Tuesday, September 26, 2023
Homeความคิดและมุมมองนิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

นิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

-

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้หนังสือรายเดือนของ “นิยมไพรสมาคม” มาจากมิตรสหายหลายเล่มและกำลังทะยอยอ่านอย่างบรรจง (เพราะหนังสือเหล่านี้มีอายุ 65 ปี แทบจะกรอบเป็นผงอยู่แล้ว)  

ผมอ่านแล้วตื่นตะลึงมากครับ ผมเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลมาบ้างว่าท่านสร้างสรรค์ส่งดีๆไว้มากมาย แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องนิยมไพรสมาคมมากนัก  และดูเหมือนว่าเรื่องราวของสมาคมนี้ได้เลือนหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยแล้ว  เลยขอมาเล่าเรื่องหลายอย่างสู่กันฟังถึงประวัติศาสตร์สำคัญของการอนุรักษ์ในบ้านเราที่กำลังจะลืมเลือนไป

ในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยยังไม่รู้จักกับคำว่า “อนุรักษ์” ใดๆเลย (ในหนังสือก็ยังไม่มีคำนี้) ตอนนั้นใครอยากจับจองที่ตรงไหนก็ไปแจ้งที่อำเภอแล้วก็ลงมือถาง สัตว์ป่าทุกชนิด (ยกเว้นช้าง) ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครอง ใครอยากล่าอะไรด้วยวิธีไหน จำนวนเท่าไหร่ก็ไม่จำกัด

หน่วยราชการ และรัฐบาลไม่เคยสนใจเรื่องนี้  ไม่เคยมีความคิดเห็นหรือแสดงท่าทีว่าจะพยายามหยุดการทำลายล้างนี้เลย 

ผมยังไม่แน่ใจว่า “นิยมไพรสมาคม” นั้นเริ่มต้นมาได้อย่างไร (ถ้าใครรู้ช่วยแบ่งปันชี้แนะด้วยครับ) แต่เห็นได้ชัดว่า นี่คือการรวมตัวกันของนักนิยมไพร ที่เข้าใจธรรมชาติและรักธรรมชาติอย่างแท้จริง พวกเขารวมตัวกันเพราะไม่ต้องการเห็นธรรมชาติที่เขารักถูกทำลายลงไปต่อหน้า โดยที่มีคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลผู้เป็นเลขานุการ สมาคมเป็นฟันเฟืองหลักและผู้ใหญ่อีกมากมายหลายท่านร่วมงานด้วย

ผมอ่านพบว่า นิยมไพรสมาคมทำหนังสือหลายฉบับถึงรัฐบาลเรียกร้องให้จริงจังกับการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายที่ดิน, ออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า และประกาศให้พื้นที่สำคัญทางธรรมชาติเป็นวนอุทยาน ฯ พร้อมๆกับที่พยายามเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรมชาติให้กับคนทั่วไปด้วยการออกหนังสือ, จัดบรรยาย,​ฉายภาพยนต์ ฯลฯ

พอได้อ่านบทความต่างๆในหนังสือนิยมไพร ผมก็ยิ่งทึ่งขึ้นไปอีกระดับ ในยุคนั้นที่ยังไม่มีคำว่า “อนุรักษ์”​ ไม่มีการศึกษาข้อมูลหรือวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าโดยรัฐเลย (ตอนนั้นกรมป่าไม้มุ่งเน้นการจัดการการทำไม้เป็นงานหลัก) นิยมไพรสมาคม น่าจะเป็นองค์กรแรกที่เริ่มทำเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวม จำแนกสัตว์ป่า,​นก, แมลง, หอย ฯ มาบันทึกและเผยแพร่ 

นอกจากนี้หนังสือเล่มเล็กๆนี้ยังมีบทความที่พาเที่ยวธรรมชาติให้คนหันมาสนใจธรรมชาติมากขึ้น, บทความให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และเรียกร้องให้มีการสงวนรักษาธรรมชาติที่ถูกต้อง ไปจนถึงการแปลบทความและหนังสือชั้นยอดเกี่ยวกับการอนุรักษ์จากต่างประเทศมาให้อ่านกัน

หลายปีหลังจากที่นิยมไพรสมาคมเรียกร้อง รัฐบาลในยุคนั้นก็เริ่มขยับตัว มีการร่างกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า, ประกาศเขตวนอุทยาน และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของ “การอนุรักษ์” ในบ้านเรา

น่าเสียดายว่า นิยมไพรสมาคม หยุดดำเนินการไปด้วยสาเหตุใดที่ผมก็ไม่อาจทราบได้

เมื่อได้อ่านหนังสือนิยมไพรหลายเล่มเข้า ผมก็เกิดความรู้สึกที่ปะปนกันหลายอย่างจนอยากจะมาบอกเล่าสู่กันฟังครับ

ความรู้สึกแรกคือทึ่งครับ นิยมไพรสมาคมในตอนนั้นคงจะรวบรวมเอาคนเก่ง, คนรักและเข้าใจธรรมชาติ และตั้งใจจริงมาไว้ด้วยกัน จึงสามารถนำเสนอแนวความคิดที่ล้ำสมัย สามารถชี้แนะแนวทางของการอนุรักษ์ได้ก่อนกาลเช่นนั้น

ความรู้สึกที่สอง ผมเข้าใจแล้วครับ ราชการ, รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนก็ไม่เคยคิดทำนโยบายอะไรดีๆเกี่ยวกับธรรมชาติได้เอง เพราะเขาขาดทั้งวิสัยทัศน์ที่กว้างพอ, ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และขาดแรงจูงใจให้ผลักดันอะไรที่ต่างไปจากที่ทำอยู่เดิมๆ ดังนั้นจะทำอะไรดีๆให้เกินขึ้นได้ในประเทศนี้ คงต้องเกิดจากการเรียกร้องของประชาชนที่มีความรู้ความตั้งใจดีมารวมตัวกันแล้วหาทางเรียกร้องอย่างสร้างสรรค์

ความรู้สึกที่สามคือละเหี่ยใจครับ เมื่อเห็นสิ่งที่นิยมไพรสมาคมเคยทำในอดีตแล้วหันมามอง NGO สายอนุรักษ์ในบ้านเราตอนนี้ วิสัยทัศน์, ความเข้าใจในเชิงลึกและมุมกว้างของธรรมชาติ และความสามารถแตกต่างกันเหลือเกินครับ NGO สายอนุรักษ์ในปัจจุบันจึงไม่สามารถเรียกร้องหรือผลักดันในระดับนโยบาย ให้ออกหรือปรับเปลี่ยนกฎหมายหรือแนวทางปฏิบัติของรัฐเพื่อให้เกิดแนวทางอนุรักษ์ที่ถูกต้องได้ ส่วนใหญ่ก็ทำหน้าที่เพียงคอยต่อต้านระดับโครงการของรัฐที่มีผลเสียต่อธรรมชาติ

ความรู้สึกที่สี่ เสียดายครับ ที่แนวทางการอนุรักษ์ที่นิยมไพรสมาคมวางรูปแบบและแนวทางไว้อย่างถูกต้องด้วยความเข้าใจธรรมชาติที่เขามีอย่างลึกซึ้งและถูกใส่ไว้ในกฎหมายอนุรักษ์ฉบับแรกๆที่พวกเขาช่วยผลักดัน ได้ถูกบิดเบือนเปลี่ยนแปลงไปจนเสียทิศทางไปจนยากที่จะทำให้การอนุรักษ์ของประเทศนี้จะประสบความสำเร็จได้

แนวทางไหนหรือที่ผมพูดถึง? มันคือหลักการที่เป็นพื้นฐานที่สุดของการอนุรักษ์ครับ ลองอ่านข้อความนี้ดูแล้วอาจจะเข้าใจครับ

“การสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่หมายถึงการเก็บหรือสงวนรักษาไว้โดยไม่ใช้ แต่หมายถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฉลาด คือใช้ให้ดีที่สุด ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด และให้ยืดเยื้อนานที่สุดเท่าที่จะนานได้” (1) 

จากบทความ การสงนรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดย อาจารย์เจริญ บุญญวัฒน์

ในหนังสือนิยมไพร ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 ปี 2501

ผมยังหวังว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยเราจะมีองค์กรที่รวบรวมผู้คนที่มีความรู้กว้างขวาง, เข้าใจธรรมชาติอย่างถูกต้องและลึกซึ้ง และมีความตั้งใจดีที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติอย่างนิยมไพรสมาคม เกิดขึ้นมาอีกสักครั้ง และนั่นอาจจะเป็นความหวังเดียวที่จะช่วยผลักดันให้ “การอนุรักษ์”​ ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ก่อนที่จะเดินตกเหวไปในทิศทางที่มันกำลังเป็นอยู่ครับ

หมายเหตุ 

ผมเชื่อว่าข้อความนี้เป็นการแปลคำพูดของ Gifford Pinchot ผู้ที่เป็นผู้ก่อตั้งคนแรกของ U.S. Forest Service ที่เป็นคนสำคัญคนหนึ่งวางรากฐานการอนุรักษ์ของประเทศอเมริกา ที่สามารถฉลิกโฉมจากการทำลายล้างอย่างเลวร้ายมาเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ประสบความสำเร็จที่สุดประเทศหนึ่งในโลก  คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล เคยเดินทางไปพบกับภรรยาของ Gifford Pinchot เพื่อสนทนาและขออนุญาตนำประวัติของสามีผู้ล่วงลับมาแปลและเผยแพร่ให้คนไทยได้อ่านกัน และนิยมไพรสมาคมก็ได้แปลและจัดพิมพ์ออกมา

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

Editor ใช้ Award เดินป่า โดยตาเกิ้น

พวกเราที่ ThailandOutdoor มีความโชคดีที่เราได้มีโอกาสทดสอบทดลองอุปกรณ์กลางแจ้งมากมาย และก็จะมีของบางอย่างที่เราทดสอบแล้วชอบจนซื้อไว้ใช้เอง เราเรียกของเหล่านั้นว่า "Editor ใช้ Award"  และนี่คือ "Editor ใช้ Award" ปี 2022 จากตาเกิ้นครับ VDO ยาวนะครับเพราะอธิบายกันทุกอย่างรวมถึงเหตุผลที่เลือกใข้ในสถานการณ์ต่างๆกัน เราแบ่งเป็นช่วงๆให้เลือกดูกันได้ครับ ตามนี้เลย บางคนอาจจะบอกว่าผมใช้แต่ของแพงๆหรูๆ ก็อาจจะจริง หรือไม่ แล้วแต่มุมมองครับ ทุกอย่างในชีวิตเราล้วนแล้วแต่ขึ้นกับว่าเราให้ลำดับความสำคัญกับอะไร  สำหรับผมแล้ว ผมไม่ได้ซื้อของอื่นหรูหราอะไร แต่การออกมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การเดินป่า คือความสุขในชีวิตผม ผมจึงเลือกใข้แต่ของดีๆ...

ไปเรียนหลักสูตรปืนพกต่อสู้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

ผมเขียนบทความนี้ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2552 เขียนข้างหลังกระดาษสำเนา ป.4 (ทะเบียนปืน) ในช่องยิงทันทีที่เรียนเสร็จ เขียนด้วยความประทับใจของการสอนยิงปืนในคอร์สนี้ ถึงวันนี้แม้ว่าหลายๆอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ผมยังคงข้อความทุกอย่างที่เขียนในบทความนี้ไว้อย่างเดิมรวมทั้งรูปภาพเดิมที่อาจจะไม่ชัดนัก ด้วยความตั้งใจปัจจุบันโรงเรียนสอนยิงปืนแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมยิงปืนเขาสามยอด ยังตั้งอยู่ที่สถานที่เดิมในค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี สอนมาต่อเนื่องถึง 14 ปีแล้วถ้านับถึงวันนี้ หลักสูตรพัฒนาไปมาก และมีถึง 8 หลักสูตรให้เรียนได้ตามลำดับขั้น และยังสอนโดยหัวหน้าชุดครูท่านเดิมที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะให้คนไทยได้เรียนรู้การใช้อาวุธปืนได้อย่างถูกต้องผมเชื่อว่าที่นี่คือโรงเรียนสอนยิงปืนที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถเรียนได้ในประเทศไทย ผมเขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้ที่ตอนท้ายของบทความนี้ครับ ในสังคมที่บิดเบี้ยวมากขึ้นทุกวัน ดูเหมือนพวกเราสุจริตชนจะต้องเสี่ยงกับภัยคุกคามรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโจร...

ชีวิตผ่านไปเร็วมากและงดงาม Next Thing You Know

ผมชอบฟังเพลง Country American ครับ เพราะหลายๆเพลงมีเนื้อเพลงที่ดีมาก สามารถเล่าเรื่องราวได้ในเพลงเดียว คำพูดที่เลือกมาใช้ในเนื้อเพลงก็บรรจงคัดสรรมา บางครั้งถ้าตั้งใจฟังเพลงสักเพลงหนึ่งก็ราวกับได้อ่านหนังสือดีๆกินใจสักบท เอาเพลงนี้มาฝากกันครับ Next Thing You Know โดย Jordan Davis ตั้งใจจะเก็บเพลงนี้ไว้สำหรับวันครบรอบแต่งงานปีหน้า แต่ว่าเปลื่ยนใจ เอามาเขียนฉลองวันเกิดภรรยาผมเมื่อวานนี้ก็แล้วกันครับ Next Thing You Know เล่าเรื่องราวเหตุการสำคัญในชีวิตคู่ของใครสักคน อย่างชนิดที่ใครฟังก็คงได้ภาพของตัวเองและคนรักลอยขึ้นมาในใจ และก็คงคิดเหมือนกันว่า ทุกอย่างที่สวยงามในชีวิตนี้ช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน ขณะที่ลูกชายผมอาจจะกำลังอยู่ในเนื้อเพลงท่อนแรก...

แค้มปิ้งชุมชน

มาถึงวันนี้เราสูญเสียพื้นที่ที่สวยงามตามธรรมชาติไปมากมายแล้ว พื้นที่ที่มีเจ้าของก็ถูกสร้างเป็นบ้านพักเป็นรีสอร์ต ในอุทยานของรัฐเองหลายแห่งก็ถูกดัดแปลงสภาพไปจนแทบไม่เหลือธรรมชาติเดิม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเป็นสนามหญ้าเรียบ, ปลูกไม้ดอกจัดแถวเป็นแนว ไปจนถึงทำทางเดินจากแท่งปูนและไม้เทียมให้ขัดตา อีกหลายๆพื้นที่ที่จัดการโดยองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นหลายที่ก็ถูกทำลายไปด้วยเรื่องคล้ายๆกัน   เรายังพอจะมีพื้นที่สวยงามหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นดอยสูง, ริมห้วย ริมแม่น้ำ หรือชายทำเลย  พื้นที่เหล่านี้ถ้าอยู่ในเขตอุทยานก็มักจะห้ามเข้า ส่วนที่อยู่นอกอุทยาน ถ้าไม่อยู่ห่างไกลก็อาจจะเข้าถึงลำบาก แต่ก็มีอีกบางส่วนที่ซ่อนเร้นอยู่ใกล้ตาที่คนมองข้าม แต่จากบทเรียนที่เราเห็นๆกันมาแล้ว ก็ทำให้เกิดคำถามว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ “การเข้าถึง”,​ “การคงอยู่ของธรรมชาติ” และ “การสร้างรายได้ของชุมชน” อยู่ร่วมกันได้ ความเป็นไปได้ทางหนึ่งก็อาจจะเป็นสิ่งที่ผมอยากเรียกว่า “แค้มปิ้งชุมชน” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ มีอยู่แล้วมากมายในหลากหลายประเทศ...

Most Popular

%d bloggers like this: