บรรยากาศของตลาดสดยามเช้ากำลังคึกคัก รอบตัวผมเต็มไปด้วยอาหารซึ่งส่วนมากเป็นผักสดและปลาหลากชนิดที่เป็นผลผลิตจากความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำโขง
ขณะที่ผมพยายามสื่อสารกับแม่ค้าด้วยภาษาที่แตกต่างกัน กล้องตัวเล็กๆที่ดูโบราณที่แขวนขอผมอยู่ไม่ได้ดึงดูดความสนใจแม้แต่น้อย เธอไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำว่ามีเสียง”คลิ๊ก” เบาๆเมื่อผมกดชัตเตอร์


“ใครว่าไดโนเสาร์สูญพันธ์ไปแล้ว” นี่คือคำพูดจากเพื่อนผมเมื่อเขาเห็นอุปกรณ์ถ่ายภาพที่ผมใช้ ก็สมควรอยู่กับที่เขาว่าเพราะท่ามกลางกระแสไฮเทคของกล้อง Auto Focus ที่มีความสามารถมากมาย จนกระทั่งจะถึงยุคของกล้องไร้ฟิลม์กันอยู่แล้ว ผมยังคงใช้กล้อง Range Finder ที่มีรูปทรงและ Function ใกล้เคียงกับต้นตระกูลของมันที่เกิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1954 อยู่
ครับ กล้องที่ผมกำลังพูดถึงคือ Leica M6
ตัวผมเองเริ่มรู้จักกล้องไลก้าอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน หลังจากที่ไดฟังผู้อาวุโสชาวอเมริกันคนหนึ่งบรรยายถึงประสพการณ์ ของแกที่มีกับไลก้า M3 ในฐานะช่างภาพสงครามจนทำให้ผมตัดสินใจซื้อกล้อง M3 มือสองราคาสี่ร้อยเหรียญหรือประมาณหนึ่งหมื่นบาทในขณะนั้น ซึ่งก็นับว่ามากโขสำหรับคนพลัดถิ่นที่ทำงานได้ชั่วโมงละห้าเหรียญอย่างผม แต่ก็คิดในใจว่าถ้าไม่พอใจก็ขายต่อได้โดยไม่เจ็บตัว(มากนัก)

ได้กล้องมาแล้วผมก็จัดการเปิดแม็กกาซีนสั่งเลนส์ 90mm f2.8 Elmarit รุ่นเก่ามาทางไปรษณีย์ มา”ลองดู”อีกเหมือนกันเพราะร้านที่สั่งยอมให้ส่งคืนได้ภายในเจ็ดวัน
เมื่อเลนส์มาถึง ผมเกือบจะส่งมันคืนไปทันที่ทีเปิดกล่องออกดูเพราะกระบอกเลนส์ข้างนอกบุบบิบบู้บี้ไปทั่ว หน้าตาก็โบราณ แถมว่าหัวเลนส์ยังหมุนออกจากกระบอกได้ง่ายๆจนทำให้ผมหมดศรัทธา
มิน่าเล่าถึงได้ขายถูกนัก แต่เมื่อส่องดูก็ผบว่าเลนส์ยังใสแจ๋วแม้จะมีขนแมวบ้าง ผมจึงได้ตัดสินใจเอาฟิล์มสไลด์ใส่เจ้า M3 และ กล้อง Nikon คู่มือแล้วนำมันออกไปถ่ายเทียบกันระหว่าง เจ้า 90มม.บู้บี้ กับ 105 f2.5 Nikkor ตัวเก่ง
วันรุ่งขึ้น ทันทีที่ได้ดูฟิล์มที่ถ่ายมา ผมรู้สึกทันทีว่าตัวเองยังโชคดีอยู่บ้างที่ไม่ด่วนส่งเลนส์คืนไป ความคมชัดของภาพจากกล้องสองตัวอาจไม่ต่างกันมาก แต่สีของภาพจากไลก้ากลับมีสีสรรนุ่มนวลสมจริง
กว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีผิวคน(ฟิล์มที่ใช้เป็นม้วนเดียวกัน) ดังนั้นเจ้าบู้บี้จึงกลายเป็นเลนส์ตัวเก่งของผมไปในทันที นอกจากนี้ผมยังเริ่มติดใจกับความกระทัดรัดของ M3 อีกด้วย อีกหลายปีต่อมาหลังจากมีงานการทำผมจึงได้กัดฟันถอย M6 ออกมาเป็นกล้องคู่มือและทยอยซื้อเลนส์อีก2-3ตัว


กล้องไลก้านั้นถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆกับฟิล์มขนาด 35มม.ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ตั้แต่ปี 1913-1914 ตลอดเวลา กว่า 80 ปีที่ผ่านมา กล้องไลก้าพัฒนามาเป็นกล้อง Range Finder ที่เปลี่ยนเลนส์ได้เริ่มจากเลนส์ที่ใช้เกลียวและมาเป็นแบบเขี้ยว ถึงแม้ ไลก้าจะแตกแขนงไปทำกล้อง Single Lense Reflex แข่งกับคนอื่นเพื่อความอยู่รอดตั้งแต่ 1964 แต่การผลิตกล้อง Range Finder ของไลก้าก็ยังคงดำเนินมาถึงทุกวันนี้


การพัฒนากล้อง Range Finder เป็นไปอย่างรวดเร็วในระยะแรก จนมาถึงจุดอิ่มตัวหลังจากการเปิดตัวของ M3 อันเป็นกล้องตระกูล M ตัวแรก ในปี 1954 อาจเป็นไปได้ว่าM3เป็นกล้องที่สมบูรณ์ในตัวเองจนวิศวกรของไลก้าหาทางปรับปรุงมันไม่ได้มากนักตลอดเวลาสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา!





M6 เป็นตัวแทนของกล้องตระกูลM ในยุคปัจจุบัน มันเป็นกล้องRange Finder ตัวเดียวที่ไลก้ายังผลิตอยู่และผมเชื่อว่ามันจะเป็นตัวสุดท้ายของเผ่าพันธ์ที่เกรียงไกรก่อนที่กล้องใช้ฟิล์มจะถูกกลืนไปด้วยกระแสของกล้อง Digital ในไม่กี่ปีข้างหน้า มันยังคงรูปทรงอมตะของM3 อยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย การปรับปรุงจาก M3 ที่พอจะมองเห็นได้ชัดเห็นจะมีเพียง เครื่องวัดแสงผ่านเลนส์แบบ Selective , ทางเลือกที่จะต่อ Widerได้, และช่องมองภาพที่ สามารถ ใช้ได้กับเลนส์มุมกว้างได้ถึง28มม. (ช่องมองภาพในตัวM3ใช้ได้แค่ 50มม. M2ที่ออกมาตามหลัง M3 ใช้ได้กับเลนส์ 35มม. ต่ำกว่านี้ต้องใช้ Adaptor หรือช่องมองภายนอก) แต่ในขณะเดียวกันมันก็ยังคงรักษาชื่องเสียงในด้านคุณภาพและความทนทานของ M3 ไว้เอย่างเหนียวแน่น

ด้วยข้อจำกัดของช่องมองภาพทำให้เลนส์ของไลก้า M ถูกจำกัดอยู่ในช่วง 21ม.ม. ถึง135ม.ม. จริงๆแล้วก็นับว่าพอเพียงสำหรับการถ่ายภาพทั่วไป ยกเว้นคนที่ต้องการเลนส์ยาวสำหรับงานพิเศษ ในช่วงความยาวเลนส์ 21ม.ม.-135ม.ม.นี้ไลก้ามีเลนส์ให้เลือกมากมาย เลนส์ขนาดหนึ่งๆอาจมีหลายตัวให้เลือกใช้ทั้งรูรับแสงกว้างหรือแคบตามความต้องการ แน่นอนเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างย่อมมีราคาแพงกว่าเลนส์รู้รับแสงแคบ (บางกรณีแพงกว่ากันหลายเท่าตัว) แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างจะให้ภาพที่มีคุณภาพดีกว่ากว่าเลนส์รู้รับแสงแคบอย่างที่หลายๆคนเข้าใจผิดกัน ตามหลักการของไลก้าแล้ว, ถ้าปัจจัยอื่นๆเท่าเทียมกัน, เลนส์ที่มีรู้รับแสงแคบกลับจะให้คุณภาพๆที่ดีกว่าด้วยซ้ำไป! เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ได้ต้องการถ่ายภาพในที่แสงน้อยคุณก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปซื้อเลนส์ f-stop กว้างให้เปลืองทรัพย์ไปเปล่าๆ


ผมพบว่าเลนส์ไลก้าที่เคยใช้มา ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มีคุณภาพ แต่ผมต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าผมไม่ต้องการเถียงเรื่องคุณภาพเลนส์กับใครว่าตัวไหนคมกว่ากัน ผมเชื่อว่าความคมชัดระดับสุดยอดไม่ได้ทำให้ภาพธรรมดากลายเป็นภาพที่ดีขึ้นมาได้แต่อย่างใด แต่การเลือกใช้กล้องและเลนส์ให้เหมาะสมกับรูปแบบการถ่ายภาพของแต่ละคนกลับมีส่วนส่งเสริมได้มากกว่า
ข้อดีของกล้อง Range Finder ก็มีอยู่ไม่น้อย รูปร่างที่ไม่สะดุดตาคนทั่วไปและเสียงชัตเตอร์ที่เงียบกริบ ทำให้มันเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้บันทึกภาพผู้คนในสภาพแวดล้อมจริงๆ ขนาดที่เล็กทั้งกล้องและเลนส์, น้ำหนักที่เบามันยังเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นเพื่อนเดินทางในกรณีที่ต้องเดินตระเวนไป การที่มันเป็นRange Finderจึงทำให้ไม่มีปัญหาในการโฟกัสกับเลนส์รูรับแสงแคบในที่มืดแบบที่กล้อง SLRเป็น การที่ไม่ทีกระจกสะท้อนภาพทำให้ระยะห่างระหว่างเลนส์กับฟิล์มน้อยลงซึ่งก็มีผลให้เลนส์มีขาดเล็กกว่าเลนส์ SLRในขนาดเดียวกัน หลายคนอธิบายว่าการทำเลนส์ขนาดเล็กย่อมทำได้ดีกว่าเลนส์ชิ้นใหญ่อันนี้ไม่ยืนยันนะครับ นอกจากนี้การมองเห็นสิ่งต่างที่อยู่นอกกรอบที่เลนส์บันทึกก็ทำให้เราสามารถเลือกวัตถุมาจัดองค์ประกอบภาพได้ดีขึ้น
ถ้ามองกันถึงความสามารถและฟังก์ชั่นอำนวยความสะดวกของตัวกล้องแล้ว M6 ไม่สามารถเทียบได้กับกล้องออโต้โฟกัสสมัยใหม่ได้เลย แต่ใช่หรือไม่ว่าเราชื่นชอบการถ่ายภาพเพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภาพถ่ายที่ดีขึ้นมา ถ้าคุณเพียงต้องการรูปที่ดีโดยไม่ต้องคิดต้องทำอะไรก็ไปซื้อรูปที่คนอื่นถ่ายมาเลยดีกว่า ในกรณีM6ก็มีทุกอย่างเราต้องการอย่างไม่บกพร่อง อะไรนอกเหนือจากนี้ล้วนเป็ความฟุ่มเฟือย
ผมไม่ได้บอกว่าM6เป็นกล้องที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน ผมเลือกใช้ M6 เพราะมันทำให้ผมสามารถกลมกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนที่ผมได้พบเห็นโดยไม่รบกวนสิ่งที่กำลังเนินไปตามจังหวะชีวิตและทำให้ผมสามารถบันทึกเรื่องราวแท้จริงลงบนฟิล์มได้

ผมนั่งดูภาพที่ถ่ายมาจากตลาดสดในเช้าวันนั้น ในความคิดของผมมันเป็นภาพขาวดำที่เต็มไปชีวิตชีวา ตัวแบบทุกคนล้วนแล้วแต่กำลังดำเนินชีวิตไปตามจังหวะและลีลาของเขาเอง ผมและไลก้า M6
เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในฐานะผู้บันทึกเหตุการณ์เท่านั้น
ตาเกิ้น 24 เมษายน 2542
หมายเหตุ พ.ศ. 2558 : เวลาผ่านไปกว่า 16 ปี หลายอย่างล้วนเปลี่ยนไป มีหลายอย่างในบทความนี้ที่ถูกต้องหลายอย่างอาจจะไม่
- Leica M6 ไม่ได้เป็นกล้อง Film Range Finder ตัวสุดท้ายของ Leica อย่างที่ผมทำนายไว้ ในปี 2002 Leica ออก M7 ออกมาแทน M6 โดยที่คงลักษณะเกือบทั้งหมดไว้ เพียงแต่เปลี่ยนระบบชัตเตอร์จาก Mechanic เป็น Electronic Shutter ในปี 2003 Leica ออก Leica MP ที่เป็นกล้องย้อนยุคใกล้เคียงกับ M3 และใช้ Mechanical Shutter อีกครั้ง และล่าสุดในปี 2014 Leica ก็ยังเปิดตัวกล้อง Leica M-A ที่เป็นกล้องฟิล์มและเป็น Mechanic ล้วนออกมา
- กล้อง Digital พัฒนาอย่างรวดเร็วและไปไกลมาก กล้อง Digital ได้เข้ามาครองตลาดและการใช้งานเกือบทั้งหมดของภาพถ่ายภาพในปัจจุบันอย่างที่คาดเดาไว้ ปัจจุบันแทบไม่มีช่างภาพอาชีพคนไหนใช้กล้องฟิล์มแล้ว
- Leica เปิดตัวกล้อง M Digital Range Finder เป็นครั้งแรกในปี 2006 ด้วย M8 ตามมาด้วย M9 ในปี 2009 และตามมาด้วย Leica M240 และ M Monochrome ดูเหมือนว่ากล้องตระกูล M ยังคงเดินหน้าต่อไปในกลุ่มผู้นิยม Leica และการถ่ายภาพบางประเภท ถึงแม้จะไม่ใช่กล้องหลักของช่างภาพอาชีพอีกต่อไปแล้ว
ขอบคุณมากที่มาตามคำขอ ชุดกล้องเลนส์ ยังเก็บไว้ครบหรือเปล่าครับ
ของผมยังอยู่ครบครับ แถมยังมี M6 Black มาอีกตัวเมื่อหลายปีก่อนครับ
สวัสดีครับ พี่ตาเกิ้น ผมเพิ่งจัด M4P มา วันก่อนนี้เอง M6 ยังไม่มีปัญญาไปครับ แพงเกิน เอาตัวนี้มายังพอมีเงินเหลือซื้อเลนส์ Zeiss 35F2 มาใช้พลางๆไปก่อนครับ เข้ามาอ่านอีกครั้งก็ยังรู้สึกดี เอากล้องออกมาใช้บ้างเปล่าครับ
เมื่อปีที่แล้วผมก็ไปจัด M4 มาตัวนึงครับ
ผมเองก็ไม่ได้เอา M6 ออกมาถ่ายบ่อยเท่าที่ควรจะเป็นครับ วันหลังไปด้วยกันนะครับ
ขอบคุณครับ พี่ตาเกิ้น