Monday, May 29, 2023
Homeชีวิตและการเดินทางมนุษย์เดินช้าที่ “หิมาลัย” ตอนที่ 9 - 10 (จบ)

มนุษย์เดินช้าที่ “หิมาลัย” ตอนที่ 9 – 10 (จบ)

-

“Trekking in the NEPAL HIMALAYA”

ตอนที่ 9 : “ เรื่องนี้ไม่มีหักมุม”

IMG_1242

เช้าวันที่ 8 ของการเดินทาง เช้าวันที่เราตัดสินใจหันหลังกลับจาก Dole เราเดินคุยกันมาเรื่อยๆ ในใจยังคงเสียดายที่ไปไม่ถึงจุดหมายที่เราตั้งไว้

“พอรู้ว่าจะได้กลับบ้าน ดูกะต่ายผ่อนคลายขึ้นน่ะ เริ่มยิ้มได้แล้วด้วย” พี่ปั้นเปิดบทสนทนาใหม่ขึ้นมา

IMG_1032

“ไม่รู้ซิ หนูรู้สึกแปลกๆ มันร้อนลนอยากจะไปให้พ้นจากตรงนี้ รู้สึกไม่อยากขึ้นไปมากกว่านี้แล้ว มันหวิวๆ แปลกๆ หนูมองขึ้นไปแล้วหนูรู้สึกกลัว พี่ก็รู้ว่าจิงๆ แล้วหนูชอบภูเขามากขนาดไหน แต่ครั้งนี้มันไม่อยากไปจิงๆ ลางสังหรณ์แบบนี้มันไม่ดีเลย ไม่ใช่ว่าพอเรากลับไปแล้วมีหิมะถล่มล่ะ”

“คงไม่มีอะไรมั้ง เพราะกะต่ายไม่สบายมั้งเลยรู้สึกแบบนี้ แล้วตอนนี้ก็เริ่มเข้าหน้าร้อนแล้วมันจะมีหิมะถล่มได้ไง” พี่ปั้นให้เหตุผล

“อืม คงงั้นมั้ง ขอให้ทุกอย่างปกติ ขอให้หนูรู้สึกไปเอง” ต่ายบอกพี่ปั้นไปแบบนั้น แต่ในใจกลับกังวลอย่างบอกไม่ถูก

IMG_0904

กำหนดการที่เราตั้งกันไว้วันนี้ คือเราจะเดินรวดเดียวจาก DOLE ไปแวะทานข้าวที่ PHORTSE THANGA จากนั้นก็เดินต่อยิงยาวไปค้างที่ NUMCHE BAZAAR 1 คืน ในขณะที่เราเดินลงมา ก็จะสวนทางกับนักเดินคนอื่นๆ ที่กำลังสวนทางขึ้นไป เราต่างทักทายให้กำลังใจกันเป็นปกติ และในหลายๆ ครั้งเราก็จะได้รับคำทักทายในภาษาที่เค้าคิดว่าเป็นภาษาของเรานั่นคือ “หนีห่าว หนีห่าว” เราก็ทำได้เพียงหัวเราะและตอบไปพร้อมรอยยิ้มว่า “I come from Thailand” และบทสนทนาของคนแปลกหน้าบนเส้นทางเล็กๆ นี้ ก็มักจบลงด้วยเสียงหัวเราะแบบเขิลๆ เสมอ นอกจากเราจะโดนทักว่ามาจากจีนบ่อยๆ แล้ว เรายังโดนทักว่ามาจาก เกาหลี และ มาเลเซีย ในปริมาณที่ไม่ต่างกัน ไม่มีเลยสักครั้งที่เราจะโดนทักทายว่ามาจากเมืองไทย ไม่รู้ว่าเพราะหน้าตาเรามันไม่ละม้ายคล้ายคนไทยเท่าไหร่ หรือ เพราะเส้นทางนี้ไม่ได้มีคนไทยมากนักที่เลือกจะมากันแน่

IMG_0927 2

เราเร่งฝีเท้าได้มากขึ้น เพราะจาก DOLE กลับไป PHORTSE THANGA นั้นเป็นทางลง แต่ถึงจะเป็นทางลง เราก็ยังคงระมัดระวังเสมอ ภาพเหตุการณ์ที่พี่ปั้นลื่นเกือบตกเหว ยังคงชัดเจนเพื่อคอยเตือนสติเราให้ไม่ประมาท เราพูดคุยกันแบบสบายๆ ตลอดทาง ต่างจากวันที่เรามาที่แรกเริ่มด้วยรอยยิ้ม แต่เวลาต่อมาก็ถูกแทรกด้วยความเครียดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับความสูง หลายครั้งที่ความเหนื่อยและความเครียดทำให้เราหงุดหงิดใส่กันจนต่างคนต่างเดินกันเงียบๆ โดยไม่พูดกันสักคำ อาจเป็นเพราะเราเลือกที่จะมากันแค่ 2 คน โดยไม่มีเพื่อนร่วมทางอื่นให้ได้พูดคุย ช่วยเหลือ หรือแบ่งปัน จึงไม่แปลกที่บ่อยครั้ง เราจะ “คิดถึงเพื่อน” เราต่างบ่นคิดถึงเพื่อนของเราตลอดทาง ถ้าพวกเค้าได้มา เส้นทางนี้คงจะมีสีสันและสนุกสนานขึ้นไม่น้อย

เราใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ก็มาถึงที่ PHORTSE THANGA เราแวะทานข้าวกันที่นี่ พร้อมทั้งยื่นถุงขนมที่เราตั้งใจแยกไว้ตั้งแต่เมื่อคืนให้กับเด็กน้อย 2 คนที่เราชอบมากตั้งแต่วันที่เดินทางไป ขนมถุงเล็กๆ ที่ทำให้คนรับยิ้มหน้าบานพร้อมทั้งแกะกินอย่างเอร็ดอร่อย ของบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันเล็กน้อย อาจจะเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับอีกคน

IMG_0929 เราใช้เวลาพักทานข้าวเพียง 20 นาทีก็ออกเดินทางต่อ โดยมีจุดหมายที่จะพักอีกครั้งที่ MONGLA SNOWLAND ที่ในวันที่มาเราต้องเดินทางลงดิ่งมากว่า 1 ชั่วโมง และแน่นอน เมื่อเราต้องเดินย้อนกลับไป มันจะกลับกลายเป็นทางขึ้นที่ชันมากเช่นกัน แต่น่าแปลกที่เรากลับไม่ยักบ่นเหมือนตอนมา ตรงข้าม เรากลับยิ่งเดินได้เร็วขึ้นๆ เพราะยิ่งเราเดินพ้นทางชันดิ่งนี้ไปเร็วเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่าเราจะได้กลับบ้านเร็วขึ้นเท่านั้น

IMG_0931 เราใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงในการเดินขึ้นมา MONGLA SNOWLAND เราตั้งใจจะหยุดพักที่นี่เพื่อหลบหนาวสักพัก เราแยกกันไปหามุมที่เราชอบ พี่ปั้นออกไปถ่ายรูป โดยที่ต่ายขอหลบหนาวอยู่ในร้านอาหาร

IMG_0945

ก่อนออกเดินทางอีกครั้งต่ายอยากเข้าห้องน้ำจึงเดินไปถามเจ้าของร้าน เจ้าของร้านชี้ไปที่ทางลงไปสวนด้านล่าง โดยมีห้องน้ำเล็กๆ ที่ก่อด้วยหินตั้งอยู่ห่างจากตัวบ้านออกไปพอประมาณ ในแว๊บแรกที่เห็น ต่ายไม่ได้คิดอะไรเลยเพราะทุกอย่างดูปกติดี แต่เมื่อเปิดประตูเข้าไป ห้องน้ำที่ต่ายเห็นคือห้องที่ถูกปูด้วยพื้นกระดานและมีช่องใหญ่พอประมาณอยู่ตรงกลางห้อง รอบๆ ห้องถูกอัดแน่นไปด้วยใบไม้กองสูงเกือบเท่าเอว พร้อมไม้กระดานเล็กๆ หนึ่งอันวางไว้บนกองใบไม้ ต่ายยืนมองและยังงงกับสิ่งที่เห็นว่ามีไว้ทำอะไร และนี่ใช่ห้องน้ำจิงๆ รึเปล่า แต่เมื่อก้มลงไปดูในช่องว่างกลางห้องก็เริ่มเข้าใจ ช่องว่างที่ว่าคือที่สำหรับให้เราขับถ่าย เมื่อเสร็จธุระก็ใช้เจ้าไม้กระดานเล็กๆ แผ่นนั้นโกยใบไม้รอบๆ ห้องลงไปปิดสิ่งที่เราขับถ่ายลงไป เพราะห้องน้ำถูกยกสูงขึ้นโดยสิ่งที่เราขับถ่ายลงไปก็จะกองอยู่กับพื้นนั่นแหล่ะ ไม่ได้ผ่านการขุดหลุมลึกหรือมีบ่อเก็บแบบบ้านเราแต่อย่างใด ต่ายหัวเราะกับตัวเองแล้วคิดในใจว่า เอาว่ะ! สักครั้งในชีวิตกับห้องน้ำสาธารณะบนเส้นทางหิมาลัย

เมื่อเผชิญกับห้องน้ำสุดเซอร์ไพร์มาได้ เราก็ออกเดินทางต่อ เส้นทางที่เคยยาวไกลและเหนื่อยเหมือนใจจะขาด วันนี้ดูจะใจดีขึ้นที่เส้นทางเริ่มเปลี่ยนเป็นทางลงแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นทางลงที่เลาะกับหน้าผาอยู่ดี

IMG_0949 2ด้วยเส้นทางที่ยังอีกไกลมาก เราจึงหยุดพักไม่บ่อยนัก และเมื่อเรามองไปบนฟ้าก็เห็นเมฆฝนดำมืดไปหมด แสงแดดถูกเมฆขโมยไปแล้ว อากาศจึงหนาวลงอย่างรวดเร็ว บวกกับลมที่พัดแรงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้เราต้องเร่งฝีเท้ามากขึ้นกว่าเดิมเพื่อจะไปให้ถึง NUMCHE BAZAAR ก่อนที่ฝนจะตก ยิ่งใกล้ถึงที่หมายเท่าไหร่ ลมก็ยิ่งแรงมากขึ้นเท่านั้น และในบางช่วงเราต้องหยุดเดิน เพราะลมพัดเอาหมอกมาบังทางเดินจนมิด

IMG_1248ฝนเริ่มลงเม็ดมาแล้ว เรายังเหลืออีกกว่า 2 กิโลจะถึงที่หมาย ในตอนนี้เราเดินกึ่งวิ่งเพื่อแข่งกับเวลา จนในที่สุดเราก็มาถึงจุดหมายวันนี้ของเรา NUMCHE BAZEER

IMG_0774

เราเดินตรงดิ่งกลับลงไปที่โรงแรมเดิม โดยหวังว่าเราจะได้ปลดเป้อันหนักอึ้งบนไหล่เราลงและได้พักผ่อนซ่ะที เพราะวันนี้เราเดินมาเหนื่อยมากตั้งแต่เช้าจรดเย็น เมื่อเราเจอเจ้าของโรงแรมเราก็ได้รับข่าวร้ายว่า ห้องเต็ม เราเดินออกมาหาที่พักใหม่แบบไม่ได้ตั้งตัว พี่ปั้นแนะนำให้เราปลดเป้วางไว้ข้างทางก่อนแล้วค่อยออกไปหาที่พัก พี่ปั้นเดินหายไปกว่า 20 นาทีท่ามกลางฝนที่เริ่มลงเม็ดหนักขึ้นเรื่อยๆ และเดินกลับมาพร้อมข่าวร้ายว่าโรงแรมเต็มหมด เราเริ่มกังวลกับเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดมาก่อนและตัดสินใจว่าจะออกไปหาที่พักด้วยกันอีกครั้งโดยทิ้งกระเป๋าไว้ที่เดิม ถ้าท้ายที่สุดเราหาที่พักไม่ได้จิงๆ เต๊นที่เราหอบหิ้วมาจากเมืองไทย ก็คงได้ออกมาใช้งานท่ามกลางหิมะและฝนก็คราวนี้ สุดท้ายเราได้ที่พักที่อยู่ลึกเข้าไปหน่อยมา 1 ห้อง และน่าแปลกใจที่เราน่าจะเป็นลูกค้าห้องเดียวในโรงแรมนี้ทั้งที่โรงแรมเกือบทั้งหมดในหมู่บ้านนั้นเต็ม แต่ใครจะไปสน ในสถานการณ์นี้แค่เราได้ห้องพักก็เพียงพอแล้ว เมื่อเราเข้าที่พักเรียบร้อย เราก็ออกมาเดินเล่นในหมู่บ้านเพื่อหาอะไรทาน และในตอนนั้นเราก็เจอกับสำเนียงคุ้นเคยที่ทำเอาเราหันกลับมาแทบไม่ทัน เราเจอกลุ่มคนไทย! พี่ๆ กลุ่มนี้จะเดินทางต่อไปเบสแค้มในวันพรุ่งนี้ เราคุยกันขโมงโฉงเฉงและแบ่งปันประสบการณ์ เราบอกถึงสิ่งของหลายๆ อย่างที่จำเป็นสำหรับคนเมืองร้อนมาเที่ยวเมืองหนาวอย่างเราให้เตรียมติดตัวไว้ ไม่ว่าจะเป็น หมวก ผ้าปิดจมูก ถุงร้อนอุ่นมือ หรือยาต่างๆ ของเล็กน้อยที่ช่วยให้เราไม่ทรมานกับการเดินผ่านเส้นทางนี้มากนัก

เราคุยกันพักใหญ่ก็ต่างแยกย้ายกันไปพักผ่อน คนนึงตื่นเต้นกับวันพรุ่งนี้ที่จะได้ออกสู่เส้นทางที่วาดฝันไว้ อีกคนดีใจที่จะได้กลับบ้านหลังจากผ่านเส้นทางที่เคยวาดฝันมาอย่างทรมาน เราแยกไปคนล่ะทาง แต่หัวใจเราเต้นเร็วไม่ต่างกัน


เรากลับมาโรงแรมเพื่อทานอาหารเย็นและเพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าของโรงแรมให้หาลูกหาบสำหรับ 2 วันที่เหลือในการเดินทางลงไป LUKLA ให้เรา เจ้าของโรงแรมหายไปพักใหญ่ก็พาชายผิ้วกร้านแดดอายุประมาณ 35 มาหาเรา ในตอนแรกเค้าชั่งใจกับงานนี้เมื่อรู้น้ำหนักกระเป๋าของเราทั้ง 2 ใบ เราจึงเจรจาขอเพิ่มเงินให้เพื่อให้เค้าตัดสินใจง่ายขึ้น และสุดท้าย เราก็ได้คนมารับเป้จากไหล่เราสมใจ เมื่อจัดการทุกอย่างเรียบร้อยเราก็กลับเข้าห้องพักและเริ่มรื้อของทั้งหมด รวมทั้งของบางส่วนที่เราฝากไว้ที่โรงแรมก่อนขึ้นไป DOLE ด้วย เรามองของทั้งหมดและถามตัวเองอีกครั้งว่าแบกของทั้งหมดนี้ขึ้นมาได้ยังไง เราเข้านอนด้วยความสบายใจ พรุ่งนี้เราจะได้เข้าใกล้บ้านของเราไปอีกหนึ่งวันแล้วซิน่ะ

IMG_0976 2

“Trekking in the NEPAL HIMALAYA”

ตอนที่ 10 : “ ความทรงจำที่ชัดเจน”

8 โมงเช้าเรายกเป้ของเรามาหน้าโรงแรมเพื่อส่งต่อให้ลูกหาบที่เรานัดไว้เมื่อคืน เค้าใช้เวลาในการมัดกระเป๋าติดกันอยู่เกือบ 10 นาที จึงหันมานัดแนะกับเราถึงจุดหมายของวันนี้ที่หมู่บ้าน PHAKDING แล้วก็แบกเป้เดินนำหน้าเราออกไปก่อน เราเดินตัวปลิวตามออกไปในเวลาต่อมา เราเดินกันมาอย่างอารมณ์ดี ภาพที่เราไม่ได้เห็นตอนเดินขึ้นมา ตอนนี้เราได้เห็นแล้วว่ามันสวยขนาดไหน เราเดินบนเส้นทางที่เคยท้อแท้สิ้นหวังเมื่อ 9 วันที่แล้ว มาเรื่อยๆ เราต่างชี้ชวนกันดูตลอดทางว่าตรงนี้เรานั่งพัก ตรงนี้เราหยิบตะเกียงเพื่อช่วยเป็นแสงนำทางในความมืด ตรงนี้ที่น้ำเราหมดไม่มีเหลือ ตรงนี้ที่เราทิ้งตัวด้วยความเหนื่อย ทุกอย่างยังชัดเจนเหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมา

IMG_0970 
เราเดินมาจนถึงจุดที่เราหวั่นใจ นั่นคือสะพานแขวนที่น่ากลัวที่สุดในเส้นทางนี้ ถึงเราจะต้องเดินผ่านมันบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่มีครั้งไหนที่จะทำให้ใจเราสั่นได้เท่าสะพานแรกในขาลง หรือสะพานสุดท้ายในขาขึ้น อันนี้เลย เรามาหยุดยืนรอที่หัวสะพานเพื่อรอขบวนจามรี, ล่อ และนักเดินจำนวนมากจากอีกฝากได้ผ่านไปก่อน เราจึงค่อยเดินสวนลงไป สะพานยังคงแกว่งไปมาและคงความน่ากลัวไว้ได้อย่างสม่ำเสมอไม่เปลี่ยน

IMG_0966เมื่อเราข้ามสะพานมาได้ก็ออกเดินทางกันต่อ และแน่นอน การทวนความจำยังเป็นเรื่องที่เราหยิบมาพูดคุยกันได้ตลอดทาง เมื่อเราข้ามสะพานครั้งที่ 2 ก็ต้องมาเช็กชื่อกับทางเจ้าหน้าที่ว่าเรากำลังจะเดินทางลงแล้วอย่างปลอดภัยและครบถ้วน

IMG_1235เราเริ่มเดินในเส้นทางที่มีหมู่บ้านมากขึ้น ในช่วงเที่ยงเราจึงหาร้านอาหารทานกลางวันได้ไม่ยาก วันนี้เราเดินแบบสบายตัวสบายใจ ไม่เร่งรีบ ไม่เคร่งเครียด ไม่มีความกดดันใดๆ ทั้งสิ้น เราเลือกทานกลางวันที่ร้านริมทางเดินร้านหนึ่ง อาหารยังคงใช้เวลานานเช่นเคย แต่วันนี้เรากลับไม่ร้อนอกร้อนใจอะไร ต่ายสั่งมักโรนีผัดไข่ และพี่ปั้นสั่งมันฝรั่งผัดไข่ เมื่อตักคำแรกเข้าปาก นี่มันอาหารที่อร่อยที่สุดใน 9 วันที่ผ่านมา เรากินอย่างใจเย็นและออกเดินเมื่อเราพร้อม ส่วนกระเป๋าของเรานั้น ล่วงหน้าไปก่อนเราสักพักแล้ว

IMG_0981 IMG_0982 2

เราเริ่มออกเดินอีกครั้ง และยังคงคุยกันไม่พ้นเรื่องเดิม ความทรงจำของเส้นทางนี้มันช่างชัดเจนทุกตารางนิ้วจิงๆ เราเดินมาอีก 2 ชั่วโมงก็เจอลูกหาบมาดักรอเราที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่งที่เจ้าของโรงแรมที่ NUMCHE ฝากฝังมา นี่เราถึง PHAKDING แล้วเหรอ!

IMG_0594 2

เรามาถึงที่ PHAKDING เร็วกว่าที่คิดไว้มากนั่นคือบ่าย 3 โมง และเข้าพักโรงแรมที่เจ้าของโรงแรมที่ NUMCHE แนะนำมาในราคา 400 รูปี (เป็นราคาที่แพงที่สุดเท่าที่พักมาตลอดเส้นทางนี้) สาวสวยเจ้าของโรงแรมพูดภาษาอังกฤษได้ชัดเจนและสำเนียงดีจนน่าแปลกใจ เธอยิ้มแย้มและอัธยาสัยดีมาก เราจึงได้คุยกันมากกว่าที่พักที่อื่นที่เราพักมา ในช่วงเย็นเราลงมาทานอาหารที่ห้องอาหารและเพื่อขอแบ่งปันไออุ่นจากเตากลางห้องที่เริ่มจุดเมื่อเพราะอาทิตย์โบกมือลา เมื่อเราอยู่ที่ต่ำลงมา อากาศจึงไม่โหดร้ายเท่าที่สูง วันนี้จึงเป็นวันแรกที่เราได้ใส่รองเท้าแตะเดินลงมานั่งในห้องทานข้าวได้

IMG_0997

IMG_0998

ในเวลานั้นลูกหาบของเราได้พาเด็กหนุ่มคนนึงเข้ามาและเข้าไปคุยกับเจ้าของโรงแรมเพื่อเป็นสื่อกลางมาแปลให้เราฟังอีกทีว่าเค้าติดธุระด่วนต้องกลับบ้าน เค้าจึงพาลูกหาบอีกคนมาแทนเค้า เราไม่ได้มีปัญหาอะไรถ้าจะเปลี่ยนคน แต่เด็กหนุ่มที่เค้าพามานั้นตัวเล็กนิดเดียว ดูๆ แล้วน่าจะอายุไม่เกิน 17 เค้าจะแบกกระเป๋าเราทั้ง 2 ใบไหวจิงๆ เหรอ เด็กหนุ่มคนนั้นยิ้มอายๆ และยืนยันว่าเค้าแบกไหว เราจึงตกลงเปลี่ยนคนแบกของของเราในวันพรุ่งนี้

เรานั่งผิงไฟอยู่ได้สักพัก ก็มีกลุ่มนักเดินจากยุโรปกลุ่มใหญ่เข้ามาพักที่นี่ โดยมีหนึ่งคนในนั้นที่เดินเข้ามาพร้อมบาดแผลที่จมูก และตาที่ยังบวมและมีเลือดไหลอยู่ตลอด สอบถามก็ได้ความว่าเค้าลื่นล้มจากการเหยียบพื้นที่เปียกจากหิมะละลายหน้าเค้าจึงฟาดกับพื้นหิมะแบบเต็มๆ จนเป็นแผลอย่างที่เห็น  จากนั้นไกย์ของพวกเค้าทักทายต่ายและพูดคุยถึงเส้นทางที่เราเดิน และเมื่อเค้ารู้ว่าเราเป็นคนไทยเค้าแสดงอาการตื่นเต้นอย่างเห็นได้ชัด เค้าบอกกับเราว่าเมื่อปีที่แล้วมีคนไทยกลุ่มหนึ่งมาเป็นลูกทัวร์เค้า ทุกคนร่าเริงมนุษย์สัมพันธ์ดี ยิ้มเก่ง ทำให้เค้าสนุกมาก เราพูดคุยกันอย่างถูกคอ

เค้าแนะนำตัวเองว่าชื่อ Tenzing Sherpa เป็น Mountain Guide in Nepal มา 20 ปี และรักภูเขามากเป็นชีวิตจิตใจ เค้าเล่าเรื่องราวในชีวิตให้เราฟังมากมาย รวมถึงความฝันที่อยากจะใช้เครื่องร่อน ร่อนลงมาจากยอดเอเวอเรสอีกด้วย! เราคุยกันอย่างสนุกสนานจนเวลาล่วงเลยไปเกือบ 3 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาที่ดึกที่สุดของเรานับตั้งแต่เดินทางมา เราจึงขอตัวไปพักผ่อน เพื่อเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น เราต่างจับมือยินดีที่ได้รู้จักกัน และสัญญากันว่าถ้าเรามาคราวหน้าเราจะให้เค้าเป็นไกย์ให้กับเรา

วันรุ่งขึ้น เราเลือกที่จะทานอาหารที่โรงแรมเพราะติดใจรถมือคุณป้าเจ้าของโรงแรม ดาวบัดของคุณป้าอร่อยจนต้องเบิ้ลซ้ำ หลังจากทานอาหารเรียบร้อย เราจึงเริ่มออกเดินโดยที่ลูกหาบเรานำหน้าไปเช่นเคย เราเริ่มการเดินทางที่การข้ามสะพานแขวนที่มีวิวรอบตัวสวยที่สุด และเริ่มเข้าเส้นทางที่เต็มไปด้วยหมู่บ้านเราจึงแน่ใจได้เลยว่าเราจะไม่เหงา เพราะนอกจากนักเดินทางแล้วเราจะได้เจอเด็กๆ ที่วิ่งกันอยู่ทั่วหมู่บ้านเป็นสีสันให้เราได้ยิ้มตลอดทาง ในบางช่วงของเส้นทาง เราจะได้เจอกับต้นซากุระที่ออกดอกสะพรั่งยาวเหยียด เป็นภาพที่สวยที่สุดภาพนึงระหว่างที่เราเดิน

IMG_0994

IMG_0991

จุดหมายของเราวันนี้คือ LUKLA เมืองที่สิ้นสุดการเดินทางสำหรับทริปนี้ เราเดินตรงดิ่งจาก PHAKDING โดยไม่ได้หยุดพักที่ไหนเพื่อไปให้ถึง LUKLA ก่อนเย็น แต่มันก็ไม่ได้ง่ายดั่งใจคิด เพราะเส้นทางกลับจาก PHAKDING ไป LUKLA นั้นเป็นทางขึ้นทั้งหมด แต่ถึงจะไม่ง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากอีกต่อไปเพราะบนหลังเราไม่มีเป้แล้ว เราจึงเดินขึ้นต่อเนื่องได้ในระยะไกลๆ

IMG_0984 2เส้นทางกลับยังคงสวยงามเหมือนเดิม และจำนวนนักเดินที่เดินสวนทางกับเราไปก็มากมายกว่าตอนที่เรามาหลายเท่านัก แต่ก็ไม่น่าแปลกเพราะในเดือนเมษาของทุกปีคือช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเพื่อเทรคกิ้งมากที่สุด หลังจากที่เดินผ่านทางขึ้นมาอย่างนับไม่ถ้วน ในที่สุดเราก็ถึงจุดหมายของเราที่ LUKLA เราเดินพ้นบรรไดขั้นสุดท้ายมาด้วยรอยยิ้มและความโล่งใจ ที่ในที่สุดเราก็เดินทางกลับมาถึงที่นี่ด้วยความปลอดภัย

IMG_0959

เราได้ที่พักที่ LUKLA ในราคา 300 รูปี แต่เป็น 300 รูปีที่มีห้องน้ำในตัวห้องพัก เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่สุดของเราตอนนั้น ด้านล่างของโรงแรมเป็นร้านกาแฟ&อาหาร และมี WIFI เราจึงลงมาส่งข่าวบอกคนทางบ้านว่าเราจบทริปได้อย่างปลอดภัย และที่สำคัญกว่านั้น เราต้องทำเรื่องเปลี่ยนเที่ยวบินที่จะกลับเข้ากาฐมัณฑุที่เร็วขึ้นมาอีก 4 วัน เรารอคำตอบอยู่หลายชั่วโมงและสุดท้ายเราก็ได้เที่ยวบินที่จะกลับกาฐมัณฑุในวันพรุ่งนี้ได้สำเร็จ

IMG_1018

IMG_1001

IMG_1007 เมื่อเรื่องตั๋วกลับเข้าเมืองเรียบร้อยไปหนึ่งเรื่อง เราจึงมีเวลาได้เดินเที่ยวเล่นใน LUKLA เราเดินไปจนเจอวัดที่สอนให้พระทำสมาธิด้วยการวาดรูปเป็นบทสวดมนต์ซึ่งแต่ล่ะชิ้นนั้นสวยงามและละเอียดมาก สนนราคาต่อชิ้นก็สูงพอสมควรคือตกชิ้นล่ะประมาณ 1,000-3,000 บาท

IMG_1014เราเดินวนไปวนมาอยู่ในเมืองจนตัดสินใจกลับเข้าที่พักเพราะอากาศหนาว เรายังคงเข้านอนหัวค่ำเช่นเคย พรุ่งนี้เราจะต้องถึงสนามบินตอน 7 โมงเช้า และเดินทางกลับเข้ากาฐมัณฑุตอน 8 โมงเช้า

IMG_1241

7 โมงเช้าเรามายืนรอที่หน้าเค้าเตอร์จำหน่ายตั๋ว เมื่อได้ตั๋วมาเราต้องชั่งน้ำหนักของทุกชิ้นที่จะเอาขึ้นเครื่อง ด้วยน้ำหนักที่เราพกติดตัวมาหนักเกินไป เราจึงต้องจ่ายค่าน้ำหนักเกินกว่า 700 บาท หลังจากผ่านกระบวนการตรวจแบบถามตอบเรียบร้อย เราก็ได้มานั่งรอขึ้นเครื่องสักที

IMG_1021เครื่องบินเล็กของที่นี่บินกันด้วยความชำนาญมากๆ เพราะสนามบินเล็กมากถึงมากที่สุด ไม่มีการหยุดพัก พอเครื่องจอดผู้โดยสารบนเครื่องลงมา ก็จะมีผู้โดยสารที่จะไปไฟล์ต่อไปยืนต่อแถวรออยู่หน้าบรรได มองไปคล้ายเข้าคิวรอขึ้นวินรถตู้บ้านเราไม่มีผิด

8 โมง 15 เครื่องบินวิ่งลงเนินที่เหมือนสไลด์เด้อทิ้งตัวในอากาศเล็กน้อยก่อนจะไต่ระดับอย่างรวดเร็วเพื่อข้ามเขาที่อยู่ตรงหน้าให้พ้น เป็นการนั่งเครื่องบินที่สนุกมากมีลุ้นตลอดเวลา

IMG_1022 IMG_1023 และหลังจากนั้น 40 นาที เราก็มาถึงสนามบินตรีภูวันเมืองกาฐมัณฑุ เป็นที่เรียบร้อย

IMG_1024

“จบแล้วซินะ การเดินทางที่เหมือนฝันครั้งนี้ ขอเวลาอีกสักหน่อย แล้วเราจะกลับมา”

IMG_0813

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

The Outsiders

ในเวลาหนึ่งผมเคยเขียนในบทความไว้ว่า “หมู่บ้านในนิทาน” หรือ “Shangri-la” ในนวนิยายเรื่อง Lost Horizon ของ James Hilton นั้นมีอยู่จริงในมุมเล็กๆของโลกใบนี้ หลายคนได้ค้นหามันจนเจอ แต่แล้วพวกเขาก็เป็นคนทำให้มันสูญหายไปด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนให้หมู่บ้านในนิทานนั้นให้ “ดีขึ้น” โดยการนำสิ่งที่เขาคิดว่าดีงาม จากที่ที่เขาคุ้นเคยเข้าไป การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ การถ่ายเทวัฒนธรรมในโลกใบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณและยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วขึ้นในทุกวันนี้ด้วยการเดินทางและการสื่อสารในยุคใหม่ แต่สิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาสู่สังคมที่คงสภาพเดิมมาอย่างผาสุขยาวนานย่อมมีทั้งดีและไม่ดี และที่สำคัญหลายคนที่พยายามนำมันเข้าไปอาจจะไม่เคยถามคนดั้งเดิมของสังคมว่ามันเป็นประโยชน์ให้กับพวกเขาแค่ไหน เขาต้องการมันหรือไม่

Salmon Fishing ที่นอร์เวย์

ผมรัก Fly Fishing เพราะมันพาผมไปอยู่ในที่สวยที่สุดในโลกหลายๆแห่งที่น้อยคนจะได้เห็น ครั้งนี้มันพาผมไปตกปลาแซลม่อนที่แม่น้ำที่งดงามของ Norway ผมได้ไปสัมผัสกับเรื่องราวของปลาแซลม่อนที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลกใบนี้ แต่คนเรากลับมองข้ามความสำคัญของมันและทำลายความอุดมสมบูรณ์ที่ล้ำค่านี้ไปจนเหลือเพียงเศษเสี้ยวของที่เคยมีในอดีต

Fly Fishing Yellowstone

ทริปตกปลาที่ Yellowstone National Park ที่ที่หลายคนเรียกว่า Shangri-la ของนักตกปลาเทร้าท์

นิตสารที่เรารัก

เพื่อนๆหลายคนก็อาจจะเป็นเช่นเดียวกับผม ที่เติบโตมากับ “นิตยสาร” ในโลกของสังคม Online วันนี้ ดูเหมือนว่า “นิตยสาร” จะค่อยๆลดบทบาทลง ค่อยๆหายไปจาก “แผงหนังสือ” ที่ทะยอยหายไปพร้อมๆกัน ในขณะที่สื่อ Online โดดเด่นมากในเรื่องของความรวดเร็วในการนำเสนอและอิสระเสรีภาพของการเผยแพร่ความรู้และความคิด แต่ใช่หรือไม่ว่า หลายๆครั้งที่เราอ่านสื่อ online เราคงมีคำถามบางอย่างค้างคาอยู่ในใจ เกี่ยวกับที่มาและความน่าเชื่อถือของสิ่งที่เราอ่านนั้น ผมเองยังเชื่อว่านิตยสารยังคงมีคุณค่าเฉพาะตัวของมันอยู่บนเส้นแกนคุณค่าของสื่อ  พื้นที่ระหว่างสื่อ Online ที่รวดเร็วและเผยแพร่ได้เร็ว กับหนังสือดีๆที่ต้องใช้เวลาคัดสรร เรียบเรียงอาจจะเป็นแรมปีกว่าจะออกมาให้เราอ่านกันได้ นิตยสารเป็นสื่อที่อยู่ตรงกลาง นิตยสารดีๆสักเล่มหนึ่ง จะมีแนวทางที่ชัดเจนและยึดมั่นในคุณค่าส่งที่เขานำเสนอ จนพวกเราคนอ่านสามารถสัมผัสได้...

Most Popular

%d bloggers like this: