Monday, May 29, 2023
Homeความคิดและมุมมองการสั่งปิดสั่งห้ามคือการจัดการที่(มัก)ง่ายที่สุด

การสั่งปิดสั่งห้ามคือการจัดการที่(มัก)ง่ายที่สุด

-

การสั่งปิดสั่งห้ามคือการจัดการที่(มัก)ง่ายที่สุด

ผมเคยได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้คนที่รักธรรมชาติและเป็นคนสำคัญที่ขับเคลื่อนการอนุรักษ์ในประเทศเรา ทุกท่านพูดเหมือนกันหมดว่าสิ่งที่ทำให้เขารักและทำงานต่อสู้เพื่อให้ธรรมชาติดำรงอยู่นั้นมาจากการที่พวกเขามีโอกาสได้สัมผัสธรรมชาติจากการไปแค้มป์, ไปเดินป่า, ไปดูนก, ไปดำน้ำ ในอุทยานแห่งชาติ

มันทำให้ผมเชื่อมั่นเสมอมาว่าการสร้างโอกาสให้กับคนทั่วไปได้สัมผัสธรรมชาติอย่างที่เป็นจริงคือรากฐานที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การอนุรักษ์ธรรมชาติของเราเดินหน้าต่อไปได้

และมันก็คือวัตถุประสงค์หลัก 1 ใน 3 ข้อที่อุทยานแห่งชาติถูกจัดตั้งขึ้นมา

หลายปีที่ผ่านมานี้จำนวนคนที่ออกไปแค้มปิ้ง, เดินป่า ออกไปเที่ยวธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก มองในมุมหนึ่ง นั่นคือโอกาสที่ดีที่จะสร้างแนวร่วมของผู้คนที่รักธรรมชาติรุ่นใหม่ๆขึ้นมา

แต่ดูเหมือนว่ากรมอุทยานจะไม่ได้มองอย่างนั้น และไม่ได้พยายามที่จะปรับตัวที่จะใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์

แน่นอนว่านักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงปัญหาเพิ่มมากขึ้นที่ต้องจัดการ ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ

หลายคนบอกว่าปัญหาต่างๆในบ้านเราหลักๆมาจากการขาดจิตสำนึกของผู้คนในส่วนรวม ซึ่งผมก็ว่าจริง เพราะในประเทศนี้เราไม่เคยคิดที่จะปลูกฝังสร้างจิตสำนึกกัน มีแต่จะออกกฎมาห้ามมากขึ้นเรื่อยๆ

ผลที่เกิดขึ้นก็คือเรากลายเป็นประเทศที่มีกฎระเบียบหยุมหยิมมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยที่กฎส่วนใหญ่บังคับใช้ไม่ได้ และปัญหาก็ยังเกิดจากการขาดจิตสำนึกมากกว่าเดิม ไม่ได้พัฒนาไปในทางที่ควรจะเป็นเลย

เราจะคาดหวังให้ทุกคนเข้าใจและจิตสำนึกเกิดขึ้นงอกงามขึ้นมาเองคงจะเป็นไปไม่ได้

จากข่าวที่กรมอุทยานพยายามสร้างกระแสว่าควรต้องปิดอุทยานปีละ 3 เดือนเพื่อพื้นฟูธรรมชาติเมื่อปีที่แล้ว และข่าวล่าสุดที่ออกมาว่าจะห้ามทำอาหารในลานแค้มป์ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้

กรมอุทยานเตรียมออกกฎห้ามทำอาหารในลานกางเต็นท์ เป็นการแก้ปัญหาแบบเหวี่ยงแหมากๆ แทนที่จะแก้ที่ต้นตอของปัญหาคือลานกางเต็นท์ที่หนาแน่นแออัดเกินไปไม่มีการควบคุมจำนวนคน

หลายสิบปีที่ผ่านมานี้ผมไม่เคยเห็นกรมอุทยานมีโครงการอะไรที่จะให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในธรรมชาติให้กับคนที่เข้าไปเที่ยวที่อุทยานเลย การแค้มปิ้งเป็นวัฒนธรรมใหม่สำหรับสังคมไทย และเมื่อไม่มีใครให้ความรู้ที่ถูกต้อง ผมเชื่อว่าปัญหาที่นักท่องเที่ยวสร้างขึ้นส่วนใหญ่เกิดมาจากความที่เขาไม่รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ

ในเรื่องการทำอาหารในแค้มป์ จริงครับ ที่ว่ามีนักท่องเที่ยวบางส่วนทำเกินเลย ทำอาหารที่มีกลิ่นมีควัน ชุมนุมกันกลุ่มใหญ่เสียงดังเลยเวลาอันควร แต่แทนที่จะพยายามสร้างความเข้าใจให้คนกลุ่มนี้ทำให้ถูกต้องตามกฎระเบียบที่มีอยู่แล้ว กรมอุทยานกลับเตรียมที่จะออกกฎข้อห้ามแบบเหวี่ยงแหออกมาอีก ที่จะห้ามทำอาหารในลานกางเต็นท์ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเลยว่ากฎนี้จะไปริดรอนสิทธิและโอกาสของครอบครัวนับร้อยนับพันที่ต้องการมาสัมผัสธรรมชาติและนั่งรอบวงกินอาหารกันอย่างสงบและได้ทำกฎกติกาหรือกระทั่งมารยาทของการใช้พื้นที่อุทยานมาตลอด

กรมอุทยานห้ามทำอาหารในลานกางเต็นท์ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเลยว่ากฎนี้จะไปริดรอนสิทธิและโอกาสของครอบครัวนับร้อยนับพันที่ต้องการมาสัมผัสธรรมชาติและนั่งรอบวงกินอาหารกันอย่างสงบและได้ทำกฎกติกาหรือกระทั่งมารยาทของการใช้พื้นที่อุทยานมาตลอด (ภาพครอบครัวญี่ปุ่นกับมืออาหารที่มีความสุขของพวกเขา) ผมเห็นภาพเช่นนี้ของครอบครัวไทยมากมาย และพวกเขากำลังจะถูกสั่งห้าม
กรมอุทยานไทย จะห้ามปิ้งย่าง? ในอุทยานที่อเมริกา อุปกรณ์มาตรฐานที่อุทยานจัดไว้ให้ทุกจุดกางเต็นท์คือเตาปิ้งย่าง พื้นฐานของความคิดนี้ทำไมถึงต่างกัน 

เพราะในอเมริกามีการจัดจุดกางเต็นท์ให้เป็นสัดส่วน มีการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวให้พอเหมาะกับสถานที่ ส่วนของไทยไม่เคยมีครับ
กรมอุทยานไทยจะห้ามทำอาหารในแค้มป์? เตาปิ้งย่างเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่อุทยานของนามิเบีย (แอฟริกา) จัดไว้ให้กับทุกจุดกางเต็นท์
จุดการเต็นท์ของอุทยานในนามิเบีย (แอฟริกาที่เขาว่าล้าหลัง) มีการจัดเป็นสัดส่วน ควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวให้พอเหมาะ ทุกจุดกางเต็นท์มีเตาปิ้งย่างไว้ให้ใช้ ที่นี่มีทั้งสิงโต เสือดาว และช้าง แต่กรมอุทยานไทยจะห้ามทำอาหารเพราะอ้างว่าทำให้ช้างเข้ามาที่จุดกางเต็นท์

แต่ในขณะเดียวกัน กรมอุทยานไม่เคยพูดถึงและไม่มีท่าทีที่จะจัดการกับต้นตอของปัญหาทั้งหมดนั่นก็คือความแออัดของลานกางเต็นท์ในอุทยาน ไม่มีความคิดที่จะจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับที่ลานแค้มป์จะรับได้ ไม่เคยคิดที่จะจัดลานแค้มป์ให้เป็นสัดส่วนมีระยะห่างอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ได้มีการเพิ่มและกระจายลานแค้มป์ออกไปเพื่อรับกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่เรามีอุทยานแห่งชาติอยู่ถึง 154 แห่ง และวนอุทยานอีก 69 แห่ง ในจำนวนนี้หากมีการจัดการที่ดีย่อมสามารถกระจายนักท่องเที่ยวออกไปได้และลดปัญหาต่างๆที่เกิดจากความหนาแน่นได้

ต้นตอของปัญหาทั้งหมดคือลานกางเต็นท์ที่หนาแน่นแออัดเกินไปไม่มีการควบคุม ลองสังเกตดูนะครับว่าเต็นท์ลายพรางคือเต็นท์ของอุทยานเองนั้นกางใกล้กันแค่ไหน
สังเกตดูนะครับว่าเต็นท์ที่อุทยานกางไว้ให้นักท่องเที่ยวเช่าใกล้กันแค่ไหน นี่คือต้นตอของปัญหาที่แท้จริง
กรมอุทยานจะออกกฎห้ามทำอาหารในแค้มป์โดยบอกว่าให้ไปกินอาหารที่ร้านสวัสดิการหรือร้านเอกชนที่อุทยานจัดไว้ให้แทน

มันเป็นการแก้ปัญหาจริงหรือครับ สภาพอุทยานแห่งชาติควรจะเป็นแบบนี้หรือครับ (ภาพจากอุทยานภูกระดึง)
สิ่งที่ขาดหายไปจากอุทยานไทยหลายสิบปีแล้วคือความกระตือรือล้นที่จะให้ความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวที่เขามายังอุทยาน

(ภาพจากอุทยาน Yosemite อเมริกา)

ผมมีเพื่อนที่ทำงานอยู่ในกรมอุทยานอยู่ไม่น้อย ผมได้เห็นพวกเขาทุ่มเทให้กับการดูแลรักษาธรรมชาติจนผมไม่เคยสงสัยถึงความตั้งใจกับการทำงานของผู้คนในกรมอุทยาน

แต่ปัญหาน่าจะมาจากวิศัยทัศน์ และลำดับความสำคัญของผู้บริหารกรม ที่อาจจะไม่ได้มองว่าการเพิ่มขึ้นของนักท่องธรรมชาติเป็นโอกาสของการสร้างแนวรวมคนรักธรรมชาติและนักอนุรักษ์ แต่หากมองว่าการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวเป็นเพียงปัญหาและความวุ่นวายที่ต้อง “จัดการ”

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราก็คงจะต้องเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยกฎแต่ขาดจิตสำนึกกันตลอดไปแล้วละครับ

มื้ออาหารที่สงบและมีความสุขในแค้มป์ของครอบครัวชาวญี่ปุ่น ผมเห็นครอบครัวไทยมากมายที่มีความสุขเช่นนี้ และกรมอุทยานกำลังจะห้ามความสุขของพวกเขา
ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

ต้นแบบของสุภาพบุรุษกลางแจ้ง

จาก อลัน ควอเตอร์เมน จนถึง รพินทร์ ไพรวัลย์ และ Indiana Jones ถ้าจะพูดถึงชื่อหนึ่งที่มีบทบาทเป็นตัวอย่างของสุภาพบุรุษกลางแจ้งมานับร้อยๆปี ก็คงต้องเล่าถึง อลัน ควอเตอร์เมน ครับ อลัน ควอเตอร์เมน (Allan Quatermain) เป็นตัวละครเอกในนิยายเรื่อง King Solomon’s Mine ที่เขียนโดยนักเขียนชาวอังกฤษ H. Rider Haggard (Sir...

The Outsiders

ในเวลาหนึ่งผมเคยเขียนในบทความไว้ว่า “หมู่บ้านในนิทาน” หรือ “Shangri-la” ในนวนิยายเรื่อง Lost Horizon ของ James Hilton นั้นมีอยู่จริงในมุมเล็กๆของโลกใบนี้ หลายคนได้ค้นหามันจนเจอ แต่แล้วพวกเขาก็เป็นคนทำให้มันสูญหายไปด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนให้หมู่บ้านในนิทานนั้นให้ “ดีขึ้น” โดยการนำสิ่งที่เขาคิดว่าดีงาม จากที่ที่เขาคุ้นเคยเข้าไป การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ การถ่ายเทวัฒนธรรมในโลกใบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณและยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วขึ้นในทุกวันนี้ด้วยการเดินทางและการสื่อสารในยุคใหม่ แต่สิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาสู่สังคมที่คงสภาพเดิมมาอย่างผาสุขยาวนานย่อมมีทั้งดีและไม่ดี และที่สำคัญหลายคนที่พยายามนำมันเข้าไปอาจจะไม่เคยถามคนดั้งเดิมของสังคมว่ามันเป็นประโยชน์ให้กับพวกเขาแค่ไหน เขาต้องการมันหรือไม่

Salmon Fishing ที่นอร์เวย์

ผมรัก Fly Fishing เพราะมันพาผมไปอยู่ในที่สวยที่สุดในโลกหลายๆแห่งที่น้อยคนจะได้เห็น ครั้งนี้มันพาผมไปตกปลาแซลม่อนที่แม่น้ำที่งดงามของ Norway ผมได้ไปสัมผัสกับเรื่องราวของปลาแซลม่อนที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลกใบนี้ แต่คนเรากลับมองข้ามความสำคัญของมันและทำลายความอุดมสมบูรณ์ที่ล้ำค่านี้ไปจนเหลือเพียงเศษเสี้ยวของที่เคยมีในอดีต

Fly Fishing Yellowstone

ทริปตกปลาที่ Yellowstone National Park ที่ที่หลายคนเรียกว่า Shangri-la ของนักตกปลาเทร้าท์

Most Popular

%d bloggers like this: