Saturday, December 9, 2023
Homeชีวิตและการเดินทางแคนูแค้มปิ้งลำน้ำน่าน

แคนูแค้มปิ้งลำน้ำน่าน

-

เรื่อง: ธัชรวี หาริกุล
ภาพ: นัท สุมนเตมีย์

“ล่องแก่งแม่น้ำน่านที่พ่อเคยไปนะ สวยมาก สองข้างลำน้ำเป็นป่าตลอดทาง น้ำใสมองเห็นพื้นล่าง ปลาเยอะแยะหากินได้แทบทุกมื้อ ที่นอนก็เป็นหาดทรายสวย ตอนเช้าๆมีนกยูงลงมารำแพนให้เห็นเลย”

ผมได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับการล่องแก่งแม่น้ำน่านมาตั้งแต่เด็กเป็นเวลาหลายสิบปีจนรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นนิยายปรัมปะรา


เท่าที่จำความได้ พ่อพาเพื่อนๆไปล่องแก่งที่น่านกันหลายครั้ง แต่ผมด้วยความที่เป็นลูกชายคนเล็กที่ห่างจากพี่ๆมากจึงเด็กเกินไปที่จะไปด้วย ทุกครั้งพี่ๆและลุงๆทั้งหลายกลับมาถึงก็จะมีเรื่องเล่ามากมายมาฝากเด็กน้อยที่นั่งคอยอยู่ที่บ้าน

เมื่อผมโตขึ้น พื้นที่ป่าในจังหวัดน่านก็กลายเป็นพื้นที่อันตรายของความขัดแย้งทางการเมืองอยู่นับสิบปี หลังจากนั้นเมื่อถามพ่อเกี่ยวกับเส้นทางสายนี้ พ่อก็บอกว่าคนที่มีเรือพาเที่ยวได้ต่างก็เลิกรากันไปหมดแล้ว

จนถึงตอนนี้ พ่อจากผมไปสองปีแล้ว ผมเองตระเวนไปทั่วสารทิศแต่กลับไม่เคยไปล่องน้ำน่าน ลำน้ำที่ฝังใจอยากไปมาแต่เด็ก

หากแต่ว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีข่าวคราวของน้ำสายนี้ว่าเปลี่ยนแปลงไปเช่นใด เพื่อนๆพ่อที่เคยไปเที่ยวด้วยกันก็จากไปหมดแล้ว รุ่นที่เด็กหน่อยก็ไม่มีใครจำได้ว่าเดินทางไปที่ไหนอย่างไรบ้าง ดังนั้นการเดินทางครั้งนี้ของผม โดยส่วนตัวแล้ว เปรียบเสมือนการออกไปตามหาบางสิ่งบางอย่างในนิยายปรัมปะรา ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามันจะยังคงมีอยู่จริง

1. สายน้ำที่ถูกลืม

ผมเข็นเรือแคนูลำใหม่สีแดงสดออกจากฝั่งแล้วกระโดดขึ้นเรือ พร้อมกับชูพายขึ้นและตะโกนลั่นลำน้ำ

“ไปแล้ว” ดูเหมือนว่านี่จะเป็นประเพณีของพวกเราที่กระทำเพื่อปลุกปลอบใจให้ฮึกเหิมทุกครั้งที่ออกสำรวจลำน้ำใหม่ๆ

_MG_9753

หมู่บ้านพระเนตรในเขตอำเภอเวียงสา เป็นหมู่บ้านสุดท้ายบนลำน้ำน่านก่อนจะไหลผ่านเข้าไปสู่ป่าใหญ่ ในทริปนี้เราโชคดีที่ได้ชาวบ้านพระเนตรสามคน พี่จร, ลุงเสริม และเจ้าโหน่งมาเป็นเพื่อนร่วมทางพาเราไป

สายน้ำน่านในช่วงแรกไหลเอื่อยผ่านไร่นาสองข้างทาง ชาวบ้านที่ตากแหตากตาข่ายอยู่ริมน้ำต่างโบกมือทักทายเรา

_MG_9870

คณะของเรามีกันทั้งหมด 8 คนออกเดินทางกันมาด้วยเรือแคนูสามลำและเรือคายัคอีกหนึ่งลำพร้อมด้วยข้าวของเครื่องใช้ทั้งหมดที่เราจะไปแค้มป์กันในเวลาสามวันสองคืนตลอดลำน้ำนี้

“ลุงครับ ทำไมตอนนี้หน้าแล้งแล้ว น้ำยังขุ่นอยู่เลย ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆมาเล่นน้ำ น้ำน่านใสมากจนมองเห็นพื้นล่าง”  ผมถามลุงเสริมหลังจากสังเกตน้ำรอบๆตัว

“เดี๋ยวนี้มีท่าดูดทรายตั้งแต่ในเมืองจนมาถึงเวียงสานี่ ถ้าตอนสงกรานต์เขาหยุดดูดทรายไม่กี่วันน้ำก็ใสเหมือนเมื่อก่อน” คำตอบนั้นทำให้เข้าใจได้ถึงความเปลี่ยนแปลง

พายเรือออกจากหมู่บ้านมาราวชั่วโมงเศษ บรรยากาศสองข้างทางเร่ิมเปลี่ยนเป็นป่ามากขึ้นและเราก็ได้มาพบกับแก่งแรก

“แก่งนี้ชื่อแก่งพวก  เรือพวกผมมาล่มกันตรงนี้หลายลำแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะล่มตอนขาขึ้นทวนน้ำ ขาล่องแบบนี้ไม่เท่าไหร่หรอก”​ลุงเสริมนายท้ายเรือของผมบอก

_MG_9941

เรือโยนไปตามคลื่นที่ทำให้เห็นราวกับว่าแม่น้ำทั่งสายกำลังเดือด น้ำสาดเข้าเรือพอให้เปียกกันบ้าง แต่เรือของเราผ่านแก่งพวกไปทีละลำโดยที่ไม่มีใครลงไปว่ายน้ำเล่น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะฝีมือการพายเรือของพี่จรและเจ้าโหน่งที่เป็นฝีพายเรือแข่งประจำหมู่บ้าน ส่วนลุงเสริมนั้นก็ช่ำชองลำน้ำสายนี้มามากกว่าใครเพื่อน

_MG_0969

แม่น้ำน่านเคยเป็นเส้นทางหลักทางเดียวที่จะไปมาหาสู่เมืองน่านได้ก่อนที่จะมีถนน ผู้เดินทางจะต้องล่องผ่านแก่งมากมาย ใช้เวลาหลายวันกว่าจะเดินทางถึงเมืองอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ทางใต้ลงไป เมื่อถนนสะดวกขึ้นย่นเวลาเดินทางเหลือเป็นเพียงไม่กี่ชั่วโมงและมีเขื่อนสิริกิตติ์ขวางลำน้ำ เส้นทางนี้ก็ถูกลืมเลือนจนแทบจะไม่มีใครผ่าน เช่นเดียวกับสายน้ำอื่นๆอีกมากมาย

เราพายเรือเกาะหมู่คุยกันเฮฮาไปเรื่อยสลับกับการล่องแก่งต่างๆเป็นระยะๆ แก่งค้าเป็นแก่งใหญ่อีกแห่งสร้างความตื่นเต้นให้กับพวกเรา จนเรือแคนูลำหนึ่งเกือบจะเอียงคว่ำ แม้จะรอดมาได้อย่างปลอดภัยแต่ก็รับน้ำเข้าไปเกือบเต็มลำเรือ

ก่อนเย็นวันนี้เราจอดเรือปลงแค้มป์กันที่ “เกาะละกอ” เกาะกลางน้ำที่มีหาดทรายเรียบอยู่ทางหน้าเกาะและแก่งเล็กสองข้างซ้ายขวา ห้อมล้อมไว้ด้วยป่าใหญ่สองข้างลำน้ำ สายน้ำน่านที่จุดนี้ใสขึ้นบ้างเพราะห่างไกลมาพอควร

IMG_5905

หลังจากจัดเตรียมแค้มป์ ผมและมิตรสหายนั่งลงแช่น้ำท่ามกลางสายแดดยามเย็นที่กำลังจะลับเหลี่ยมเขา ผมนอนลงปล่อยให้น้ำไหลผ่านทุกส่วนของร่างกายพัดพาเอาความร้อน, ความเหนื่อยล้า หรือแม้แต่ความทุกข์ความกังวลทั้งหลายออกไปจากตัวและจากใจ เวลาเช่นนี้คือช่วงเวลาที่ผมชอบที่สุดของการเดินทางไม่ว่าจะเป็นการเดินป่าหรือล่องเรือ

เมื่อลุกขึ้นนั่งผมสัมผัสได้ถึงความสงบของธรรมชาติรอบๆตัว จะมีก็เพียงเสียงนกร้อง, เสียงน้ำไหล และเสียงปลาที่กระโดดขึ้นผิวน้ำเป็นครั้งคราว ทุกครั้งที่ได้สัมผัสบรรยากาศเช่นนี้ผมจึงเข้าใจได้ว่าทำไมผมจึงต้องดั้นด้นออกมานอนกลางดินกินกลางทรายอยู่ร่ำไป

_MG_0259

ดูเหมือนผมจะค้นพบแล้วว่าแคนูแค้มปิ้งเป็นการเดินทางที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการแสวงหาความสุขสงบท่ามกลางธรรมชาติ และยังมีสายน้ำอีกมากมายในประเทศไทยที่รอจะให้เราเที่ยวและสำรวจเส้นทาง

_MG_0282

2. แม่น้ำแห่งชีวิต

พี่จรและโหน่งพายเรือออกไปเก็บข่ายที่วางไว้ไม่ห่างจากแค้มป์ตั้งแต่เมื่อคืน

พอกลับเข้าฝั่งมาก ก็ได้ปลาตะเพียนแดง, ปลาสร้อยตัวโตๆ และปลาตะโกก มาพอที่จะให้เราเป็นอาหารสดกันในวันนี้

IMG_5995

“ช่วงหน้าแล้งนี่ผมก็ออกมาหาปลาเกือบทุกวันนะ ก็มีแต่หมู่บ้านผมนี่แหละที่หาปลากินกันอยู่ในแม่น้ำน่าน” พี่จรเล่าให้ฟังขณะที่นั่งแกะปลาออกจากข่าย แม่น้ำน่านสายนี้หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านพระเนตรทั้งไร่นาและเป็นแหล่งอาหารมาเนิ่นนาน

IMG_6024

เส้นทางในวันที่สองนี้เราผ่านป่าลึกเข้าไปเรื่อยๆ ไม่มีไร่ข้างทางให้เห็น การเดินทางยามเช้าให้โอกาสเราสัมผัสความสงบและงดงามของลำน้ำน่าน  หมอกจางๆปกคลุมลำน้ำและเนินเขาสอง

ข้างปรากฏเป็นภาพงามอยูรอบตัว เสียงนกร้องระงมไปทั้งป่าสองข้างทาง สลับด้วยเสียงขันของไก่ป่าเป็นระยะๆ เงียบเสียจนเราได้ยินเสียงเรือแหวกน้ำดังราวกับน้ำไหลรินจากซอกเขา, เสียงพายที่จ้วงน้ำ หรือแม้กระทั่ง เสียงหยดน้ำที่หยดจากพาย

ในสภาวะเช่นนี้ความเงียบสงบภายในย่อมเกิดขึ้นพร้อมๆกับภายนอก และเป็นโอกาสเหมาะที่เราจะได้รับฟังความฝันที่ซ่อนอยู่ในใจเราเองบ้าง

“ตรงนี้ชื่อแก่งชะลัง” ลุงเสริมบอกเมื่อเราผ่านแก่งเล็กๆแห่งหนึ่ง สองข้างเป็นหาดทราย หนานุ่มน่านอนพักไม่ใช่น้อย

_MG_0953

“ตรงนี้นกยูงมักจะออกมาให้เห็นเป็นประจำ แต่ต้องเช้าๆกว่านี้หน่อย ถ้าพายเรือกันมาเงียบๆได้เห็นแน่”​ลุงเสริมชี้ไปที่หาดกว้างสองข้างแก่ง ดูเหมือนเรื่องเล่าจากพ่อเมื่อเกือบสี่สิบปีก่อนยังคงจะมีเหลืออยู่ให้ค้นหา

เราแวะจอดข้างทางเพื่อให้ลุงเสริมได้กรอกน้ำที่ไหลรินมาจากลำห้วย ในยามหน้าแล้งเช่นนี้ลำห้วยสายย่อยที่ไหลมาลงสู่แม่น้ำน่าน ต่างแห้งเหือดไปเกือบหมดแล้ว จะมีเพียงบางห้วยเท่านั้นที่ยังพอมีน้ำซึมผ่านทรายออกมาให้ต่อกระบอกต่อรางไว้ให้คนผ่านทางได้ดื่มกิน

สายลมเย็นพัดสวนทางมาทำให้ต้องเพิ่มแรงพายอีกไม่น้อย แต่ก็เพิ่มความสดชื่นให้กับเราในยามที่แดดส่องจ้าขึ้นเรื่อยๆ

ปลาขึ้นจิบน้ำให้เห็นตลอดทาง สังเกตจากวงน้ำที่แตกกระจายพอทำให้ผมตาดเดาได้ว่าแต่ละตัวมีขนาดใช้ได้ทีเดียว

“ปลาเยอะจริงๆครับ” ผมพูดขึ้น

“ก็พอหากินได้ไม่เคยขาดนะ ยิ่งมาปีนี้ปลาเยอะมาก น้ำจากในเขื่อนล้นสูงขึ้นมาท่วมแก่งหลวง ปลาในเขื่อนเลยว่ายย้อนขึ้นมาทางเหนือน้ำได้เยอะ พวกผมพอได้หากินกัน” ลุงเสริม นายท้ายเรือของผมตอบมาเรียบๆ

_MG_0923

เรือหาปลาที่เป็นคนบ้านเดียวกับลุงเสริมวิ่งสวนมาและหยุดทักทาย สอบถามว่าพวกเราจะไปเที่ยวไหนกัน

“พาเปิ้นไปแอ่วแก่งโน้น” ผมเห็นรอยยิ้มเต็มลำเรือเมื่อลุงเสริมบอกว่าเราจะไปไหน ภาพคนพายเรือไปเที่ยวแก่งไกลโพ้นยังเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีให้เห็นในแม่น้ำน่านตอนนี้

ผมมองเห็นปลาแทบจะเต็มท้องเรือ ทั้งปลาคัง และปลากรายตัวใหญ่ๆ,ปลากาดำตัวอ้วนพี และยังมีปลาสร้อยอีกเต็มถุงใหญ่ ว่าก็ว่าเถอะผมไม่เคยเห็นปลาสร้อยที่ไหนตัวโตเท่าที่นี่มาก่อน

ก่อนแยกจากกันคนในเรือก็ส่งปลากาดำตัวโตให้เราไปเป็นเสบียงหนึ่งตัว การแบ่งปันและความสัมพันธ์ที่งดงามเช่นนี้ดูเหมือนจะหาได้ยากมากแล้วในสังคมของเมืองใหญ่

แก่งกระโทยเป็นแก่งที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งของลำน้ำช่วงนี้ แก่งที่กว้างและเต็มไปด้วยหินก้อนย่อมๆ จนทำให้น้ำที่ใสอยู่แล้วนั้นเป็นประกายระยิบระยับเมื่อต้องแสงแดดเกิดเป็นทิวทัศน์ที่งดงามนัก

_MG_0965

_MG_0525

“นั่นไงผาชู้” ลุงเสริมชี้ให้ดูยอดเขาสูงที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังแห่งหนึ่งของจังหวัดน่านในเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ผมเองก็เคยยืนอยู่ที่นั่นและมองลงมาเห็นแม่น้ำน่านทางเบื้องล่างพลางสงสัยว่านี่คือแม่น้ำน่านที่พ่อเคยเล่าให้ฟังหรือเปล่า การเดินทางครั้งนี้ก็ให้โอกาสเราได้มองเห็นผาชู้ด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป

_MG_0665

ผ่านแก่งมาไม่นานเราก็มาถึงผาขวาง แนวหินใหญ่ที่ขวางลำน้ำให้เปลี่ยนทิศอ้อมโค้งไปรอบหิน เมื่อปีนขึ้นไปก็เป็นจุดชมวิวในมุมสูงที่สามารถมองเห็นลำน้ำน่านไปจนสุดสายตา ในขณะที่ร่มเงาของไม้ใหญ่ฝั่งตรงข้ามผาขวางก็เป็นมุมพักผ่อนให้เราลงเล่นน้ำและผูกเปลนอนเอาแรงกันอีกพักใหญ่

_MG_0510

เย็นวันนั้นเราปลงแค้มป์กันที่ “วังแคว่น”  ที่มีหาดทรายนุ่มหนาให้เรากางเต๊นท์นอนกันอย่างสบาย

สุงเสริมก่อไฟนึ่งข้าวเหนียว ขณะที่พี่จรหั่นปลากาดำตัวใหญ่ โหน่งก็เอาปลาสร้อยตัวเขื่องๆที่ได้มาเสียบไม้ปิ้งกับกองไฟ

_MG_0707

_MG_0219 _MG_0822

เราล้อมวงกันบนหาดริมน้ำและข้างกองไฟ

“ข้าวเหนียวนี่จากนาผมเองนะ” พี่จรวางกระติบใส่ข้าวเหนียวที่สุกมาร้อนลงข้างหน้า

ปลากากลายมาเป็นแกงส้มและลาบปลารสเด็ด ปลาสร้อยปิ้งหอมกรุ่นถูกรูดลงจากไม้มาที่กลางวง

“นี่ครับเกลือจากบ่อเกลือเมืองน่าน” พี่จรวางเกลือหนึ่งกำมือลงข้างๆปลา

เกลือจากแหล่งธรรมชาติในอำเภอบ่อเกลือของจังหวัดน่านนั้นรสชาติต่างไปจากเกลือทะเลที่เราคุ้นเคย ยิ่งจิ้มเข้ากับปลาย่างใหม่ๆหอมกรุ่นและข้าวเหนียวร้อนๆแล้วยิ่งเข้ากันดีเหลือเกิน จนคุณบี เชฟใหญ่ของเราจากเมืองกรุงยังปฏิเสธที่จะเอากับข้าวที่เตรียมมาออกมาทำ

เราเข้าล้อมวงกันราวกับญาติมิตร คว้าข้าวเหนียวมาปั้น แบ่งปลาปิ้งให้แก่กัน และซดน้ำแกงจากหม้อใบเดียวกัน การที่พายเรือด้วยกันมาแล้วสองวันดูเหมือนจะทำให้ช่องว่างที่มีอยู่อย่างเห็นได้ชัดในวันแรกที่เราได้พบเจอกับเพื่อนชาวบ้านพระเนตรเริ่มลดน้อยลง

_MG_0267

อาหารริมน้ำน่านมื้อนั้นล้วนแล้วแต่มาจากความเอื้ออาทรของธรรมชาติที่ยังคงอยู่ หากเพียงเราไม่โลภจนทำร้ายธรรมชาติด้วยการตักตวงกันจนเกินไป วิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติอย่างเรียบง่ายและงดงามเช่นนี้ก็คงจะดำรงอยู่และมีโอกาสให้คนเมืองได้ไปสัมผัสบ้าง

“พ่อผมเคยมาล่องแก่งที่นี่ตั้งแต่ปี 2517 เล่าให้ผมฟังมาตลอดว่าป่าที่นี่สวยมาก ตอนนั้นป่าน่าจะทึบกว่านี้มากซิครับ” ผมถามลุงเสริมผู้ที่อยู่กับลำน้ำน่านมาตลอดชีวิต

“โอ้ ทึบกว่านี้มากเลยคุณ สัตว์ป่าก็เยอะมาก สมัยนั้นผมกำลังเป็นหนุ่มก็มาหาปลาตลอดแม่น้ำนี่แหละ”

จากที่ผมเห็นป่าสองข้างทางลำน้ำโปร่งโล่งไปมาก ในช่วงต้นของการเดินทางหลายแห่งกลายเป็นไร่ข้าวโพด ในปีนี้ที่ข้าวโพดราคาดีดูเหมือนว่าไร่ก็จะคืบคลานเข้ามาอีก

“สัตว์ป่าเดี๋ยวนี้ก็ยังมีให้เห็นนะ เก้ง กวาง เลียงผา ยิ่งหมูป่า ไก่ป่านี่เยอะมาก นกยูงก็เห็นลงมาริมน้ำกันอยู่บ่อยๆ เดี๋ยวนี้เป็นเขตอนุรักษ์แล้ว ดูเหมือนสัตว์จะกลับเยอะขึ้นมามาก ถ้าเราพายเรือมาเงียบๆอย่างนี้ตอนเช้าๆน่าจะมีโอกาสเห็นได้บ้าง” ลุงเสริมกล่าวต่อ

แม้จะประกาศพื้นที่เป็นเขตอนุรักษ์แต่นั้นรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้ก็ไม่ได้แก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านที่ต้องอยู่ต้องกินในโลกที่ “ค่าครองชีพ” สูงขึ้นทุกวัน ทุกอย่างในเขตอนุรักษ์ดูเหมือนจะเป็นสิ่งต้องห้ามไปหมดจนคนในพื้นที่ย่อมต้องสงสัยว่าอนุรักษ์ไว้ให้ใครและเขาผู้ที่เคยพึ่งพาอาศัยธรรมชาติมาตลอดจะได้อะไรจากมัน คำถามเช่นนี้หากไม่มีคำตอบย่อมนำไปหาความขัดแย้งบนความย่อยยับของธรรมชาติ

หากจัดการให้ดี การท่องเที่ยวด้วยการล่องเรือพายและแค้มปิ้งจะสามารถพาคนเข้ามาชื่นชมธรรมชาติของน้ำน่านโดยไม่ต้องก่อสร้างอะไรให้ทำลายความงามของลำน้ำสายนี้ หากการล่องเรือนี้สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ นั่นก็ย่อมเป็นเหตุผลที่ดีที่จะทำให้ทุกคนช่วยกันรักษาธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ให้ยั่งยืน

_MG_0736

ในเวลาเกือบสี่สิบปีที่ผ่านมา น้ำน่านอาจจะเปลี่ยนไปบ้างแต่ก็ดูเหมือนจะไม่มากนัก แต่ในช่วงเวลาที่เนิ่นนานเช่นนั้น โลกภายนอกได้เปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้  ผมได้แต่หวังว่าการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำน่านต่อจากนี้ไปจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

3. สายน้ำที่เห็นและเป็นไป

เราพายเรือเกาะกลุ่มกันไปคุยกันไปท่ามกลางแสงแดดอ่อนของยามเช้าและเสียงต่างๆของธรรมชาติที่อยู่รอบตัว  เราเหลือระยะที่ต้องเดินทางกันอีกไม่ไกลแล้วในวันนี้

_MG_0915

“สวยมากนะ น่าแปลกใจที่ทำไมไม่มีคนมาเที่ยวเลย” คุณนัท ช่างภาพของเราชื่นชมกับทิวทัศน์ที่งดงามเบื้องหน้า

“ก่อนมา ผมเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าที่นี่จะสวยนะเพราะไม่เคยใครพูดถึงมาก่อนเลย แต่พอมาแล้วประทับใจมากเลย ไม่ใช่แค่วิวนะ แต่มีเรื่องราว มีชีวิต ลงตัวมากๆ” คุณบีผู้ซึ่งพายคายัคเดี่ยวมาตลอดสามวันเห็นด้วย สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกเช่นนั้นก็เพราะมิตรภาพที่ได้รับจากเจ้าถิ่นอย่างพี่จร, ลุงเสริมและโหน่งที่ช่วยให้เราได้สัมผัสชีวิตจริงๆของลำน้ำแห่งนี้

_MG_0875

“อืมม์ ผมว่ามันมันขึ้นกับวิธีที่เราเดินทางด้วยนะ ถ้าคนมาเที่ยวด้วยเรือเครื่อง ก็คงไม่ทันได้เห็นไม่ทันได้รับรู้ความงามที่อยู่รอบๆตัว เสียงเครื่องที่ดังก็คงกลบเสียงธรรมชาติรอบตัวไปหมด” นั่นคือข้อสังเกตของผมเอง และนั่นคือเหตุผลที่ผมเลือกที่จะพายเรือเที่ยว

“มันก็เหมือนการใช้ชีวิตนั่นแหละ รีบไปก็ถึงเร็ว แต่ไม่ทันได้ชื่นชมอะไร” อันนี้ผมไม่ได้พูดแค่บอกกับตัวเองในใจ

“ข้างหน้านี่แก่งระยาง ผมว่าหัวหน้่าเก็บกล้องก่อนดีกว่า แก่งนี้ผมเรือมาล่มสองครั้งแล้ว” ลุงเสริมเตือนผมก่อนที่เราจะเข้าแก่งเบื้องหน้า

แก่งระยางเป็นแก่งที่ยาวหลายร้อยเมตร ยาวที่สุดตั้งแต่เราล่องแม่น้ำน่านมา กระแสน้ำไหลคดโค้งไปตามแนวหิน แต่เราผ่านกันไปได้ด้วยความตื่นเต้นพอให้เลือดสูบฉีด

_MG_0934

เราพายเรือกันอีกพักใหญ่ก็เริ่มเห็นถนนที่ลัดเลาะลงมาจากไหล่เขา ลุงเสริมก็ชี้ไปที่โค้งน้ำข้างหน้า

“นั่นถึงแก่งหลวงแล้ว ต้องจอดตรงนี้แหละ ไปต่อไม่ได้แล้ว”

ตามที่ชื่อบอก แก่งหลวง คือแก่งใหญ่ขวางลำน้ำน่าน ก้อนหินใหญ่และแนวผาบังคับให้สายน้ำไหลคดโค้งอย่างรุนแรง จนยากที่เรือจะผ่านได้

จากแก่งหลวง น้ำน่านไหลลงไปอีกกว่าสามสิบกิโลเมตรไปยังเขื่อนสิริกิติ์

เราจบการเดินทางในครั้งนี้กันที่แก่งหลวง แต่ไม่แน่นักครั้งต่อไปเราอาจจะได้เดินทางต่อลงไปจนถึงสุดสายน้ำที่บ้านปากนายเหนือเขื่อน

IMG_6283

_MG_0856

ในขณะที่เราเก็บเรือขึ้นผูกบนหลังคารถเตรียมตัวออกเดินทางกลับบ้านกัน ความคิดหนึ่งก็ผุดขึ้นมาจากความทรงจำ

“ถ้าตอนนี้พ่ออายุสักสี่สิบกว่านะ พ่อจะไปหาซื้อเรือพาคนเที่ยวล่องแก่งแม่น้ำน่าน มันสวยจริงๆเลย แต่พ่ออายุมากเกินไปที่จะไปทำอย่างนั้นแล้ว” พ่อพูดกับผม เมื่อหลายปีก่อน

พ่อผมมีชีวิตที่ดีสมบูรณ์แต่ถึงกระนั้นก็มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้พ่อไม่ได้ออกตามความฝันที่เคยมี และหนึ่งในเหตุผลนั้นก็คือการที่ต้องทำงานส่งลูกชายคนเล็กที่เรียนจบช้ากว่าลูกคนอื่นๆมาก

ความคิดนั้นทำให้ผมต้องคว้าโทรศัพท์มาโทรออกไปยังเบอร์ที่คุ้นเคย

“สวัสดีค่ะพ่อ พ่ออยู่ไหนแล้ว เย็นนี้กลับมาทานข้าวหรือเปล่าค่ะ” เสียงใสของลูกสาวผมตอบมา

“พ่อกำลังจะออกเดินทางจากน่านครับ น่าจะถึงบ้านตอนค่ำๆ

พ่อไปล่องแก่งน้ำน่านมาแล้วนะ สวยมาก สองข้างลำน้ำเป็นป่าเป็นเขาสูง น้ำใส ปลาเยอะแยะเลย ที่นอนก็เป็นหาดทรายสวย มีนกยูงด้วย เอาไว้โรงเรียนหยุดพ่อจะพาหนูมาเที่ยวนะ”

ธัชรวี หาริกุล
บันทึกจากการเดินทาง เดือนมีนาคม 2555

IMG_6159 (1)
ภาพโดย นัท สุมนเตมีย์

ข้อมูลการเดินทาง

เส้นทางล่องแม่น้ำน่านจากหมู่บ้านพระเนตรซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่มีถนนเข้าไปถึงแม่น้ำไปจนถึงแก่งหลวงเป็นระยะทาง 36 กิโลเมตร สามารถพายเรือได้ในเวลา สองวันหนึ่งคืน หรือถ้าจะให้มีเวลาชื่นชมธรรมชาติมากขึ้นก็ สามวันสองคืน

การเดินทางสู่บ้านพระเนตร จากจังหวัดน่าน ใช้เส้นทางสาย 101 มาถึงอำเภอเวียงสาระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร จากนั้นใช้เส้นทางสาย 1026 อีกประมาณ 6 กิโลเมตรแล้วเลี้ยวซ้ายตรงข้ามวัดพระเนตร

สามารถนำเรือไปลงได้ที่ท่าน้ำของหมู่บ้าน และฝากรถไว้ที่นั่น ถ้าไม่มีเรือไปเองสามารถว่าจ้างเรือชาวบ้านไปได้แต่ขอแนะนำว่าให้เป็นเรือพายไม่ใช่เรือเครื่อง

ระยะทางรถยนต์จากบ้านพระเนตรถึงแก่งหลวงประมาณ 75 กิโลเมตรสามารถจ้างรถให้ไปรับกลับมาได้

การเดินทางสามารถขอคำแนะนำและความช่วยเหลือในการติดต่อผู้นำทาง, จ้างเรือและรถรับส่งได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลส้าน โทร 054-690-122, 054-690-141 จะได้รับการช่วยเหลืออย่างดี

ขอขอบคุณ

  • คุณชูชาติ บัติปัน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลส้าน และเจ้าหน้าที่ อ.บ.ต.ส้านทุกท่านที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านข้อมูลเส้นทางและการประสานงานตลอดการเดินทาง
  • คุณพิษณุ คำเต็ม ให้คำแนะนำและข้อมูลเส้นทาง
  • เรือแคนูและอุปกรณ์แค้มปิ้งจากร้าน ThailandOutdoor Shop ในสนามกอล์ฟออลสตาร์ ใกล้แยกเหม่งจ๋าย โทรศัพท์ 084 388 2007 www.ThailandOutdoorShop.com

บันทึกหลังการเดินทาง

หกเดือนหลังจากการเดินทางครั้งนี้ เราเดินทางกลับไปล่องน้ำน่านอีกครั้งกับเพื่อนฝูงที่รู้ใจกลุ่มใหญ่

ผมได้พาลูกสาวไปล่องน้ำน่าน และนายป๊อปก็เอาเรือไปล่องแก่งหลวงได้ตามที่ตั้งใจIMG_8207

IMG_0418 IMG_8197

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

7 COMMENTS

  1. เป็นบทความที่งดงามครับ น่าจะได้อ่านก่อนไปแม่น้ำน่าน555 (มัวแต่ไปทำอะไรอยู่)

    • อ่านก่อนไม่ได้หรอกครับ พี่เพิ่งเอาลงเว็บหลังจากที่เราไปแม่น้ำน่านเมื่อต้นปีครับ

  2. เป็นทริปในฝันที่อยากไปครับ อยากไปล่องเรือแคมป์ปิ้งมันเป็นความฝันที่ฝังใจมานานมาก คงเป็นเพราะตอนเด็กๆผมชอบดูหนังแนวผจญภัยอย่าง อินเดียนน่า โจน , หนังคาวบอย ประมาณนี้ แล้วเมื่อประมาณสามปีก่อน ผมได้ติดตาม thailandoutdoor ผ่านทาง youtube Channel เลยมีโอกาศได้ดูตอนที่ไปแม่น้ำเงา ตาผมลุกวาว แล้วบอกกับตัวเองว่าซักวันจะไปให้ได้ ตอนนี้ก็เที่ยวป่า นอนริ่มทะเลไปก่อน ขอบคุณครับที่แบ่งปั่นเรื่องราว

  3. น่านในความทรงจำผมมีเพียงเรื่องไปออกค่ายแถวหมู่บ้านหนึ่งใกล้ๆ ต้นน้ำน่าน

    บันทึกนี้ทำให้อยากกลับไปอีก ไปสัมผัสในอีกมุมใหม่ ผมชอบแม่น้ำมากแต่ยังไม่เคยออกไปพายเรือเสียที หวังว่าจะมาได้เขียนบันทึกตอบตาเกิ้นบ้าง

Leave a Reply

LATEST POSTS

คุ้มครองแต่ไม่เคยให้คุณค่า ตอน นกกรงหัวจุก

ผมเฝ้ามองการโต้เถียงกับเรื่องนกกรงหัวจุกหรือนกปรอดหัวโขน ระหว่างฝ่ายผู้เลี้ยงนกและ “นักอนุรักษ์” มาพักใหญ่แล้วในเรื่องว่า จะให้นกกรงหัวจุกคงอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือจะปลดออก หลายคนคงมองว่านี่เป็นความขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้ แต่ผมกลับมองว่าถ้าเราเปิดใจมองร่วมกันและยอมรับวิธีคิดใหม่ๆ (ที่ประเทศอื่นเขาทำกันมานานแล้ว) เรื่องของนกกรงหัวจุกอาจจะเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงให้การอนุรักษ์ของประเทศนี้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเสียทีนะครับ ก่อนจะเข้าเรื่องนกกรงหัวจุก ผมขอเล่านิทานให้ฟังสักเรื่องหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งเบื่อ อย่าเพิ่งมองว่ามันไม่เกี่ยวกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า พี่น้องสองคนทะเลาะกันเพราะแย่งส้มผลสุดท้ายในบ้าน ถึงขั้นตบตีกัน เสียงดังไปถึงแม่ แม่พยายามเจรจาให้แบ่งกันคนละครึ่งลูกก็ไม่มีใครยอม ต่างคนต่างบอกว่าต้องใช้ทั้งลูก นานเข้าพ่อที่นั่งเล่นของเล่นอยู่ทนรำคาญเสียงไม่ได้ จึงเดินมาแยกลูกสาวทั้งสองที่เริ่มจะจิกหัวฟัดกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แล้วถามรายละเอียด บอกพ่อหน่อยว่าจะเอาส้มไปทำอะไร  คนพี่สาวก็บอกว่าจะทำแยมส้ม ส่วนน้องสาวบอกจะทำน้ำส้ม เมื่อคุยกันเช่นนี้พ่อก็ปอกเปลือกส้มให้ลูกสาวคนโตไปทำแยม แล้วก็เอาเนื้อส้มให้ลูกสาวคนเล็กไปคั้นน้ำ ลงตัวไปได้ทั้งสองคน ส่วนพ่อก็เอาเมล็ดส้มไปปลูกไว้ข้างบ้านต่อไปจะได้ไม่ต้องแย่งส้มผลสุดท้ายกันอีก นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าเราคุยกันดีๆมันจะมีทางออกที่ไม่ต้องมีคนแพ้คนชนะ แต่มันจะมองไม่เห็นเวลาทะเลาะกันจนหน้ามืด ใครยังไม่ได้ติดตามข่าวยังไม่รู้เรื่องความขัดแย้งของนกกรงหัวจุก...

นิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้หนังสือรายเดือนของ “นิยมไพรสมาคม” มาจากมิตรสหายหลายเล่มและกำลังทะยอยอ่านอย่างบรรจง (เพราะหนังสือเหล่านี้มีอายุ 65 ปี แทบจะกรอบเป็นผงอยู่แล้ว)   ผมอ่านแล้วตื่นตะลึงมากครับ ผมเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลมาบ้างว่าท่านสร้างสรรค์ส่งดีๆไว้มากมาย แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องนิยมไพรสมาคมมากนัก  และดูเหมือนว่าเรื่องราวของสมาคมนี้ได้เลือนหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยแล้ว  เลยขอมาเล่าเรื่องหลายอย่างสู่กันฟังถึงประวัติศาสตร์สำคัญของการอนุรักษ์ในบ้านเราที่กำลังจะลืมเลือนไป ในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยยังไม่รู้จักกับคำว่า “อนุรักษ์” ใดๆเลย (ในหนังสือก็ยังไม่มีคำนี้) ตอนนั้นใครอยากจับจองที่ตรงไหนก็ไปแจ้งที่อำเภอแล้วก็ลงมือถาง สัตว์ป่าทุกชนิด (ยกเว้นช้าง) ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครอง ใครอยากล่าอะไรด้วยวิธีไหน...

Editor ใช้ Award เดินป่า โดยตาเกิ้น

พวกเราที่ ThailandOutdoor มีความโชคดีที่เราได้มีโอกาสทดสอบทดลองอุปกรณ์กลางแจ้งมากมาย และก็จะมีของบางอย่างที่เราทดสอบแล้วชอบจนซื้อไว้ใช้เอง เราเรียกของเหล่านั้นว่า "Editor ใช้ Award"  และนี่คือ "Editor ใช้ Award" ปี 2022 จากตาเกิ้นครับ VDO ยาวนะครับเพราะอธิบายกันทุกอย่างรวมถึงเหตุผลที่เลือกใข้ในสถานการณ์ต่างๆกัน เราแบ่งเป็นช่วงๆให้เลือกดูกันได้ครับ ตามนี้เลย บางคนอาจจะบอกว่าผมใช้แต่ของแพงๆหรูๆ ก็อาจจะจริง หรือไม่ แล้วแต่มุมมองครับ ทุกอย่างในชีวิตเราล้วนแล้วแต่ขึ้นกับว่าเราให้ลำดับความสำคัญกับอะไร  สำหรับผมแล้ว ผมไม่ได้ซื้อของอื่นหรูหราอะไร แต่การออกมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การเดินป่า คือความสุขในชีวิตผม ผมจึงเลือกใข้แต่ของดีๆ...

ไปเรียนหลักสูตรปืนพกต่อสู้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

ผมเขียนบทความนี้ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2552 เขียนข้างหลังกระดาษสำเนา ป.4 (ทะเบียนปืน) ในช่องยิงทันทีที่เรียนเสร็จ เขียนด้วยความประทับใจของการสอนยิงปืนในคอร์สนี้ ถึงวันนี้แม้ว่าหลายๆอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ผมยังคงข้อความทุกอย่างที่เขียนในบทความนี้ไว้อย่างเดิมรวมทั้งรูปภาพเดิมที่อาจจะไม่ชัดนัก ด้วยความตั้งใจปัจจุบันโรงเรียนสอนยิงปืนแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมยิงปืนเขาสามยอด ยังตั้งอยู่ที่สถานที่เดิมในค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี สอนมาต่อเนื่องถึง 14 ปีแล้วถ้านับถึงวันนี้ หลักสูตรพัฒนาไปมาก และมีถึง 8 หลักสูตรให้เรียนได้ตามลำดับขั้น และยังสอนโดยหัวหน้าชุดครูท่านเดิมที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะให้คนไทยได้เรียนรู้การใช้อาวุธปืนได้อย่างถูกต้องผมเชื่อว่าที่นี่คือโรงเรียนสอนยิงปืนที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถเรียนได้ในประเทศไทย ผมเขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้ที่ตอนท้ายของบทความนี้ครับ ในสังคมที่บิดเบี้ยวมากขึ้นทุกวัน ดูเหมือนพวกเราสุจริตชนจะต้องเสี่ยงกับภัยคุกคามรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโจร...

Most Popular

%d