Saturday, December 9, 2023
Homeชีวิตและการเดินทางชีวิตบนยอดไม้ที่เมืองลาว

ชีวิตบนยอดไม้ที่เมืองลาว

-

ผมลอยละลิ่วไปกลางอากาศเหนือหุบเขากว้างใหญ่สูงจากพื้นดินนับร้อยเมตร เห็นยอดไม้อยู่ลิบๆ ในเบื้องล่าง

เสียงรอกที่ดังแผดอยู่ข้างหูเป็นสิ่งเดียวที่เตือนว่าผมไม่ได้กำลังฝันอยู่

เมื่อกวาดตามองไปรอบตัว ใจก็พลางคิดขึ้นมาว่า “คนที่กลัวความสูงอย่างข้าพเจ้ามาทำอะไรที่นี่หว่า”

วิวจากยอดไม้ สวยแค่ไหน ผมก็ไม่ชอบเลย

1. 

เส้นทางถนนดินเส้นนั้นจบลงที่หมู่บ้านเล็กๆ ที่ชายป่า

ผมกระโดดลงจากรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อคันนั้นตั้งแต่ก่อนที่ฝุ่นรอบตัวจะสงบลง ผมเป็นคนไทยคนเดียวในผู้มาเยือนกลุ่มนี้ สมาชิกของเรามีทั้งชาวเนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และอเมริกัน รวมผมด้วยเป็น 6 คน

อีกไม่กี่นาทีต่อมาเราก็แบกเป้ขึ้นหลังและเริ่มเดินทางกันต่อบนทางเดินเล็กๆ ที่ข้ามลำน้ำออกไปจากหมู่บ้าน ทุกคนล้วนต้องรับผิดชอบในการแบกสัมภาระของตัวเอง ในขณะที่ม้าต่าง 2 ตัวบรรทุกเสบียงอาหารเข้าไปพร้อมๆ กับเรา

ผู้นำทาง 2 คนของเราเป็นชาวลาว ชื่อบุนลืนและคำพี เป็นชาวบ้านเผ่าละมีด ทั้งสองคอยแนะนำสิ่งต่างๆ บนเส้นทางให้กับคณะด้วยภาษาอังกฤษตลอดเวลา

เส้นทางนั้นลัดเลาะจากทุ่งใกล้หมู่บ้านเข้าไปในป่าใหญ่ เส้นทางวนขึ้นสูงไปเรื่อยๆ เรียกเหงื่อและเสียงหอบหายใจได้พอควร เกือบ 2 ชั่วโมงเศษเราจึงได้มาถึงศาลากลางป่า ซึ่งที่นี่เราได้รับคำแนะนำให้รู้จักกับอุปกรณ์ชิ้นใหม่ นั่นก็คือ Harness และรอก

“ใส่ตั้งแต่ตอนนี้เลยเหรอ” ผมถามด้วยเสียงสั่น ความสูงกับผมไม่เคยเป็นเพื่อนกัน แม้จะทำใจล่วงหน้าก่อนมาแล้วก็ตาม

“ใส่เลย เดี๋ยวต้องใช้แล้ว” บุนลืนบอก

เราเดินตามไหล่เขาอีกพักหนึ่ง จึงมาเจอกับสลิงเส้นแรก

“อ้ายกลัวบ่” คำพีถาม

“กลัวสิ” ผมตอบอย่างมั่นใจสุดขีด

“บ่ต้องกลัว ที่นี่ไม่เคยมีคนตายสักเท่าใด” (ทำไมต้องมี”สักเท่าใด” ด้วยละนี่) คำพีตอบยิ้มๆ เมื่อเห็นว่าผมกลัว

การ “ขี่สลิง” อาจจะเป็นของเล่นสนุกและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาที่นี่ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นวิถีการเดินทางที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงธรรมชาติของผืนป่าอนุรักษ์ที่เป็นหุบเขาสูงชันได้ง่ายขึ้นมาก โดยไม่ต้องตัดถนนและนำรถเข้ามาในป่า

“เกี่ยวสาย Safety ก่อน แล้วค่อยคล้องลูกล้อ” ไกด์ของเราตามมากำกับความปลอดภัยทีละคน

ผมย่อตัวลงนั่งและยกขาขึ้นให้พ้นพื้นไม้ ลูกล้อเริ่มไหลลื่นไปบนสายสลิง เมื่อความเร็วสูงขึ้น ผมก็แหวกออกไปกลางอากาศเหนือยอดไม้ที่สูงลิบ

