ด้วยชื่อที่สะดุดใจตั้งแต่แรกเห็นทำให้ผมต้องรีบซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่าน พอได้อ่านจึงรู้ว่าหนังสือเล่มนี้รวบรวมงานเขียนของ Aldo Leopold ที่ล้ำลึกกว่าชื่อเสียอีก
ถ้าใครยังไม่เคยรู้จัก Aldo Leopold ไม่ต้องแปลกใจครับ Leopold เป็นที่นับถืออย่างมากในอเมริกาแต่มีคนรู้จักน้อยมากในเมืองไทยAldo Leopold นั้นเป็นคนที่เราจะอธิบายได้ยากมากว่าเขาคือ “อะไร” เพราะเขาเป็นทั้ง นักวิชาการด้านธรรมชาติ, พนักงานป่าไม้, นักอนุรักษ์, นักเขียน, นักตกปลา, นักล่าสัตว์, อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักปรัชญา ถ้าอยากรู้จักเขาให้มากขึ้นลองอ่านบทความที่ผมเขียนไว้จากลิ้งค์ที่ท้ายเรื่องนี้นะครับ

ในบรรดาบทความสั้นๆที่ถูกเอามารวมไว้ในเล่มนี้มีเรื่อง ”The River of the Mother of God” ที่เขียนไว้ในปี 1924
Leopold ใช้แม่น้ำลึกลับ el Rio Madre de Dios ที่กัปปิตันชาวสเปนได้ค้นพบและตั้งชื่อไว้ในทวีปอเมริกาใต้ มาเป็นตัวเล่าเรื่องตำนานในยุคก่อนนั้นเล่าขานว่าแม่น้ำนั้นมีขนาดใหญ่, ไหลเชี่ยวกราก และมันก็มุดหายเข้าไปในป่าอเมซอนที่หนาทึบจนไม่มีใครจะฝ่าเข้าไปได้เช่นเดียวกับแม่น้ำ กัปปิตันชาวสเปนนั้นก็สูญหายไปในป่าไม่มีใครได้พบเจอเขาอีก ทิ้งไว้เพียงเรื่องราวเล่าขานที่ทำให้มีเส้นหนาทึบแทนแม่น้ำที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดบนแผนที่อเมริกาใต้ในยุคนั้น

แม้จะเขียนไว้เมื่อเกือบร้อยปีก่อน แต่ Leopold ก็รู้แล้วว่ายุคของการผจญภัยเข้าไปสู่โลกที่ยังหลงสำรวจนั้นใกล้จะจบสิ้นลงแล้ว
แต่เขาก็ยังเชื่อว่า สำหรับคนกลุ่มน้อยที่มีเลือดพิเศษอยู่ในตัว คนเหล่านี้จะต้องแสวงหาการผจญภัยไปสู่ Unknown ท่ามกลางธรรมชาติพิศุทธิ์ที่ปราศจากสิ่งที่มนุษย์เรียกว่าศิวิไลเซชั่น
และนี่ก็คือเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ Leopold พยายามผลักดันให้เกิด Wilderness Act เพื่อที่จะเก็บพื้นที่ธรรมชาติที่ยังพิศุทธิ์อยู่ให้คงสภาพรอดพ้นจากการ “พัฒนา” เพื่อให้คนกลุ่มน้อยนั้นได้มีโอกาสเข้าไปใช้ชีวิตในธรรมชาติที่ยังคงความเป็น Unknown ในระดับหนึ่ง และเพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสเห็นและได้สัมผัสธรรมชาติที่แท้จริง

สิ่งที่น่าสนใจที่เขาเขียนไว้อีกอย่างหนึ่งก็คือประชาธิปไตยและความเท่าเทียมไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทำทุกอย่างที่คนส่วนใหญ่ต้องการและเพื่อคนส่วนใหญ่เท่านั้น เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกเสมอไปในทุกสถานการณ์และเงื่อนไข และเพราะคนเรามีสิ่งที่ต้องการไม่เหมือนกัน
คนส่วนน้อยก็มีสิทธิที่จะได้รับสิ่งที่เขาต้องการเช่นกัน ความเท่าเทียมจึงอยู่ที่การจัดสรรสิ่งที่ต่างกันให้กับคนกลุ่มต่างๆให้มีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน
ในยุคที่เราใช้ Google Map ดูที่ไหนก็ได้ในโลกและใช้ Google ค้นหาชื่อสถานที่ทุกแห่งที่เราอยากจะไปแม้กระทั่ง el Rio Madre de Dios ในยุคที่ป่าเกือบทุกที่โดยเฉพาะอุทยานฯเข้าถึงได้ด้วยถนนและพัฒนาเป็นลานกางเต็นท์หญ้าเรียบ แต่คนกลุ่มน้อยส่วนหนึ่งก็ยังโหยหาการเข้าไปสู่ Unknown ในธรรมชาติพิศุทธิ์ที่ปราศจากร่องรอยของศิวิไลเซชั่น
อย่างน้อยผมก็ยังดีใจว่า เมื่อค้นชื่อบางชื่อของสถานที่ unknown ส่วนตัวใน Google แล้วยังไม่ขึ้นมา แต่มันจะยังเป็นเช่นนั้นได้อีกนานแค่ไหนเมื่อมนุษย์เช่นผมยังเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีปากเสียงเช่นนี้
อ่านต่อ บทความเรื่อง Sand County Almanac และ Aldo Leopold
อ่านต่อ บทความเรื่อง Wilderness Act