Monday, May 29, 2023

ลุ่มน้ำ

-

เราได้ยินคำว่า “น้ำคือชีวิต” อยู่เสมอ เราอาจจะเคยพูดคำนี้จากปากเราเองด้วย แต่เราคิดเช่นนั้นจริงหรือ 

ถ้าหากเราคิดเช่นนั้นจริงๆ เราคงจะต้องเปลี่ยนวิธีที่เราปฏิบัติต่อน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งกำเนิดของน้ำ

มาซิครับ ผมจะพาคุณไปรู้จักกับแหล่งกำเนิดของน้ำ ที่เราเรียกกันว่า “ลุ่มน้ำ” ที่ผมเองก็เพิ่งได้รู้จักและเห็นด้วยตาตัวเอง


กองไฟนั้นเป็นครัว เป็นแสงสว่าง และให้ความอบอุ่นกับพวกเราทั้ง 8 คนที่อยู่ในดงทึบอันมืดมิด 

จะซอ สหายเก่าแก่ของผมยกหม้อสนามลงจากกองไฟ ข้าวดอยที่เพิ่งเก็บเกี่ยวมาใหม่ๆหุงร้อนๆ, แกงกบและหน่อหวายดึงดูดทุกคนให้ล้อมวงเข้ามาใกล้กัน ยอดไม้อ่อนๆหลายชนิดที่จะซอเก็บมาจากข้างทางที่เราเดินมาบนสันดอยจิ้มกับน้ำพริกที่ตำขึ้นมาอย่างง่ายๆเพิ่มรสชาติอย่างที่ไม่เคยลิ้มลองมาก่อน อาหารแทบทุกอย่างในมื้อนี้ล้วนเก็บหามาจากรอบตัว ซอบอสหายหนุ่มอีกคนบอกผมว่าไม้หลายๆอย่างที่เราเอามาทำอาหารนี้เป็นสมุนไพรที่หายากของชาวกระเหรี่ยงแต่บนดอยนี้มีเต็มไปหมด

หลังอาหาร เรานั่งล้อมวงรอบกองไฟ เหล้า ก.ต.อ. (กระเหรี่ยงต้มเอง) ที่ใสราวกับน้ำถูกรินแจกจ่าย ยาเส้นมวนกระดาษถูกจุดพ่นเป็นควันท่ามกลางความมืดรอบด้าน

“ไก่” สหายเก่าแก่ของผมอีกคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า “ปีนี้น้ำมาแรงมาก ท่วมหมู่บ้านเลย แต่พอหมดฝนก็ลดลงเร็วมาก ตอนนี้ยังไม่ถึงปีใหม่ก็แห้งจนรถวิ่งข้ามได้แล้ว”

ไก่เป็นคนที่เกิดและใช้ชีวิตกับแม่น้ำสายนี้มาตลอดชีวิต ผมเอง ถึงแม้จะเป็นคนนอกแต่ก็ผูกพันกับแม่น้ำสายนี้มานานเกือบยี่สิบปี

เราทั้งสองคนเห็นและเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำมาตลอด จากที่เคยมีน้ำใสตลอดปี แม้จะเป็นฤดูน้ำหลาก ฝนตกหนักๆเข้าก็ขุ่นแค่วันเดียว ตอนนี้เพียงมีฝนตกลงมาน้ำก็ขุ่นแดงตลอดสาย แม้จะยังคงมีน้ำไหลตลอดปีแต่ก็หลากท่วมในฤดูฝน และลดต่ำแทบแห้งในฤดูแล้งต่างไปจากเดิมที่เคยอุดมสมบูรณ์ตลอดปี 

หลายปีมานี้ ไก่. จะซอ และผมเดินท่องป่าไต่ดอยไปทั่วบริเวณที่เราคิดว่าจะเป็น “ต้นน้ำ” ของแม่น้ำสายนี้เพื่อที่จะเรียนรู้ความเป็นมาของ “แม่น้ำของเรา” และชีวิตที่อยู่รายรอบ 

และห่างไปไม่ไกลจากแค้มป์ของเรานี้คือลำห้วยเล็กๆที่เป็นจุดกำเนิดสายหนึ่งของแม่น้ำ

จากการเดินทางไปรอบ “ต้นน้ำ” ของแม่น้ำสายนี้และอีกหลายๆสาย ผมพบว่าประเทศเรายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับน้ำเลยและยังห่างไกลมากจากการที่จะสามารถดูแลและจัดการ “ลุ่มน้ำ”​อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผล

น้ำเป็นต้นกำเนิดของชีวิตและอารยธรรมทุกอย่างบนโลกใบนี้ น้ำและแม่น้ำคือทรัพยากร “ธรรมชาติ” ที่สำคัญที่สุดของเรา เป็นเส้นเลือดของการเกษตร,​ อุตสาหกรรม และทุกอย่างที่เราทำ หล่อเลี้ยงชีวิตทุกชีวิต


แต่การ “อนุรักษ์” ในประเทศเราดูเหมือนจะมีศูนย์กลางอยู่รอบเขตอนุรักษ์ภายใต้ชื่อและกฎหมายอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่เกี่ยวกับน้ำ อุทยานแห่งชาติเพื่อรักษาธรรมชาติไว้ให้ผู้คนได้มีโอกาสสัมผัส, เขตรักษาพันธุ์ฯ เพื่อเป็นที่อยู่และเพาะพันธุ์ของสัตว์ป่า แน่นอนว่าพื้นที่เหล่านี้เมื่อแรกกำหนดขึ้นจึงไม่ได้คำนึงถึงขอบเขตของลุ่มน้ำอยู่ในแผนด้วย เมื่อ 60 ปีก่อนตอนที่เริ่มร่างกฎหมายนี้ คงไม่มีใครคิดว่าน้ำจะหมดไป

ขณะเดียวกัน กรมชลประทานก็มุ่งไปที่การจัดการน้ำในรูปแบบของการเก็บกักน้ำ, ผันน้ำ และจ่ายน้ำเพื่อการใช้สอย 

สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำซึ่งอยู่ภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นหน่วยงานที่เล็กเกินไปและไม่มีอำนาจพอสำหรับการแก้ปัญหาที่ยิ่งใหญ่, สำคัญระดับชาติและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานขนาดนี้ เราจึงเห็นแค่งานวิจัยและการเข้าไปปลูกต้นสนเป็นแถวเป็นแนวทดแทนต้นน้ำของห้วยบางสายบนดอยสูง และปลูกต้นพญาเสือโคร่งไว้ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปกัน

ที่ใกล้เคียงที่สุด ก็คือกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีหน้าที่ตรงกับการวางแผนและบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่าง “บูรณาการ” แต่กลับมีเป้าหมายในการจัดการ “น้ำ”​ ในมุมของชลประทานและการจัดสรรน้ำในเชิงปริมาณมากกว่าที่จะดูแลต้นน้ำ

ชัดเจนมากว่าประเทศเราต้องการการดูแลและจัดการ “ลุ่มน้ำ” แบบบูรณาการ


รอบๆแค้มป์เราและตลอดเส้นทางบนเขาสูงนั้นเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่หลายคนโอบและสูงจนต้องแหงนมองคอตั้งป่า ป่าดงผืนนี้จึงยังเป็นป่าต้นน้ำสำคัญที่ค่อยๆปล่อยน้ำลงไปสู่ลำห้วยที่ไหลลงไปรวมกับลำห้วยอีกนับสิบๆสาย  จนรวมกันเป็นแม่น้ำสายนี้

และนั่นคือสิ่งที่ทำให้แม่น้ำเกิดขึ้นมาและดำรงอยู่ได้!

แต่ป่าต้นน้ำบนสันเขาผืนนั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง หรือจะเรียกว่าเป็นส่วนน้อยที่ยังเหลืออยู่ก็ว่าได้ เพราะ “ลุ่มน้ำ” หรือ “Water Shed” ของแม่น้ำสายหนึ่งนั้นประกอบด้วยห้วยสายย่อยมากมายนับสิบๆสาย และกินพื้นที่กว้างหลายสิบหลายร้อยตารางกิโลเมตร

วันต่อมา เมื่อเดินลงมาจากสันเขา เราเดินทางกันต่อผ่านหมู่บ้านอีกแห่งที่อยู่ห่างไกลและเป็นต้นน้ำของห้วยสำคัญ 1 ใน 3 ห้วยที่ประกอบกันขึ้นเป็น “แม่น้ำเงา”

หุบเขานั้นโล่งไปสุดสายตา สองข้างทางที่เราผ่านไปเป็นไร่มะเขือเทศและพริกหยวก รถกระบะหลายคันกำลังบรรทุก “สินค้า”เหล่านั้นจนเพียบแประเพื่อไปส่งขายให้ผู้คนในเมืองใหญ่

แต่ขณะเดียวกันผมก็สังเกตเห็นมะเขือเทศมากมายที่ถูกทิ้งแห้งคาต้นไม่มีคนเก็บ

ไก่คงสังเกตเห็นสีหน้าสงสัยของผมจึงเฉลยอธิบาย

“ตอนนี้มะเขือเทศราคาตกมากไม่คุ้มค่าขนส่ง เขาก็เลยทิ้งไม่เก็บกัน” 

ไก่ยังบอกต่ออีกว่า น้ำจากห้วยแม่หลองนี้คือสาเหตุหลักที่ทำให้แม่น้ำเงาขุ่นในฤดูฝน นอกจากนี้มะเขือเทศและพริกหยวกยังเป็นพืชที่ต้องใช้สารเคมีมากมาย สารเคมีเหล่านี้ก็คงไม่พ้นที่จะถูกชะลงไปสู่ลำน้ำเบื้องล่าง

ผมหันไปมองหุบโล่งและไร่มะเขือเทศที่ถูกทิ้งคาต้นนั้นอีกครั้งด้วยความหดหู่ ช่างเป็นการใช้พื้นที่อย่างไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย แต่จะทำอย่างไรให้คนในหมู่บ้านนี้มีทางเลือกที่ดีกว่านี้บ้าง

ห่างไปไม่ไกลจากหุบเขานั้น มีหน่วยจัดการต้นน้ำอยู่บนเขาสูง ที่นั่นมีต้นสนปลูกเป็นแถวเป็นแนว อาจจะสวยงามในสายตาของนักท่องเที่ยวที่แวะเข้ามาถ่ายภาพ แต่มันก็แปลกแยกไปจากป่ารอบๆและปราศจากสิ่งมีชีวิตไม่เหมือนกับพื้นที่ป่าดั้งเดิม และที่สำคัญไปกว่านั้น แม้ต้นสนจะโตเร็วและเก็บน้ำในลำต้นได้เยอะ แต่ก็มีการวิจัยที่สรุปว่าต้นสนไม่ใช่ไม้ที่ดีนักที่จะทำหน้าที่ปล่อยน้ำสู่ห้วยธาร

ห่างออกไปจากตรงนั้นกว่า 30 กิโลเมตรจึงจะเป็นขอบชายเขตพื้นที่ที่กำลังมีความพยายามประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ถ้าประกาศได้สำเร็จ อุทยานฯแห่งนี้จะครอบคลุมพื้นที่เพียงไม่ถึง 20% ของลุ่มน้ำนี้ และอยู่ทางปลายน้ำ

ที่ปลายแม่น้ำเงาต่อกับแม่น้ำยวม ชายเขตอีกด้านหนึ่งของเขตอุทยานฯนั้นกำลังมีการสำรวจเพื่อสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำและผันน้ำผ่านอุโมงที่เจาะทะลุเทือกเขาไปเติมน้ำให้เขื่อนใหญ่เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าและน้ำของเมืองใหญ่ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

ผมเดาว่าการประท้วงเขื่อนคงเกิดขึ้นเร็วๆนี้ การถกเเถียงคงเกิดขึ้นในวงกว้าง อาจจะลุกลามไปบน Social Media เหมือนไฟไหม้ฟาง และยากที่จะชี้ว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด 

ความขัดแย้งเช่นนี้คงต้องเกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อความต้องการน้ำในเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆสวนทางกับปริมาณน้ำในหน้าแล้งของแม่น้ำที่ลดต่ำลงทุกปี เราไม่เคยเรียนรู้ว่ามีวิธีแก้ไขทางอื่นนอกจากสร้างเขื่อน และคนก็ยังเพียงทะเลาะกันเรื่องสร้างเขื่อนหรือไม่สร้างเขื่อน โดยไม่มีใครสนใจ “ต้นน้ำ” ที่เป็นแหล่งกำเนิดที่แท้จริงของสายน้ำและเป็นแหล่งกักเก็บน้ำถาวรในธรรมชาติ


ถ้าเราจริงใจกับคำว่า “น้ำคือชีวิต” และเชื่อว่าแม่น้ำเป็นสายเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงทุกอย่างในประเทศเรา เราคงต้องเริ่มจากการยกระดับเรื่องการจัดการต้นน้ำให้เป็นเรื่องสำคัญระดับชาติกันก่อนครับ

จากนั้นเราจะต้องเปลี่ยนการมองให้เป็นภาพรวม ว่าทำอย่างไรเราจะสามารถดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากปริมาณและคุณภาพของน้ำที่เกิดจาก “ลุ่มน้ำ” ธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

การมองภาพรวมและการจัดการนี้ รวมตั้งแต่การศึกษาวิจัย, วางแผน, การจัดสรรการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ส่วนต่างๆของ “ลุ่มน้ำ”ให้เหมาะสม, การวัดผลเป็นปริมาณ คุณภาพและความสม่ำเสมอของน้ำที่เกิดมาจากลุ่มน้ำนั้นๆ ไปจนถึงการออกกฏหมาย, จัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจพอที่จะ “จัดการลุ่มน้ำ” ได้ และจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับความสำคัญ

ถ้าเราจะสร้างเขื่อนราคา 7 หมื่นล้านเพียงเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำสายเล็กๆนี้ได้ ผมคิดว่าเราก็มีงบประมาณพอที่จะฟื้นฟูลุ่มน้ำได้ การจะเปลี่ยนไร่มะเขือเทศที่ราคาตกให้กลับเป็นป่าต้นน้ำและป่าที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นเรื่องที่ทำได้และไม่ได้ใช้เงินมากมายเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราจะได้


ผมกลับมาแค้มป์คืนสุดท้ายที่ริม แม่น้ำเงา

ระดับน้ำในแม่น้ำเงาลดต่ำลงอย่างมากแบบที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งๆที่ยังไม่เข้าหน้าแล้งเต็มที่ 

การเดินทางหลายๆครั้งในเวลาเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมาทำให้ผมได้รู้จักสายน้ำนี้มากขึ้นทั้งในเรื่องต้นน้ำแหล่งกำเนิด และผู้คนที่อิงอาศัยฝากชีวิตไว้กับลำน้ำนี้ แม่น้ำเงาเป็นสายน้ำที่ให้โอกาสผมได้เรียนรู้ความจริงหลายอย่างของชีวิต

แต่การได้พบเห็นเรื่องราว, ความเป็นไป และความเปลี่ยนแปลง ก็ทำให้ผมเกิดความกังวล, ลังเล และบางส่วน ท้อใจ 

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องป่า ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องการจัดการน้ำ แต่ผมและเพื่อนๆหลายคน พยายามหาหนทางที่จะรักษาความสมบูรณ์และงดงามของลำน้ำนี้ไว้ด้วยวิธีที่คนเมืองตัวเล็กๆอย่างพวกเราพอจะคิดได้ทำได้ และก็ดูเหมือนว่าสิ่งที่พวกเราพยายามทำจะเริ่มได้ผลและส่งผลอยู่บ้าง

แต่หลังจากที่ได้เห็นพื้นที่รอบๆลุ่มน้ำและความเร็วในการเปลี่ยนแปลงความเป็นไปแล้ว ผมเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เราพยายามทำกันอยู่นั้น แม้จะได้ผล แต่ก็อาจจะส่งผลไม่กว้างพอ และไม่เร็วพอที่จะชะลอการเปลี่ยนแปลงของลุ่มน้ำนี้ได้

ผมเชื่อว่าลุ่มน้ำเงาอาจจะเป็นลุ่มน้ำที่อยู่ในสภาพดีสมบูรณ์ที่สุดสายหนึ่งในประเทศไทย แต่ถึงกระนั้นก็ยังอยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วงว่าจะสูญสลายในเวลาอันใกล้นี้

แล้วลุ่มน้ำอื่นๆที่สถานการณ์แย่กว่านี้ล่ะ เราจะทำอย่างไร

ถ้าเราเชื่อจริงๆว่า “น้ำคือชีวิต”​ ถึงเวลาแล้วที่เราจะคิดว่าจะเอาชีวิตรอดกันได้อย่างไร 

แล้วลงมือกันเถอะครับ

​ 

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

ต้นแบบของสุภาพบุรุษกลางแจ้ง

จาก อลัน ควอเตอร์เมน จนถึง รพินทร์ ไพรวัลย์ และ Indiana Jones ถ้าจะพูดถึงชื่อหนึ่งที่มีบทบาทเป็นตัวอย่างของสุภาพบุรุษกลางแจ้งมานับร้อยๆปี ก็คงต้องเล่าถึง อลัน ควอเตอร์เมน ครับ อลัน ควอเตอร์เมน (Allan Quatermain) เป็นตัวละครเอกในนิยายเรื่อง King Solomon’s Mine ที่เขียนโดยนักเขียนชาวอังกฤษ H. Rider Haggard (Sir...

The Outsiders

ในเวลาหนึ่งผมเคยเขียนในบทความไว้ว่า “หมู่บ้านในนิทาน” หรือ “Shangri-la” ในนวนิยายเรื่อง Lost Horizon ของ James Hilton นั้นมีอยู่จริงในมุมเล็กๆของโลกใบนี้ หลายคนได้ค้นหามันจนเจอ แต่แล้วพวกเขาก็เป็นคนทำให้มันสูญหายไปด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนให้หมู่บ้านในนิทานนั้นให้ “ดีขึ้น” โดยการนำสิ่งที่เขาคิดว่าดีงาม จากที่ที่เขาคุ้นเคยเข้าไป การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ การถ่ายเทวัฒนธรรมในโลกใบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณและยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วขึ้นในทุกวันนี้ด้วยการเดินทางและการสื่อสารในยุคใหม่ แต่สิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาสู่สังคมที่คงสภาพเดิมมาอย่างผาสุขยาวนานย่อมมีทั้งดีและไม่ดี และที่สำคัญหลายคนที่พยายามนำมันเข้าไปอาจจะไม่เคยถามคนดั้งเดิมของสังคมว่ามันเป็นประโยชน์ให้กับพวกเขาแค่ไหน เขาต้องการมันหรือไม่

Salmon Fishing ที่นอร์เวย์

ผมรัก Fly Fishing เพราะมันพาผมไปอยู่ในที่สวยที่สุดในโลกหลายๆแห่งที่น้อยคนจะได้เห็น ครั้งนี้มันพาผมไปตกปลาแซลม่อนที่แม่น้ำที่งดงามของ Norway ผมได้ไปสัมผัสกับเรื่องราวของปลาแซลม่อนที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลกใบนี้ แต่คนเรากลับมองข้ามความสำคัญของมันและทำลายความอุดมสมบูรณ์ที่ล้ำค่านี้ไปจนเหลือเพียงเศษเสี้ยวของที่เคยมีในอดีต

Fly Fishing Yellowstone

ทริปตกปลาที่ Yellowstone National Park ที่ที่หลายคนเรียกว่า Shangri-la ของนักตกปลาเทร้าท์

Most Popular

%d bloggers like this: