มาถึงวันนี้เราสูญเสียพื้นที่ที่สวยงามตามธรรมชาติไปมากมายแล้ว พื้นที่ที่มีเจ้าของก็ถูกสร้างเป็นบ้านพักเป็นรีสอร์ต ในอุทยานของรัฐเองหลายแห่งก็ถูกดัดแปลงสภาพไปจนแทบไม่เหลือธรรมชาติเดิม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเป็นสนามหญ้าเรียบ, ปลูกไม้ดอกจัดแถวเป็นแนว ไปจนถึงทำทางเดินจากแท่งปูนและไม้เทียมให้ขัดตา อีกหลายๆพื้นที่ที่จัดการโดยองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นหลายที่ก็ถูกทำลายไปด้วยเรื่องคล้ายๆกัน



เรายังพอจะมีพื้นที่สวยงามหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นดอยสูง, ริมห้วย ริมแม่น้ำ หรือชายทำเลย พื้นที่เหล่านี้ถ้าอยู่ในเขตอุทยานก็มักจะห้ามเข้า ส่วนที่อยู่นอกอุทยาน ถ้าไม่อยู่ห่างไกลก็อาจจะเข้าถึงลำบาก แต่ก็มีอีกบางส่วนที่ซ่อนเร้นอยู่ใกล้ตาที่คนมองข้าม
แต่จากบทเรียนที่เราเห็นๆกันมาแล้ว ก็ทำให้เกิดคำถามว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ “การเข้าถึง”, “การคงอยู่ของธรรมชาติ” และ “การสร้างรายได้ของชุมชน” อยู่ร่วมกันได้
ความเป็นไปได้ทางหนึ่งก็อาจจะเป็นสิ่งที่ผมอยากเรียกว่า “แค้มปิ้งชุมชน” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ มีอยู่แล้วมากมายในหลากหลายประเทศ มีตัวอย่างดีๆให้ดูมากมาย เป็นเรื่องที่ทำได้จริง ถ้าเราเริ่มต้นกันให้ถูกและจัดการกันให้ดี

การสร้างลานกางเต็นท์ในเขตพื้นที่ของชุมชนจะให้โอกาสนักท่องเที่ยวเข้าถึงธรรมชาติที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ได้ใกล้ชิดได้สัมผัสอาหารพื้นบ้าน, วัฒนธรรมของท้องถิ่น และชีวิตจริงของชุมชน และในขณะเดียวกันก็สร้างรายได้ให้กับชุมชนและสร้างแรงจูงใจให้เขาช่วยกันรักษาธรรมชาติสวยงามที่เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวนั้นให้คงอยู่
แต่ขณะเดียวกันการสร้างจุดพักแรมและสิ่งอำนวนความสะดวกก็ต้องทำด้วยความเข้าใจและคำนึงถึงการรักษาธรรมชาติให้คงสภาพให้มากที่สุด สร้างเฉพาะเท่าที่จะเป็นและอยู่ในมุมที่ไม่เกะกะสายตาไม่ต้องแปลงสภาพธรรมชาติโดยไม่จำเป็น
ล่าสุดนี้ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสความงดงามที่เรียบง่ายของชายหาดบ้านโคกตาหอม ในเขตอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบ
ชายหาดที่งดงามนี้อยู่ไม่ไกลจากหายหาดบ้านกรูด สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักกันและเต็มไปด้วยบ้านพัก รีสอร์ต และสิ่งก่อสร้างสารพัด แต่ที่โคกตาหอมนี้ยังคงสภาพธรรมชาติไว้แทบจะ 100%

ชายหาดตรงนี้อยู่ติดกับพื้นที่ป่าชุมชนของหมู่บ้านโคกตาหอม มี”ธนาคารปู” ของหมู่บ้านตั้งอยู่ ธนาคารปูนี้ใช้เป็นที่พักแม่ปูที่มีไข่และติดอวนมาให้สลัดไข่ ก่อนที่จะปล่อยลูกปูคืนสู่ท้องทะเล

เมื่อคุณมาที่นี่ คุณจะได้เห็นชายหาดถึง 3 หาดที่ยังปราศจากสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่มีแม้แต่ถนน ธรรมชาติที่นี่ยังคงอยู่อย่างที่มันควรจะเป็น



ถ้าคุณอยากเข้ามาถูกโอบกอดโดยธรรมชาติ คุณก็อาจจะขับรถเข้ามาจอดที่ธนาคารปู หรือถ้าจะให้ดีและเท่ห์กว่านั้นก็ขึ้นรถไฟมาลงที่สถานีโคกตาหอมแล้วแบกเป้แบกเต็นท์เดินลัดไปหาที่กางเต็นท์ใกล้ๆชายหาด
ที่นี่ไม่มีพูลวิลล่า แต่ทะเลข้างหน้าเป็นของคุณ และอาจจะเป็นของคุณคนเดียวหากมาในวันธรรมดาที่ไม่ใช่วันหยุด หากมีเบ็ดติดมือมาสักคัน ก็อาจจะหาอาหารธรรมชาติสดๆสะอาดๆอย่างปลาหมึก ปลาทรายมาทำอาหารกินได้ไม่ยาก ถ้าอยากกินปูกินกั้งสดๆก็รอเรือของเช้าบ้านเข้าฝั่งมาตอนเช้าหรือจะสั่งไว้ล่วงหน้าที่ธนาคารปูก็ได้

ช่วงกลางวันก็สามารถจ้างเรือชาวบ้านไปส่งที่เกาะไลลาที่อยู่ห่างไปไม่ถึงกิโลเมตรจากหน้าหาด ไปนอนเล่นในร่มไม้ ดำน้ำตื้นดูปะการัง หรือตกปลาหมึก ถ้าเอาเรือคายัคหรือ SUP มาเองก็พายไปได้สบายมาก

ที่นี่ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรนอกจากห้องน้ำง่ายๆแต่สะอาดหนึ่งห้อง อาจจะดูลำบากสำหรับบางคน แต่หลายๆคนก็คงจะยอมแลกมันกับการได้สัมผัสธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์
ชาวบ้านโคกตาหอมและทีมงานทรัมพยากรจังหวัดประจวบ มีความตั้งใจอยากจะพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเราก็หารือกันว่า ถ้าเราพัฒนาปรับแต่งนี้เพียงเท่าที่จำเป็น ถ้าจะต้องสร้างอะไรเพิ่มก็มีเพียงห้องน้ำ แล้วกำหนดกติกาให้ชาวแค้มป์ที่รักธรรมชาติติดต่อจองที่เข้าพักล่วงหน้าได้ในจำนวนที่เหมาะสมกับพื้นที่ วิธีนี้อาจจะเป็นจุดสมดุลย์ระหว่าง “การเข้าถึง” ของนักท่องเที่ยว, “การคงอยู่” ของธรรมชาติ และ “การสร้างรายได้” ให้กับชุมชน

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับพวกเรา “นักท่องเที่ยว” ด้วยว่าเรารักที่จะไปสัมผัสธรรมชาติในรูปแบบที่มันเป็นจริงๆหรือไม่
ชายหาดโคกตาหอมนี้ยังไม่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ แต่หากคุณเป็นคนที่รักธรรมชาติอย่างที่มันเป็นอยู่จริง ไม่คาดหวังกับความสะดวกสบายหรูหราของการปรุงแต่ง ชาวบ้านโคกตาหอมก็พร้อมจะต้อนรับคุณในฐานะเพื่อนผู้มาเยี่ยมเยียน ขอเพียงติดต่อแจ้งผู้ใหญ่บ้านล่วงหน้าก่อนเดินทางไป พวกเขาอาจจะไม่ได้ร้องขอค่าตอบแทน แต่ผมอยากขอให้เรามอบเงินเล็กน้อยตามสมควรให้กับชุมชนไว้เป็นค่าใช้จ่ายและเป็นทุนในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป


ถ้าอยากจะไปกางเต็นท์ที่หาดโคกตาหอม โทรติดต่อผู้ใหญ่ประชุม 087-081-6141 ก่อนไปนะครับ