จาก อลัน ควอเตอร์เมน จนถึง รพินทร์ ไพรวัลย์ และ Indiana Jones
ถ้าจะพูดถึงชื่อหนึ่งที่มีบทบาทเป็นตัวอย่างของสุภาพบุรุษกลางแจ้งมานับร้อยๆปี ก็คงต้องเล่าถึง อลัน ควอเตอร์เมน ครับ
อลัน ควอเตอร์เมน (Allan Quatermain) เป็นตัวละครเอกในนิยายเรื่อง King Solomon’s Mine ที่เขียนโดยนักเขียนชาวอังกฤษ H. Rider Haggard (Sir Henry Rider Haggard) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1885
ในนิยายเรื่องนี้ อลันเป็นพรานและ trader อยู่ในอัฟริกา ได้รับการติดต่อว่าจ้างโดย Sir Henry Curtis ให้นำทางออกไปตามหาน้องชายผู้ที่ทะเลาะกันหนีออกจากบ้านและเดินทางไปแสวงโชคหาขุมทรัพย์ของ King Solomon ซึ่งเป็นกษัตรชาวยิวที่ร่ำรวยมากในยุคประมาณปี 970 ก่อนคริตศักราช (ภาษาอาหรับเรียกชื่อว่าสุไลมาน) โดยที่ทั้ง 2 คนกับสหายอดีตทหารเรือชื่อกัปตันกู๊ดและคนนำทางชาวพื้นเมืองชื่อ Umbopa ที่มีเบื้องหลังน่าสงสัย ต้องเดินทางผ่านพื้นที่ทุรกันดาลไปจนถึงหุบเขาลึกลับที่มีชนเผ่าหลงสำรวจ


King Solomon’s Mine นี้เป็นนิยายเรื่องแรกที่เริ่มแนวของนิยายที่เรียกว่า Lost World คือการค้นพบชนเผ่าหรือเมืองหลงสำรวจ ซึ่งก็มีผู้เอาแนวนี้ไปเขียนนิยายกันต่ออีกมากมาย อีกเรื่องหนึ่งที่ดังมากของ H. Rider Haggard เองก็คือเรื่อง She ที่แปลมาเป็นไทยว่า “สาวสองพันปี” ซึ่งถูกเอาไปสร้างเป็นภาพยนต์นับสิบครั้ง
King Solomon’s Mine ขายดีมากครับ ดังไปทั่วโลกแปลไปหลายภาษา (ภาษาไทยก็มีการแปลมาในชื่อ สมบัติพระศุลี) จน H. Rider Haggard ใช้ตัวละครนี้เขียนหนังสือหากินจนร่ำรวย เขียนออกมาถึง 14 เรื่องในช่วงเวลา 42 ปี เล่าเรื่องของอลันตั้งแต่ก่อนและหลังเรื่อง King Solomon’s Mine ที่เกิดขึ้นในปี 1880 รอบคลุมช่วงอายุของอลันตั้งแต่ 18 จนถึง 68 ปี
อลัน ควอเตอร์เมน เป็นต้นแบบของตัวละครในนิยายดังและภาพยนต์อีกมากมายมาจนถึงวันนี้ครับ แต่ถ้าย้อนกลับไปก็จะพบว่าตัวละครนี้เขียนขึ้นมาจากแรงบันดาลใจของคนที่เคยมีชีวิตอยู่จริง ชื่อว่า Frederick Courteney Selous ชาวอังกฤษที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1851-1917

ชีวิตจริงของ Frederick Courteney Selous นั้นโลดโผนเหลือเชื่อกว่า Allan Quatermain เสียอีก เขาเป็นพรานอาชีพที่โด่งดังในอัฟริกาที่เดินทางไปแทบจะทั่วทั้งทวีป เป็นนักแม่นปืน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปืน เป็นนักธรรมชาติวิทยา เป็นทหาร เป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นนักกีฬาที่เก่งกาจในกีฬากลางแจ้งไม่ว่าจะเป็นวิ่ง, รักบี้, ว่ายน้ำ, ขี่จักรยาน เคยร่วมเดินทางซาฟารีกับประธานาธิบดี Theodore Roosevelt ฯลฯ
Frederick Courteney Selous สมัครกลับเข้าไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนอายุ 64 ปี และเสียชีวิตในสงคราม 2 ปีหลังจากนั้น เขาเขียนหนังสือบันทึกการผจญภัยของเขาไว้หลายเล่มเช่น “A Hunter’s Wanderings in Africa”, “Travel and Adventure In South-East Africa” ฯ
King Solomon’s Mine ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์หลายครั้ง แต่ละครั้งโดยเฉพาะช่วงยุคหลังเนื้อเรื่องถูกดัดแปลงไปมากตามสไตล์ Hollywood รอบสุดท้ายนี้แปลงจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม


นิยายและเรื่องราวของอลัน ควอเตอร์เมน เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนนวนิยายทั่วโลกในสร้างสรรค์นิยายในแนวนี้ออกมา
ในเมืองไทยเรา นวนิยายในแนวป่าดงเรื่องแรกที่มีกลิ่นอายของ อลัน ควอเตอร์เมน ก็น่าจะเป็นเรื่อง “ล่องไพร”ที่เริ่มจากการเป็นละครวิทยุ จากการเขียนของครูน้อย อินทนนท์ พรานใหญ่คนหนึ่งของเมืองไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497
ในล่องไพร ตัวเอกของเรื่องคือ คุณศักดิ์ สุริยันต์ เป็นพรานชาวกรุงที่ชอบการใช้ชีวิตในป่าดง มีสหายคู่ใจเป็นพรานกระเหรี่ยงชราชื่อ “ตาเกิ้น” และเพื่อนร่วมเดินทางอีกคนคือ ร.อ.เรือง ยุทธนา คุณศักดิ์และตาเกิ้นโลดแล่นผจญภัยไปบนหน้าหนังสือด้วยกันถึง 14 เล่ม

และถ้าคุณได้อ่านหนังสือ “ทุ่งโล่งและดงทึบ” ซึ่งเป็นบันทึกการเดินป่าในชีวิตจริงของครูมาลัยประกอบไปด้วย คุณจะพบว่า หลายๆอย่างที่ครูมาลัยเขียนในนิยายนั้นมาจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในป่า รวมถึงตาเกิ้นที่มีตัวตนอยู่จริงในชื่อกระเหรี่ยงแก่น

“ทุ่งโล่งและดงทึบ” คือบันทึกการเที่ยวป่าจากชีวิตจริงของ ครูมาลัย ชูพินิจ หรือที่หลายๆคนรู้จักท่านจากนามปากกา “น้อย อินทนนท์” และ “เรียมเอง”ผู้เขียนนิยาย “ล่องไพร”, “ชั่วฟ้าดินสลาย”, “ทุ่งมหาราช” ฯ
รวมเล่มและตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2495 น่าจะเป็นหนังสือเรื่องป่าเล่มแรกๆของเมืองไทย เรื่องราวต่างๆรวบรวมมาจากการเที่ยวป่าของครูมาลัยตั้งแต่สมัย 2470 มาจนถึง 2495 แต่ละเรื่องล้วนน่าทึ่งและมหัศจรรย์มากจนคนรุ่นเราไม่สามารถจินตนาการถึงป่าในยุคนั้นได้
ผมได้อ่านครั้งแรกจากเล่มที่พิมพ์ในปี 2546 พิมพ์ครั้งนั้นมีการเพิ่มเติมเรื่องของครูมาลัยในยุคหลัง 2495 เข้าไปอีกหลายเรื่อง อ่านแล้วยกให้เป็นหนังสือในดวงใจตลอดมา ทึ่งในเรื่องราว เช่น “เรื่องของอ้ายเก” เรื่องของกระทิงที่ฆ่าชาวบ้านป่า ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนตอนแรกของนิยายล่องไพร ที่น่าตกใจก็คือเรื่องจริงนั้นยิ่งกว่านิยาย เรื่อง “พรานช้าง” เล่าเรื่องกระเหรี่ยงแก่น ที่เป็นตัวจริงของตัวละคร “ตาเกิ้น”ในล่องไพร และทุกๆเรื่องที่อยู่ในเล่มนี้ล้วนสุดยอด
หลังจากปี 2546 มาไม่เคยมีการเอามาพิมพ์ใหม่ จนกลายเป็นหนังสือหายากมาก ผมพยายามหาซื้อให้เพื่อนๆไม่เคยได้ เคยเขียนไปหาสำนักพิมพ์ให้พิมพ์ใหม่ก็ทำมาแล้ว
วันนี้ดีใจสุดๆที่ มีการเอามาพิมพ์ใหม่
แนะนำเลยครับ เล่มนี้ สำหรับคนชอบป่า ต้องอ่าน ต้องมีไว้ครับ
แน่นอนว่านวนิยายแนวป่าดงที่ดังและอมตะที่สุดของไทยเราก็คือ “เพชรพระอุมา” ซึ่งครูพนมเทียน ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากนวนิยาย King Solomon’s Mine รวมทั้งใช้พล็อตมาเป็นเค้าโครงเรื่องของเพชรพระอุมาด้วย

ในเรื่องเพชรพระอุมานี้ ตัวเอกของเรื่อง ร.อ.รพินทร์ ไพรวัลย์ ซึ่งเป็นพรานป่า ได้รับการว่าจ้างจาก ม.ร.ว.เชษฐา วราฤทธิ์ ให้ออกตามน้องชายที่ทะเลาะกันหนีออกจากบ้านและเดินทางไปแสวงโชคหาขุมทรัพย์ตามลายแทงโบราณ โดยที่มี พ.ต.ไชยยันต์ อนันตรัย ผู้เป็นเพื่อน และ ม.ร.ว.ดาริน วราฤทธิ์ น้องสาวติดตามเดินทางไปด้วย ทั้งหมดเดินทางผ่านป่าดงโดยมีพรานพื้นเมือง 5 คนติดตามไปจนตลอดเส้นทาง หนึ่งในนั้นคือชาวกระเหรี่ยงที่มีความเป็นมาลึกลับใช้ชื่อว่า แงซาย
ครูพนมเทียนเริ่มเขียนเพชรพระอุมาตั้งแต่ปี 2507 และใช้เวลากว่า 25 ปี จนมาจบสมบูรณ์ในปี 2533 แบ่งเป็น 2 ภาค ภาคละ 24 เล่ม
ถึงแม้เค้าโครงเรื่องจะคล้าย King Solomon’s Mine แต่ครูพนมเทียนก็ใส่ประสบการณ์จริงของป่าเมืองไทยที่ท่านได้พบเห็นมาด้วยตัวเอง และความรู้เรื่องอาวุธปืนระดับปรมาจารย์เข้าไปมากมายจนแทบจะเป็นตำราเรื่องป่าและปืนของเมืองไทย นอกจากนี้ก็มีความน่าสนใจของตัวละครที่โดดเด่นน่าสนใจทุกคน และยังมีเรื่องราวโรแมนติกระหว่างรพินทร์กับดารินให้ติดตามลุ้นกันตลอด เนื้อเรื่องก็เข้มข้นหลากหลายเกินพล็อตเดิมของ King Solomon’s Mine ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็เหมือนเอา King Solomon’s Mine, Mummy, Jurastic Park และ Gladiator เข้ามาผูกร้อยเป็นเรื่องเดียวกัน รับรองว่าถ้าเริ่มอ่านแล้ววางไม่ลงแน่นอนครับ
ภาพยนต์สุดฮิตตั้งแต่ยุค 80’s มาจนถึงปัจจุบัน และกำลังจากมีภาคใหม่ออกมาในปีนี้ก็คือ Indiana Jones ซึ่งก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Allan Quatermain เช่นกัน

George Lucas เขียนพล็อตของ Indiana Jones ด้วยแรงบันดาลใจจาก Allan Quatermain ผสมกับ James Bond ทำให้ได้ Character ที่เป็น idol คนใหม่ของเด็กผู้ชายทั่วโลกในยุค 80’s และ 90’s
จาก Raiders of the Lost Ark ในปี 1981 ที่เล่าเรื่องการผจญภัยของ Dr. Henry Walton “Indiana” Jones, Jr. ในปี 1936 ที่ประสบความสำเร็จล้นหลาม ทำให้มีการสร้างอีก 4 ภาค คือ Temple of Doom (1984), Last Crusade (1989), Kingdom of the Crystal Skull (2008) และกำลังจะออกภาคใหม่ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย Dial of Destiny ในปีนี้ (2023) เล่าเรื่องการผจญภัยครั้งสุดท้ายของ Dr.Jones ในวัย 80 ปี เชื่อว่าผู้คนมากมายรวมทั้งผมกำลังรอกันอย่างใจจดใจจ่อ
ด้วยความสำเร็จของภาพยนต์ ทำให้ George Lucus สร้างทีวีซี่รี่ย์ The Young Indiana Jones Chronicles (1992-1996) ที่เล่าเรื่องวัยเด็กของ Indiana Jones ในยุค 1920 และยังมีการเขียนเรื่องราวของ Dr.Jones ออกมาในรูปแบบหนังสือนวนิยายที่เล่าเรื่องตั้งแต่ Dr.Jone ยังเรียนมหาวิทยาลัยจนกระทั่งออกมาเป็นนักผจญภัยถึง 13 เล่ม แฟนพันธุ์แท้ของ Indiana Jones ไม่ควรพลาดครับ

ภาพยนต์ซีรี่ย์นี้มีผลกับชีวิตผมมากครับ แค่ดูเทรลเลอร์ได้ยิน theme song ผมก็ขนลุกแล้วครับ

ในยุคประมาณยี่สิบปีก่อน เป็นยุคของ Webboard พันธุ์ทิพย์เฟื่องฟู ผู้คนที่ชอบอะไรเหมือนๆกันจากทั่วประเทศก็เข้าไปรวมกันอยู่ในที่เดียวเป็นครั้งแรก ห้อง Blue Planet เป็นห้องที่รวบรวมคนที่รักธรรมชาติ เดินป่า ดำน้ำ ถ่ายรูป ฯ เข้ามาหากัน ทุกคนล้วนใช้นามแฝง หลายคนเลือกชื่อตัวละครหล่อๆอย่างรพินทร์ ไพรวัลย์, แงซาย ฯ ไปใช้กันหมด ผมเองรู้ตัวว่าไม่ได้เก่งไม่ได้หล่อแบบนั้น ก็เลยเลือกใช้ชื่อ “ตาเกิ้น” ที่แม้จะเป็นพรานกระเหรี่ยงชรา แต่ผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อมิตรสหายยิ่งกว่าชีวิต
จาก Allan Quatermain, Frederick Courteney Selous, ศักดิ์ สุริยันต์, ตาเกิ้น, รพินทร์ ไพรวัลย์ มาจนถึง Indiana Jones พวกเขาเหล่านี้ได้ทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจกับเด็กๆและหนุ่มสาวในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา ให้ออกไปผจญภัย แสวงหา การใช้ชีวิตกลางแจ้งเสมอมา
สุภาพบุรุษกลางแจ้งเหล่านี้อาจจะแตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด แต่ทุกคนมีสิ่งที่เหมือนกันคือ พวกเขารักการใช้ชีวิตกลางแจ้ง, รักที่จะผจญภัยไปในโลกกว้างเทนที่จะใช้ชีวิตสะดวกสบายนุ่มนิ่มอยู่ในเมือง, ซื่อสัตย์และรักมิตรสหาย, ให้เกียรติผู้คน, ยึดถึอความถูกต้องและพร้อมที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อมันโดยไม่คิดถึงตัวเอง ซึ่งคุณค่าเหล่านี้ก็ถูกปลูกฝังลงไปในคนที่ชื่นชมพวกเขาโดยไม่รู้ตัว
แต่เมื่อทายาทคนสุดท้าย Dr.Indiana Jones กำลังจะเกษียณตัวเองในปีนี้แล้ว ใครเล่าจะมารับหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่าคนกลางแจ้งรุ่นต่อๆไป
ตาเกิ้น
มีนาคม 2566
ป.ล. ที่เขียนเล่ามานี้เพราะผมเพิ่งเจอว่า Allan Quatermain ในตอน King Solomon’s mine นั้น อายุ 55 ปี ผอม แกรน น้ำหนักแค่ 60 กว่ากิโลกรัม ผมสั้นตั้งชี้ ไม่ได้หล่อเหล่าอะไรเลย

เพราะฉะนั้น ช่วงนี้ถ้าเจอผม กรุณาเรียกผมว่า อลัน นะครับ อลัน ควอเตอร์เมน
ถ้าหลังจากนี้ไปสักหน่อย ก็ต้องเรียกว่า โจนส์ ครับ Indiana Jones ยังพอเป็นได้อีก 25 ปีครับ