Mt. Kinabalu
“ภูเขาแห่งความตาย” ชื่อที่บ่งบอกถึงความน่ากลัวของภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ของชาว Saba แห่งนี้ ชื่อที่ได้ยินแล้วคงไม่ค่อยมีใครอยากเข้าใกล้
แต่ในความเป็นจริง ภูเขาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นภูเขาแห่งความตายแห่งนี้ กลับมีผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกแวะเวียนกันมาปีนป่ายไม่ขาดสาย ด้วยความสวยงามที่ติดอันดับโลกและการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ล่ะวันไว้ไม่มากนัก ทำให้การเดินทางมายังภูเขาลูกนี้ต้องจองคิวกันยาวเหยียดร่วมครึ่งปี
ภูเขาแห่งนี้ชื่อว่า “KINABALU”
Mount Kinabalu หรือภาษามาเลย์ Gunung Kinabalu ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว ที่รัฐซาบาห์ (รัฐนี้มีเมืองหลวง คือ โกตา คินาบาลู) เป็นมรดกโลกแห่งแรกของประเทศมาเลเซียจากยูเนสโก มีความสูง 4,095.2 เมตร ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย นายเซอร์ฮิว โลว์ (Sir Huge Low) คือนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษผู้บุกเบิกสำรวจคินาบาลูเป็นบุคคลแรกเมื่อปี พ.ศ.2394 จวบจนปี พ.ศ.2507 (ยอดสูงสุดของ Kinabalu จึงชื่อ ยอด Low Peak) รัฐบาลมาเลยเซียจึงประกาศคุ้มครองภูเขาคินาบาลูและผืนป่าโดยรอบในรูปแบบของอุทยานแห่งชาติ
การเดินทางไป Mt.Kinabalu นั้น ต้องนั่งเครื่องบินไปลงที่ สนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ (KLIA) ก่อน จากนั้นจึงต่อเครื่องไปยังเกาะบอร์เนียว เมืองโคตา คินาบาลู (เกาะบอร์เนียวเดินทางเข้าออกได้เพียงเครื่องบินเท่านั้น) เมื่อถึงเมืองโคตา ก็สามารถว่าจ้าง Taxi ไปส่งที่โรงแรมที่พักได้แต่ต้องต่อรองราคากันให้ดีๆ เสียก่อน เพราะ Taxi ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องโกงราคากันค่อนข้างมาก (เจอกับตัวมาแล้วแบบต่อหน้าต่อตาว่าแอบกดเพิ่มเงินหน้าตาเฉย) หลังจากที่เข้าที่พักเก็บสัมภาระเรียบร้อย ยังมีเวลาเหลือมากพอที่จะออกสำรวจเมืองแห่งนี้ได้แบบทั่วถึง
“โคตา คินาบาลู” นั้น เป็นเมืองชายฝั่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่รอบๆ เมืองจะเต็มไปด้วยอาหารทะเลสดๆ สารพัดชนิด ที่สนนราคาแล้วก็ถูกกว่าบ้านเรานิดหน่อย แต่ขนาดนั้นบิ๊กเบิ้มกว่าอย่างเห็นได้ชัด นอกจากอาหารทะเลสดๆ แล้ว ถัดออกมาจากชายฝั่ง จะเจอตลาดที่เต็มไปด้วยร้านของทะเลแห้งต่างๆ มากมาย มองไปก็คล้ายตลาดบางแสนบ้านเรา ถัดไปจะเป็นร้านอาหารพื้นเมืองที่เรียงรายยาวเหยียด พร้อมกลิ่นเครื่องเทศที่รุนแรงเอาการ ถ้าใครไม่ถนัดแนวนี้ก็ยังพอมีร้านอร่อยๆ ให้หาทานได้ไม่ยาก เช่นกัน
หลังจากที่เดินสำรวจเมืองและอาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มเดินหาเสบียงสำหรับอีก 3 วันข้างหน้าอย่างจริงจัง เพราะราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความสูง การที่เราเตรียมอาหารเพิ่มพลังต่างๆ จำพวก ช็อกโกแลต เกลือแร่ ขนมปัง ลูกอม ไปล่วงหน้านั้นทำให้เราได้ของในราคาปกติและไม่ต้องไปวุ่นวายหาตอนไปถึงอุทยาน เมื่อเดินวนหาซื้อของกว่า 1,800 รอบแล้วนั้น ก็ได้ข้อสรุปเรื่องอาหารและของใช้ว่าไม่ต่างจากเมืองไทยบ้านเรา มิหนำซ้ำยังราคาสูงกว่าเกือบเท่าตัว การเตรียมให้พร้อมมาจากเมืองไทย ดูจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับแบ๊คแพคเกอร์คนยากอย่างฉัน
ฉันเดินเล่นในเมืองอีกพักใหญ่ จนแน่ใจว่าได้สิ่งของที่ต้องการครบแล้ว จึงเดินกลับโรงแรมเพื่อเตรียมตัวเดินทางในวันรุ่งขึ้น ในขณะที่เดินกลับ ฉันยิ้มให้กับตัวเองแล้วคิดว่า
“แค่เดินเล่นไปมาในเมืองที่ไม่รู้จัก มันสนุกมากขนาดนี้ได้ยังไงกันนะ”
เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น ฉันออกเดินทางไปที่ Kinabalu National Park ด้วยรถตู้โดยสารเล็กๆ ที่ผ่านสงครามโลกมา 2 ครั้งถ้วน กับอัตราค่าโดยสารที่ 20 ริงกิต หรือ ประมาณ 200 บาท/คน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1:50 ช.ม อ่านหนังสือ 5-6 หน้า กับหลับอีกหนึ่งตื่น ก็ถึงที่หมายอย่างปลอดภัย
รถตู้วินเทจสุดเท่ห์คันนั้น จอดให้ลงที่หน้า Kinabalu National Park ที่อยู่บนเนินสูง คนขับเดินมาเปิดประตูพร้อมยิ้มหวาน บอกฉันว่าถึงที่หมายเรียบร้อยแล้ว เค้าชี้มือไปที่บ้านหลังเล็กๆ บนเนินขวามือ ว่าให้ฉันไปติดต่อที่พักและเอกสารที่นั่น พร้อมคำอวยพรให้โชคดีและปลอดภัย ก่อนจะกลับไปนั่งตำแหน่งคนขับ พี่โชเฟอร์ใจดีก็แถมนามบัตรให้หนึ่งใบเผื่อว่าฉันจะเซ่อร์ซ่าไม่มีรถกลับเข้าเมือง จะได้ติดต่อเค้าให้มารับได้
ฉันหยิบเป้ขึ้นหลังและรีบเดินไปหลบฝนที่ตกปรอยๆ มาตลอดทางตั้งแต่เริ่มเข้าถนนบนภูเขา เมื่อหาที่เหมาะได้ ฉันรีบลื้อกระเป๋าอย่างรวดเร็ว เพื่อควานหาเสื้อกันหนาวที่ไม่คิดว่าจะได้ใช้เร็วขนาดนี้ ทั้งลมที่พัดแรงเหมือนพายุลูกย่อมๆ บวกกับฝนที่โปรยปรายไม่ขาดสาย ทำให้หนาวสะท้านไปจนถึงไส้ติ่งตั้งแต่วินาทีแรกที่ประตูรถถูกเปิดออก
เมื่อเสื้อกันหนาวถูกใช้งานอย่างสมบูรณ์แบบเรียบร้อย สติที่กระเจิงตามแรงลมในตอนแรกก็กลับมาเข้าที่เข้าทาง ฉันสูดหายใจลึกๆ หนึ่งที แล้วยกเป้ขึ้นไหล่ ออกเดินไปตามทางที่พี่โชเฟอร์รถตู้บอกทางไว้ตอนมาถึง ก้าวเท้าออกไปด้วยความมุ่งมั่นและหัวใจที่พร้อมลุยเต็มที่!
5 นาทีผ่านไป……………..
มีเด็กไทยตัวดำๆ ยืนหอบอยู่กลางเนินทางขึ้นอุทยาน
“แค่เนินเล็กๆ ใกล้แค่แมวบิดขี้เกียจ ทำไมมันเหนื่อยขนาดนี้ฟ่ะ! อีก 2 วันข้างหน้าจะรอดชีวิตกลับมามั้ยไอ้ต่ายเอ้ย!”
หลังจากกึ่งเดินกึ่งคลานและทะเลาะกับตัวเองอยู่พักใหญ่ เงยหน้ามาอีกทีก็มายืนเป็นหมาหอบอยู่ทางเข้าเรียบร้อยแล้ว ฉันยื่นเงินค่าบำรุงอุทยาน ราคา 15 ริงกิต (สำหรับคนต่างชาติ) ให้กับเจ้าหน้าที่ เค้ามองฉันและยิ้มให้พร้อมส่งตั๋วให้เป็นหลักฐาน
“ถึงเค้าไม่ได้พูดอะไร แต่ทำไมอ๊ายยยย อายก็ไม่รู้”
ฉันเดินเข้าไปติดต่อด้านในที่ทำการเพื่อลงทะเบียนและรับกุญแจห้องพัก ซึ่งจะมีชื่อพวกเราอยู่ที่ทำการอยู่แล้ว (ลืมบอกไป ว่าครั้งนี้เรามากัน 4 คน นอกจากชายหนุ่มข้างกายที่ตามใจฉันทุกสิ่ง ยังมีน้องชายน้องสาวอีกคู่ ที่ถูกกล่อมจนเคลิ้มแล้วหลวมตัวตามมาด้วย)
การจะขึ้นเขาคินาบาลู ต้องทำเรื่องจองล่วงหน้าผ่านอินเทอร์เน็ตเท่านั้น และด้วยจำนวนคนที่ต้องการขึ้นมากกว่าจำนวนคนที่อุทยานอนุญาติในแต่ละวัน ช่างต่างกันลิบลับ ทำให้การจองคิวในครั้งนี้ กินเวลายาวนานถึง 6 เดือนเต็ม เมื่อลงทะเบียนและรับกุญแจเรียบร้อย พวกเราแบกสัมภาระทั้งหมดไปเก็บยังที่พักที่เรียกว่า “Sutera Sanctuary Lodges” เป็นห้องแบบ ดอร์ม หรือโรงนอนขนาด 6 เตียง ใช้ห้องน้ำและห้องนั่งเล่นส่วนกลางรวมกัน แต่ถือว่าสะอาดสะอ้านทีเดียว ที่สำคัญมีน้ำอุ่นให้อาบและน้ำร้อนให้ดื่มตลอดเวลา ถือว่าสวรรค์มากๆ เพราะอากาศที่นี่ค่อนข้างหนาวมาก แถมพ่วงมาด้วยฝนปลอยๆ กับลมแรงๆ ยิ่งเพิ่มความหนาวเข้าไปอีกทวีคูณ
เราทั้ง 4 คนจัดการเก็บข้าวของเรียบร้อยแล้ว และไม่มีอะไรทำ เลยออกมาเดินชมรอบๆ อุทยานโดยมีแผนที่เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่ได้มาจากพี่เจ้าหน้าที่ตอนลงทะเบียนช่วยนำทาง
“เดินเล่นกันไปก่อนนะครับ ถือว่าฆ่าเวลาก่อนถึงอาหารเย็น” พี่เค้าว่างั้น ฉันก็เลยทำตาม
พวกเราใช้เวลาพักใหญ่เดินชมนกชมไม้ตามประสา แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเวลาอีกหลายชั่วโมงกว่าจะถึงอาหารเย็น และอาการหิวจนหน้ามืดของฉันคงทนรอไม่ไหว ตอนลงจากรถตู้จำได้ว่าฝั่งตรงข้ามอุทยานมีร้านอาหารอยู่ร้านหนึ่ง พวกเราจึงข้ามถนนไปหาอะไรรองท้องก่อนถึงอาหารเย็น
เวลาเราเดินทางไปต่างประเทศ สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆ คือการสั่งอาหาร ในเมนูบอกเพียงส่วนผสม แต่เราไม่รู้ว่ารสชาติและหน้าตามันเป็นยังไง และวิธีที่ดีที่สุดตอนนี้คือ “เดา” โชคดีที่ครั้งนี้เดาถูก จึงได้อาหารที่อร่อย และราคาไม่แพงมากินแบบเอาอิ่มแทนการกินรองท้องแบบที่คิดไว้ตอนแรก (ประมาณจานล่ะ 60-80 บาท) หลังจากอิ่มข้าวแล้ว ฉันสั่งกาแฟดำร้อนๆ มาดื่มแก้หนาว ในขณะที่ดื่มกาแฟ สายตาฉันยังคงจดจ้องบนยอดเขาคินาบาลูอยู่ตลอดเวลา
“ภูเขาอะไร ทั้งน่ากลัว ลึกลับ แปรปรวน แต่กลับดึงดูดให้เข้าไปหาได้อย่างประหลาด” ฉันจ้องมองภูเขาอย่างเนิ่นนาน คล้ายเหมือนโดนมนต์สะกด ทั้งกลัว ทั้งหลงใหล
กาแฟหมดแก้วแล้ว พร้อมกับฝนที่หยุดตก ฉันเดินไปจ่ายเงินแล้วเดินกลับไปที่จุดลงทะเบียนอีกครั้งเพื่อยืนยันตัวตน และทำบัตรประจำตัวที่ต้องพกติดตัวตลอดเวลาที่ต้องเดินขึ้น-ลงเขา เจ้าหน้าที่แนะนำให้พวกเรารู้จักกับไกด์ที่จะดูแลเราตลอด 2 วันนี้ วิกกี้เป็นชายร่างเล็กสูงพอๆกับฉันและขี้อาย เค้าเข้ามาแนะนำตัวและนัดหมายเวลาเดินทางในวันพรุ่งนี้ จากนั้นจึงพาพวกเราไปทำเอกสารจนเรียบร้อย เค้าก็ขอแยกตัวกลับบ้าน
เมื่อจัดการเรื่องเอกสารอนุญาติต่างๆ เรียบร้อยแล้ว พวกเราจึงเดินกลับที่พักเพื่อจะได้อาบน้ำ และจัดแจงแยกของที่จะแบกติดตัวไปพรุ่งนี้ กับของอีกส่วนที่ฝากไว้ที่อุทยาน ฉันไม่เคยนอนโรงนอนกับคนแปลกหน้ามาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรก มันให้ความรู้สึกแปลกๆ ดีนะ ที่มีคนที่เราไม่รู้จักมานอนอยู่เตียงข้างๆ สาวผมทองวัย 20 ต้นๆ คือคนที่อยู่ข้างเตียงฉัน เธอมาคนเดียวเพื่อมาเดินขึ้นคินาบาลู พวกเราพูดคุยกันเล็กน้อย ก่อนที่เธอจะขอตัวเข้านอนตอน 5 โมงเย็นในชุดนอนบางเชี๊ยบและโนบรา! เป็นการนอนร่วมกับคนแปลกหน้าที่ทำเอาแปลกใจไปพร้อมกันด้วย
เมื่อถึงเวลาอาหารเย็นที่รอคอย พวกเราต่างจัดกันแบบเต็มเอี๊ยดและรีบเข้านอนแต่หัวค่ำ เพราะเราต้องตีนตี 5 เพื่อเตรียมตัวและทานข้าวเช้าให้เสร็จภายใน 6:30 น. และพบไกด์ตอน 7:00 น.
เช้าวันเดินทาง ฉันตื่นเร็วกว่านาฬิกาเพราะตื่นเต้น เมื่ออาบน้ำ ทานข้าวเช้าและรับอาหารกลางวันที่ทางอุทยานเตรียมไว้ให้เป็นที่เรียบร้อย ฉันจึงเดินมาพบไกด์ก่อนเวลานัดหมาย เพื่อจะได้รับบัตรป้ายชื่อที่เราต้องติดตัวไว้ตลอดเวลา 2 วันที่ขึ้น-ลงคินาบาลู สำหรับใช้เช็กชื่อตลอดเส้นทาง และเพื่อยืนยันตัวตนของเราว่ายังปลอดภัยสบายดี
เมื่อรับบัตรและเช็กชื่อรอบแรกเรียบร้อย จะมีรถมารับเราไปส่งที่ปากทางขึ้นเขาคินาบาลูที่อยู่ห่างจากอุทยานประมาณ 4 km. (เสียตังน่ะ ไม่ฟรี) เมื่อมาถึงจุดเริ่มเดิน วิกกี้ ช่วยอธิบายเส้นทางและกฏกติกาทั้งหมดให้เราฟังอีกครั้ง จากนั้นก้เซ็นชื่อ และเริ่มออกเดินทาง วิกกี้ขออนุญาติเราทานข้าวก่อน โดยที่เค้าจะรีบตามมา โดยให้พวกเราเดินกันไปเองก่อนเรื่อยๆ (หลังจากเดินมาได้ไม่นาน วิกกี้ก็ตามเราทันอย่างที่เค้าบอกจริงๆ)
เส้นทางเดิน 1 กิโลแรกยังพอมีทางเดินเรียบๆ และไม่ชันมากให้เดินอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นก็มีเพียงทางขึ้น ขึ้น และขึ้นเท่านั้นที่รออยู่ เส้นทางเกือบทั้งหมดถูกทำเป็นขั้นบรรไดไว้แล้ว แต่นักเดินป่าส่วนใหญ่มักจะบอกว่าการเดินตามขั้นบรรไดนั้นยากและทรมานกว่าเส้นทางที่ไม่จำกัดระยะก้าวขาของเรา ตลอดเส้นทางนั้นเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด วิวเบื้องหลังที่สวยบาดจิตบาดใจ กับสภาพป่าที่สลับเปลี่ยนไปมา จนทำให้บางครั้งฉันนึกย้อนถามตัวเองว่ากำลังเดินอยู่ที่ใดบนโลกกันแน่ บางช่วงป่าก็เป็นสีส้ม บ้างก็เขียว บ้างก็น้ำตาล บ้างก็แห้งแล้ง บ้างก็เขียวชะอุ่ม สลับสับเปลี่ยนไปมาตลอดทาง รวมทั้งอากาศที่ร้อนบ้าง หนาวบ้าง และหนาวมากบางช่วง ที่ทำเอาร่างกายปรับตัวไปมาแทบจะไม่ทัน ต้นไม้ และ ดอกไม้แปลกๆ ก็มีให้เห็นตลอดเส้นทาง
พวกเราใช้เวลาเดินทางทั้งหมดประมาณ 7 ชั่วโมง ก็มาถึง Laban Rata จุดพักคืนแรกก่อนขึ้นยอดคินาบาลูในวันรุ่งขึ้น ที่ Laban Rata ถือว่าเป็นจุดรวมตัวของนักเดินทางทุกคนที่ต้องมาลงทะเทียนยืนยันตัวว่าถึงที่หมายแล้ว ที่นี่ยังเป็นที่รับกุญแจที่พัก เป็นที่ทานอาหาร และ เป็นที่นัดหมายสำหรับเช้าวันขึ้นยอด ซึ่งในราคาที่พักที่จ่ายมาล่วงหน้า ได้รวมอาหารไว้แล้ว 3 มื้อ คือมื้อเย็นวันนี้ และมื้อเช้า&กลางวัน ในวันพรุ่งนี้
เมื่อลงทะเบียน, รับกุญแจ และทานอาหารเย็นเรียบร้อย พวกเราต้องเดินทางต่อไปที่ Gunting Lagadan Hut ซึ่งเป็นที่พักในคืนนี้ที่อยู่สูงขึ้นไปอีก 300 เมตร!! ณ วินาทีนี้เมตรเดียวก็ไม่อยากเดินแล้ว 300 เมตร ณ ความสูง 3,200 m. และ อุณภูมิที่ลดลงเหลือ 2 องศานั้นช่างเป็นเรื่องโหดร้ายที่สุด
หลังจากที่ลากตัวเองขึ้นมาจนถึงที่พัก ก็เตรียมแยกของที่จะติดตัวขึ้นยอดเขา โดยกระเป๋าใบใหญ่สามารถทิ้งไว้ในห้องพักก่อนได้ เมื่อกลับลงมาจากยอดเขายังมีเวลามากพอที่จะอาบน้ำเก็บของที่เหลืออีกครั้ง เพราะฉะนั้นเรื่องอาบน้ำในคืนนี้ ก็ข้ามไปก่อนเพื่อช่วยอุทยานประหยัดน้ำ อิอิ
ฉันพยายามข่มตาให้หลับในเวลา 2 ทุ่ม แต่มันก็ไม่ได้ง่ายนัก บ้านพักหลังที่ได้ มีเพื่อนร่วมทางอีกกว่า 10 ห้องซึ่งทุกคนเป็นกรุ๊ปเดียวกัน ทุกคนดูสนุกสนาน ร่าเริง พูดคุยกันด้วยเสียงดังกลบเสียงลม ฉันคงไม่รู้สึกอะไรถ้าที่นี่เป็น กลางเมืองที่มีสิ่งรื่นรมณ์ล้อมรอบตัว แต่ ณ ตอนนี้ ที่นี่คือยอดเขาที่เงียบสงบ ธรรมชาติหยุดนิ่ง สิ่งที่ผู้มาเยือนอย่างเราควรทำคือการดื่มด่ำกับความเงียบนี้ให้มากที่สุด และพึงระลึกไว้เสมอว่าที่แห่งนี้ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว
ท้ายที่สุดกว่าฉันจะข่มตาให้หลับได้ก็จบลงที่ 5 ทุ่ม และสะดุ้งตื่นมาอีกครั้งตอนเที่ยงคืนเพราะอากาศที่หนาวจัด พยายามจะนอนต่อแต่ก็หลับไม่ลงเพราะความหนาว จึงตัดสินใจลุกขึ้นแต่งตัวเดินกลับลงไปที่ Laban Rata อีกครั้ง
ฉันนั่งทานอาหารเช้าในเวลาตี 1 การต้องกินอาหารแบบผิดเวลาขนาดนี้ทำให้ต้องฝืนใจกันพอดู สุดท้ายก็ฝืนหยิบขนมปังกินไปหนึ่งชิ้นกับกาแฟหนึ่งแก้ว หลังจากนั้นไม่นานฉันเริ่มปวดหัว ไม่แน่ใจว่าจากอาการแพ้ที่สูงหรือจากการอดนอนกันแน่ ฉันโยนยาแก้ปวดและยาลดความดันเข้าปากไป 2 เม็ด วิกกี้ก็เดินยิ้มผ่านประตูเข้ามาหลังจากที่ฉันกระดกน้ำอึกสุดท้ายพอดี วิกกี้ให้เวลาเราอีก 10 นาทีเพื่อเตรียมตัว แล้วเริ่มออกเดินทางขึ้นยอดตอนตี 2 กับอากาศ 0 องศา พร้อมความมืดสนิทรอบตัวเรา
ฉันเดินตามวิกกี้ไปเรื่อยๆ และสังเกตุเห็นป้ายที่คุ้นตา เหมือนป้ายหน้าบ้านพัก ใช่! มันคือทางเดียวกับทางขึ้นยอดเขา
“ก็ดีน่ะ เดินขึ้น เดินลง เหมือนได้วอล์มขาไปในตัว” คำพูดในหัวที่ใช้ปลอบใจตัวเอง
ฉันเดินตามแสงเล็กๆ จากไฟฉายคาดหัวที่พกมาจากเมืองไทย ด้วยจำนวนคนและความมืดทำให้การเดินเป็นไปอย่างเชื่องช้าในช่วงแรก และยิ่งช้ากว่าเดิมเมื่อทางเดินเริ่มเปลี่ยนจากบรรไดเป็นพื้นหินภูเขา ฉันมองอะไรไม่เห็นนอกจากเชือกสีขาวเส้นใหญ่ที่วิกกี้ยื่นให้ พร้อมเสียงกำชับ
“จับให้แน่นอย่าปล่อย ค่อยๆ เดินไปตามเชือก มองแค่เชือก เดินช้าๆ ไม่ต้องรีบ”
ฉันทำตามอย่างว่าง่าย วิกกี้เดินอยู่ข้างๆ ฉันตลอด โดยไม่ได้แตะต้องเชือกแม้แต่นิดเดียว
“ก็ไม่เห็นมีอะไรเลยหนิ วิกกี้ก็เดินได้ปกติไม่เห็นต้องจับเชือก” ฉันแอบสงสัยในใจ
ตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินบนเส้นทางนี้ ช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาที่เดินยากที่สุด ทรมานที่สุด หนาวที่สุด เหนื่อยที่สุด ระยะทางแค่ 2 km. แต่ใช้เวลาเดินขึ้นมาถึง 4-5 ชั่วโมง จากที่คิดว่าตัวเองแข็งแรงมาตลอด ณ ตอนนี้ ฉันเดินได้ครั้งล่ะ 3-4 ก้าวก็ต้องหยุดเพราะลมแรงที่หนาวบาดใจ ยิ่งเดินสูงขึ้นออกซิเจนในอากาศก็ยิ่งบางเบา ฉันปวดหัวแทบระเบิด ต่อสู้กับอาการแพ้ที่สูง ความมืด ความหนาว สติฉันแตกกระเจิง สับสน เริ่มสงสัยว่านี่คือเรื่องจริง หรือกำลังฝัน รอบๆ ตัวมันดูไกลความจริง มันเบลอๆ ยังไงบอกไม่ถูก
ฉันก้มหน้าก้มตาเดินพร้อมทะเลาะกับตัวเองมาอย่างทรมาน ในที่สุดก็ถึงยอด South Peak ที่ความสูง 3,933 m. “เย่ๆๆๆ ถึงแล้วววววว” ฉันตะโกนสุดเสียง
“ใกล้แล้วกะต่าย อีกแค่ 600 เมตรก็ถึงยอด Low Peak แล้ว” เสียงพี่ปั้น ชายหนุ่มที่เดินข้างกายฉันมาตลอดทาง เสียงที่ดับความดีใจของฉันไปชั่วขณะ
“อ้าว นี่มันยังไม่ถึงหนิ”
“เอ๊า! ไปก็ไป เดินให้มันถึง ทำให้มันจบๆ ไป” เป็นอีกครั้งที่ต้องสะกดจิตตัวเอง
ฉันเดินๆ หยุดๆ เพราะหายใจไม่ออกและปวดหัว ไออากาศเย็นที่สูดเข้าปอดยิ่งเพิ่มความหนาวเป็นทวีคูณ ฉันหยิบเสื้อกันฝนมาใส่ ฝนไม่ได้ตก ฉันแค่ต้องการหาสิ่งใดก็ได้มาใส่เพื่อเพิ่มความอุ่นให้ร่างกายแม้เพียง 1 องศาก็ตาม ตอนเตรียมของที่เมืองไทยก็มั่นใจมาตลอดว่าเตรียมเครื่องกันหนาวมาเพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริง เสื้อที่หนาแต่ไร้คุณภาพตัวนี้ แทบจะให้ไออุ่นไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
เสื้อกันฝนราคาถูกขาดเป็นเสี่ยงๆ จากแรงลม ฉันหยุดเพื่อเก็บเศษเสื้อกันฝนที่ขาดไม่เป็นชิ้นดีใส่กระเป๋า มองไปที่เส้นขอบฟ้าและภาวนาให้พระอาทิตย์มาทำงานก่อนเวลา และในขณะที่ต่อสู้กับตัวเองอย่างหนัก เสียงสวรรค์ก็เกิดขึ้น
“ส่งมือมากะต่าย เราถึงยอดแล้ว” พี่ปั้นพูด พร้อมยื่นมือมาดึงฉันให้ข้ามหินก้อนสุดท้าย
ฉันเงยหน้ามองป้ายบอกความสูงที่ 4,095.2 เมตร ฉันอยู่ที่นี่แล้ว! สำเร็จแล้ว! ยอด Low Peak ที่นั่งเพ้อหามากว่า 6 เดือน อยู่ที่ตรงนี้แล้ว!
“ Low Peak! ถึงแล้วโว๊ยยยยยยยยยย” ฉันตะโกนสุดเสียงจนคนรอบข้างพากันหัวเราะและปรบมือให้ ฉันนั่งลงข้างๆ ป้ายและมองหาน้องอีก 2 คนที่มาด้วย
“เจ้! บอลไม่ไหวแล้ว หนาวเหมือนจะขาดใจ” น้องที่มาด้วยกันตะโกนบอก
“ต้องไหวดิว่ะ” พี่ปั้นตะโกนตอบ พร้อมเดินกลับไปรับ โดยมีวิกกี้ที่ทั้งดึงและดันให้น้องอีก 2 คนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้ไปให้ได้
15 นาทีต่อมา เราทั้ง 4 คนก็มานั่งอยู่ข้างป้าย และตะโกนกันอย่างบ้าคลั่ง ภาพ 360 องศาของพวกเราสวยงามจนไม่รู้จะเทียบกับอะไร และไม่รู้จะอธิบายถึงความรู้สึก ณ วินาทีนั้นยังไงจริงๆ
ฉันหลบมุมมานั่งข้างๆ รั้วที่กั้นเขตอันตราย มองไปรอบๆ แล้วทำให้คิดถึงเรื่องราวของภูเขาแห่งนี้ที่ได้รับรู้มา
“ชาว saba ยกย่องภูเขาคินาบาลู ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สถิตย์ของพระเจ้า การได้ขึ้นมาถึงยอดเขาและได้สวดมนต์บนยอดเขาแห่งนี้ ถือเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ราวกับว่าตนนั้นได้อยู่บนสรวงสวรรค์”
ฉันไม่แปลกใจเลยที่ชาว saba จะคิดเช่นนั้น เพราะจากภาพที่เห็น ที่นี่ ลึกลับ น่าเกรงขาม และสวยงามเหลือเกิน
พวกเราชื่นชมความงามอยู่ได้เพียงไม่นานก็ต้องกลับลงมาเพราะอากาศที่หนาวจัด วิกกี้แนะนำวิธีเดินลงให้เราแบบไม่ทำให้เจ็บเข่าจากความชัน ด้วยการเดินเฉียงไปเฉียงมาเหมือนปู เพื่อลดการเกร็งของขาและเข่า ฉันเดินเพลินๆ เพราะสนุกกับการเดินลงแบบใหม่ จนเงยหน้ามาอีกครั้ง
“โคตรสวย! เห็นเมืองทั้งเมืองหมดเลย”
ตอนนี้ฟ้าสว่างหมดแล้ว วิวตอนขาลงจึงถือเป็นรางวัลที่ยอมปีนป่ายฝ่าความมืดมาเมื่อคืน ฉันเดินมาเรื่อยๆ และได้เห็นเส้นทางที่โหนเชือกมาเมื่อเช้ามืด มันเป็นหน้าผาและเหวลึกเกือบทั้งหมด! เอาเข้าจริง ความมืดก็มีประโยชน์น่ะ อย่างน้อยก็ในแง่ของจิตใจ ตอนนี้ฉันเข้าใจแล้ว ว่าทำไมวิกกี้ถึงย้ำนักหนาว่าอย่าปล่อยเชือกและให้มองเพียงเชือกเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้แปลกใจยิ่งกว่า คือวิกกี้สามารถเดินขอบหน้าผาโดยแทบจะไม่มองทางได้ยังไง! คิดไปก็เดินขาสั่นๆ ไปด้วย เมื่อผ่านขอบเหวมาได้วิกกี้ให้เราเร่งฝีเท้าเพื่อลงมาให้ทันอาหารเช้าที่ Raban Rata
สำหรับการเดินลงนั้นใช้เวลาไม่นานพวกเราก็มาถึงที่พัก ต่างคนต่างแยกย้ายไปเก็บข้าวของ อาบน้ำ และลงมาทานอาหารที่ Raban Lata ได้ทันเวลา ก่อนที่จะเดินกลับอุทยานแบบรวดเดียวจบ
ในช่วงแรกฉันคิดในใจว่าตอนลงน่าจะสบายกว่าขาขึ้นมาก แต่ตรงข้าม การเดินนวดขามาทั้งวันทั้งคืนทำให้เวลาเดินลงที่ต้องเกร็งขาตลอดเวลา ก่อให้เกิดอาการปวดหน้าขาและเข่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังโชคดีที่มีเจ้าไม้เท้าที่คอยพยุงเข่าไม่ให้กระแทกมากนักเวลาก้าวขาลงแต่ล่ะข้าง
พวกเราเดินมาถึงอุทยานในเวลา 4 โมงเย็นในสภาพหิวโซ วิกกี้พาฉันและทีมมาลงทะเบียนครั้งสุดท้ายเพื่อยืนยันว่าเรากลับมาถึงแล้วอย่างปลอดภัย วิกกี้ให้เราพอเค้าสักครู่ เพียงอึดใจเดียว วิกกี้กลับมาพร้อมใบประกาศนียบัตรที่มีชื่อพวกเราพิมพ์อยู่ในนั้นเรียบร้อย มอบให้แต่ละคนเป็นของที่ระลึกและยืนยันว่าเราเดินทางถึงยอด Low Peak สำเร็จแล้วนั่นเอง
เมื่อกล่าวขอบคุณและร่ำลากันเป็นที่เรียบร้อย เราทั้ง 4 ก็พุ่งตัวไปร้านอาหารตรงข้ามอุทยานและกินทุกอย่างที่ขวางหน้าก่อนที่จะกลับมาเก็บสัมภาระที่ฝากไว้ที่อุทยานเมื่อวันก่อน และเดินทางกลับลงไปที่เมืองโคตา โดย Taxi สนนราคา 80 ลิงกิต เพราะไม่มีรถตู้โดยสารให้เห็นเลยแม้แต่คันเดียว
ในขณะที่กำลังเดินทางกลับเข้าเมืองโคตา ภาพยอดเขาคินาบาลูยังอยู่ตรงหน้า ฉันมองยอดเขาอย่างเนิ่นนานเหมือนครั้งแรกที่เห็น พระอาทิตย์กำลังจะตกดิน ฟ้าถูกย้อมไปด้วยสีส้มสวย ทำให้ภูเขาสีดำลูกนั้นดูอบอุ่นขึ้นอย่างน่าประหลาด
“ฉันไม่กลัวเธอเหมือนตอนแรกแล้วนะ”
สายตาฉันจับจ้องที่ภูเขาจนลับตา ไม่น่าเชื่อว่าขึ้นไปอยู่บนยอดนั้นมาแล้ว “คินาบาลู” สอนให้รู้ว่า
“ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ถ้าเราตั้งใจ”
และยอดเขาสีดำสูงเสียดฟ้ายอดนี้ จะอยู่ในหัวใจและความทรงจำของฉันตลอดไป
** ภูเขาแห่งความตาย – ชื่อนี้มาจากในอดีตการจะขึ้นยอดคินาบาลู 1 ครั้งต้องบูชาด้วยการเชือดไก่ 1 ตัว เพื่อเป็นการขออนุญาติภูเขาให้เปิดทาง และคุ้มครองพวกเค้าให้ปลอดภัย แต่ในปัจจุบันจะมีพิธีบูชาเพียงครั้งเดียวโดยใช้ไก่ 12 ตัว ถือว่าเป็นประเพณีของที่นี่เพื่อแสดงความเคารพต่อภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
**สิ่งก่อสร้างทุกอย่างตลอดเส้นทางขึ้นคินาบาลู ใช้แรงคนแบกทุกอย่างขึ้นไปทั้งหมด
**เมืองโคตา คินาบาลู มีฝนตกแทบจะตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอากาศบนยอดเขาที่แปรปรวนตลอดเวลา
**อากาศบนยอดคินาบาลูลดต่ำได้จนถึง -6 องศาในฟ้ามืด และพุ่งขึ้นสูงได้ถึง 40 องศาได้เมื่อพระอาทิตย์เริ่มทำงาน
**การเดินทางไปคินาบาลูต้องจองล่วงหน้าผ่านอินเทอร์เน็ตเท่านั้น
**ก่อนเดินทางควรเตรียมร่างกายและอุปกรณ์กันหนาว, กันฝน ให้พร้อม
**ควรเตรียมของใช้และของกินบางส่วนไปจากเมืองไทย เพราะของใช้ที่โคตานำเข้าจากไทยและราคาสูงกว่าเท่าตัว
**Taxi ที่โคตา มักโกงราคานักท่องเที่ยวเสมอ ควรศึกษาราคาให้แน่นอนก่อนใช้บริการ
**เมืองโคตา คินาบาลู มีแหล่งดำน้ำที่สวยติดอันดับโลก
**เมืองโคตา เป็นเมืองแห่งทุเรียน
**เมืองโคตา มีสแตมป์ขายเพียงที่เดียวคือที่ไปรษณีเท่านั้น
**ห้องน้ำสาธารณะที่นี่ ค่อนข้างทำร้ายจิตใจมากเลยทีเดียว
**เมื่อเรายืนตรงกลางเมืองโคตา ฝั่งขวาจะเจริญสุดๆ ในขณะที่ฝั่งซ้ายนั้นโลเคิ่ลสุดๆ เช่นกัน
**น้ำเปล่าที่นี่ราคาแพงกว่ากาแฟเย็น
Rabbit
อยากสอบถามเรื่อง Agent ครับผม ว่าใช้ของอะไรครับ (อยากทราบราคาด้วยครับ)