เมื่อรถจอดสนิท ผมก็ต้องรีบเปิดประตูลงไปบิดตัวให้กระดูกและสำไส้กลับเข้าที่ เวลา 17 ปีที่ผ่านดูเหมือนว่าไม่ได้ทำให้การเดินทางสู่บ้านนาเกียนง่ายขึ้นเลย


แต่ 17 ปีนั้นก็นานมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย หมออนามัยสหายเก่าผู้มีฉายาในทีวีภายหลังจากที่เราได้เดินทางด้วยกันว่า “หมอผีบ้า” ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่นนานแล้ว เด็กหนุ่มผู้ช่วยหมอที่เคยไปด้วยกันก็กลายเป็นบาทหลวงที่โบสถ์ประจำหมู่บ้าน บ้านช่องที่เคยเป็นเรือไม้ไผ่ก็กลายเป็นบ้านที่สร้างใหม่อย่างมั่นคงแข็งแรง
พะตี่นุเดินยิ้มร่าออกมาจากบ้าน
“กินข้าวหรือยัง มากินข้าวกัน” โดยไม่ฟังคำตอบ พะตี่หันไปสั่งหลานสาวให้หุงข้าวทันที

เรานั่งกินน้ำเย็นที่พะตี่ (ภาษากระเหรี่ยงแปลว่าลุง) รินให้ แล้วนั่งคุยกันที่ลานบ้าน ผมเอ่ยปากขอความช่วยเหลือหลายๆอย่างในการที่เราจะมาจัดกิจกรรมเดินป่าที่ผ่านสันเขาไม่ไกลจากบ้านแก
พะตี่นุรับปากจัดการให้หมด แถมยังบอกว่าไม่มีปัญหา คนแถวนี้ญาติๆแกทั้งนั้น รวมทั้งกำนันที่อยู่บ้านใกล้ๆนี่ด้วย
“นอนนี่สักคืนซิ จะรีบไปไหน” พะตี่ชวนด้วยรอยยิ้ม
ทั้งหมดนี้ดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่รู้จักกันมานาน เว้นแต่ว่าผมเพิ่งจะเจอพะตี่ระหว่างการสำรวจเส้นทางเดินป่าเมื่อหลายเดือนก่อนเพียงครั้งเดียว จะเรียกว่าผมเป็นคนแปลกหน้าสำหรับแกก็ยังคงพอได้
ผมเดินทางรอนแรมผ่านหมู่บ้านรอบลำน้ำเงามาตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ในเวลาที่เท่ากันนี้โลกเปลี่ยนไปมากมาย หลายอย่างเปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้ (อ่านบันทึกการเดินทางเมื่อ 17 ปีที่แล้วได้ที่หน้านี้)
แต่อย่างหนึ่งที่ผมดีใจมากว่ายังไม่เปลี่ยนแปลง คือน้ำใจของชาวบ้านที่มีต่อคนเดินทางแปลกหน้าผู้พลัดถิ่น เช่นเดียวกับเมื่อ 17 ปีก่อน การเดินทางครั้งนี้ผมได้รับน้ำใจจากผู้คนมากมาย ทั้งหาข้าวให้กิน เปิดบ้านให้นอน
เช่นเดียวกัน หลังจากบ้านนาเกียน ผมนั่งรถโขยกขึ้นเขาไปยังสู่บ้านแม่หาด หมู่บ้านที่อยู่ไกลสุดขอบฟ้าอีกแห่งหนึ่ง



ขณะที่นั่งคุยกับ ผ.อ.โรงเรียน ในเรื่องการมาขอใช้พื้นที่และขอการสนับสนุนจากโรงเรียนในกิจกรรมเดินป่า ครูหนุ่มๆท่านหนึ่งก็หิ้วถุงเดินเข้ามา
“กับข้าวที่สั่งมาแล้วครับ ผ.อ.”
ผ.อ. หันมายิ้มกับผมแล้วบอกว่า “เย็นนี้ทานข้าวด้วยกันนะครับ ครูๆเขาจะทำอาหารเลี้ยงพี่ ตามมีตามเกิดแบบบ้านป่านะครับ”
คืนนั้นเรานั่งล้อมวงกันที่ชายคาของโรงเรียนที่มีวิวร้อยล้าน เรื่องราวสนทนาล้วนน่าประทับใจ ครูหนุ่มๆเหล่านี้(ครูผู้หญิงก็มีหลายท่านแต่ไม่ได้มาร่วมวงกับเรา) จากบ้านจากครอบครัวมาอยู่บนดอยเพียงเพื่อต้องการให้เด็กๆที่นี่ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ นอกจากสอนหนังสือในห้อง พวกเขาสอนให้นักเรียนทำการเกษตรพอเพียง ปลูกผัก, เลี้ยงไก่, เลี้ยงปลา ในบริเวณโรงเรียน แล้วช่วยกันเอามาทำอาหารกลางวันเลี้ยงเด็ก เมื่อมาถึงตอนเย็นวันนั้นผมเห็นครูทั้งหลายดูแลเด็กนักเรียนราวกับลูก เหนือความรับผิดชอบของคนสอนหนังสือมากนัก
ผมได้ยินคนในเมืองทั้งหลายบ่นเรื่องการศึกษาของประเทศเรามามาก บางคนก็พาดพิงถึงคุณภาพครู ผมอยากให้คนที่บ่นลอยๆทั้งหลายได้มาเห็นที่นี่นะ แล้วเราจะเข้าใจว่า การศึกษาของประเทศนั้นไม่ได้มีอยู่เพียงทำให้เด็กในเมืองเรียนหนังสือได้ระดับโลกเท่านั้น แต่หากยังมีมิติที่แตกต่างอีกมากมาย ที่สำคัญ มีคนอีกมากมายที่กำลังเสียสละหลายๆอย่างในชีวิตเพื่อให้กับการศึกษาในที่ทุรกันดารเช่นนี้
อาหารอร่อยๆจากโรงครัวทะยอยออกมาทั้ง รถด่วนสดๆทอด, หมูย่าง และที่เด็ดสุดเห็นจะเป็น deep fry หนอนด้วงตัวโต เครื่องดื่มท้องถิ่นใสๆถูกรินแจกจ่ายรอบวง
เมื่อเครื่องดื่มถุงที่สามถูกเปิดขึ้น “ผมขอตัวไปกางเต๊นท์ก่อนนะครับ ช้ากว่านี้น่าจะลุกไปกางไม่ไหวครับ” ผมเอ่ยขออนุญาตออกจากวง
ครูดอนหัวเราะ “ไม่ต้องหรอกครับพี่ ผมเตรียมที่นอนไว้ให้ในอาคารแล้วครับ ข้างนอกนี่ลมแรงมากครับ พวกผมก็นอนที่นี่ครับ เพราะต้องผลัดเวรกันมาเฝ้าไก่ที่เพิ่งเอามาเลี้ยงครับ”

“คืนนี้พี่นอนที่แม่เงาก่อนนะอย่างเพิ่งกลับ ที่หมู่บ้านมีงานลอยกระทงครับ” ไก่บอกผมในขณะที่เรากำลังขับรถกลับออกจากป่ากัน
เมื่อถึงบ้านแม่เงา ผมเดินเข้าไปทักทางลุงยนต์และป้ามุล เจ้าของร้านขายของเก่าแก่ของที่นี่ ลุงยนต์นั้นเป็นตำนานที่มีชีวิตของแม่เงา เพราะลุงยนต์ลงหลักปักฐานที่นี่มาร่วม 50 ปี ตั้งแต่ที่นี่ยังเป็นป่าใหญ่และยังมีการทำไม้
“มานอนบ้านนี้ วันนี้ไม่ต้องไปกางเต๊นท์นอนอีกนะ ขึ้นไปเลยขึ้นไปอาบน้ำอาบท่าก่อน” ป้ามุลบอกผม พร้อมกับชี้บอกให้ขึ้นบ้าน
พอผมอาบน้ำเสร็จก็เห็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งหอบผ้าห่มออกจากห้อง “นอนห้องนี้เลยนะ” ป้ามุลบอก “ห้องนี้ห้องหลานป้าเอง คืนนี้ให้มันนอนที่ระเบียงนี่ เขาชอบนอนข้างนอกอยู่แล้ว”
“กินข้าวก่อน ป้าทำกับข้าวไว้ให้แล้ว บ้านนอกไม่มีกับข้าวอะไรมากนะ ไม่เหมือนในเมือง”
หลังอาหารเย็นมื้อนั้น ผมได้กินอาหารเย็นมื้อที่สองอีก เพราะภรรยาของไก่ สหายเก่าแก่ของผมอุตส่าห์ไปหาจับจิ้งหรีดถุงใหญ่ไว้มารอทอดให้ผมกินเพราะรู้ว่าผมชอบ
งานลอยกระทงคืนนั้นเป็นไปอย่างสนุกสนาน ชุมชนเล็กๆอย่างแม่เงา ผู้คนรู้จักกันหมด ครูเป็นคนจัดงาน เด็กๆวิ่งเล่น พระสงฆ์รูปเดียวของวัดในหมู่บ้านก็มาสวดทำพิธีให้ บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น,เรียบง่าย และรอยยิ้ม
รุ่งเช้าป้ามุลเตรียมสำรับกับข้าวขึ้นไปใส่บาตรที่วัด พอผมเดินออกจากบ้านก็เห็นผู้คนหิ้วปิ่นโตทะยอยกันเดินขึ้นบันใดไปสู่วัดที่อยู่บนเขา
การทำบุญที่นั่นเรียบง่าย ทุกคนวางกับข้าวที่ทำมารวมกันบนโต๊ะถวายให้พระ พระที่มีเพียงรูปเดียวของวัดสวดมนต์สั้นๆแล้วตามด้วยการเทศนาด้วยภาษาชาวบ้านที่เข้าใจง่ายๆ
“ลอยกระทงนั้นควรจะคิดเสียว่าเรามาลอยกิเลส แต่ทำไมลอยไปลอยมา กิเลสมันถึงได้พอกพูน ทำอย่างไรละถึงจะลดละกิเลสลงไปได้บ้าง ใจจะได้เป็นสุข………”
หลังจากนั้นทุกคนในหมู่บ้านก็กินข้าวร่วมกันที่วัด แบ่งปันอาหารที่ช่วยกันทำมา
ช่างเป็นภาพและเรื่องราวที่งดงามไร้การปรุงแต่งยิ่งนัก
น้ำใจท่วมท้นที่ได้รับตลอดการเดินทางทำให้ผมคิดขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า ขณะที่อินเตอร์เน็ตและ Facebook เป็นตัวเชื่อมให้สังคมเมืองกับสังคมชนบทเข้าถึงกันได้โดยไม่มีสิ่งกีดขั้น ซึ่งอาจจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีหลายสิ่งที่ Facebook ไม่สามารถจะสื่อสารได้และอาจจะทำให้โลกนี้เอียงไปในทิศทางที่น่าเสียดาย
ขณะที่ Facebook ต่างโชว์ “ความเจริญ” และ “ความอุดมทางวัตถุ” ของคนเมือง ได้ชัดเจนและง่ายดายด้วยภาพถ่ายเพียงสักภาพ แต่เรื่องราวที่งดงามของสังคมชนบทกลับยากนักที่จะถ่ายทอดไปได้ทางโลกเสมือน เพราะความงามเหล่านี้ไม่สามารถ “แชร์” กันผ่านหน้าจอ จะได้สัมผัสก็ต้องเปิดใจออกไปสัมผัสด้วยตัวเอง
และนั่นก็อาจจะนำไปสู่ “การให้คุณค่า” ที่เปลี่ยนไปของสังคมรวมจนอาจจะกลายเป็น “สังคมวัตถุ” โดยสมบูรณ์
ในขณะที่กระแสท่องเที่ยวเต็มไปด้วย “การไปให้ถึง” และ “การพิชิต” ผมอยากจะชวนให้ผู้คนที่แบกเป้ออกไปท่องโลก ให้เดินออกไปไกลกว่าจุดชมวิวสักนิด, ออกไปสัมผัสสิ่งที่ไม่ได้เขียนอยู่ในไกด์บุ๊ค แทนที่จะตระเวนไปไหว้พระ 9 วัด ลองใช้เวลาเท่ากันนั้นอยู่สงบให้เข้าถึงวัดสักวัดหนึ่ง แทนที่จะพิชิต 10 ยอดดอยที่สูงที่สุด ลองใช้เวลาให้เพียงพอให้เข้าใจ “ความหมายและเรื่องราว” ของดอยสักดอยหนึ่ง และ อย่าเพียงมองหานาขั้นบันใดแต่ไปให้ถึงอีกขั้นหนึ่งของความสัมพันธ์กับผู้คน
ออกไปหา “ความหมาย” แทนที่จะ “เก็บให้ครบ”
เมื่อนั้น “คุณค่าและความสำคัญในชีวิต” ของเราอาจจะเปลี่ยนไป และสังคมไทยก็จะน่าอยู่ขึ้นในสายตาคุณอีกมาก
ก่อนจะขึ้นรถกลับ ลุงยนต์และป้ามุล ยกสองมือขึ้นจับไหล่ผมแล้วมองด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยความเมตตา
“ถ้ามาอีกก็แวะมาที่นี่นะ อย่าเกรงใจ เฮาถือว่าเป็นลูกบ่าวของเฮาคนหนึ่ง”
ผมมาอีกแน่ครับ ลุงยนต์ ป้ามุล
ผมรักคนที่นี่ครับ