จากการที่ได้ท่องเที่ยวไปในที่ห่างไกล นอกจากธรรมชาติพิศุทธิ์ที่หดหายไปอย่างน่าตกใจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกเสียดายมากๆคือการสูญหายของวัฒนธรรมท้องถิ่น

คำหรูหราที่พูดกันว่าวัฒนธรรมนั้น ไม่ใช่แค่ภาษา, การแต่งกายหรือการละเล่น แต่รากฐานของวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดนั่นฝังอยู่ในการดำรงอยู่ของชีวิต นั่นก็คืออาหารและการกิน
สิ่งที่สะกิดใจผมมากๆจนต้องเอาเรื่องนี้มาเขียนก็คือรายการทีวีที่ผมดูแล้วชื่นชอบมาก ชื่อว่า “Gourmet Goes Tribal” (ทางช่อง Nat Geo People)

มันคือเรื่องราวของเชฟชาวโคลัมเบีย Pablo Naranjo Agular ที่เดินทางไปทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เพื่อสัมผัสอาหารและวัฒนธรรมการกินของชนเผ่าต่างๆในละแวกนั้น
วัฒนธรรมอาหารนั้นลึกซึ้งกว่าอาหารในจานมากนัก แต่มีรากฐานมาจากวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณหรือเนื้อสัตว์ที่หาได้ในธรรมชาติของท้องถิ่น เอามาสรรค์สร้างเป็นอาหารเฉพาะถิ่นที่มีความงดงามมากๆ

ในรายการนี้ เชฟพาโบลพาเราไปสัมผัสวิถีชีวิต วิถีการทำอาหารของชนเผ่า แล้วแต่ละตอนจะจบด้วยการที่เขานำเอาวัตถุดิบและความรู้ที่เขาได้จากท้องถิ่นนั้นมาปรุงเป็นอาหารด้วยกองไฟแบบง่ายๆแล้วแบ่งปันกับผู้คนในพื้นที่

การสูญหายของวัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นเร็วมากในยุคที่ Internet และ Social Media ซอกซอนเข้าไปถึงในทุกพื้นที่ โดยที่หลายคนอาจจะไม่ได้นึกถึงและคนส่วนใหญ่ไม่เคยให้ความสำคัญ
Social Media สร้างสิ่งที่เราเรียกว่า Globalisation ของ “ค่านิยม” อย่างรวดเร็วมาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ผู้คนก็อาจจะหยิบเอาความชื่นชอบของคนในอีกมุมโลกมาเป็นของตัวเอง และมันเป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะละเลยสิ่งที่มีค่าใกล้ตัวเพียงเพราะคุ้นเคย อาหารเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดอันหนึ่ง

ขณะที่อาหารไทยดังไปทั่วโลก แต่เป็นที่รู้จักกันเพียงไม่กี่เมนู แม้แต่คนไทยเราเองไม่ว่าจะเดินทางไปที่มุมไหนของประเทศ เราก็กินแต่อาหารที่เราคุ้นชินไม่เคยมองหาอาหารแท้ๆของพื้นถิ่นนั้น เมื่อไม่มีคนสนใจ ร้านอาหารพื้นถิ่นจริงๆก็สูญหายกลายพันธุ์จนแทบจะหาชิมไม่ได้ ที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้นคือ คนเมืองรุ่นใหม่ๆไม่ค่อยจะมีใครเรียนรู้ที่จะทำอาหารไทยกันอีกแล้ว
สิ่งที่งดงามที่สุดที่ผมเห็นในรายการ Gourmet Goes Tribal คือสายตาของเชฟพาโบลที่แสดงออกถึงความชื่นชมให้เกียรติภูมิปัญญาท้องถิ่น และตื่นเต้นกับทุกอย่างที่เขาได้เห็น ได้ลองชิม

ดูรายการนี้แล้ว ผมมีความฝันว่า สักวันหนึ่งเราจะทำให้อาหารไทยในพื้นถิ่นจะเป็นของทรงคุณค่าที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติจะต้องเดินทางออกไปแสวงหา ผู้คนในพื้นที่จะมีรายได้จากการปลูกพืชพื้นถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านเขามาส่งขายเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร, เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวจะหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมชนบทให้คงอยู่อย่างมีค่าในตัวมันเอง

ถ้าฝันนี้จะไกลเกินไป ผมขอเริ่มจากการได้เห็นสายตาที่ชื่นชมแบบของเชฟพาโบลบนใบหน้าของคนไทยที่ได้ชิมอาหารพื้นถิ่นบ้างก็ดีใจแล้วครับ