“พ่อขา วันนี้เราต้องไปตกปลามากินอีกเหรอค่ะ” ลูกสาวผมเอ่ยปากถาม
ครอบครัวเรามาเที่ยวหมู่เกาะ Lofoten ทางตอนเหนือของประเทศ Norway กันหลายวันแล้ว และทุกเย็นเราก็จะถือคันเบ็ดออกไปตกปลามาเป็นอาหารกัน

ผมยิ้มแล้วบอกลูกสาวว่า ใช่แล้ว เราต้องไปหาอาหารกันอีก ผมอธิบายเขาว่าอาหารที่ Lofoten แพงมาก ถ้าไปนั่งกินในร้านอาหารนี่โดนไม่ต่ำกว่า 2 พันบาทต่อคนต่อมื้อ กว่าจะกลับบ้านล่มจมแน่นอน

เรื่องที่สำคัญกว่านั้น ผมพยายามให้เขาและพี่ชายเข้าใจเกี่ยวกับการหาอาหาร คุณค่าของอาหารจากธรรมชาติที่สะอาด คุณค่าของชีวิตและเส้นแบ่งของบาปบุญ
ลูกๆผมทั้ง 2 คนโตมาอย่างคนเมือง เขาไม่เคยตกปลาไม่เคยสนใจ และยังมีการแอบถามแม่ว่า “พ่อไปตกปลาไม่บาปเหรอ”

เช่นเดียวกับคนเมืองส่วนใหญ่ เขาอาจจะรู้ที่มาของอาหารในจานที่เป็นเนื้อสัตว์ แต่ไม่เคยเห็น, ไม่เคยและไม่อยากมีส่วนร่วมกับที่มาของอาหารนั้น
ลูกชายผมตกปลาค็อดได้ตัวโต พอกรอสายมาถึงฝั่งผมก็บอกเขาว่า “ลงไปเอาปลามาซิครับ”

เขามองผมแล้วบอกว่า “พ่อไปเอาให้หน่อยครับ”
ผมเข้าใจสายตาของเขาดี มันไม่ใช่แค่ “ไปเอาปลาขึ้นจากน้ำ” แต่มันคือการ “จัดการ” ปลาที่ดิ้นๆอยู่ด้วย
ปลาค็อดเป็นปลาขนาดค่อนข้างใหญ่ ที่เราตกได้จากชายฝั่งก็มีขนาด 2-5 กิโลกรัม พอตกมาได้การจะทำให้มันตายก่อนจะไปทำอาหารก็เป็นเรื่องไม่ง่ายต่อใจนัก และผมก็แอบชำเลืองมองลูกผมทั้งสองคนในขณะที่ผมลงมือ
เราถูกปลูกฝังกันมาตลอดชีวิตว่าการ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาป และมันก็ไม่ใช่สิ่งดีหรือเรื่องสนุกที่จะปลิดชีวิตสัตว์ แม้จะเป็นปลา แต่ว่านั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราต้องเผชิญเพื่อจะอยู่กับความจริง
คนเมืองอย่างเรามักจะหลีกเลี่ยง โดยผลักเรื่องนี้ให้ออกไปไกลตาห่างใจ แต่ไม่ได้คิดมากนักเมื่อตักใส่ปาก บางทีเรากลับรู้สึกว่าการกินปลาหรือสัตว์ที่มาจากการเลี้ยงเป็นเรื่องที่ “ไม่ผิด”


เมื่อไม่นานมานี้มีกระแสดราม่าที่เกิดขึ้นทั่ว Social Network เพราะมีรายการทำอาหารเอาปลากระเบนนกมาออกรายการให้คนเอาไปทำอาหารกัน
ผู้คนต่างก่นด่าว่าเป็นเรื่องเลวร้าย ทุกคนในสังคมตัดสินความผิดในเรื่องนี้ ไปจนถึงการบอยคอตผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ปลากระเบนดังกล่าวไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายที่จะเอามาทำอาหาร และเรื่องทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นมากแล้วกับปลานกแก้ว เพราะปลาทั้งสองชนิดนี้เป็นสัตว์สวยงาม

เห็นได้ชัดว่าในสังคมปัจจุบัน ความเห็นและความเข้าใจของคนหมู่มากมีความสำคัญไม่แพ้กฎหมาย เพราะการตัดสินความหลายครั้งเกิดขึ้นที่หน้า Social Media โดยไม่ไปถึงศาล
แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรละว่าความคิดเห็นของสังคม ตั้งอยู่บนความเข้าใจและความถูกต้อง
ในกรณีปลากระเบนนก หลายคนถึงกับเรียกร้องให้ประกาศเป็นสัตว์คุ้มครองห้ามจับห้ามกินไปเสียเลย “นักอนุรักษ์” หลายคนโหนกระแส แต่กลับไม่ให้ความรู้ที่ถูกต้องกับผู้คน

ในขณะที่เราสงสาร โกรธแค้นแทนปลากระเบนตัวที่ถูกนำมาทำอาหารในรายการทีวีตัวนั้น เรากลับไม่นึกถึงการดำรงอยู่ของปลากระเบนและเผ่าพันธุ์ของมัน
สาเหตุหลักของการลดลงของสัตว์ในธรรมชาตินั้นมาจากเรื่องการสูญเสียถิ่นที่อยู่เป็นหลัก ตามมาด้วยการจับผิดวิธีและผิดเวลา
ในกรณีของสัตว์น้ำที่สามารถขยายพันธุ์ได้เร็วนั้น ประเด็นสำคัญของการเพิ่มจำนวนให้คงอยู่คือการดูแลรักษาพื้นที่ผสมพันธุ์วางไข่, ถิ่นที่อยู่ของตัวอ่อน และการห้ามจับในฤดูผสมพันธุ์ การห้ามบริโภคไม่ใช่ทางแก้ไขที่ถูกต้องเลยเพราะมันจะทำให้สัตว์ชนิดนั้นเป็นสัตว์ไร้คุณค่าไปในที่สุด
การห้ามกินปลากระเบนไม่ใช่ทางแก้ หากคนส่วนใหญ่เพียงก่นด่าทาง Social Network แล้วก็แชร์รูปว่าไปพักรีสอร์ตชายทะเลหรูที่ที่สร้างทับป่าชายเลนซึ่งอาจจะเป็นแหล่งพักพิงของตัวอ่อนสัตว์ทะเลมากมาย
และยิ่งไปกว่านั้น ไม่กี่เดือนผ่านไป ทุกคนก็ลืมปลากระเบน
เราให้คุณค่ากับสิ่งใด เราก็จะรักษาสิ่งนั้นไว้
ชาวนอร์เวย์ จับปลาค็อดมาแล้วนับหมื่นปี พวกเขากินมันสดๆเป็นอาหารหลักตั้งแต่เริ่มมาตั้งหลักแหล่งแถวนี้ เขาเรียนรู้ที่จะทำปลาค็อดแห้งที่สามารถจะคืนสภาพเป็นอาหารชั้นดีได้ (คนนอร์เวย์บอกผมว่ามันรสชาติดีกว่าค็อดสดเสียอีก) ปลาค็อดแห้งเป็นสินค้าส่งออกอย่างแรกของนอร์เวย์ตั้งแต่ยุคไวกิ้ง พวกเขาขนใส่เรือไปเป็นอาหารลูกเรือ ทำให้เขาเดินทางไปได้ไกล เอามันไปแลกเอาของอื่นๆเช่นไวน์, เสื้อผ้า ฯลฯ (บางอย่างอาจจะปล้นมาบ้างตามแบบไวกิ้งค์) กลับมาสร้างอารยธรรมและสร้างประเทศ

ปลาค็อดทั้งหมดเป็นปลาจากธรรมชาติ ใช้ชีวิตอยู่กลางทะเลลึก ส่วนหนึ่งย้ายถิ่นฐานไปทั่วมหาสมุทรบางส่วนใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชายฝั่ง มันไม่เคยต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรงขัง ไม่เคยกินอาหารสังเคราะห์

ทุกๆปีในช่วงมกราคมถึงเมษายน ปลาค็อดที่โตเต็มที่จะเดินทางมาจากทะเล Barents ที่หนาวเย็นทางตอนเหนือเพื่อมาผสมพันธุ์วางไข่ที่ชายฝั่ง Norway ใกล้หมู่เกาะ Lofoten
ในยุคปี 1950 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เครื่องไม้เครื่องมือในการจับปลาพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั่วโลกจับปลาค็อดได้มากขึ้น ปลาที่เคยมีอยู่มากมายเริ่มลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด
โชคดีที่นอร์เวย์และรัสเซีย สองประเทศที่ฝากชีวิตคนมากมายไว้กับการดำรงอยู่ของปลาค็อด ร่วมมือทำการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เรื่องปลาชนิดนี้อย่างจริงจังและใช้ความรู้ที่ได้มาวางแผนการจับปลาที่เข้มงวดแต่ได้ผล นอกจากจะกำหนดปริมาณการจับแล้ว มาตรการต่างยังรวมไปถึงการกำหนดเส้นทางลากอวนไม่ให้ทำลายพื้นที่ใต้ทะเลที่เป็นแหล่งวางไข่, การบังคับให้ใช้ประโยชน์จากปลาทุกชนิดที่ติดขึ้นมากับอวนให้เป็นประโยชน์ที่สุด ฯลฯ
จนถึงทุกวันนี้ นอร์เวย์และรัสเซียยังคงจับปลาค็อดได้มากมายเหมือนเดิม ประมาณกันว่าปลาค็อดธรรมชาติจากสองประเทศนี้เลี้ยงผู้คนบนโลกนี้ได้ถึงสามพันล้านมื้อต่อปี ในขณะที่แคนาดา ประเทศที่เคยมีปลา Atlantic Cod ชนิดเดียวกันอย่างมากมาย ไหวตัวช้าเกินไป ทำให้จำนวนปลาลดลงอย่างฮวบฮาบ แคนาดาห้ามจับปลาชนิดนี้มาตั้งแต่ปี 1992 แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแม้จะผ่านมาเกือบ 30 ปี



ผมเคยได้ยินและได้พบกับตัวเองมาว่า ชาวยุโรปส่วนใหญ่จะชื่นชมอาหารธรรมชาติในท้องถิ่นของเขามาก ภัตรคารในสวีเดนที่ผมเคยไปเยี่ยมเยือนบอกผมอย่างภาคภูมิใจว่าของทุกอย่างที่เรากินล้วนมาจากท้องถิ่นบริเวณนั้นและหอยนางรมแสนอร่อยก็มาจากธรรมชาติของทะเลที่นั่นไม่ใช่ฟาร์ม(ราคาแพงกว่าหอยจากฟาร์มถึงเท่าตัว!), เพื่อนรักชาวเดนมาร์กเอาเนื้อกวางที่เขายิงเองจากพื้นที่ในไร่ของเขามาปรุงให้ผมกินที่บ้านอย่างภาคภูมิใจ และชาวฝรั่งเศษจะภาคภูมิใจมากเมื่อเขาได้เลี้ยงอาหารเพื่อนๆด้วยเห็ดและสิ่งอื่นๆที่เขาเก็บมาจากป่ารอบๆบ้าน


น่าเสียดายที่ค่านิยมของสังคมไทยกำลังเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม
เรากำลังเริ่มรังเกียจและเรียกร้องให้ผู้คนเลิกกินอาหารที่สะอาดและมาจากธรรมชาติ ขณะที่ต่อต้านการกินปลากระเบน เราสั่งปลาทับทิมมากินกันได้อย่างสะดวกใจ
พวกเราคนเมืองไม่รู้สึกผิดอะไรในการสั่งปลาทับทิมมากินในร้านอาหาร ทั้งที่ที่จริงแล้วการกินปลาทับทิมอาจจะทำร้ายธรรมชาติมากกว่าการกินปลาทะเลที่จับมาจากธรรมชาติอย่างปลากระเบนเสียอีก

ปลาทับทิมนั้นเป็นปลาที่ดัดแปลงสายพันธุ์ ไม่มีตัวตนจริงอยู่ในธรรมชาติ เป็นปลาที่ดัดแปลงพันธุ์มาให้โตเร็วมากโดยการให้อาหารมากๆและถี่ๆ การเลี้ยงส่วนใหญ่จะทำในกระชังที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่ออาศัยการไหลของน้ำระบายของเสีย
การเลี้ยงปลาจำนวนมากอย่างหนาแน่น บวกกับการให้อาหารวันละ 4-5 ครั้ง ทำให้บ่อยครั้ง กระชังเลี้ยงปลาทับทิมจะสร้างมลภาวะให้แหล่งน้ำธรรมชาติเสียจนปลาในธรรมชาติหลายชนิดอยู่ไม่ได้และสูญหายไป บ่อยครั้งที่ปลาดัดแปลงพันธุ์พวกนี้หลุดลงแหล่งน้ำและปรับตัวขยายพันธุ์ได้และแย่งอาหารปลาในธรรมชาติจนลดน้อยลงไปอีก
อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาทับทิมเล่าก็ที่มาไม่สวยงามนัก เพราะส่วนหนึ่งของมันทำมาจากปลาขนาดเล็กที่เรือประมงใช้อวนตาถี่ “กวาด”ขึ้นมาจากท้องทะเล และการ “กวาด” นั้นก็ทำลายล้างตัวอ่อนของปลาและสัตว์น้ำอื่นจนไม่มีโอกาสให้โต รวมทั้งปลากระเบนด้วย
อีกด้านหนึ่ง คนไทยเราให้คุณค่ากับปลาแซลม่อนว่าเป็นอาหารชั้นดี โดยส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ว่าปลาแซลม่อนที่เราบริโภคนั้นเกือบทั้งหมดมาจากฟาร์มเลี้ยงไม่ใช่แซลม่อนธรรมชาติที่เราเคยเห็นหมีจับกินอยู่ในลำธาร และการทำฟาร์มปลาแซลม่อนนั้นก็มีผลกระทบต่อธรรมชสติคล้ายๆกระชังปลาทับทิม


“บุฟเฟ่ต์แซลม่อน” น่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมการบริโภคแบบตะกละตะกลามโดยที่ไม่คำนึงถึงธรรมชาติ
“The Breach” ภาพยนต์สารคดีที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องราวของปลา Salmon และมนุษย์ได้ดีขึ้น



ที่ Lofoten ทุกเย็นเราจะเอาเนื้อปลาค็อดที่ตกได้มาทำอาหารกินกัน ทอดบ้าง ทำซุปบ้าง อบบ้าง ปลาค็อดเป็นปลาเนื้อดี ยิ่งเป็นปลาสดๆเช่นนี้มันจึงเป็นเนื้อปลาที่อร่อยที่สุดที่เราเคยกินมาอย่างหนึ่ง ทั้งยังเป็นอาหารที่เรากินได้อย่างมีความสุขเพราะเราหามันมาเองกับมือและรู้ว่ามันเป็นอาหารธรรมชาติที่สะอาดปราศจากยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีใดๆทั้งสิ้น



ทุกค่ำคืนบนโต๊ะอาหารที่หอมกรุ่นไปด้วยเนื้อปลาค็อดและความอบอุ่นของครอบครัว ผมเริ่มเข้าใจความคิดความรู้สึกของชาวคริสต์ที่มีประเพณีการกล่าวขอบคุณพระเจ้าสำหรับอาหารบนโต๊ะของพวกเขา
และผมก็ต้องกล่าวขอบคุณธรรมชาติสำหรับอาหารงดงามที่ครอบครัวเราได้รับ ขอบคุณสำหรับโอกาสที่ให้ลูกๆของผมได้สัมผัสและเข้าใจเรื่องของชีวิตจริงเช่นนี้