Monday, May 29, 2023
HomeชีวิตและการเดินทางSalmon Fishing ที่นอร์เวย์

Salmon Fishing ที่นอร์เวย์

-

เราเดินไปตามทางเล็กๆในป่าที่พาเราลัดเลาะไปข้างๆแม่น้ำ Eidselva

รอนนี่สหายชาวนอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้พาผมมาตกปลาที่นี่และยังคอยสอนเรื่องต่างๆเกี่ยวกับการตกปลาให้ตลอดพาผมเดินและตกปลากันมาครึ่งวันแล้วแต่เรายังไม่พบสิ่งที่ตามหากันเลย

“ถ้าผมเป็นปลาแซลม่อนที่ขึ้นมาจากทะเล ผมจะหยุดพักตรงนี้ ก่อนจะเดินทางทวนน้ำต่อไปนะ” รอนนี่ชี้ไปที่แอ่งลึกกลางแม่น้ำที่มีน้ำไหลแรงหมุนวนอยู่บนผิวน้ำ แต่ข้างล่างลึกลงไปจนไม่เห็นก้นบ่อ ในเวลาต่อมาเราจึงตั้งชื่อจุดตกปลาตรงนี้ว่า Whirlpool หรือ “เครื่องซักผ้า”

วังน้ำ “เครื่องซักผ้า”

“ตีเหยื่อข้ามไปฝั่งโน้นแล้วปล่อยให้กระแสน้ำพาสายและเหยื่อสวิงลงไปในน้ำลึกนะ” รอนนี่ชี้ไปที่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำที่กว้างประมาณ 20-25 เมตร และอธิบายวิธีตกปลาที่เรียกว่า “สวิงฟลาย”

“ระวังนะ ตรงนี้นำ้แรงมาก ยืนให้มั่นคงอย่าเดินออกไปไกลฝั่งนะ”​ รอนนี่หันมากำชับอีกครั้งก่อนจะเดินแยกไปตกปลาในจุดที่อยู่เหนือน้ำขึ้นไป

ผมเคยมีโอกาสได้ตกปลามาหลายชนิด ในที่หลายแห่ง แต่นี่คือการตกปลาแซลม่อนครั้งแรกในชีวิต

ตามทฤษฎีบอกว่า ปลาแซลม่อนที่ว่ายจากทะเลลึกเพื่อมาวางไข่ที่ต้นแม่น้ำนั้นจะไม่กินอะไรเลยตลอดการเดินทาง การที่จะตกมันได้เราจะต้องส่งเหยื่อลงไปผ่านหน้าปลาพอดี เพื่อยั่วให้มันงับเพราะความรำคาญมากกว่าความหิว

การตกปลาแซลม่อนด้วยเหยื่อฟลายส่วนใหญ่จะใช้เหยื่อที่คล้ายๆ Streamer มีขนาดใหญ่สีสดเพื่อให้สะดุดตาปลา การที่จะตกปลาด้วยเหยื่อใหญ่ๆแบบนี้ได้ทั้งวันโดยไม่ล้า นักตกปลาแซลม่อนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะใช้คันฟลายแบบสองมือที่เรียกกันว่าคันสเปย์ เพราะคันแบบนี้มีวงสวิงที่ Smooth มาก ตีเพียงครั้งเดียวก็สามารถส่งเหยื่อขนาดใหญ่ๆข้ามแม่น้ำไปได้สบายๆ

การตีสายส่งเหยื่อหนักๆเป็นเรื่องง่ายสำหรับคัน Spey

คันฟลาย 2 มือของผมเป็นคัน Sage One เบอร์ 7 หกท่อนที่เหมาะมากสำหรับการเดินทาง มันไม่ได้ถูกหยิบมาใช้ตั้งแต่ผมไปตกปลา Steelhead เมื่อ 6 ปีก่อน แต่มันก็ยังทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยม ส่งสายพาเหยื่อ “Mikkeli Blue” ลงไปวางที่ชายน้ำฝั่งตรงข้ามได้อย่างแม่นยำทั้งๆที่คนที่ใช้มันอ่อนซ้อมมากๆ

ผมตีสายอยู่ไม่กี่ครั้งก็เห็นปลาตัวใหญ่กระโดดขึ้นมาเหนือผิวน้ำ ผมตีสายซ้ำเพื่อส่งเหยื่อให้ผ่านบริเวณนั้นอีก 2-3 ครั้ง ปลาก็กระโดดใส่เหยื่อแต่ไม่ติดเบ็ด น่าจะเป็นปลาแซลม่อนที่โมโหร้ายตัวนึงเลย

อีก 4-5 ครั้งต่อมา ปลาตัวเดิมก็กระโดดลอยขึ้นเหนือผิวน้ำ คราวนี้มันงับเหยื่อแล้วพาดำลึกลงไปลากสายออกจากรอกราวกับใครสักคนเอามอเตอร์ไซค์ผูกไว้ที่ปลายสาย

โชคดีอยู่บ้างที่วังน้ำนั้นไม่กว้างใหญ่นัก ปลาจึงไม่สามารถไปได้ไกล

ผมปรับเบรกและสู้ปลาอยู่พักใหญ่ก็เอาปลาเข้ามาใกล้ฝั่งได้และเห็นตัวเป็นครั้งแรก มันเป็นแซลม่อนที่ขนาดใหญ่ทีเดียว แต่เพียงแว่บเดียวที่มองเห็นผม มันก็ลากพาสายดำดิ่งลงไปอีก 

วนอยู่เช่นนั้น 2-3 รอบ ปลาก็หมดแรงก่อนผม ยอมให้ลากเข้ามาเกยตื้น แต่ด้วยความที่ไม่มีสวิงอยู่กับตัวทำให้ผมต้องลุยน้ำลงไปคว้าหางและอุ้มปลาขึ้นมาอย่างทุลักทุเล

ผมตัดสายเบ็ดและอุ้มปลาไปหารอนนี่ด้วยความดีใจ แต่ดูเหมือนรอนนี่จะดีใจกว่าผมเสียอีก เขาอยากให้ผมได้ปลามากๆ

ปลาแซลม่อนตัวแรกของผมเป็นปลาแซลม่อนธรรมชาติของนอร์เวย์ มันเป็นตัวเมียยาว 80 เซ็นติเมตร น้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม

นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมมีเรื่องแซลม่อนเล่าให้ฟังอีกมากมายครับ

เรื่องของปลาแซลม่อน

ผมและอีกหลายๆคนที่รู้จักมัน มองว่าปลาแซลม่อนเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของโลกธรรมชาติเลยทีเดียว 

ปลาแซลม่อนจะวางไข่ในน้ำจืดบริเวณที่พื้นเป็นกรวดหินก้อนโต และมักจะเป็นที่ตื้น เป็นต้นน้ำของแม่น้ำ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวและเติบโตขึ้น ลูกปลาแซลม่อนเหล่านี้ก็จะว่ายตามน้ำออกไปสู่ทะเลลึก กลายเป็นปลาน้ำเค็มเป็นเวลาหลายปีจนเติบโตเต็มที่แล้วจึงว่ายทวนน้ำเข้ามาสู่แม่น้ำสายเดิมและกลับไปวางไข่จุดเดิมที่มันเกิดแล้วก็ตายลง

วงจรชีวิตของ Atlantic Salmon

ในอดีตนั้นปลาแซลม่อนมีจำนวนมากมายมหาศาล, หลากหลายสายพันธุ์ และว่ายขึ้นไปวางไข่บนแม่น้ำทุกสายสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกา ในมหาสมุทรแปซิฟิกก็มีในเกือบทุกแม่น้ำทางซีกโลกเหนือทั้งฝั่งญี่ปุ่น, รัสเซีย, อเมริกาและแคนาดา

ด้วยจำนวนที่มากมายและเนื้อที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางอาหาร โปรตีนชั้นดี โอเมก้าสาม ฯ แซลม่อนจึงเป็นอาหารสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์วิวัฒนาการ,​ขยายเผ่าพันธุ์ และสร้างความศิวิไลซย์ขึ้นตามชายฝั่งทะเลได้

ยิ่งไปกว่านั้นในวงจรวัฏจักรของธรรมชาติ เมื่อฝนตกลงบนภูเขาบนแผ่นดิน มันจะชะล้างเราแร่ธาติความอุดมสมบูรณ์ลงไปสู่แม่น้ำซึ่งทั้งหมดไหลลงสู่ทะเล แซลม่อนคือกลไกเดียวที่จะพาแร่ธาติเหล่านั้นกลับขึ้นมาสู่ผืนดินอีกครั้ง ปลาแซลม่อนจำนวนมหาศาลที่ขึ้นมาตายบนป่าต้นน้ำ เป็นอาหารของหมี, นาก, เหยี่ยว ฯ ที่คาบมันไปเป็นอาหารในป่ากลายเป็นปุ๋ยชั้นยอดให้ต้นไม้เติบโตสูงใหญ่ผิดจากที่อื่น

น่าเสียดายที่มนุษย์เรามองข้ามความสำคัญนี้ และทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแซลม่อนที่เคยเป็นอาหารหลักของคนมากกว่าหมู ,ไก่, วัว ที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้เสียอีก

ถ้ามีเวลาลองนั่งดูภาพยนต์เรื่องนี้นะครับ เล่าเรื่องปลา Salmon ได้ยอดเยี่ยมมากครับ

นอกจากจะจับเกินขนาดจนปลามีจำนวนลดลงแล้ว ปัญหาหลักที่ทำให้แซลม่อนสูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำหลายๆสายในเมริกาและยุโรปก็คือการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำจนแซลม่อนไม่สามารถว่ายขึ้นไปวางไข่ได้

ทุกวันนี้ปลาแซลม่อนธรรมชาติจึงกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่เหลืออยู่ไม่มากนัก

อ้าว! แล้วปลาแซลม่อนที่เรากินกันเยอะแยะนี่มาจากไหนล่ะ?

“Norwegian Salmon” ที่เราเห็นดาษดื่นใน Super Market ของประเทศไทยนั้นเป็นปลาเลี้ยง เป็น Salmon จากฟาร์มครับ 

แซลม่อนจากฟาร์มนั้นแตกต่างจากแซลม่อนธรรมชาติอย่างมากทั้ง คุณภาพในฐานะอาหาร,​ ความเป็นอยู่ของปลา และผลที่มันก่อให้เกิดต่อสิ่งแวดล้อม

ปลาแซลม่อนในฟาร์มนั้นเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างจากปลาในธรรมชาติ เช่นมีการเอาแอตแลนติกแซลม่อนไปเลี้ยงในแปซิฟิก นอกจากนี้พวกมันส่วนใหญ่ยังถูกตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้เติบโตได้เร็วได้ขนาดขายได้ในเวลาเพียงครึ่งหนึ่งของปลาสายพันธุ์ธรรมชาติ พวกมันถูกเลี้ยงอย่างแออัดอยู่ในกระชังตาข่าย

กระชังปลาแซลม่อนเหล่านี้มักจะตั้งอยู่ในทะเลใกล้ปากแม่น้ำเพื่ออาศัยให้กระแสน้ำช่วยถ่ายเทพัดพาสิ่งสกปรกออกจากกระชัง และปากแม่น้ำเหล่านี้ก็คือเส้นทางที่แซลม่อนธรรมชาติจะต้องผ่านเพื่อเข้าออกจากทะเลสู่แม่น้ำ

ด้วยความหนาแน่นของปลาในกระชังและการให้อาหารถี่ๆเพื่อให้ปลาโตเร็วที่สุด ทำให้เกิดของเสียจากกระชังลงสู่แหล่งน้ำอย่างมากมาย และความหนาแน่นของปลาในกระชังนี้ก็ทำให้เกิดโรคขึ้นในปลา จนต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างหนัก และบ่อยครั้งที่โรคระบาดเหล่านี้ก็แพร่กระจายไปสู่แซลม่อนธรรมชาติที่ว่ายผ่านกระชัง

ปัญหาทีชัดเจนมากที่กระชังปลามีผลกระทบต่อปลาแซลม่อนธรรมชาติก็คือการระบาดของ Sea Lice ที่มีมากมายบนปลาในกระชัง

เมื่อลูกปลาแซลม่อนว่ายออกจากแม่น้ำสู่ทะเลผ่านกระชังปลา มันจะถูก Sea Lice รุมเกาะและดูดกินจนลูกปลาจำนวนมากต้องตายลงไม่มีโอกาสไปเติบโต

ในด้านคุณค่าทางอาหารนั้นก็แตกต่างกันมาก ในขณะที่ Salmon ธรรมชาติเป็นอาหารที่เปี่ยมไปคุณค่าจากโปรตีนชั้นดี, โอเมก้า 3 ฯ ซึ่งมาจากการกินอาหารสะอาดในทะเลธรรมชาติและการว่ายน้ำอย่างอิสระเสรี เนื้อปลาแซลม่อนจากฟาร์มนั้นเต็มไปด้วยไขมันที่มาจากการให้อาหารปลาถี่ๆ ยาปฏิชีวนะที่ให้อย่างต่อเนื่อง และอาจจะมีเชื้อโรคต่างๆติดมาด้วย

แค่สีและสิ่งที่เห็นก็น่าจะบอกได้แล้วว่าเนื้อ Salmon ธรรมชาติทางขวา ต่างจาก Farm Salmon ทางซ้ายอย่างมาก

ถึงแม้ว่าการทำฟาร์มแซลม่อนจะทำรายได้มหาศาลให้กับ Norway แต่ชาวนอร์เวย์ที่รู้ความจริงเรื่องนี้ต่อต้าน Salmon Farm และปฏิเสธที่จะบริโภคเนื้อปลาแซลม่อนจากฟาร์ม 

บางคนถึงกับบอกว่า ไม่ซื้อมาให้แมวกิน

ภาพยนต์ที่สนับสนุนโดย patagonia เรื่องนี้เล่าเรื่องความเสียหายจาก Salmon Farming ได้อย่างตรงไปตรงมามาก

นอกจากนี้ยังมีปลาแซลม่อนหลุดออกมาจากกระชังอยู่เสมอ และปลาเหล่านี้เป็นอันตรายต่อแซลม่อนธรรมชาติอย่างมาก เพราะนอกจากอาจจะเอาเชื้อโรคมาแพร่แล้วมันก็อาจจะเอา DNA ที่ถูกตัดต่อของพวกมันมาปนกับสายพันธุ์ปลาในธรรมชาติ ซึ่งย่อมต้องเกิดการเสียหายอย่างร้ายแรง

เมื่อกระชังปลาใกล้ Seattle พัง มันทำให้ปลา GMO Atlantic Salmon กว่า 3 แสนตัวหลุดไปในธรรมชาติ ไม่มีใครรู้ว่ามันจะสร้างความเสียหายมากมายขนาดไหน

Cabin in the woods

Eidselva เป็นแม่น้ำที่ไหลจากทะเลสาบที่ลึกที่สุดในยุโรป ลงไปสู่ Fjord ที่อุดมสมบูรณ์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนอร์เวย์ 

ผมแบกปลาแซลม่อนหนัก 5 กิโลกรัมตัวนั้นลงจากรถเดินไปที่เคบินที่เราพักกัน มอร์เต็นท์สหายชาวนอร์เวย์อีกคนวิ่งเข้ามาแสดงความยินดีกับผมทันทีที่เห็นปลา

เคบินที่เรามาพักเป็นเคบินแบบง่ายๆแต่สวยมาก มันสร้างขึ้นมาจากไม้ทั้งหลัง อยู่ห่างแม่น้ำแค่ 20 เมตร เดินลงจากบ้านไม่กี่ก้าวก็ตกปลาได้เลย ที่ริมน้ำมีม้าหินให้เรานั่งเล่น ในบ้านไม่มีน้ำประปา มีไฟจาก Solar Cell เล็กน้อยให้พอชาร์จโทรศัพท์ได้ มีห้องน้ำเป็นอาคารหลังเล็กและส้วมหลุมอยู่นอกบ้าน ในตัวบ้านมีห้องนอน  2 ห้อง 6 เตียง นับว่าเป็นกระท่อมสำหรับนักตกปลาที่สมบูรณ์แบบจริงๆ

วิวจากระเบียงบ้าน

นอกเรื่องตกปลาสักนิด เมื่อผมถามด้วยความสงสัยว่าทำไมในบ้านไม่มีน้ำประปาและส้วมก็เป็นส้วมหลุม ก็ได้คำอธิบายว่ากฎหมายของนอร์เวย์นั้นเข้มงวดมากเรื่องการบำบัดน้ำเสีย เช่นบ้านหลังซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำ หากจะต่อน้ำเข้าในบ้านหรือจะทำส้วมแบบชักโครกจะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องลงทุนนับล้านบาท

ในเรื่องของการตกปลา ตามกฎหมายของนอร์เวย์(และประเทศอื่นๆในยุโรปส่วนมาก)  สิทธิการตกปลาในแม่น้ำจะเป็นของเจ้าของที่ดินริมน้ำ และเมื่อเราเช่าเคบินหลังนี้ เจ้าของเคบินก็แถมสิทธิในการตกปลาหน้าที่ดินของเขามาให้ด้วย

เขตพื้นที่ตกปลารอบๆเคบิน

ในแม่น้ำ Eidselva นอกจากปลาแซลม่อนที่ว่ายผ่านขึ้นไปวางไข่แล้วยังชุกชุมไปด้วยปลา Sea Trout ที่มาเป็นฝูงและขึ้นกินแมลงผิวน้ำให้เห็นเป็นระยะๆ วันนี้มอร์เต็นท์ที่ตกปลาอยู่หน้าบ้านก็ตกมาเป็นอาหารได้หลายตัว

มอร์เต็นท์นั่งจิบเบียร์ดูรอนนี่ตกปลาหน้าบ้าน

ตอนเย็นวันนั้น เจ้าของเคบินซึ่งเป็นชาวไร่เจ้าของฟาร์มแกะรอบๆเคบินนั้นเดินลงมาคุยกับเรา สอบถามว่าต้องการอะไรเพิ่มเติมมั๊ย 

เขาเล่าให้ฟังว่าฤดูตกปลาที่นี่เร่ิมตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม ปีนี้มีคนตกปลาแซลม่อนใน Eidselva ได้แล้วประมาณ 550 ตัว ขนาดเฉลี่ยประมาณ 5 กิโลกรัม เท่ากับตัวที่ผมตกได้นี่แหละ 

เขามีฝูงแกะประมาณ 120 ตัว ที่ในช่วงฤดูร้อนอย่างนี้จะปล่อยให้แกะหากินในป่า พอถึงฤดูหนาวก็จะไปต้อนกลับมาเพื่อขายขนขายเนื้อ 

นอกจากปลาแซลม่อน และ Sea Trout ที่อุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำแล้ว เขายังเอาภาพกวางนับร้อยตัวในไร่ของเขาให้ดู เขาบอกว่าจากจำนวนนี้ เขากับเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันสามารถล่ากวางเป็นอาหารได้ถึง 35 ตัวในปีนี้!!!

 คืนนั้นเรานั่งฉลองกันด้วยเครื่องดื่มเศษของมอร์เต็นท์ชื่อว่า “ลูมุมบ้า”​ ที่มีส่วนผสมจากบรั่นดี, น้ำผึ้งและผงโกโก้ละลายด้วยน้ำร้อน

เราแบ่งเอาเนื้อปลาแซลม่อนที่ปาดเป็นชิ้นฟิลเล่ออกมาเป็นอาหารเย็นวันนั้น กินกันแบบปลาดิบจิ้มน้ำจิ้มที่ภรรยาของรอนนี่เตรียมมาให้ อีกส่วนก็ทอดแบบง่ายๆ แค่นี้มันก็เป็นอาหารมื้อที่อร่อยที่สุดในโลกสำหรับผมแล้ว เพราะมันเป็นเนื้อปลาแซลม่อนธรรมชาติที่ผมตกมากับมือของตัวเองเมื่อ 3 ชั่วโมงก่อนอาหารมื้อนี้

ไม่รู้ว่าจะเป็นความเหนื่อยจากการตกปลาหรือฤทธิ์ของลูมุมบ้า คืนนั้นผมนอนหลับสนิทเป็นตายเลยครับ

แต่ก็หลับไปพร้อมกับคำถามในใจว่า “ทำอย่างไรแม่น้ำและแผ่นดินของเราจะอุดมสมบูรณ์อย่างนี้ได้บ้าง”

ปลาแซลม่อน ชาวนา และการอนุรักษ์

เช้าวันรุ่งขึ้น รอนนี่พาเราเข้าไปที่เมือง Nordfjorfeid ซึ่งเป็นจุดที่ Eidselva ไหลลงสู่ทะเล

ที่ปากแม่น้ำ เราเดินไปยืนอยู่บนสะพาน รอนนี่ชี้ให้เราดูปลาแซลม่อน 4 ตัวใกล้ตอม่อของสะพาน พวกมันพรางตัวเข้ากับสีของน้ำและก้อนหินจนมองเห็นได้ยากมาก

ปากแม่น้ำ Eidselva

รอนนี่อธิบายว่าตรงนี้คือปากแม่น้ำ เป็นจุดแรกที่ปลาแซลม่อนจากทะเลจะเข้ามาพักรอจังหวะน้ำทะเลหนุนเพื่อจะว่ายทวนน้ำต่อไป  ที่ใต้สะพานมีกล้องคอยจับภาพให้เราเห็นผ่านเว็บไซต์ได้และเป็นเครื่องมือที่ใช้นับจำนวนปลาที่ว่ายเข้ามาในแม่น้ำในแต่ละปีด้วย 

เรามีตั๋วสำหรับตกปลาวันละ 2 ใบ แต่ละใบให้เวลา 12 ชั่วโมง บางวันก็เริ่มจากบ่าย 2 โมงจนถึง ตีสอง บางวันก็เริ่มตั้งแต่ตีสองจนถึงบ่าย 2 โมง เราสามคนจึงผลัดกันออกไปตกปลาทุกวัน แต่จริงๆแล้ผมได้ออกทุกวันเพราะรอนนี่กับมอร์เต็นท์เสียสละให้เพราะเห็นว่ามาไกลจากเมืองไทย

Eidselva ยาว 13.7 กิโลเมตร จากทะเลสาบ Hormindalsvatnet จนไปถึงทะเล ตั๋วตกปลาที่เราได้มานี้ ให้เราตกปลาได้เป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ทางฝั่งซ้าย ในช่วงกลางๆของแม่น้ำ

จุดเริ่มต้นของพื้นที่ตกปลาของเราชื่อ Holmen สวยมาก มีโต๊ะให้นั่งพักใต้ร่มไม้

อย่างที่ผมเล่าก่อนหน้านี้ว่าสิทธิในการตกปลาในแม่น้ำของนอร์เวย์เป็นของเจ้าของที่ดินริมฝั่งแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่ง ในแม่น้ำส่วนใหญ่ชาวไร่เจ้าของที่ดินจะรวมตัวกันกับเพื่อนบ้านเป็นกลุ่มเพื่อให้ได้พื้นที่ตกปลาที่ใหญ่พอควร แล้วมอบหมายให้คนหนึ่งในกลุ่ม หรืออาจจะเป็นคนนอกเข้ามาจัดการขายตั๋วตกปลานั้น

รอนนี่หาตั๋วมาให้เราได้อย่างยากเย็นทั้งๆที่หาล่วงหน้าเกือบครึ่งปี เพราะนักตกปลาต่างแย่งชิงกันที่จะได้ตั๋วในแม่น้ำดีๆและเวลาเหมาะๆเช่นนี้

ตลอดเส้นทาง 4 กิโลเมตรที่เราเดินตกปลานี้ มีทางเดินเล็กๆที่รื่นรมย์ ผ่านป่าและทุ่งหญ้าสลับกันไป บริเวณจุดตกปลาที่เป็นวังน้ำก็มักจะมีศาลาเล็กๆให้นั่งพัก แม่น้ำตลอดสายสะอาดมาก ไม่มีขยะเลยแม้แต่น้อย สองข้างฝั่งน้ำถูกดูแลอย่างดีเป็นธรรมชาติ ไม่มีการตกแต่งให้รกตาเลย

ทางเดินริมแม่น้ำที่รื่นรมย์
กระท่อมที่สร้างไว้ข้างทางให้นักตกปลานั่งพัก
โต๊ะนั่งพักกลางทุ่งหญ้าริมแม่น้ำ

เมื่อผมเอ่ยปากชมความงดงามของสายน้ำ รอนนี่ก็เล่าว่าสายน้ำของนอร์เวย์ไม่ได้เป็นอย่างนี้เสมอมา ในอดีตมันเคยเป็นแม่น้ำที่สกปรกมาก มีขยะจากการทำไร่เช่นเศษพลาสติกที่ห่อกองฟางและอื่นๆเต็มแม่น้ำไปหมด ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อมีรายได้จากนักตกปลาเข้ามา

การตกปลาในแม่น้ำที่นอร์เวย์จะต้องซื้อใบอนุญาต 3 ส่วนคือ ส่วนแรกจ่ายให้รัฐเป็นค่าบริหารงานต่างๆ (National Fishing Fee) ปีหนึ่งประมาณ 28 Euro ส่วนที่สองคือจ่ายค่า Game Warden ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายให้กับผู้ที่คอยดูแลควบคุมให้คนปฏิบัติตามกฎกติกาของการตกปลา ล่าสัตว์ ประมาณ 10 Euro ต่อปี ส่วนที่สาม คือการจ่ายให้กับเจ้าของสิทธิในการตกปลาของแต่ละแม่น้ำโดยตรง

เมื่อมีการตกปลาเข้ามาสร้างรายได้ให้กับชาวไร่เป็นกอบเป็นกำ  เจ้าของที่ทุกคนก็เริ่มดูแลแม่น้ำให้สะอาด ดูแลไม่ให้ตลิ่งพัง จัดทางเดินชายฝั่งให้ร่มรื่น ทำที่พักรับนักตกปลา และแน่นอน คอยดูแลปลาแซลม่อนในแม่น้ำ สำรวจประชากรปลาว่ามีจำนวนเท่าไหร่ มีการกำหนดโค้วต้าในการตกปลา มีการวางกฎเกณฑ์จำนวนนักตกปลา ซึ่งกติกาเหล่านี้คนในพื้นที่จะเป็นคนกำหนดและดูแลกันเองอย่างเต็มที่ เพราะถ้าแม่น้ำไหนมีปลามาก ปลาตัวโต สถานที่สวยงาม ก็ย่อมมีนักตกปลาอยากไปตกมาก ราคาตั๋วตกปลาก็ขยับขึ้นได้ เพิ่มรายได้โดยควบคุมจำนวนนักตกปลาไว้ให้พอดีไม่มีผลกระทบต่อปลา

ตั๋วตกปลาในนอร์เวย์นี้ราคาแตกต่างกันไป ในบางแม่น้ำจะสามารถซื้อได้เป็นรายปี รายเดือนในราคาไม่สูงนักเช่น 100 Euro ต่อปี บางที่ก็เป็นรายวัน มีตั้งแต่ 300-500 บาทต่อวัน ไปจนถึง 30,000 Kr หรือเกือบแสนบาท ต่อ 12 ชั่วโมง!!! แต่ในที่แพงๆนี้ ล้วนแต่มีสถานที่สวยงาม มีปลาอุดมสมบูรณ์มากจนแทบจะรับประกันได้ว่าถ้าหากคุณไม่ทำอะไรโง่ๆจนเกินไปก็จะได้ปลาค่อนข้างแน่ และปลาแต่ละตัวก็มีขนาดเฉลี่ย 20 กิโลกรัมขึ้นไป!

แต่ละแม่น้ำจะมีการกำหนดไว้ว่านักตกปลาแต่ละคนจะเก็บปลาได้กี่ตัว คิดวิเคราะห์มาจากสถิติจำนวนปลาที่ว่ายขึ้นมาในแม่น้ำและจำนวนปลาที่ตกได้ในปีก่อนหน้า

ในปีนี้ Eidselva กำหนดให้นักตกปลาแต่ละคนเก็บปลาได้ไม่เกิน 8 ตัวในฤดูตกปลาทั้งปี และไม่เกิน 4 ตัวต่อวัน  แต่ถ้าเล็กกว่า 3 กิโลกรัมเก็บได้ไม่นับ

เมื่อได้ปลา นักตกปลาจะต้องเก็บตัวอย่างเกล็ดปลาใส่ซองและเขียนข้อมูลเบื้องต้น เช่นความยาวของปลา วันเวลาและจุดที่ตกได้ ส่งไปที่หน่วยงานวิจัยปลา เพื่อเก็บสถิติและวิเคราะห์

ซองบันทึกรายละเอียดและใส่เกล็ดปลาเพื่อส่งให้หน่วยงานวิจัย

ไม่มีใครมาตรวจว่านักตกปลาแต่ละคนส่งใบนั้นหรือไม่ และนักตกปลาก็ไม่ต้องใส่ชื่อบนซอง แต่นักตกปลาทุกคนเต็มใจที่จะส่ง เพราะถ้าไม่มีคนส่งก็หมายความว่ามีปลาในแม่น้ำน้อย โค้วต้าที่จะตกได้ในปีหน้าก็จะลดลง หรือแม่น้ำสายนั้นอาจจะถูกปิดไม่ให้ตกปลา

เห็นได้ชัดละครับว่าเมื่อมีการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างถูกต้อง สร้างรายได้ให้กับคนที่อยู่กับธรรมชาติและให้เขามีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ เขาก็จะดูแลธรรมชาติอย่างเต็มที่เพื่อให้มันคงอยู่เพื่อประโยชน์ของเขาเอง 

และเมื่อมีกลไกของรัฐและคนที่รักธรรมชาติจากในเมือง ซึ่งในกรณีนี้ก็คือนักตกปลา มาประกอบเข้าให้ครบวงจร ทุกอย่างก็จะเดินหน้าไปได้ โดยที่รัฐไม่ต้องมาคอยควบคุม คอยห้าม หรือต้องใช้งบประมาณมาทำอะไรมากนัก ธรรมชาติแม้จะถูกใช้แต่ก็ฟื้นตัวได้เอง แม้ปลาจะถูกตกไป แต่จำนวนโดยรวมกลับเพิ่มขึ้น แม่น้ำสะอาด ป่าริมแม่น้ำฟื้นฟูขึ้น สัตว์อื่นๆก็พลอยได้ประโยชน์ไปด้วย

เห็นตัวอย่างนี้แล้ว บ้านเราน่าจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการที่คิดแต่จะกันคนออกจากธรรมชาติบ้างนะครับ เพราะเท่าที่ทำมากว่า 60 ปี มีแต่ธรรมชาติจะหมดลงเรื่อยๆครับ


ในวันที่ 2 ของการตกปลา ผมก็มีปลาแซลม่อนกินเบ็ดอีก 2 ครั้ง จุดตกปลาตรงนั้นมีชื่อว่า Hjelleholen อยู่เหนือน้ำจากวังเครื่องซักผ้าขึ้นไปประมาณ 200 เมตร เป็นส่วนที่สวยมากของแม่น้ำปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเป็นร่องลึกที่เหมาะมากสำหรับปลาจะว่ายทวนน้ำหรือพักซ่อนตัวอยู่ ในขณะที่ฝั่งเราเป็นหาดกรวดก้อนใหญ่ที่น้ำไม่ลึกนักทำให้ยืนและเดินตีสายได้อย่างสบายมาก   

มอร์เต็นท์นั่งดรอนนี่ตกปลที่ Hjelleholen

ผมใช้เหยื่อตัวเดิมที่ชื่อ Mikkeli Blue ซึ่งเป็น Tube Fly สีฟ้าสวยมากที่รอนนี่พันเอง เมื่อเดินตีสายไปถึงกลางวังน้ำ ก็มีปลาตัวหนึ่งงับเหยื่อแล้วก็ลาก แต่เมื่อหลังจากที่สู้ปลาอยู่ได้ไม่ถึง 2 นาทีก็หลุดไป 

Mikkeli Blue

ผมตีสายแล้วสวิงเหยื่อไปที่เดิมอีกครั้งโดยไม่ได้หวังอะไรมาก แต่ก็ต้องแปลกใจว่าพอเหยื่อเข้าไปถึงจุดเดิมก็มีปลางับเข้าทันที 

ผมสู้ปลาอยู่ประมาณ 5 นาที  ก็เอาปลาเข้ามาใกล้ตัว มันเป็นแซลม่อนที่ไม่ใหญ่นัก น่าจะราวๆ 2 กิโลกรัม ผมมัวแต่พยายามเอา GoPro ถ่ายมันก่อนจะจับตัวก็เลยหลุดไปเสียก่อน ได้แต่แก้ตัวว่าตั้งใจจะปล่อยไปอยู่แล้ว


เรามีตั๋วตกปลาในแม่น้ำ Eidselva ที่รอนนี่ซื้อไว้ให้ถึง 6 วัน แต่เราก็ใช้ชีวิตกันอย่างสบายๆไม่รีบร้อนที่จะออกไปตกปลา เช้ามาเราก็ต้มกาแฟ กินอาหารเช้าแบบง่ายๆ นั่งคุยกันสบายๆ แล้วจึงออกไปตกปลากัน

รอนนี่กับมอร์เต็นท์มีความสุขกับการออกไปตกปลาด้วยกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้ง 2 คนเป็นเพื่อนรักกันมากว่า 30 ปี รอนนี่มีครอบครัวอยู่ในเมือง ส่วนมอร์เต็นท์ ปลีกวิเวกอยู่คนเดียวในกระท่อมกลางป่า แต่ทุกฤดูร้อนทั้ง 2 คนจะใช้เวลาอยู่ด้วยกันด้วยการตระเวนตกปลาในที่ต่างๆ

เรานั่งต้มกาแฟกินกันระหว่างพักจากตกปลา

เขาทั้ง 2 คนไม่ได้กระตือรือร้นที่อยากจะได้ปลากันมากนัก ทั้ง 2 คนเคยตกแซลม่อนได้มามากมายแล้ว ดูเหมือนเขาจะอยากให้ผมได้ปลามากกว่าที่จะตกปลาได้เองเสียอีก

มอร์เต็นท์กับแซลม่อนที่ตกได้

ตกค่ำเราก็กลับมาที่เคบิน กินอาหารกันแบบง่ายๆ มีอยู่มื้อหนึ่งผมเอาน้ำพริกอ่อง Freeze Dry ของแมงดึก Ready Food มาคืนรูปในกระทะแล้วราดลงบนเนื้อปลาแซลม่อน เพียงเท่านั้นก็ได้อาหารรสจัดจ้านที่สหายสองคนติดใจกันมาก

แซลม่อนราดน้ำพริกอ่อง อร่อยกว่าภาพที่เห็นมากครับ

หลังอาหารเราก็ดื่มเครื่องดื่มสารพัดที่พอจะหาได้ พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนเรื่องราวที่เคยเจอมาในชีวิต เรื่องราวของการตกปลาที่บ่อยครั้งนำไปสู่การคุยกันเรื่องการอนุรักษ์ปลาและธรรมชาติ ทุกคืนเราได้หัวเราะเฮฮากันจนแยกย้ายเข้านอน

แล้วก็เริ่มวันใหม่ด้วยการออกไปตกปลาอีก 

มันไม่ใช่แค่วันตกปลา แต่ผมอยากเรียกมันว่าวันเวลาที่ดี


เราเจอนักตกปลาคนอื่นบ้าง แต่ไม่มากนัก เพราะมีการจำกัดจำนวนนักตกปลาไว้น้อยมากอย่างที่เล่าไปแล้ว เมื่อเจอกันก็ทักทายกันยิ้มแย้ม มีครั้งหนึ่งที่เราเจอหนุ่มสาวชาวนอร์เวย์ที่มาตกปลารอบเช้าในขณะที่เรารอที่จะเริ่มรอบบ่าย เราได้เห็นเขาได้ปลาแซลม่อนตัวแรกในชีวิตพอดี ก็เลยได้แสดงความยินดีกันใหญ่

มอร์เต็นท์นั่งดูนักตกปลาอีกคนที่กำลังได้แซลม่อนตัวแรกของเขา

เย็นวันหนึ่ง ผมกับรอนนี่เดินตกปลากันมาตามทาง เหนือน้ำมาจากที่เราเคยตกปลาได้สักประมาณ 1 กิโลเมตร ใกล้จุดตกปลาที่ชื่อ Nyeledet เราสลับกันตกปลามาตลอดทาง

ผมมองไปที่ร่องน้ำลึกกลางแม่น้ำที่น่าสนใจ หลังฉากของแม่น้ำในจุดนั้นสวยงามมากด้วยทุ่งหญ้าป่าสนและทิวเขา เมื่อหันไปมองรอนนี่ เขาก็พยักหน้า บอกให้ลองเลย

ผมเหวี่ยงเหยื่อตัวเดิมขวางแม่น้ำสวิงฟลายไปตามกระแสน้ำจนสุด จากนั้นขยับเดินตามน้ำไปทีละก้าวแล้วก็เริ่มตีสายใหม่ ในที่สุดปลาตัวหนึ่งก็งับเหยื่อแล้ววิ่งตามน้ำลงไปแรงมาก แรงจนรอนนี่บอกให้ผมเตรียมตัววิ่งตามได้เลย 

แต่โชคดีที่ปลาไม่ไปไกลนัก หลังจากสู้ปลาอยู่พักใหญ่ ผมก็เอาตัวมันเข้ามาใกล้ฝั่งและรอนนี่ก็ช่วยคว้าตัวขึ้นมาได้ 

ปลาตัวนี้เป็นตัวเมียขนาดใกล้เคียงกับตัวแรกที่ผมตกได้ คือประมาณ 5 กิโลกรัม รอนนี่บอกว่าน่าจะเพิ่งขึ้นจากทะเลมาได้ไม่เกิน 3-4 วันเพราะยังมี Sea Lice ที่ตายแล้วเกาะอยู่หลายตัว

Sea lice ที่เกาะมากับตัวปลา

จุดที่เราตกปลาได้นี้ไม่มีทางรถเข้ามาถึง ผมจึงไปหาท่อนไม้มาทำคานหามปลา เดินป่าและแวะตกปลากันเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร


ทุกค่ำคืน อาหารมื้อเย็นริมน้ำเป็นช่วงเวลาพิเศษ แต่วันที่ได้แซลม่อนจะพิเศษขึ้นไปอีกด้วยลูมุมบ้าร้อนๆ ช่วยให้อบอุ่นขึ้นมาจากข้างในท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น

ผมนั่งมองสายน้ำและวิวธรรมชาติตรงหน้า มันเป็นมุมมองของธรรมชาติที่งดงามยิ่งนัก น่าดีใจที่มันจะถูกรักษาไว้อย่างนี้ด้วยความสมดุลย์ของธรรมชาติ และความสมดุลย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้ธรรมชาติและมนุษย์อยู่ร่วมกันได้

ผมรักการเดินทางไปสู่ที่แปลกใหม่ เพราะมันทำให้เรียนรู้ว่าในโลกนี้มีอะไรมากมายที่แตกต่างจากที่เราเคยรู้ หลายอย่างที่ต่างไปนี้อาจจะทำให้เราเข้าใจอะไรได้มากขึ้น หรือกระทั่งสั่นคลอนความเชื่อหลายๆอย่างที่เราเคยคิดว่าถูกต้องและเป็นจุดเริ่มต้นให้เราเปลี่ยนแปลงโลกที่เราคุ้นเคยให้ดีขึ้นได้

ผมรักการตกปลาแบบ Fly Fishing เพราะบ่อยครั้งมันพาผมไปสู่มุมเล็กๆที่งดงามไปด้วยธรรมชาติที่ซ่อนเร้นอยู่ในโลก เช่นมุมข้างหน้าผมนี้ ที่ซึ่งถ้าไม่ตกปลาผมก็คงไม่มีทางจะได้เห็นมัน

การได้ตกปลาแซลม่อนที่นอร์เวย์นี้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลยหากผมไม่มีสหายดีๆอย่างรอนนี่และมอร์เต็นท์พาไป มันไม่เพียงการได้มาตกปลาในที่ที่สวยที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง แต่เป็นการที่เราได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของวงจรธรรมชาติ ที่ดำเนินมานับพันนับหมื่นปี และยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้ความสมบูรณ์ของธรรมชาตินี้ยังคงอยู่อย่างสมดุลย์ต่อไปได้

ตาเกิ้น

11 มกราคม 2566

จากบันทึกการเดินทาง วันที่ 6-12 สิงหาคม 2565

ฟังเรื่องราวในรูปแบบ Podcast ได้ที่นี่และที่ Apple Podcast, Spotify, Google ฯ ครับ

Episode 22: เมืองไทยเที่ยวได้ทุกเดือน รอบกองไฟ

ฤดูร้อนอย่าหดหู่ครับ ป่าเหนืออาจจะร้อนแล้ง ไฟไหม้ แต่ยังมีที่เที่ยวธรรมชาติในเมืองไทยอีกมากมายครับ ตามมาเลยครับ ตาเกิ้นจะพาไป
  1. Episode 22: เมืองไทยเที่ยวได้ทุกเดือน
  2. Episode 21: ตกปลา Fly Fishing ที่ Yellowstone
  3. Episode 20 : Salmon Fishing ที่ Norway
  4. Episode 19: สุนทรียภาพ
  5. Episode 18: ช่วงเวลาที่งดงามของชีวิตกลางแจ้ง
Previous article
Next article
ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

ต้นแบบของสุภาพบุรุษกลางแจ้ง

จาก อลัน ควอเตอร์เมน จนถึง รพินทร์ ไพรวัลย์ และ Indiana Jones ถ้าจะพูดถึงชื่อหนึ่งที่มีบทบาทเป็นตัวอย่างของสุภาพบุรุษกลางแจ้งมานับร้อยๆปี ก็คงต้องเล่าถึง อลัน ควอเตอร์เมน ครับ อลัน ควอเตอร์เมน (Allan Quatermain) เป็นตัวละครเอกในนิยายเรื่อง King Solomon’s Mine ที่เขียนโดยนักเขียนชาวอังกฤษ H. Rider Haggard (Sir...

The Outsiders

ในเวลาหนึ่งผมเคยเขียนในบทความไว้ว่า “หมู่บ้านในนิทาน” หรือ “Shangri-la” ในนวนิยายเรื่อง Lost Horizon ของ James Hilton นั้นมีอยู่จริงในมุมเล็กๆของโลกใบนี้ หลายคนได้ค้นหามันจนเจอ แต่แล้วพวกเขาก็เป็นคนทำให้มันสูญหายไปด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนให้หมู่บ้านในนิทานนั้นให้ “ดีขึ้น” โดยการนำสิ่งที่เขาคิดว่าดีงาม จากที่ที่เขาคุ้นเคยเข้าไป การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ การถ่ายเทวัฒนธรรมในโลกใบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณและยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วขึ้นในทุกวันนี้ด้วยการเดินทางและการสื่อสารในยุคใหม่ แต่สิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาสู่สังคมที่คงสภาพเดิมมาอย่างผาสุขยาวนานย่อมมีทั้งดีและไม่ดี และที่สำคัญหลายคนที่พยายามนำมันเข้าไปอาจจะไม่เคยถามคนดั้งเดิมของสังคมว่ามันเป็นประโยชน์ให้กับพวกเขาแค่ไหน เขาต้องการมันหรือไม่

Fly Fishing Yellowstone

ทริปตกปลาที่ Yellowstone National Park ที่ที่หลายคนเรียกว่า Shangri-la ของนักตกปลาเทร้าท์

Horned Moons and Savage Santas

ในบรรดาหนังสือที่เกี่ยวกับชีวิตกลางแจ้งที่ผมได้เคยอ่านมา ผมคิดว่าเล่มนี้น่าจะเด็ดที่สุดแล้วครับ Horned Moons and Savage Santas รวบรวมเอา 45 บทความที่คัดสรรแล้วจากฝีมือของนักเขียนชั้นสุดยอดของโลกกลางแจ้งหลายยุคหลายสมัย บางคนอาจจะเป็นนักเขียนที่โด่งดังเป็นที่รู้จักอย่าง Ernest Hemingway,  Robert Ruark, Jack O’Connor แต่หลายคนก็เป็นนักเขียนที่เราอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน กระทั่งว่า มีบางบทความที่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เขียน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกบทความในหนังสือเล่มนี้คล้ายกันก็คือมันล้วนแต่งดงามลึกซึ้ง จนทำให้ถ้อยคำที่ส่งผ่านตัวหนังสือ ผ่านกาลเวลา พิมพ์ลงกระดาษมานี้สามารถส่งผ่านอารมณ์และความรู้สึกจากผู้เขียนมาถึงเราที่เป็นผู้อ่านได้ บทความในหนังสือเล่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการตกปลา ล่าสัตว์ แต่ไม่เลย...

Most Popular

%d bloggers like this: