Monday, May 29, 2023
HomeความคิดและมุมมองOutdoor Education เราสอนกันไปเพื่ออะไร?

Outdoor Education เราสอนกันไปเพื่ออะไร?

-

ผมเห็นว่ามีสอนวิชา Outdoor Education กันในหลายมหาวิทยาลัย แต่พอมีโอกาสได้เห็นวิธีการสอนแล้วเลยต้องตั้งคำถามนี้ ผมอยากเขียนเรื่องนี้เพื่อให้มีการพัฒนาในทางที่เป็นประโยชน์นะครับ ไม่ได้มีเป้าหมายมาตำหนิหรือสร้างดราม่าใดๆครับ

เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นจากแค้มป์ของเราแห่งหนึ่งในอุทยานแห่งชาติในประเทศไทยนี่ละครับ แล้ววันหนึ่งก็มีรถบัสหลายคันมาจอด เด็กหนุ่มสาวมากมายลากกระเป๋าเดินกันมาเป็นทิวแถว 

ไม่นานนัก เครื่องขยายเสียงก็ดังกระหึ่ม ทั้งเสียงประกาศ ทั้งเปิดเพลง และมีกระทั่งกลองที่ตีให้จังหวะตลอดเวลา

คนที่แค้มป์อยู่ใกล้ๆเรา หลายคนเดินไปถามเจ้าหน้าที่อุทยานว่ามีกิจกรรมอะไร ก็ได้รับคำตอบว่า มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมาจัดแค้มป์ “เสียงดังหน่อยนะครับ แต่เขาขออนุญาตมาแล้ว” 

คนส่วนใหญ่ที่ต้องการมาแค้มป์เพื่อความสงบถึงกับเก็บแค้มป์ย้ายที่กางเต็นท์ไปที่อื่น มีแต่เราที่ยังอยากจะปักหลักที่นี่ต่อไป

ช่วงบ่าย ดูเหมือนเสียงจะดังต่อไปเรื่อยๆ จากเสียงเพลงไปจนถึงกิจกรรม “เล่นเกมส์” ต่างๆ ผมเองเดินไปคุยได้ความว่าที่มากันนี่เป็นส่วนหนึ่งของวิชา “Outdoor Education” เมื่อขอให้เบาเสียงลงบ้าง อาจารย์ที่ควบคุมมาก็รับปากแต่ก็เหมือนจะเบาลงเพียงชั่วครู่

พอตกค่ำดูเหมือนเสียงจะดังมากขึ้นไปอีก คราวนี้น่าจะเสียงอาจารย์เองนั่นแหละที่ครองไมค์ประกาศ, เล่นเกมส์ และร้องเพลงเสียเอง ไม่แน่ใจว่าสนุกขึ้นเรื่อยๆหรือได้เครื่องดื่มสร้างแรงบันดาลใจอะไรเข้าไป

สมาชิกในคณะเราถึงกับทนไม่ได้ เดินไปถาม “อาจารย์” เหล่านั้นว่า “ไม่ทราบว่าวิชา Outdoor Education ถ้าสอนกันอย่างนี้ นักศึกษาจะได้รับอะไรครับ” 

ไม่มีคำตอบอะไรที่เราได้กลับมา นอกจาก “เราขออนุญาตมาแล้ว” 

และคำถามนั้นก็เป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจผมตลอดมา

วันหนึ่งได้โอกาสเหมาะ ได้เจอกับสหายชาวสวีเดนสองคน พอคุยกันคนหนึ่งก็เล่าให้ฟังว่าเขาเคยเป็นครูสอน Outdoor Education มาก่อน ส่วนอีกคนก็เรียบจบมาโดยมี Outdoor Education เป็นวิชาเอก จึงได้ถามเขาครับ ว่า Outdoor Education ที่สวีเดนนี่สอนไปเพื่ออะไร และสอนอะไรกันบ้าง

คำตอบทำให้ผมแปลกใจครับ เพราะเขาบอกว่า การสอน Outdoor Education มีเป้าหมายสอนเพื่อให้คนเรียนไปเป็น “ไกด์” ในกิจกรรม Outdoor ต่างๆ เป็นคำตอบที่ผมคาดไม่ถึงจริงๆ

Outdoor Guide นั้นเป็นอาชีพที่น่าสนใจมาก สร้างรายได้ไม่น้อย ได้ทำงานท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม มีชีวิตที่ไม่ต้องนั่งเบื่ออยู่ใน Office แต่ก็ไม่ง่ายเลย, เป็นงานหนัก และน้อยคนที่จะทำงานนี้ได้ดี 

การเป็น Outdoor Guide ในกิจกรรมอย่าง Ski, พายเรือ, ปืนเขา, Trekking ระยะไกล ฯ นั้น ไกด์จะต้องรับผิดชอบมากมาย ตั้งแต่ความปลอดภัย, ความสะดวกสบาย ไปจนถึงความสนุกของผู้ร่วมทริป

จะว่าไปแล้ว Outdoor Guide จะต้องเป็นทั้งครูที่คอยให้คำแนะนำ,​พี่เลี้ยงที่คอยปลอบประโลมยามท้อถอย,​ Entertainer ที่สร้างความสนุกสนาน, นักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และที่สำคัญที่สุด เป็นผู้นำ

Johanna ผู้ที่เคยเป็นครูสอนวิชา Outdoor Education มาก่อน ให้คำอธิบายที่น่าฟังมากว่า วิชา Outdoor Education นั้นสอน 3 อย่างหลักๆคือ 

  1. สอนให้เคารพอุปกรณ์ที่ใช้ (Respect your equipment)
  2. สอนให้เคารพธรรมชาติ (Respect Nature) 
  3. สอนให้เคารพตัวเอง (Respect Yourself)

ทั้ง 3 อย่างนี้จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับคนที่จะไปเป็น Outdoor Guide ได้เป็นอย่างดี

การเคารพอุปกรณ์ที่ใช้ คือพื้นฐานความรู้และความคิดที่คนจะไปเป็น Outdoor Guide จะต้องมีเป็นอย่างมาก เขาจะต้องเลือกใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน, ใช้มันอย่างชำนาญ แนะนำคนอื่นได้,​ รู้จักข้อจำกัดและขีดจำกัด และรู้จักที่จะดูแลรักษาอุปกรณ์ให้ใช้ได้ยาวนานเพื่อให้ผู้ร่วมทริปทุกคนเดินทางไปได้ตลอดรอดฝั่ง

ผู้นำเที่ยวทางเรือคนนี้ให้ความรู้กับทุกคนอย่างดี จนผมต้องยืนฟังเขาอยู่จนจบ (ภาพจาก Norway)

เคารพธรรมชาติ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับ Outdoor Guide อาชีพของพวกเขาพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ พวกเขาจะต้องเรียนรู้ฤดูกาลและสภาวะต่างๆของธรรมชาติ เตรียมตัวให้พร้อม, ปฏิบัติตัวและให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับผู้ร่วมทริป และที่สำคัญที่สุดก็คือ พวกเขาจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลธรรมชาติให้คงอยู่อย่างที่มันควรจะเป็นให้มากที่สุด เพราะธรรมชาติก็เสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของเขานั่นเอง

Outdoor Guide ที่มืออาชีพมาก และดูแลปกป้องธรรมชาติเป็นอย่างดีคือไกด์ตกปลาในอเมริกา

การเคารพตัวเองเป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่แบ่งแยก ไกด์ที่ประสบความสำเร็จออกจากไกด์ทั่วไป 

Outdoor Guide ที่เคารพตัวเอง จะทำหน้าที่ของเขาอย่างมืออาชีพ, แสวงหาความรู้และให้คำแนะนำที่ดีที่สุดกับผู้ร่วมทริป และภาคภูมิใจก็ต่อเมื่อได้ทำหน้าที่ของเขาอย่างดีที่สุด

Tina ผู้ซึ่งผ่านการเรียน โดยมี Outdoor Education เป็นวิชาเอก เล่าให้ผมฟังว่า ในช่วงท้ายของการเรียน สิ่งที่เธอได้รับการเน้นมาก ก็คือ การวิเคราะห์, การแก้ปัญหา, การตัดสินใจ และการเป็นผู้นำ

Tina เล่าว่า การฝึกในขั้นสุดท้ายที่เธอผ่านมานั้น มักจะเป็นการพาเธอและเพื่อนร่วมชั้นเรียนออกไปเจอกับสภาพที่ไม่คุ้นชินและสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ให้ทุกคนร่วมกันแก้ปัญหา จบการฝึกด้วยการวิเคราะห์สิ่งที่ทำลงไปและสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้

สิ่งที่เห็นจาก “Outdoor Education แบบไทยๆ” ยังคงคาใจผม จนผมต้องเอ่ยถามสหายอีกคนที่เคยเป็นผู้ช่วยสอนวิชานี้ในมหาวิทยาลัยอีกแห่ง  ว่าเขาสอนแบบเดียวกันหรือเปล่า

“ก็แบบเดียวกันละครับพี่ เพราะคนสอนก็ไม่รู้จะสอนอะไร รุ่นก่อนเคยทำกันมาแบบนี้ ก็ทำกันต่อๆไป”

เราบ่นกันมามากเรื่อง “คุณภาพ” ของการศึกษา แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ไม่ชัดเจนที่สุดของการศึกษาบ้านเรา น่าจะเป็น “เป้าหมาย”​ ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าควรจะสอนเนื้อหาอะไรกัน  

ผมคิดว่าสังคมเราขาดการตั้งคำถามว่า “ทำไปเพื่ออะไร”  “สอนไปเพื่ออะไร” ทั้งนี้รวมตั้งแต่วิชา Outdoor Education , วิชาหลักที่ทุกคนเรียนอย่าง “คณิตศาสตร์” ไปจนถึงหลายๆอย่างในชีวิตแบบไทยๆ

ถ้าเราจะปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่รู้จักและรักธรรมชาติ เราจะต้องให้สิ่งที่ดีกว่านี้กับเขาครับ

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

ต้นแบบของสุภาพบุรุษกลางแจ้ง

จาก อลัน ควอเตอร์เมน จนถึง รพินทร์ ไพรวัลย์ และ Indiana Jones ถ้าจะพูดถึงชื่อหนึ่งที่มีบทบาทเป็นตัวอย่างของสุภาพบุรุษกลางแจ้งมานับร้อยๆปี ก็คงต้องเล่าถึง อลัน ควอเตอร์เมน ครับ อลัน ควอเตอร์เมน (Allan Quatermain) เป็นตัวละครเอกในนิยายเรื่อง King Solomon’s Mine ที่เขียนโดยนักเขียนชาวอังกฤษ H. Rider Haggard (Sir...

The Outsiders

ในเวลาหนึ่งผมเคยเขียนในบทความไว้ว่า “หมู่บ้านในนิทาน” หรือ “Shangri-la” ในนวนิยายเรื่อง Lost Horizon ของ James Hilton นั้นมีอยู่จริงในมุมเล็กๆของโลกใบนี้ หลายคนได้ค้นหามันจนเจอ แต่แล้วพวกเขาก็เป็นคนทำให้มันสูญหายไปด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนให้หมู่บ้านในนิทานนั้นให้ “ดีขึ้น” โดยการนำสิ่งที่เขาคิดว่าดีงาม จากที่ที่เขาคุ้นเคยเข้าไป การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ การถ่ายเทวัฒนธรรมในโลกใบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณและยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วขึ้นในทุกวันนี้ด้วยการเดินทางและการสื่อสารในยุคใหม่ แต่สิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาสู่สังคมที่คงสภาพเดิมมาอย่างผาสุขยาวนานย่อมมีทั้งดีและไม่ดี และที่สำคัญหลายคนที่พยายามนำมันเข้าไปอาจจะไม่เคยถามคนดั้งเดิมของสังคมว่ามันเป็นประโยชน์ให้กับพวกเขาแค่ไหน เขาต้องการมันหรือไม่

Salmon Fishing ที่นอร์เวย์

ผมรัก Fly Fishing เพราะมันพาผมไปอยู่ในที่สวยที่สุดในโลกหลายๆแห่งที่น้อยคนจะได้เห็น ครั้งนี้มันพาผมไปตกปลาแซลม่อนที่แม่น้ำที่งดงามของ Norway ผมได้ไปสัมผัสกับเรื่องราวของปลาแซลม่อนที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลกใบนี้ แต่คนเรากลับมองข้ามความสำคัญของมันและทำลายความอุดมสมบูรณ์ที่ล้ำค่านี้ไปจนเหลือเพียงเศษเสี้ยวของที่เคยมีในอดีต

Fly Fishing Yellowstone

ทริปตกปลาที่ Yellowstone National Park ที่ที่หลายคนเรียกว่า Shangri-la ของนักตกปลาเทร้าท์

Most Popular

%d bloggers like this: