เมื่อจะออกไปเดินป่า ผมจะนึกถึงของสำคัญสองอย่างก่อนสิ่งใด นั่นคือเป้และรองเท้า
ในความคิดของผม(คนที่ไม่ได้เก่งกาจแต่ตกระกำลำบากมาแล้วไม่น้อยครั้งจนได้บทเรียนมากมาย) สองอย่างนี้เป็นของที่จะตัวชี้ว่าการเดินป่าของคุณจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ในขณะที่เป้ดีๆ รองเท้าดีๆที่เหมาะสมกับการใช้งานจะทำให้การเดินป่าของคุณรื่นรมณ์ เดินจู๋จี๋กัน ชมนกชมไม้ ดูอะไรก็สวยก็งามไปหมด
แต่ถ้าเป้คุณไม่ดี รองเท้าไม่เหมาะสมแล้วละก้อ ฮ่ะฮ่า หนังคนละม้วน จากหนังรักจะกลายเป็นหนังเศร้าเคล้าน้ำตาเลยในทันที ทุกย่างก้าวของคุณจะเป็นไปด้วยความทุกข์ทรมาน เจ็บไหล่ปวดหลัง จะวางเท้าแต่ละทีคิดแล้วคิดอีกเพราะมันเจ็บ เดินไปก็นึกด่าตัวเองไปว่าตูมาทำไมเนี่ย
เรื่องเป้ได้อ่านกันมาหลายครั้งแล้ว (ใครยังไม่ได้อ่านเชิญที่นี่ครับ) ครั้งนี้มาดูเรื่องรองเท้ากันบ้างครับ
คำถามที่ผมได้รับบ่อยมากจากเพื่อนๆคือ “จะไปเดินป่าใช้รองเท้าแบบไหนดีครับ(ค่ะ) ใช้รองเท้าวิ่ง รองเท้ากีฬาได้มั๊ยครับ(ค่ะ)”
คำตอบที่ผมมักจะให้ก็จะเป็นในเชิงเปรียบเทียบครับ สิ่งที่อธิบายได้ชัดเจนเห็นภาพมากที่สุดก็คือเรื่องรถยนต์ครับ
เรามีรถยนต์มากมายหลายแบบให้เลือกให้เหมาะกับการใช้งาน คำตอบของผมเรื่อง “รองเท้าวิ่ง” ไปเดินป่าก็คือ “มันเหมือนคุณเอารถ Toyota Vios เข้าไปวิ่งในทางป่าละครับ” จะเอาไปก็ได้แต่ผลออกมาก็ไม่ต่างกัน
รองเท้าแต่ละแบบก็เหมือนรถยนต์ที่ออกแบบมาให้ใช้งานในลักษณะแตกต่างกัน ในพื้นที่ที่ต่างกัน น้ำหนักบรรทุกที่ต่างกัน นิ่มนวลนั่งสบายต่างกัน
รองเท้ากีฬาส่วนใหญ่รวมทั้งรองเท้า Trail Running ที่คนมักจะทึกทักเอาว่าใกล้เคียงกับรองเท้าเดินป่านั้น ออกแบบมาให้รับน้ำหนักตัวคนเปล่าๆ ที่มีการลงน้ำหนักในท่าวิ่ง บนพื้นที่ค่อนข้างเรียบ ไปจนถึงขรุขระบ้าง ซึ่ง จากเป้าหมายนี้ก็จะทำให้รองเท้าในกลุ่มนี้ถูกออกแบบมาเหมาะกับการวิ่งซึ่งจะต้องมีน้ำหนักเบา พื้นยกสูงทางด้านส้นเท้าและพื้นดอกยางค่อนข้างเรียบ อ่านแค่นี้ก็คงจะเห็นภาพแล้วใช่มั๊ยครับว่าเงื่อนไขการใช้งานแตกต่างกันมากและรองเท้าชนิดนี้ก็ไม่ได้เหมาะกับการเดินป่าเลย

คราวนี้ลองมาดูรองเท้าเดินป่าบ้างว่า เขาออกแบบมาเพื่อการใช้งานแบบไหน การเดินป่าเราจะต้องเจอกับพื้นทุกรูปแบบตั้งแต่ทางดิน, โคลน, กรวด, หินก้อนเล็กก้อนใหญ่, ทางน้ำ, ทางขึ้นทางลง, ทางราบทางชัน ไปจนถึงการปีนป่าย ซึ่งทำให้การออกแบบรองเท้าเดินป่านี้แตกต่างจากรองเท้าแบบอื่นๆพอควร
เริ่มจากพื้นก่อนเลยครับ(ภาษารองเท้าเรียกส่วนพื้นว่า Outsole) เช่นเดียวกับรถ 4X4 แท้ๆที่จะต้องใช้ยางดอกใหญ่เพื่อการยึดเกาะที่ดีในสภาพพื้นที่ที่เป็นโคลนเลน ดอกยางพื้นของรองเท้าเดินป่าจะต้องออกแบบให้ผู้เดินสามารถส่งแรงผลักเพื่อเดินไปข้างหน้าได้โคยไม่ลื่นถอยกลับหรือลื่นแฉลบออกซ้ายขวา ถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีกก็คือดอกยางจะต้องออกแบบให้ Self-Cleaning คือให้โคลนที่ติดรองเท้าหลุดออกง่ายด้วย

ส่วนสำคัญอีกส่วนของพื้นรองเท้าเดินป่าคือ ร่องด้านหน้าของส้นรองเท้าครับ ร่องนี้คือเบรคที่จะช่วยให้เรายั้งตัวได้ในทางลงที่อาจจะเป็นทางดินหรือเละเป็นโคลนเลน ส่วนนี้สังเกตดูได้ครับว่าในรองเท้ากีฬามักจะไม่มีส่วนนี้ครับ

เนื้อยางพื้นของรองเท้าเดินป่าก็จะเป็นการพบกันของความเหนียวที่จะยึดเกาะกับพื้นผิวลื่นกับความทนทาน (ซึ่งมักจะสวนทางกัน) เพราะเราต้องใช้ได้ในพื้นที่ทุกแบบและใช้ได้บนเส้นทางยาวนาน วัสดุเนื้อยางดีๆก็จะทำได้ทั้งสองอย่างคือทั้งเหนียวและทั้งทน
ถ้าพื้นล่างหรือ Outsole เปรียบเทียบเหมือนยางรถ ส่วนกลางหรือ Midsole ก็เปรียบได้กับช่วงล่างของรถยนต์
รองเท้าเดินป่านั้นออกแบบมาให้รับน้ำหนักตัวคนบวกกับของที่ต้องแบกไปในท่าเดิน(ไม่ใช่วิ่ง) ในเส้นทางที่อาจจะขรุขระไปถึงขรุขระมาก จึงต้องเน้นความแข็งแรงและการรับน้ำหนักเหมือนกับช่วงล่างของรถ 4X4 ที่ต่างจากช่วงล่างของรถสปอร์ตหรือแม้กระทั่งรถเก๋ง
ในเส้นทางที่ขรุขระเป็นหินลอยมากๆนั้น ถ้าเราใส่รองเท้าที่พื้นนิ่มเกินไป เราจะระบมเท้าอย่างมาก เพราะฝ่าเท้าจะรับแรงกดแรงบิดทุกย่างก้าว ดังนั้น Midsole ของรองเท้าเดินป่านั้นจะแข็งไปจนถึงแข็งมากขึ้นกับชนิดของรองเท้า รองเท้าเดินป่าเกรดดีๆสำหรับใช้งานหนักอาจจะใช้วัสดุหลายชนิดที่คุณสมบัติต่างๆกันมาประกอบกันเข้าเป็นสองสามชั้นเพื่อให้แข็งแรงลดการกดแต่มีส่วนที่นุ่มรับน้ำหนักและแรงกระแทกได้
ขยับขึ้นไปถึงส่วนบนของรองเท้าที่เรียกว่า Uppersole ซึ่งก็เปรียบเทียบได้กับตัวถังของรถ รองเท้าเดินป่าก็แตกต่างกับรองเท้าแบบอื่นๆมากเช่นกันครับ เพราะเวลาที่เดินป่า เราจะต้องเดินอยู่ในอุปสรรคมากมาย เช่นก้อนหิน, ตอไม้, น้ำ ดังนั้นส่วนบนของรองเท้าเดินป่าจึงจะต้องปกป้องเท้าเราให้อยู่รอดได้ตลอดเส้นทางอันยาวไกล (มีเรื่องเรากันว่าชาวป่าบางเผ่าเขาให้ความสำคัญกับเท้ามากกว่าอย่างอื่นในระหว่างการเดินทางถึงขนาดนอนเอาเท้าไปรวมกันใต้หลังคาเลยทีเดียว)
เพื่อปกป้องเท้า ด้านบนของรองเท้าเดินป่าจะมีการเสริมกันกระแทกทั้งด้านนิ้วเท้า ด้านข้างและที่ส้นเท้า นอกจากนี้ยังจะต้องมีส่วนที่ปกป้องข้อเท้าแต่ให้ข้อเท้าสามารถขยับเคลื่อนไหวได้ด้วย อันนี้สำคัญมากครับ คือต้องกระชับแต่ไม่แน่นจนเกินไปและมีจุดหมุนให้ข้อเท้าสามารถขยับตัวได้ ส่วนนี้จะมาจากการออกแบบตั้งแต่ทรงของรองเท้า, การออกแบบระบบสายรัดให้กระจายแรงจากเชือกไปให้ทั่วรองเท้า


การออกแบบให้ด้านในของรองเท้าให้รองรับและเข้ารูปเท้าได้ดีก็มีผลมากต่อการใส่สบายของรองเท้าเป็นอย่างมากครับ ส่วนที่รับส้นเท้า (heel counter) ถ้าออกแบบมาดีก็จะช่วยลดการขยับตัวของส้นเท้าที่จะถูกับรองเท้าซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการที่เราเรียกกันว่ารองเท้ากัด หรืออาจจะเจ็บเมื่อเดินไกลๆ เรื่องการดูรูปทรงภายในนี้ไม่สามารถอ่านจากสเป็ครองเท้าได้ครับ ต้องลองใส่ แต่บางทีลองในระยะเวลาสั้นๆก็อาจจะบอกความแตกต่างไม่ได้ คำแนะนำเดียวที่พอให้ได้ก็คือควรจะให้ความเชื่อถือกับบริษัทที่มีความชำนาญในการทำรองเท้าเดินป่าเป็นพิเศษครับ บริษัทเหล่านี้จะเข้าใจลักษณะการใช้งานของรองเท้าเดินป่าเป็นอย่างดีและให้ความสำคัญกับเรื่องรูปทรงของเท้าเป็นอย่างมาก และนอกจากจะมีขนาดรองเท้าตามปรกติแล้ว มักจะมีรองเท้าสำหรับคนเท้ากว้าง, เท้าแคบหรือรูปทรงอื่นๆให้เลือกอีกด้วย

รองเท้าคุณสมบัติของ Uppersole นอกเหนือจากการปกป้องเท้าแล้วก็คือการระบายอากาศที่จะช่วยลดความชื้นและความร้อนในรองเท้าระหว่างที่เดินได้ รองเท้าเดินป่าชั้นดีมักจะมี Uppersole ที่กันน้ำแต่สามารถระบายอากาศได้ซึ่งส่วนใหญ่คือการใช้วัสดุ Gore-Tex เป็นชั้นในของรองเท้า
นอกจากนี้ยังมีส่วนของโครงสร้างวิธีการผลิตที่จะทำให้รองเท้าเดินป่าใช้งานหนักได้อย่างทนทาน วิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันในรองเท้าเดินป่าชั้นดีก็คือ การเย็บที่เรียกว่า Lasted Construction ซึ่งก็คือการดึงวัสดุของ uppersole ลงมาคลุมพื้นด้านในของรองเท้าแล้วเย็บติดด้วยจักร(ไม่ใช่ติดกาวเพียงอย่างเดียว) ซึ่งจะทำให้ได้รองเท้าที่แข็งแรงอยู่ทรงแม้จะใช้งานหนักและวัสดุด้านนอกไม่หลุดร่อนออกจากตัวรองเท้าแบบที่เคยเจอกัน

เมื่อเข้าใจคุณสมบัติต่างๆกันพอสมควรแล้ว ลองมาดูประเภทของรองเท้าเดินป่าที่เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละอย่างกันดูบ้างครับ ผมขอจัดประเภทของรองเท้าเดินป่าออกเป็น 4 ประเภทหลักๆตามนี้ครับ
- Light Hiking คือการเดินป่าแบบเบาๆ ที่มักจะเดินบนเส้นทางที่ปรับค่อนข้างเรียบ อาจจะแบกเป้ขนาดเบาๆหรืออาจจะไม่ได้แบกเป้เลย มักจะเป็นการเดินทางสั้นในวันเดียว หรือทริปสั้นๆ 2-3 วัน
รองเท้าที่ใช้สำหรับงาน Light Hiking ก็เปรียบได้กับรถ SUV อย่าง Honda CRV, Subaru XV ที่เน้นการใช้งานที่หลากหลาย ใช้ในเมืองก็ได้ ทางไกลก็ได้ ทางป่านิดหน่อยก็ยังได้ไม่ได้ลุยกันหนักๆ

รองเท้าในกลุ่มนี้จะเน้นที่น้ำหนักเบาคล่องตัว พื้นรองเท้าให้ตัวได้มากใส่สบาย ลายดอกยางไม่ลึกนักเพราะไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้ในพื้นที่เละเทะหรือขรุขระแต่พื้นยางยึดเกาะผิวทางเรียบได้ดี คงเห็นแล้วนะว่าคล้ายกับรถ SUV มากๆ
2. Hiking กลุ่มนี้คือรองเท้าที่ออกแบบมาให้ใช้เดินป่าอย่างจริงจัง ในเส้นทางที่อาจจะขรุขระมีโคลนเลน ออกแบบให้รองรับน้ำหนักสัมภาระที่อาจจะอยู่บนหลังคนใส่พอสมควร
รองเท้ากลุ่มนี้ก็เปรียบเทียบได้กับรถ 4X4 ส่วนใหญ่ในตลาดรถครับ ที่จะต้องขับเคลื่อนในเส้นทางหฤโหดได้ มีช่วงล่างแข็งแกร่งต่อการใช้งานหนัก แต่ไม่ได้ออกแบบมาให้บรรทุกสัมภาระมากมาย ไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้เดินทางยาวไกลกันเป็นเดือนๆ

รองเท้าในกลุ่มนี้จะมีพื้นที่แข็งแรงขึ้นมี uppersole ที่เสริมความแข็งแกร่งเพื่อปกป้องเท้าจากการเดินบนทางขรุขระ มีลายดอกยางที่ใหญ่ที่สามารถยึดเกาะและเดินไปบทเส้นทางขรุขระและโคลนเลนได้ดี
3. Backpacking กลุ่มนี้คือรองเท้าที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานหนักบนเส้นทางยาวไกลและหฤโหด รวมทั้งออกแบบมาให้รับน้ำหนักมากๆของสัมภาระที่ต้องติดตัวไปในทริปที่ยาวนาน เหมือนกับรถ 4×4 ที่เอามาตกแต่งเป็นพิเศษสำหรับใช้ในการสำรวจเส้นทางทรหดข้ามทวีป


พื้นรองเท้าชนิดนี้จะแข็งแรงมาก ถ้าลองจับงอหรือบิดดูจะรู้สึกเลยว่าแทบจะไม่บิดตัว วัสดุยางที่ใช้ก็จะต้องเน้นความทนทานต่อการใช้งานที่ยาวนานและยาวไกลไม่สึกง่ายๆ midsole ก็จะใช้วัสดุพิเศษเพื่อรองรับแรงกระแทกและน้ำหนัก บางครั้งอาจจะมีการใช้วัสดุที่แตกต่างกันหลายๆแบบใน midsole เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และแน่นอน Uppersole ก็เสริมความแข็งแกร่งเต็มที่เพื่อปกป้องเท้าบนเส้นทางที่ยาวไกล

4. Mountaineering รองเท้าชนิดนี้คือรองเท้าที่ออกแบบมาสำหรับการเดินทางที่อาจจะต้องมีการปีนเขา ซึ่งมันก็คือรองเท้า Backpacking ที่เสริมความแข็งแรงสำหรับการใช้งานหนักขึ้นไปอีกขั้น พื้นรองเท้าที่ออกแบบเป็นพิเศษสำหรับการปีนป่ายและมีจุดยึดเพื่อให้สามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์ crampon สำหรับปีนหินหรือน้ำแข็งได้


เราพูดกันมายืดยาว ตั้งแต่ความสำคัญของรองเท้าเดินป่าที่เหมาะสม, คุณลักษณะของรองเท้าเดินป่า และมาจนถึงการเลือกประเภทของรองเท้าเดินป่าที่เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละประเภทไปแล้ว
เช่นเดียวกับการเปรียบเทียบที่รถเป็นตัวอย่างในตอนแรกของบทความละครับ ไม่มีอะไรที่ดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการใช้งานได้
ลองดู VDO อันนี้ประกอบนะครับ น่าจะช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นครับ
หวังว่าคงจะช่วยให้คุณเลือกรองเท้าคู่กายได้อย่างถูกใจนะครับ

ขอบคุณครับกำลังหาซื้อรองเท้า เดินป่าอยู่
ขอบคุณค่ะอย่างหนูขึ้นพวกดอยเชียงดาว
ดอยในไทยนี่ใช้แบบไหนดีค่ะ
ถ้าเป็นผม ผมจะใช้ Asolo Drifter ครับ
[…] […]
อ่านคำแนะนำพบว่ามีประโยชน์มากค่ะ สงสัยต้องได้ซื้อ Asolo รุ่น Drifter เป็นรองเท้าเดินป่าคู่แรกในชีวิตเลยนะคะ กำลังจะไปเดินป่าครั้งแรกค่ะ เดี๋ยวจะไปหาอ่านการเลือกเป้ต่อนะคะ ไม่ทราบว่า Thailand Outdoor มีหน้าร้านที่ไหนคะ จะได้ไปดูสินค้าค่ะ
มีหลายแห่งครับ ดูที่หน้านี้ได้เลยครับ http://thailandoutdoorshop.com/shop/
ปีนเขาช้างเผือก แนะนำรองเท้าแบบไหนดีคะ
ถ้าเดินป่าบ่อยๆ เหมาะที่สุดก็ Asolo Drifter ครับ ถ้าเดินป่าไม่บ่อยนักแต่ต้องการรองเท้าใส่สบายๆด้วยก็ Asolo Reston ครับ
หารองเท้าไป Pool hill แนะนำรุ่นไหนดีค่ะ
ลองดูระหว่าง Drifter หรือ Shiraz ครับ
ถ้าไปปีนฟูจิ ผู้หญิงจะแนะนำแบบไหนดีค่ะ
[…] […]
[…] […]
[…] ข้อมููลจาก www.top10.in.th, My-best.in.th, http://www.thailandoutdoor.com […]