Sunday, October 1, 2023
Homeยิงธนูเป้าและนักธนู

เป้าและนักธนู

-

26 มิถุนายน พ.ศ. 2548 

ผมค่อยๆยกธนูไม้ไผ่ที่ยาวกว่า 2 เมตรขึ้นเหนือศรีษะ ด้วยท่วงท่าที่ฝึกมาตลอด 3 วันก่อนหน้านี้

เราอยู่กลางสนามหญ้ากว้าง เป้าสำหรับหยุดลูกธนูทำจากฟางอัดตั้งอยู่บนขาตั้งห่างออกไปเพียงไม่เกิน 3 เมตร

ผมลดคันธนูลงมาที่ระดับสายตาช้าๆ พร้อมกับที่แขนซ้ายเหยียดตรงดันคันธนูไปข้างหน้าและมือขวาน้าวสายและลูกธนูไปด้านหลัง

“พั๊บ” ลูกธนูหลุดไปจากสายและพุ่งเข้าหาเป้าตรงหน้า

เราทั้ง 2 คนที่เข้ามายิงพร้อมๆกัน หันขวาเตรียมจะเดินออกเพื่อให้นักเรียนชุดต่อไป เข้ามายิง “ธนูดอกแรก”​ของพวกเขา

แต่ก่อนที่เราจะเดินออกไป เซ็นเซ คันจูโร่ ชิบาตะ ที่นั่งอยู่บนเวที ก็เอ่ยขึ้นว่า

“เดี๋ยวก่อน” 

เซ็นเซ ลุกขึ้นจากเก้าอี้ เดินเข้ามาใกล้แล้วพูดกับผมว่า 

“ลองยิงให้ดูอีกสักดอกซิ”


ผมเริ่มที่จะสนใจยิงธนูจากการอ่านหนังสือที่ชื่อว่า “Zen in the Art of Archery” เขียนโดย Eugen Herrigel หนังสือเล่มนี้น่าสนใจมากเพราะเป็นการนำเสนอมุมมองของ “คนนอก” ที่มีโอกาสได้สัมผัสปรัชญาของการยิงธนูคิวโด

ผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญาชาวเยอรมันได้เดินทางไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อสอนที่มหาวิทยาลัยโตเกียวในช่วงหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 1 จบไปได้ไม่นานนัก

Eugen มีความคิดอยากจะศึกษาปรัชญาของชาวตะวันออกโดยเฉพาะปรัชญาศาสนาพุทธนิกายเซนของชาวญี่ปุ่น 

แต่เมื่อถามเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่น ทุกคนยืนยันเหมือนกันหมดว่า ไม่มีทางที่ชาวตะวันตกจะสามารถศึกษาและทำความเข้าใจปรัขญาเซนได้ ทางเดียวที่อาจจะพอเข้าถึงได้คือการศึกษาและฝึกฝนผ่านศิลปะของเซนแขนงใดแขนงหนึ่ง

ในขณะที่ภรรยาสนใจเข้าเรียนการจัดดอกไม้ Eugen เลือกที่จะเรียนยิงธนูญี่ปุ่นที่เรียกว่าคิวโด (Kyudo) เพราะคิดว่าน่าจะใกล้เคียงกับการยิงปืนยาวที่เขาชำนาญอยู่แล้ว

แต่ไม่นานนัก เขาก็พบว่าเขาคิดผิด


บทเรียนแรกที่กลายเป็นสิ่งท้าทายสำหรับ Eugen คือการน้าวสายธนูแล้วค้างนิ่งไว้โดยผ่อนคลายและไม่เกร็งกล้ามเนื้อ ขณะที่ลูกศิษย์ชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆสามารถทำได้ในเวลาไม่นาน Eugen ใช้เวลาถึง 1 ปี ก็ยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

จนเมื่อ Eugen แทบจะยอมแพ้เลิกล้มความตั้งใจ เซ็นเซ Awa Kenzo จึงเริ่มสอนการฝึกลมหายใจเข้าออกลงไปยังหน้าท้องน้อยเป็นจังหวะช้าๆเช่นเดียวกับการหายใจเพื่อทำสมาธิในพุทธศาสนา

เซ็นเซ Awa Kenzo

เมื่อสัมพันธ์การหายใจนี้เข้ากับการน้าวสายธนู Eugen จึงสามารถดึงธนูโดยที่ผ่อนคลายได้ นับเป็นบทเรียนสำคัญบทแรกของเขาเกี่ยวกับปรัชญาตะวันออกที่เขาไม่สามารถหาเหตุผลอธิบายได้ และถ้าหากเซ็นเซแนะนำก่อนหน้านั้นเขาก็คงไม่ยินดีที่จะเชื่อ


เมื่อน้าวสายได้แล้ว เขาก็เจอกับกำแพงขั้นที่ 2 ที่ยากลำบากกว่าเดิมมาก คือการยิงลูกธนูออกไปโดยไม่ตั้งใจปล่อยมือจากสายธนู

ทุกครั้งที่เขาปล่อยสายธนูลั่นออกไป คันธนูจะสั่นสะท้านจนตัวเขาเขย่าไปทั้งร่าง จากประสบการณ์ที่เคยยิงปืนยาวมาก่อน Eugen เชื่อว่าการจะยิงธนูเข้าเป้าได้ดีจะต้องมีการปล่อยสายและลูกธนูออกไปอย่างนุ่มนวล 

ความคิดของเขาวกวนอยู่เพียงว่าเขาควรกำสายธนูแน่นแค่ไหน เพราะถ้ากำเบาไปสายธนูก็จะหลุดออกจากมือก่อนที่จะน้าวสายได้เต็มที่ ถ้ากำแน่นไปก็ไม่สามารถปล่อยออกได้อย่างนุ่มนวล จนต้องเอ่ยปากถามเรื่องนี้กับเซ็นเซ

“คุณต้องกำสายธนู เหมือนกับที่เด็กทารกกำนิ้วของคนที่ยื่นเข้าไปให้ ซึ่งทุกคนจะประหลาดใจว่ามือเล็กๆสามารถกำได้แน่นขนาดนั้น และเมื่อปล่อยก็เป็นการปล่อยออกทันทีไม่มีการชะงักหรือสะดุด

รู้มั๊ยว่าทำไม

เพราะเด็กไม่ได้คิดว่าจะปล่อยมือเพื่อไปจับอย่างอื่น มันเป็นการปล่อยโดยไม่มีการคิดตริตรองและไม่มีความมุ่งหมาย”

Eugen เพียรพยายามอยู่อีกนานนับเดือนก็ไม่เป็นผล ในขณะที่ลูกศิษย์ชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆก้าวหน้าไปเรื่อย

สิ่งที่ทำให้ Eugen ซึ่งเป็นชาวตะวันตกเข้าถึงคิวโดและปรัชญาของเซนได้ยากก็คงจะเป็นเพราะพื้นฐานความคิด

การศึกษาและพื้นฐานความคิดของชาวตะวันตกนั้นมุ่งไปที่การหาเหตุผลและคำอธิบายเพื่อเป็นทางลัดสู่ความเข้าใจและความสำเร็จ

ในขณะที่การสอนของวัฒนธรรมตะวันออกดั่งเดิมนั้นสอนโดยครูทำให้ดูและนักเรียนฝึกทำตามตัวอย่างนั้นด้วยความเชื่อมั่นในครู ครูจะช่วยชี้แนะด้วยคำพูดเป็นบางครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของปรัชญาเซนที่ไม่สามารถอธิบายด้วยทำพูดให้เข้าใจได้ถ้าผู้ฟังยังไม่เคยสัมผัส “สิ่งนั้น” ด้วยตัวเอง และการเข้าถึงนั้นก็มิใช่เพียงการเข้าใจ แต่จะต้องเป็นการรับรู้ด้วยตัวเองจากการฝึกฝนที่ยาวนาน

“หยุดคิดเกี่ยวกับการยิง” เซ็นเซเอ่ยขึ้นเมื่อเห็น Eugen สับสนและหงุดหงิด

“ที่คุณยังทำไม่ได้ก็เพราะคุณยังไม่ปลดปล่อยความเป็นตัวตน คุณต้องหัดเรียนรู้จากใบไผ่ ใบไผ่จะโค้งต่ำลงเรื่อยๆเพราะน้ำหนักของหิมะ และทันใดนั้นหิมะก็ไหลหลุดออกไปโดยที่ใบไผ่ไม่ต้องสะบัด”

ด้วยความว้าวุ่น Eugen จึงเริ่มวิเคราะห์เอาเองว่า การที่จะปล่อยสายธนูออกไปให้นุ่มนวลนั้นจะต้องมาจากการค่อยๆคลายนิ้วที่กำสายธนูออกอย่างช้าๆ และเขาก็แอบฝึกการยิงแบบนั้นด้วยตัวเองในช่วงวันหยุดยาว 

มาถึงตรงนี้คงต้องอธิบายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจอีกนิดว่า การยิงธนูแบบญี่ปุ่นนั้นจะใช้ถุงมือหนังที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ ที่ด้านในของนิ้วโป้งจะมีการเสริมให้หนาและแข็งโดยมีบากสำหรับเกี่ยวสายธนู เมื่อนิ้วโป้งเกี่ยวสายธนูแล้ว นิ้วชี้และนิ้วกลางก็จะโอบนิ้วโป้งไว้อีกชั้น

ถุงมือหนังที่ใช้ยิงธนูคิวโด

เมื่อกลับเข้ามาฝึกกับเซ็นเซอีกครั้ง Eugen ก็ยิงในแบบที่แอบฝึกมาให้เซ็นเซดูด้วยความภาคภูมิใจ

“ลองยิงให้ดูอีกสักดอกซิ” เซ็นเซกล่าวทันทีหลังจาก Eugen ยิงธนูลูกแรก

หลังจาก Eugen ยิงธนูลูกที่ 2 เซ็นเซก็เดินปราดเข้ามา คว้าคันธนูออกจากมือและไล่ออกจากสำนัก

Eugen ต้องตามขอขมาอยู่นานกว่าจะได้รับกลับเข้ามาฝึกอีกครั้ง และต้องสัญญาว่าจะไม่ “โกง” เช่นนั้นอีก

เมื่อยังเผชิญกับปัญหาของการ “ปล่อย”​สายอยู่ เซ็นเซ จึงชี้แนะเพิ่มเติม

“คุณจะต้องไม่เปิดมืออกอย่างตั้งใจ เราเพียงต้องดึงสายธนูไว้ในจุดแรงดึงสูงสุดแล้วรอ ปล่อยวางตัวตนของคุณ เมื่อไม่มีอะไรที่เป็นของคุณเหลืออยู่ จะมีเพียงความตึงสายที่ไร้ความมุ่งหมาย มันจะเสมือนว่าสายธนูนั้นวิ่งผ่านนิ้วโป้งที่น้าวสายอยู่ออกไป” 

แต่ด้วยพื้นฐานความคิดของชาวตะวันตก Eugen ก็ยังคงเพียรถามเพื่อเข้าใจในเหตุผล

“ลูกธนูจะยิงออกไปได้อย่างไร ถ้าผมไม่ได้ยิงมัน”

“มันจะยิงออกไปเอง”

“มันคือใคร”

“เมื่อถึงเวลาที่คุณเข้าใจสิ่งนี้ คือเวลาที่คุณไม่จำเป็นต้องให้ผมชี้แนะอีกต่อไป”

วันหนึ่งหลังจากการสนทนานั้นผ่านไปเนิ่นนาน

“มันเพิ่งยิงธนูดอกนั้นออกไป” เซ็นเซกล่าวพร้อมกับโค้งคำนับ เมื่อ Eugen ยิงธนูลูกหนึ่ง

“ลูกธนูลูกนั้นออกไปโดยคุณไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง คุณไม่ได้มีความคิด และไม่มีความมุ่งหมายใดๆในขณะที่แรงดึงสูงสุด ลูกธนูลูกนั้นจึงยิงออกไปเฉกเช่นผลไม้ที่สุกได้ที่และร่วงหล่นลงจากต้น”

หลังจากลูกธนูลูกนั้น Eugen สามารถสัมผัสกับ “สิ่งนั้น” ได้อีกเป็นครั้งคราว โดยที่เขาไม่สามารถอธิบายได้ เพียงแต่สามารถบอกความแตกต่างของ “ดอกที่ใช่” ได้อย่างชัดเจน

“การฝึกขั้นต่อไปคือการยิงเป้า” เซ็นเซกล่าว


และนั่นก็กลายเป็นกำแพงขั้นที่ 3 สำหรับ Eugen

หลายปีที่ผ่านมา Eugen เพียงยิงใส่ก้อนฟางที่อยู่ข้างหน้าไม่เกิน 3 เมตร ต่อจากนี้ไปเขาจะได้เริ่มยิงในสนามธนูจริงๆ ซึ่งเป้าวางอยู่ไกล 28 เมตร

สนามธนูคิวโด

อีกครั้งที่เวลาผ่านไปเนิ่นนาน ลูกธนูของ Eugen ก็ยังคงเปะปะไปทั่วและเขาก็เริ่มมีคำถามว่า ถ้าเซ็นเซไม่สอนให้เล็งแล้วเขาจะยิงถูกได้อย่างไร

“คุณเอาความกังวลที่ไม่จำเป็นมาใส่ตัว” เซ็นเซตอบ

“เอาเรื่องการยิงให้โดนเป้าออกไปจากใจคุณ คุณสามารถจะเป็นมาสเตอร์ได้แม้ว่าจะยิงไม่โดนเป้าแม้แต่ลูกเดียว ลูกธนูที่ปักโดนเป้าเป็นเพียงสิ่งสะท้อนภายนอกที่ยืนยันว่าการไร้จุดหมายและการละทิ้งตัวตนของคุณได้ไปถึงขีดสุดแล้ว”

แต่ด้วยความเป็นชาวตะวันตก Eugen ยังไม่สามารถรับคำชี้แนะนี้และเอาความกังวลออกจากความคิดได้ 

“ผมเข้าใจได้ว่าท่านกล่าวถึงเป้าหมายภายในที่จะต้องไปให้ถึง แต่จะเป็นไปได้อย่างไรที่เป้าภายนอกที่เป็นแผ่นกระดาษกลมๆที่ยิงโดนโดยที่ไม่มีการเล็งจะเป็นสิ่งยืนยันของสิ่งที่เกิดขึ้นภายในได้ ความสัมพันธ์นี้เป็นสิ่งที่ผมไม่สามารถเข้าใจได้”

“กระบวนการนั้นไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยความเข้าใจ” เซ็นเซตอบ

“ถ้าเช่นนั้นอาจารย์ก็ต้องสามารถยิงโดนเป้าได้โดยผูกผ้าปิดตาซิครับ” เป็นคำถามที่ค่อนข้างท้าทายของ Eugen ที่กำลังจะหมดความอดทนกับคำตอบที่เขาไม่สามารถเข้าใจได้

“มาเจออาจารย์ตอนเย็นนี้”​ เซ็นเซตอบเพียงสั้นๆ

ค่ำวันนั้น เมื่อพบกัน เซ็นเซไม่กล่าวอะไรมาก เพียงแต่จุดเทียนเล่มเล็กๆให้ Eugen ไปวางไว้ที่หน้าเป้า ท่ามกลางความมืดสนิท แสงอันหริบหรี่นั้นแทบจะมองไม่เห็นเมื่อยืนอยู่ที่เส้นยิง ทุกอย่างในสนามธนูนั้นมืดมิดราวกับคุลมด้วยผ้ากำมะหยี่สีดำ

เซ็นเซ “ร่ายรำ” กระบวนท่าที่งดงามของการยิงคิวโดแล้วจึงยิงลูกธนูลูกแรกฝ่าความมืดออกไป และตามด้วยลูกที่สอง

เมื่อ Eugen เปิดไฟและเดินไปที่เป้า เขาก็พบว่าลูกธนูลูกแรกเขาที่ตรงกลางเป้า และลูกธนูลูกที่ 2 ผ่าท้ายลูกแรกแยกออกก่อนที่จะเข้าไปปักเบียดกันอยู่บนเป้า

เหตุการณ์นั้นทำให้ Eugen หลุดพ้นจากความคิดที่สับสนและความคลางแคลงใจที่มี เชื่อมั่นในเส้นทางที่เซ็นเซชี้แนะและมุมานะที่จะฝึกฝนต่อไป โดยไม่กังวลว่าลูกธนูจะไปที่ไหน จะปักเป้าหรือไม่

และเซ็นเซเองก็เสริมความมั่นใจให้ด้วยการที่ไม่เคยมองไปที่เป้าแต่ไม่เคยละสายตาไปจากนักธนู

การฝึกฝนเช่นนี้ดำเนินต่อไปอีกหลายเดือน

จนกระทั่งวันหนึ่งที่เซ็นเซส่งเสียงอุทานออกมาหลังจากที่ Eugen ยิงลูกธนูลูกหนึ่งออกไป

“นั่นคือดอกที่ใช่”

เมื่อ Eugen เหลือบตาไปมองเป้าเขาจึงเห็นว่าลูกธนูนั้นปักอยู่ที่ขอบเป้า

ในการฝึกต่อๆมา Eugen ก็ได้สัมผัสถึง “ดอกที่ใช่” อีกเป็นครั้งคราว และ “ดอกที่ไม่ใช่” อีกมากมาย

หากแต่เพียงเมื่อ Eugen แสดงความเบิกบานพึงพอใจบนใบหน้ากับ “ดอกที่ใช่” เซ็นเซก็จะทักว่า

“มาถึงขั้นนี้ คุณควรจะรู้ดีแล้วว่า คุณไม่ควรจะอาวรณ์กับดออกที่ยิงไม่ดี และไม่ควรดีใจกับ “ดอกที่ใช่”  คุณควรทำตัวให้เป็นอิสระอยู่เหนือความสุขและความเสียใจ

นี่คือสิ่งสำคัญที่จะต้องฝึกต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น”

และเซ็นเซก็ถาม Eugen บ้างว่า

“คุณเข้าใจหรือยัง ที่อาจารย์บอกว่า มันจะยิงไปเอง มันจะโดนเป้าเอง”

“ผมไม่เข้าใจอะไรอีกแล้ว แม้แต่เรื่องง่ายๆก็ดูสับสน เป็นผมที่ดึงสายธนู หรือเป็นธนูที่ดึงผมเข้าไปสู่จุดที่แรงดึงสูงสุด ,​ผมยิงโดนเป้า หรือ เป้ายิงโดนผม

คันธนู, ลูกธนู และตัวตนดูเหมือนหลอมละลายเป็นหนึ่งเดียว ไม่สามารถแยกแยะออกได้

แม้แต่ความต้องการที่จะแยกแยะก็มลายหายไปสิ้น

เมื่อผมหยิบธนูขึ้นมายิง ทุกอย่างก็ชัดเจน ตรงไปตรงมา และเรียบง่ายอย่างที่สุด”

เซ็นเซตอบเพียงสั้นว่า

“ในที่สุด สายธนูก็ได้ผ่าผ่านตัวตนของคุณแล้ว”

Eugen Herrigel

ผมอ่านหนังสือ “Zen in the Art of Archery” อยู่หลายรอบ หลายส่วนที่ไม่เข้าใจ หลายส่วนก็นำไปสู่ความสงสัยและสนใจอย่างแรงกล้าที่จะได้เรียนรู้และสัมผัสการยิงธนูคิวโดสักครั้ง

และโอกาสนั้นก็มาถึง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548 ผมเจอว่ามีการจัดสอนยิงธนูคิวโดขึ้นในรัฐเมน สหรัฐอเมริกา ซึ่งตอนนั้นผมก็ทำงานอยู่ในรัฐที่ไม่ไกลนักพอที่จะขับรถไปถึงได้

การสอนยิงธนูคิวโดครั้งนี้จัดขึ้นโดยสำนักคิวโดในรัฐโคโรลาโด้ ซึ่งก่อตั้งโดย เซ็นเซ คันจูโร่ ชิบาตะ ที่ 20 (Kanjuro Shibata XX Sensei)

Kanjuro Shibata XX Sensei

ตระกูลชิบาตะนั้นได้ สืบทอดตำแหน่งผู้ทำธนูและนักธนูของโชกุนและจักรพรรดิ์ญี่ปุ่น (Royal Bow Maker and Archer) มาถึง 21 ชั่วคนเป็นเวลาเกือบ 500 ปีมาจนถึงปัจจุบัน และเคยเป็น Head Master ของสำนักยิงธนูในเมืองเกียวโตมายาวนานกว่า 100 ปี

เซ็นเซ คันจูโร่ ชิบาตะ ที่ 20 เองนั้นเคยเป็นผู้ทำธนูให้จักรพรรดิ์ญี่ปุ่นในช่วงปี 1959 จนถึง 1994 ก่อนที่จะส่งต่อหน้าที่นี้ให้กับบุตรบุญธรรม 

ในช่วงปี 1980 เซ็นเซ คันจูโร่ ชิบาตะ ที่ 20 ได้รับเชิญให้มาเผยแพร่การยิงคิวโดให้กับคนอเมริกัน และได้ก่อตั้งสำนักธนู Zenko แห่งแรกขึ้นที่โคโรลาโด้ และสำนักธนูคิวโดอื่นๆอีกว่า 20 แห่งในอเมริกาและคานาดา 

ตลอดเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา การฝึกสอนคิวโดในญี่ปุ่นนั้นแยกออกเป็นหลายสำนัก หลายสาย บางส่วนเน้นสอนการยิงทางเทคนิคเพื่อความแม่นยำ แต่สำนักของ เซ็นเซ คันจูโร่ ชิบาตะ นั้นไม่ได้เน้นการยิงแข่งขันไม่มีการสอบเลื่อนขั้น แต่เน้นการใช้การยิงคิวโดเพื่อขัดเกลาจิตใจ ซึ่งคล้ายกับแนวทางของ Awa Kenzo เซ็นเซของ Eugen Herrigel 

การสอนคิวโดที่ผมมีโอกาสได้ไปเรียนนั้นเรียกว่า “First Shot” คือคอร์สสั้นๆที่เปิดโอกาสให้คนที่สนใจและไม่เคยมีพื้นฐานเลยได้สัมผัสกับการยิงคิวโด โดยใช้เวลา 4 วันจากเบื้องต้นไปจบที่การ “ยิงธนูดอกแรก”

เราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียนรู้และฝึกขั้นตอนการยิงคิวโดที่แบ่งเป็น 7 ขั้นตอน (บางสำนักอาจจะมี 8 หรือ 10) ซึ่งแต่ละขั้นก็มีรายละเอียดมากมาย

  1. Ashibumi (การวางเท้า) ซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงของการยิงธนู โดยที่เท้าทั้ง 2 ข้างจะห่างกันประมาณ 1 ช่วงลูกธนู และปลายเท้าแบะออก
  2. Dozukuri (การจัดท่า) การวางคันธนู เสียบลูกธนูเข้ากับสายและจัดร่างกายให้ถูกต้อง
  3. Yukamae (เตรียมธนู) ขั้นตอนที่จะจัดมือขวาที่ใส่ถุงมือเกี่ยวเข้ากับสายธนูและประคองลูกธนู จัดมือซ้ายที่จับธนูให้ถูกต้อง และหันหน้าไปยังเป้าเมื่อพร้อม
  4. Uchiokoshi (ยกธนู)  ยกธนูขึ้นเหนือศรีษะเพื่อเตรียมน้าวสายในขั้นต่อไป
  5. Kai (น้าวสาย) น้าวสายธนูโดยการเหยียดแขนซ้ายตรง มือขวาดึงสายมาด้านหลังจนถึงจุดแรงดึงสูงสุด
  6. Hanare (ปล่อย) สายธนูหลุดออกไปเองและส่งลูกธนูออกไป
  7. Zanshin (คงอยู่) สงบนิ่งหลังจากที่ลูกธนูยิงออกไป
ขั้นตอนในการยิง Kyudo ซึ่งอาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละสำนัก

ขั้นตอนเหล่านี้ถูกสอนและฝึกโดยผู้ช่วยสอนทีละขั้นช้าๆก่อนที่จะนำเข้ามาร้อยเรียงต่อกันและผสมผสานเข้ากับการกำหนดลมหายใจซึ่งเป็นส่วนสำคัญของทุกขั้นตอน

การสอนและการฝึกดำเนินไปโดยไม่มีการน้าวสาย หรือยิงออกไปจนกระทั่งเย็นของวันที่ 3

ในตอนสายของวันที่ 4 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย คือพิธี “First Shot” ที่นักเรียนแต่ละคนจะได้เข้าไปยิงธนูลูกแรกของพวกเขาต่อหน้า เซ็นเซ ที่นั่งดูอยู่

Kanjuro Shibata XX Sensei

เรายืนกันอยู่บนสนามหญ้ากว้าง “นักเรียนใหม่” เดินถือธนูเข้าไปที่หน้าเป้าครั้งละ 2 คนโดยมีเป้าฟางตั้งอยู่บนขาตั้ง ห่างออกไปไม่เกิน 3 เมตร 

เมื่อถึงลำดับ ผมก็เดินเข้าไปยืนที่หน้าเป้า รวบรวมสติปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้เรียนมา

4 ขั้นตอนแรกเมื่อทำอย่างเชื่อช้า,​ ต่อเนื่อง ราวกับการ “ร่ายรำ” และเมื่อผสานเข้ากับการกำหนดลมหายใจก็จะช่วยให้ใจเราเข้าไปสู่ความ ความสงบนิ่งก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ Kai การน้าวสายธนู

ผมยกธนูที่มีลูกธนูพาดสายอยู่ขึ้นเหนือศรีษะ แล้วค่อยๆลดลงช้าๆ พร้อมกับที่แขนซ้ายเหยียดตรงไปข้างหน้า มือขวาน้าวสายและลูกธนูไปข้างหลัง 

“พั๊บ”​ลูกธนูหลุดออกไปจากสายพุ่งเข้าหาเป้าตรงหน้า 

ผมหันขวาเตรียมจะเดินออก แต่ก่อนที่จะเริ่มเดิน เซ็นเซ คันจิโร่ ชิบาตะที่นั่งดูอยู่ ก็เอ่ยขึ้นว่า

“เดี๋ยวก่อน”

เซ็นเซ ลุกขึ้นแล้วเดินเข้ามาใกล้ๆแล้วพูดกับผมว่า 

“ลองยิงให้ดูอีกสักดอกซิ”

ผมเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นที่ 1 อีกครั้ง

“พั๊บ ลูกธนูเข้าไปปัก เข้าไปที่เป้าฟาง

เซ็นเซอุทานเบาๆ 

“งดงามมาก” และผมก็ได้เห็นรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความเมตตาบนใบหน้าของเซ็นเซ

ท่ามกลางความงุนงงของครูผู้ช่วยสอน และนักเรียนคนอื่นๆ เซ็นเซก็กล่าวกับผมว่า

“คุณไปยิงเป้าที่สนามธนูทางโน้นได้เลย”


เดือนเมษายน พ.ศ. 2563

ต้นประดู่ออกดอกสีเหลืองเต็มต้น ดอกร่วงโปรยปรายลงมาราวกับเม็ดฝน ลงมาสู่สนามธนูที่ผมยืนสงบนิ่งอยู่

เมื่อ 15 ปีก่อนผมไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อผมยิงธนู 2 ดอกนั้นต่อหน้าเซ็นเซ และก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ในวันนี้ 

ด้วยพื้นฐานการศึกษาแบบตะวันตก เช่นเดียวกับ Eugen Herrigel ผมพยายามหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายสิ่งเหล่านี้ แม้บางครั้งรู้สึกเหมือนได้คำตอบ แต่มันก็ไม่เคย “ใช่”

ผมอ่านหนังสือ “Zen in the Art of Archery” อีกหลายรอบและหนังสือยิงธนูเล่มอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน แม้จะไม่ได้ยิงธนูคิวโดอีกเลยหลังจาก “วันนั้น”​แต่ใน 15 ปีที่ผ่านมานี้ผมได้ยิงธนูอื่นๆมาแทบจะทุกรูปแบบ

มาถึงวันนี้ ผมหยุดแล้วที่จะพยายามเข้าใจ หยุดแล้วที่จะพยายามอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจ  เพราะกระบวนการภายในบางอย่างนั้นไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยความเข้าใจ

เมื่อหยิบธนูขึ้นมายิง และสัมผัสสิ่งนั้นด้วยตัวเอง ทุกอย่างก็ชัดเจน ตรงไปตรงมา และเรียบง่ายอย่างที่สุด

ผมเริ่ม “ร่ายรำ” ขั้นตอนการยิงธนูขึ้นอีกครั้งอย่างช้าๆ

ธนูในมือผมไม่ใช่คันคิวโด และดูเหมือนจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่มันก็ไม่แตกต่าง

อย่างหนึ่งที่ผมค้นพบใน 15 ปีที่ผ่านมาก็คือ ในเมื่อธนูเป็นเพียงวัตถุภายนอกที่จะยิงเข้าสู่เป้าภายในและเป้านั้นสามารถยิงให้โดนได้แม้ไม่มีธนู แล้วชนิดของธนูจะมีความสำคัญเช่นใดเล่า

“พั๊บ”​ลูกธนูดอกนั้นหลุดออกไปไม่ต่างกับดอกประดู่ที่หลุดปลิวออกจากขั้ว โดยที่ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ผมบอกได้ถึง “ดอกที่ใช่” เมื่อลูกธนูนั้นพุ่งออกไปจากความว่างเปล่า ไร้ความมุ่งหมาย สงบนิ่งไร้ตัวตน และ เป้ากระดาษก็เป็นเพียงสิ่งสะท้อนภายนอกที่ยืนยันอย่างซื่อสัตย์ทุกครั้ง

และ แน่นอน ผมบอกได้ถึง “ดอกที่ผิดพลาด” อีกนับไม่ถ้วน โดยไม่ต้องเหลือบมองเป้า

เมื่อมีเป้าอยู่ข้างหน้า ผู้คนห้อมล้อม การเข้าสู่สภาวะไร้ความมุ่งหมาย ดูเหมือนไม่ง่ายนักที่จะทำได้ทุกครั้ง

ที่ยากกว่านั้นคือการไม่เสียใจกับดอกที่ผิดพลาดและไม่เบิกบานกับดอกที่ใช่ แต่นั้นก็ไม่ได้ต่างจากสิ่งที่เราต้องเผชิญในชีวิตจริงมิใช่หรือ

ผมจะคงยิงธนูต่อไป เพราะในที่สุดแล้ว เราก็มิได้ยิงธนูเพียงเพื่อให้ลูกธนูปักเป้ากระดาษ

แต่เพื่อให้สายธนูผ่าผ่านตัวตนของผมไป

อ่านบทความเบื้องต้นเกี่ยวกับธนูทุกชนิดได้ที่หน้านี้

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

นิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้หนังสือรายเดือนของ “นิยมไพรสมาคม” มาจากมิตรสหายหลายเล่มและกำลังทะยอยอ่านอย่างบรรจง (เพราะหนังสือเหล่านี้มีอายุ 65 ปี แทบจะกรอบเป็นผงอยู่แล้ว)   ผมอ่านแล้วตื่นตะลึงมากครับ ผมเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลมาบ้างว่าท่านสร้างสรรค์ส่งดีๆไว้มากมาย แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องนิยมไพรสมาคมมากนัก  และดูเหมือนว่าเรื่องราวของสมาคมนี้ได้เลือนหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยแล้ว  เลยขอมาเล่าเรื่องหลายอย่างสู่กันฟังถึงประวัติศาสตร์สำคัญของการอนุรักษ์ในบ้านเราที่กำลังจะลืมเลือนไป ในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยยังไม่รู้จักกับคำว่า “อนุรักษ์” ใดๆเลย (ในหนังสือก็ยังไม่มีคำนี้) ตอนนั้นใครอยากจับจองที่ตรงไหนก็ไปแจ้งที่อำเภอแล้วก็ลงมือถาง สัตว์ป่าทุกชนิด (ยกเว้นช้าง) ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครอง ใครอยากล่าอะไรด้วยวิธีไหน...

Editor ใช้ Award เดินป่า โดยตาเกิ้น

พวกเราที่ ThailandOutdoor มีความโชคดีที่เราได้มีโอกาสทดสอบทดลองอุปกรณ์กลางแจ้งมากมาย และก็จะมีของบางอย่างที่เราทดสอบแล้วชอบจนซื้อไว้ใช้เอง เราเรียกของเหล่านั้นว่า "Editor ใช้ Award"  และนี่คือ "Editor ใช้ Award" ปี 2022 จากตาเกิ้นครับ VDO ยาวนะครับเพราะอธิบายกันทุกอย่างรวมถึงเหตุผลที่เลือกใข้ในสถานการณ์ต่างๆกัน เราแบ่งเป็นช่วงๆให้เลือกดูกันได้ครับ ตามนี้เลย บางคนอาจจะบอกว่าผมใช้แต่ของแพงๆหรูๆ ก็อาจจะจริง หรือไม่ แล้วแต่มุมมองครับ ทุกอย่างในชีวิตเราล้วนแล้วแต่ขึ้นกับว่าเราให้ลำดับความสำคัญกับอะไร  สำหรับผมแล้ว ผมไม่ได้ซื้อของอื่นหรูหราอะไร แต่การออกมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การเดินป่า คือความสุขในชีวิตผม ผมจึงเลือกใข้แต่ของดีๆ...

ไปเรียนหลักสูตรปืนพกต่อสู้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

ผมเขียนบทความนี้ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2552 เขียนข้างหลังกระดาษสำเนา ป.4 (ทะเบียนปืน) ในช่องยิงทันทีที่เรียนเสร็จ เขียนด้วยความประทับใจของการสอนยิงปืนในคอร์สนี้ ถึงวันนี้แม้ว่าหลายๆอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ผมยังคงข้อความทุกอย่างที่เขียนในบทความนี้ไว้อย่างเดิมรวมทั้งรูปภาพเดิมที่อาจจะไม่ชัดนัก ด้วยความตั้งใจปัจจุบันโรงเรียนสอนยิงปืนแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมยิงปืนเขาสามยอด ยังตั้งอยู่ที่สถานที่เดิมในค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี สอนมาต่อเนื่องถึง 14 ปีแล้วถ้านับถึงวันนี้ หลักสูตรพัฒนาไปมาก และมีถึง 8 หลักสูตรให้เรียนได้ตามลำดับขั้น และยังสอนโดยหัวหน้าชุดครูท่านเดิมที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะให้คนไทยได้เรียนรู้การใช้อาวุธปืนได้อย่างถูกต้องผมเชื่อว่าที่นี่คือโรงเรียนสอนยิงปืนที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถเรียนได้ในประเทศไทย ผมเขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้ที่ตอนท้ายของบทความนี้ครับ ในสังคมที่บิดเบี้ยวมากขึ้นทุกวัน ดูเหมือนพวกเราสุจริตชนจะต้องเสี่ยงกับภัยคุกคามรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโจร...

ชีวิตผ่านไปเร็วมากและงดงาม Next Thing You Know

ผมชอบฟังเพลง Country American ครับ เพราะหลายๆเพลงมีเนื้อเพลงที่ดีมาก สามารถเล่าเรื่องราวได้ในเพลงเดียว คำพูดที่เลือกมาใช้ในเนื้อเพลงก็บรรจงคัดสรรมา บางครั้งถ้าตั้งใจฟังเพลงสักเพลงหนึ่งก็ราวกับได้อ่านหนังสือดีๆกินใจสักบท เอาเพลงนี้มาฝากกันครับ Next Thing You Know โดย Jordan Davis ตั้งใจจะเก็บเพลงนี้ไว้สำหรับวันครบรอบแต่งงานปีหน้า แต่ว่าเปลื่ยนใจ เอามาเขียนฉลองวันเกิดภรรยาผมเมื่อวานนี้ก็แล้วกันครับ Next Thing You Know เล่าเรื่องราวเหตุการสำคัญในชีวิตคู่ของใครสักคน อย่างชนิดที่ใครฟังก็คงได้ภาพของตัวเองและคนรักลอยขึ้นมาในใจ และก็คงคิดเหมือนกันว่า ทุกอย่างที่สวยงามในชีวิตนี้ช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน ขณะที่ลูกชายผมอาจจะกำลังอยู่ในเนื้อเพลงท่อนแรก...

Most Popular

%d bloggers like this: