถมาให้ ขอดูว่าเรามีเหยื่อฟลายอะไรมาบ้างเสร็จแล้วก็เดินไปหยิบเหยื่อมาให้เราอีก

    Bear Spray เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีติดตัวเมื่อเดินเข้าป่าใน Yellowstone สเปรย์นี้ไม่ได้ใช้ฉีดตัวเรานะครับ แต่เอาไว้ฉีดไล่หมีถ้าคิดว่ามันจะเข้ามาทำร้าย

    พอเราขอบคุณในน้ำใจ เขาก็บอกว่าเรา “Pay Forward” นะ นั่นก็หมายความว่าเมื่อวันนี้เราได้รับความช่วยเหลือแล้ว วันหลังเราก็ต้องช่วยเหลือคนอื่นต่อไปแบบเดียวกัน เป็นประเพณีที่น่ารักมากๆ

    เราต้องเดินข้ามเขาไปประมาณ 3 กิโลเมตร ก่อนจะถึง Slough Creek จุดแรก เดินไปก็ต้องคอยระวังหมีไปด้วย

    Slough Creek เป็นสายน้ำที่กว้างพอควร น้ำใสมากจนเกือบนิ่งในบางช่วงจนเรามองเห็นปลาขนาดใหญ่ๆหลายตัวอยู่ที่ก้นแม่น้ำแต่ดูเหมือนปลาเหล่านี้จะไม่สนใจเหยื่อชนิดต่างๆที่เราส่งลงไปให้เลย

    Slough Creek ที่เราแรกเห็น
    Slough Creek

    เราเดินลัดเลาะเลียบลำน้ำกันไปเรื่อยๆ หุบเขารอบๆ Slough Creek นั้นแทบจะไร้ร่องรอยของสิ่งใดๆที่มนุษย์สร้างขึ้น รอบตัวเรามีแต่ทุ่งหญ้า, สายน้ำ, ควายไบซันเป็นฝูงๆ และ แน่นอน ปลา Yellowstone Cutthroat

    ที่ Slough Creek เรามีควายไบซันอยู่เป็นเพื่อนแก้เหงา

    หลายครั้งที่ผมลงทุนคลานไปหมอบที่ริมตลิ่ง แล้วหย่อนเหยื่อลงไปอย่างแผ่วเบา นานๆครั้งก็จะมีเจ้าปลาใหญ่ขึ้นมาดูเหยื่อใกล้ๆอย่างใจเย็นแล้วก็ว่ายกลับลงไปอย่างช้าๆ

    สหายที่ร้านฟลายเตือนเราไว้แล้วว่าอย่าเสียเวลามา Lamar Velley ในช่วงนี้เพราะอุณหภูมิของน้ำเย็นเกินไปมากจนทำให้ปลาหยุดล่าเหยื่อหาอาหารและเก็บตัวนิ่งอยู่ในน้ำลึก และมันก็เป็นอย่างนั้นจริง 

    ถึงกระนั้นผมก็ยังดีใจที่เรามาตกปลาที่ Lamar Velley เราเดินกันไปจนสุดทุ่งหญ้าต่อกับป่าทึบแล้วตัดสินใจเดินกลับเพราะคำเตือนที่ Park Ranger บอกเราไว้ก่อนหน้านี้ว่าต้องระวังหมีมากๆเพราะช่วงนี้หมี Grizzly จะพยายามเดินหาอาหารให้มากที่สุดก่อนจะเข้าจำศีลในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

    Slough Creek ยังคงสภาพธรรมชาติไว้อย่างสมบูรณ์มากไม่ต่างไปจากยุคสมัยก่อนที่คนขาวจะมาถึงทวีปนี้

    ขากลับก็เดินตกปลากันมาตลอด เราสองคนไม่ได้ปลาเลย ที่ตื่นเต้นที่สุดก็มีเพียงปลาใหญ่ตัวหนึ่งว่ายตามเหยื่อแมลงเต่าทองของผมอย่างใกล้ชิดอยู่หลายเมตรแล้วก็ว่ายจากไป

    Yellowstone Cutthroat ตัวใหญ่ๆที่ทำยังไงก็ไม่ยอมฮุบเหยื่อ

    ก่อนมืดเราตัดสินใจเลี้ยวเข้าไปจอดรถเสี่ยงดวงกันอีกครั้งที่ Soda Butte Creek 

    ผมนั่งชมความงามของพระอาทิตย์ที่ใกล้จะลับขอบฟ้า แสงสีแดงส้มฉายไปบนท้องฟ้า สะท้อนลงมาอาบท้องทุ่งและสายน้ำ เกิดเป็นภาพงดงามของธรรมชาติพิศุทธิ์ที่เป็นเช่นนี้มานับพันนับร้อยปี

    ขณะที่นั่งชมความงามของธรรมชาติอยู่อย่างสงบนิ่ง ผมก็สังเกตเห็นปลาขึ้นจิบที่ผิวน้ำข้างโขดหิน

    นี่อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายในทริปนี้ที่ผมจะได้ยลโฉม Yellowstone Cutthroat trout ผมค่อยๆคลานเข่าลงไปที่ริมน้ำและเหวี่ยงสายส่งเหยื่อลงไปที่ผิวน้ำอย่างระมัดระวังที่สุด

    OLYMPUS DIGITAL CAMERA

    Yellowstone Cutthroat เป็นปลาเทร้าท์พื้นถิ่นชนิดเดียวในพื้นที่กว้างใหญ่ของ Yellowstone Park ก่อนที่จะมีการจัดตั้งอุทยาน

    ด้วยความที่แม่น้ำเกือบครึ่งหนึ่งของ Yellowtone Park อยู่เหนือน้ำตกสูงจนปลาไม่สามารถจะว่ายทวนน้ำขึ้นมาอยู่ได้ เพื่อดึงดูดให้คนมาเที่ยวและมาตกปลา เจ้าหน้าที่อุทยานในยุคเริ่มต้นจึงเอาปลาเทร้าท์ชนิดอื่นมาเพาะพันธุ์และปล่อยลงในแม่น้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Rainbow จากฝั่งตะวันตก, Brook จากฝั่งตะวันออก หรือกระทั่ง Brown จากยุโรป โดยที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดความเสียหายอะไรขึ้น

    หลายสิบปีต่อมาปลาต่างถิ่นเหล่านั้นแพร่พันธุ์ไปทั่ว Brook trout ที่หาอาหารเก่งแย่งอาหารรวมไปถึงกินตัวอ่อนของ Cutthroat, Rainbow ที่มีช่วงเวลาวางไข่ตรงกันผสมข้ามพันธุ์กับ Cutthroat ไม่นานนัก Yellowstone Cutthroat ก็ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

    Brook Trout เป็นปลาจากภาคตะวันออกของอเมริกา เป็นปลาที่หาอาหารเก่งและโตเร็วจนกลายเป็นปัญหาเพราะแย่งอาหารและกินลูกปลา Yellowstone Cutthroat จนมีจำนวนลดลง

    แต่นั่นก็ยังไม่เลวร้ายเท่ากับที่ใครสักคนแอบปล่อย Lake Trout ลงใน Yellowstone lake ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่และขยายพันธุ์หลักของ Yellowstone Cutthroat ในช่วงปี 90 

    Lake Trout เป็นปลาผู้ล่าขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในน้ำลึกนี้ทำให้ Yellowstone Cutthroat ที่อาศัยอยู่ใน Yellowstone Lake มานับพันนับหมื่นปีแทบจะสูญพันธุ์ จากจำนวนที่เคยเห็นว่ายขึ้นไปวางไข่นับล้านๆตัว เหลือเพียงหลักสิบ!

    Lake Trout เป็นปลาผู้ล่าขนาดใหญ่ Lake Trout 1 ตัวจะกิน Yellowstone Cutthroat ถึง 70 ตัวต่อปี!
    เจ้าหน้าที่ของ Yellowstone ต้องใช้อวนจับ Lake Trout ออกจากทะเลสาบ Yellowstone ปีละ 3-4 แสนตัว

    Yellowstone Cutthroat นั้นเป็นมากกว่าปลาสวยงามหายาก มันมีบทบาทสำคัญมากต่อระบบนิเวศน์ของ Yellowstone เพราะการที่มันเป็นปลาชนิดเดียวที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบแล้วว่ายขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำต่างๆซึ่งเป็นการนำสารอาหารจากทะเลสาบกลับไปให้กับป่าและสัตว์ต่างๆ 

    เมื่อ Cutthroat ลดน้อยหายไป บีเวอร์ก็ลดน้อยลง ไม่มีบีเวอร์ก็ไม่สัตว์ที่จะสร้างเขื่อนกันทางน้ำ ภูมิประเทศก็เปลี่ยนแปลง Moose ก็ขาดแหล่งที่อยู่, หมี Grizzly ที่เคยจับ Cutthroat กินก็อดอยากจนต้องย้ายถิ่นออกไปมีเรื่องกับผู้คนที่อยู่รอบๆ Yellowstone ฯลฯ วุ่นวายไปหมด

    ด้วยความพยายามเต็มที่ของ Yellowstone National Park ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมาทำให้ Yellowstone Cutthroat ค่อยๆเพิ่มจำนวนขึ้นทีละน้อย

    Yellowstone Cutthroat Trout จาก Soda Butte Creek ที่แสงสุดท้ายของวันพอดี

    A River Run Through it

    หิมะตกหนักมา 2 วัน อุณหภูมิลดลต่ำลงไปถึง -19C จนเราแทบจะออกไปไหนไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงการออกไปแช่น้ำเย็นๆตกปลา เราพยายามแล้วครับแต่เส้นทางเข้าอุทยานปิดหมดเพราะหิมะท่วมสูง

     

    หลังจากตระเวนตกปลาในแม่น้ำสายหลักๆอย่าง Yellowstone, Gardinier, Gibbon, Firehole, Madison, Lamar, Slough Creek, Soda butte creek แล้ว เรายังมีแม่น้ำอีกหนึ่งสายที่ต้องไปเยี่ยมเยือน

    Gallatin River เป็นแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดอยู่ใน Yellowstone National Park ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือและไหลขึ้นเหนือไปผ่านเมือง Bozeman, Montana 

    นอกจากจะเป็นแม่น้ำสายงามที่เต็มไปด้วยปลาดีๆแล้ว Gallatin River ยังโด่งดังเพราะมันเป็นแม่น้ำที่ใช้ถ่ายทำฉากสำคัญๆของภาพยนต์ในดวงใจของนักตกปลา Fly Fishing ทั่วโลก A River Runs Through It อีกด้วย

    แม่น้ำ Gallatin River ช่วงที่ใช้ถ่ายภาพยนต์ River Runs Through It อยู่ไม่ไกลจาก Bozeman มากนัก

    เราลุยหิมะลงไปตกปลาที่ริมแม่น้ำ Gallatin ในส่วนที่กำลังจะไหลออกนอกอุทยาน แม่น้ำช่วงนี้สวยมาก ไหลคดโค้งมาระหว่างทุ่งหญ้าสีทองที่ปกคลุมไปด้วยหิมะขาวโพลน โอบขนาบ 2 ข้างด้วยเทือกเขา ดูจากทำเลโค้งน้ำแล้วน่าจะมีปลาอยู่มากๆ แต่อากาศหนาวเย็น -7C คงจะหนาวเกินไปที่ปลาจะกินเหยื่อ

    Gallatin River ในเขต Yellowstone National Park

    ผมไม่ได้มุ่งหวังอะไร เพราะ 7 วันที่ผ่านมานี้เราได้ตกปลากันอย่างอิ่มเอม ปลาที่เราตกได้แม้จะไม่ใหญ่โต แต่ก็ครบทุกสายพันธุ์ ตั้งแต่ Rainbow Trout, Brown Trout, Brook Trout, Westslope Cutthroat, Mountain White Fish และ Yellowstone Cutthraot 

    ที่สำคัญไปกว่านั้น การตกปลา Fly Fishing ได้พาผมเข้าไปสู่ธรรมชาติงดงามในมุมที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนและใช้เวลาอยู่กับธรรมชาตินั้นอย่างเชื่องช้า  เมื่อสิ้นวันแทบทุกค่ำคืนก็มีความสุขกับเบียร์เย็นๆอาหารอร่อยๆกับสหาย “นักตกปลา” ผู้ที่ต้องการเพียงออกมาตกปลาด้วยกัน

    ตกปลาบ้าง ถ่ายรูปบ้าง ตกบ่ายหนาวจนแทบทนไม่ไหว ผมตั้งใจจะตีสายอีกสัก 2-3 ครั้งสุดท้าย แต่ดูเหมือน Fishing God ของ Yellowstone จะอยากเล่นตลกกับผม เพราะอยู่ดีๆในสายน้ำตรงหน้าก็มีปลาเทร้าท์ใหญ่ที่สุดที่ผมเคยเห็นมาโฉบขึ้นมาบนผิวน้ำแล้วก็ดำหายไป ไม่ว่าผมจะพยายามส่งเหยื่ออะไรลงไปก็ไม่ปรากฎตัวให้เห็นอีกเลย

    ครับ Fishing God of Yellowstone ไม่ต้องทำให้ผมคาใจหรอกครับ ผมจะกลับมาที่นี่อีกแน่นอน เพราะที่นี่ Yellowstone คือ Trout Shangri-la ในใจผม

     

    บันทึกจากการเดินทาง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2562

    ฟังในรูปแบบ Podcast ได้ที่นี่ครับ หรือจะที่ Apple Podcast, Spotify, Google ฯ ครับ

    Episode 22: เมืองไทยเที่ยวได้ทุกเดือน รอบกองไฟ

    ฤดูร้อนอย่าหดหู่ครับ ป่าเหนืออาจจะร้อนแล้ง ไฟไหม้ แต่ยังมีที่เที่ยวธรรมชาติในเมืองไทยอีกมากมายครับ ตามมาเลยครับ ตาเกิ้นจะพาไป
    1. Episode 22: เมืองไทยเที่ยวได้ทุกเดือน
    2. Episode 21: ตกปลา Fly Fishing ที่ Yellowstone
    3. Episode 20 : Salmon Fishing ที่ Norway
    4. Episode 19: สุนทรียภาพ
    5. Episode 18: ช่วงเวลาที่งดงามของชีวิตกลางแจ้ง

  • Horned Moons and Savage Santas

    Horned Moons and Savage Santas

    ในบรรดาหนังสือที่เกี่ยวกับชีวิตกลางแจ้งที่ผมได้เคยอ่านมา ผมคิดว่าเล่มนี้น่าจะเด็ดที่สุดแล้วครับ

    Horned Moons and Savage Santas รวบรวมเอา 45 บทความที่คัดสรรแล้วจากฝีมือของนักเขียนชั้นสุดยอดของโลกกลางแจ้งหลายยุคหลายสมัย บางคนอาจจะเป็นนักเขียนที่โด่งดังเป็นที่รู้จักอย่าง Ernest Hemingway,  Robert Ruark, Jack O’Connor แต่หลายคนก็เป็นนักเขียนที่เราอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน กระทั่งว่า มีบางบทความที่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เขียน

    แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกบทความในหนังสือเล่มนี้คล้ายกันก็คือมันล้วนแต่งดงามลึกซึ้ง จนทำให้ถ้อยคำที่ส่งผ่านตัวหนังสือ ผ่านกาลเวลา พิมพ์ลงกระดาษมานี้สามารถส่งผ่านอารมณ์และความรู้สึกจากผู้เขียนมาถึงเราที่เป็นผู้อ่านได้

    บทความในหนังสือเล่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการตกปลา ล่าสัตว์ แต่ไม่เลย มันไม่ใช่การเล่าเรื่อง ความตื่นเต้น ความหื่นกระหายที่จะได้พิชิต Trophy ที่อาจจะใหญ่ติดอันดับโลก หลายๆเรื่องไม่มีเสียงปืนดังเลยด้วยซ้ำ  ทุกเรื่องกลับบรรยายถึงความรู้สึกที่พวกเขา (ผู้เขียน) มีต่อธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเราอ่านแล้วจะรับรู้ได้เลยว่าความรู้สึกนั้นคือความรักที่ลึกซึ้ง

    ผมพอจะพูดได้ว่า ผมอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตกลางแจ้งมาไม่น้อย ทั้งหนังสือไทยและหนังสือต่างประเทศ และผมก็พบว่า หนังสือที่สื่อเล่าเรื่องราวของธรรมชาติได้ลึกซึ้งงดงามที่สุดคือเรื่องที่เขียนโดยนักเขียนตกปลาหรือล่าสัตว์ โดยเฉพาะคนที่ก้าวข้ามการล่าทั่วๆไปแล้ว จนสามารถไปถึงการล่าเพื่ออนุรักษ์ หรืออนุรักษ์เพื่อการล่า ต่างจากงานเขียนแนวอื่นๆที่มักจะเล่าเรื่องการเดินทางอย่างผิวเผิน, เรื่องเกี่ยวกับตัวคนเขียน หรือเรื่องราวการพิชิตต่างๆ

    นั่นอาจจะเป็นเพราะคนที่มีโอกาสได้ออกไปตกปลาล่าสัตว์ในประเทศที่เขาประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์นั้น หากจะทำได้ดีจะต้องใช้เวลามากมายอยู่ท่ามกลางป่าหรือลำน้ำจนเข้าใจสัตว์ป่าที่เขาต้องการล่า,​ปลาที่เขาต้องการตก และธรรมชาติที่มันอาศัยอยู่อย่างลึกซึ้ง และที่สำคัญที่สุด เมื่อเขาได้เข้าใจและก้าวพ้นความต้องการพื้นฐานที่จะล่าไปแล้ว เขาก็จะหลงรักธรรมชาติอย่างจริงจัง เข้าใจมันในมิติที่ลึกซึ่งกว่าคนที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของมัน ไปจนถึงพร้อมที่จะทุ่มเทแรงกาย กำลังเงินเท่าที่จะทำได้เพื่อจะปกป้องให้ธรรมชาตินั้นคงอยู่เพื่อให้เขาได้มีโอกาสตกปลาหรือล่าสัตว์ต่อไป

    ในสังคมไทย โดยเฉพาะในสังคมเมือง เราถูกสั่งสอนกันมาตั้งแต่เด็กว่าการตกปลาล่าสัตว์เป็นบาป เป็นสิ่งเลวร้าย เป็นการทำลายธรรมชาติ 

    แต่ผมเริ่มมีความคิดที่ว่า ความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาด้านเดียวนี้แหละคือต้นเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้การอนุรักษ์ของเราล้มเหลว จนทำให้เราสูญเสียธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นป่า, ทะเล, สัตว์ป่า, สัตว์น้ำไปจนแทบจะไม่มีเหลือ 

    เพราะความเชื่อนี้ทำให้เราอนุรักษ์ด้วยการกันคนให้ห่างออกจากธรรมชาติ  ไม่ให้โอกาสให้คนได้สัมผัสและรักธรรมชาติอย่างแท้จริง เราไม่เคยคิดไม่เคยเรียนรู้ที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมดไปเหล่านี้ให้ยั่งยืน 

    เมื่อไม่มีการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น ก็คงจะไม่มีใครสักกี่คนในสังคมนี้ที่จะทุ่มเทแรงกาย เสียสละโอกาส และร่วมลงทุนที่จะรักษาธรรมชาติไว้ เอาเข้าจริงคนส่วนใหญ่ก็เพียงพูดตามๆกันไปว่ารักธรรมชาติ แต่ไม่ลงมือทำอะไร และไม่แคร์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับธรรมชาติ

    อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงตั้งคำถาม บางคนอาจจะด่าผมอยู่ในใจว่าทำไมผมถึงคิดชื่นชมการตกปลาล่าสัตว์ว่าจะช่วยการอนุรักษ์ได้ 

    ผมอยากให้ลองคิดเสียอย่างนี้ครับ ว่าถ้าเรายอมรับกันว่าการอนุรักษ์ในบ้านเรานั้นกำลังเดินไปในทางที่ล้มเหลว เราก็ควรเปิดใจรับฟัง เปิดใจที่จะสนทนาหารือกันถึงแนวทางที่แตกต่างไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางที่ประสบความสำเร็จในที่อื่นๆ ซึ่งผมอยากจะชวนคุยกันในครั้งต่อๆไป

    บางทีหนังสือดีๆ อย่าง Horned Moons & Savage Santas อาจจะพอสร้างความเข้าใจได้สักเล็กน้อย ก่อนที่เราจะมานั่งคุยกันครับ

    ตาเกิ้น

    ก่อนรุ่งสางของวันที่ 16 ธันวาคม 2565 ณ บ้านกอปรสุข