Monday, May 29, 2023
Homeความคิดและมุมมองช่วงเวลาที่งดงามของชีวิตกลางแจ้ง

ช่วงเวลาที่งดงามของชีวิตกลางแจ้ง

-

หนึ่งในคำถามที่ผมโดนถามมากที่สุดในชีวิตนี้คือ “พี่เป็นบ้าอะไร ทำไมถึงต้องเข้าป่าบ่อยขนาดนี้” 

ผมก็พยายามหาคำตอบให้กับตัวเอง ทฤษฎีหนึ่งก็คือ ผมอาจจะได้รับมรดกยีนส์ประหลาด Wanderlust Gene (DRD4-7R) ซึ่งจะทำให้คนที่มีมันอยู่ในตัวเป็นคนอยู่ไม่ติดที่ มาจากปู่ผ่านทางพ่อ ซึ่งทั้งสองคนก็มีพฤติกรรมคล้ายๆกับผมนี่แหละ

แต่เมื่อได้นั่งคิดพิจารณาในป่ามาหลายครั้ง ผมก็เริ่มเข้าใจเหตุผลขึ้นมาลางๆ

เพื่อนๆที่มีอาการนี้ก็อาจจะมีเหตุผลที่ต่างกันไป ลองฟังของผมดูนะครับ

ล่องแพแม่น้ำเงา มีนาคม 2547

สำหรับผมแล้ว คงตัดเรื่องความท้าทาย ความอยากพิชิตออกไปได้ เพราะการเที่ยวป่าของผมล้วนแล้วแต่เนิบนาบ ไม่รีบร้อน ไม่เน้นไกล ไม่เน้นสูงกับใครเขา

แต่ผมก็พบกว่าความสุขในป่าของผมมาจากความอิสระเสรีเป็นอย่างแรก ความอิสระจากพันธะทางสังคม สิ่งสมมุติที่เราสร้างกันขึ้นมาอย้างซับซ้อนทับกันชั้นแล้วชั้นเล่า 

เมื่อเข้าไปใช้ชีวิตในป่า ชีวิตเราจะเป็นเรื่องเรียบง่ายชั้นเดียว เดินเหนื่อยก็พัก หิวก็กิน ง่วงก็นอน ร้อนก็แช่ห้วย ปราศจากความกังวลเรื่องของตัวตนทั้งสิ่งที่เห็นและทั้งในโลกสมมุติ

สำรวจเส้นทาง “ดอยธง” ก่อนที่จะมาเป็นเส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา

สิ่งที่สอง เมื่อชีวิตเราในป่าเป็นไปอย่างเรียบง่ายปราศจาก “เปลือก”​ก็ย่อมทำให้มิตรภาพที่เกิดขึ้นในป่านั้นเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนที่แท้จริง ปราศจากการตัดสินกันจากเปลือกนอกและผลประโยชน์แอบแฝง

ซึ่งผมก็พบว่า “เพื่อนในป่า” นี่แหละที่ทำให้ให้เราอยากกลับไปยังป่าครั้งแล้วครั้งเล่า

วงอาหารในหมู่เพื่อน สำรวจขุนน้ำเงา มกราคม 2565

ประเด็นที่สาม ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องความท้าทายหรือต้องการพิชิต แต่ผมก็พบกว่าการได้ออกไปค้นหาสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่, ผู้คน หรือวัฒนธรรม ความรู้สึกตื่นเต้นที่ไม่รู้ว่าอะไรจะรอเราอยู่เมื่อพ้นโค้งข้างหน้าที่สายตามองเห็นได้ อาจจะเรียกว่าการผจญภัยก็คงพอได้ นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้ผมออกไปป่าในหลายๆครั้งในที่ที่ผู้คนอื่นๆเขาไม่ไปกัน (อันนี้อาจจะมาจาก Wanderlust Gene) 

สำรวจเส้นทางกับ “สหายไก่”​เพื่อนผู้ที่เติมความตื่นเต้นให้กับทริปสำรวจของเราได้เสมอ
พระอาทิตย์ขึ้นที่ดอยธง กลางทะเลหมอกเดือนมีนาคมที่เราไม่ได้คาดหวังว่าจะเจอ (ทริปสำรวจเส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา)

และเมื่อทั้ง 3 สิ่งนี้เกิดขึ้นประกอบกันอย่างลงตัว เหมือนอาหารที่ปรุงรสชาติได้อย่างกลมกล่อม ท่ามกลางธรรมชาติพิศุทธิ์ที่งดงามปราศจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ย่อมเกิดเป็นความสุขสงบที่สัมผัสได้ แต่ยากนักที่จะบรรยายเป็นคำพูด 

ผมเรียกความรู้สึกและช่วงเวลานี้ว่า “ช่วงเวลาที่งดงามของชีวิตกลางแจ้ง” (Beautiful Moment of Outdoor Life)

ป่าลึกลับที่ขุนน้ำเงา สถานที่หนึ่งที่ยังปราศจากร่องรอยของผู้คน

เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้นผมขอเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ผมเข้าใจถึงเรื่องนี้ให้ฟังนะครับ

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ ผมไปพายเรือแคนูและแค้มป์ริมแม่น้ำน่าน จากอำเภอเวียงสาจนถึงแก่งหลวง ในอำเภอนาน้อยเป็นประจำทุกปี 

เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่พ่อผมเคยใช้ล่องเรือเที่ยวป่าในยุคก่อน และถ้าย้อนเวลาไปเมื่อร้อยปีก่อนก็เป็นเส้นทางที่ปู่ผมใช้ขึ้นล่องค้าขายก่อนที่จะมีถนนเข้ามาถึงเมืองน่าน

ตลอดเส้นทางนี้ เรือแคนูจะพาเราล่องไปบนสายน้ำที่สงบเงียบ 2 ข้างลำน้ำเป็นป่าดง ปราศจากชุมชน, ถนน และผู้คน

ชาวบ้านพระเนตรที่ทำหน้าที่เป็นนายท้ายเรือให้พวกเรานั้นก็สนิทสนมกับพวกเราราวกับเป็นญาติพี่น้อง พอถึงฤดูที่ล่องเรือได้ก็จะต้องคิดถึงกันต้องมาล่องเรือนอนป่าด้วยกันทุกปี ถึงไม่ได้ทำอะไรมากก็ขอเพียงได้ไปวางข่ายหาปลามากินกัน

ทุกครั้งที่เจอกัน สุงเสริม นายท้ายประจำตัวผม ก็จะพูดถึงลำน้ำน่านในช่วงที่เลยแก่งหลวงลงไปมันสวยนักหนา 

ลุงเสริม นายท้ายแม่น้ำน่าน

และเมื่อลุงเสริมบอกว่า “ถ้าอยากไปก็รีบๆนะ ลุงแก่กว่านี้จะไปไม่ไหวแล้ว ไอ้พวกนี้ก็ไม่เคยมีใครไปสักคน” และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของทริปแคนูสำรวจลำน้ำท้ายแก่ง

หลังจากที่ล่องเรือผ่านแก่งที่เราไม่เคยผ่านมาก่อนจนเรือแทบคว่ำที่แก่งขาม ได้เห็นแก่งที่สวยมากๆที่ผาแดง ผาลิงโยน แล้วเราก็มาจอดพักกันที่แก่งเจ็ดแคว

ริมแก่งเจ็ดแควนี้เป็นหาดที่สวยมาก พื้นเป็นหินก้อนกลมหลากสี บางส่วนเป็นหาดทรายนุ่ม

หาดหินสี ของแก่งเจ็ดแคว

จุดที่เป็นประเด็นมีอยู่ว่า ก่อนจะมาพี่จรหัวหน้าคณะผู้นำทางบอกผมว่าเส้นทางช่วงนี้ สองข้างลำน้ำเป็นหน้าผาไม่มีที่กางเต็นท์ ให้ผมเอาเปลมาแทน

แต่ที่ไหนได้ ที่หาดเจ็ดแควนี้เป็นลานโล่ง ไม่มีต้นไม้สักต้นให้ผูกเปล ทั้งนี้ก็เพราะพี่จรเองก็ไม่เคยมาเหมือนกัน

หลังจากนั่งชมวิวที่งดงามกันจนมืดค่ำ เราก็ล้อมวงกันข้างกองไฟ แทะปลาย่างและซดแกงปลาที่เพิ่งวางข่ายมาได้กับข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ

วงอาหารเย็น และการวางแผนสำหรับวันรุ่งขึ้น

ค่ำคืนนั้นผมล้มตัวลงนอนบนผ้าพลาสติกที่ปูไว้บนหาดทรายนุ่ม นอนลืมตาและรับสัมผัสจากสิ่งรอบตัวอยู่พักหนึ่งผมก็ทนไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาหยิบปากกามาบันทึกความรู้สึกในขณะนั้นเก็บไว้

ในบันทึกนั้นเขียนว่า 

“คืนนี้เป็นแค้มป์ที่พิเศษที่สุดคืนหนึ่ง

ด้านหน้าของแค้มป์คือลำน้ำน่านไหลเอื่อยผ่านแก่งเจ็ดแควที่สวยงามยิ่งนักเมื่อกระทบกับแสงสีทองของพระอาทิตย์ที่กำลังลับเหลี่ยมเขา

กลางคืนแค้มป์ของเราส่องสว่างไปด้วยแสงของพระจันทร์แรมหนึ่งค่ำดวงโต โอบกอดไปด้วยเทือกเขารอบทิศ ห่มด้วยดวงดาวเต็มท้องฟ้า กรุ่นไปด้วยกลิ่นหอมจากกองไฟ และขับกล่อมด้วยเสียงน้ำน่านที่ไหลแผ่วเบา”

ภาพที่เห็นไม่สามารถสื่อความรู้สึกในขณะนั้นได้ คำบรรยายก็ยังทำได้ไม่ดีพอ จะรับรู้ได้ก็ต้องอยู่ตรงนั้นและเปิดใจรับมัน

ผมไม่แน่ใจนักว่าอะไรคือส่วนผสมที่ลงตัวจนทำให้เกิดช่วงเวลาที่งดงามของชีวิตกลางแจ้งขึ้นได้ 

แต่ผมบอกได้เลยว่ามันเสพติดมากๆ

เสพติดขนาดไหน เอาเป็นว่าหลังจากคืนนั้นมา ถ้าเป็นไปได้ผมจะนอนอยู่กลางแจ้งโดยไม่กางเต็นท์ ทุกครั้งที่มีโอกาสละครับ

รอยยิ้มที่เพื่อนๆผมบอกว่าจะเห็นได้ในป่าเท่านั้น

ถ้าอยากฟังในอารมณ์ของ Podcast นั่งคุยกัน ก็สามารถฟังได้ทาง “รอบกองไฟ Podcast” ใน Spotify, Apple Podcast, Google Podcast ฯ หรือที่ Buzzsprout ที่ลิ้งค์นี้นะครับ

https://www.buzzsprout.com/1199753/11506303-episode-18?client_source=small_player&iframe=true

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

ต้นแบบของสุภาพบุรุษกลางแจ้ง

จาก อลัน ควอเตอร์เมน จนถึง รพินทร์ ไพรวัลย์ และ Indiana Jones ถ้าจะพูดถึงชื่อหนึ่งที่มีบทบาทเป็นตัวอย่างของสุภาพบุรุษกลางแจ้งมานับร้อยๆปี ก็คงต้องเล่าถึง อลัน ควอเตอร์เมน ครับ อลัน ควอเตอร์เมน (Allan Quatermain) เป็นตัวละครเอกในนิยายเรื่อง King Solomon’s Mine ที่เขียนโดยนักเขียนชาวอังกฤษ H. Rider Haggard (Sir...

The Outsiders

ในเวลาหนึ่งผมเคยเขียนในบทความไว้ว่า “หมู่บ้านในนิทาน” หรือ “Shangri-la” ในนวนิยายเรื่อง Lost Horizon ของ James Hilton นั้นมีอยู่จริงในมุมเล็กๆของโลกใบนี้ หลายคนได้ค้นหามันจนเจอ แต่แล้วพวกเขาก็เป็นคนทำให้มันสูญหายไปด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนให้หมู่บ้านในนิทานนั้นให้ “ดีขึ้น” โดยการนำสิ่งที่เขาคิดว่าดีงาม จากที่ที่เขาคุ้นเคยเข้าไป การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ การถ่ายเทวัฒนธรรมในโลกใบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณและยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วขึ้นในทุกวันนี้ด้วยการเดินทางและการสื่อสารในยุคใหม่ แต่สิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาสู่สังคมที่คงสภาพเดิมมาอย่างผาสุขยาวนานย่อมมีทั้งดีและไม่ดี และที่สำคัญหลายคนที่พยายามนำมันเข้าไปอาจจะไม่เคยถามคนดั้งเดิมของสังคมว่ามันเป็นประโยชน์ให้กับพวกเขาแค่ไหน เขาต้องการมันหรือไม่

Salmon Fishing ที่นอร์เวย์

ผมรัก Fly Fishing เพราะมันพาผมไปอยู่ในที่สวยที่สุดในโลกหลายๆแห่งที่น้อยคนจะได้เห็น ครั้งนี้มันพาผมไปตกปลาแซลม่อนที่แม่น้ำที่งดงามของ Norway ผมได้ไปสัมผัสกับเรื่องราวของปลาแซลม่อนที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลกใบนี้ แต่คนเรากลับมองข้ามความสำคัญของมันและทำลายความอุดมสมบูรณ์ที่ล้ำค่านี้ไปจนเหลือเพียงเศษเสี้ยวของที่เคยมีในอดีต

Fly Fishing Yellowstone

ทริปตกปลาที่ Yellowstone National Park ที่ที่หลายคนเรียกว่า Shangri-la ของนักตกปลาเทร้าท์

Most Popular

%d bloggers like this: