ในบรรดาพิธีแบบไทยๆ ผมนี่ชื่นชอบ “พิธีแห่ขันหมาก” มากที่สุดครับ เพราะนอกจากจะสนุกสนานแล้ว มันยังเป็นพิธีที่สะท้อนความเป็นไทยมากๆ

ในขณะที่งานแต่งงาน “สมัยใหม่” โดยเฉพาะในเมืองใหญ่หยิบยืมและยกเอารูปแบบของงานแต่งงานจากชาติอื่นมาใช้กันหมดแล้ว ถ้าจะมีแห่ขันหมากก็มีแค่ “พอเป็นพิธี”
พิธีแต่งงาน “สมัยใหม่” นี้ สะท้อนความคิดของคนยุคใหม่ เพราะเห็นได้ชัดว่าเป็นงานของคนสองคน สิ่งต่างๆที่จัดเตรียมไม่ว่าจะเป็นรูป Pre-wedding, VDO Cinema ไปจนถึงวิธีการจัดเลี้ยง ล้วนแต่เป็นเหมือน “งานโชว์” ให้แขกร่วมงานเข้าไปชม แต่งานที่เน้น “แห่ขันหมาก” นั้นต่างไปมากครับ
พิธีแห่ขันหมากนั้นสะท้อนวัฒนธรรมไทยแท้ๆออกมาชัดเจนมากครับ เพราะมันคือการที่ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของฝ่ายเจ้าบ่าวมารวมตัวกันแสดงความตั้งใจอย่างเต็มที่ ที่จะไป “ขอลูกสาว” เขามาเป็นสะใภ้ของบ้าน และญาติพี่น้องของฝ่ายเจ้าสาวก็เปิดบ้านแสดงความยินดีต้อนรับเจ้าบ่าวให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว



และพิธีนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สองครอบครัวเข้ามาเกี่ยวดองเป็นญาติกัน

วัฒนธรรมไทย ไม่ใช่การรำไทย ไม่ใช่การใส่ชุดไทย แต่วัฒนธรรมคือการที่คนในสังคมแสดงออกให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งไหน และการแห่ขันหมากก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารากเหง้าของสังคมไทยเรานั้นให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอย่างมาก
ที่สำคัญงานแห่ขันหมากเป็นงานที่สนุกมากครับ เป็นช่วงเวลาที่เห็นรอยยิ้มเสียงหัวเราะของทุกคนที่ไปร่วมครับ แม้บางทีจะเสียงเพลงดังไปบ้าง เมากันบ้าง ก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะมันคือความสนุกแบบไทยแท้ๆที่ไม่ดัดจริต

มีใครจะแต่งงานอีกมั๊ยครับ ชวนผมด้วยนะ ผมอยากไปร่วมแห่ขันหมากครับ
