“Trekking in the NEPAL HIMALAYA”
ตอนที่ 6 : ” NAMCHE BAZAR เมืองหลวงแห่งภูมิภาคเอเวอเรส”
คืนที่หลับสนิททันทีตั้งแต่หัวถึงหมอนผ่านพ้นไป เราตื่นมาแต่เช้าตรู่และต่อสู้กับตัวเองให้มุดออกมานอกถุงนอน อากาศเย็นวาบชะโลมตัวเราทันทีที่เอาตัวพ้นถุงนอน หยิบนาฬิกามาดู อีก 10 นาทีจะ 6 โมงเช้าแต่ฟ้านอกหน้าต่างสว่างจ้ากว่าเวลาจริงมากนัก เราลุกขึ้นยืนข้างเตียง หยิบเสื้ออีก 2 ตัวมาใส่เพื่อชะลอความหนาว หยิบอุปกรณ์ล้างหน้าแปรงฟันออกไปห้องน้ำที่อยู่ถัดไปจากห้องเราประมาณไม่เกิน 8 ก้าว สัมผัสแรกจากน้ำในก็อกที่โดนมือเย็นจัดกว่าตอนอยู่ที่ Phakding 2 เท่าตัว หลังจากกลั้นใจแปรงฟันล้างหน้าล้างตาอยู่ 3 นาที ก็รีบดิ่งกลับห้อง เจอพี่ปั้นนั่งต้มน้ำเพื่อชงอะไรอุ่นๆ ให้ดื่มแก้หนาว กาแฟอุ่นๆ อยู่ที่มือเรา ต่างคนต่างนั่งพิงเตียงของตัวเองแล้วนึกย้อนถึงเมื่อวานว่าเราพลาดอะไรบ้าง ถึงต้องเดินกันกลางความมืดเพียงลำพังแบบนั้น เราสรุปได้สั้นๆ ว่า เพราะกระเป๋าเราหนักจนเกินไป (เราแบกของทั้งหมดเองไม่ได้จ้างลูกหาบ) และเรากำหนดจุดหมายพลาด เราควรเดินในวันแรกให้ไกลกว่านี้ (เราไม่ได้จ้างไกร์นำทางจึงไม่มีใครต้อนเรื่องเวลา) และ เป็นเพราะความเอ้อระเหยชมวิวของเราที่เห็นตรงไหนสวย ก็อยากจะอยู่ซึมซับมันสักพัก เกินกว่าจะเดินผ่านไปแบบไม่ใยดี
กาแฟหมดแก้ว เราจึงเดินออกมาชมเมืองกันแบบใจเย็น เพราะเรามีเวลาอยู่ในเมืองนี้อีก 2-3 วัน เพื่อปรับตัวให้คุ้นชินกับความสูงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสำคัญมาก สำหรับคนที่เป็นโรค Altitude Sickness หรือแพ้ที่สูงอย่างต่าย เราเดินตัวปลิวเพราะไร้เป้ เราเจอร้านกาแฟร้านเหมาะๆ ร้านหนึ่ง ที่มีระเบียงยื่นออกมาเพื่อรับแสงแดดได้เต็มที่ เราต้องการแสงแดด ทั้งเพื่อช่วยให้ร่างกายเราอุ่น และ เพื่อให้เจ้าแผงโซล่าเซลของเราได้ทำงานของมันอย่างเต็มที่ในการเก็บไฟให้เราได้ชาร์ตกล้อง กาแฟแก้วที่ 2 ของเช้านี้วางตรงหน้า ลาเต้ร้อนรสชาติแปลกลิ้นให้อีกความรู้สึกทั้งรสชาติและช่วงอารมณ์ในตอนนั้น เรานั่งตรงข้ามกันเงียบๆ จิบกาแฟในแก้วตัวเอง และมองภูเขาอย่างเนิ่นนาน ราวกับไม่เคยเห็นมันมาก่อนในชีวิต
เราออกจากร้านกาแฟมาเดินเล่นดูสินค้า Outdoor ที่ขายอยู่แทบจะทุกมุมของเมืองนี้อย่างเพลิดเพลิน ทั้งของเก่า ของใหม่ ของแบรนย์ดังจากทุกมุมโลก หรือของโลโค่ลที่ชาวบ้านทำมือมาเพื่อขายให้นักเดินทั้งหลาย โดยเฉพาะเจ้าผ้าขน Yak ที่ราคาถูกและอุ่นสบายเป็นที่สุดมีอยู่เกลื่อนตลาด
เราตัดสินใจกลับไปทานอาหารที่โรงแรมเพราะยังงงกับการหาร้านข้าว มันไม่ได้มีเกลื่อนกลาดเหมือนบ้านเรา ห้องอาหารของโรงแรมที่เราพัก อยู่ชั้นล่างสุด ต่างจากปากทางเข้าโรงแรมที่เป็นทางเดินของชั้น 2 เราสั่งอาหารที่ดูแนวโน้มแล้วว่าเราจะกินได้มา โดยพี่ปั้นเลือกทานขนมปังทิเบตกับน้ำผึ้งและต่ายเลือกไข่ดาว และ มันฝรั่งที่ผัดมากับหัวหอม โต๊ะที่เรานั่งด้านข้างเป็นกระจกสูงจากเพดานจนเกือบจรดพื้น พ้นหน้าต่างออกไปเป็นภาพภูเขาขนาดใหญ่ที่มีหิมะคลุมอยู่เกือบครึ่ง เรานั่งมองภาพอย่างเนิ่นนาน….อีกเช่นเคย
อาหารทั้งหมดถูกจัดการหมดแล้ว เจ้าของโรงแรมแนะนำให้เราออกไปเดินเล่นที่ตลาดสดที่มีเพียงอาทิตย์ล่ะ 2 วันเท่านั้น เพราะตลาดสดทุกที่ทั่วโลกเป็นตัวชี้ให้เห็นถึงความเป็นอยู่และลักษณะสังคมของที่นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี เราเดินออกจากโรงแรมและมุ่งหน้าไปบนเนินด้านหน้าโรงแรมเราก็ได้เจอตลาดสมใจ ของที่ขายเกือบทั้งหมดมีเพียงไม่กี่ชนิด หัวหอม กระเทียม กะหล่ำปลี แครอท สบู่ และเครื่องกระป๋องต่างๆ มีเพียงเท่านั้น และดูจากสภาพของสิ่งของต่างๆ แล้ว เหมือนว่ามันได้ผ่านการเดินทางมาอย่างยากลำบากและแสนยาวนาน มองเลยตลาดไปเป้นภาพเดียวกับที่เรานั่งมองอยู่ข้างหน้าต่างโรงแรมแต่แค่มีขนาดใหญ่ขึ้น ตลาดสดที่นี่ มีทำเลที่ตั้งที่สวยเป็นที่สุด
เราใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการสำรวจตลาด เพราะจุดหมายต่อไปของเราคือพิพิธภัณฑ์ที่บอกเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับที่นี่ เราเดินไต่เนินขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อเหงื่อเริ่มซึมเราก้เจอพิพิธภัณฑ์ เราเดินตรงเข้าไปอย่างงงๆเพราะประตูถูกล็อกด้วยแม่กุญแจ ด้านข้างเป็นร้านจำหน่ายรูปภาพเกี่ยวกับยอดเขารอบๆ เอเวอเรส เราเจอกับลุงอายุราวๆ 50 คนหนึ่ง แกเดินเข้ามาพูดคุยทักทายเรา และออกตัวว่าคุณลุงพูดได้แต่หูไม่ได้ยิน เราต้องเขียนคำถามที่เราต้องการอยากรู้ในกระดาษ แล้วแกจะตอบกลับมาเองแบบครอบคลุมที่สุด หลังจากคุยกันไปมาเราจึงทราบได้ว่าคุณลุงท่านนี้เป็นช่างภาพอนุรักษ์คนแรกของเผ่า Sherpa (สมาชิกเผ่าธิเบตบนเทือกเขาหิมาลัย) ภาพที่วางขายอยู่ที่ NAMCHE BAZAR เกือบทั้งหมดเป็นฝีมือของคุณลุง และด้วยความที่อยู่บนที่สูงเป็นพิเศษบ่อยครั้งและยาวนานทำให้หูของคุณลุงไม่ได้ยินเสียงอีกต่อไป
ในส่วนของ พิพิธภัณฑ์ คุณลุงได้รวบรวมเรื่องราว ทั้งภาพถ่ายและข้าวของเครื่องใช้ของชาวเผ่า Sherpa ไว้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและบ้านที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ก็คือบ้านที่คุณลุงเคยอาศัยอยู่จริง ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างผ่านการใช้จิงมาทั้งหมดในอดีต อีกห้องแบ่งเป็นเรื่องราวของยอดนักปีนเขาเอเวอเรสทั้งหมดตั้งแต่คนแรก รวมทั้งอุปกรณ์สมัยก่อนที่ใช้เพื่อพิชิตยอดเขานี้ (ไม่อนุญาติให้ถ่ายรูป) ทั้งหมดนี้เราเสียค่าเข้าเพียง 100 รูปี หรือราวๆ 30 บาทเท่านั้น ถ้าคุณมีโอกาสได้ไป NAMCHE BAZAR คุณต้องไม่พลาดที่นี่
ตกบ่ายฝนเริ่มตก และต่ายเริ่มมีอาการเริ่มแรกของการแพ้ที่สูง คือ เริ่มปวดท้ายทอย คลื่นไส้ ไม่มีแรงและเบื่ออาหาร เรากลับมานอนพักในโรงแรมและกินยา Diamox เพื่อแก้ไขอาการ แต่หลังจากที่อาการดูไม่น่าจะดีขึ้น พี่ปั้นเริ่มค้นหาในหนังสือและอินเทอร์เน็ตถึงอาการและวิธีแก้อีกครั้ง สิ่งที่เรารู้เพิ่มเติมคือ หลังจากที่เราเดินขึ้นมาที่สูง เราต้องไม่นอนทันที และไม่ควรเดินเปลี่ยนระดับเกิน 300-500 เมตร แต่เมื่อวานเราเดินพรวดเดียวขึ้นมา 1,000 เมตรซึ่งอันตรายเกินไป ดื่มน้ำน้อย และแบกของหนัก เราทำทุกอย่างที่ไม่ควรทำ อาการต่ายจึงชัดเจนครบทุกอย่าง โดยอาการจะเริ่มเกิดขึ้นหลังจากผ่านไปประมาณ 6-12 ชั่วโมงผ่านไป และยาใช้ไม่ได้กับคนที่เป็นโรคหิตจาง “อย่างต่าย” พี่ปั้นหาซื้ออ็อกซิเจนกระป๋องมาให้ในราคาที่แพงมาก เราเคยซื้อกันที่แชงกรีล่าในราคา 150 บาท แต่ ณ ตอนนี้ ที่นี่ขาย 850 บาท แต่เราก็ซื้อโดยหวังว่ามันจะช่วยให้ดีขึ้น ต่ายพ่นอ็อกซิเจน กินยาแก้แพ้อากาศ และเข้านอนตอน 6 โมงเย็น โดยหวังว่า “พรุ่งนี้ตื่นมาก็จะหาย”
กลางดึก ต่ายสะดุ้งตื่นเพราะหายใจไม่ออกและหิวน้ำ กำลังจะลุกไปหาน้ำกินก็เหลือบไปเห็นที่หัวเตียงมีขวดน้ำและกระป๋องอ็อกซิเจนวางไว้ให้แล้วใกล้ๆมือ คงเป็นฝีมือพี่ปั้นที่เตรียมไว้ให้ก่อนนอน หันไปมองเค้าและขอบคุณในใจเงียบๆ
หลังจากนั้นก็หลับๆ ตื่นๆ ตลอดคืน จนตี 5 กว่าๆ พี่ปั้นตื่นมาชงโอวัลตินให้ดื่มและถามถึงอาการ เมื่อเห็นว่ายังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร วันนี้เลยมีคำสั่งให้นอนพักอยู่ในห้องอย่างเดียว โดยที่พี่ปั้นจะเป็นคนออกไปถ่ายเก็บบรรยากาศบนยอดเขาข้างๆ หมู่บ้านให้แทน ก่อนจะไป พี่ปั้นพาออกมาสูดอากาศ ดื่มช็อกโกแลตร้อนและทานอาหารเช้าที่แถวๆ โรงแรม อาหารที่นี่มีเพียงไม่กี่ชนิดให้เลือก และเราเลือกจะสั่งพิซซ่าที่ดูแล้วกินง่ายที่สุดมาทานเกือบทุกมื้อ ต่ายยังคงทานอาหารไม่ลงเช่นเคย และอยากจะอาเจียนตลอดเวลา และด้วยอาการไร้เรี่ยวแรงแบบนี้ จึงโดนพาตัวไปเก็บไว้ในห้องเช่นเดิม
ต่ายหลับไปนานพอควร ตื่นมาแบบงงๆ ตอนบ่ายโมงกว่า พี่ปั้นยังไม่กลับมา ในใจเริ่มเป็นห่วงที่หายไปคนเดียวนานๆ ในช่วงเวลานั้นหนังสือดูจะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด นอนอ่านหนังสือไปสักพักก็เริ่มมึนหัว จึงหยุดพักและพยายามนอนต่อ นอนกลิ้งไปมาอยู่ในถุงนอนกว่าครึ่งชั่วโมงก็ตัดสินใจลุกไปล้างหน้าล้างตาอีกรอบ หยิบเสื้อมาใส่เพิ่มและเขียนจดหมายบอกพี่ปั้นถึงสถานที่ที่จะไปเสียบทิ้งไว้ที่หน้าประตูห้อง เพราะเราไม่มีโทรศัพท์ที่จะโทรบอกกันได้ ถ้าหากันไม่เจอจะวุ่นวายไปกันใหญ่ เราหอบหนังสือ คอมพิวเตอร์ น้ำหนึ่งขวด และห่อตัวด้วยเสื้อผ้าทั้งหมดที่มีเดินออกมาที่ร้านกาแฟร้านเดิมที่เรามาตั้งแต่วันแรก และใช้ช่วงเวลาของการรอคอยหาข้อมูลเพื่อรักษาตัวเองให้หายเร็วที่สุด เส้นทางของเรา ยังอีกไกลโข ไม่อยากให้มันหยุดอยู่แค่นี้เพราะร่างกายของเราเอง
นั่งก้มหน้าอ่านหนังสืออยู่ได้สักพัก ก็เห็นพี่ปั้นถือจดหมายที่เราเขียนทิ้งไว้ในมือ แล้ววิ่งกระหืดกระหอบมาด้วยความเป็นห่วง เราเงยหน้าจากตัวหนังสือแล้วยิ้มให้ด้วยความโล่งใจ เราเจอกันแล้วหลังจากที่ต่างฝ่ายต่างต้องอยู่คนเดียวมากว่าครึ่งค่อนวัน พี่ปั้นถามถึงอาการแต่ถ้าดูได้จากหน้าตาตอนนี้ เค้าคงพอเดาได้ว่าดีขึ้นมากแล้ว เราพลัดกันเล่าเรื่องที่ตัวเองเจอมา พี่ปั้นเล่าว่าเดินไปไกลมาก สูงมาก พร้อมกับอวดรูปมากมายที่เจ้าตัวใช้ความพยายามแค่ไหนกับการพยายามถ่ายรูปตัวเองคู่กับภูเขา เรานั่งคุยกันอยู่พักใหญ่ๆ จึงชวนกันกลับมาทำอะไรกินที่ห้องพัก
เรามีเตามาจากเมืองไทย โดยมาซื้อแก๊ซกระป๋องที่นี่แทน พี่ปั้นจัดการต้มน้ำร้อนเพื่อใช้สำหรับข้าวอบแห้งที่พี่ๆ ที่ร้าน Thailand Outdoor ยัดใส่มือเราให้เอาติดตัวมาด้วย โดยกินกับอาหารซองสำเร็จรูปที่เราบากบั่นแบกติดตัวมาด้วยเช่นกัน ข้าวที่เรากินไม่ได้อร่อยที่สุด แต่มันดีที่สุดเพราะเราได้กินอาหารที่คุ้นเคย เรานั่งพิงเตียงในท่าเดิมเหมือนทุกครั้ง ต่างหารือกันว่าพรุ่งนี้เราจะหยุดพักอีก 1 วัน ถ้าอาการแย่ลงอีก พี่ปั้นตัดสินใจจะพาเรากลับ แต่ดูโดยรวมแล้ว เราคิดว่าได้พักปรับตัวอีกสักวัน เราน่าจะดีพอจะไปต่อได้ เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น จึงได้แต่คาดหวังว่ามันจะไม่เลวร้าย เราตักข้าวคำสุดท้ายเข้าปาก และทำความสะอาดจานชาม มองออกไปนอกหน้าต่างเหมือนมีฝนตก แต่เมื่อมองชัดๆ อีกที หิมะต่างหากที่กำลังตกตอนนี้ พี่ปั้นดูจะชอบใจเป็นพิเศษ ชวนเราออกไปวิ่งเล่นข้างนอกอย่างสดใส แต่นั่นคือสิ่งที่ทำให้เรากังวล เพราะเมื่อหิมะตก อากาศก็จะยิ่งหนาวมากขึ้น นั่นหมายความว่าร่างกายเรากำลังเสี่ยงกับการป่วยเพิ่มขึ้นไปอีก เราหนีพี่ปั้นขึ้นโรงแรมและซุกตัวอยู่ในถุงนอน พยายามทำให้ร่างกายอุ่นที่สุดชั้นต้องไม่ป่วย ชั้นต้องไม่ป่วย แล้วก็สะกดจิตตัวเองไปเรื่อยๆ จนหลับไป
เช้าวันที่ 3 ที่อยู่ใน NAMCHE BAZAR รู้สึกได้ว่าตัวเองสดชื่นขึ้นมาก อาการปวดหัวหายไปแล้ว เรี่ยวแรงก็ค่อยๆ กลับมา มีเพียงอาการคลื่นไส้และไม่อยากอาหารหลงเหลืออยู่บ้าง เรายังคงใช้เวลาที่มีเดินเล่นไปมาอยู่รอบๆ เมือง NAMCHE BAZAR ที่นี่มีความเป็นเมืองหลวงอยู่มาก โดยที่นี่มีทั้ง อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ ทีวี ร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรมจำนวนมาก ATM ที่แลกเงิน พิพิธภัณฑ์ โรงเรียน ร้านทำผม ร้านนวด Spa ผับ ร้านขายของที่ระลึก ร้านขายยา ร้านขายอุปกรณ์ Outdoor ทั้งถูกและแพงอย่างมากมาย ด้วนความหลากหลายของเมืองนี้ จึงทำให้เราได้เดินเล่นได้แบบเพลินๆ จนลืมเวลา
ผู้คนที่มาเดิน Trekking ที่หิมาลัย เกือบทั้งหมดจะต้องพักที่เมือง NAMCHE BAZAR อย่างน้อย 1-3 วันเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวกับการอยู่ในที่สูง ทุกคนจิงสามารถหาข้าวของเครื่องใช้ที่ยังขาดเหลือได้จากที่นี่ รวมทั้งส่งข่าวคราวบอกครอบครัวให้รู้ว่ายังปลอดภัยสบายดี และที่สำคัญคือต้องแลกเงินไว้ให้เรียบร้อย เพราะเลยจากจุดนี้ไปจะไม่มีที่แลกเงินรูปีอีกแล้ว
เราใช้ชีวิตวันนี้แบบง่ายๆ และเรื่อยเฉื่อยในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่าย เราตกลงจะไปเจรจาเพื่อขอเช่าห้องโรงแรมไว้เก็บของบางส่วนที่เราจะไม่แบกไปด้วย เราต้องการโรงแรมที่ราคาถูกจึงติดต่อกับโรงแรมฝั่งตรงข้ามที่ราคาห้องอยู่ที่ 200 รูปี/คืน เท่านั้น และเค้าก็ตกลง เรากลับมาเก็บของบางส่วนแยกไว้ด้วยความที่เราคุ้นเคยกับเจ้าของโรงแรมนี้มากกว่า และ เค้ารู้ที่มาที่ไปเราตั้งแต่เริ่ม ถึงแม้ราคาจะแพงกว่านิดหน่อย เราก็ยอมจ่าย พี่ปั้นจึงแจ้งความต้องการของเราให้เจ้าของโรงแรมฟัง เค้าแจ้งกลับมาว่า เราไม่จำเป็นต้องเช่าห้องทิ้งไว้ ส่วนของที่เราต้องการทิ้งไว้ที่นี่เค้าจะเก็บรักษาดูแลให้เองโดยไม่คิดเงิน แถมยังเห็นดีด้วยที่เราควรทิ้งของบางส่วนไว้ที่นี่ เพราะน้ำหนักที่เราแบกมามันหนักเกินไป จะทำให้เราเป็นอันตรายได้ และในกรณีที่เกิดหิมะถล่มหรือเกิดเหตุการไม่คาดคิดขึ้น เราจะยิ่งอันตรายเพราะ Move ตัวเองยากจากน้ำหนักของกระเป๋า เราขอบคุณเค้าและจ่ายเงินค่าที่พักไปเลยเพื่อสะดวกต่อการออกเดินทางในวันพรุ่งนี้
เมื่อยอดเงินมาโชว์ตรงหน้า เราก็ได้รับรู้อีกเรื่องนั่นคือ ราคาค่าที่พัก 350 รูปี/คืน นั้น เราต้องสั่งอาหารที่โรงแรมทานอย่างน้อย 1 มื้อ คือกลางวัน หรือเย็น ไม่นับรวมสำหรับอาหารเช้า ถ้าไม่เช่นนั้นเราต้องจ่ายเพิ่มให้เค้าในราคา 1,000 รูปี/คืน เพื่อเป็นค่าปรับ และ แน่นอนเราโดนไป 3,000 รูปี โดยไม่รู้เรื่องรู้ราว เราอึ้งๆ นิดหน่อยกับสิ่งที่เพิ่งรับรู้แต่ก็รับได้ เพราะเราเองที่ไม่อ่านข้อมูลที่เค้าเขียนไว้หลังเมนูอาหารให้ถี่ถ้วน บวกกับที่เค้าไม่คิดเงินค่าฝากของเรา ก็ถือว่าหยวนๆ กันได้
เรากลับห้องมาเก็บของที่ตอนนี้กระจายไปทั่วห้องคนล่ะทิศล่ะทาง พี่ปั้นถามย้ำให้แน่ใจอีกครั้งว่าจะไปต่อหรือกลับ และแน่นอน คำตอบคือเราจะเดินทางต่อไปแน่นอน เราเข้านอนตั้งแต่ทุ่มครึ่ง นอนให้เต็มที่ เพื่อพรุ่งนี้ตื่นมาแบบเต็มร้อยที่สุด ที่นอกหน้าต่าง หิมะยังคงตกอย่างต่อเนื่อง “คืนนี้หนาวจัง”