Sunday, October 1, 2023
Homeปืน, ตกปลา, เครื่องร่อน ฯครบรอบ 10 ปี สนามยิงธนู ArcheryThai

ครบรอบ 10 ปี สนามยิงธนู ArcheryThai

-

สนามยิงธนูเล็กๆแห่งนี้ เกิดขึ้นมาจากมิตรภาพของคนกลุ่มหนึ่ง

สิบปีผ่านไป มันยังคงเป็นสนามยิงธนูเล็กๆที่ตั้งอยู่ที่เดิม แต่มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่นี่ และที่สำคัญกว่านั้นมันยังเป็นที่สร้างให้เกิดมิตรภาพกับคนมากมาย

มารู้จักความเป็นมาและเรื่องราวของสนามยิงธนูเล็กแห่งนี้กันครับ


ย้อนไปสิบกว่าปีก่อน มีคนไทยน้อยมากที่รู้จักกีฬายิงธนู และยิ่งน้อยคนไปกว่านั้นที่มีโอกาสได้สัมผัสการยิงธนูด้วยตัวเอง

เรื่องมันเริ่มต้นจากที่ผมเดินข้ามจากสนามยิงปืนหัวหมากไปยังสนามยิงธนูที่อยู่ใกล้ๆกันด้วยความสนใจ

“ธนูไม่มีขายหรอกครับ ถ้าพี่อยากได้ต้องรอเวลานักกีฬาเขาไปแข่งต่างประเทศแล้วฝากเขาซื้อครับ” นั่นคือคำตอบที่ผมได้จากคนที่ยิงธนูอยู่ในสนามเมื่อถามว่าผมจะซื้อธนูจากที่ไหนมาเล่นได้บ้าง

เดินไปเดินมา ก็ไม่มีใครสบตา ไม่มีใครสนใจ อย่าว่าแต่หาใครแนะนำเลย จะหาคนให้ถามให้คุยยังไม่มี

กลับบ้านด้วยความอยากเล่นธนู ผมจึงมาโพสต์ข้อความถามในเว็บบอร์ด “รอบกองไฟ” ในเว็บ ThaiBlade.com และ ThailandOutdoor.com ที่พวกเราชาวกลางแจ้งสิงสถิตย์กันอยู่ในช่วงนั้นและคุยกันสารพัดเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องมีด, เรื่องปืน, เรื่องเที่ยวป่า ฯ

“ผมอยากยิงธนูครับ มีใครพอจะสอนผมยิงธนูได้บ้างครับ ใครรู้บ้างครับว่ามีร้านขายธนูที่ไหนบ้าง”

และผมได้คำตอบจากสองท่านทันที

พระราม “ผมพอยิงเป็นครับสอนให้ได้”

Mike Wann “ผมทำงานอยู่ร้านธนูครับ อยากได้อะไรบอกมาเลย”

พี่พระราม ไม่ยากครับ ในวันอาทิตย์ต่อมาผมก็ได้เจอกับพี่ชายใจดีคนที่บอกว่า “ยิงธนูพอเป็น” แต่จริงๆแล้วเป็นอดีตนักนิงธนูทีมชาติไทย และผมก็ได้เริ่มหัดยิงธนู

อีตา Mike Wann นี่ซิ ทันทีที่ผมว่าผมถามว่าร้านอยู่ที่ไหนผมจะไปซื้อธนู เขาก็บอกว่า “อยู่ที่ California ครับ” อาจจะใช้เวลาหลายเดือนหน่อยแต่ผมก็ไปถึงร้านธนูที่ไมค์ทำงานอยู่จนได้

พอเริ่มคุยกันเรื่องธนูมากขึ้นในบอร์ด “รอบกองไฟ” เพื่อนหลายคนก็เริ่มอยากยิงธนูบ้าง แน่ละครับผู้ชายแนวนี้ใครก็ชอบของเล่นแบบนี้ทั้งนั้น ยิ่งซื้อได้ไม่แพงเหมือนปืน, ไม่ต้องขออนุญาต, เอาไปไหนตำรวจก็ไม่จับ ก็เลยเป็นหน้าที่ของ Mike Wann ที่จะต้องจัดหาธนูมาให้พวกเราเล่นกัน เริ่มแรกก็เป็นการกว้านซื้อซื้อธนูมือสองของเพื่อนๆที่อเมริกาถอดเป็นชิ้นๆมาประกอบกันที่บ้านผม

จากนั้นเมื่อมีธนูกันแล้ว เราก็เริ่มนัดกันไปยิงธนูที่สนามยิงธนูหัวหมากทุกวันอาทิตย์ตอนบ่ายๆ พอเราไปยิงธนูกัน เริ่มลงรูปถ่ายในบอร์ดก็มีคนสนใจเพิ่มขึ้นอีกมาก และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่ยืนยาวมาถึงทุกวันนี้

จุดสำคัญอยู่ที่การมาของ “ปู่เหา” ครับ ชายวัยเลยกลางคนคนนี้ เป็นคนที่มีความสุขกับการสอนยิงธนูมาก ปู่เหาบอกว่าแกยิงธนูอยู่คนเดียวนานแล้ว พยายามชวนคนมายิงด้วยแต่ก็ยังไม่มีคนเล่นด้วย พอพวกเรานัดกันรวมกลุ่ม ปู่เหาและครอบครัวจึงขนธนูที่มีอยู่ทั้งหมดมาตั้งเป้าสอนใครก็ได้ที่เดินเข้ามาแล้วบอกว่าอยากยิงธนูกันแบบฟรีๆ นั่นแหละครับคือสิ่งที่เปลี่ยนหน้าตาของการยิงธนูจากวันแรกที่ผมเดินเข้าไปยังสนามอย่างสิ้นเชิง พวกเราล้วนเฝ้ารอที่จะให้ถึงบ่ายวันอาทิตย์เร็วๆ ในเว็บบอร์ดรอบกองไฟก็คุยเรื่องธนูกันอย่างเข้มข้นสนุกสนานมาก โดยมี Mike เป็นคนเอาความรู้ใหม่ๆทั้งเรื่องการยิงและอุปกรณ์มาเล่าให้พวกเราฟังให้ตื่นเต้นอยู่เสมอ

เมื่อคนมีโอกาสได้สัมผัสกับความสนุกของการยิงธนู หลายๆคนก็อยากจะมีธนูของตัวเองกัน Mike Wann ก็ต้องจัดส่งธนูหลากหลายแบบจากร้านที่เขาทำงานอยู่มาให้มากขึ้นเรื่อยๆ ห้องทำงานเล็กๆที่บ้านผมก็กลายเป็นห้องธนูที่ผู้คนที่อยากได้ธนูอยากยิงธนูแวะมาเยี่ยมเยือน

เวลาผ่านมาไม่นานนักผมก็เริ่มรู้สึกว่าผมและเพื่อนๆอยากจะยิงธนูกันให้บ่อยกว่าอาทิตย์ละครั้ง เราคิดฝันกันว่าคงจะดีมากถ้าเราสามารถยิงธนูกันอย่างผ่อนคลายหลังเลิกงานตอนคำ่ (ในยุคนั้นสนามยิงธนูหัวหมากเป็นที่ซ้อมของนักกีฬาในตอนกลางวัน และไม่มีไฟให้ยิงตอนกลางคืน)

นั่นทำให้ผมเร่ิมมองหาที่ทำสนามยิงธนูเล็กๆสักแห่งหนึ่งเพื่อให้เป็นที่พบปะสังสรรค์ของเพื่อนๆหลังเลิกงาน รวมทั้งย้ายร้านขายธนูออกมาจากห้องทำงานเล็กๆที่บ้านผมด้วย

ในที่สุดผมก็มาเจอที่ว่างแปลงเล็กๆอยู่ในสนามกอล์ฟออลสตาร์ แถวเหม่งจ๋าย ด้วยความสนับสนุนจากเพื่อนรัก พี่เต็ม (นามแฝง “หนูเล”), พี่ต๊อดพี่ชายที่เคารพ และ Mike Wann ที่กลายมาเป็นหุ้นส่วนของบริษัทเล็กๆที่คิดจะทำสนามยิงธนูเอกชนแห่งแรกขึ้นมาด้วยความอยากและความบ้ามากกว่าเหตุผลใดๆ

ไม่กี่เดือนหลังจากเริ่มสมคบคิด เราก็ตกลงเช่า, ถมดิน (ที่เดิมเป็นคูน้ำ) และก่อสร้างสนามและร้านเล็กๆขึ้นมา

ขณะดียวกันนั้นก็มีคนสำคัญอีกคนหนึ่งเดินเข้ามาสู่ ArcheryThai ครูต้น (นามแฝง Hellboy ในรอบกองไฟ) อดีตนักยิงธนูทีมชาติอีกคนหนึ่งที่เข้ามาช่วยจัดเรื่องคอร์สสอนยิงธนูให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น

เดือนตุลาคม ปี 2549 สนามยิงธนูเอกชนและร้านธนูแห่งแรกก็พร้อมที่จะเปิดให้บริการ

วันนั้นเป็นวันกำหนดเปิดสนาม ตอนเย็นเราจะมีงานเลี้ยงฉลองต้อนรับเพื่อนๆที่สนามแห่งนี้

ขณะที่ผมกำลังพยายามต่อสายไฟแสงสว่างในร้านให้ทันก่อนงานเลี้ยงเพราะช่างไฟหนีงานทิ้งไป เพื่อนท่านหนึ่งที่ยิงธนูอยู่ด้วยกันก็จอดรถหน้าร้านแล้วเดินโครมครามเข้ามา

“เปิดสนามธนู! บ้าหรือเปล่าเนี่ย ทำอะไรทำไมไม่ปรึกษากันเลย ในเมืองไทยนี่ปีนึงจะมีคนซื้อธนูถึงห้าคันหรือเปล่าก็ไม่รู้!!!”

แต่สนามยิงธนู ArcheryThai ก็เปิดขึ้นมาได้และยังคงอยู่เสมอมา สิ่งที่ทำให้ ArcherytThai อยู่ได้เหนือความคาดหมายของผู้คนส่วนใหญ่ก็คือแรงสนับสนุนช่วยเหลือจากเพื่อนๆที่เริ่มยิงธนูมาด้วยกัน พวกเขาต่างเข้ามาทุ่มเทช่วยเหลือราวกับที่นี่คือสนามของพวกเขาเองโดยไม่เคยคิดเป็นอย่างอื่น ผมเองก็ถือว่าที่นี่ของสนามธนูของพวกเขาเช่นกัน

เมื่อเปิดสนามขึ้นมาแล้วเราตั้งใจให้การยิงธนูเป็นเรื่องง่ายๆให้ทุกคนที่อยากจะทดลองยิงสามารถเข้ามาลองได้ด้วยการมีคอร์สเบื้องต้นที่เรียกกันว่า Discovery ใครก็ได้ที่อยากลองยิงธนูสามารถเดินเข้ามาลงเรียนได้โดยไม่ต้องรู้อะไรมาก่อน ไม่ต้องมีอุปกรณ์ของตัวเอง เราจัดให้หมดมีครูสอนให้ด้วย จากนั้นถ้าชอบจะเช่าอุปกรณ์ยิงเองต่อก็มีให้เช่า, อยากจะลงเรียนคอร์สที่มากกว่าพื้นฐานก็มีให้เรียน หรืออยากจะมีธนูเป็นของตัวเองก็มีให้เลือกซื้อมากมายทุกระดับราคา เราทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าการยิงธนูจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

สิบปีที่ผ่านมามีเรื่องมากมายให้เราภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นการที่เราเป็นจุดเริ่มต้นให้วงการยิงธนูของเมืองไทยเติบโตขึ้น, มีนักกีฬายิงธนูฝีมือดีหลายๆคนเริ่มต้นยิงธนูจากที่นี่ หรือแม้กระทั่งเรื่องที่เราเป็นธุรกิจเล็กๆที่ยังอยู่รอดและเติบโตมาได้ถึงทุกวันนี้ แต่เรื่องที่ผมดีใจและภาคภูมิใจที่สุดของการมีสนาม Archery Thai คือเรื่องของมิตรภาพ

สนามยิงธนูเล็กๆแห่งนี้เกิดขึ้นมาได้ด้วยมิตรภาพของสังคมเล็กๆที่เริ่มต้นยิงธนูมาด้วยกัน วัฒนธรรมที่น่ารักของสังคมเล็กๆนี้ยังคงอยู่และสืบทอดกันมาแม้ว่าสมาชิกหลายคนจะเลิกราจาการยิงธนูไปแล้วและคนใหม่ๆก็เข้ามาแทนที่ และในการตอบแทนสนาม ArcheryThai ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มิตรภาพก่อเกิดให้กับผู้คนอีกมามายที่ผ่านเข้ามา เราได้เห็นเด็กๆหลายคนในหลายๆรุ่นเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์จากสังคมที่ดีแห่งนี้

บางครั้งเมื่อผมเดินเข้าไปสูงสนามยิงธนูแห่งนี้ผมไม่ได้รู้สึกเลยว่ามันเป็นสนามยิงธนู แต่หากเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองที่เราจะหลีกหนีความวุ่นวายของสังคมถอดหัวโขนและเข้ามาอยู่กับเพื่อนที่คิดคล้ายๆกัน หลายๆคนก็คงรู้สึกเช่นนั้น พวกเขาจึงเข้ามาใช้เวลาอยู่ที่นี่ไม่ว่าจะยิงธนูหรือไม่

พี่ที่ผมเคารพสองท่านให้นิยามสนามธนูแห่งนี้ไว้ว่า “ที่นี่คือ Oasis ทางสังคม” ดังที่พี่ท่านนี้กล่าวไว้ในโอกาสที่เราครบรอบ 10ปี

“10 years of Archery Thai, the 1st private archery range / shop and “a social oasis” – the place to take refuge whenever life turns unkind.” พี่เม่น Suraporn Menn Koetsawang

ในโอกาสที่สนามยิงธนูแห่งนี้ครบรอบสิบปี ผมจึงต้องขอขอบคุณเพื่อนฝูงมากมายที่ช่วยกันทำให้เกิดสนามยิงธนูแห่งนี้ขึ้นมาได้, ขอบคุณ Staff ทุกคนของ ArcheryThai ที่ช่วยกันดูแลทุกคนที่เดินเข้ามาและอยากยิงธนู และที่สำคัญที่สุดขอขอบคุณทุกท่านที่เดินเข้ามาสู่สนาม ArcheryThai และให้โอกาสเราแนะนำความสนุกสนานของการยิงธนูให้กับท่าน

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

1 COMMENT

Leave a Reply

LATEST POSTS

นิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้หนังสือรายเดือนของ “นิยมไพรสมาคม” มาจากมิตรสหายหลายเล่มและกำลังทะยอยอ่านอย่างบรรจง (เพราะหนังสือเหล่านี้มีอายุ 65 ปี แทบจะกรอบเป็นผงอยู่แล้ว)   ผมอ่านแล้วตื่นตะลึงมากครับ ผมเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลมาบ้างว่าท่านสร้างสรรค์ส่งดีๆไว้มากมาย แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องนิยมไพรสมาคมมากนัก  และดูเหมือนว่าเรื่องราวของสมาคมนี้ได้เลือนหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยแล้ว  เลยขอมาเล่าเรื่องหลายอย่างสู่กันฟังถึงประวัติศาสตร์สำคัญของการอนุรักษ์ในบ้านเราที่กำลังจะลืมเลือนไป ในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยยังไม่รู้จักกับคำว่า “อนุรักษ์” ใดๆเลย (ในหนังสือก็ยังไม่มีคำนี้) ตอนนั้นใครอยากจับจองที่ตรงไหนก็ไปแจ้งที่อำเภอแล้วก็ลงมือถาง สัตว์ป่าทุกชนิด (ยกเว้นช้าง) ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครอง ใครอยากล่าอะไรด้วยวิธีไหน...

Editor ใช้ Award เดินป่า โดยตาเกิ้น

พวกเราที่ ThailandOutdoor มีความโชคดีที่เราได้มีโอกาสทดสอบทดลองอุปกรณ์กลางแจ้งมากมาย และก็จะมีของบางอย่างที่เราทดสอบแล้วชอบจนซื้อไว้ใช้เอง เราเรียกของเหล่านั้นว่า "Editor ใช้ Award"  และนี่คือ "Editor ใช้ Award" ปี 2022 จากตาเกิ้นครับ VDO ยาวนะครับเพราะอธิบายกันทุกอย่างรวมถึงเหตุผลที่เลือกใข้ในสถานการณ์ต่างๆกัน เราแบ่งเป็นช่วงๆให้เลือกดูกันได้ครับ ตามนี้เลย บางคนอาจจะบอกว่าผมใช้แต่ของแพงๆหรูๆ ก็อาจจะจริง หรือไม่ แล้วแต่มุมมองครับ ทุกอย่างในชีวิตเราล้วนแล้วแต่ขึ้นกับว่าเราให้ลำดับความสำคัญกับอะไร  สำหรับผมแล้ว ผมไม่ได้ซื้อของอื่นหรูหราอะไร แต่การออกมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การเดินป่า คือความสุขในชีวิตผม ผมจึงเลือกใข้แต่ของดีๆ...

ไปเรียนหลักสูตรปืนพกต่อสู้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

ผมเขียนบทความนี้ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2552 เขียนข้างหลังกระดาษสำเนา ป.4 (ทะเบียนปืน) ในช่องยิงทันทีที่เรียนเสร็จ เขียนด้วยความประทับใจของการสอนยิงปืนในคอร์สนี้ ถึงวันนี้แม้ว่าหลายๆอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ผมยังคงข้อความทุกอย่างที่เขียนในบทความนี้ไว้อย่างเดิมรวมทั้งรูปภาพเดิมที่อาจจะไม่ชัดนัก ด้วยความตั้งใจปัจจุบันโรงเรียนสอนยิงปืนแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมยิงปืนเขาสามยอด ยังตั้งอยู่ที่สถานที่เดิมในค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี สอนมาต่อเนื่องถึง 14 ปีแล้วถ้านับถึงวันนี้ หลักสูตรพัฒนาไปมาก และมีถึง 8 หลักสูตรให้เรียนได้ตามลำดับขั้น และยังสอนโดยหัวหน้าชุดครูท่านเดิมที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะให้คนไทยได้เรียนรู้การใช้อาวุธปืนได้อย่างถูกต้องผมเชื่อว่าที่นี่คือโรงเรียนสอนยิงปืนที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถเรียนได้ในประเทศไทย ผมเขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้ที่ตอนท้ายของบทความนี้ครับ ในสังคมที่บิดเบี้ยวมากขึ้นทุกวัน ดูเหมือนพวกเราสุจริตชนจะต้องเสี่ยงกับภัยคุกคามรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโจร...

ชีวิตผ่านไปเร็วมากและงดงาม Next Thing You Know

ผมชอบฟังเพลง Country American ครับ เพราะหลายๆเพลงมีเนื้อเพลงที่ดีมาก สามารถเล่าเรื่องราวได้ในเพลงเดียว คำพูดที่เลือกมาใช้ในเนื้อเพลงก็บรรจงคัดสรรมา บางครั้งถ้าตั้งใจฟังเพลงสักเพลงหนึ่งก็ราวกับได้อ่านหนังสือดีๆกินใจสักบท เอาเพลงนี้มาฝากกันครับ Next Thing You Know โดย Jordan Davis ตั้งใจจะเก็บเพลงนี้ไว้สำหรับวันครบรอบแต่งงานปีหน้า แต่ว่าเปลื่ยนใจ เอามาเขียนฉลองวันเกิดภรรยาผมเมื่อวานนี้ก็แล้วกันครับ Next Thing You Know เล่าเรื่องราวเหตุการสำคัญในชีวิตคู่ของใครสักคน อย่างชนิดที่ใครฟังก็คงได้ภาพของตัวเองและคนรักลอยขึ้นมาในใจ และก็คงคิดเหมือนกันว่า ทุกอย่างที่สวยงามในชีวิตนี้ช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน ขณะที่ลูกชายผมอาจจะกำลังอยู่ในเนื้อเพลงท่อนแรก...

Most Popular

%d bloggers like this: