Monday, December 11, 2023
Homeความคิดและมุมมองสังคมที่ขาดแคลนธรรมชาติ

สังคมที่ขาดแคลนธรรมชาติ

-

เส้นทางเดินเล็กๆนั้นพาเราข้างเนินเขาแล้ววกเข้าไปผ่านป่าสน

เส้นทางเทรลนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอุทยานYellowstone ที่โด่งดัง ด้วยระยะทางไม่ไกลนัก มันจะพาเราเข้าไปพบกับ Slough Creek แม่น้ำสายเล็กๆกลางป่าที่เป็นที่ไฝ่ฝันของนักตกปลาทั่วโลก  ที่นี่พาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ทั้งหลายไม่สามารถเข้าไปถึงได้ ถ้าอยากไปก็ต้องเดินไปหรือขี่ม้าไปท่านั้น เพราะนี่คือแผ่นดินที่ถูกกำหนดให้เป็นเขต Wilderness (อ่านเรื่องของ Wilderness ได้ที่นี่) แต่ใครๆก็เข้ามาเดินได้โดยที่ไม่ต้อง “ขออนุญาต” ถ้าจะเข้าไปค้างคืนก็เพียงแต่ไปขอ Permit ซึ่งออกให้ทุกคนโดยไม่ต้องมี “ดุลย์พินิจ”​เข้ามาเกี่ยวข้อง

พอเลี้ยวพ้นโค้ง เราก็เจอเพื่อนร่วมทาง 3 คน แบกเป้, ถือไม้เท้าเดินป่า และพกสเปรย์ไล่หมี ท่าทางทะมัดทะแมง พวกเขาทำให้เราสองคนรู้สึกดีที่เราไม่ได้แก่ที่สุดในเทรลนี้

ทุกคนในกลุ่มนั้นทักทายพูดคุยกับเราอย่างเป็นมิตร เดินไปคุยกันไป เทอรี่ชายสูงอายุท่าทางใจดี เล่าให้เราฟังว่า เขาและภรรยาเป็นคนจากชิคาโก้เมืองใหญ่ ตอนนี้เกษียณแล้ว ก็เลยมาทำงานระยะสั้นประมาณ 2 เดือนที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน Yellowstone เป็นแรงงานเสริมในช่วงหลังจากฤดูร้อนที่เด็กนักเรียนที่เป็นกำลังหลักกลับไปเรียนหนังสือกันหมดแล้ว พวกเขาจะทำงานอาทิตย์ละ 4 วัน และมีเวลาอีก 3 วันได้ออกมาเดินเที่ยวป่า ดูเป็นแนวชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อย

เส้นทางเริ่มวนลงต่ำ เรามองเห็นทุกหญ้าและที่ราบอยู่ไกลๆ สองข้างทางเริ่มหนาทึบด้วยป่าสนและพุ่มไม้จนเราต้องส่งเสียงดังเตือนหมีที่อาจจะอยู่แถวนั้นไม่ให้ออกมาเจอกันโดยไม่ได้ตั้งใจ ผมเองถึงกับต้องหยิบสเปรย์ไล่หมีออกมาถือไว้ในมือ

Slough Creek สวยกว่าที่เราวาดภาพไว้ในใจมาก สายน้ำเล็กๆนั้น ไหลคดโค้งผ่านทุ่งกว้าง และโอบล้อมไปด้วยเทือกเขาไกลๆ มองไปรอบตัว เราไม่เห็นสิ่งปลูกสร้างใดๆที่บ่งบอกถึงสิ่งที่มนุษย์เรียกว่า “ความซิวิไลยซ์” นอกจากสายน้ำ, ทุ่งหญ้า, ทิวเขาและท้องฟ้าแล้ว ก็มีเพียงฝูงควายป่า Bison ที่ยืนกินหญ้ากระจัดกระจายอยู่หลายฝูง

ภาพที่เราเห็นตรงหน้า คงไม่ต่างกันนักจากภาพเมื่อหลายร้อยปีก่อน ก่อนที่คนผิวขาวจะมาถึงทวีปอเมริกา

เพื่อนร่วมทางทั้ง 3 เดินเลยต่อไปยังทะเลสาบ ขณะที่เราลงไปตกปลากันที่แม่น้ำ ไม่นานนักเราก็พบปลาเทร้าท์ที่เราตามหา Yellowstone Cutthroth Trout ปลาพื้นถิ่นที่หายากของที่นี่ (รออ่านเรื่องตกปลาใน Yellowstone เร็วๆนี้ครับ) และเราสองคนก็แยกย้ายไปหามุมสงบตามสายน้ำ

ปลาเทร้าท์ตัวใหญ่นั้นลอยตัวขึ้นมาดูเหยื่อรูปแมลงเต่าทองอาหารโปรดของมันอย่างช้าๆ ก่อนจะเลี้ยวกลับลงไปสู่น้ำลึก น้ำที่ใสราวกับกระจกทำให้ผมเห็นปลาตัวนั้นและตัวอื่นๆในน้ำได้อย่างชัดเจน พวกมันก็คงเห็นผมเช่นกัน

Yellowstone Cutthroat Trout ปลาท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีประวัติน่าสนใจมาก ผมจะเล่าให้ฟังอีกครั้งครับ

ผมเดินย้อนน้ำไปจนสุดทุ่งกว้าง ที่ตรงนั้นสายน้ำไหลออกมาจากป่าทึบเบื้องหน้า ที่ตรงนั้นดูเหมือนจะมีแต่ผมกับฝูง Bison ไม่มีเสียงอะไรนอกจากเสียงลม เมื่อมองไปรอบตัวผมก็มองเห็นแต่ธรรมชาติแท้จริงที่ปราศจากการปรุงแต่ง ผมอยากจะเรียกมันว่า “ธรรมชาติพิศุทธิ์”

ผมอิจฉาชาวอเมริกันเป็นอย่างมากที่เขามีธรรมชาติพิสุทธิ์เช่นนี้ให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายๆ ไม่เพียงแต่ในอุทยานแห่งชาติใหญ่ๆเช่นนี้ที่มีเส้นทางให้คนเข้าไปเดินได้อย่างอิสระ แต่แทบทุกเมืองที่ผมเคยไปแม้แต่เมืองใหญ่ๆผู้คนหนาแน่นก็ยังมีเส้นทางเทรลที่อยู่ไม่ไกลให้ไปเดินได้ มีเมืองเล็กๆที่ผมเคยไปเมืองหนึ่งมีเส้นทางเทรลถึง 60 เส้น!!!

ในเมืองไทย เรามีอุทยาน และ “เขตอนุรักษ์” มากมาย แต่มีที่ไหนบ้างที่เรามีเส้นทางที่เราสามารถเดินเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติพิศุทธิ์ได้ 

มีครับ เรายังมีธรรมชาติพิศุทธ์อยู่อีกมาก และอาจจะมีคน “บางคน” ที่มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัส แต่คนส่วนใหญ่ยังถูก “จำกัด” ไว้ให้เข้าถึงได้แต่ในที่ที่ถูก “ปรุงแต่ง” แล้วเท่านั้น

ลองอ่านป้ายนี้ดูนะครับ

และผมเชื่อว่านี่คือปัญหาพื้นฐานที่ทำให้ “การอนุรักษ์” ของเราไม่มีวันที่ก้าวไปข้างหน้าให้ดีกว่านี้ 

เราจะให้คนส่วนใหญ่ในสังคมของเราเข้าใจและรักธรรมชาติได้อย่างไรเมื่อเขาไม่เคยเห็นว่าธรรมชาติที่แท้จริงเป็นอย่างไร เราจะให้เขาลุกขึ้นเรียกร้องและปกป้องธรรมชาติพิศุทธิ์ได้อย่างไรหากเขาเข้าใจว่าธรรมชาติคือสิ่งที่เขาเห็นจากข้างถนน, เส้นทาง “ศึกษาธรรมชาติ” เทปูน และลานกางเต็นท์ที่เป็นสนามหญ้าเขียวตัดเรียบของอุทยานฯ ทั้งๆที่มันถูก “ตกแต่ง” ไปแทบจะไม่ต่างไปจากสิ่งที่เราเรียกว่ารีสอร์ต 

เมื่อความเข้าใจเป็นเช่นนี้ ทุกวันนี้เราจึงเพียงใช้ชีวิตสมมุติที่ห่างไกลจากความจริงกันขึ้นไปเรื่อยๆ

หากจะหักเหกลับไปสู่ธรรมชาติและความเป็นจริง เราคงต้องเริ่มการเปลี่ยนแปลงนี้จากการทำให้คนส่วนใหญ่รับรู้ก่อนว่า เรายู่ในสังคมที่ “ขาดแคลนธรรมชาติ”

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

คุ้มครองแต่ไม่เคยให้คุณค่า ตอน นกกรงหัวจุก

ผมเฝ้ามองการโต้เถียงกับเรื่องนกกรงหัวจุกหรือนกปรอดหัวโขน ระหว่างฝ่ายผู้เลี้ยงนกและ “นักอนุรักษ์” มาพักใหญ่แล้วในเรื่องว่า จะให้นกกรงหัวจุกคงอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือจะปลดออก หลายคนคงมองว่านี่เป็นความขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้ แต่ผมกลับมองว่าถ้าเราเปิดใจมองร่วมกันและยอมรับวิธีคิดใหม่ๆ (ที่ประเทศอื่นเขาทำกันมานานแล้ว) เรื่องของนกกรงหัวจุกอาจจะเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงให้การอนุรักษ์ของประเทศนี้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเสียทีนะครับ ก่อนจะเข้าเรื่องนกกรงหัวจุก ผมขอเล่านิทานให้ฟังสักเรื่องหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งเบื่อ อย่าเพิ่งมองว่ามันไม่เกี่ยวกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า พี่น้องสองคนทะเลาะกันเพราะแย่งส้มผลสุดท้ายในบ้าน ถึงขั้นตบตีกัน เสียงดังไปถึงแม่ แม่พยายามเจรจาให้แบ่งกันคนละครึ่งลูกก็ไม่มีใครยอม ต่างคนต่างบอกว่าต้องใช้ทั้งลูก นานเข้าพ่อที่นั่งเล่นของเล่นอยู่ทนรำคาญเสียงไม่ได้ จึงเดินมาแยกลูกสาวทั้งสองที่เริ่มจะจิกหัวฟัดกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แล้วถามรายละเอียด บอกพ่อหน่อยว่าจะเอาส้มไปทำอะไร  คนพี่สาวก็บอกว่าจะทำแยมส้ม ส่วนน้องสาวบอกจะทำน้ำส้ม เมื่อคุยกันเช่นนี้พ่อก็ปอกเปลือกส้มให้ลูกสาวคนโตไปทำแยม แล้วก็เอาเนื้อส้มให้ลูกสาวคนเล็กไปคั้นน้ำ ลงตัวไปได้ทั้งสองคน ส่วนพ่อก็เอาเมล็ดส้มไปปลูกไว้ข้างบ้านต่อไปจะได้ไม่ต้องแย่งส้มผลสุดท้ายกันอีก นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าเราคุยกันดีๆมันจะมีทางออกที่ไม่ต้องมีคนแพ้คนชนะ แต่มันจะมองไม่เห็นเวลาทะเลาะกันจนหน้ามืด ใครยังไม่ได้ติดตามข่าวยังไม่รู้เรื่องความขัดแย้งของนกกรงหัวจุก...

นิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้หนังสือรายเดือนของ “นิยมไพรสมาคม” มาจากมิตรสหายหลายเล่มและกำลังทะยอยอ่านอย่างบรรจง (เพราะหนังสือเหล่านี้มีอายุ 65 ปี แทบจะกรอบเป็นผงอยู่แล้ว)   ผมอ่านแล้วตื่นตะลึงมากครับ ผมเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลมาบ้างว่าท่านสร้างสรรค์ส่งดีๆไว้มากมาย แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องนิยมไพรสมาคมมากนัก  และดูเหมือนว่าเรื่องราวของสมาคมนี้ได้เลือนหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยแล้ว  เลยขอมาเล่าเรื่องหลายอย่างสู่กันฟังถึงประวัติศาสตร์สำคัญของการอนุรักษ์ในบ้านเราที่กำลังจะลืมเลือนไป ในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยยังไม่รู้จักกับคำว่า “อนุรักษ์” ใดๆเลย (ในหนังสือก็ยังไม่มีคำนี้) ตอนนั้นใครอยากจับจองที่ตรงไหนก็ไปแจ้งที่อำเภอแล้วก็ลงมือถาง สัตว์ป่าทุกชนิด (ยกเว้นช้าง) ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครอง ใครอยากล่าอะไรด้วยวิธีไหน...

ชีวิตผ่านไปเร็วมากและงดงาม Next Thing You Know

ผมชอบฟังเพลง Country American ครับ เพราะหลายๆเพลงมีเนื้อเพลงที่ดีมาก สามารถเล่าเรื่องราวได้ในเพลงเดียว คำพูดที่เลือกมาใช้ในเนื้อเพลงก็บรรจงคัดสรรมา บางครั้งถ้าตั้งใจฟังเพลงสักเพลงหนึ่งก็ราวกับได้อ่านหนังสือดีๆกินใจสักบท เอาเพลงนี้มาฝากกันครับ Next Thing You Know โดย Jordan Davis ตั้งใจจะเก็บเพลงนี้ไว้สำหรับวันครบรอบแต่งงานปีหน้า แต่ว่าเปลื่ยนใจ เอามาเขียนฉลองวันเกิดภรรยาผมเมื่อวานนี้ก็แล้วกันครับ Next Thing You Know เล่าเรื่องราวเหตุการสำคัญในชีวิตคู่ของใครสักคน อย่างชนิดที่ใครฟังก็คงได้ภาพของตัวเองและคนรักลอยขึ้นมาในใจ และก็คงคิดเหมือนกันว่า ทุกอย่างที่สวยงามในชีวิตนี้ช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน ขณะที่ลูกชายผมอาจจะกำลังอยู่ในเนื้อเพลงท่อนแรก...

แค้มปิ้งชุมชน

มาถึงวันนี้เราสูญเสียพื้นที่ที่สวยงามตามธรรมชาติไปมากมายแล้ว พื้นที่ที่มีเจ้าของก็ถูกสร้างเป็นบ้านพักเป็นรีสอร์ต ในอุทยานของรัฐเองหลายแห่งก็ถูกดัดแปลงสภาพไปจนแทบไม่เหลือธรรมชาติเดิม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเป็นสนามหญ้าเรียบ, ปลูกไม้ดอกจัดแถวเป็นแนว ไปจนถึงทำทางเดินจากแท่งปูนและไม้เทียมให้ขัดตา อีกหลายๆพื้นที่ที่จัดการโดยองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นหลายที่ก็ถูกทำลายไปด้วยเรื่องคล้ายๆกัน   เรายังพอจะมีพื้นที่สวยงามหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นดอยสูง, ริมห้วย ริมแม่น้ำ หรือชายทำเลย  พื้นที่เหล่านี้ถ้าอยู่ในเขตอุทยานก็มักจะห้ามเข้า ส่วนที่อยู่นอกอุทยาน ถ้าไม่อยู่ห่างไกลก็อาจจะเข้าถึงลำบาก แต่ก็มีอีกบางส่วนที่ซ่อนเร้นอยู่ใกล้ตาที่คนมองข้าม แต่จากบทเรียนที่เราเห็นๆกันมาแล้ว ก็ทำให้เกิดคำถามว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ “การเข้าถึง”,​ “การคงอยู่ของธรรมชาติ” และ “การสร้างรายได้ของชุมชน” อยู่ร่วมกันได้ ความเป็นไปได้ทางหนึ่งก็อาจจะเป็นสิ่งที่ผมอยากเรียกว่า “แค้มปิ้งชุมชน” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ มีอยู่แล้วมากมายในหลากหลายประเทศ...

Most Popular

%d