เสียงรอกที่ดังแผดอยู่ข้างหูเป็นสิ่งเดียวที่เตือนว่าผมไม่ได้กำลังฝันอยู่

ผมลอยละลิ่วไปกลางอากาศเหนือหุบเขากว้างใหญ่สูงจากพื้นดินนับร้อยเมตร เห็นยอดไม้อยู่ลิบๆ ในเบื้องล่าง

เมื่อกวาดตามองไปรอบตัว ใจก็พลางคิดขึ้นมาว่า “คนที่กลัวความสูงอย่างตูมาทำอะไรที่นี่หว่า” (แต่จริงๆ แล้วคำพูดในสมองผมไม่ได้สุภาพเช่นนี้ และไม่เหมาะสมที่จะเขียนลงในที่นี้ครับ)

หลายนาทีและหลายร้อยเมตรต่อมา ผมก็มาหยุดที่สถานีปลายทางบนคบไม้

อีกไม่นานนักเราก็เดินมาถึงเส้นที่สองที่ยาวกว่าเดิม และสูงกว่าเดิม

“เอาละนะ” ผมบอกกับตัวเอง ก่อนที่จะยกขาให้ตัวไถลออกไปกลางอากาศ

“ไม่น่ากลัวนี่นา” ผมบอกกับตัวเอง แต่เมื่อความเร็วเร่งขึ้นตรงช่วงกลางทาง และเมื่อผมมองลงไปเบื้องล่างเห็นความเวิ้งว้างของอากาศรอบตัวนับร้อยเมตร ความคิดก็เปลี่ยนไป

แต่เมื่อเส้นที่ 3, 4, 5, 6 ฯลฯ ผ่านไป ความกลัวก็ลดลง เหลือเพียงความตื่นเต้น ความมัน และวิวทิวทัศน์ที่แปลกตา

ถ้าผมไปได้ ใครๆก็ไปได้ครับ

สลิงเส้นสุดท้ายพาเราไปยังบ้านซึ่งอยู่บนคบไม้ใหญ่สูงกว่า 20 เมตรจากพื้นดินด้านล่าง บ้านหลังนั้นใหญ่พอที่จะให้เราพักอยู่รวมกันได้ทั้งหมด

2.

ผมเจอกับเจฟโดยบังเอิญที่กรุงเทพฯ ในขณะที่เขามาหาซื้อเรือยาง และมิตรสหายคนหนึ่งแนะนำให้แวะมาหาผม เมื่อได้นั่งคุยกัน ผมจึงได้พบว่าเขากำลังทำอะไรบางอย่างที่น่าสนใจมาก

เจฟเล่าให้ฟังว่าเขาได้รับมอบหมายจากรัฐบาลลาวให้ดูแลพื้นที่ป่ากว่าหนึ่งล้านไร่ (ไม่ผิดครับ ผมถามซ้ำหลายครั้งเลย) ให้เป็นป่าอนุรักษ์ โครงการของเขาชื่อว่า Gibbon Experience อยู่ที่แขวงบ่อแก้ว อยู่ทางตอนเหนือของลาว

ไม่นานหลังจากนั้น ผมก็มานั่งคุยอยู่กับเจฟที่เมืองห้วยทราย ริมน้ำโขง ความนี้เรามีโอกาสคุยกันมากขึ้น

เจฟบอกว่าเมื่อหลายปีก่อนเขาเป็นอาสาสมัครเข้ามาทำงาน NGO ในลาว พยายามเขียนโปรเจ็กต์หาทุนสนับสนุนโครงการอนุรักษ์พื้นที่ป่าในลาว แต่หมดเวลาไปกับการหาทุนเสียมากกว่าที่จะได้ทำงานจริง และก็ได้เงินสนับสนุนเพียงเล็กน้อย สุดท้ายก็ท้อใจกลับบ้านที่ฝรั่งเศสไป

แต่เมื่อกลับไปอยู่ฝรั่งเศส เขาก็ยังนึกถึงที่ลาวอยู่ตลอด ยังมีความฝันที่จะทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ คือการรักษาผืนป่าที่เขาได้มาพบเห็นและช่วยเหลือชาวบ้านที่เขาเคยได้มาสัมผัสวิถีชีวิตที่งดงาม

เจฟกลับมาที่ลาวอีกครั้งด้วยแนวความคิดใหม่ เขากลับมาคุยกับรัฐบาลลาว ขอพื้นที่มาจัดทำอุทยานแห่งชาติ โดยที่เขาจะหาเงินทุนเลี้ยงอุทยานฯ เองโดยจัดการท่องเที่ยว

ผมถามเขาตรงๆ ว่า ขอพื้นที่ขนาดนี้มาได้อย่างไร ต้องเสียเงินให้ผู้มีอำนาจหรือเปล่า

เจฟหัวเราะแล้วตอบผมว่า ไม่ต้องเลย เขาโชคดีที่ได้พบกับคนที่มีความตั้งใจดีต่อประเทศและมีอำนาจอยู่ในรัฐบาลลาว คนเหล่านี้รักประเทศและต้องการพัฒนาประเทศไปในทางที่ถูกที่ควรและต้องการอนุรักษ์ผืนป่าไว้พร้อมๆ กัน เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นความตั้งใจจริงและความคิดสร้างสรรค์ในโครงการของเจฟ จึงให้ความสนับสนุนโดยตรงมาจากรัฐบาลกลาง ซึ่งก็ทำให้ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นมาได้อย่างไม่ยากลำบากจนเกินไปนัก

เจฟเริ่มจากการสร้างบ้านต้นไม้หลังแรก และสายสลิงชุดแรกไปที่บ้าน เขาเริ่มรับนักท่องเที่ยวเข้าไปสู่พื้นที่โดยไม่มีการตัดถนนแม้แต่เส้นเดียว ทุกคนต้องเดินเท้าและแบกของเข้าไปจากหมู่บ้านที่อยู่ริมขอบนอกของผืนป่า แต่นั่นกลับกลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้บอกกันปากต่อปาก จนเจฟต้องสร้างบ้านต้นไม้เพิ่มเป็น 12 หลัง และขยายเส้นทางสลิงยาวเข้าไปในหุบเขาที่ลึกเข้าไป

จากนั้นมา Gibbon Experience มีกรุ๊ปพานักท่องเที่ยวเข้าป่าทุกวัน (โดยที่หลบเส้นทางไม่ให้เจอกัน) กลุ่มละ 6-8 คน และมีคนมาเต็มเกือบตลอดทั้งปี

3.

อาหารของเราถูกส่งมาจากโรงครัวที่อยู่ใกล้ๆ โดยสาวน้อยแม่ครัวขี่สลิง เราล้อมวงกันกินอาหารแสนอร่อยนั้นใต้แสงไฟริบหรี่จากแบตเตอรี่ประจำบ้าน หลังอาหารเย็นก็เป็นเวลาที่เราเริ่มทำความรู้จักและพูดคุยกัน

การมากับกลุ่มคนแปลกหน้าเช่นนี้ทำให้การมองโลกของเราเปิดกว้างขึ้นมาก หลายๆ คนในคณะของเราเดินทางมาแล้วแทบจะทั่วโลก และมีเรื่องราวหลากหลายมาแบ่งปันสู่กันฟังในยามว่าง ทำให้เหมือนเราได้เดินทางไปยังที่เหล่านั้นด้วย เช่น แอนโทนี่ผู้ที่เคยได้ทุนไปศึกษาเรื่องไม้ทำกีตาร์ทางอเมริกาใต้อยู่เกือบปีและยังเดินทางอยู่ไม่หยุด หรือเฮเลน สาวน้อยชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในซาอุดิอาระเบียและเดินทางไปประเทศต่างๆ เพื่อเสาะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ

ดึกลงสหายทั้งหลายแยกย้ายกันไปนอนในมุ้งหนาทึบรอบๆ บ้านต้นไม้ ส่วนผมเลือกที่จะลากที่นอนออกมานอนอยู่ริมขอบหน้าต่างนอกมุ้งเพื่อรับลมเย็นและอากาศที่สดชื่น

พอปิดไฟลง ความมืดสนิทก็เข้าปกคลุมเรือนยอดไม้ของเราและป่าทึบรอบข้าง เหลือไว้เพียงเสียงของป่าดงที่ดังระงมมาจากเบื้องล่าง

เมื่อแสงสาดส่องในยามเช้า ผืนป่าก็ปรากฏขึ้นเบื้องหน้าเราอีกครั้ง การอยู่บนบ้านต้นไม้ที่สูงจากพื้นดินถึง 20-30 เมตรให้มุมมองที่แตกต่างจากป่าที่ผมเคยเห็นอย่างสิ้นเชิง เราอยู่ในความสูงของยอดไม้ระดับเดียวกับฝูงชะนี มองลงไปเห็นป่าทึบที่อุดมสมบูรณ์เบื้องล่าง ฝูงนกมากมายบินมาเกาะยอดไม้รอบๆ ให้ดูได้โดยไม่ต้องแหงนคอมอง

หลังอาหารเช้า บุนลืนและคำพีก็เข้ามารับเราที่บ้านเพื่อพาไปเที่ยวข้างในหุบเขา

เส้นทางสลิงวันนี้พาเราเข้าไปยังหุบเขาที่อยู่ลึกเข้าไป ตลอดเส้นทางเรามองเห็นหุบเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้ยักษ์ที่แทงยอดสูงและเบื้องล่างที่หนาทึบไปด้วยไม้ชั้นรองลงไป

ระหว่างเดินทาง ผมมีโอกาสได้คุยกับไกด์ของเรามากขึ้น ดูเขาทั้ง 2 คนจะสนิทสนมกับผมได้เร็วพอควรด้วยภาษาที่คุยกันสะดวกปาก

คำพีเล่าให้ฟังว่าทั้งเขาและบุนลืนเป็นชาวเขาเผ่าละมีดซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของลาว คำพีบอกว่าชีวิตของเขาลำบากไม่น้อย จนต้องลงจากเขามาหากินเบื้องล่าง มาอยู่หมู่บ้านรอบๆ ป่าผืนนี้ แต่ตอนที่ลงมาก็ไม่มีที่ดินให้จับจองแล้ว จะซื้อที่ก็แพงมาก จึงไม่มีที่ทำนาปลูกข้าวกิน แต่ก็โชคดีที่ได้เข้ามาทำงานที่นี่ จึงพอจะมีเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย และเขาก็ยังหวังว่าทำงานเก็บเงินไปเรื่อยก็จะพอซื้อที่นาได้สักผืน

เมื่อถามว่าไปเรียนภาษาอังกฤษมาจากไหน เขาก็ยิ้มแล้วบอกว่า เจฟจัดให้มีครูมาสอนภาษาและสอนหนังสือให้คนที่ทำงานและคนที่อยู่ในหมู่บ้าน จากที่เขาไม่รู้หนังสือเลย ตอนนี้พออ่านได้และชอบอ่านหนังสือมาก

สลิงเส้นที่ยาวเกือบ 500 เมตรนั่นพาผมลอยละลิ่วข้ามหุบเข้าไป เมื่อใกล้ถึงปลายทางผมก็ต้องแปลกใจกับสิ่งที่เห็นข้างหน้า

“ตูบ 5” เป็นบ้านต้นไม้ที่อยู่สูงจากพื้นดินร่วมสี่สิบเมตร และตั้งอยู่บนต้นไม้ยักษ์ที่สูงเด่นขึ้นมากลางหุบเขากว้างใหญ่

จากตูบหลังนี้ เรามองไปได้รอบทิศ ป่าใหญ่พื้นที่กว่าล้านไร่ของแขวงบ่อแก้วนี้ ไม่เคยมีชาวบ้านเข้ามาอาศัยอยู่ข้างใน ไม่เคยมีการทำไม้ ไม่มีถนนตัดผ่าน จึงเป็นป่าที่สมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะหาได้แห่งหนึ่งในเอเชีย


4.

เจฟเล่าให้ผมฟังว่า ตอนนี้โครงการมีเงินทุนพอที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างที่เขาเคยฝันไว้

เขาจ้างชาวบ้านจากหมู่บ้านรอบๆ มาทำงานด้วย ผู้ชายเป็นไกด์ หรือมาช่วยสร้างบ้าน ผู้หญิงก็มาเป็นแม่ครัว อาหารทั้งหลายก็จัดซื้อมาจากชุมชนรอบๆ

ใน 2 ปีที่ผ่านมาเขาปลูกป่าไปกว่า 100,000 ต้น สองในสามของจำนวนนั้นเป็นการปลูกป่ากันชนรอบนอก ที่เหลือเป็นการปลูกเสริมป่าด้านในที่ถูกทำลายไป

ปีที่ผ่านมานี้เขามีเงินพอที่จะซื้อรถไถไปช่วยชาวบ้าน “เฮ็ดนา” ช่วยปรับพื้นที่ของหมู่บ้านรอบนอกให้เป็นนาข้าว เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวเต็มที่โดยไม่ต้องเผาป่าทำข้าวไร่

เขาจ้างพรานให้กลับใจมาเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทางโครงการจ่ายเงินเดือน ซื้อเครื่องแบบและอุปกรณ์ต่างๆ ให้ โดยที่รัฐบาลลาวไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่กีบเดียว

นอกจากนี้เจฟยังมีเงินเหลือจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลอีกด้วย

โครงการใหม่ที่เขาเริ่มต้นกับชาวบ้านด้วยความเห็นชอบของรัฐบาลลาวก็คือ การปลูกป่าร่วมกับชาวบ้าน ป่าเหล่านี้เป็นป่าที่ปลูกในพื้นที่รอบนอกเพื่อรองรับความต้องการใช้ไม้ในอนาคต โดยที่โครงการของเจฟจะจัดหาพันธุ์ไม้ เช่น ไม้สัก ไม้มะค่า ไม้ประดู่ มาให้ชาวบ้านปลูกและดูแล โดยที่ตกลงการแบ่งผลประโยชน์จากไม้ไว้ล่วงหน้าว่าชาวบ้านได้ 80% และโครงการได้ 20%

เมื่อถามว่าอะไรคือเรื่องที่ยากที่สุด เจฟตอบผมทันทีว่า “เรื่องคน”

การที่จะทำให้ชาวบ้านเข้าใจและเปลี่ยนข้างมาช่วยกันอนุรักษ์ป่าได้เป็นเรื่องยากมาก เพราะชาวบ้านเหล่านี้ล้วนยากจนและต้องดิ้นรนเพียงเพื่อให้มีกิน ไม่มีใครจะยอมอดมื้อนี้เพื่อรักษาป่าไว้ได้ประโยชน์ที่ยังมองไม่เห็น นอกจากนี้ยังมีความเย้ายวนจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลตอบแทนจากการปลูกยางพารา หรือปาล์มน้ำมันเข้ามาให้ชาวบ้านต้องคิดอีกด้วย

ดังนั้นวิธีการของโครงการจึงจะต้องช่วยให้ชาวบ้านอยู่ได้ไปพร้อมๆ กับที่จะอนุรักษ์ป่า

สิ่งที่เจฟพยายามที่สุดในตอนนี้ คือการสร้างคนลาวให้ขึ้นมาช่วยเขาบริหารโครงการนี้ต่อไปให้ได้ เพื่อเขาจะได้เดินหน้าต่อไปกับสิ่งใหม่ๆ และตอนนี้เขาก็มีคนที่ไว้ใจได้หลายคนแล้ว

เรื่องราวของเจฟเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การอนุรักษ์ป่าด้วยการทำ Eco Tourism ที่เรามัวแต่พูดกันนั้นเป็นไปได้จริง การท่องเที่ยวแบบนี้ทำได้โดยไม่ต้องตัดถนนเข้าไปในป่า ไม่ต้องมีที่ทำการหรูหรา ไม่ต้องมีรีสอร์ตใหญ่ไว้รองรับ ไม่ต้องโฆษณา เมื่อทำได้ดีจริง การท่องเที่ยวเช่นนี้สามารถเลี้ยงโครงการ, ผืนป่าและผู้คนที่อยู่กับป่าได้อย่างสบายๆ โดยไม่ต้องไปแบมือขอเงินทุนบริจาคหรือพึ่งพางบประมาณจากรัฐมาสนับสนุน และที่สำคัญ ป่าไม่ได้ถูกใช้หมดไปแม้แต่น้อย

ความแตกต่างที่สร้างความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่เชื้อชาติที่ได้รับความนับถือ ไม่ได้อยู่ที่ความคิดที่ก้าวหน้ากว่า แต่หากอยู่ที่ความมุ่งมั่นที่ผมเห็นได้ในแววตาของเจฟ


5. 

ฟ้าเริ่มสาง ป่ารอบข้างเริ่มปรากฏขึ้นอีกครั้ง เสียงนกที่ร้องรอบตัวไปหมดปลุกให้ผมตื่นขึ้นแต่เช้า

ไม่นานนักก็มีเสียงชะนีร้องดังกังวานมาไกลๆ จากอีกฟากหนึ่งของหุบเขา พอดีกับที่ไกด์ทั้งสองของเราขี่สลิงเข้ามาที่บ้าน

เสียงชะนีดังใกล้เข้ามาพร้อมๆ กับที่เราเห็นชะนีทั้งฝูงอยู่ข้างหน้าในระดับเดียวกับเรือนต้นไม้ ดูเหมือนว่าชะนีฝูงนี้จะคุ้นชินกับการมาของผู้คนที่เป็นมิตรในบ้านหลังนี้พอสมควร นับเป็นการได้เห็นชะนีที่แตกต่างไปจากการส่องกล้องดูที่พื้นล่างมากนัก

“สีดำนั่นเป็นตัวพ่อ สีน้ำตาลเป็นตัวแม่” คำพีบอกพร้อมกับตั้งสโคปและขาตั้งให้เราส่องดู

“พวกเจ้าโชคดีหลาย บ่ใช่ทุกคนที่มาจะเห็นฝูงชะนีง่ายๆ เช่นนี้นะ” บุนลืนบอก ผมมองเห็นความภาคภูมิใจอยู่ในสีหน้าของเขาอย่างชัดเจน

ผมไม่เชื่อในโชคชะตา เพราะผมรู้ว่าในความโชคดีของพวกเราที่ได้เข้ามาสัมผัสความงดงามของป่าที่สมบูรณ์ผืนนี้นั้น มีเบื้องหลังที่สร้างมาด้วยด้วยหยาดเหงื่อและความมุ่งมั่นขนาดไหน

ข้อมูลการเดินทาง

ผู้ที่สนใจเดินทางเข้าไปยัง Gibbon Experience สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.gibbonexperience.org/ และติดต่อจองล่วงหน้าได้ที่ Gibbon Experience Contact <info@gibbonexperience.org>

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

คุ้มครองแต่ไม่เคยให้คุณค่า ตอน นกกรงหัวจุก

ผมเฝ้ามองการโต้เถียงกับเรื่องนกกรงหัวจุกหรือนกปรอดหัวโขน ระหว่างฝ่ายผู้เลี้ยงนกและ “นักอนุรักษ์” มาพักใหญ่แล้วในเรื่องว่า จะให้นกกรงหัวจุกคงอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือจะปลดออก หลายคนคงมองว่านี่เป็นความขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้ แต่ผมกลับมองว่าถ้าเราเปิดใจมองร่วมกันและยอมรับวิธีคิดใหม่ๆ (ที่ประเทศอื่นเขาทำกันมานานแล้ว) เรื่องของนกกรงหัวจุกอาจจะเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงให้การอนุรักษ์ของประเทศนี้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเสียทีนะครับ ก่อนจะเข้าเรื่องนกกรงหัวจุก ผมขอเล่านิทานให้ฟังสักเรื่องหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งเบื่อ อย่าเพิ่งมองว่ามันไม่เกี่ยวกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า พี่น้องสองคนทะเลาะกันเพราะแย่งส้มผลสุดท้ายในบ้าน ถึงขั้นตบตีกัน เสียงดังไปถึงแม่ แม่พยายามเจรจาให้แบ่งกันคนละครึ่งลูกก็ไม่มีใครยอม ต่างคนต่างบอกว่าต้องใช้ทั้งลูก นานเข้าพ่อที่นั่งเล่นของเล่นอยู่ทนรำคาญเสียงไม่ได้ จึงเดินมาแยกลูกสาวทั้งสองที่เริ่มจะจิกหัวฟัดกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แล้วถามรายละเอียด บอกพ่อหน่อยว่าจะเอาส้มไปทำอะไร  คนพี่สาวก็บอกว่าจะทำแยมส้ม ส่วนน้องสาวบอกจะทำน้ำส้ม เมื่อคุยกันเช่นนี้พ่อก็ปอกเปลือกส้มให้ลูกสาวคนโตไปทำแยม แล้วก็เอาเนื้อส้มให้ลูกสาวคนเล็กไปคั้นน้ำ ลงตัวไปได้ทั้งสองคน ส่วนพ่อก็เอาเมล็ดส้มไปปลูกไว้ข้างบ้านต่อไปจะได้ไม่ต้องแย่งส้มผลสุดท้ายกันอีก นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าเราคุยกันดีๆมันจะมีทางออกที่ไม่ต้องมีคนแพ้คนชนะ แต่มันจะมองไม่เห็นเวลาทะเลาะกันจนหน้ามืด ใครยังไม่ได้ติดตามข่าวยังไม่รู้เรื่องความขัดแย้งของนกกรงหัวจุก...

นิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้หนังสือรายเดือนของ “นิยมไพรสมาคม” มาจากมิตรสหายหลายเล่มและกำลังทะยอยอ่านอย่างบรรจง (เพราะหนังสือเหล่านี้มีอายุ 65 ปี แทบจะกรอบเป็นผงอยู่แล้ว)   ผมอ่านแล้วตื่นตะลึงมากครับ ผมเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลมาบ้างว่าท่านสร้างสรรค์ส่งดีๆไว้มากมาย แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องนิยมไพรสมาคมมากนัก  และดูเหมือนว่าเรื่องราวของสมาคมนี้ได้เลือนหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยแล้ว  เลยขอมาเล่าเรื่องหลายอย่างสู่กันฟังถึงประวัติศาสตร์สำคัญของการอนุรักษ์ในบ้านเราที่กำลังจะลืมเลือนไป ในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยยังไม่รู้จักกับคำว่า “อนุรักษ์” ใดๆเลย (ในหนังสือก็ยังไม่มีคำนี้) ตอนนั้นใครอยากจับจองที่ตรงไหนก็ไปแจ้งที่อำเภอแล้วก็ลงมือถาง สัตว์ป่าทุกชนิด (ยกเว้นช้าง) ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครอง ใครอยากล่าอะไรด้วยวิธีไหน...

Editor ใช้ Award เดินป่า โดยตาเกิ้น

พวกเราที่ ThailandOutdoor มีความโชคดีที่เราได้มีโอกาสทดสอบทดลองอุปกรณ์กลางแจ้งมากมาย และก็จะมีของบางอย่างที่เราทดสอบแล้วชอบจนซื้อไว้ใช้เอง เราเรียกของเหล่านั้นว่า "Editor ใช้ Award"  และนี่คือ "Editor ใช้ Award" ปี 2022 จากตาเกิ้นครับ VDO ยาวนะครับเพราะอธิบายกันทุกอย่างรวมถึงเหตุผลที่เลือกใข้ในสถานการณ์ต่างๆกัน เราแบ่งเป็นช่วงๆให้เลือกดูกันได้ครับ ตามนี้เลย บางคนอาจจะบอกว่าผมใช้แต่ของแพงๆหรูๆ ก็อาจจะจริง หรือไม่ แล้วแต่มุมมองครับ ทุกอย่างในชีวิตเราล้วนแล้วแต่ขึ้นกับว่าเราให้ลำดับความสำคัญกับอะไร  สำหรับผมแล้ว ผมไม่ได้ซื้อของอื่นหรูหราอะไร แต่การออกมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การเดินป่า คือความสุขในชีวิตผม ผมจึงเลือกใข้แต่ของดีๆ...

ไปเรียนหลักสูตรปืนพกต่อสู้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

ผมเขียนบทความนี้ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2552 เขียนข้างหลังกระดาษสำเนา ป.4 (ทะเบียนปืน) ในช่องยิงทันทีที่เรียนเสร็จ เขียนด้วยความประทับใจของการสอนยิงปืนในคอร์สนี้ ถึงวันนี้แม้ว่าหลายๆอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ผมยังคงข้อความทุกอย่างที่เขียนในบทความนี้ไว้อย่างเดิมรวมทั้งรูปภาพเดิมที่อาจจะไม่ชัดนัก ด้วยความตั้งใจปัจจุบันโรงเรียนสอนยิงปืนแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมยิงปืนเขาสามยอด ยังตั้งอยู่ที่สถานที่เดิมในค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี สอนมาต่อเนื่องถึง 14 ปีแล้วถ้านับถึงวันนี้ หลักสูตรพัฒนาไปมาก และมีถึง 8 หลักสูตรให้เรียนได้ตามลำดับขั้น และยังสอนโดยหัวหน้าชุดครูท่านเดิมที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะให้คนไทยได้เรียนรู้การใช้อาวุธปืนได้อย่างถูกต้องผมเชื่อว่าที่นี่คือโรงเรียนสอนยิงปืนที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถเรียนได้ในประเทศไทย ผมเขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้ที่ตอนท้ายของบทความนี้ครับ ในสังคมที่บิดเบี้ยวมากขึ้นทุกวัน ดูเหมือนพวกเราสุจริตชนจะต้องเสี่ยงกับภัยคุกคามรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโจร...

Most Popular

%d