Saturday, December 9, 2023

รถจี๊ปและกระเป๋าเขียว

-

“เฮ้ย รถดับ” ผมร้องอุทานเบาๆ พร้อมๆกับประคองให้รถจี๊ป Cherokee จอดข้างทางที่มืดมิด

รถจี๊ป Cherokee คันนี้เป็นรถของพ่อที่ส่งต่อมาถึงผม มันอยู่กับครอบครัวเรามาแล้วถึง 27 ปี

เท่าที่ผมจำความได้ พ่อใช้รถเก่าๆมาตลอด จี๊ปคันนี้เป็นรถป้ายแดงคันแรกที่ผมเห็นพ่อซื้อเป็นรางวัลให้กับตัวเองเพื่อเตรียมตัวออกเที่ยวหลังจากส่งลูกๆเรียนจบและมีงานทำเข้าที่เข้าทางกันหมดแล้ว และพ่อก็ขับมัน “เที่ยว” จนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต 

ปู่กับหลานชาย

และเมื่อมันมาอยู่กับผม มันก็ทำหน้าที่พาผมและครอบครัวออกเดินทางไปทั่ว

ไปด้วยกันมาทุกที่แล้ว

แน่นอน มันเป็นรถที่ผมผูกพันด้วยมากที่สุดคันหนึ่งในชีวิต

พร้อมๆกับรถจี๊ป ผมได้รับมรดกอีกอย่างมากจากพ่อ เราเรียกมันว่า “กระเป๋าเขียว”

แม้จะไม่ได้เรียนมาทางช่าง แต่ด้วยความที่พ่อเติบโตมาในเมืองเล็กๆในชนบท ถึงแม้ตอนหนุ่มจะมาอยู่ในเมืองใหญ่แล้วแต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ผู้ชายจะต้องเรียนรู้ที่จะซ่อมสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง พ่อผมจึงซ่อมได้ทุกอย่างตั้งแต่ของใช้ในบ้าน, ปั๊มน้ำ ไปจนถึงรถยนต์เก่าๆที่พ่อขับมาตลอด

และผมก็เป็นลูกมือช่วยพ่อมาตลอด การลงมือซ่อมของเราจะเริ่มจากคำพูดว่า “หยิบกระเป๋าเขียวให้พ่อหน่อย”​

“กระเป๋าเขียว” เป็นกระเป๋าใบเล็กๆที่ใส่เครื่องมือและของกระจุกกระจิกที่คัดสรรแล้วว่าจำเป็นสำหรับการซ่อมทุกสิ่งได้ในยามจำเป็น ตั้งแต่ ไขควง, คีม, มีด, ประแจ, เทปพันสาย, เศษสายไฟ ฯลฯ 

ในชีวิตของผม ผมไม่ค่อยเสียดายเสียใจอะไรกับสิ่งที่ได้ทำหรือไม่ได้ทำมามากนัก หากจะมีก็เพียงอย่างเดียวคือไม่ได้รับทักษะเชิงช่างจากพ่อมาให้เต็มที่

แม้จะไปเรียน “วิศวะ” เพราะการเป็นลูกมือช่างของพ่อ แต่พอจบมาผมก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ของการทำงานอยู่หน้าจอและคีย์บอร์ดจนกลายเป็นวิศวกรมือนุ่มนิ่ม หลายสิบปีมานี้ผมห่างหายจากการจับการใช้เครื่องมือซ่อมแซมสิ่งต่างๆและรถไปมาก ยิ่งเจอกับรถสมัยใหม่ที่มีกล่อง มีหัวฉีดต่างไปจากรถที่เคยซ่อมกับพ่อก็ยิ่งทำให้หมดความมั่นใจที่จะลงมือทำ

แต่ยังโชคดีที่ผมรู้จักคนหนึ่งที่รับทักษะเชิงช่างมากจากพ่อของเขาได้ดีกว่าผมมาก

“โค้ดมันฟ้องว่าน้ำมันไม่มา ถ้าอาเช็คฟิวส์ทุกตัวแล้วไม่มีขาด ลองบิดกุญแจแล้วฟังเสียงปั๊มแถวๆถังน้ำมันดูนะครับว่าดังมั๊ย” เจมส์อธิบายทางโทรศัพท์ข้ามระยะทางกว่า 600 กิโลเมตรมาให้ผมลงมือ

หลังจากลองหลายๆอย่างกันพักใหญ่ “น้ำมันมาแล้วยังไม่ติด เราก็ต้องดูไฟกันครับ มาลองกันที่ละขั้นครับอา”​ อ้าว มันก็เหมือนรถรุ่นเก่าๆที่เคยซ่อมตอนเด็กๆนี่น่า ผมคิดในใจ 

เจมส์เป็นเด็กหนุ่มที่มารับช่วงดูแลอู่จี๊ปรุ่งประชาต่อจากพ่อของเขา พี่มานะผู้เชี่ยวชาญรถจี๊ปที่ช่วยดูแลรถจี๊ป Cherokee คันนี้มาตลอดกว่า 20 ปี 

หลังจากได้รับถ่ายทอดวิชาจากพ่อในเวลาหลายปีจนชำนาญ ด้วยความที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่กระตือรือร้น เจมส์ก็ต่อยอดด้วยการหา เครื่องมือ, เทคโนโลยี่ และวิธีการใหม่ๆมาดูแลรถจี๊ปที่เขาเข้าใจทะลุปรุโปร่งจนแก้ได้ทุกปัญหา จะเรียกว่าหลับตาซ่อมได้ก็คงไม่เกินเลย เพราะนั่นคือสิ่งที่เขากำลังช่วยผมทำอยู่ตอนนี้

“ถ้าปัญหาตรงนี้ อามุดลงไปใต้ท้องรถแล้วไล่สายจาก Oxygen Censor ที่ท่อไอเสียขึ้นมาถึงข้างบนนะครับ น่าจะมีสายช็อต”​ เจมส์วิเคราะห์ปัญหาหลังจากที่เราลองแก้หลายๆอย่างจนมาถึงจุดที่น่าจะเป็นปัญหาตั้งต้น

ผมคลานออกมาจากใต้ท้องรถแล้วลองบิดกุญแจสตาร์ท เครื่องยนต์ 6 สูบ 4,000ซีซี ก็ส่งเสียงดังกระหึ่มอีกครั้ง พร้อมๆกับเสียงเฮของเพื่อนๆที่คอยให้กำลังใจอยู่

ผมค่อยๆเก็บเครื่องมือใส่กระเป๋าเขียวทีละชิ้นแล้วบรรจงรูดซิปที่เปื่อยยุ่ยอย่างระมัดระวังแล้วจึงใส่มันกลับลงไปที่ใต้เบาะรถจี๊ป Cherokee

แม้มือของผมจะเต็มไปด้วยคราบน้ำมันและมีบาดแผลเล็กๆน้อยๆ แต่ผมก็เชื่อว่าใบหน้าของผมก็คงจะเปื้อนคราบรอยยิ้ม

เพราะถึงแม้ว่าเราจะเสียเวลาในการเดินทางไปหลายชั่วโมง แต่ผมก็ได้บางอย่างที่ผมทำหายไปจากชีวิตกลับคืนมา แม้จะน้อยนิด แต่มันก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี 

ภาพโดย Path to Odyssey
ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

1 COMMENT

  1. สวัสดีครับ พี่งบ ผมเป้ จาก Forest Beach Campsite หวังว่าผมคงได้พบกับพี่และได้สนทนากันในเร็วๆ นี้ นะครับ

Leave a Reply

LATEST POSTS

คุ้มครองแต่ไม่เคยให้คุณค่า ตอน นกกรงหัวจุก

ผมเฝ้ามองการโต้เถียงกับเรื่องนกกรงหัวจุกหรือนกปรอดหัวโขน ระหว่างฝ่ายผู้เลี้ยงนกและ “นักอนุรักษ์” มาพักใหญ่แล้วในเรื่องว่า จะให้นกกรงหัวจุกคงอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือจะปลดออก หลายคนคงมองว่านี่เป็นความขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้ แต่ผมกลับมองว่าถ้าเราเปิดใจมองร่วมกันและยอมรับวิธีคิดใหม่ๆ (ที่ประเทศอื่นเขาทำกันมานานแล้ว) เรื่องของนกกรงหัวจุกอาจจะเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงให้การอนุรักษ์ของประเทศนี้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเสียทีนะครับ ก่อนจะเข้าเรื่องนกกรงหัวจุก ผมขอเล่านิทานให้ฟังสักเรื่องหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งเบื่อ อย่าเพิ่งมองว่ามันไม่เกี่ยวกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า พี่น้องสองคนทะเลาะกันเพราะแย่งส้มผลสุดท้ายในบ้าน ถึงขั้นตบตีกัน เสียงดังไปถึงแม่ แม่พยายามเจรจาให้แบ่งกันคนละครึ่งลูกก็ไม่มีใครยอม ต่างคนต่างบอกว่าต้องใช้ทั้งลูก นานเข้าพ่อที่นั่งเล่นของเล่นอยู่ทนรำคาญเสียงไม่ได้ จึงเดินมาแยกลูกสาวทั้งสองที่เริ่มจะจิกหัวฟัดกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แล้วถามรายละเอียด บอกพ่อหน่อยว่าจะเอาส้มไปทำอะไร  คนพี่สาวก็บอกว่าจะทำแยมส้ม ส่วนน้องสาวบอกจะทำน้ำส้ม เมื่อคุยกันเช่นนี้พ่อก็ปอกเปลือกส้มให้ลูกสาวคนโตไปทำแยม แล้วก็เอาเนื้อส้มให้ลูกสาวคนเล็กไปคั้นน้ำ ลงตัวไปได้ทั้งสองคน ส่วนพ่อก็เอาเมล็ดส้มไปปลูกไว้ข้างบ้านต่อไปจะได้ไม่ต้องแย่งส้มผลสุดท้ายกันอีก นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าเราคุยกันดีๆมันจะมีทางออกที่ไม่ต้องมีคนแพ้คนชนะ แต่มันจะมองไม่เห็นเวลาทะเลาะกันจนหน้ามืด ใครยังไม่ได้ติดตามข่าวยังไม่รู้เรื่องความขัดแย้งของนกกรงหัวจุก...

นิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้หนังสือรายเดือนของ “นิยมไพรสมาคม” มาจากมิตรสหายหลายเล่มและกำลังทะยอยอ่านอย่างบรรจง (เพราะหนังสือเหล่านี้มีอายุ 65 ปี แทบจะกรอบเป็นผงอยู่แล้ว)   ผมอ่านแล้วตื่นตะลึงมากครับ ผมเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลมาบ้างว่าท่านสร้างสรรค์ส่งดีๆไว้มากมาย แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องนิยมไพรสมาคมมากนัก  และดูเหมือนว่าเรื่องราวของสมาคมนี้ได้เลือนหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยแล้ว  เลยขอมาเล่าเรื่องหลายอย่างสู่กันฟังถึงประวัติศาสตร์สำคัญของการอนุรักษ์ในบ้านเราที่กำลังจะลืมเลือนไป ในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยยังไม่รู้จักกับคำว่า “อนุรักษ์” ใดๆเลย (ในหนังสือก็ยังไม่มีคำนี้) ตอนนั้นใครอยากจับจองที่ตรงไหนก็ไปแจ้งที่อำเภอแล้วก็ลงมือถาง สัตว์ป่าทุกชนิด (ยกเว้นช้าง) ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครอง ใครอยากล่าอะไรด้วยวิธีไหน...

Editor ใช้ Award เดินป่า โดยตาเกิ้น

พวกเราที่ ThailandOutdoor มีความโชคดีที่เราได้มีโอกาสทดสอบทดลองอุปกรณ์กลางแจ้งมากมาย และก็จะมีของบางอย่างที่เราทดสอบแล้วชอบจนซื้อไว้ใช้เอง เราเรียกของเหล่านั้นว่า "Editor ใช้ Award"  และนี่คือ "Editor ใช้ Award" ปี 2022 จากตาเกิ้นครับ VDO ยาวนะครับเพราะอธิบายกันทุกอย่างรวมถึงเหตุผลที่เลือกใข้ในสถานการณ์ต่างๆกัน เราแบ่งเป็นช่วงๆให้เลือกดูกันได้ครับ ตามนี้เลย บางคนอาจจะบอกว่าผมใช้แต่ของแพงๆหรูๆ ก็อาจจะจริง หรือไม่ แล้วแต่มุมมองครับ ทุกอย่างในชีวิตเราล้วนแล้วแต่ขึ้นกับว่าเราให้ลำดับความสำคัญกับอะไร  สำหรับผมแล้ว ผมไม่ได้ซื้อของอื่นหรูหราอะไร แต่การออกมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การเดินป่า คือความสุขในชีวิตผม ผมจึงเลือกใข้แต่ของดีๆ...

ไปเรียนหลักสูตรปืนพกต่อสู้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

ผมเขียนบทความนี้ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2552 เขียนข้างหลังกระดาษสำเนา ป.4 (ทะเบียนปืน) ในช่องยิงทันทีที่เรียนเสร็จ เขียนด้วยความประทับใจของการสอนยิงปืนในคอร์สนี้ ถึงวันนี้แม้ว่าหลายๆอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ผมยังคงข้อความทุกอย่างที่เขียนในบทความนี้ไว้อย่างเดิมรวมทั้งรูปภาพเดิมที่อาจจะไม่ชัดนัก ด้วยความตั้งใจปัจจุบันโรงเรียนสอนยิงปืนแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมยิงปืนเขาสามยอด ยังตั้งอยู่ที่สถานที่เดิมในค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี สอนมาต่อเนื่องถึง 14 ปีแล้วถ้านับถึงวันนี้ หลักสูตรพัฒนาไปมาก และมีถึง 8 หลักสูตรให้เรียนได้ตามลำดับขั้น และยังสอนโดยหัวหน้าชุดครูท่านเดิมที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะให้คนไทยได้เรียนรู้การใช้อาวุธปืนได้อย่างถูกต้องผมเชื่อว่าที่นี่คือโรงเรียนสอนยิงปืนที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถเรียนได้ในประเทศไทย ผมเขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้ที่ตอนท้ายของบทความนี้ครับ ในสังคมที่บิดเบี้ยวมากขึ้นทุกวัน ดูเหมือนพวกเราสุจริตชนจะต้องเสี่ยงกับภัยคุกคามรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโจร...

Most Popular

%d