Monday, December 11, 2023
Homeความคิดและมุมมองร้านกล้อง where everybody know your name

ร้านกล้อง where everybody know your name

-

เมื่อ 7 ปีก่อน เพื่อนรุ่นน้องที่เป็นหุ้นส่วนกัน ถามผมในระหว่างพักการประชุมวางแผนของบริษัทเล็กๆของเราที่เพิ่งตั้งขึ้นมาว่า “พี่ครับ พี่คิดว่าบริษัทไหนในเมืองไทยที่พี่คิดว่าดี และเราควรเอาเป็นตัวอย่างบ้างครับ”

คำตอบจากผม ทำให้สหายผู้นั้นแปลกใจอย่างมาก เพราะเขาคงคาดหวังว่าผมจะเอ่ยชื่อ บริษัทใหญ่สุดดัง อย่างบริษัทนำ้มัน, บริษัทปูน หรือแม้แต่บริษัท Computer ชั้นเยี่ยมที่ผมทำงานด้วยเกือบ 20ปี

คำตอบผมคือ “Fotofile” ครับ

มาครับ ผมจะเล่าเรื่อง “ร้าน” นี้ให้ฟัง


อาจจะเป็นโชคชะตาที่ทำให้ผมได้ไปพบพาร้านนี้เข้าตั้งแต่วันแรกๆที่ร้านเปิดเมื่อ 25 ปีมาแล้ว ผมเข้าไปเจอโต๊ะขายกล้องเล็กโต๊ะหนึ่งในงานนิทรรศการการถ่ายภาพที่จุฬาลงกรณ์ฯ เมื่อเข้าไปพูดคุยกับคนขายก็รู้สึกถูกคอกัน ผมถามหาเลนส์กล้องบางตัวที่อยากได้ เขาก็บอกว่ามีรุ่นใกล้ๆกันหรือถ้าอยากได้รุ่นที่ว่าจริงๆก็หาได้นะไปที่ร้านซิ ผมก็เลยเดินตามไปที่ร้านซึ่งอยู่ที่ชั้นล่างของห้างมาบุญครอง ตอนนั้นแบ่งพื้นที่เช่าอยู่กับร้านขายเสื้อผ้า และก็ได้ของมากเป็นสองเท่าของที่ตั้งใจกลับบ้านไป จนกรอบไปสองเดือนครับ

หลังจากนั้นผมก็แวะเวียนไปที่ร้านอยู่เรื่อยๆ ไปเดินดูของแปลกๆที่สรรหามาวางกันอยู่ในร้านเล็กๆ มีป้ายเขียนบรรยายแบบกวนๆ และสนิทกันอย่างรวดเร็วกับเจ้าของร้าน ไม่นานก็ออกไปถ่ายรูปด้วยกัน ไปเที่ยวป่าด้วยกัน ถ้าเมื่อไหร่พอมีเวลาว่างก็ต้องแวะเวียนเข้าไป ไม่ซื้ออะไรก็ไปนั่งคุยกับลูกค้าคนอื่นๆที่ชอบกล้องและการถ่ายภาพเหมือนๆกัน

l1002966
ถ้าจะสรุปสั้นๆว่าทำไมถึงชอบเข้าไปที่นี่ก็คงตอบได้ว่า ผมรู้สึกว่าไม่ได้ไปร้านขายของแต่เข้าไปหาเพื่อน เพราะทุกครั้งที่เข้าไปทุกคนทำให้ผมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของที่นั่น เป็นเพื่อนมากกว่าเป็นลูกค้า

l1002993แน่ละเจ้าของร้านทุกคนกวนทีนมากครับ ไม่มีใครเป็นรองใครเลย ทุกคนที่เดินเข้าไปในร้านคงได้เจอเหมือนกันหมด แต่ในความกวนนั้นเต็มไปด้วยความจริงใจครับ หลายครั้งเมื่อผมหยิบของมาจะจ่ายเงินก็อาจจะเจอคำพูดที่ว่า “งบ อันนี้กูไม่ขายมึง” พร้อมด้วยเหตุผลที่ตามมาจนผมต้องเดินเอาของไปวางที่เก่า บางครั้งพอจะเอาของไปเทิร์นเปลี่ยนเอาของอื่นก็อาจจะเจอคำพูดที่ว่า “มึงจะเปลี่ยนทำไม ตัวนี้มันก็ดีอยู่แล้ว” และถ้าโชคดีพอโผล่หน้าเข้าไปก็อาจจะเจอคำพูด “นี่อันนี้ กูรู้ว่าของแบบนี้ต้องเก็บไว้ให้ใคร” ถ้าได้ยินอย่างนี้ก็หยิบกระเป๋าสตางค์ได้เลยครับ

l1003241หลายปีผ่านไป ร้านเติบโตขึ้นมาก เปิดสาขาหลายแห่ง มีพนักงานเพิ่มขึ้นมาก บางครั้งเข้าไปก็ไม่เจอเจ้าของร้านที่คุ้นเคยกันไม่ว่าจะเป็นพี่เม่น, พี่มด หรือพี่หนุ่ม แต่น่าแปลกใจว่าบรรยากาศร้านและความรู้สึกของผมเมื่อเดินเข้าไปในร้านยังอบอุ่นเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทุกคนยังทักทายผมด้วยชื่อ, ถามถึงเพื่อนที่เคยมาด้วยกัน, ถามว่าที่ทำงานเป็นอย่างไร และถามถึงของที่ซื้อไปว่าได้ลองใช้หรือยังเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเราถามอะไรเรื่องอุปกรณ์กล้อง น้องๆในร้านทุกคนก็จะตอบได้แบบคนที่เคยใช้มาเองไม่ใช่ท่องจำมาตอบ ถ้าเจออย่างนี้แล้วคุณจะไม่รู้สึกว่าเข้าไปหาเพื่อนได้อย่างไรละครับ

l1002997นอกร้าน ผมได้เจอกับพี่มดบ่อยกว่าหุ้นส่วนคนอื่นๆ แวะไปเจอที่ร้านแล้วนั่งคุยกันบ้าง ไปเที่ยวกันบ้าง เนื่องจากผมเองเริ่มมีแผนที่จะทำธุรกิจของตัวเองบ้าง (อ่านเรื่องสนามธนู ArcheryThai ได้ที่หน้านี้ครับ) ทุกครั้งที่คุยกันผมก็จะถามพี่มดเรื่องการบริหารร้านอยู่เรื่อยๆ เรื่องสำคัญอยู่ที่การสร้างลูกน้องขึ้นมาให้ดูแลร้านได้เพื่อรองรับการเติบโต, ทำอย่างไรที่ทำให้ลูกน้องดูแลเอาใจใส่ลูกค้าได้ดีเช่นนี้ และผมก็ทะยอยเก็บความรู้และแนวความคิดนั้นสะสมมาเรื่อยๆไม่เคยลืมแม้แต่เรื่องเดียว

ผมเองนั้นก็พอรู้อยู่ว่า “ผู้คน” ที่มาเป็นลูกค้า Fotofile นั้นจะค่อนข้าง “ติด” แต่ผมก็ไม่เคยเข้าใจชัดเจนว่าเพราะอะไรจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา ผมจะเล่าให้ฟังนะครับ

ผมมีเพื่อนรุ่นพี่อยู่คนหนึ่ง “พี่ปุ้ม” เราทำงานที่เดียวกัน, เที่ยวด้วยกัน, ชอบเล่นอะไรเหมือนๆกัน และผมก็เคยพาพี่ปุ้มไปซื้อกล้องที่ Fotofile ครั้งหนึ่ง และได้ยินว่าพี่ปุ้มกลับไปที่นั่นอีกหลายครั้ง

พี่ปุ้มเป็นคนที่ใช้เงินอย่างรู้คุณค่ามากที่สุดคนหนึ่ง บ่อยครั้งเรากินข้าวกลางวันด้วยกัน (ข้าวแกงมื้อละ 30-50 บาท) เมื่อผมชวนกินกาแฟที่ร้านริมถนน พี่ปุ้มจะบอกว่า “ร้านนี้แพง แก้วละตั้ง 25 บาท เดี๋ยวผมพาไปร้านในซอย 20 บาทเอง” แล้วก็พาผมเดินเข้าไปร่วม 500 เมตรเพื่อกินกาแฟกัน

มีอยู่วันหนึ่ง เรานั่งทำงานอยู่กันตอนค่ำๆ มีรุ่นน้องสองสามคนคุยกันเรื่องซื้อกล้อง คนหนึ่งบอกว่า “กล้อง Canon ที่ไหนมันก็เหมือนๆกันแหละ ผมไปดูมาแล้ว ที่พันธิพย์นะมี รุ่น xxxD ถูกกว่าที่ Fotofile ตั้งสี่พัน”

เหนือความคาดหมายทั้งปวง พี่ปุ้มซึ่งนั่งทำงานอยู่ใกล้ๆ เงยหน้าขึ้นมาแล้วพูดขึ้นทันทีว่า

“ถ้าต่างกัน แค่สี่พัน ซื้อที่ Fotofile ดีกว่า” !!!

ผมตกใจถึงกับต้องลุกขึ้นไปถามพี่ปุ้มว่าทำไมล่ะครับ พี่ประทับใจอะไรร้านนี้ขนาดนั้น แต่คำตอบที่ได้ก็ไม่ได้ทำให้ผมแปลกใจ

“ผมว่าเขาดูแลเราดีมากนะ ไม่ใช่ว่าซื้อของแล้วก็จบกัน เดินเข้าไปแล้วเขาก็ดูแลตลอด จะเอากล้องที่ซื้อมาไปซ่อม ไปแลกไปเทิร์นตัวใหม่ยังไงก็ได้ ไสว(ชื่อพนักงานเก่าแก่คนหนึ่ง)นี่เขาดูแลผมดีมากๆเลย”


เมื่อ 7 ปีก่อน เพื่อนรุ่นน้องที่เป็นหุ้นส่วนกัน ถามผมในระหว่างพักการประชุมวางแผนของบริษัทเล็กของเราที่เพิ่งตั้งขึ้นมาว่า “พี่ครับ พี่คิดว่าบริษัทไหนในเมืองไทยที่พี่คิดว่าดี และเราควรเอาเป็นตัวอย่างบ้างครับ”

คำตอบจากผม ทำให้สหายผู้นั้นแปลกใจอย่างมาก เพราะเขาคงคาดหวังว่าผมจะเอ่ยชื่อ บริษัทใหญ่สุดดัง อย่างบริษัทนำ้มัน, บริษัทปูน หรือแม้แต่บริษัท Computer ชั้นเยี่ยมที่ผมทำงานด้วยเกือบ 20ปี

คำตอบผมคือ “Fotofile” ครับ

ผมไปเจอร้านนี้โดยบังเอิญ ได้กล้องมาก็หลายชุด แต่ที่ได้มากกว่านั้นมากมายก็ตัวอย่างของการทำธุรกิจที่ไม่มีใครเหมือน สิ่งต่างๆที่ได้รับฟังมาจากการพูดคุยกับพี่มด, พี่เม่น พี่หนุ่ม เกี่ยวกับการสร้างธุรกิจ บริหารร้าน ผมแอบจำไว้หมด หากบางคนได้ยินอาจจะไม่ติดใจอะไรเพราะก็คือเรื่องปรกติของการบริหารธุรกิจเช่นการดูแลลูกค้า, การดูแลลูกน้อง, การมองตลาด ฯ แต่รายละเอียดวิธีบริหารจากชีวิตจริงนี้ไม่มีในตำรา MBA มันเป็นประสบการณ์ที่คนเหล่านี้ทำมาด้วยตัวเองจริงๆ โดยที่คนที่เป็นลูกค้าเห็นได้รู้สึกได้ทุกครั้งที่เดินเข้า Fotofile ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้ของพนักงานที่มาจากประสบการณ์จริง, ความเป็นกันเองสนใจที่จะดูแลลูกค้า และความจริงใจที่จะให้คำแนะนำกับลูกค้า ถอดแบบมาจากลูกพี่สามคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ (แม้แต่เรื่องความกวนทีน)

บอกตรงๆเลยครับหลายๆอย่างถูกลอกแบบหรือดัดแปลงมาใช้เมื่อผมมีธุรกิจของผมเอง


เมื่อนั่งนึกสรุปเกี่ยวกับ Fotofile ผมนึกถึงภาพยนต์ซี่รี่ย์โทรทัศน์ในยุค 80’s เรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า “Cheers” ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับบาร์เล็กๆที่ผู้คนแวะเวียนมา เป็นเวลาที่พวกเขาหลบหนีจากสังคมวุ่นวายของชีวิตจริงแม้จะช่วงเวลาสั้นๆมาใช้เวลาสังสรรค์กับผู้คนที่เขารู้จักและรู้จักเขา

ท่อนหนึ่งในเพลงประจำเรื่องนั้นร้องว่า

“Making your way in the world today takes everything you’ve got.

Taking a break from all your worries, sure would help a lot.

Wouldn’t you like to get away?

Sometimes you want to go Where everybody knows your name”

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

คุ้มครองแต่ไม่เคยให้คุณค่า ตอน นกกรงหัวจุก

ผมเฝ้ามองการโต้เถียงกับเรื่องนกกรงหัวจุกหรือนกปรอดหัวโขน ระหว่างฝ่ายผู้เลี้ยงนกและ “นักอนุรักษ์” มาพักใหญ่แล้วในเรื่องว่า จะให้นกกรงหัวจุกคงอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือจะปลดออก หลายคนคงมองว่านี่เป็นความขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้ แต่ผมกลับมองว่าถ้าเราเปิดใจมองร่วมกันและยอมรับวิธีคิดใหม่ๆ (ที่ประเทศอื่นเขาทำกันมานานแล้ว) เรื่องของนกกรงหัวจุกอาจจะเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงให้การอนุรักษ์ของประเทศนี้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเสียทีนะครับ ก่อนจะเข้าเรื่องนกกรงหัวจุก ผมขอเล่านิทานให้ฟังสักเรื่องหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งเบื่อ อย่าเพิ่งมองว่ามันไม่เกี่ยวกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า พี่น้องสองคนทะเลาะกันเพราะแย่งส้มผลสุดท้ายในบ้าน ถึงขั้นตบตีกัน เสียงดังไปถึงแม่ แม่พยายามเจรจาให้แบ่งกันคนละครึ่งลูกก็ไม่มีใครยอม ต่างคนต่างบอกว่าต้องใช้ทั้งลูก นานเข้าพ่อที่นั่งเล่นของเล่นอยู่ทนรำคาญเสียงไม่ได้ จึงเดินมาแยกลูกสาวทั้งสองที่เริ่มจะจิกหัวฟัดกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แล้วถามรายละเอียด บอกพ่อหน่อยว่าจะเอาส้มไปทำอะไร  คนพี่สาวก็บอกว่าจะทำแยมส้ม ส่วนน้องสาวบอกจะทำน้ำส้ม เมื่อคุยกันเช่นนี้พ่อก็ปอกเปลือกส้มให้ลูกสาวคนโตไปทำแยม แล้วก็เอาเนื้อส้มให้ลูกสาวคนเล็กไปคั้นน้ำ ลงตัวไปได้ทั้งสองคน ส่วนพ่อก็เอาเมล็ดส้มไปปลูกไว้ข้างบ้านต่อไปจะได้ไม่ต้องแย่งส้มผลสุดท้ายกันอีก นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าเราคุยกันดีๆมันจะมีทางออกที่ไม่ต้องมีคนแพ้คนชนะ แต่มันจะมองไม่เห็นเวลาทะเลาะกันจนหน้ามืด ใครยังไม่ได้ติดตามข่าวยังไม่รู้เรื่องความขัดแย้งของนกกรงหัวจุก...

นิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้หนังสือรายเดือนของ “นิยมไพรสมาคม” มาจากมิตรสหายหลายเล่มและกำลังทะยอยอ่านอย่างบรรจง (เพราะหนังสือเหล่านี้มีอายุ 65 ปี แทบจะกรอบเป็นผงอยู่แล้ว)   ผมอ่านแล้วตื่นตะลึงมากครับ ผมเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลมาบ้างว่าท่านสร้างสรรค์ส่งดีๆไว้มากมาย แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องนิยมไพรสมาคมมากนัก  และดูเหมือนว่าเรื่องราวของสมาคมนี้ได้เลือนหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยแล้ว  เลยขอมาเล่าเรื่องหลายอย่างสู่กันฟังถึงประวัติศาสตร์สำคัญของการอนุรักษ์ในบ้านเราที่กำลังจะลืมเลือนไป ในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยยังไม่รู้จักกับคำว่า “อนุรักษ์” ใดๆเลย (ในหนังสือก็ยังไม่มีคำนี้) ตอนนั้นใครอยากจับจองที่ตรงไหนก็ไปแจ้งที่อำเภอแล้วก็ลงมือถาง สัตว์ป่าทุกชนิด (ยกเว้นช้าง) ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครอง ใครอยากล่าอะไรด้วยวิธีไหน...

Editor ใช้ Award เดินป่า โดยตาเกิ้น

พวกเราที่ ThailandOutdoor มีความโชคดีที่เราได้มีโอกาสทดสอบทดลองอุปกรณ์กลางแจ้งมากมาย และก็จะมีของบางอย่างที่เราทดสอบแล้วชอบจนซื้อไว้ใช้เอง เราเรียกของเหล่านั้นว่า "Editor ใช้ Award"  และนี่คือ "Editor ใช้ Award" ปี 2022 จากตาเกิ้นครับ VDO ยาวนะครับเพราะอธิบายกันทุกอย่างรวมถึงเหตุผลที่เลือกใข้ในสถานการณ์ต่างๆกัน เราแบ่งเป็นช่วงๆให้เลือกดูกันได้ครับ ตามนี้เลย บางคนอาจจะบอกว่าผมใช้แต่ของแพงๆหรูๆ ก็อาจจะจริง หรือไม่ แล้วแต่มุมมองครับ ทุกอย่างในชีวิตเราล้วนแล้วแต่ขึ้นกับว่าเราให้ลำดับความสำคัญกับอะไร  สำหรับผมแล้ว ผมไม่ได้ซื้อของอื่นหรูหราอะไร แต่การออกมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การเดินป่า คือความสุขในชีวิตผม ผมจึงเลือกใข้แต่ของดีๆ...

ไปเรียนหลักสูตรปืนพกต่อสู้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

ผมเขียนบทความนี้ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2552 เขียนข้างหลังกระดาษสำเนา ป.4 (ทะเบียนปืน) ในช่องยิงทันทีที่เรียนเสร็จ เขียนด้วยความประทับใจของการสอนยิงปืนในคอร์สนี้ ถึงวันนี้แม้ว่าหลายๆอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ผมยังคงข้อความทุกอย่างที่เขียนในบทความนี้ไว้อย่างเดิมรวมทั้งรูปภาพเดิมที่อาจจะไม่ชัดนัก ด้วยความตั้งใจปัจจุบันโรงเรียนสอนยิงปืนแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมยิงปืนเขาสามยอด ยังตั้งอยู่ที่สถานที่เดิมในค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี สอนมาต่อเนื่องถึง 14 ปีแล้วถ้านับถึงวันนี้ หลักสูตรพัฒนาไปมาก และมีถึง 8 หลักสูตรให้เรียนได้ตามลำดับขั้น และยังสอนโดยหัวหน้าชุดครูท่านเดิมที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะให้คนไทยได้เรียนรู้การใช้อาวุธปืนได้อย่างถูกต้องผมเชื่อว่าที่นี่คือโรงเรียนสอนยิงปืนที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถเรียนได้ในประเทศไทย ผมเขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้ที่ตอนท้ายของบทความนี้ครับ ในสังคมที่บิดเบี้ยวมากขึ้นทุกวัน ดูเหมือนพวกเราสุจริตชนจะต้องเสี่ยงกับภัยคุกคามรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโจร...

Most Popular

%d