Saturday, December 9, 2023
Homeความคิดและมุมมองชะตากรรมของนกเป็ด

ชะตากรรมของนกเป็ด

-

เช้านี้ผมเห็นนกเป็ดแดง 4 ตัวมาลงในบึงน้ำที่หน้าบ้านเชียงใหม่ เป็นเรื่องน่าดีใจ และก็เป็นที่น่าสงสัยด้วยว่า ทำไมเราจึงมักจะพบพวกมันที่นี่ประมาณช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แต่จะหายไปไม่มีให้เห็นในช่วงอื่นๆของปี 

แม้จะดีใจที่ได้เห็นนกเป็ดแดง แต่มันก็ทำให้ผมสะท้อนใจแอบเศร้าอยู่ไม่น้อย เพราะอะไร จะเล่าให้ฟังครับ

นกเป็ดแดง (ภาพจาก Internet)

ในยุคนี้นานๆครั้งเราจะได้ยินข่าวคราวของนกเป็ดน้ำทางสื่อ เช่น “นกเป็ดน้ำกว่า 200 ตัวลงที่บึงน้ำ” หรือ “แม่นกเป็ดพาลูก 6 ตัวข้ามถนน หวิดโดนรถทับ กู้ภัยช่วยทัน นำส่งกรมอุทยาน” 

เป็ด 7 ตัวข้ามถนนเป็นข่าวใหญ่ แต่เป็ดนับแสนหายไปไม่มีใครสังเกต

ย้อนไปประมาณปี 2535 ในตอนที่ผมหัดดูนกใหม่ๆ ผมเคยได้ไปดูนกเป็ดที่อพยบหนีหนาวจากทางเหนือเข้ามาอยู่ที่บึงน้ำรังสิตระหว่างคลอง 1 และ คลอง 3 เพียงแค่เลี้ยวรถลงจากถนนรังสิตองครักษ์ก็จะเห็นนกเป็ดนับแสนๆตัวบินร่อนอยู่เต็มท้องฟ้าไปหมด

ถ้าจะให้แปลกใจกว่านั้น ในปีเดียวกัน ผมก็ได้ไปดูนกเป็ดน้ำที่ซอยลาดพร้าว 105 ซึ่งมีฝูงนกเป็ดนาๆพันธุ์นับแสนๆตัวมาอาศัยอยู่ในบึงน้ำขนาดใหญ่ที่น่าจะเกิดการขุดหน้าดินไปขาย มากมายชนิดที่ถ้าขึ้นบินพร้อมๆกันก็แทบจะทำให้ท้องฟ้ามืดมิด

ปัจจุบันหลักฐานที่พอจะหาได้ก็คงมีเพียงบึงที่ชื่อ “บึงนกเป็ดน้ำ” ในซอยลาดพร้าว 107 ส่วนที่รังสิต ไม่มีร่องรอยอะไรให้สืบหาได้เลย

ผมยังจำได้ถึงบทเรียนหนึ่ง ที่บอกเล่าว่า หากเรามีพ่อแม่เป็ดคู่หนึ่ง อยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ และไม่ถูกล่า ภายใน 5 ปี เป็ดคู่นั้นจะขยายพันธุ์ ออกลูกออกหลาน จนมีจำนวน ถึง 2,000 ตัว 

เป็ด 2 ตัว สามารถขยายพันธุ์เป็น 2,000 ตัวได้ใน 5 ปี

ผมลองคูณดูเล่นๆว่าถ้าในปี 2535 เรามีเป็ดเพียงคู่เดียว 30 ปีผ่านมานี้ เป็ดคู่นั้นจะขยายพันธุ์ได้ถึง 2,000,000,000,000,000,000 ตัว นับจำนวนเลขศูนย์แทบไม่ถูกเลยครับ

แล้วเป็ดของเราหายไปไหนละครับ 

คนส่วนหนึ่งโทษว่าเป็ดหายไปเพราะถูกลักลอบล่า อีกส่วนหนึ่งก็เถียงกลับว่าเป็นเพราะคนถมบึงน้ำที่อยู่อาศัยของเป็ดจนหมด บางคนก็ว่าเป็ดโดนสารเคมีโดนยาจากนาข้าว

แต่ที่แย่กว่านั้นคือ คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ไม่เคยสนใจว่านกเป็ดจะมีอยู่หรือหมดไป อาจจะมีบางส่วนที่เห็นนกเป็ดเป็นนกสวยงามที่เห็นสักครั้งหรือสองครั้งก็พอ 

นอกจากนี้ “นักวิจัยสัตว์ป่า”​ ของเราที่มีอยู่ก็มุ่งไปทำวิจัยกันแต่สัตว์ป่าหายาก ไปจนถึงกบเขียดในป่ากันซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่มีวี่แววว่างานวิจัยเหล่านั้นจะถูกนำมาใช้ให้ได้ประโยชน์กับคุณหมู่มากอย่างไรบ้าง

ถ้าถามว่า “เราควรอนุรักษ์นกเป็ดน้ำหรือไม่” คนคงแย่งกันตอบว่า “แน่นอน เราต้องอนุรักษ์สัตว์ป่า” แต่ถ้าถามต่อว่า “เราจะอนุรักษ์นกเป็ดน้ำทำไม และควรจะให้มันมีจำนวนมากแค่ไหน”​ ผมเชื่อว่าอาจจะไม่มีใครตอบได้

นั่นอาจจะเป็นเพราะเราไม่เคยสนใจนกเป็ดกันอย่างจริงจัง และไม่เคยเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า “อนุรักษ์” (Conservation) กันเลย

ในช่วงปี ค.ศ. 1900 สถานการณ์สัตว์ป่าในอเมริกาดูเหมือนจะย่ำแย่กว่าบ้านเรามาก สัตว์ป่าทุกชนิดถูกล่าขายโดยไม่มีข้อจำกัดจนแทบหมดสิ้น ควายไบซันหลายสิบล้านตัวถูกล่าจนเหลือน้อยกว่าร้อย นกเป็ดก็เช่นกัน

รัฐบาลกลางสหรัฐ เริ่มประกาศกฎหมาย “อนุรักษ์” หรือ Conservation Law กำหนดให้สัตว์ป่าทุกชนิดเป็นทรัพยากรที่ประชาชนอเมริกันทุกคนเป็นเจ้าของและสามารถใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน พร้อมกันนั้นก็จะต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มารักษาให้คงอยู่ตลอดไป

หนึ่งในวิธีจัดการการใช้ประโยชน์และรักษาทรัพยากรสัตว์ป่าก็คือการออกสแตมป์เป็ด (Duck Stamp) 

สแตมป์เป็ดที่เป็นตั๋วใบอนุญาตล่าเป็ดไปในตัว

Duck Stamp เริ่มออกครั้งแรกในปี 1934 มันเป็นรูปแบบหนึ่งของใบอนุญาตล่าสัตว์ที่ออกมาให้นักล่าเป็ดโดยเฉพาะ แต่ต่อมาก็มีรูปแบบที่จำหน่ายให้กับนักสะสมสแตมป์และผู้คนที่อยากสนับสนุน “การอนุรักษ์” โดยที่ไม่ได้ล่าเป็ด การออกแบบสแตมป์เป็ดมีการประกวดและมีภาพวาดสวยๆออกมามากมายทุกปีจนกลายเป็นของสะสม

สแตมป์เป็ดที่ออกมาตั้งแต่ปี 1934 เงินที่ได้สามารถนำไปซื้อที่อยู่เป็ดได้กว่า 13 ล้านไร่ เทียบได้กับอุทยานเขาใหญ่ 10 แห่ง

เงินที่ได้จากการจำหน่ายสแตมป์เป็ดนี้กว่า 98% ถูกนำไปซื้อพื้นที่ชุ่มน้ำมาจัดเป็นเขตสงวนให้นกเป็ดได้อยู่อาศัยแล้วถึง 5.3 ล้านเอเคอร์ (13.4 ล้านไร่ หรือประมาณ 10 เท่าของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) และมีเงินอีกส่วนหนึ่งจากภาษีที่เกี่ยวข้องนำไปจ้างพนักงานพิทักษ์ป่าที่คอยตรวจตราจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายล่าสัตว์และสนับสนุนการวิจัยที่จะทำให้เป้ดอยู่ได้อย่างยั่งยืน

หลังจากนั้นเป็นต้นมาจำนวนนกเป็ดก็เพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง ประมาณกันว่าตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมาในอเมริกามีนกเป็ดคงที่ที่ประมาณ 230 ล้านตัว

เมื่อมีที่อยู่อาศัยนกเป็ดสามารถขยายพันธุ์ได้เร็วมากและจะต้องควบคุมปริมาณให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่มี การใช้ประโยชน์จากการล่าก็สามารถทำได้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง

การล่าเป็ดสร้างรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจอเมริกาถึงปีละกว่า 3 พันล้านเหรียญ หรือกว่าหนึ่งแสนล้านบาท และสร้างรายได้ภาษีให้รัฐถึงประมาณปีละ 530 ล้านเหรียญหรือ 18,000 ล้านบาท

การล่าเป็ดในอเมริกาสร้างรายได้ถึงกว่าแสนล้านบาท และภาษีให้รัฐกว่า 18,000 ล้านบาท มากเพียงพอที่จะเอาเงินกลับมาป้อนเลี้ยงการอนุรักษ์

ในบ้านเราทุกวันนี้นกเป็ดมีสถานะตรงกันข้ามกับ”ผี”​ ก็คือมีตัวตนอยู่บ้าง แต่ผู้คนกลับไม่เคยสนใจไม่เคยให้ความสำคัญ

เมื่อเป็ดลงกินข้าวมันคือศัตรูของชาวนา เมื่อลงกินปลามันก็เป็นศัตรูกับเจ้าของบ่อ เมื่อมันไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ใคร พวกมันจึงถูกแอบล่า, ถูกดัก ถูกวางยาเบื่อ ไม่มีค่าอะไรเกินกว่าเนื้อเหนียวๆที่เป็นอาหารได้สักจาน ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจ หน่วยงานอนุรักษ์ทั้งหลายก็มองข้ามเมื่อมันไม่ได้อยู่ในเขตอนุรักษ์

เมื่อกินข้าวเป็นจะเป็นศัตรูกับชาวนา เมื่อกินปลาเป็ดจะเป็นศัตรูกับเจ้าของบ่อ

คนไทยเราสงสารเป็ด แต่เราไม่เคยมองเห็นความสำคัญของการอยู่รอดหรือความอุดมสมบูรณ์ของนกเป็ดแต่ละสายพันธุ์ในธรรมชาติเลย

เปล่าเลย ผมไม่ได้พยายามชวนให้คนมาล่านกเป็ดกัน เพราะมันมีจำนวนลดลงจนไม่ควรจะมีการล่ากันแล้วจนกว่าเราจะมีวิธีจัดการให้เป็ดในธรรมชาติเพิ่มจำนวนขึ้นได้ก่อน

แต่ผมอยากจะขออาศัยเรื่องของเป็ดมาเป็นตัวเล่าเรื่องให้เห็นภาพว่า “แนวทางการอนุรักษ์” ที่ทำกันมา 62 ปีนี้  (ซึ่งเราก็ไปเอาตัวอย่างมาจากอเมริกาเกือบทั้งหมด แต่ปฏิบัติแล้วล้มเหลว และแปรสภาพไปจนแทบไม่เห็นเค้าเดิม) อาจจะไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องที่จะเดินต่อไปข้างหน้า 

สาเหตุหลักอาจจะเป็นเพราะตอนนี้ “การอนุรักษ์สัตว์ป่า” ของเรานั้นอยู่บนพื้นฐานของ “ความสงสาร” เพียงอย่างเดียว ไม่ได้อิงหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้มีการจัดการที่ควรทำ ไม่มีความสมดุลย์ทางเศรษฐศาสตร์ รูปแบบจึงออกไปในทาง “รับบริจาค” เมื่อเป็นเช่นนี้ ยิ่งทำคนทำงานก็เหนื่อยแทบตาย ผลที่ได้ก็มีแต่จะเห็นว่าธรรมชาติและสัตว์ป่าถดถอยลงไปเรื่อยๆ

เราตื่นเต้นกับเป็ดนจำนวนหลักร้อย คำถามคือเราควรจะมีเป็ดในธรรมชาติสักกี่ตัว

เป็ดของเราหายไปไเกือบหมดแล้วครับ พร้อมๆสัตว์บก สัตว์ปีก สัตว์น้ำอีกหลายชนิด

คนส่วนหนึ่งโทษว่าเป็ดหายไปเพราะถูกลักลอบล่า อีกส่วนหนึ่งก็เถียงกลับว่าเป็นเพราะคนถมบึงน้ำที่อยู่อาศัยของเป็ดจนหมด บางคนก็ว่าเป็ดโดนสารเคมีโดนยาจากนาข้าว

ถูกต้องทุกข้อครับ และที่แย่ที่สุด เราไม่เคยใส่ใจกับการหายไปของเป็ดและสัตว์อีกหลายๆอย่างในธรรมชาติเลย

ถึงเวลาหรือยังครับที่เราจะเลิกโทษกันแล้วหันหน้าเข้ามาร่วมวงสนทนาหารือเพื่อหาแนวทาง “อนุรักษ์”​ กันใหม่

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

คุ้มครองแต่ไม่เคยให้คุณค่า ตอน นกกรงหัวจุก

ผมเฝ้ามองการโต้เถียงกับเรื่องนกกรงหัวจุกหรือนกปรอดหัวโขน ระหว่างฝ่ายผู้เลี้ยงนกและ “นักอนุรักษ์” มาพักใหญ่แล้วในเรื่องว่า จะให้นกกรงหัวจุกคงอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือจะปลดออก หลายคนคงมองว่านี่เป็นความขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้ แต่ผมกลับมองว่าถ้าเราเปิดใจมองร่วมกันและยอมรับวิธีคิดใหม่ๆ (ที่ประเทศอื่นเขาทำกันมานานแล้ว) เรื่องของนกกรงหัวจุกอาจจะเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงให้การอนุรักษ์ของประเทศนี้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเสียทีนะครับ ก่อนจะเข้าเรื่องนกกรงหัวจุก ผมขอเล่านิทานให้ฟังสักเรื่องหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งเบื่อ อย่าเพิ่งมองว่ามันไม่เกี่ยวกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า พี่น้องสองคนทะเลาะกันเพราะแย่งส้มผลสุดท้ายในบ้าน ถึงขั้นตบตีกัน เสียงดังไปถึงแม่ แม่พยายามเจรจาให้แบ่งกันคนละครึ่งลูกก็ไม่มีใครยอม ต่างคนต่างบอกว่าต้องใช้ทั้งลูก นานเข้าพ่อที่นั่งเล่นของเล่นอยู่ทนรำคาญเสียงไม่ได้ จึงเดินมาแยกลูกสาวทั้งสองที่เริ่มจะจิกหัวฟัดกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แล้วถามรายละเอียด บอกพ่อหน่อยว่าจะเอาส้มไปทำอะไร  คนพี่สาวก็บอกว่าจะทำแยมส้ม ส่วนน้องสาวบอกจะทำน้ำส้ม เมื่อคุยกันเช่นนี้พ่อก็ปอกเปลือกส้มให้ลูกสาวคนโตไปทำแยม แล้วก็เอาเนื้อส้มให้ลูกสาวคนเล็กไปคั้นน้ำ ลงตัวไปได้ทั้งสองคน ส่วนพ่อก็เอาเมล็ดส้มไปปลูกไว้ข้างบ้านต่อไปจะได้ไม่ต้องแย่งส้มผลสุดท้ายกันอีก นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าเราคุยกันดีๆมันจะมีทางออกที่ไม่ต้องมีคนแพ้คนชนะ แต่มันจะมองไม่เห็นเวลาทะเลาะกันจนหน้ามืด ใครยังไม่ได้ติดตามข่าวยังไม่รู้เรื่องความขัดแย้งของนกกรงหัวจุก...

นิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้หนังสือรายเดือนของ “นิยมไพรสมาคม” มาจากมิตรสหายหลายเล่มและกำลังทะยอยอ่านอย่างบรรจง (เพราะหนังสือเหล่านี้มีอายุ 65 ปี แทบจะกรอบเป็นผงอยู่แล้ว)   ผมอ่านแล้วตื่นตะลึงมากครับ ผมเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลมาบ้างว่าท่านสร้างสรรค์ส่งดีๆไว้มากมาย แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องนิยมไพรสมาคมมากนัก  และดูเหมือนว่าเรื่องราวของสมาคมนี้ได้เลือนหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยแล้ว  เลยขอมาเล่าเรื่องหลายอย่างสู่กันฟังถึงประวัติศาสตร์สำคัญของการอนุรักษ์ในบ้านเราที่กำลังจะลืมเลือนไป ในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยยังไม่รู้จักกับคำว่า “อนุรักษ์” ใดๆเลย (ในหนังสือก็ยังไม่มีคำนี้) ตอนนั้นใครอยากจับจองที่ตรงไหนก็ไปแจ้งที่อำเภอแล้วก็ลงมือถาง สัตว์ป่าทุกชนิด (ยกเว้นช้าง) ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครอง ใครอยากล่าอะไรด้วยวิธีไหน...

Editor ใช้ Award เดินป่า โดยตาเกิ้น

พวกเราที่ ThailandOutdoor มีความโชคดีที่เราได้มีโอกาสทดสอบทดลองอุปกรณ์กลางแจ้งมากมาย และก็จะมีของบางอย่างที่เราทดสอบแล้วชอบจนซื้อไว้ใช้เอง เราเรียกของเหล่านั้นว่า "Editor ใช้ Award"  และนี่คือ "Editor ใช้ Award" ปี 2022 จากตาเกิ้นครับ VDO ยาวนะครับเพราะอธิบายกันทุกอย่างรวมถึงเหตุผลที่เลือกใข้ในสถานการณ์ต่างๆกัน เราแบ่งเป็นช่วงๆให้เลือกดูกันได้ครับ ตามนี้เลย บางคนอาจจะบอกว่าผมใช้แต่ของแพงๆหรูๆ ก็อาจจะจริง หรือไม่ แล้วแต่มุมมองครับ ทุกอย่างในชีวิตเราล้วนแล้วแต่ขึ้นกับว่าเราให้ลำดับความสำคัญกับอะไร  สำหรับผมแล้ว ผมไม่ได้ซื้อของอื่นหรูหราอะไร แต่การออกมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การเดินป่า คือความสุขในชีวิตผม ผมจึงเลือกใข้แต่ของดีๆ...

ไปเรียนหลักสูตรปืนพกต่อสู้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

ผมเขียนบทความนี้ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2552 เขียนข้างหลังกระดาษสำเนา ป.4 (ทะเบียนปืน) ในช่องยิงทันทีที่เรียนเสร็จ เขียนด้วยความประทับใจของการสอนยิงปืนในคอร์สนี้ ถึงวันนี้แม้ว่าหลายๆอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ผมยังคงข้อความทุกอย่างที่เขียนในบทความนี้ไว้อย่างเดิมรวมทั้งรูปภาพเดิมที่อาจจะไม่ชัดนัก ด้วยความตั้งใจปัจจุบันโรงเรียนสอนยิงปืนแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมยิงปืนเขาสามยอด ยังตั้งอยู่ที่สถานที่เดิมในค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี สอนมาต่อเนื่องถึง 14 ปีแล้วถ้านับถึงวันนี้ หลักสูตรพัฒนาไปมาก และมีถึง 8 หลักสูตรให้เรียนได้ตามลำดับขั้น และยังสอนโดยหัวหน้าชุดครูท่านเดิมที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะให้คนไทยได้เรียนรู้การใช้อาวุธปืนได้อย่างถูกต้องผมเชื่อว่าที่นี่คือโรงเรียนสอนยิงปืนที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถเรียนได้ในประเทศไทย ผมเขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้ที่ตอนท้ายของบทความนี้ครับ ในสังคมที่บิดเบี้ยวมากขึ้นทุกวัน ดูเหมือนพวกเราสุจริตชนจะต้องเสี่ยงกับภัยคุกคามรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโจร...

Most Popular

%d