Monday, May 29, 2023
Homeความคิดและมุมมองธรรมชาติจะคงอยู่ได้อย่างไร

ธรรมชาติจะคงอยู่ได้อย่างไร

-

ผมเห็นความเห็นมากมายเกี่ยวกับเรื่องการปิดอุทยาน 3 เดือน “เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ” มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ผมขอไม่ออกความเห็นแบบเป็นข้อสรุปนะครับเพราะผมไม่ใช่ผู้รู้ที่จะมาชี้ผิดชี้ถูกได้ แต่อยากจะเขียนอะไรบางอย่างให้อ่านแล้วไปคิดต่อกันก่อนแล้วแต่ละคนจะได้มีความเห็นของตัวเองครับ

ลองอ่านกันดูครับ ทำใจให้สบายๆครับ

Denali National Park   พ.ศ. 2538

รถบัสคันใหญ่สีเหลืองหน้าตาเหมือนรถโรงเรียนพาเราเคลื่อนที่ไปช้าๆตามถนนเส้นเล็กๆที่ทำจากดินอัดแน่น

“ตรงโค้งข้างหน้านี่มองในดงไม้ทางซ้ายไว้ดีๆนะครับ บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของมูส เรามักจะได้เห็นพวกมันที่นี่”  เสียงประกาศของพนักงานขับรถดังผ่านลำโพง 

เมื่อรถชะลอลงที่โค้ง มันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ มูสตัวใหญ่เดินกินใบไม้ไปตามปรกติโดยไม่สนใจรถที่ผ่านมาใกล้ๆเลยแม้แต่น้อย

มูสริมถนน Denali National Park

รถบัสของเราวิ่งไปอีกไม่นานก็มีเสียงประกาศอีก

“ข้างหน้าพอเราข้ามเนินไป จะมีที่โล่งทางซ้ายมือครับ ถ้าเราโชคดีเราอาจจะได้เห็นหมีกริซลี่ย์ตรงนั้น อากาศดีๆอย่างวันนี้พวกมันมักจะมานอนอาบแดดกันครับ”

และก็เป็นตามที่เขาคาดไว้อีก หมีกริซลี่ย์ขนาดใหญ่มหึมาและลูกที่โตมากแล้วอีกตัวหนึ่งนอนอาบแดดอยู่บนลานหญ้าที่มองออกไปเห็นวิวของทุ่งหญ้าและป่าสนกว้างใหญ่ไฟศาล

หมีกริซลี่ริมถนน Denali National Park

การที่เรามีโอกาสได้เห็นสัตว์ป่าเหล่านี้ในสภาพธรรมชาติได้อย่างง่ายดายเช่นนี้เป็นเพราะอุทยานแห่งชาติ Denali มีการจัดการการท่องเที่ยวที่เรียบง่ายแต่ดีเยี่ยม

Big Horn Sheep คือสัตว์ที่เห็นได้จากบทรถเกือบตลอดทาง

จากถนนเข้าไปยังพื้นที่อุทยานที่ยาว 150 กิโลเมตร มีเพียง 24 กิโลเมตรเท่านั้นที่สามารถนำรถส่วนบุคคลเข้าไปได้ แต่นักท่องเที่ยวอย่างเราสามารถเข้าสู่ป่าลึกของ Denali ได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบายด้วยรถบัสของอุทยานที่เราสามารถซื้อตั๋วเพียงครั้งเดียวและโดดขึ้นลงรถบัสได้ทุกที่ตลอดเส้นทางและตลอดเวลาที่เราอยู่ที่นั่น

Alaska. Denali NP. Grizzly Bear (Ursus horribilis) with shuttle bus full of people. (ภาพจาก Internet)

เราจองแค้มป์พักกันไว้ที่ Savage River ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ของ Campground ที่เรียงรายกระจายกันอยู่ตลอดถนนที่ยาว 150 กิโลเมตรผ่านใจกลาง Denali National Park 

ก่อกองไฟทำอาหารในแค้มป์กันที่ Savage River campground

แค้มป์ทั้งหมดของ Denali เป็นแค้มป์แบบง่ายๆ ไม่หรูหราอะไร ไม่มีอาคารอะไรเลย แต่มีการกำหนดจุดกางเต็นท์ไว้ให้แต่ละคนที่เข้าไปพัก แต่ละจุดจะมีลานเล็กๆสำหรับกางเต็นท์, มีโต๊ะนั่งทานข้าว และมีเตาฟืนไว้ให้ทำอาหารง่ายๆ ห้องน้ำก็เป็นห้องน้ำรวมส้วมหลุมแบบง่ายๆ จากทั้งหมด 6 แค้มป์ มี 3 แค้มป์ที่สามารถขับรถ Camper Van หรือ RV เข้าไปพักได้ อีก 3 แห่งต้องกางเต็นท์เท่านั้น 

แต่การจะเข้าไปพักสามารถจองผ่านอินเตอร์เน็ทได้ (ได้ตั้งแต่ 25 ปีก่อนนะครับ) ถ้าเต็มแล้วเต็มเลยจำกัดคนไว้แค่นั้น

จุดกางเต็นท์ถูกกำหนดของใครของมันไม่แออัด มีเตาและโต๊ะจัดไว้ให้ที่ละชุด

คนที่มาเที่ยว Denali สามารถสัมผัสธรรมชาติได้มากกว่าจากบนถนนหรือ Campsite (ซึ่งก็เป็นธรรมชาติมากแล้ว เราแทบไม่เห็นสิ่งก่อสร้างใดๆเลย) โดยการแบกเป้เข้าไปนอนในป่าตรงไหนก็ได้ !

ถนนใน Denali National Park เป็นเพียงถนนโรยกรวดอัดแน่นเส้นแคบๆ สองข้างทางยังคงสภาพธรรมชาติอย่างสมบูรณ์โดยปราศจากสิ่งก่อสร้างใดๆ (ภาพจาก Internet)

การที่จะเข้าไปเดินป่าไปแค้มป์นี้ ใครก็สามาถทำได้ครับ โดยไม่ต้องใช้เส้นสาย ไม่ต้องรู้จักใคร ไม่ต้องทำหนังสือมาจากกรม ถ้าอยากไปก็กรอกใบสมัครและขอใบอนุญาต (permit) online ผ่านเว็บไซต์ของอุทยานล่วงหน้าแล้วมารับ Permit พร้อมกับนั่งอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในป่าแล้วก็เดินเข้าไปได้เลย 

แม่น้ำ Savage River หน้าแค้มป์

คนที่จะเข้าไปนอนในป่าจะต้องเตรียมตัวและปฏิบัติตามกฎเพื่อความปลอดภัย,​หลีกเลี่ยงการถูกทำร้ายโดยสัตว์ป่า, เพื่อให้ธรรมชาติถูกรบกวนน้อยที่สุดและคงสภาพอยู่เหมือนก่อนที่เราจะเข้าไปถึง (Leave No Trace) 

Denali เป็นอุทยานแรกๆที่พยายามลดการรบกวนธรรมชาติและสัตว์ป่าโดยการจำกัดการเข้าของรถยนต์ส่วนตัว แต่เขาไม่เคยจำกัดการเข้าถึงธรรมชาติของผู้คน โดยเฉพาะการเดินเท้าเข้าไป

มูสเดินอยู่กลางทุ่งหญ้าของ Denali

Denali มีการปิดมั๊ยคุณคงอยากรู้ ไม่ครับ แต่มีการปิดเส้นทางบางส่วนและแค้มป์ส่วนใหญ่เนื่องจากสภาพอากาศในฤดูหนาวของ Alaska ที่ทำให้การเดินทางยากลำบากมาก ไม่ใช่เพื่อ “ให้ธรรมชาติฟื้นตัว”​เพราะเขามีการจัดการที่ดีพอที่จะดูแลไม่ให้ธรรมชาติบอบช้ำอยู่แล้ว

อุทยานในอเมริกาทุกแห่งก็มีหลักการที่จะเปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงธรรมชาติได้พร้อมๆกับการดูแลธรรมชาติไม่ให้บอบช้ำคล้ายๆกับที่ Denali ครับ คือมี Campsite กระจายไปทั่วทำให้มีเพียงพอและไม่แออัด แค้มป์ไซต์มีจุดกางเต็นท์กำหนดไว้, มีจำนวนจำกัด และสามารถจองได้ล่วงหน้า

พร้อมกันนั้น อุทยานในอเมริกาทุกแห่งให้ความสำคัญกับการเดินป่าและการไปแค้มป์ในป่ามากครับ ทุกแห่งจะมีหน่วยบริการ Backcountry ที่คอยให้คำแนะนำเรื่องพื้นที่, เส้นทางและการเตรียมตัว ไม่ว่าจะเดินเพียงวันเดียวหรือไปนอนค้างในป่า โดยไม่มีข้อจำกัด หรือกีดกันไม่ให้คนเข้าป่าเลย 

Wilderness Center ของ Yosemite National Park ที่มีไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินป่าและเข้าไปค้างแรมในป่าโดยดฉพาะ
ภายในของ Wilderness Center มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการข้อมูลเรื่องพื้นที่, เส้นทาง, การเตรียมตัว และทุกอย่างที่นักท่องเที่ยวต้องการความช่วยเหลือ
มีคำอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่าการเดินเข้าไปพักแรมในป่ามีอะไรบ้างที่จะต้องเตรียมไป

บางคนอาจจะบอกว่าผมชื่นชมฝรั่งมากไปหรือเปล่า ทำไมชมแต่อุทยานฯของอเมริกาว่าเขาทำอะไรก็ดีไปหมด

เรื่องอื่นผมไม่คิดอย่างนี้ครับ แต่เรื่องอุทยานแห่งชาตินี่ผมคิดว่าอเมริกาเป็นประเทศที่จัดการอุทยานฯได้ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาในประสบการณ์น้อยนิดที่ผมมี และประเทศเราเองก็ไปถอดแบบจากเขามาครับ อุทยานแห่งแรกของเราคือเขาใหญ่นี่เมื่อเริ่มก่อตั้งถอดแบบมาจากอุทยาน Yellowstone เลยก็ว่าได้

แต่ในขณะที่อุทยานของอเมริกามีความชัดเจนในเป้าหมายมากว่า อุทยานแห่งชาติ มีไว้เพื่อรักษาธรรมชาติไว้ให้ผู้คนได้สัมผัสได้มีความสุข, เป็นโรงเรียนธรรมชาติให้ศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจและรักธรรมชาติ อุทยานของเรากลับผิดเพี้ยนไปเรื่อยๆ พิมพ์ที่ถอดแบบจากเขามาเริ่มแปลงร่างไป

ในสมัยผมเด็กๆ เขาใหญ่คือโรงเรียนธรรมชาติที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง มีเส้นทางเดินป่าถึง 13 เส้น เพียงแต่เดินเข้าไปที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ก็จะยื่นแผนที่ให้พร้อมกับยินดีอธิบายแนะนำเส้นทางเหล่านั้น จะไปเดินเองก็ได้ ถ้าอยากให้เจ้าหน้าที่นำทางก็จัดให้ 

แผนที่ที่เคยมีแจกในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของเขาใหญ่ มีเส้นทางเดินป่าระบุไว้ให้นักท่องเที่ยวไปเดินได้ ผมเคยมีอีกแผ่นหนึ่งที่เป็นแผนที่ Topo Map อย่างดีที่ได้มาจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเช่นกัน แต่สูญหายไปหาไม่เจอแล้วครับ

