Monday, May 29, 2023
Homeล้างพิษชีวิต Digital

ล้างพิษชีวิต Digital

-

เคยรู้สึกเบื่อตัวเองบ้างมั๊ยที่ติดนิสัยต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูทุกครั้งที่มีเวลาว่างเพียงไม่กี่วินาที เคยมั๊ยครับ นั่งกับเพื่อนอยู่เป็นกลุ่ม พอมองไปรอบๆทุกคนก้มหน้าอยู่กับโทรศัพท์  รู้สึกผิดบ้างมั๊ยครับที่รู้ตัวว่าเสพติด Social Media  

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ผมเป็นนะครับ ผมรู้สึกไม่ดีเลยที่รู้ตัวว่าเสพติด Social Media แต่ก็ห้ามใจตัวเองไม่ค่อยได้ มันทำให้ผมเป็นคนสมาธิสั้น คิดอะไรต่อเนื่องยาวๆไม่ได้ ทำอะไรนานๆไม่ได้ อ่านหนังสือก็แทบจะไม่จบหน้า

ที่จริงแล้วผมก็มีโอกาสได้ละวางจาก Social Media และ ชีวิต Digital อยู่บ่อยๆในเวลาที่เข้าป่าไกลๆ ทุกครั้งที่ได้ทำอย่างนั้นจะรู้สึกดีมาก แต่คราวนี้อยากจะลองในเมืองดูบ้าง

พอดีได้โอกาสพักจากงาน 2 วัน โดยที่อยู่ในเมืองกรุง ไม่ได้ไปไหน ผมก็เลยตัดสินใจปิดโทรศัพท์, ปิด iPad, ไม่เปิด Computer และไม่ใช้กล้อง Digital ตลอด 2 วัน 

ใน  2 วันนั้น ผมเอาเวลาที่ผมเคยก้มหน้าดูโทรศัพท์มาแลกเอาเวลาที่ผมสามารถทำอะไรอย่างอื่นที่ผมอยากทำมานาน แต่บอกว่า “ไม่มีเวลา” มาตลอด

ผมหยิบกล้องฟิล์มเก่าๆออกมาเดินถ่ายรูปเล่น มันทำให้ผมถ่ายรูปช้าลงและคิดก่อนถ่ายแต่ละภาพ ผมหยิบหนังสือที่ซื้อมากองโตออกมานั่งอ่าน ผมนั่งเขียนหนังสือด้วยกระดาษและปากกา (รวมทั้งบทความนี้ด้วย) ผมออกไปพบปะกับเพื่อนฝูงแล้วนั่ง  “Chat” กันต่อหน้าโดยไม่ต้องผ่านหน้าจอและคีย์บอร์ด กลับมาถึงบ้านผมก็ล้างฟิล์มที่ถ่ายมา กิจกรรมอย่างหนึ่งที่อยากทำมาตลอดหลายปีนี้แต่ “ไม่เคยมีเวลา”

กล้องเก่าที่นอนในตู้อยู่นับสิบปี

ผ่านไปสักครึ่งวันผมก็เริ่มหมดอาการ “กระตุก” ที่จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู ว่าไปแล้วผมกลับไม่ได้คิดถึง Social Media อย่าง Facebook, Instagram ฯ อะไรมากนักนะครับ

หนังสือเล่มนี้ของ Aldo Leopold ถือได้ว่าเป็น Enlightenment ของการอนุรักษ์ธรรมชาติเลยก็ว่าได้

ถามว่า 2 วันนี้คิดถึงอะไรในโลก Digital มากที่สุด อย่างแรกคงเป็น Google map เพราะทุกวันนี้เราไม่มีแผนที่ถนนในกระดาษกันแล้ว, การค้นหาสิ่งที่อยากรู้ด้วย Search Engine เป็นอีกอย่าง เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจนเราไม่เคยสังเกตจนกว่าจะไม่มีให้ใช้ 

ไม่ได้เขียนหนังสือมานาน ลายมือผมยังดูไม่จืดอ่านไม่ออกเหมือนเดิม

ที่คิดถึงมากอีกอย่างคือ Dictionary เพราะเวลาอ่าน ebook มันจะมีอยู่ในตัว ตอนนี้พออ่านหนังสือกระดาษจึงได้พบว่า Dictionary เล่มที่บ้านถูกบริจาคไปนานแล้ว และผมก็คิดว่าตอนนี้คงไม่มีใครใช้มันแล้ว

พอถึงวันที่ 3 ที่จะต้องกลับไปทำงาน ผมแทบจะไม่อยากเปิดโทรศัพท์เพื่อรับรู้ความวุ่นวายใดๆ 2 วันที่ผ่านมามันช่างสุขสงบเสียเหลือเกิน อาการสมาธิสั้นของผมก็ดูเหมือนจะบรรเทาไป

ไม่หรอกครับ ผมยังไม่สามารถตัดขาดไปจากโลก Digital ได้ ผมยังต้องทำงาน, ต้องติดต่อกับผู้คน, ผมยังชอบถ่ายภาพที่เป็น Digital ผมยังชอบที่จะถ่ายทอดความคิดให้ผู้คนได้อ่านกันใน Social Media 

แต่การหยุดพักจากโลก Digital เสียบ้าง ก็อาจจะเหมือนการถือศีลอดเพื่อให้เพ่งพิจารณาว่า อะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ อะไรที่จำเป็นหรืออะไรที่เราเพียงแต่ทำตามๆเขาไป เมื่อหยุดนิ่งให้ฝุ่นที่ตลบรอบตัวเราจางลงบ้าง เราก็ย่อมเห็นอะไรๆชัดเจนขึ้น

ถึงแม้จะไม่สามารถปฏิเสธโลก “อันทันสมัย” นี้ได้ตลอดไป แต่ผมก็ตั้งใจแล้วว่าผมจะทำ “Digital Detox” นี้สัก 1 วันต่อสัปดาห์ แล้วเอาเวลาไปทำสิ่งที่ผมอยากทำ ถ้าวันไหนติดต่อผมไม่ได้ก็เป็นอันรู้กันนะครับ

ใครจะลองกับผมบ้างมั๊ยครับ 

หมายเหตุ: ภาพประกอบนี้ถ่ายภายหลังนะครับ เผื่อใครสงสัยครับ

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

ต้นแบบของสุภาพบุรุษกลางแจ้ง

จาก อลัน ควอเตอร์เมน จนถึง รพินทร์ ไพรวัลย์ และ Indiana Jones ถ้าจะพูดถึงชื่อหนึ่งที่มีบทบาทเป็นตัวอย่างของสุภาพบุรุษกลางแจ้งมานับร้อยๆปี ก็คงต้องเล่าถึง อลัน ควอเตอร์เมน ครับ อลัน ควอเตอร์เมน (Allan Quatermain) เป็นตัวละครเอกในนิยายเรื่อง King Solomon’s Mine ที่เขียนโดยนักเขียนชาวอังกฤษ H. Rider Haggard (Sir...

The Outsiders

ในเวลาหนึ่งผมเคยเขียนในบทความไว้ว่า “หมู่บ้านในนิทาน” หรือ “Shangri-la” ในนวนิยายเรื่อง Lost Horizon ของ James Hilton นั้นมีอยู่จริงในมุมเล็กๆของโลกใบนี้ หลายคนได้ค้นหามันจนเจอ แต่แล้วพวกเขาก็เป็นคนทำให้มันสูญหายไปด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนให้หมู่บ้านในนิทานนั้นให้ “ดีขึ้น” โดยการนำสิ่งที่เขาคิดว่าดีงาม จากที่ที่เขาคุ้นเคยเข้าไป การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ การถ่ายเทวัฒนธรรมในโลกใบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณและยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วขึ้นในทุกวันนี้ด้วยการเดินทางและการสื่อสารในยุคใหม่ แต่สิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาสู่สังคมที่คงสภาพเดิมมาอย่างผาสุขยาวนานย่อมมีทั้งดีและไม่ดี และที่สำคัญหลายคนที่พยายามนำมันเข้าไปอาจจะไม่เคยถามคนดั้งเดิมของสังคมว่ามันเป็นประโยชน์ให้กับพวกเขาแค่ไหน เขาต้องการมันหรือไม่

Salmon Fishing ที่นอร์เวย์

ผมรัก Fly Fishing เพราะมันพาผมไปอยู่ในที่สวยที่สุดในโลกหลายๆแห่งที่น้อยคนจะได้เห็น ครั้งนี้มันพาผมไปตกปลาแซลม่อนที่แม่น้ำที่งดงามของ Norway ผมได้ไปสัมผัสกับเรื่องราวของปลาแซลม่อนที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลกใบนี้ แต่คนเรากลับมองข้ามความสำคัญของมันและทำลายความอุดมสมบูรณ์ที่ล้ำค่านี้ไปจนเหลือเพียงเศษเสี้ยวของที่เคยมีในอดีต

Fly Fishing Yellowstone

ทริปตกปลาที่ Yellowstone National Park ที่ที่หลายคนเรียกว่า Shangri-la ของนักตกปลาเทร้าท์

Most Popular

%d bloggers like this: