จะหุงข้าวสักหม้อ, ต้มกาแฟสักกา, ชงชาสักแก้ว หรือย่างเนื้อสเต๊กอร่อยๆแบ่งกัน คุณก็ต้องมี “เตา” ครับ
อย่าไปหวังพึ่งกองฟืนแต่อย่างเดียวนะครับ เพราะเรานั้นไม่ใช่มืออาชีพอย่างชาวบ้านป่า บางทีกว่าจะหาฟืนได้กว่าจะจุดกองไฟติดหิวกันจนปวดไส้ (เชื่อผมเถอะ ผมเจอมาเองบ่อยแล้ว) และนอกจากนั้นในอุทยานฯส่วนมากก็ไม่อนุญาตให้ก่อกองไฟด้วยครับ


“เลือกเตามันจะไปยากอะไร(วะ)” คุณคงคิดในใจ ผมเดานะ
ใช่ครับ เมื่อก่อนนี้การจะซื้อเตาเอาไว้เที่ยวป่านั้นไม่เคยเป็นประเด็นให้คุยกันเพราะไม่มีตัวเลือกมากนัก แต่มาช่วงหลังนี้พอร้าน ThailandOutdoor Shop นำเข้าเตาสารพัดแบบเข้ามา และพวกเราได้ทดลองใช้งานจนรู้จักเตาเหล่านี้ลึกซึ้ง การเลือกซื้อเตาสักตัวให้เหมาะสมจึงเริ่มมีหลักการเลือกที่ชัดเจนขึ้นมาก
ว่ากันจริงๆแล้วเตาจะเลือกเรานะครับ เพราะว่าจะซื้อเตาตัวไหนขึ้นอยู่กับรูปแบบการเที่ยวและลักษณะการใช้งานของคุณเองเป็นหลัก
ก่อนจะงงกับการเลือกเตามากมายหลายหลากที่อยู่ในแคตตาล็อก ลองถามคำถามเหล่านี้กับตัวคุณเองก่อนครับ
จะเลือกเตาให้เหมาะกับการใช้งาน ขอแนะนำว่าให้คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ก่อนครับ
- ประเภทของการเดินทาง คุณจะแบกเดิน, จะแค้มป์คาร์ หรือจะพาเตาไปต่างประเทศ
- จำนวนสมาชิกในคณะที่จะร่วมกันใช้เตา
- ชนิดของอาหารที่จะทำ
จาก 3 ข้อนี้จะเป็นตัวบอกว่าควรจะใช้เชื้อเพลิงชนิดไหนและเตาแบบไหน ซึ่งเราละแนะนำกันอย่างละเอียดในด้านล่างของบทความนี้
ลองมาดูกันทีละข้อนะครับ
ประเภทของการเดินทาง
ถ้าคุณเที่ยวป่าคุณย่อมอยากจะได้เตาที่มีขนาดเล็ก, น้ำหนักเบา พกพาสะดวก ไปจนถึงเลือกใช้เชื้อเพลิงที่พกพาง่ายเช่นแก๊สกระป๋องเล็ก หรือน้ำมันก๊าด หรือน้ำมันเบนซิน
ถ้าคุณเที่ยวแค้มป์คาร์ ขนาดและน้ำหนักของเตาย่อมไม่ใช่ปัญหา ขึ้นกับจำนวนสมาชิกในคณะของคุณ ไม่จำเป็นต้องใช้เตาขนาดเล็กเลย เลือกเอาเตาที่ใช้สะดวกทำกับข้าวให้สนุกเลยครับ
ถ้าคุณจะพาเตาไปเที่ยวเทรลในต่างประเทศ เตาที่คุณเลือกใช้ก็ไม่ต่างจากเตาเดินป่าครับ เพียงแต่จะต้องพิจารณาเรื่องเชื้อเพลิงที่หาได้ในประเทศนั้นๆ ถ้าจะให้ดีที่สุดก็เลือกเตาที่ใช้เชื้อเพลิงได้หลากหลายไว้ก่อนครับ (multi-fuel)
เพิ่มเติมอีกนิด ถ้าคุณวางแผนจะเดินทางไปในดินแดนที่ห่างไกลผู้คนและคุณต้องพึ่งพาฝากชีวิตของคุณและเพื่อนร่วมคณะไว้กับเตาในการหุงหาอาหาร คุณจะต้องการเตาที่จัดอยู่ใน Expedition Grade เตาเหล่านี้จะเป็นเตาที่สร้างมาด้วยโครงสร้างง่ายๆ ทนทานสุดๆ และที่สำคัญซ่อมแซมได้ด้วยตัวคุณเองได้เสมอ


จำนวนสมาชิกร่วมเดินทาง
การเดินทางแต่ละครั้ง จำนวนของสมาชิกที่จะใช้เตาร่วมกันก็เป็นตัวบอกว่าคุณควรจะเลือกใช้เตาขนาดไหน เช่นไปเป็นกลุ่มเล็ก (1-2คน), กลุ่มขนาดกลาง (3-5คน) หรือ กลุ่มใหญ่ (6 คนขึ้นไป)

เมื่อขนาดของกลุ่มใหญ่ขึ้นคุณจะต้องมองหาเตาที่สามารถรองรับภาชนะเช่นหม้อหุงข้าวหรือกะทะที่ขนาดใหญ่ขึ้นและให้ไฟที่กระจายเป็นวงกว้างเพื่อทำกับข้าวปริมาณมากได้ง่าย
ประเภทของอาหารที่จะทำ
ถ้าคุณแค่ต้องการทำกับข้าวกินพออิ่มหรือต้มน้ำต้มกาแฟและเน้นการเดินไกลๆอยากได้ของเบาๆ เตาขนาดเล็กๆเบาๆที่ใส่ไปกับชุดหม้อก็อาจจะเหมาะกับคุณ
แต่ถ้าหากคุณชอบทำกับข้าวแบบแมงดึกคุณควรมองหาเตาที่ให้การกระจายไฟเป็นวงกว้างทั่วถึง
ถ้าคุณชอบทำอาหารปิ้งย่าง เตาบาร์บีคิว ที่ใช้แก๊สหรือถ่านเป็นเชื้อเพลิง ก็จะทำให้การปิ้งย่างได้อาหารคุณภาพดีกว่าและบรรยากาศในแค้มป์สุขสันต์กว่าการใช้เตาเล็กๆมากนัก
ชนิดของเชื้อเพลิง
เตาเที่ยวป่ามีหลากหลายรูปแบบมาก ในบรรดาตัวเลือกนี้ก็มีเรื่องของเชื้อเพลิงที่ใช้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ลองมาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง
-
แก๊สกระป๋อง
แก๊สกระป๋องคือเชื้อเพลิงที่ใช้งานสะดวกที่สุดครับ เปิดปุ๊ปติดปั๊ปเหมือนเตาแก๊สที่บ้าน พกพาก็สะดวกน้ำหนักไม่มาก
ข้อด้อยของแก๊สกระป๋องก็คือราคาค่อนข้างสูงครับ แต่ถ้าใช้กับการเดินป่า ไม่ได้ทำกับข้าวกันอลังการนักก็ไม่ได้สิ้นเปลืองอะไรมากนัก ข้อจำกัดอีกอย่างก็คือไม่สามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องบินไปได้ ถ้าจะใช้เตาแก๊สกระป๋องติดตัวไปใช้โดยการโดยสารเครื่องบินก็ต้องคำนึงถึงให้ดีครับว่าแก๊สหาซื้อที่ปลายทางได้หรือเปล่า
แก๊สกระป๋องที่นิยมใช้กันมีสองชนิดครับคือแก๊สกระป๋องสั้นที่เรียกกันว่าแก๊สซาลาเปา กับแก๊สกระป๋องยาวที่คล้ายๆกระป๋องสเปรย์
แก๊สกระป๋องยาวนี้นิยมใช้กันมากเพราะราคาถูกแต่ไม่ค่อยจะปลอดภัยนักนะครับเพราะไม่ได้ออกแบบมาไว้ใช้งานกลางแจ้ง (แก๊สกระป๋องแบบนี้น่าจะมีที่มาจากเตาในร้านสุกี้ครับ) ตัวกระป๋องจะค่อนข้างบอบบาง ถ้าอ่านดีๆข้างๆกระป๋องจะมีตัวหนังสือเล็กๆเขียนไว้ว่าไม่ควรเก็บในที่อุณหภูมิเกิน 40 องศา แก๊สกระป๋องชนิดนี้มีเหตุการณ์กระป๋องระเบิดอยู่บ่อยครั้งเมื่อเก็บไว้ในที่ร้อนเช่นท้ายรถครับ จะใช้ก็ได้แต่ต้องระวังในการเก็บการใช้ เป็นแก๊สที่หาซื้อได้ทั่วไปในประเทศไทยแทบทุกจังหวัด ตามห้างใหญ่ๆก็มักจะมีขายในซูเปอร์มาเก็ตครับ ต่าประเทศไม่ค่อยมีขายนะครับ ยกเว้นเกาหลีและญี่ปุ่น ทางยุโรปหรืออเมริกานี่ไม่ต้องไปหาเลย
แก๊สซาลาเปาเป็นแก๊สที่ออกแบบมาสำหรับการใช้งารแค้มปิ้งเดินป่าโดยเฉพาะ ตัวถังแข็งแรงมาก รูปทรงสเถียรสามารถตั้งเตาที่เรียกว่าเตาหัวถังแล้วตั้งหม้อขนาดเล็กบนเตาได้อีกทีเลย ราคาสูงสักหน่อยแต่ใช้งานคุ้มครับ ข้อด้อยอย่างเดียวก็คือหาซื้อยากในบ้านเราครับจะมีขายก็เฉพาะในร้านขายอุปกรณ์แค้มปิ้ง แต่ถ้าไปต่างประเทศละก็มีขายเกือบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป, อเมริกา, ญี่ปุ่น, เนปาล ฯ
-
เชื้อเพลิงเหลว เช่นน้ำมันเบนซิน หรือน้ำมันก๊าด
เตาที่ใช้เชื้อเพลิงเหลวเช่นน้ำมันเบนซินและน้ำมันก๊าดนี่เป็นเตาเที่ยวป่ามาเนิ่นนานเกินร้อยปีครับ มันถูกทดสอบจากการใช้งานทรหดทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้นเลิกกังวลเรื่องความทนทานและความปลอดภัยของเตาเดินป่าคุณภาพดีที่ใช้เชื้อเพลิงเหลวได้เลยครับ (เน้นว่าเตาคุณภาพดีนะครับ)
เตาน้ำมันดีๆอย่าง Primus นี่ใช้งานกันมานับร้อยปี รวมทั้งเป็นเตาตัวแรกที่ทำกับข้าวเลี้ยงคนขึ้นไปถึงยอดเขา Everest ด้วย เชื้อเพลิงเหลว โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินนี่ข้อได้เปรียบสูงสุดคือการหาซื้อง่าย(เลี้ยวเข้าปั๊มไปเติมเลยครับ), ราคาถูก (น้ำมันหนึ่งลิตรราคาราว 30 บาท ใช้งานได้เท่ากับแก๊ส 3กระป๋องครึ่ง) และพกพาไปไม่กินที่ (แบกถังน้ำมันหนึ่งลิตร แทนที่แก๊ส 3 กระป๋อง) และที่สำคัญไม่สร้างขยะที่เกิดจากกระป๋องแก๊สอีกด้วย
ขอเสียก็มีบ้างครับ เตาน้ำมันนี้จะต้องมีการ “เผาหัว” ให้ร้อนก่อนที่จะใช้งานได้ การจุดไม่ได้ยากนะครับ เพียงแต่ไม่ได้เปิดปุ๊ปติดปั๊ป เหมือนเตาแก๊ส ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับการทำกับข้าวเป็นมื้อๆ แต่ถ้าจะจุดต้มกาแฟเรื่อยๆเดี๋ยวดับเดี๋ยวจุดอาจจะไม่เหมาะครับ
เตาน้ำมันต้องมีการเผาหัวให้ร้อนก่อนใช้งาน น้ำมันที่เหมาะกับการใช้กับเตาที่สุดคือน้ำมันเบนซินขาว (white gas) เพราะเผาใหม้สะอาดไม่มีสารผสมอะไร แต่จะหาซื้อยากสักหน่อยครับ ถ้าหาไม่ได้ ใช้น้ำมันเบนซิน 95 ที่ไม่ใช่ Gasohol ก็ได้ครับ ไม่ควรใช้น้ำมัน Gasohol นะครับ เพราะแอลกอฮอลจะกัดส่วนซีลที่เป็นยางทำให้ละลายไปอุดตันและทำให้รั่วได้เร็วมากครับ
-
ถังแก๊ส
ถ้าขับรถไปแค้มป์คาร์กันคณะใหญ่ๆอยู่กันหลายๆวัน ทำกับข้าวกันแบบอลังการ ทำหมูตุ๋นข้ามคืน ปิ้งสเต๊กเลี้ยงคนทั้งคณะ ฯ ใช้แก๊สกระป๋องคงไม่เหมาะแน่ เตาขนาดใหญ่ที่ใช้ถังแก๊สแบบเดียวกับถังแก๊สที่บ้าน(แต่ขนาดเล็กกว่า) น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะ
รถถึง ไปกันเยอะๆ ทำกับข้าวอลังการ ถังแก๊สก็พอได้ครับ -
ถ่าน
จะปิ้งเนื้อ ย่างปลาหมึก ล้อมวงท่ามกลางอากาศหนาวๆ คงไม่มีอะไรคลาสสิกกว่าการนั่งล้อมเตาถ่านสวยๆเอาตะเกียบค่อยๆพลิกปิ้งไปกินกันไปการใช้เตาถ่านออกไปแค้มปิ้งยุคนี้ไม่ต้องลำบากแบกเตาอั่งโล่ไปเป่าถ่านให้หน้ามืดกันแล้ว มีหลายๆบริษัทที่ผลิตเตาบาร์บีคิวที่พับได้ขนย้ายสะดวก แถมยังมีอุปกรณ์เผาถ่านให้ติดไฟร้อนแดงก่อนใส่ลงไปในเตาได้ง่ายๆอีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้หวังว่าคุณคงมีคำตอบไว้ในใจแล้วว่าคุณมีความต้องการใช้เตาในลักษะไหน ทีนี้มาดูชนิดของเตากันเลยครับว่าเตาอะไรจะเหมาะกับคุณ
เตาแก๊สหัวถัง (Canister Stove)
เตาหัวถังเป็นเตาแก๊สขนาดเล็กที่ใส่ประกอบเข้ากับถังแก๊สซาลาเปาโดยตรง เน้นความสะดวกในการพกพา มีขนาดเล็กออกแบบมาสำหรับคนที่ชอบเดินทางคนเดียวหรือสองคน ไม่เน้นการทำอาหารมากมายนักแต่ต้องการเตาที่เบาไม่กินที่พกพาไปได้ทุกที่ไม่เป็นภาระ



Stove Set
ถ้าคุณเป็นนักเดินป่าหรือเดินทางไป trekking ต่างประเทศ ไปกันกลุ่มเล็กๆ 1-2 คน ไม่ได้เน้นทำอาหารมากนัก ส่วนใหญ่จะใช้อาหารสำเร็จรูป เช่นอาหาร Freeze Dry, บะหมี่สำเร็จรูปหรืออาหารกระป๋อง เตาจะใช้ต้มน้ำเป็นส่วนใหญ่, เพื่อเตรียมอาหาร, ต้มกาแฟ หรือหุงข้าว
เตาที่เหมาะมากในการใช้งานลักษณะนี้คือเตาชุด (Stove Set) เตาลักษณะนี้จะมาพร้อมกับชุดหม้อที่เข้ากันแพ็คเก็บไปด้วยกันได้ มีคุณสมบัติเด่นในเรื่อง การใช้ความร้อนเร็วมากต้มน้ำไม่กี่นาทีก็เดือด, การประหยัดเชื้อเพลิงกว่าเตาทั่วไปมาก(30-50%) ทำให้เราลดน้ำหนักของเชื้อเพลิงที่จะต้องแบกไปได้มาก
เตาประเภทนี้มักจะใช้กับกระป๋องแก๊สที่เราเรียกกันว่าแก๊สซาลาเปา เพราะเตาและชุดหม้อจะตั้งอยู่บนถังทั้งชุด แก๊สชนิดนี้มีราคาสูงสักนิดแต่ปลอดภัยกว่าแก๊สกระป๋องยาวมาก


เตาแก๊สแยกถัง
เตาแก๊สชนิดนี้เป็นเตาแก๊สขนาดเล็กที่มีสายแยกต่อจากตัวเตาไปยังถังแก๊ส ขนาดเวลาเก็บแล้วอาจจะใหญ่กว่าเตาหัวถัง แต่ตัวเตาทำให้ฐานกว้างสามารถรองรับหม้อขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมากได้ทำกับข้าวแบบไทยๆเช่นหุงข้าว, ทอด, ผัดได้สะดวกขึ้น และสามารถต่อ adaptor ใช้กับถังแก๊สกระป๋องยาวได้
เตาในกลุ่มนี้เหมาะกับคนที่จะไปเดินป่าและต้องการทำกับข้าวจริงจังหน่อย อาจจะไปกลุ่มใหญ่ขึ้น 3-5 คน หรือจะใช้เป็นเตาแค้มป์สำหรับกลุ่มเล็กๆก็เหมาะ



เตาน้ำมัน
ถ้าคุณเที่ยวป่าบ่อยๆ เดินทางบ่อยๆ จนรู้สึกว่าขี้เกียจหาซื้อแก๊สกระป๋อง (เหมือนผม) เตาน้ำมันเป็นเตาที่น่าสนใจมากครับ
เตาเหล่านี้มักจะใช้น้ำมันเบนซินที่หาง่ายและราคาถูกเป็นเชื้อเพลิง เราสามารถแวะซื้อน้ำมันตามปั๊มระหว่างทางที่ไหนก็ได้ในราคาถูกกว่าซื้อแก๊สกระป๋องเกินสิบเท่า
การจุดเตาน้ำมันไม่ได้ยากอะไร เพียงแต่มันจะต้องเผาหัวให้ร้อนได้ที่ก่อนที่จะใช้งานได้สมบูรณ์


เตา Multi-Fuel
เตา Multi-Fuel จะเรียกว่าเป็นสุดยอดของเตาเดินป่าก็คงพอได้ เตาชนิดนี้ใช้เชื้อเพลิงได้หลายอย่าง ทั้งน้ำมันเบนซิน หรือแก๊สกระป๋อง บางตัวสามารถใช้น้ำมันก๊าด บางตัวสามารถใช้ได้กับน้ำมันดีเซลหรือน้ำมันพาราฟิน
เตา Multi-Fuel เป็นเตาที่เหมาะกับนักเดินทางที่ไม่ต้องการมีข้อจำกัด สามารถพกพาเตาตัวเดียวไปท่องเที่ยวได้ทั่วทุกซอกทุกมุมของโลก



เตาแก๊สขนาดใหญ่
ถ้าคุณไปแค้มป์คาร์กันหลายคน หรือชอบทำกับข้าวแบบจริงจัง เตาที่ใช้แก๊สกระป๋องขนาดใหญ่เป็นทางเลือกที่ดีมากครับ เตาเหล่านี้ให้ไฟกว้างทำกับข้าวสะดวก มั่นคงแข็งแรงใช้กับหม้อและกระทะขนาดใหญ่และหนักได้ดี ยิ่งเตาที่ 2 หัวนี่ยิ่งทำกับข้าวสะดวกและสนุกมากครับ หัวนึงหุ้งข้าวอีกหัวทำกับข้าวไปได้พร้อมๆกัน




เตาน้ำมันขนาดใหญ่
ถ้าคุณออกแค้มปิ้งบ่อยๆ ไม่ต้องการวุ่นวายกับการหาซื้อแก๊สกระป๋องอีกต่อไป ลงทุนกับเตาน้ำมันดีๆสักตัวคุ้มมากครับ ยิ่งเตาที่ 2 หัวนี่ยิ่งทำกับข้าวสะดวกและสนุกมากครับ หัวนึงหุ้งข้าวอีกหัวทำกับข้าวไปได้พร้อมๆกัน
ถ้าอยากได้เตาประเภทนี้ไม่ต้องคิดมากครับ เตาน้ำมันสำหรับแค้มป์มีที่ดีที่สุดอยู่ยี่ห้อเดียวครับคือ 50 ปี พิสูจน์ด้วยกาลเวลาว่ามันคือเตาน้ำมันสำหรับแค้มป์ที่ทนทานและใช้งานได้ดีที่สุด

เตาน้ำมัน Coleman ของเพื่อนของผู้เขียนที่รู้จักก็ใช้งานมาแล้วถึง 35 ปีโดนไฟไหม้เผาในห้องเก็บของไปแล้วหนึ่งครั้งก็ยังไม่พัง


เตา BBQ
ถ้าความสุขของการออกไปแค้มปิ้งของคุณอยู่ที่การทำอาหารเลี้ยงครอบครัวและเลี้ยงเพื่อนคณะใหญ่ๆ หรือคุณต้องการหาเตาไว้ทำอาหารนอกบ้านตากอากาศเลี้ยงเพื่อนๆ เตา BBQ แบบพกพา น่าจะเป็นเป็นสิ่งที่เหมาะที่สุด
เตากลุ่มนี้มีทั้งเตาที่ใช้แก๊สกระป๋อง, เตาที่ใช้ถังแก๊สบ้าน และเตาถ่าน เลือกได้ตามความชอบเลยครับ


เตาถ่านมีสเน่ห์มากสำหรับการปิ้งย่าง ถ่านแดงๆไม่รีบร้อย ล้อมวงกันท่ามกลางอากาศหนาวๆค่อยๆปิ้งกันไปจิบเบียร์กันไป





เลือกเตาให้เหมาะกับคุณ
อธิบายกันมาทั้งรูปแบบต่างๆของการใช้เตาสำหรับเที่ยวป่า, ชนิดและรูปแบบของเตา และมาลงท้ายที่เตาแบบต่างๆที่น่าจะเหมาะกับการใช้งานของคุณ
หวังว่าคงจะช่วยให้คุณเลือกเตาได้ถูกใจ และสนุกกับการออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งนะครับ
ดูเตาทุกรุ่นที่ ThailandOutdoor Shop ได้ที่หน้านี้ครับ
[…] […]
[…] […]
[…] + ดูเพิ่มเติมที่นี่ […]