ควาทรงจำที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตผมเริ่มขึ้นเมื่อพ่อพาผมไปเดินป่าที่เขาใหญ่ครั้งแรกในตอนอายุประมาณ 11 ขวบ บนเส้นทางจากน้ำตกกองแก้วไปยังน้ำตกเหวสุวัต ระยะทางประมาณ 9-10 กิโลเมตร 

ตลอดเส้นทางนั้น ผมได้พบเห็นธรรมชาติที่สวยงาม เห็นนกเงือก เห็นร่องรอยสัตว์ป่ามากมายตลอดทาง ได้เห็นลำธารใส นำ้ตกใหญ่ที่ซ่อนตัวอยู่กลางป่าลึกที่เคยได้แต่เพียงจินตนาการจากเพียงการอ่านนิยาย ภาพเหล่านั้นยังคงแจ่มชัดอยู่ในใจแม้เวลาจะผ่านมาแล้วถึง 40 กว่าปี และการเดินป่าเพียงวันเดียวนั้นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของผมไปตลอดกาล

แผนที่เขาใหญ่อีกอันที่อธิบายชัดเจนว่าเขาใหญ่เคยมีเส้นทางเดินป่าที่เดินได้ถึง 13 เส้นทาง

ในวันนี้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติแห่งแรกและน่าจะเป็นอุทยานป่าที่ดีที่สุดของประเทศเรามีเส้นทาง “ศึกษาธรรมชาติ” ที่ยาวไม่เกิน 2-4 กิโลเมตร เปิดให้เดินอยู่เพียง 3 เส้นทาง และไม่อนุญาตให้นอนค้างแรมในป่า ในขณะที่รถวิ่งกันขวักไขว่บนถนนที่ตัดผ่ากลางอุทยาน, ลานกางเต็นท์ที่มีเพียง 2 แห่งแน่นขนัด และสิ่งก่อสร้างในอุทยานเพิ่มขึ้นมาตลอด

ยังไม่ต้องพูดถึงอุทยานอื่นๆอีก 153 แห่ง ที่หลายแห่งเราไม่รู้จัก และส่วนใหญ่ไม่ให้คนเข้าไปได้เกินถนนและลานกางเต็นท์

หลายคนคงบอกว่าถ้าเราเปิดให้คนเข้าในป่าในเมืองไทยเละแน่ 

“คนไทยขาดจิตสำนึก” คือคำที่ได้ยินอยู่เสมอเมื่อถามถึงเหตุผลในการปิดเส้นทางเดินป่าหรือพื้นที่ต่างๆในอุทยาน

ก็อาจจะจริงครับ เพราะเราไม่เคยให้โอกาสคนได้เรียนรู้ และไม่ได้ช่วยกันสร้างความรักธรรมชาติจริงๆขึ้นมาเลยในเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เราเพียงแต่ใช้กฎระเบียบปิดกั้นคนไม่ให้เข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริง 

ถนน,​น้ำตกที่มีราวเหล็กบันไดปูนร้านขายของและลานกางเต็นท์ที่ปูหญ้าเรียบมีร้านกาแฟยังไม่ใช่ธรรมชาติที่แท้จริงนะครับ อย่าเข้าใจผิดกัน

อุทยานแห่งชาติที่ควรจะเป็นโรงเรียนธรรมชาติก็เพียงแต่ให้คนเดินเข้ามาในโรงเรียนแต่ไม่ให้เข้าไปเรียนในห้อง

แล้วเราจะคาดหวัง “จิตสำนึก” จากไหนละครับ

ป้ายที่อุทยานแห่งชาิตเขาใหญ่

ความรักธรรมชาติที่แท้จริงต้องเกิดมาจากการเห็นจริง, การได้สัมผัสจนนำไปสู่ความเข้าใจว่าธรรมชาติจริงแท้นั้นเป็นอย่างไร สร้างความล่วงรู้ด้วยตัวเองว่าการกระทำอะไรที่จะส่งผลดีหรือผลเสียให้กับธรรมชาติ จนกลายเป็นความรักธรรมชาติที่ถูกทางและเป็นจริง

เราไม่สามารถทำให้คนเข้าใจและรักธรรมชาติจริงๆได้จากการดูธรรมชาติผ่านจอ, ดูสัตว์ในสวนสัตว์ หรือแม้กระทั่งกางเต็นท์ในลานของอุทยานที่ปลูกหญ้าเรียบ ปลูกต้นไม้ดอกไม้ต่างถิ่นที่ดูสวยงามจนดูไม่ต่างไปจากรีสอร์ตของเอกชนที่อยู่แถวสามพราน

ทุกวันนี้การ “รักธรรมชาติ” จึงดูเหมือนเป็นเพียงแฟชั่นที่ทำแล้วดูดี เป็นกระแสที่พูดตามๆกัน จนเป็นเหมือนความเชื่อของลัทธิ และเช่นเดียวกับลัทธิทั้งหลายที่มักจะมีผู้แฝงตัวรอรับผลประโยชน์จากศรัทธาและความตั้งใจดีของผู้คนอยู่มากมาย

หากเป็นเช่นนี้ต่อไป การดูแลรักษาธรรมชาติในบ้านเราคงหมดหวัง หลงทางไปเรื่อยๆ เพราะความเข้าใจในธรรมชาติอย่างถูกต้องและลึกซึ้งของคนหมู่มากในสังคมมีผลอย่างมากไม่แพ้กฎหมายและการบังคับใช้ มันคือพื้นฐานของการตัดสินใจว่าเราควรปฏิบัติอย่างไรต่อธรรมชาติ, อะไรควรเก็บรักษา, อะไรควรใช้ประโยชน์ และใช้ประโยชน์อย่างไรจะเกิดประโยชน์สูงสุดโดยรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของสังคมปัจจุบันที่ความคิดเห็นใน Social Media มีส่วนชี้นำสิ่งต่างๆโดยแทบไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด

อุทยานฯ ควรจะปิดเพื่อ “ฟื้นฟูธรรมชาติ” ปีละ 3 เดือนหรือไม่ ผมไม่มีคำตอบนะครับ เพราะผมไม่ใช่ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญที่มีข้อมูลพอที่จะตัดสินใจ แต่ละอุทยานก็ไม่เหมือนกัน และที่สำคัญ ในโลกนี้ก็ไม่ได้มีแต่ ขาวหรือดำ ปิดหรือเปิด ยังมีวิธีมากมายที่จะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้โดยไม่บอบช้ำจนต้อง “ฟื้นฟู”

แต่ถ้าดูจากการที่กรมอุทยานทะยอยปล่อยภาพสัตว์ป่าออกมาในช่วงปิด COVID ก่อนที่จะมีกระแสเรียกร้องให้ปิดอุทยานเพื่อ “ฟื้นฟูธรรมชาติ” แล้ว ผมคิดว่าไม่ต้องเรียกร้องหรอกครับ เขาคงวางแผนที่จะปิดกันอยู่แล้วครับ เพราะมัน “ง่าย” ครับ

กรมอุทยานพยายามที่จะสื่อมากว่าช่วงที่ปิดอุทยานสัตว์ป่ามีความสุขมาก

แต่เราควรจะได้เห็นภาพเช่นนี้ได้โดยที่อุทยานไม่ต้องปิด ถ้าอุทยานนั้นจัดการดีพอ Denali National patk ทำเช่นนั้นมาได้ตั้งแต่ 25 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ครับ
อุทยานแก่งกระจานเป็นอีกแห่งที่สัตว์ป่าถูกรบกวนอย่างมากจากรถยนต์ส่วนตัวที่วิ่งเข้าไปอย่างไม่มีการควบคุมจำนวน หากจัดการให้ดีที่นี่จะเป็นที่ที่เห็นสัตว์ป่าได้ง่ายมาก และเป็นสวรรค์ของผู้รักธรรมชาติอีกแห่งหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาอุทยานพยายามจะสร้างและขยายถนนให้ผู้คนขับรถส่วนตัวขึ้นไปแออัดกันอยู่ที่แค้มป์พะเนินทุ่งเพียงเพื่อดูทะเลหมอก

แต่ในขณะเดียวกันเส้นทางเดินป่าที่เคยมีในอุทยานแก่งกระจานถูกยกเลิกและห้ามเดินจนหมดสิ้น

อ่านมาถึงตรงนี้ แล้วคุณคิดว่ายังไงครับ กรมอุทยานฯควรทำอะไรเพื่อทำให้อุทยานเป็นโรงเรียนธรรมชาติและดูแลรักษาธรรมชาติไปได้พร้อมๆกัน

เพราะนั่นคือหน้าที่ของพวกเขาครับ ไม่ใช่แค่เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

ต้นแบบของสุภาพบุรุษกลางแจ้ง

จาก อลัน ควอเตอร์เมน จนถึง รพินทร์ ไพรวัลย์ และ Indiana Jones ถ้าจะพูดถึงชื่อหนึ่งที่มีบทบาทเป็นตัวอย่างของสุภาพบุรุษกลางแจ้งมานับร้อยๆปี ก็คงต้องเล่าถึง อลัน ควอเตอร์เมน ครับ อลัน ควอเตอร์เมน (Allan Quatermain) เป็นตัวละครเอกในนิยายเรื่อง King Solomon’s Mine ที่เขียนโดยนักเขียนชาวอังกฤษ H. Rider Haggard (Sir...

The Outsiders

ในเวลาหนึ่งผมเคยเขียนในบทความไว้ว่า “หมู่บ้านในนิทาน” หรือ “Shangri-la” ในนวนิยายเรื่อง Lost Horizon ของ James Hilton นั้นมีอยู่จริงในมุมเล็กๆของโลกใบนี้ หลายคนได้ค้นหามันจนเจอ แต่แล้วพวกเขาก็เป็นคนทำให้มันสูญหายไปด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนให้หมู่บ้านในนิทานนั้นให้ “ดีขึ้น” โดยการนำสิ่งที่เขาคิดว่าดีงาม จากที่ที่เขาคุ้นเคยเข้าไป การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ การถ่ายเทวัฒนธรรมในโลกใบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณและยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วขึ้นในทุกวันนี้ด้วยการเดินทางและการสื่อสารในยุคใหม่ แต่สิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาสู่สังคมที่คงสภาพเดิมมาอย่างผาสุขยาวนานย่อมมีทั้งดีและไม่ดี และที่สำคัญหลายคนที่พยายามนำมันเข้าไปอาจจะไม่เคยถามคนดั้งเดิมของสังคมว่ามันเป็นประโยชน์ให้กับพวกเขาแค่ไหน เขาต้องการมันหรือไม่

Salmon Fishing ที่นอร์เวย์

ผมรัก Fly Fishing เพราะมันพาผมไปอยู่ในที่สวยที่สุดในโลกหลายๆแห่งที่น้อยคนจะได้เห็น ครั้งนี้มันพาผมไปตกปลาแซลม่อนที่แม่น้ำที่งดงามของ Norway ผมได้ไปสัมผัสกับเรื่องราวของปลาแซลม่อนที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลกใบนี้ แต่คนเรากลับมองข้ามความสำคัญของมันและทำลายความอุดมสมบูรณ์ที่ล้ำค่านี้ไปจนเหลือเพียงเศษเสี้ยวของที่เคยมีในอดีต

Fly Fishing Yellowstone

ทริปตกปลาที่ Yellowstone National Park ที่ที่หลายคนเรียกว่า Shangri-la ของนักตกปลาเทร้าท์

Most Popular

%d bloggers like this: