ตอนที 1 : เต็นท์ดีๆเป็นอย่างไร
เต็นท์ก็เหมือนบ้านตากอากาศเคลื่อนที่ของคุณ การมีเต็นท์ดีๆสักหลังก็จะทำให้วันพักผ่อนของคุณเต็มไปด้วยความสุข แต่หากไปได้เต็นท์ไม่ดีมาคุณก็อาจจะได้นอนนับเม็ดฝนที่หยดลงหน้าและนอนฟังเมียบ่นไปตลอดคืน
ผมเคยเขียนเรื่องการเลือกเต็นท์ไว้ในเว็บ ThailandOutdoor.com นี้เมื่อปี 2547 หรือ 12 ปีมาแล้ว ถึงแม้รูปแบบเต็นท์ในบทความนั้นจะล้าสมัยไปมากแล้ว แต่หลักการหลายๆอย่างยังใช้ได้ดี วันนี้เราจะเอากลับมาเล่ากันอีกครั้งและเพิ่มเติมเรื่องใหม่ๆเข้าไปเพื่อให้คุณได้ข้อมูลดีๆไว้เลือกเต็นท์กันครับ
ที่เขียนมานี่ไม่ได้โอ้อวดว่าผมเก่งหรือมีความรู้อะไรเกี่ยวกับเต็นท์มากนักนะครับ เพียงแต่ผมได้นอนแช่น้ำในเต็นท์รั่วมาไม่น้อยกว่าใคร ต้องลุกขึ้นเก็บเต็นท์ที่พังกลางดึกไปอาศัยนอนที่อื่นมาก็หลายครั้ง จนเข้าใจแล้วครับว่าเต็นท์ดีๆนั้นเป็นอย่างไร
ยุคนี้พ.ศ.นี้ไม่เหมือนยุคสมัยที่ผมเที่ยวป่าใหม่ๆที่หาซื้อของดีๆใช้ยากมาก ตอนนี้เรามีของดีๆให้เลือกใช้มากมายจนเลือกไม่ถูก ดังนั้นปัญหาจึงไม่ใช่การหาซื้อของดีแต่เป็นการเลือกซื้อของที่เหมาะกับความต้องการ
เรามาเริ่มจากคุณลักษณะของเต็นท์ที่เราว่าดีกันก่อนนะครับ ผมคิดว่ามี 4 ข้อตามนี้ครับ
- กันนำ้ได้ดี แต่ก็ถ่ายเทอากาศได้ดีด้วย
- กางง่ายไม่ยากจนเกินไป
- ให้พื้นที่ภายในที่โปร่งโล่งสบาย
- แข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศที่อาจจะเจอลมแรงหรือฝนกระหน่ำใส่
ทีนี้มาว่ากันทีละข้อนะครับ
-
กันนำ้ได้ดี แต่ก็ถ่ายเทอากาศได้ดีด้วย
บ้านเรานั้นฝนตกชุกมากครับ ยิ่งในป่าแล้วฝนตกได้ทุกฤดู การนอนเต็นท์ที่น้ำรั่วน้ำหยดนั้นทรมานมาก (เรียกอีกอย่างว่าไม่ได้นอน) แต่ขณะเดียวกันก็มีอุณภูมิและความชื้นสูงไปพร้อมๆกันด้วย
การจะทำเต็นท์ให้กันน้ำเพียงอย่างเดียวกันไม่ใช่เรื่องยากนัก เพราะถุงพลาสติกก็กันน้ำ (ถึงกระนั้น เต็นท์จำนวนไม่น้อยที่ขายอยู่ในบ้านเรานั้นไม่กันน้ำ) แต่การที่เต็นท์จะกันน้ำได้ดีและถ่ายเทอากาศได้ดีด้วยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและขึ้นอยู่ กับสามอย่างคือวัสดุ, การออกแบบ และการผลิตครับ
จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้วต้องบอกว่าอย่าเชื่อเรื่องสเป็กว่ากันฝนกี่ ม.ม. ให้มากนักนะครับโดยเฉพาะเต็นท์ที่ไม่ใช่ยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ เพราะในเต็นท์บางยี่ห้อที่ผมเคยใช้มาเองตอนที่ผมซื้อมาวัสดุดีมากกันนำ้สนิท แต่พอแนะนำให้คนไปซื้อตามปรากฏว่าเปลี่ยนวัสดุให้ห่วยลงมากโดยยังเขียนสเป็กเดิม น้ำก็รั่วซิครับ นอกจากนั้นสเป็คจะมาจากส่วนของวัสดุเท่านั้น แต่การกันน้ำยังขึ้นกับการออกแบบ, การตัดเย็บและการอุดรอยรั่วจากการตัดเย็บอีกด้วย
เรื่องคุณภาพวัสดุนี้ผมคงต้องบอกให้เลือกเต็นท์จากยี่ห้อที่น่าเชื่อถือและฟังความเห็นจากคนที่เคยใช้รุ่นนั้นๆมาแล้วเป็นหลักจะดีกว่าการอ่านสเป็คครับ
เรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คืออากาศต้องถ่ายเทสะดวกอันนี้คุณสามารถพิจารณาได้เองจากรูปแบบของเต็นท์ บ้านเราอากาศร้อนชื้นครับ ถ้าอากาศในเต็นท์ไม่ถ่ายเท นอกจากจะทำให้ร้อนแล้วยังจะทำให้อากาศมากลั่นตัวเป็นหยดน้ำภายในเต็นท์อีกด้วย ในช่วงที่อากาศหนาวเรื่องการกลั่นตัวของหยดน้ำนี่จะเป็นมากเลย ถึงแม้จะไม่รั่วก็นอนเปียกอยู่ดี ดู VDO อธิบายเรื่องการกลั่นตัวของหยดน้ำที่นี่ครับ
พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเกาหัวแกรกๆ ว่าตาเกิ้นจะเอายังไงกัน(ว่ะ) จะให้กันฝนสนิทแล้วจะให้อากาศถ่ายเทด้วยได้ยังไงกัน
ทำได้ครับถ้าเต็นท์นั้นออกแบบมาดีพอ อากาศจะถ่ายเทได้ก็เมื่อฟลายชีตนั้นห่างจากตัวเต็นท์มากสักหน่อย (อันนี้จะทำให้โอกาสที่น้ำจะซึมหยดจากฟลายชีต มาที่เต็นท์น้อยลงด้วย) การใช้ตะขอเกี่ยวตัว inner cabin เข้ากับเสา นอกจากจะทำให้กางง่ายเก็บง่ายแล้ว ยังช่วยให้การระบายอากาศดีด้วย เพราะไม่มีตัวกั้นทางลมเหมือนกับเต็นท์ที่จะต้องสอดเสาเข้ากับตัวเต็นท์
ถ้าฟลายชี้ตของเต็นท์ออกแบบมาดี อยู่ห่างจากตัวเต็นท์และคลุมเลยออกไปบริเวณทางเข้าออก เราก็จะสามารถเปิดประตูไว้ให้อากาศระบายในขณะที่ฝนตกไม่แรงนักอีกด้วย นอนสบายกว่ากันมากครับ
ส่วนตัวเต็นท์ด้านในที่เรียกกันว่า inner cabin นั้นถ้าจะให้ระบายอากาศดีนอนสบายจะต้องเป็นมุ้งมากกว่าผ้าร่มจะได้ไม่ทึบลม
เต็นท์ Coleman AirDome 3 เป็นเต็นท์ที่สามารถใช้เป็นตัวอย่างได้ดีสำหรับเต็นท์ที่กันน้ำสนิทและถ่ายเทอาอากาศได้ดีมากๆ จะมีขอเสียก็แต่เพียงน้ำหนักมากไปหน่อย VDO นี้จะอธิบาย Concept ของการถ่ายเทอากาศได้ดีครับ
Coleman Master Series จากญี่ปุ่นนี้เป็นเต็นท์ที่ใช้การออกแบบอย่างตั้งใจเพื่อช่วยระบายอากาศด้วยหลักการที่ว่าอากาศร้อนจะลอยขึ้นข้างบนและดูดลมเย็นเข้าจากข้างล่าง เห็นผลชัดเจนครับ เต็นท์แบบนี้นอนสบายมาก แม้ฝนตกจนต้องปิดประตูทุกด้าน
เต็นท์ในตระกูล Legacy ของ Nordisk ใช้วิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆมาก Nordisk เลือกใช้วัสดุที่เรียกว่า Technical Cotton ที่ทำมาจากฝ้ายมาทำตัวเต็นท์ อาจจะมีข้อเสียในเรื่องน้ำหนักที่มาก แต่วัสดุนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วจากการใช้ในฤดูฝนบ้านเราว่ากันฝนสนิทไม่ว่าจะตกหนักแค่ไหน และมีคุณสมบัติพิเศษในเรื่องการระบายความร้อนและอากาศผ่านตัวเนื้อผ้า ทำให้อากาศภายในเต็นท์เย็นสบายกว่าเต๊นท์ที่เป็นวัสดุสังเคราะห์มาก เราสามารถอยู่สบายในเต็นท์แบบนี้ได้แม้แต่เวลาที่มีแดดส่อง
2. กางง่าย ไม่ยากจนเกินไป
ข้อนี้มีความสำคัญกับหลายๆคนครับ เพราะคนไทยเราเที่ยวแบบย้ายแค้มป์เรื่อยๆ ไม่ปักหลักอยู่ที่ไหนนาน บางคนถึงลานกางเต็นท์ตอนค่ำๆเช้าก็เก็บเดินทางต่อ
เรื่องความยากง่ายของการกาง มี design 2 รูปแบบที่เข้ามาเกี่ยวข้องครับ คือเต็นท์ที่เป็น Free Standing และ Non-Free Standing
Free Standing คือเต็นท์ที่ทรงตัวอยู่ได้เองโดยแทบจะไม่ต้องตอกสมอบก (แต่เพื่อความแข็งแรงมั่นคงก็ควรตอกอยู่ดี) เต็นท์แบบนี้จะกางค่อนข้างง่ายครับ กางขึ้นมาตอกสมอบกไม่กี่ตัวก็เสร็จแล้ว
ส่วนเต็นท์ Non-Free Standing นั้นจะต้องตอกสมอบกยึดให้ดีเต็นท์ถึงจะทรงตัวอยู่ได้อย่างแข็งแรง แต่ขอดีของเต็นท์ชนิดนี้คือน้ำหนักเบากว่าครับ มีเต็นท์เดินป่าชั้นดีหลายๆแบบที่ใช้โครงสร้างแบบนี้ รออ่านกันในตอนต่อไปนะครับ
Coleman Instant Cabin เป็นเต็นท์ที่ไม่มีอะไรจะกางง่ายกว่านี้แล้ว

3. ให้พื้นที่ภายในที่โปร่งโล่งสบาย
เต็นท์ ที่อยู่สบาย นอนสบาย นอกจากจะต้องถ่ายเทอากาศได้ดีแล้ว จะต้องให้ความรู้สึกที่โปร่งสบายด้วยครับ การออกแบบมีผลมากในเรื่องนี้และถ้าวัสดุไม่ดีทำไม่ได้ครับ
เต็นท์หลายๆแบบที่ต้องการประหยัดต้นทุนและพยายามทำให้กันน้ำจะทำให้เป็นทรงโดมแหลมๆ เพื่อให้น้ำไหลลงเร็วและไม่ต้องมีโครงสร้างอะไรเพิ่มเติมจากเสาเต็นท์ที่จำเป็น แต่เต็นท์เหล่านี้จะมีพื้นที่ด้านบนแคบ เข้าไปแล้วอึดอัดมาก และมีการระบายอากาศที่แย่มากๆ

เต็นท์ดีๆจะออกแบบให้มีพื้นที่ด้านบนกว้าง ลุกขึ้นนั่ง หรือแม้แต่ยืนขึ้นได้ถนัด อันนี้ต้องออกแบบดีและใช้วัสดุที่แข็งแรง ซึ่งอาจจะหมายถึงราคาเต็นท์ที่เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็คุ้มครับ

สำหรับเต็นท์สำหรับแค้มปิ้งที่เราขนเอาใส่รถไปก็ยิ่งไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องใช้เต็นท์หลังเล็กๆที่จะต้องคลานเข้าไปนอนอย่างอุดอู้ครับ เลือกเต็นท์ที่นอนสบายและสามารถเดินเข้าออกได้สบายๆไว้ก่อนดีกว่าครับ
Coleman Evanston 4 เต็นท์ Camping ราคาไม่แรงที่คุณสมบัติครบมากทั้งเรื่องกันน้ำ, ระบายอากาศ, กางง่ายและโปร่งโล่งสบาย
4. แข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศที่อาจจะเจอลมแรง
เราคาดเดาไม่ได้ครับว่าเราจะเจออากาศแบบไหนเวลาออกไปเที่ยวป่า เราอาจจะเจอพายุฝน ลมแรงที่พัดเข้าแค้มป์โดยไม่มีปี่มีขลุยมาก่อน ประสบการณ์จริงผมเคยเจอมาหลายครั้ง ที่หลายๆคนเต็นท์ล้ม เสาหักกันกลางดึกต้องนอนแช่น้ำ บางคนก็ต้องเก็บเต็นท์หนีไปนอนในรถหรือบางทีถึงกับขับรถหนีไปเลย หลายครั้งผมตื่นมาตอนเช้าพบว่าผมเป็นเต็นท์เดียวที่ยังเหลืออยู่ทั้งๆที่ก่อนนอนมีเต็นท์กางอยู่เต็มลาน
วัสดุที่ทำเสาเต็นท์เป็นจุดอ่อนของเต็นท์ที่ไม่ได้คุณภาพครับ บางคนกางได้สองสามครั้งก็หัก คนที่ซวยกว่านั้นก็หักตั้งแต่ครั้งแรก ที่ซวยไม่น้อยไปกว่ากันก็ไปหักเอาตอนฝนตกลมแรง อันนี้ไม่มีสเป็กอะไรอธิบายไว้ครับ แต่แตกต่างกันเห็นได้ชัดมากระหว่างเต็นท์ยี่ห้อดีๆกับเต็นท์อื่นๆ
อีกส่วนมาจากการออกแบบ อย่างที่กล่าวไว้ละครับว่าเต๊นท์หลายๆแบบที่ต้องการประหยัดต้นทุนและพยายามทำให้กันน้ำจะทำให้เป็นทรงโดมแหลมๆ เต็นท์แบบนี้เสาเต็นท์จะต้องโค้งเยอะมากเสี่ยงต่อการหักและทรงของเต็นท์เองก็รับลงเต็มที่ทำให้เพิ่มโอกาสหักพังเมื่อเจอลมแรงเข้าไปอีก
ถ้าจะเอากันแบบครบๆทุกคุณลักษณะ ในเต็นท์เดินป่าหลังเดียว ก็ต้องยกให้ MSR Hubba Hubba ครับ ผมใช้มาสิบกว่าปีแล้ว กันฝนสนิทมาหนักแค่ไหนไม่เคยรั่ว เจอลมพายุมานับครั้งไม่ถ้วนไม่เคยหักเคยพัง ระบายอากาศดีเยี่ยม ข้างในโปร่งโล่งสบาย กางง่าย นำ้หนักเบา และที่สำคัญที่สุดบริษัท MSR นี่รับประกันสินค้าแบบถึงใจมาก มีปัญหาอะไรแก้ไขให้ตลอด
การกันน้ำและความเแข็งแรงของเต็นท์ ไม่ได้มาจากชนิดหรือคุณภาพของวัสดุเท่านั้นแต่มาจากการออกแบบที่สะสมมาจากประสบการณ์ของบริษัทที่ทำมายาวนานอย่าง Coleman หรือ MSR

ชักจะยาวมากแล้ว ขอแบ่งเป็นตอนสองเรื่องการเลือกเต็นท์ตามลักษณะการใช้งานนะครับ อ่านต่อได้ที่นี่เลยครับ
[…] เลือกเต๊นท์ให้เหมาะกับการใช้งาน ตอ… […]
[…] เลือกเต๊นท์ให้เหมาะกับการใช้งาน ตอ… […]
[…] […]
[…] […]