ธันวาคม 2543
ขณะที่เดินไปลงเรือหางยาวริมแม่น้ำเงาที่บ้านนาดอย ผมก็เห็นชายคนหนึ่งที่ดูลักษณะแล้วไม่ใช่คนในพื้นที่ สะพายเป้ใบย่อมๆลงจากเรือเดินสวนมา

“มาจากไหนครับ” เขาทักทายผมก่อน เมื่อบอกว่าผมเป็น “นักท่องเที่ยว” มาจากกรุงเทพ เขาก็แสดงสีหน้าแปลกใจเล็กน้อยแล้วแนะนำตัวว่าเขาเป็นครูอยู่บนดอยสูงที่ต้องเดินจากจุดนี้ขึ้นไปอีก 12 กิโลเมตร
ก่อนจะแยกกันเขาก็เอ่ยว่า
“วันหลังขึ้นไปเที่ยวโรงเรียนผมบ้างนะครับ อยู่บนดอยสูงเกือบพันเมตร อากาศหนาว มีทะเลหมอกให้ดูทั้งปี
และถ้าพอจะมีของอะไรไปบริจาคได้บ้างก็จะดีมากเลย ชาวบ้านที่นั่นขาดแคลนมาก ไม่เคยมีหน่วยงานไหนขึ้นไปบริจาคของให้เลยครับ”
สามเดือนหลังจากนั้นผมและเพื่อนๆหลายคนก็บรรทุกผ้าห่ม, สมุดดินสอที่เรารวบรวมเงินไปซื้อมาเสื้อผ้าใช้แล้ว, ของเล่น, ของใช้ที่เพื่อนฝูงในเมือง “บริจาค” ให้มาใส่รถโฟร์วีลหลายคันวิ่งบนถนนดินเส้นแคบๆที่สูงชันขึ้นไปยังโรงเรียน “บ้านแม่หาด”

ที่โรงเรียนเราแจกจ่ายข้าวของเสื้อผ้าใช้แล้วที่บางครั้งแกะกล่องออกมาแล้วเราก็พบว่าเป็นเสื้อผ้าของคนเมืองที่ไม่เหมาะกับคนบนดอยเท่าไหร่นัก เราแจกขนมให้เด็กๆ ในบรรดาของที่เราขนไปทั้งหมดสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ที่สุดดูเหมือนจะเป็นผ้าห่ม

ค่ำคืนนั้นหมู่บ้านเลี้ยงต้อนรับและขอบคุณเราด้วยสิ่งที่เขามี ข้าวหลามเผากับกองไฟ แพะย่าง ผู้คนที่ใส่ชุดชนเผ่าของชาวกระเหรี่ยงต่างหลั่งไหลกันมาห้อมล้อม บรรยายกาศครึกครื้นไปด้วยการร้องรำทำเพลง และการแสดงของเด็กๆ ตามวัฒนธรรมกระเหรี่ยง
ภาพที่เห็นในคืนนั้นราวกับฉากหนึ่งของเรื่องสมบัติพระศุลีในแอฟริกา หากแต่ว่ามันเป็นของจริงและความทรงจำนั้นก็ยังคงอยู่อย่างกระจ่างชัดในใจผมแม้จะผ่านมากว่า 20 ปี
พวกเรากลับออกมาด้วยความอิ่มอกอิ่มใจที่เราได้ทำดีได้ช่วยเหลือสังคม
อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นความเชื่อของเราในตอนนั้น!
วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วผมวนเวียนกลับมาที่ “ลุ่มน้ำเงา”อย่างสม่ำเสมอและนับครั้งไม่ถ้วน จนเกิดความผูกพันกับแม่น้ำสายนี้และผู้คนที่อาศัยอยู่กับมัน


ผมได้เห็น “ความเจริญ” หลั่งไหลเข้ามา ถนนดีขึ้นเรื่อยๆ ขบวนรถออฟโร้ดที่ขนของเข้ามาบริจาคเป็นภาพที่เห็นจนชินตา สวนทางกับเสื้อผ้าชนเผ่าที่เคยเห็นใส่กันเป็นประจำกลับค่อยๆหายไป หลีกทางให้กับแฟชั่นคนเมืองที่มากับของบริจาค เปลือกขนมและของเล่นกลายเป็นขยะตกค้างอยู่ในชุมชนกลางป่าลึกเข้าไปเรื่อยๆ
ผมเริ่มตั้งคำถามให้กับตัวเองว่าสิ่งที่ผมเคยทำ เช่นการเอาข้าวของมาบริจาคนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้องแล้วจริงหรือ
สิ่งที่มาพร้อมกับ “ความเจริญ” และถนนคือความต้องการใช้เงิน จากเดิมที่เคยปลูกข้าวแค่พอกินและอาศัยอาหารจากธรรมชาติรอบตัวไม่ว่าจะเป็นพืชผัก, ปลาในน้ำและสัตว์ป่า ทุกคนก็เริ่ม “ถางไร่” ปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพดเมื่อป่าารอบตัวหมดไป อาหารจากธรรมชาติก็หมดไปพร้อมๆกัน นอกจากข้าวแล้ว อาหารทุกอย่างก็ต้องใช้เงินซื้อกินอย่างที่ไม่เคยต้องเป็นมาก่อน

ทุกๆอย่างค่อยๆเแพงขึ้น ยกเว้นพืชผลทางการเกษตรที่เขาพอจะปลูกขายได้ พื้นที่ป่าที่พอมีเหลือจึงถูกถางให้โล่งออกไปอีกเรื่อยๆ


ในเวลาหนึ่งผมเคยเขียนในบทความไว้ว่า
“หมู่บ้านในนิทาน” หรือ “Shangri-la” ในนวนิยายเรื่อง Lost Horizon ของ James Hilton นั้นมีอยู่จริงในมุมเล็กๆของโลกใบนี้หลายคนได้ค้นหามันจนเจอแต่แล้วพวกเขาก็เป็นคนทำให้มันสูญหายไปด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนให้หมู่บ้านในนิทานนั้นให้ “ดีขึ้น” โดยการนำสิ่งที่เขาคิดว่าดีงามจากที่ที่เขาคุ้นเคยเข้าไป
ตาเกิ้น
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมได้เข้าไปที่หมู่บ้านหนึ่งที่เคยเป็นอยู่ห่างไกลบนสายนำ้เงา หมู่บ้านที่เคยเงียบสงบ ผู้คนเคร่งศาสนา ห้ามจำหน่ายแอลกอฮอลล์และปราศจากสิ่งเสพติดต่างๆ
ในวันนั้นมีการสัมมนา “ผู้คนภายนอก” หลั่งไหลกันเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นนักปกครองท้องถิ่น,ครู, หมอ, ป่าไม้, เกษตรและผมเอง
พวกเขาหารือกันว่าจะร่วมกันพัฒนา “ชุมชนในเงา” อย่างไรเพื่อให้พร้อมที่จะรับมือ “ความเจริญ” ที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับ “ถนน”
แต่ผมกวาดตามมองไปรอบๆวงสัมมนา มีคนพื้นที่ดั้งเดิมนั่งร่วมอยู่ด้วยเพียงไม่กี่คนและพวกเขาก็แทบจะไม่ออกความเห็นอะไรเลย
หลังจากงานค่ำคืนนั้นสว่างไสวไปด้วยแสงไฟ การแสดงดนตรีของเด็กนักเรียน ร้านขายของต่างๆทั้งของกินของใช้ พอดึกหน่อยเสียงภาพยนต์จากหนังกลางแปลงที่ยิงกันสนั่นจอก็ดังกระหึ่ม เครื่องปั่นไฟส่งเสียงคำราม เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ไม่ใช่ของแปลกอีกต่อไป มีขายแทบทุกร้านด้วยคำอธิบายว่าขายให้นักท่องเที่ยวเท่านั้น
หลังจากดนตรีภาคดึกจบไปไม่กี่ชั่วโมง เสียงประกาศเชิญชวนให้ไปร่วมงาน “วิ่งการกุศล” เพื่อระดมทุนให้สุขศาลาก็ดังสนั่นหมู่บ้านแต่เช้ามืด นักวิ่งที่ส่วนใหญ่มาจากข้างนอกใส่เสื้อสีสดใสวิ่งกันครึกครื่นทั่วหมู่บ้าน
ท่ามกลางผู้คนและรถราที่วุ่นวายนี้ ผมมองผ่านไปเห็นผู้คนดั้งเดิมของหมู่บ้านนั่งทอผ้า, สานตระกร้าไม้ไผ่และผ่าฟืนอยู่ตามวิถีดั้งเดิมของพวกเขา
วันต่อมาหมู่บ้านก็กลับมาเงียบสงบอีกครั้งอย่างที่เคยเป็นมา ชีวิตที่ต้องพร้อมรับกับความเจริญก็ดำเนินต่อไป
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ การถ่ายเทวัฒนธรรมในโลกใบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณและยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วขึ้นในทุกวันนี้ด้วยการเดินทางและการสื่อสารที่รวดเร็วขึ้น แต่สิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาสู่สังคมที่คงสภาพเดิมมาอย่างผาสุขย่อมมีทั้งดีและไม่ดี
และที่สำคัญหลายคนที่พยายามนำมันเข้าไปอาจจะไม่เคยถามคนดั้งเดิมของสังคมว่ามันเป็นประโยชน์ให้กับพวกเขาแค่ไหน
ในวันนั้นคณะของเราก็เก็บของออกเดินทางล่องแม่น้ำเงาด้วยเรือแคนูกัน
ในครั้งนี้นอกจากจะล่องเรือเพื่อชมความงามของแม่น้ำเงากันตามปรกติแล้วเราก็มีความตั้งใจที่จะร่วมมือกับชาวบ้านหลายหมู่บ้านริมน้ำเงาทำโครงการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชนจากกิจกรรมการท่องเที่ยวตกปลาเชิงอนุรักษ์

ผมเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่าการพยายามนำสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่า “Fly Fishing” และ “การตกปลาเชิงอนุรักษ์” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ผลในการอนุรักษ์ธรรมชาติของปลาและแม่น้ำและยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนในหลายๆประเทศมาที่แม่น้ำเงาจะเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด


อย่างน้อยเราก็ได้เห็นตัวอย่างแล้วจากการเดินป่าและพายเรือแคนูที่ชาวแม่เงาสามารถดำเนินกิจการกันได้เองอย่างประสบความสำเร็จ ชาวบ้านที่นี่สามารถสร้างรายได้มากกว่าการปลูกพืชไร่ทั้งปีจากธรรมชาติที่พวกเขารักษาไว้ได้โดยไม่ต้องทำลายมันและก็มีชาวบ้านคนดั้งเดิมของที่นี่ไม่น้อยที่เห็นด้วยและช่วยกันทำ
แม้จะเป็นสิ่งแปลกปลอม แต่ “คนนอก” อย่างผมก็คิดว่ามันน่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยยืดอายุของ “แชงกรี–ล่า” แห่งนี้ออกไปได้บ้าง
หลังจากล่องเรือและตกปลากันมาทั้งวันเราก็ตั้งแค้มป์ริมฝั่งและนั่งล้อมวงรอบกองไฟกันแล้ววงสนทนาก็เริ่มขึ้นหลังอาหารเย็น
น้องผู้หญิงคนหนึ่งที่เพิ่งมากับเราเป็นครั้งแรกชื่นชมความงามของแม่น้ำเงาความเป็นมิตรและเอื้ออารีย์ของผู้นำทางท้องถิ่น แต่ขณะเดียวกันก็บอกว่าสงสารที่เด็กๆในหมู่บ้านใส่รองเท้าแตะวิ่งเล่นเตะบอลกันอยู่ไม่มีรองเท้าดีๆใส่ สหายชาวนอร์เวย์ก็เอ่ยปากว่าเขารู้สึกไม่ดีเลยที่ตัวเขามีเก้าอี้อย่างดีนั่งมีเสื้อผ้าอุ่นๆใส่ แต่ไกด์ท้องถิ่นของเราต้องมายืนผิงไฟหรือไม่ก็นั่งกับพื้น

ผมฟังแล้วก็ยิ้มเพราะผมเองก็เคยผ่านความคิดเช่นนี้มาแล้ว
“เรากำลังใช้มาตรวัดความสุขความลำบากด้วยสายตาของ outsider ครับ
ผมว่าถ้าจะให้ดี เมื่อเรามาที่นี่เราควรจะเรียนรู้วิถีของเขาบ้าง ลองเดินเท้าเปล่าบนหาดทราย นั่งบนพื้นดิน แล้วอาศัยไออุ่นของกองไฟดูบ้างว่ามันมีความสุขที่เรียบง่ายขนาดไหนครับ”
สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้และเลือกจะทำจากนี้ไปคือการที่จะช่วยให้เพื่อนๆผมที่นั่นมีรายได้จากธรรมชาติที่เขารักษาไว้โดยไม่ต้องทำลายมันให้เพียงพอที่จะอยู่ได้ในกระแสความเจริญที่กำลังหลั่งไหลเข้ามา จากนั้นเขาจะเลือกอะไรเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตก็ขอให้เป็นการเลือกของเขาเอง
ตาเกิ้น
กุมภาพันธ์ 2566