Sunday, October 1, 2023
Homeความคิดและมุมมองการล่าและการอนุรักษ์ มุมมองจากเดนมาร์ก

การล่าและการอนุรักษ์ มุมมองจากเดนมาร์ก

-

แม่เกรธเธอร์ถือจานใบใหญ่ออกมาจากครัว มันส่งกลิ่นหอมกรุ่นมาถึงก่อนที่เราจะเห็นของในจานนั้นเสียอีก

ครอบครัวสามชั่วคนของจอห์นเพื่อนรักของผมและครอบครัวของผมนั่งสลับกันอยู่รอบโต๊ะตัวใหญ่กลางบ้าน จอห์นบอกว่าปรกติแล้วพวกเขาจะได้นั่งโต๊ะตัวนี้กันก็ในช่วงคริสต์มาส แต่วันนี้เป็นวันพิเศษ และผมก็รู้สึกว่านี่คือช่วงเวลาที่พิเศษจริงๆ

ในจานที่แม่เกรธเธอร์ถือมานั้นมีเนื้ออบที่หั่นเป็นชิ้นหนาๆเรียงอยู่กับมันฝรั่งหัวเล็กๆ ทันทีที่แม่วางจานลง พวกเขาก็ขอให้ผมตักก่อนในฐานะแขกของบ้าน

ทันทีที่ผมหั่นเนื้อและมันฝรั่งเข้าในปาก ผมบอกได้เลยว่ามันคือเนื้อที่อร่อยที่สุดที่ผมเคยได้ลิ้มรสมาในชีวิตนี้ 

ส่วนหนึ่งนั้นอาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ที่ผมได้รับรู้ถึงที่มาของอาหารจานนี้


ย้อนไปก่อนหน้านั้น 1 สัปดาห์

ผมนั่งอยู่ในรถของจอห์นซึ่งกำลังขับไปบนถนนเส้นเล็กๆท่ามกลางความมืดสนิท

เดนมาร์กเป็นประเทศเกษตรกรรม จอห์นเล่าให้ผมฟังว่าประเทศของเขาไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไร ไม่มีแร่มีค่า ไม่มีน้ำมัน ประเทศของเขาจึงสร้างขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของของเกษตรกรล้วนๆ และนั่นก็อธิบายภูมิประเทศที่เป็นไร่นาทุ่งโล่งตลอดเส้นทางที่เราผ่าน

แต่แล้วเราก็มาถึงป่าผืนเล็กๆที่เราใช้เวลาขับรถผ่านไม่ถึง 5 นาที 

“ตรงนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาตินะ (National Forest)” จอห์นบอก

เดนมาร์กมีป่าเช่นนี้คิดเป็นพื้นที่ไม่ถึง 5% ของพื้นที่ประเทศ

เราขับรถผ่านทุ่งเกษตรกรรมมาอีกพักหนึ่ง จอห์นก็เลี้ยวรถเข้าไปตามถนนเส้นเล็กๆที่ชื่อ Jagvej “ถึงฟาร์มของพ่อผมแล้ว”

“จอห์น กวางสองตัวอยู่ทางขวา!” ผมพูดเบาๆราวกับกลัวว่ากวางจะได้ยินเสียงเราที่อยู่ในรถ

จอห์นหยุดรถแล้วถอยเข้าจอดริมทางหลบหลังแนวต้นไม้

“ตอนนี้ตีสี่ห้าสิบแล้ว วันนี้พระอาทิตย์จะขึ้นตีห้าหกนาที เรายังมีเวลาเตรียมตัว” จอห์นบอกผมในขณะที่เราลงจากรถ หยิบของแล้วค่อยๆเดินไปตามทางเดินของไร่ในทิศทางตรงกันข้ามกับที่เห็นกวางเมื่อสักครู่ พร้อมๆกับที่เห็นแสงอาทิตย์ค่อยๆสว่างขึ้นที่ขอบฟ้า

ระหว่างทางเดิน จอห์นชี้ให้ผมดูรอยเท้ากวางขนาดเล็กที่มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆในแปลงปลูกมันฝรั่ง

ไม่นานนักเราก็เดินมาถึง “ห้าง” ที่ทำจากไม้อย่างดี แข็งแรงกว้างขวางพอที่จะให้เราสองคนขึ้นไปนั่งได้อย่างสบายๆ

ขณะที่จอห์นกำลังหยิบกากาแฟออกจากเป้ ผมก็มองเห็นอะไรบางอย่าง

“กวางสองตัวที่ขอบไร่ด้านโน้น ผมว่ามันเป็นตัวผู้ทั้งสองตัวนะ” ผมชี้มือไปทางกวางที่ผมเห็นอยู่ในกล้องส่องทางไกล มันอยู่คนละทิศกับสองตัวแรกที่เราเห็นจากในรถและไกลกันจนเราแน่ใจว่าต้องเป็นคนละตัวกัน

“ระยะยังไกลไปหน่อย ตรงนั้นน่าจะราวๆสี่ร้อยกว่าเมตรนะ ตอนนี้ตีห้าสี่นาทีแล้ว เราต้องรออีกสองนาทีนะ”​ จอห์นบอก

พระอาทิตย์เริ่มขึ้นที่ขอบฟ้าเป็นสีแดงส้มสวยงามมาก ผมใช้กล้องส่องทางไกลเฝ้าดูกวาง 2 ตัวนั้น มันเดินอยู่อย่างอิสระ ออกจากแนวไม้มาสู่ลานโล่งของไร่มัน และเดินใกล้เราเข้ามาเรื่อยๆ

ทันใดนั้นจอห์นก็สะกิดผมและชี้ให้ดูอะไรบางอย่าง

ห่างไปข้างหน้าเราแค่ 20 เมตร กวางตัวผู้อีกตัวหนึ่งกำลังเดินอยู่ ไปดูจากทิศทางแล้ว มันคงจะออกมาจากแนวต้นไม้ใกล้ๆเรานี่เอง

หลังจากใช้กล้องส่องทางไกลดูจนชัดแล้วว่าเป็นกวางตัวผู้ที่ได้ขนาดตามกำหนด จอห์นก็ค่อยๆเอื้อมหยิบปืนไรเฟิ้ลที่วางพิงไว้ขึ้นมาเล็งตามกวางตัวนั้นที่กำลังเดินห่างจากเราออกไปเรื่อยๆ

จอห์นผิวปากเบาๆ กวางตัวนั้นหยุดและหันกลับมามองพร้อมๆกับที่เสียงปืนดังขึ้น

ผมดูนาฬิกาทันทีที่สิ้นเสียงปืน 5:12


ผมโตขึ้นมากับความเชื่อเรื่องบาปบุญแบบชาวพุทธในเมืองใหญ่คนอื่นๆ

หนังกฏแห่งกรรมที่เคยดูตอนเด็กๆเล่าเรื่องว่าสัตว์ป่ามีลูกมีพ่อมีแม่ การล่าสัตว์ย่อมทำให้กรรมตามสนองเรา ภาพยนต์การ์ตูน Bambi ทำให้เราเห็นความน่ารักของกวางและความโหดร้ายของนักล่าสัตว์ เราได้อ่านได้ฟังมาตลอดว่าการล่าสัตว์ทำให้สัตว์ป่าในบ้านเราหมดไปแทบจะสูญสิ้น ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เด็กที่โตขึ้นมาในเมืองอย่างผมส่วนใหญ่ต่อต้านการล่าสัตว์

แต่สิ่งที่ผมได้เห็น ได้เรียนรู้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ทำให้ผมเริ่มจะเปิดใจที่จะรับความจริงอีกด้านหนึ่งที่ต่างไปจากความเชื่อเดิม

และถ้าคุณพร้อมจะเปิดใจรับฟังก็อ่านต่อเลยครับ ผมจะเล่าให้ฟัง 


จอห์นริน Gammel Dansk ใส่จอกเล็กๆยื่นให้ผม

“สโกล์” เราชนแก้วกันตามธรรมเนียมของไวกิ้ง แล้วผมก็กระดกเหล้าคลาสสิคของเดนมาร์กที่ผมโปรดปรานนั้นลงคอแก้หนาว

หลังจากกาแฟอีกคนละแก้วฟ้าก็สว่างเต็มที่ เราจึงปีนลงจากห้าง

“พ่อยูล” พ่อของจอห์นเดินสะพายปืนไรเฟิ้ลมาจากป่าอีกฟากหนึ่งของไร่ เขานั่งซุ่มอยู่อีกจุดหนึ่งและกำลังเฝ้าดูกวางอีกตัว พ่อยูลเดินมาสมทบกับเราเมื่อจอห์นส่งข้อความไปบอกว่าได้กวางแล้ว

โรเดียร์ (Roe Deer) เป็นกวางขนาดเล็กที่สุดในสามชนิดที่มีอยู่ในเดนมาร์ก และเป็นชนิดที่มีจำนวนมากที่สุดพบเห็นได้ทั่วไป เพราะมันสามารถปรับตัวอยู่ได้ในพื้นที่ชายป่า, ทุ่งหญ้า และ ทุ่งการเกษตรได้ และเพิ่มสามารถจำนวนได้อย่างรวดเร็ว

จอห์นจัดการชำแหละกวางตัวนั้นในขั้นต้นอย่างง่ายๆ พ่อยูลประมาณว่ามันน่าจะมีอายุประมาณ 4 ปี มันมีน้ำหนักตัวประมาณ 20 กิโลกรัม และเมื่อชำแหละเสร็จแล้วก็จะได้เนื้อประมาณ 8-10 กิโลกรัม ถ้าประมาณง่ายๆก็คือได้อาหารประมาณ 40 มื้อ

จอห์นกับพ่อชวนกันหิ้วกวางไปยังชายป่าขอบแปลงมันฝรั่งฝั่งตรงข้ามจากห่างที่เรานั่ง ไม่กี่สิบเมตรหลังชายป่านั้นคือบ้านหลังงามของพ่อยูล!


เช้าวันนั้นเรานั่งทานอาหารเช้าในบ้าน ช่วงเวลาอาหารเช้ากับพ่อแม่ของจอห์นที่โต๊ะริมหน้าต่างข้างสวนนี้คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการมาเดนมาร์กเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

ปีนี้พ่อยูลอายุ 82 แล้วแต่ยังแข็งแรงมาก พ่อบอกว่าแต่งงานกับแม่เกรธเธอร์มาแล้ว 56 ปี ทั้งสองคนช่วยกันทำฟาร์มนี้มาด้วยมือตัวเองจนมีชีวิตที่มีความสุขมีลูกมีหลานที่เติบโตและรักกันกลมเกลียว 

สองท่านนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของชีวิตที่มีความสุขจริงๆ

ระหว่างอาหารเช้าครั้งนี้เราคุยกันเรื่องการล่าสัตว์และการอนุรักษ์ในเดนมาร์ก

ต่างจากที่อเมริกาที่รัฐบาลเป็นคนควบคุม, บริหารและจัดสรรการล่าสัตว์อย่างละเอียดถี่ถ้วน ในเดนมาร์กแม้จะมีกฎหมายและกติกากำหนดไว้อย่างชัดเจน แต่การจัดการนั้นอยู่กับพราน โดยที่ขับเคลื่อนด้วยจริยธรรมและความรักธรรมชาติที่พรานทุกคนต้องการรักษาไว้ให้ยั่งยืนเป็นหลักใหญ่

การที่จอห์นวัดระยะจากจุดที่เขายิงกวางล้มลงมาถึงโต๊ะอาหาร ได้ระยะทางเพียง 171 เมตร! นั่นกำลังบอกอะไรเราบางอย่างที่มีความหมายลึกซึ้งมาก

คนที่นี่ก่อนจะเริ่มล่าสัตว์ได้ จะต้องไปเข้าเรียน ตอนค่ำสัปดาห์ละหนึ่งวันเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งจะสอนกันทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องสัตว์ป่าชนิดต่างๆ, สภาพแวดล้อมที่มันอยู่อาศัย, ข้อกำหนดของกฎหมาย, การใช้อาวุธปืนและความปลอดภัย, การจัดการเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า และที่สำคัญที่สุดคือจริยธรรมของพราน

ทุกคนที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปสามารถเข้าเรียนได้ เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะได้ใบอนุญาตล่าสัตว์ ซึ่งก็เป็นใบอนุญาตให้สามารถครอบครองอาวุธปืนสำหรับใช้ล่าสัตว์ได้ (ที่เดนมาร์กมีแต่ปืนยาวสำหรับล่าสัตว์ ไม่มีปืนสั้น) ปืนลูกซองสามารถซื้อได้เลย  แต่ถ้าเป็นปืนไรเฟิ้ล จะต้องไปเรียนและสอบใบอนุญาตอีกขั้น

เมื่อมีใบอนุญาตล่าสัตว์แล้ว ถ้าต้องการล่าสัตว์ก็จะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตของปีนั้นๆไป ประมาณ 2,600 บาทต่อปี เมื่อจ่ายแล้วก็สามารถล่าสัตว์ได้ทุกชนิดไม่จำกัดจำนวน แต่จะมีการกำหนดฤดูกาลเวลาที่สามารถล่าได้ไว้อย่างชัดเจนสำหรับสัตว์แต่ละชนิดแยกเพศและอายุ

ฤดูล่ากวาง Roe Deer ในเดนมาร์ก เริ่มวันที่ 16 พฤษภาคมของทุกปี โดยเริ่มจากให้ล่ากวางตัวผู้ที่โตเต็มที่แล้วอย่างเดียวเท่านั้นเป็นเวลา 2 เดือน จากนั้นก็จะหยุดไม่ให้ล่า Roe Deer ไปเริ่มล่าได้อีกครั้งในเดือนตุลาคมไปจนถึงสิ้นปี

Roe Deer ตัวผู้ที่โตเต็มวัยแล้วตัวนี้อายุประมาณ 4 ปี มีน้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม ให้เนื้อเป็นอาหารได้ 8-10 กิโลกรัม หรือเท่ากับอาหารประมาณ 40 มื้อ

เมื่อทำความเข้าใจให้ดี ก็จะเห็นได้ว่าฤดูล่าสัตว์นี้ถูกศึกษามาแล้วให้สัมพันธ์กับฤดูผสมพันธุ์ของของสัตว์แต่ละชนิด การล่า Roe Deer ตัวผู้ในช่วงสองเดือนแรกนี้เป็นการควบคุมจำนวนกวางตัวผู้ไม่ให้มีมากเกินไปก่อนจะถึงฤดูผสมพันธุ์ในเดือนกรกฎาคม เพราะถ้ามีตัวผู้มากเกินไป มันก็จะต่อสู้กันจนบาดเจ็บล้มตาย

เมื่อเว้น 2 เดือนในช่วงฤดูผสมพันธุ์แล้ว ก็จะกลับมาเปิดให้ล่าอีกครั้งในเดือนตุลาโดยที่กำหนดเพศและขนาดกวางต่างกันไปในแต่ละช่วงเพื่อควบคุมจำนวนกวางไม่ให้มีมากจนเกินไป

เพราะเมื่อการอนุรักษ์และการจัดการสัตว์ป่าสามารถทำได้ดีเช่นนี้แล้ว สัตว์ตระกูลกวางจะสามารถเพิ่มจำนวนเป็น 2 เท่าได้ในเวลาเพียง 1 ปี! ถ้าไม่ล่าไม่จัดการ และปล่อยให้มีจำนวนมากเกินไปจนแออัดเมื่อเทียบกับพื้นที่และอาหารแล้ว กวางก็จะขาดอาหาร, อ่อนแอ, เกิดโรคระบาด ฯ จนอาจจะทำให้จำนวนลดลงหรือตายยกฝูงได้

หัวกวาง Roe Deer ที่พ่อยูลและจอห์นล่าจากแผ่นดินที่เขาดูแล มันไม่ใช่ Trophy อวดความเก่งกาจแต่หากเป็นบันทึกถึงความสมบูรณ์ของผืนดินที่มีสัตว์ให้ล่ามาตลอด

ส่วนสัตว์ประเภทอื่นๆก็จะมีฤดูล่าที่แตกต่างกันไป ละเอียดมากชนิดที่ระบุชนิด เพศ ขนาด ว่ากันเป็นวันๆ จนต้องมี App ในโทรศัพท์มาช่วยเตือนพราน การกำหนดฤดูและประเภทของสัตว์ที่ล่าได้นี้มาจากการศึกษาวิจัยมาอย่างดีเพื่อให้สัตว์ขยายพันธุ์ได้อย่างเหมาะสมและใช้ประโยชน์ได้โดยไม่หมดไป

เมื่อพรานล่าสัตว์อะไรได้ก็จะช่วยกันแจ้งไปให้หน่วยงานของรัฐเพื่อทำสถิติช่วยวางแผนการจัดการต่อไป

แต่ที่ผมแปลกใจมาก ก็คือการที่ไม่มีการกำหนดจำนวนที่แต่ละคนจะล่าได้ เพราะคิดว่าถ้าไม่กำหนดเช่นนี้สัตว์ก็ต้องถูกล่าหมดแน่ๆ

แต่ผมก็พบว่าสิทธิในการล่าสัตว์นี้จะตกอยู่กับเจ้าของที่ดิน ซึ่งก็จะทำให้เจ้าของที่ดินนั้นๆคอยดูแลเองว่าจะล่าได้แค่ไหน ต้องเหลือไว้แค่ไหน จึงจะมีสัตว์ให้ล่าในปีต่อๆไปโดยไม่หมดหรือไม่มีจำนวนมากเกินไปจนล้นพื้นที่ 

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่กำหนดกติกาการล่าอย่างเป็นธรรม (fair chase) ซึ่งก็คือห้ามการล่าก่อนและหลังพระอาทิตย์ตก, ห้ามล่าจากยานพาหนะ, ห้ามล่อด้วยอาหาร ฯ ซึ่งก็จะทำให้สัตว์ไม่ถูกล่าอย่างไม่เป็นธรรมและมีโอกาสรอดอยู่มากขึ้น

ดูแล้วก็เหมือนกับการเลี้ยงสัตว์ป่าเหล่านี้ไว้อย่างอิสระโดยที่ไม่ต้องให้อาหารหรือคอยดูแลอะไร

เป็นการจัดการที่เห็นผลชัดเจน คือล่าแล้วสัตว์เพิ่มขึ้น ธรรมชาติสมบูรณ์ขึ้น

ไร่ของพ่อยูลคือตัวอย่างที่ดีมากในเรื่องนี้


“The oldest task in Human history – To live on a piece of land without spoiling it” 
“หน้าที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ – การเลี้ยงชีวิตจากผืนดินผืนหนึ่งโดยที่ไม่ทำลายมัน” 

ALDO LEOPOLD
จากหนังสือ THE RIVER OF THE MOTHER OF GOD

เดนมาร์กเป็นประเทศเกษตรกรรมแท้ๆ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจึงถูกถางทำการเกษตรจนหมด 

ในช่วงปี 1800 ป่าที่เคยปกคลุมเดนมาร์กถูกถางจนเหลือไม่ถึง 3% ของพื้นที่ทั้งหมด หลังจากนั้นมาจึงได้มีการออกกฎหมายห้ามถางป่าและเริ่มปลูกป่ากันใหม่ มาถึงตอนนี้เดนมาร์กก็มีป่าแค่ 14% ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นป่าปลูกเพื่อใช้ไม้ มีเพียง 5%ของพื้นที่เท่านั้นที่เป็นป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ของรัฐและก็กระจายกันอยู่เป็นหย่อมเล็กๆ

ภูมิประเทศส่วยนใหญ่ของเดนมาร์กจะเป็นที่ราบ เป็นทุ่งเกษตรกรรมแปลงใหญ่โล่งสลับกับแนวต้นไม้ผืนเล็กๆ

จากสภาพป่าแบบนี้น่าแปลกใจว่าเขายังมีสัตว์ป่าอยู่ทั่วไป มันช่างแตกต่างจากความคิดของเราที่เชื่อว่าสัตว์ป่าจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อเรามีป่าสมบูรณ์ผืนใหญ่ๆเป็นแสนเป็นล้านไร่เท่านั้น

พ่อยูลให้ผมดูภาพของฟาร์มหลายยุคสมัย เริ่มตั้งแต่ปี 1910 ในยุคปู่ของจอห์น พ่อยูลเกิดที่นี่ จากเดิมที่เคยเป็นฟาร์มปศุสัตว์ เลี้ยงวัวนม เลี้ยงหมู จนกลายมาเป็นไร่มันฝรั่งในวันนี้ 

เมื่อผมตั้งคำถาม พ่อยูลเล่าว่า พ่อเริ่มล่าสัตว์บนที่ดินผืนนี้ตั้งแต่ 6 ขวบด้วยหนังสติ๊ก มาจนถึงวันนี้ผ่านมา 76 ปีแล้ว ตอนนี้ก็ยังมีสัตว์ทุกชนิดมากมายให้ล่าได้ไม่ขาดอย่างที่ผมได้เห็นด้วยตาตัวเอง

บนไร่มันฝรั่งขนาด 625 ไร่นี้ พ่อยูลเก็บพื้นที่บางส่วนไว้เป็นป่า มีบ่อน้ำอยู่กลางที่ ระหว่างแปลงมันมีแนวต้นไม้ซึ่งจอห์นเล่าให้ผมฟังว่าเมื่อหลายสิบปีก่อนรัฐบาลขอให้เปลี่ยนจากแถวต้นสนมาเป็นไม้พุ่มหลากชนิดเพื่อให้สัตว์ป่าได้อาศัยอยู่ได้ดีขึ้น 

ทางซ้ายคือบ่อน้ำ และแปลงปลูกมันฝรั่งจะถูกห้อมล้อมด้วยแนวต้นไม้เพื่อบังลมและเป็นที่อยู่อาศัยให้สัตว์

พ่อยูลทำไร่อยู่ในพื้นที่ตลอดเวลาจึงได้เห็นความเป็นไปและจำนวนของสัตว์ป่า นอกจากพ่อยูลและจอห์นที่ล่าสัตว์กันตามสมควรแล้ว จะมีวันหนึ่งของปีที่พ่อยูลจะชวนเพื่อนสนิทเข้ามาล่าสัตว์ชนิดต่างๆในไร่ โดยที่พ่อเป็นคนกำหนดกติกาว่าจะล่าอะไรบ้างกี่ตัว

เจ้าของไร่คนอื่นๆที่อาจจะไม่ได้ล่าสัตว์ด้วยตัวเอง ก็สามารถให้พรานที่รู้จักและไว้ใจ “เช่าสิทธิ” การล่าสัตว์ในพื้นที่แบบระยะยาวและช่วยกันดูแลสัตว์ป่าได้ เป็นรายได้เสริมจากการเกษตรกรรมอีกทางหนึ่ง

ผมเห็นกับตาแล้วว่าการจัดการเช่นนี้ทำให้มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์แค่ไหน ในเช้าวันนั้นผมได้เห็น กระต่ายป่า, นกไก่ฟ้า และกวางถึง 5 ตัวในเวลาแค่ 15 นาทีและก็เคยเห็นเป็ดป่าและหมาจิ้งจอกในครั้งก่อนที่แวะมา

ห่างจากไร่ของพ่อยูลไม่ไกลเป็นพื้นที่ป่าสงวนผืนเล็กๆที่เราขับรถผ่านมา จอห์นบอกว่า Red Deer ซึ่งเป็นกวางที่ใหญ่ที่สุดของเดนมาร์กอาศัยอยู่ในป่านั้นเป็นฝูง และมักจะเดินย้ายถิ่นหากินผ่านไร่ในตอนกลางคืน ทิ้งรอยเท้าไว้ให้เห็น แต่พ่อยูลก็เคยยิง Red Deer ที่มาอยู่ในไร่ของเขาได้ถึง 3 ตัวแล้ว

Red Deer กวางขนาดใหญ่ที่พ่อยูลยิงได้ในที่ดิน
หัวกวาง Red Deer ของพ่อยูล

 แม่เกรธเธอร์ถือจานใบใหญ่ออกมาจากครัว มันส่งกลิ่นหอมกรุ่นมาถึงก่อนที่เราจะเห็นของในจานนั้นเสียอีก

ครอบครัวสามชั่วคนของจอห์นเพื่อนรักของผมและครอบครัวของผมนั่งสลับกันอยู่รอบโต๊ะตัวใหญ่กลางบ้าน จอห์นบอกว่าปรกติแล้วพวกเขาจะได้นั่งโต๊ะตัวนี้กันก็ในช่วงคริสต์มาส แต่วันนี้เป็นวันพิเศษ และผมก็รู้สึกว่านี่คือช่วงเวลาที่พิเศษจริงๆ

ในจานที่แม่เกรธเธอร์ถือมานั้นมีเนื้ออบที่หั่นเป็นชิ้นหนาๆเรียงอยู่กับมันฝรั่งหัวเล็กๆ ทันทีที่แม่วางจานลง พวกเขาก็ขอให้ผมตักก่อนในฐานะแขกของบ้าน

ทันทีที่ผมหั่นเนื้อและมันฝรั่งเข้าในปาก ผมบอกได้เลยว่ามันคือเนื้อที่อร่อยที่สุดที่ผมเคยได้ลิ้มรสมาในชีวิตนี้ 

ส่วนหนึ่งนั้นอาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ที่ผมได้รับรู้ก่อนที่มันจะกลายมาเป็นอาหารบนโต๊ะให้เราทั้ง 2 ครอบครัวได้กินกันในวันนี้ ทั้งเนื้อกวางและมันฝรั่งล้วนเติบโตขึ้นมาจากผืนดินของพ่อยูล

มันคืออาหารจากธรรมชาติแท้ๆที่ปราศจากสารเคมีหรือฮอร์โมนใดๆ

ผมได้เห็นกับตา และเข้าใจด้วยหัวใจถึงที่มาของเนื้อในจานนี้

ต่างจากเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ที่เรากินกันจนลืมตัวว่ามันมาจากสิ่งมีชีวิต ผมได้เห็นแล้วว่าเนื้อกวางในจานนี้มาจากสัตว์ที่เกิดขึ้นและเติบโตขึ้นมาในธรรมชาติอย่างอิสระอย่างมีความสุข พวกมันไม่เคยต้องถูกกักขัง ไม่เคยโดนกระทำทารุณ และการตายของมันก็รวดเร็ว ไม่มีความทรมานจากการขนส่งที่แออัดและรู้ชะตากรรม ไม่ต้องดิ้นทุรนทุรายเมื่อถูกลากเข้าสู่ห้องเชือด

ทุกส่วนของมันถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ไม่สูญเปล่า การใช้ประโยชน์จากมันทำให้เกิดกระบวนการอนุรักษ์จากพื้นฐานของการเห็นคุณค่าและทำให้เผ่าพันธุ์ของมันได้รับการดูแลให้ดำรงอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์และอิสระ

รสชาติในปากนั้นอาจจะไม่ใช่เพียงเนื้อกวาง 

แต่มันเป็นรสชาติความจริงของชีวิตที่ผมเพิ่งจะได้เรียนรู้และสัมผัสว่าที่จริงแล้วการอนุรักษ์, การใช้ประโยชน์ และการล่าอาจจะไม่ใช่สิ่งตรงกันข้ามกันเสมอไป

เพราะถ้าหากมีความเข้าใจและการจัดการที่ถูกต้องแล้ว มันคือสิ่งเดียวกันและไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

นิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้หนังสือรายเดือนของ “นิยมไพรสมาคม” มาจากมิตรสหายหลายเล่มและกำลังทะยอยอ่านอย่างบรรจง (เพราะหนังสือเหล่านี้มีอายุ 65 ปี แทบจะกรอบเป็นผงอยู่แล้ว)   ผมอ่านแล้วตื่นตะลึงมากครับ ผมเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลมาบ้างว่าท่านสร้างสรรค์ส่งดีๆไว้มากมาย แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องนิยมไพรสมาคมมากนัก  และดูเหมือนว่าเรื่องราวของสมาคมนี้ได้เลือนหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยแล้ว  เลยขอมาเล่าเรื่องหลายอย่างสู่กันฟังถึงประวัติศาสตร์สำคัญของการอนุรักษ์ในบ้านเราที่กำลังจะลืมเลือนไป ในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยยังไม่รู้จักกับคำว่า “อนุรักษ์” ใดๆเลย (ในหนังสือก็ยังไม่มีคำนี้) ตอนนั้นใครอยากจับจองที่ตรงไหนก็ไปแจ้งที่อำเภอแล้วก็ลงมือถาง สัตว์ป่าทุกชนิด (ยกเว้นช้าง) ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครอง ใครอยากล่าอะไรด้วยวิธีไหน...

Editor ใช้ Award เดินป่า โดยตาเกิ้น

พวกเราที่ ThailandOutdoor มีความโชคดีที่เราได้มีโอกาสทดสอบทดลองอุปกรณ์กลางแจ้งมากมาย และก็จะมีของบางอย่างที่เราทดสอบแล้วชอบจนซื้อไว้ใช้เอง เราเรียกของเหล่านั้นว่า "Editor ใช้ Award"  และนี่คือ "Editor ใช้ Award" ปี 2022 จากตาเกิ้นครับ VDO ยาวนะครับเพราะอธิบายกันทุกอย่างรวมถึงเหตุผลที่เลือกใข้ในสถานการณ์ต่างๆกัน เราแบ่งเป็นช่วงๆให้เลือกดูกันได้ครับ ตามนี้เลย บางคนอาจจะบอกว่าผมใช้แต่ของแพงๆหรูๆ ก็อาจจะจริง หรือไม่ แล้วแต่มุมมองครับ ทุกอย่างในชีวิตเราล้วนแล้วแต่ขึ้นกับว่าเราให้ลำดับความสำคัญกับอะไร  สำหรับผมแล้ว ผมไม่ได้ซื้อของอื่นหรูหราอะไร แต่การออกมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การเดินป่า คือความสุขในชีวิตผม ผมจึงเลือกใข้แต่ของดีๆ...

ไปเรียนหลักสูตรปืนพกต่อสู้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

ผมเขียนบทความนี้ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2552 เขียนข้างหลังกระดาษสำเนา ป.4 (ทะเบียนปืน) ในช่องยิงทันทีที่เรียนเสร็จ เขียนด้วยความประทับใจของการสอนยิงปืนในคอร์สนี้ ถึงวันนี้แม้ว่าหลายๆอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ผมยังคงข้อความทุกอย่างที่เขียนในบทความนี้ไว้อย่างเดิมรวมทั้งรูปภาพเดิมที่อาจจะไม่ชัดนัก ด้วยความตั้งใจปัจจุบันโรงเรียนสอนยิงปืนแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมยิงปืนเขาสามยอด ยังตั้งอยู่ที่สถานที่เดิมในค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี สอนมาต่อเนื่องถึง 14 ปีแล้วถ้านับถึงวันนี้ หลักสูตรพัฒนาไปมาก และมีถึง 8 หลักสูตรให้เรียนได้ตามลำดับขั้น และยังสอนโดยหัวหน้าชุดครูท่านเดิมที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะให้คนไทยได้เรียนรู้การใช้อาวุธปืนได้อย่างถูกต้องผมเชื่อว่าที่นี่คือโรงเรียนสอนยิงปืนที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถเรียนได้ในประเทศไทย ผมเขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้ที่ตอนท้ายของบทความนี้ครับ ในสังคมที่บิดเบี้ยวมากขึ้นทุกวัน ดูเหมือนพวกเราสุจริตชนจะต้องเสี่ยงกับภัยคุกคามรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโจร...

ชีวิตผ่านไปเร็วมากและงดงาม Next Thing You Know

ผมชอบฟังเพลง Country American ครับ เพราะหลายๆเพลงมีเนื้อเพลงที่ดีมาก สามารถเล่าเรื่องราวได้ในเพลงเดียว คำพูดที่เลือกมาใช้ในเนื้อเพลงก็บรรจงคัดสรรมา บางครั้งถ้าตั้งใจฟังเพลงสักเพลงหนึ่งก็ราวกับได้อ่านหนังสือดีๆกินใจสักบท เอาเพลงนี้มาฝากกันครับ Next Thing You Know โดย Jordan Davis ตั้งใจจะเก็บเพลงนี้ไว้สำหรับวันครบรอบแต่งงานปีหน้า แต่ว่าเปลื่ยนใจ เอามาเขียนฉลองวันเกิดภรรยาผมเมื่อวานนี้ก็แล้วกันครับ Next Thing You Know เล่าเรื่องราวเหตุการสำคัญในชีวิตคู่ของใครสักคน อย่างชนิดที่ใครฟังก็คงได้ภาพของตัวเองและคนรักลอยขึ้นมาในใจ และก็คงคิดเหมือนกันว่า ทุกอย่างที่สวยงามในชีวิตนี้ช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน ขณะที่ลูกชายผมอาจจะกำลังอยู่ในเนื้อเพลงท่อนแรก...

Most Popular

%d bloggers like this: