เมื่อไหร่คือครั้งล่าสุดที่คุณและผมได้ยืนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติบริสุทธิ์ มองไปสุดสายตาแล้วไม่เห็นสิ่งรกตาและหูไม่ได้ยินเสียงรบกวนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์?
เมื่อกว่า 50 ปีก่อน ในปี 1964 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายที่ไม่เหมือนที่ไหนในโลกออกมาฉบับหนึ่งชื่อว่า Wilderness Act เป็นกฎหมายที่น่าสนใจมากแต่น้อยคนจะเคยได้ยิน
Wilderness Act เป็นการกำหนดพื้นที่ที่ต้องการคงสภาพธรรมชาติบริสุทธิ์ไว้ให้ปราศจากสิ่งที่มนุษย์เรียกว่าศิวิไลซ์ ปราศจากสิ่งถาวรที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาหรือได้ยินด้วยหู เพื่อให้เป็นสถานที่ที่ผู้คนสามารถแสวงหาความสงบหรือวิถีชีวิตดั่งเดิมได้ โดยมนุษย์สามารถเข้าสู่พื้นที่ได้ในฐานะผู้มาเยี่ยมเยียน แต่ไม่สามารถอยู่ได้อย่างถาวร
นั่นหมายถึงว่าพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็น Wilderness จะปราศจากถนน ห้ามก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง ห้ามยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์กลไกไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนเข้าไป
แต่ก็หมายความว่า Wilderness ไม่ได้เป็นเขตหวงห้าม เพราะเป้าหมายสำคัญของการจัดตั้งส่วนหนึ่งคือ เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าไปแสวงหาความสงบ, เข้าสู่ธรรมชาติที่ไร้การปรุงแต่งหรือแม้กระทั่งเข้าไปใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมด้วยการตกปลาล่าสัตว์ก็ยังได้ แต่จะต้องเดินทางด้วยการเดินเข้าไป, พายเรือ, ขี่ม้า, สกี หรือวิธีอื่น ต้องกินอยู่อย่างง่ายๆที่จะไม่รบกวนธรรมชาติ
พื้นที่ Wilderness แตกต่างจากอุทยานแห่งชาติที่มีการพัฒนาและจัดการเพื่อมุ่งเน้นให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายๆ เพื่อให้คนส่วนมากได้เข้าถึงและเริ่มรักธรรมชาติ ส่วน Wilderness คือพื้นที่ที่ต้องการให้คงสภาพบริสุทธิ์ให้มากที่สุดเพื่อให้คนได้มีโอกาสพบเห็นและสัมผัสธรรมชาติที่ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยมนุษย์ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อให้คนเข้าใจธรรมชาติและรักธรรมชาติโดยแท้จริง

ความคิดเกี่ยวกับ Wilderness นี้เกิดขึ้นในอเมริกาโดยการผลักดันของ Aldo Leoplod พนักงานอุทยาน (ผู้กลายมาเป็นนักคิดนักเขียนที่มีชื่อเสียงในเรื่องแนวทางอนุรักษ์ธรรมชาติในเวลาต่อมา) ในปี 1924 โดยที่ Aldo เสนอแนวความคิดและโน้มน้าวให้ผู้บริหาร National Park Service ประกาศให้ Gila Wilderness ใน New Mexico เป็น Wilderness แห่งแรกของโลก
ในช่วงจังหวะที่การท่องเที่ยวในอุทยานเริ่มเป็นที่นิยมสุดขีด อุทยานหลายๆแห่งขยายถนนปรับพื้นที่เร่งสร้างสิ่งต่างๆเพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวจนหลายคนเริ่มกังวลว่าจะไม่มีที่ที่ยังคงเป็นธรรมชาติที่แท้จริงเหลืออยู่ นักนิยมธรรมชาติหลายคนนำแนวความคิดเรื่อง Wilderness ของ Aldo ขึ้นมาผลักดันให้เป็นโครงการณ์ระดับชาติ และคนที่จุดชนวนพลุอีกคนก็คือ Sigurd Olson นักพายเรือ Canoe ที่ทำภาพยนต์สั้นส่งให้สภา Congress เพื่อเรียกรองให้กันพื้นที่ Wilderness ไว้เพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสท่ามกลางความสงบปราศจากสิ่งรบกวนจากมนุษย์

พื้นที่ที่กำหนดเป็น Wilderness นั้นเป็นการกำหนดทับขีดเส้นขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เช่นพื้นที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ อาจจะเป็นป่าสงวน หรือเขตอพยพของสัตว์ป่า เมื่อพื้นนี้นั้นถูกตั้งเป็น Wilderness แล้วจะอยู่เหนือการใช้พื้นที่เพื่อการพานิชใดๆไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้, ทำเหมือง หรืออื่นๆ และหากจะเปลี่ยนสภาพของ Wilderness จะต้องผ่านสภา Congresss เท่านั้น

จากวันที่เริ่มใช้กฎหมายจนถึงวันนี้ รัฐบาลสหรัฐประกาศพื้นที่เป็น Wilderness ไปแล้วถึง 750 แห่ง มีตั้งแต่ ขนาดเล็กๆอย่าง Pelican Island Wilderness ใน Florida ที่มีขนาดเพียง 13 ไร่ ไปจนถึง Wrangell-St. Elias Wilderness ที่มีพื้นที่ 23 ล้านไร่ ใหญ่กว่าประเทศเบลเยี่ยม พื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็น Wilderness ทั้งหมดรวมกันคิดเป็น 5% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งใหญ่กว่ารัฐ California เสียอีก และมีคนเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติกว่า 2 ล้านคนต่อปี

หลังจากประกาศใช้กฎหมายอนุรักษ์ในประเทศไทยมาได้เกือบ 60 ปี ดูเหมือนเราจะย่ำอยู่กับที่ บางมุมดูเหมือนถอยหลังด้วยซ้ำ
ไม่เลย ผมไม่คิดว่าปัญหาอยู่ที่เจ้าหน้าที่ผู้ที่ทำงานกันแทบเป็นแทบตายเพื่อรักษาธรรมชาติไว้จากการแก่งแย่งของผู้คนรอบด้าน แต่ผมคิดว่าปัญหาของเราคือการเข้าถึงที่จำกัดจนมีคนน้อยคนมากที่เข้าใจธรรมชาติอย่างที่มันเป็น และน้อยคนลงไปอีกที่รักธรรมชาติจริงจัง
John Muir นักอนุรักษ์ธรรมชาติคนสำคัญของอเมริกา เคยเขียนไว้ว่า
“ไม่ว่าจะใช้คำบรรยายมากแค่ไหนก็ไม่สามารถให้ใครคนหนึ่งสามารถเข้าใจภูเขาเหล่านี้ได้ การได้ไปสัมผัสภูเขาจริงๆสักวันหนึ่งนั้นดีกว่าการอ่านหนังสือเต็มคันรถ”
(John Muir เป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติชาวอเมริกันที่ชักจูงให้ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวล จัดตั้งอุทยานแห่งชาติ Yosemite และอีกหลายๆแห่งได้สำเร็จ และออกกฎหมายอนุรักษ์ธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานการอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จของเมริกามาจนถึงวันนี้)
ผมเชื่อว่าอ่านหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติหรือการอนุรักษ์สักร้อยเล่มก็ไม่สามารถทำให้คนเข้าใจหรือรักธรรมชาติได้เท่ากับการได้เข้าไปเดินในป่าจริงๆสักครั้ง เหมือนกับเราไม่สามารถจะตกหลุมรักใครสักคนที่เห็นแต่เพียงใน Facebook ได้จริงๆแม้จะกด Like เขาสักร้อยครั้งพันครั้ง
ความเข้าใจในธรรมชาติอย่างถูกต้องและลึกซึ้งของคนหมู่มากในสังคมนั้นมีผลอย่างมากไม่แพ้กฎหมายและการบังคับใช้ เพราะมันคือพื้นฐานของการตัดสินใจว่าเราควรปฎิบัติอย่างไรต่อธรรมชาติ อะไรควรเก็บรักษา อะไรควรใช้ประโยชน์ และใช้ประโยชน์อย่างไรจะเกิดประโยชน์สูงสุดโดยรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของสังคมปัจจุบันที่ความคิดเห็นใน Social Media มีส่วนชี้นำส่ิงต่างๆโดยแทบไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด
การอนุรักษ์ในบ้านเรานับจากวันที่เริ่มต้นดูเหมือนจะมีการปรับเปลี่ยนไปในทางเดียวคือกันคนออกจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ กั้นเขตห้ามเข้า ล้อมรั้วให้มากขึ้นทุกครั้งที่มีปัญหา กันพื้นที่ที่เข้าถึงได้ไว้เพียงลานกางเต๊นท์, จุดชมวิว หรืออย่างดีก็เส้นทางศึกษาธรรมชาติสายสั้นๆ
ในขณะที่รัฐเร่งสร้างส่ิงอำนวยความสะดวกให้ผู้คนเข้าถึงอุทยานมากขึ้น ขยายถนน, ปรัปปรุงลานกางเต๊นท์, สร้างจุดชมวิว แต่กลับห้ามไม่ให้ใครเดินเข้าไปในป่า
แม้การได้เข้าไปกางเต๊นท์พักแรมจะเป็นสิ่งดีที่ให้คนได้เริ่มรู้จักกับธรรมชาติ แต่มันยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นไม่ต่างจากตัวอย่างภาพยนต์ที่ชวนให้ดูต่อ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เข้าใจเนื้อความทั้งหมด และก็ไม่เพียงพอที่จะเข้าใจเรื่องราวของภาพยนต์นั้นได้
ทุกวันนี้ผู้คนในสังคมกำลังใช้ความรู้จากดูหนังตัวอย่างมาตัดสินความผิดถูกกัน
หากทุกคนเข้าใจไปว่าธรรมชาติจริงๆนั้นเหมือนสิ่งที่เขาเห็นจากลานกางเต๊นท์หรือจุดชมวิว ผู้คนในสังคมก็จะมองธรรมชาติเป็นสิ่งสวยงามเพียงที่ตาเห็น หลายคนอาจจะคิดว่าทำรีสอร์ตสวยๆปลูกต้นไม้ตัดหญ้าเรียบก็เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติไม่ต่างกัน บางคนอาจจะคิดว่าการตัดถนนเข้าไปจุดชมวิวเแล้วขับรถเข้าไปแออัดกันในป่าเป็นทางเลือกเดียวที่จะชื่นชมธรรมชาติและไม่ใช่เรื่องเสียหาย หลายคนก็คิดว่าป่าที่ดูเหมือนสวยจากระยะไกลนั่นก็ดีแล้วนี่อย่าไปยุ่งกับมัน แต่คงไม่มีใครเลยที่เข้าใจว่าธรรมชาติที่สมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร และนานไปแม้ปากจะบอกว่าสนับสนุนการอนุรักษ์ แต่ลึกๆในใจของคนส่วนใหญ่ก็จะไม่มีคำตอบว่าจะอนุรักษ์ไปทำไมนอกเหนือจากคำที่ได้ฟังเขาบอกเล่ามา
เมื่อไม่มีโอกาสได้ชื่นชมหรือ “ใช้” ธรรมชาติร่วมกัน ผู้คนในสังคมก็ขวนขวายที่จะจับจองเอาธรรมชาติในแบบที่เขาเข้าใจ มาเป็นของตนเอง เป็นที่มาของการบุกรุกป่า รุกทะเลสร้างบ้านตากอากาศและรีสอร์ตมากมายที่เราเห็นเป็นข่าวกันอยู่ตลอดเวลา และคนที่เหลือก็นั่งบ่นด่าโดยนั่งดูไม่ลงมือทำอะไร เราจึงมีเพียงเจ้าหน้าที่ไม่กี่คนที่ต้องต่อสู้กับผู้คนมากมายที่ต้องการหยิบฉวย “ความงาม”จากธรรมชาติมาครอบครอง
“Conservation is a state of harmony between men and land.”
“การอนุรักษ์คือสถานะความประสานกลมกลืนกันระหว่างคนและแผ่นดิน”
Aldo Leopold
ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีตัวแทนที่จะเรียกร้องความต้องการของคนที่รักและนิยมการใช้ชีวิตในธรรมชาติ ปัญหาส่วนหนึ่งอาจจะมาจากที่เราขาดผู้นำทางความคิด ขาดองค์กรที่มองปัญหาในภาพรวมแล้วเรียกร้องและร่วมมือกับรัฐในระดับนโยบายเพื่อสร้างความเข้าใจธรรมชาติให้กับคนในสังคม ทุกวันนี้องค์กรอิสระ “เพื่อการอนุรักษ์” ส่วนใหญ่มีอยู่ ก็เพียงแต่เล่นเกมส์มวลชนปลุกระดมเพื่อต่อต้านโครงการณ์อะไรที่เกิดขึ้นมาเป็นครั้งๆไป แล้วจบด้วยการขอเชิญร่วมบริจาค ซึ่งก็มักจะได้ผล

ผ่านมากว่า 60 ปีแล้ว ข้อกำหนดการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่เขียนไว้เดิมอาจจะต้องถึงเวลาปรับปรุงให้เหมาะสมกับปัญหาที่ต่างกันไปของยุคสมัย พื้นที่บางส่วนอาจจะต้องเก็บรักษาอย่างเดียว, บางส่วนควรให้ผู้คนได้เข้าถึงแต่ต้องคงสภาพไว้ดั่ง Wilderenss และหลายส่วนอาจควรเอามาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ากว่าที่เป็นอยู่ น่าจะดีกว่าห้ามเข้าทั้งหมดแต่รักษาให้คงสภาพไม่ได้อย่างที่เป็นอยู่

การลอกเอารูปแบบการจัดการ Wilderness จากอเมริกามาใช้ อาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับบ้านเรา แต่มันก็นับเป็นตัวอย่างและกรณีศึกษาที่เยี่ยมยอด และหลายอย่างก็ควรถูกนำมาประยุกต์ใช้
จากตัวอย่างที่เล่าเรื่อง Wilderness มาให้อ่านกัน ข้อกำหนดในการจัดการพื้นที่ Wilderness ในอเมริกานั้นถูกวิพากย์วิจารย์อยู่โดยตลอดและมีการปรับเปลี่ยนมาตลอดเวลาทั้งก่อนและหลังกฎหมายฉบับนี้ออกมา การขัดแย้งมีมากมายตั้งแต่ว่าควรจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติหรือมีการจัดการบางส่วน (เช่นการควบคุมไฟป่า) , จำนวนคนที่อนุญาตให้เข้าพื้นที่, การประกาศพื้นที่เพิ่มหรือว่ามีพอแล้ว ฯลฯ แต่เป้าหมายที่สำคัญของมันไม่เคยเปลี่ยนไปจากวันแรกทั้งสองข้อ นั่นก็คือ
ข้อที่หนึ่ง กันพื้นที่ส่วนนี้ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติดั้งเดิมและปราศจากสิ่งปรุงแต่งจากมือมนุษย์ให้มากที่สุดเพื่อรักษาธรรมชาติที่สมบูรณ์ให้กับคนรุ่นหลัง
และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือข้อสองที่ให้โอกาสผู้คนได้เข้าไปสัมผัสความงดงามอันพิสุทธ์ของธรรมชาติได้นี้ได้
“Thousands of tired, nerve-shaken, over civilized people are beginning to find out that going to the mountain is going home; that wilderness is a necessity….”
“ผู้คนมากมายที่เหน็ดเหนื่อย, ประสาทคลอน จากความศิวิไลซ์ที่ท่วมท้นเริ่มที่จะพบแล้วว่าการไปเยี่ยมเยียนขุนเขาคือการได้กลับบ้าน เริ่มเข้าใจกันแล้วว่า Wilderness เป็นสิ่งจำเป็น”
John Muir กล่าวไว้เมื่อกว่าหนึ่งร้อยปีก่อน ผมแน่ใจว่าเขาจะคิดอย่างไรเมื่อเห็นผู้คนติดมือถือติด Wifi กันอย่างทุกวันนี้
ถึงแม้ว่าพื้นที่ธรรมชาติบริษุทธิ์ที่ไม่เคยผ่านน้ำมือมนุษย์อาจจะหาได้ยากแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่ Wilderness ที่ถูกรักษาให้คงสภาพมากที่สุดจะสามารถให้กับผู้คนได้คือ “ประสบการณ์ การดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของมนุษยชาติท่ามกลางธรรมชาติแบบดั้งเดิมในโลกยุคใหม่ที่จะเชื่อมต่อเราเข้ากับอดีต เปิดรับสิ่งที่เราไม่คาดคิด ฟื้นฟูร่างกายและวิญญาณ และที่สำคัญที่สุด ค้นพบวิถีง่ายๆที่กำหนดความเป็นมนุษย์ที่เราสูญเสียไปจากการใช้ชีวิตในเมือง”
“In truth wilderness is a state of mind and heart. Very little exists now in actuality.”
“ในความเป็นจริง Wildeness เป็นสภาวะของความคิดและหัวใจ แม้ว่าสถานที่จะมีเหลืออยู่น้อยมากในโลกแห่งความเป็นจริง”
Ansel Adams ช่างภาพและนักอนุรักษ์ธรรมชาติคนสำคัญของอเมริกาอีกคนหนึ่งเคยกล่าวไว้
เมื่อไหร่คือครั้งล่าสุดที่คุณและผมได้ยืนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติบริสุทธิ์ ที่ปราศจากสิ่งรกตาและเสียงรบกวนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์? ถ้าคุณยังไม่เคย ผมอยากแนะนำให้ลองสัมผัสครับ ความรู้สึกนั้นต้องพบกับตัวเองไม่สามารถบอกเล่าสู่กันได้
[…] อ่านเรื่องของ Wilderness ได้ที่บทความนี้ครับ) […]
[…] Wilderness (อ่านเรื่องของ Wilderness ได้ที่นี่) […]
[…] อ่านต่อ บทความเรื่อง Wilderness Act […]