Martin Litton ผู้เป็นตำนานของการปกป้อง Grand Canyon จากการสร้างเขื่อน กล่าวไว้ว่า “วิธีดีที่สุดที่จะทำให้คนเข้าใจ และช่วยกันรักษาแม่น้ำสักสายหนึ่งไว้ คือการพาพวกเขาลงไปในแม่น้ำ ได้สัมผัสและหลงรักแม่น้ำนั้นด้วยตัวเอง”
แต่ในหลายปีที่ผ่านมานี้ ผมก็พบว่าความรักเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เราต้องใช้อะไรมากกว่านั้นอีกมากที่จะรักษาแม่น้ำสักสายหนึ่งหรือป่าสักผืนหนึ่งไว้ได้
เพราะบ่อยครั้งที่ผู้คนพูดถึงสมดุลย์ธรรมชาติ พวกเขามักจะมองข้ามส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของสมการนั้นไป นั่นก็คือมนุษย์
และในโลกปัจจุบัน ถ้าหากจะให้สมดุลย์ของธรรมชาติอยู่ได้อย่างยั่งยืนแล้ว เราย่อมจะต้องสร้างสมดุลย์ในแกนของเศรษฐศาสตร์ด้วย
หลายปีมานี้ผมเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆว่า เมื่อมองผ่านหลังฉากหน้าที่สวยหรู ธรรมชาติป่าดงของเรากำลังถูกทำลายไปเรื่อยๆเพราะการอนุรักษ์ในบ้านเรากำลังเดินไปผิดทาง และถ้าหากจะเราจะรักษาธรรมชาติไว้ให้ได้ เราจะต้องเปลี่ยนการ“อนุรักษ์” จากวิธีกันคนให้ห่างออกจากธรรมชาติ มาเป็นการจัดการธรรมชาติส่วนหนึ่งให้ผู้คนสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยที่ไม่หมดไป
มันเป็นไปได้ครับ
ตามมาซิครับ ผมจะเล่าให้ฟัง
ผมและนักตกปลาชายหญิงคู่หนึ่งยืนอยู่กลางสายน้ำที่ใสราวกับกระจกของแม่น้ำเงา
สายลมเย็นพัดผ่านตัวเราไปพร้อมๆกับที่พัดเอาใบไม้สีเหลืองสีแดงโปรยปรายลงสู่สายน้ำ

ผมชี้ให้นักตกปลาทั้งสองดูปลาที่ขึ้นฮุบบางอย่างที่ผิวน้ำทันที่ที่ใบไม้ร่วงถึง
“แดดจ้าๆอย่างเวลานี้ปลาจะหลบเข้าไปอยู่ใต้ร่มเงาไม้ครับ และฤดูนี้ที่ใบไม้เริ่มร่วง จะมีแมลงต่างๆเช่นมดร่วงลงมาด้วย ปลาก็จะเฝ้ารอกินแมลงที่ร่วงลงมานี้เหมือนกับเด็กๆรอกินขนมเลยครับ
ถ้าเราวางเหยื่อลงไปใกล้ๆก้อนหินใต้ต้นไม้นั่น โอกาสจะได้ปลาสูงมากครับ
ใครจะลองก่อนดีครับ”
ฝ่ายชายชี้มือไปที่ผ่ายหญิงซึ่งก็ยกมือเสนอตัวพอดี เธอเป็นนักตกฟลายมือใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มหัดตีสายดัวยกันเมื่อวานนี้เอง แต่จุดที่เรากำลังจะตกปลานี้ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป
เธอเหวี่ยงสาย 2-3 ครั้งแล้วส่งเหยื่อตั๊กแตนลงไปในทิศทางที่ผมบอกให้
“สั้นไปนิดครับ ครั้งต่อไปตีให้ไกลกว่าเดิมสัก 2 ฟุตครับ เอาให้ตรงหน้าก้อนหินเลย”
และทันทีที่เหยื่อตั๊กแตนลงสัมผัสผิวน้ำก็มีเงาสีน้ำตาลขนาดใหญ่โฉบขึ้นมาบนผิวน้ำ
“ใจเย็นๆครับ ไม่ต้องรีบร้อน ดึงให้สายตึงไว้แล้วค่อยๆเก็บสายเข้ามา”
ผมหยิบสวิงด้ามยาวออกมาช้อนปลาตัวนั้นไว้ มันเป็นปลาพลวงที่สมบูรณ์มากหนักกว่า 1 กิโลกรัม มีแถบสีฟ้าที่ข้างลำตัวสวยงามมาก

ผมหยิบเหยื่อตั๊กแตนที่เกี่ยวอยู่ที่มุมปากปลาออกอย่างง่ายดาย เหยื่อฟลายที่มีขนาดเล็กและบีบเงี่ยงเบ็ดเช่นนี้จะไม่ทำให้ปลาบาดเจ็บเลยเมื่อเที่ยบกับเหยื่อชนิดอื่นๆ
ผมยื่นปลาในสวิงให้ พร้อมกับที่สังเกตสายตากลัวๆกล้าๆของเธอ
“ค่อยๆจับเขาซิครับ”และผมก็ได้เห็นปลาพลวงตัวแรกของหญิงสาวคนนั้นค่อยๆว่ายออกไปจากมือของเธอ
และในวินาทีนั้นประกายในสายตาของเธอก็บ่งบอกถึงความรู้สึกที่ไม่สามารถบรรยายได้ จะมีก็แต่เพียงผู้ที่ได้มีโอกาสได้สัมผัสชีวิตของสายน้ำเท่านั้นที่เข้าใจ
และด้วยประกายในสายตาเช่นนี้ มันทำให้ผมมีความสุขที่จะได้เห็นผู้คนได้ปลาตัวแรกของเขามากกว่าที่จะตกปลาได้เองเสียอีก
เราเดินกลับมาขึ้น “แม่เงา Drfit Boat” เรือที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Mckenzie Drift Boat แต่ดัดแปลงออกแบบให้คล่องตัวสำหรับการเดินทางตกปลาในแม่น้ำที่ไม่ใหญ่นักอย่างแม่น้ำเงา

เราจอดแวะพักและลงไปตกปลากันอีกตลอดวัน ทั้งสองคนได้ปลาหลากหลายสายพันธุ์กันคนละหลายตัว พวกเขาเลิกนับจำนวนปลาที่ตกได้ตั้งแต่ตอนที่เราพักเที่ยงกินอาหารกัน
ปลาในแม่น้ำเงาอุดมสมบูรณ์ขึ้นมากตั้งแต่มีการตกปลาและนักตกปลาจ่ายค่าบำรุงให้กับหมู่บ้านที่มีเขตอนุรักษ์ปลาเป็นอย่างมาก จนหลายหมู่บ้านขยายเขตอนุรักษ์ให้ยาวขึ้น บางหมู่บ้านก็เพิ่มเขตอนุรักษ์ใหม่จนทำให้มีจุดตกปลาชั้นยอดให้จอดแวะได้ตลอดลำน้ำ

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้จำนวนปลาเพิ่มขึ้นก็คือการได้รู้พฤติกรรมของปลาจากการวิจัยการเคลื่อนที่และการผสมพันธุ์ของปลาในตระกูลมาร์เซียซึ่งก็คือปลาพลวงและปลาเวียนในแม่น้ำเงาของ ดร. Aaron สหายของผมเมื่อหลายปีก่อน ทำให้ชาวบ้านสามารถอนุรักษ์พื้นที่ผสมพันธุ์วางไข่ของปลาตามลำห้วยเล็กๆและงดจับปลาในฤดูวางไข่ เพียงเท่านี้ปลาก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นได้เองและชาวบ้านก็มีปลาให้จับกินได้เพิ่มขึ้นไปพร้อมๆกัน
……… ตราบใดที่แม่น้ำเงายังคงไหลและใสสะอาดอยู่
ตอนเย็นวันนั้น ผมจอดเรือ “แม่เงา Drift Boat” ของเราที่ชายฝั่งติดกับลานที่ปกคลุมด้วยไม้ใหญ่ร่มรื่น
“ขอบคุณพี่เกิ้นมากครับ เราสองคนสนุกกันมาก วันนี้เป็นวันที่ดีจริงๆ เราสองคนเริ่มจะหลงรักแม่น้ำเงาเข้าแล้วครับ”
“ด้วยความยินดีครับ ถ้ายังมีเวลาอยู่ต่อ ก็ยังมีอีกหลายอย่างให้เที่ยวนะครับ จะเดินป่า, พายเรือแคนู หรือจะล่องแพไม้ไผ่ก็ได้ ลองไปสอบถามที่โรงแรมที่คุณพักได้เลยครับ”
ทั้งสองคนยิ้มให้ผมอีกครั้งแล้วก็เดินไปที่ “River House Lodge” โรงแรมไม้ขนาดกระทัดรัดที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ร่มไม้ริมแม่น้ำเงา ถึงแม้จะซ่อนตัวอยู่ไกลเมืองขนาดนี้แต่ที่นี่ก็มีคนเข้ามาพักอยู่ไม่ขาดเพราะมีทุกอย่างพร้อมอยู่ในตัว ผู้ที่มาเยือนสามารถจะนั่งชมวิวแม่น้ำเงาได้จากระเบียงสวยของร้านกาแฟ และมื้อเย็นก็สามารถอิ่มเอมกับสเต็กและไวน์แสนอร่อยฝีมือคุณเท็นเจ้าของโรงแรม ซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะใช้เวลาอยู่ที่โรงแรมเล็กๆนี้มากกว่าโรงแรมใหญ่ของเขาที่แม่สะเรียงเสียอีก

หลังจากที่เอาเรือขึ้น Trailer และ ลากขึ้นฝั่งแล้ว ผมก็เดินไปที่อาคารไม้หลังเล็กๆที่อยู่ไม่ห่าง River House Lodge มากนัก
ป้าย “Shadow River Fly shop & Gallery” แขวนอยู่ที่อาคารเล็กๆที่ข้างหนึ่งอัดแน่นไปด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการตกฟลายฟิชชิ่ง ตั้งแต่คันเบ็ด, รอก, สาย ไปจนถึงเหยื่อนานาชนิด ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของอาคารก็เป็นแกลลอรี่แสดงภาพถ่ายสวยๆของแม่น้ำเงาจากฝีมือช่างภาพชื่อดัง นัท สุมนเตมีย์และเพื่อนๆของเขา (มี 2 ภาพฝีมือผมที่แอบเอามาโชว์อยู่ในมุมหนึ่งด้วย)

เมื่อเปิดประตูเข้าไป เจ้าของแกลลอรี่ก็ยืนยิ้มรอผมอยู่แล้ว
“อ้าว นัท มาถึงตั้งแต่เมื่อไหร่” ผมเดินเข้าไปโอบไหล่ที่แทบจะโอบไม่รอบนั้นด้วยความคิดถึง
“ตั้งแต่บ่ายสองแล้วครับพี่ เดี๋ยวนี้มาทางแม่สอดถนนดีมากๆ มาเร็วกว่าเมื่อก่อนเยอะเลยครับ”
นัท,ผม และเพื่อนๆอีก 2-3 คนเห็นพ้องต้องกันว่าถ้าต้องการพัฒนาการตกปลาแบบฟลายฟิชชิ่งให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนริมแม่น้ำเงาได้ ไกด์ตกปลาที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก พวกเราจึงพลัดกันมาทำหน้าที่เป็น “ไกด์อาสา” กันคนละ 3 สัปดาห์ ในช่วงฤดูตกปลาตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงพฤษภาคม
นอกจากจะดูแลลูกค้านักตกปลาแล้ว หน้าที่หลักของเราก็คือการช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับชาวบ้านหลายๆคนที่เริ่มจะเป็นไกด์พานักตกปลาออกไปเองได้แล้ว
และที่สำคัญในวันว่าง เราก็ยังได้ออกไปตกปลาในแม่น้ำเงาที่เรารักได้อีกด้วย
“ว่างมั๊ยนัท วันนี้มีงานที่สบโขง เข้าไปเที่ยวด้วยกันซิ”
“ได้ครับ พรุ่งนี้มีนักตกปลานัดไว้ 4 คน ใช้เรือ 2 ลำ แต่ผมจัดให้พี่สมยศกับต๋าวเป็นไกด์เรียบร้อยแล้วครับ”
“งั้นไปรถพี่เลย”
เราเดินไปขึ้น Jeep Cherokee เพื่อนเก่าของผม
เมื่อเราออกมาถึงถนนสาย 105 และเลี้ยวผ่านสะพานข้ามแม่น้ำเงา เราก็เห็นแพไม้ไผ่นับสิบลำพานักท่องเที่ยวมาถึงปลายทางที่ใต้สะพาน

แพไม้ไผ่เหล่านี้ทำจากไม้ไผ่ซางหม่นที่ปลูกกันมากตลอดแม่น้ำเงา เมื่อลำโตได้ที่ก็ตัดผูกเป็นแพพานักท่องเที่ยวล่องชมความงามของแม่น้ำเงาสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับหมู่บ้านริมน้ำและยังเป็นการขนส่งไม้ไผ่โดยไม่ต้องเสียค่ารถค่าน้ำมันอีกด้วย
พอมาถึงปลายทางนี้ ถ้าไม่ขนกลับไปล่องซ้ำอีกครั้งก็ขายให้กับโรงงานแปรรูปไม้ไผ่ที่ตั้งอยู่ริมน้ำนี้ซึ่งรับซื้อไม้ไผ่ไม่อั้นเพราะผลิตไม่ทันความต้องการของตลาด
ทางคอนกรีตอย่างดีพาเราเลาะเลียบไปทางฝั่งขวาของแม่น้ำเงา ผ่านอุทยานแม่เงาและหมู่บ้านต่างๆเข้าไป
เส้นทางนั้นขึ้นเนินสูงระหว่างบ้านแม่หลุยส์กับบ้านนาดอยซึ่งเป็นที่ผมจะหยุดเพื่อสังเกตความเป็นไปทุกครั้งที่ผ่านมา ที่จุดตรงนี้เรามองเห็นหุบเขาสองข้างลำน้ำเงาซึ่งไม่กี่ปีก่อนหน้านี้เป็นทุ่งที่ถูกถางเตียนโล่งเพื่อปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพด แห้งแล้งราวกับทะเลทรายแซมอยู่ด้วยซากต้นไม้ใหญ่ที่ถูกกานรอบต้นให้ยืนตาย แต่บัดนี้เขียวชะอุ่มไปด้วยไผ่ซางหม่นพืชชนิดใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมากกว่าถั่วเหลืองถึง 3 เท่า และที่สำคัญยังช่วยอุ้มน้ำและลดการพังทะลายของหน้าดินในพื้นที่ลาดชันอีกด้วย

ก่อนจะออกรถไปต่อผมเหลือบไปเห็นป้ายเล็กๆที่เขียนว่า “Bamboo Unlimited” ป้ายบอกตำแหน่งของแปลงไผ่สาธิตที่เพื่อนๆของผมช่วยกันเอาไม้ไผ่ซางหม่นเข้ามาทดลองปลูกให้กับชาวบ้านเมื่อหลายปีก่อน
“พี่จำได้มั๊ยครับ ว่าครั้งแรกที่เราขับรถมาสบโขงกันใช้เวลาหนึ่งวันเต็มเลย”
“จำได้ซิ เราก็มารถจี๊ปคันนี้แหละ ไปเกือบจะถึงหมู่บ้านอยู่แล้ว มีรถสวนออกมา ทางแคบจนสวนกันไม่ได้ต้องถอยหลังออกมาเกือบกิโลอีกต่างหาก”
ทุกวันนี้ทางคอนกรีตอย่างดีพาเราผ่านระยะทาง 46 กิโลเมตรมาถึงสบโขงได้ในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น
เมื่อแรกที่มีการปรับปรุงถนน ผมเองก็แอบต่อต้านอยู่ในใจเพราะเกรงว่าถนนจะนำ “ความเจริญ” เข้ามาเร็วกว่าที่ชาวบ้านจะพร้อมรับมัน กังวลไปถึงว่า “นายทุน” ทั้งหลายอาจจะเข้ามากว้านซื้อที่และชาวบ้านก็อาจจะเสียที่ทำกินสุดท้ายของพวกเขาไปอีก
แต่ถนนดีๆก็นำคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาให้ชุมชน พืชผลที่ผลิตได้ส่งออกไปง่ายขึ้น, เจ็บป่วยในฤดูฝนก็ออกไปหาหมอไปโรงพยาบาลได้, ครูเข้ามาสอนเด็กๆได้ นอกจากนั้นถนนคอนกรีตที่ทำดีๆทีเดียวจบก็ลดปัญหาการทำถนนดินที่ต้องเกรดใหม่ทุกปี ทำแต่ละครั้งก็กวาดเอาดินถล่มลงไปในแม่น้ำครั้งละมากๆ
และก็โชคดีที่ “อะไร” หลายๆอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆกับการมาของถนนทำให้ชาวแม่เงาได้ตั้งหลักพร้อมที่จะรับมือกับ “ความเจริญ” ที่เข้ามานี้
สบโขงยังเป็นหมู่บ้านกลางป่าที่สวยเหมือนเดิม แม้ว่าที่นี่จะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการท่องเที่ยวธรรมชาติในแม่น้ำเงาไปแล้ว ที่นี่เป็นจุดปลายทางและจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินป่าหลายๆเส้น, เป็นจุดเริ่มต้นพายเรือแคนู, ล่องแพไม้ไผ่ และยังเป็นจุดยอดนิยมของคนที่ชอบขับรถมาแค้มป์อีกด้วย
เราจอดรถแล้วเดินไปยังหน่วยพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ป้ายขนาดใหญ่เหนือซุ้มทางเข้าเห็นได้แต่ไกล
“Fjallraven Thailand Trail”
วันนี้เป็นวันที่นักเดินป่ากลุ่มแรกของรายการ Fjallraven Thailand Trail จะเดินมาถึงเส้นชัยที่สบโขง และแน่นอนก็จะมีงานรื่นเริงเฉลิมฉลองกัน
หลังจากที่งานนี้จัดไปใน 3 ปีแรกของการเปิดเส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงาที่ยาว 50 กิโลเมตร เส้นทางเดินป่าระยะไกลขุนน้ำเงานี้ก็เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมอย่างมาก เป็นจุดเริ่มต้นของวิสาหกิจชุมชนที่จัดตั้งขึ้นมาโดยชาวบ้านลุ่มน้ำเงาหลายหมู่บ้านรวมตัวกันเพื่อจัดการการท่องเที่ยวโดยไม่ต้องผ่านนายหน้าคนกลาง ทำให้เม็ดเงินทั้งหมดตกอยู่กับชาวบ้านและชุมชนไม่ไปตกหล่นที่ไหน




เส้นทางนี้สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านกว่าหนึ่งร้อยครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นคนนำทาง, รถรับส่ง, ที่พักในหมู่บ้าน, อาหาร, ของที่ระลึก ฯลฯ สถิติบอกเราว่าชาวบ้านสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนแต่ละคนได้รายได้จากการท่องเที่ยวในแต่ละปีมากกว่าที่เขาได้จากการปลูกถั่วเหลืองแล้ว
แน่นอน เมื่อรายได้เขามาจากนักเดินป่าที่ชื่นชมความสมบูรณ์ของป่าขุนน้ำเงา เขาก็ย่อมรักป่าที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว
และที่เราดีใจกันยิ่งไปกว่านั้นคือ ความสำเร็จของแม่เงาทำให้คำว่า “เส้นทางเดินป่าระยะไกล” เกิดขึ้นในอีกๆหลายๆพื้นที่ในประเทศนี้อีกด้วย
งาน Fjallraven Thailand Trail นี้ก็ไม่ได้มีการจัดอีกเลยจนกระทั่งในปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นมาเป็นพิเศษในโอกาสที่เส้นทางขยายยาวถึง 110 กิโลเมตรเป็นครั้งแรก
เส้นทางส่วนที่เพิ่มขึ้นมานี้ ช่วงที่สำคัญที่สุดก็คือ “วงรอบขุนน้ำเงา” เส้นทางโค้งรูปพระจันทร์เสี้ยวที่เริ่มจากบ้านห้วยยาวไต่สันเขาอ้อมพื้นที่รับน้ำและลำห้วยต้นน้ำทั้งหมดที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นแม่น้ำเงา


ป่าต้นน้ำเงานี้ซ่อนตัวอยู่ห่างไกล ไม่ได้อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์และยังคงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติอย่างดั้งเดิมมาก แต่ก็เริ่มถูกล้อมด้วยพื้นที่การเกษตรรอบด้านใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ถ้าหากไม่เปิดโอกาสให้คนมาเห็นความงดงาม ความสมบูรณ์ของมัน และไม่สร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบข้างแล้ว ป่าต้นน้ำนี้ก็อาจจะหายไปก่อนที่ใครจะรู้ว่ามันเคยมีอยู่ที่นั่น


เราเดินเข้าไปในพื้นที่จัดงาน ซึ่งสิ่งก่อสร้างทั้งหมดสร้างขึ้นมาจากไม้ไผ่ การจัดงานครั้งนี้แตกต่างไปจากสามครั้งแรกตรงที่ผู้จัดงานหลักคือวิสาหกิจชุมชนและโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ โดยมีวิทู, ไก่ และ นาวินเป็นแกนหลักแทนที่จะเป็นพวกเราที่มาจากกรุงเทพ โดยที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก อุทยานแม่เงา, อำเภอสบเมย, อบต.แม่สวด นับเป็นการร่วมมือกันของหน่วยราชการอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
ทีมพวกเราที่เคยจัดงานครั้งก่อนๆก็เข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง, ที่ปรึกษาและเมื่อถึงเวลางานก็อาสามาเป็นสต๊าฟในบางหน้าที่เช่น ปั้นและต่ายทำหน้าที่ในการออกแบบและประชาสัมพันธ์, ปั๊ปจัดการเรื่องการสมัคร online, ผู้พันแจ๊ค พี่มดและอาร์ตช่วยกันไปจัดตั้ง Check-point ในจุดห่างไกลเข้าถึงยาก, ราเชลและโป๊ดเป็นผู้บรรยายเรื่องวัฒนธรรมการเดินป่าที่จุด check-point, ตั้วและใหม่ช่วยจัดการเรื่องการกรองน้ำสำหรับนักเดินป่าตลอดเส้นทาง, ผู้การตู้และสารวัตวรช่วยกันวางระบบวิทยุให้ครอบคลุมเส้นทางเดิน, วิท-แจ๊ค-ปอ-พีท รวมตัวกันอีกครั้งเพื่อช่วยกันออกแบบและเนรมิตพื้นที่งานที่สบโขง, หมอใหญ่ หมอนัท และหมอลูกปลา เดินไปกับนักเดินป่าแต่ละชุดคอยให้คำแนะนำหัวหน้าชุดที่เป็นชาวบ้านและทำหน้าที่แพทย์สนามไปในตัว
ประมาณ 5 โมงครึ่ง กระควาก็พานักเดินป่าชุดแรกเข้ามาถึงท่ามกลางเสียงปรบมือต้อนรับดังสนั่น พวกเขาคือคนกลุ่มแรกที่ได้เดินผ่านเส้นทาง 110 กิโลเมตรเส้นนี้
แต่ละคนมอมแมมจากการเดินทางถึง 7 วัน แต่หน้าตาของพวกเขากลับความสดชื่น เต็มไปด้วยพลัง

เส้นทางเดินป่าเส้นนี้ทำหน้าที่อีกครั้งในการเปลี่ยนผู้คนที่เดินผ่านมันให้กลายเป็นคนใหม่
นักเดินป่าทะยอยกันเดินเข้ามาเรื่อยๆ เสียงปรบมือดังอยู่ไม่ขาด คนที่มาถึงแล้วก็กระโดดลงไปรับความสดชื่นจากแม่น้ำเงา หลายคนพออาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็มานั่งล้อมวงรอบกองไฟคอยปรบมือให้กำลังใจเพื่อนๆที่เดินมาถึง
ในบริเวณลานนั้นเต็มไปด้วยซุ้มขายสินค้าและอาหารจากชุมชนรอบแม่น้ำเงา มีของที่คนเมืองอย่างเราไม่เคยเห็นไม่คุ้นตามากมาย เช่นผ้าทอมือ, ผลิตภัณฑ์ถ้วยชามที่ทำจากไม้ไผ่, ซุ้มแพะย่าง, ซุ้มกาแฟหมื่อหะคีจากบ้านแม่หาด, ซุ้มขายน้ำผึ้งของ Honey Unlimited ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงผึ้งที่ชายป่า, ซุ้มขายสมุนไพร Herb Unlimited ที่ร้านข้าวซอยนิมมานมาช่วยส่งเสริมให้คนรู้จักเครื่องเทศของชาวกระเหรี่ยงที่หาได้จากในป่าเช่น โกโบระ, ตะลึซะ ฯ, ซุ้มเหล้าป่าจากบ้านนาเกียน, และที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้นักเดินป่ามากที่สุดและคิวยาวที่สุดก็มีอยู่ 3 ซุ้ม คือซุ้มอาหารของแมงดึกที่ทำอาหารขายจากวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่มาจากพื้นที่ของแม่เงาล้วนๆ, ซุ้มเขียดแลวย่างของบ้านแม่เปงทะ และซุ้มแฮมหมูป่าของบ้านแม่หาด


เขียดแลวและหมูป่านี้เป็นตัวอย่างที่เยี่ยมยอดมากของการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างยั่งยืน
เขียดแลวเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่เคยมีอยู่มากในลำห้วยสาขาของแม่น้ำเงา แต่ลดจำนวนและหายไปจากหลายๆที่เพราะการใช้ยาฆ่าแมลงและการจับเกินขนาด ทั้งๆที่ที่จริงแล้วมันออกลูกเป็นไข่ทีละมากๆและสามารถขยายพันธุ์ได้เร็วมาก ขอเพียงให้มีที่อยู่อาศัยซึ่งก็คือลำธารบนเขาสูงที่สะอาดปราศจากยาฆ่าแมลง

บ้านแม่เปงทะ มีแหล่งต้นน้ำที่สะอาดปราศจากการใช้สารเคมี และโชคดีมากที่ได้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาให้คำแนะนำในการช่วยขยายพันธุ์เขียดแลวเพื่อปล่อยกลับสู่ธรรมชาติให้ไปขยายพันธุ์ต่อเอง และก็คอยให้คำแนะนำเรื่องการปรับปรุงพื้นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติไปจนถึงการสำรวจจำนวนประชากรและการกำหนดโควต้าที่จะจับได้ในแต่ละปี เพียงเท่านี้ก็ได้อาหารจากธรรมชาติมากินกันฟรีๆกันไม่รู้จักหมด
หมูป่าที่บ้านแม่หาดนี่ยิ่งง่ายกว่า หมูป่าเป็นสัตว์ที่แพร่พันธุ์เร็วมาก มีทฤษฎีอยู่ว่า ถ้าปีนี้มีอยู่สิบตัว เอามากินเจ็ดตัว ปีหน้าก็จะมีสิบตัวเท่าเดิม หมูป่าจึงไม่จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแต่อย่างใดเลย และเมื่อป่าชุมชนของบ้านแม่หาดไม่ได้อยู่ในเขตอุทยาน การล่าหมูป่าจึงทำได้อย่างถูกกฎหมาย
ในช่วงที่เติร์ดมาช่วยปรับปรุงการปลูกกาแฟจนสนิทกับพ่อหลวงกาญจน์ ทั้งสองคนเลยมีความคิดเรื่องการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์และขยายพันธุ์หมูป่าของหมู่บ้านขึ้นมา ก็เพียงแต่กำหนดพื้นที่ห้ามล่า, ปรับปรุงแหล่งอาหาร แหล่งน้ำเพียงเล็กน้อย จากนั้นก็กำหนดโควต้าการล่าหมูกันภายในหมู่บ้าน หลังจากนั้นมาบ้านแม่หาดก็มีหมูป่ากินกันไม่ขาด จนกระทั่งมีเหลือให้เติร์ดขึ้นไปสอนให้ทำแฮมขายกันได้ในวันนี้

ทั้งเขียดแลวและหมูป่าเป็นอาหารธรรมชาติที่ปราศจากสารเคมี, ฮอร์โมนเร่งการเติบโต, ยาปฏิชีวนะตกค้าง ฯ ที่สำคัญการเติบโตของมันยังเป็นมิตรกับธรรมชาติ ไม่ได้สร้างมลพิษใดๆเลย เพราะไม่ต้องถางที่เพาะปลูกพืชไม่ต้องไปกวาดจับปลาเล็กสัตว์น้อยขึ้น มาทำอาหารสัตว์, ไม่ต้องมีโรงงานผลิตอาหาร และการเติบโตตามธรรมชาติก็ไม่ได้สร้างมลพิษแบบฟาร์มที่เลี้ยงสัตว์รวมกันมากๆ
ถ้าพูดภาษาคนสมัยใหม่ก็ต้องใช้คำว่า Organic, Free Range, Happy Living, Humanely Killed และ Carbon Footprint เป็นศูนย์ เป็นจริงมากกว่าอาหารออร์แกนิคที่ห่อพลาสติกขายในซูเปอร์มาเก็ตเสียอีก
เมื่อพระอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขา อากาศก็เย็นลงทันที ตะเกียงน้ำมันที่ซ่อนไว้ทั่วอัฒจันทร์และเวทีก็ถูกจุดขึ้นทำให้บริเวณงานกลายเป็นภาพงดงามราวกับเมืองในจินตนาการ และการแสดงพื้นบ้านและดนตรีของชาวกระเหรี่ยงแต่ละหมู่บ้านก็ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นแสดงบนเวทีริมน้ำนั้น นอกจากนักเดินป่าแล้ว งานนี้ก็เต็มไปด้วยชาวบ้านจากหมู่บ้านในลุ่มน้ำเงาที่มาชุมนุมกันที่สบโขง

ประมาณสองทุ่ม ก่อนที่ทุกคนจะเมาเกินไป วิทูก็ขอให้ผมทำหน้าที่ของผมในวันนี้ก็คือการขึ้นไปเล่าเรื่องของแม่น้ำเงาและเส้นทางสายนี้ให้ทุกคนฟังอีกครั้ง
ผมขึ้นไปยืนกลางเวทีและเร่ิมเล่าเรื่องที่ผมเล่ามาแล้วนับสิบๆครั้ง แต่ดูเหมือนว่าการเล่าทุกคร้ังก็จะเพิ่มประสบการณ์และความรู้สึกใหม่ๆเข้าไปเสมอ

“พวกเราร่วมกันสร้างเส้นทางสายนี้ขึ้นมาด้วยความเชื่อที่ว่า การที่จะให้ผู้คนที่อยู่ในเมืองสามารถเข้าใจและรักธรรมชาติอย่างแท้จริงได้ พวกเขาจะต้องมีโอกาสได้สัมผัสธรรมชาติพิสุทธิ์ที่ปราศจากการปรุงแต่งด้วยตัวเอง และถ้าหากจะให้คนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืนก็จะต้องให้เขาได้ประโยชน์โดยตรงจากป่าที่พวกเขารักษาไว้
บ่อยครั้งที่ผู้คนพูดถึงสมดุลย์ธรรมชาติ พวกเขามักจะมองข้ามส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของสมการนั้นไป นั่นก็คือมนุษย์
และในโลกปัจจุบัน ถ้าหากจะให้สมดุลย์ของธรรมชาติอยู่ได้อย่างยั่งยืนแล้ว เราย่อมจะต้องสร้างสมดุลย์ในแกนของเศรษฐศาสตร์ด้วย
เส้นทางยาวไกลสายนี้ พาคุณเดินตั้งแต่ปลายน้ำเงา พาคุณไปเห็นต้นน้ำแหล่งกำเนิด, ได้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร, พาคุณมารู้จักกับผู้คนที่อยู่กับป่า อยู่กับแม่น้ำสายนี้มายาวนานและวิถีชีวิตวัฒนธรรมของพวกเขา
เพียงได้มาเดินบนเส้นทางสายนี้ คุณก็มีส่วนร่วมแล้วในการที่จะช่วยกันสร้างความสมดุลย์ของธรรมชาติให้เกิดขึ้นที่ลุ่มแม่น้ำเงาด้วยการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและผู้คน เพื่อให้เขาได้รับประโยชน์โดยตรงจากป่าที่เขาช่วยกันรักษาไว้
เมื่อคุณกลับไป พวกเราก็ยังหวังว่าคุณจะไปช่วยเผยแพร่เรื่องราวของธรรมชาติที่คุณได้มาเข้าใจที่นี่ และวัฒนธรรมการเดินป่าที่ดีที่คุณมีส่วนร่วมในการสร้างขึ้น ให้คนอื่นที่อยู่ในเมืองได้รับฟังบ้าง
และถ้าคุณอยากจะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันสร้างสมดุลย์ธรรมชาติที่นี่ให้ยั่งยืนต่อไป เราจะยินดีมาก
เพราะมีคนเคยกล่าวไว้ว่า วิธีดีที่สุดที่จะทำให้คนเข้าใจ และช่วยกันรักษาแม่น้ำสักสายหนึ่งไว้ คือการพาพวกเขาลงไปในแม่น้ำ ได้สัมผัสและหลงรักแม่น้ำนั้นด้วยตัวเอง
แต่หลายปีมานี้ พวกเราพบว่า แม้ความรักจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่การที่จะรักษาแม่น้ำสักสายหนึ่งไว้นั้น เราจะต้องลงมือทำ และใช้อะไรมากกว่าความรักอีกมาก
ขอบคุณครับ”
ช่วงเวลาหลังจากนั้นคือเวลาแห่งความสุขท่ามกลางมิตรสหาย
สิ่งสุดท้ายที่ผมจำได้ในคืนนั้นคือ กลุ่มคนที่ผมเรียกได้อย่างเต็มหัวใจว่า “เพื่อนตายสหายศึก” ผู้คนที่ช่วยกันทำเส้นทางและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นที่นี่ ทั้งชาวแม่เงาและชาวเมืองมายืนล้อมวงกอดคอกันรอบกองไฟ จอกไม้ไผ่ถูกรินใส่เหล้าป่าแจกจ่ายให้ทุกคนในวง
ผมชูจอกในมือขึ้น
“ขอดื่มให้กับแม่น้ำเงาที่ยังคงไหล ธรรมชาติป่าเขาที่ยังคงสมบูรณ์และผู้คนที่อยู่กับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน”
ผมกระดกเทเหล้าในจอกนั้นเข้าปากพร้อมๆกับสหายรอบวง เหล้าป่าถูกรินเพิ่มอีกหลายครั้ง หลังจากนั้นทุกอย่างก็ค่อยๆพร่าเลือนลงจนดำมืด
“พี่เกิ้น ตื่นได้แล้วพี่ สายแล้ว วันนี้เรายังต้องเดินกันอีกไกล”
ผมรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาเพราะเสียงโวยวายของไก่ที่คงจะกลัวผมไหลตายอยู่ในเต็นท์จึงเรียกและเขย่าเต็นท์ราวกับโดนพายุ
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความอร่อยของแกงหน่อหวายใส่หนูสับ หรือฤทธิ์ของเหล้าป่า หรือความเหนื่อยสะสมจากการเดินป่า 2 วันที่ผ่านมาทำให้ผมหลับสนิทจนตื่นสายขนาดนี้

แต่มันก็ทำให้ผมฝันดี ดีมากๆจนตื่นมาด้วยรอยยิ้มที่รู้สึกได้ มันเป็นความฝันที่ร้อยเรียงเอาความฝันมากมายในเวลาตื่นของผมเข้ามาไว้ด้วยกัน ก่อนที่ผมจะตื่นขึ้นมากลางป่าใหญ่ใกล้เชิงเขาที่มีชื่อว่า “ปอคุโจ”
ผมเก็บของลงเป้ เรากินอาหารเช้ากับแบบง่ายๆ วันนี้เรายังต้องเดินกันอีกไกล และในบรรดาพวกเรายังไม่มีใครรู้ว่าทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
ผมมองไปรอบตัว ป่าตรงนี้ยังคงสมบูรณ์ แน่นทึบไปด้วยไม้ใหญ่หลายคนโอบ ห่างออกไปไม่ไกลจากที่เรานอนคือยอดเขาปอคุโจที่สูงถึง 1,700 เมตร และเป็นหนึ่งในขุนน้ำสำคัญของลำน้ำเงา

แต่หากว่าจากสันเขาสูงนี้ เราก็สามารถมองเห็นพื้นที่การเกษตรที่ถูกถางเตียนโล่งใกล้เข้ามาทุกที
ป่าผืนนี้ยังไม่มีใครรู้จัก ไม่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่างให้คนเห็นคุณค่า, ไม่เปิดโอกาสให้คนมาเห็นความงดงาม ความสมบูรณ์ของมัน และไม่สร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบข้างแล้ว ป่าต้นน้ำนี้ก็อาจจะหายไปก่อนที่ใครจะรู้ว่ามันเคยมีอยู่ที่นั่น
ผมแบกเป้ขึ้นหลัง เดินตามสหายชาวบ้านป่าไปบนทางที่รกเพราะไม่มีใครเดินมานับสิบปีและฝูงช้างป่าก็ไม่มาที่ป่าแห่งนี่สามปีแล้ว ทางรกจนเราต้องใช้มีดแหวกกอหนามและเถาไม้คันแล้วมุดบ้างปีนบ้างไปตลอดทาง

มีคนเคยถามผมเสมอ และแม้แต่ผมก็ถามตัวเองอยู่เรื่อยๆว่า ทำไมจะต้องพยายามทำเรื่องนี้ ทำไมจะต้องพยายามรักษาแม่น้ำนี้ไว้
คำตอบที่มีก็คือ ผมรักแม่น้ำสายนี้ และการรักษาแม่น้ำแม่น้ำสายเล็กๆนี้ไว้ให้ได้ ก็อาจจะเป็นตัวอย่างให้เกิดจุดเปลี่ยนทิศทางของการอนุรักษ์ของเราที่กำลังเดินไปอย่างผิดทิศผิดทาง
ขณะที่กำลังเดินเหนื่อยๆ ผมก็นึกถึงคำพูดประโยคหนึ่ง
“ถ้าเราไม่ลงมือทำตอนนี้ มันจะไม่มีอะไรเหลือให้ปกป้องอีกต่อไปแล้ว”
ตาเกิ้น
มกราคม 2565
“If we don’t do this, there will be nothing left to save”
James Bond
“No time to die”
หมายเหตุ
- ถ้าคุณทนอ่านมาจนถึงท้ายเรื่องคงจะรู้แล้วว่าเรื่องที่เล่านี้เป็นความฝัน แต่ก็มีเกือบ 50% ที่เป็นความจริงแล้ว, มีอีกบางส่วนที่เริ่มทำกันแล้ว พยายามกันอยู่ และก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ยังเป็นแผนอยู่ในความคิด
- เส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงาระยะทาง 50 กิโลเมตร มีให้เดินจริงๆแล้วตั้งแต่ปี 2559, การพายเรือแคนูและล่องแพไม้ไผ่ชมแม่น้ำเงาก็มีแล้ว, การตกปลาฟลายฟิชชิ่งเชิงอนุรักษ์ที่แม่น้ำเงาก็มีแล้ว เช่นเดียวกับวิสาหกิจชุมชนเส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงาที่บริหารโดยชาวบ้าน การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทั้งหมดนี้สร้างรายได้ให้กับผู้คนนับร้อยครอบครัวในหลายหมู่บ้านของแม่นำ้เงา สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ Facebook : เส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา
- เส้นทางเดินป่าส่วนที่สอง “วงรอบขุนน้ำเงา” นั้นมีจริงแล้ว สามารถเริ่มเดินจากบ้านห้วยยาว เดินไปบนสันเขาโค้งรูปวงพระจันทร์ เป็นระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ใครอยากไปเดินลองสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน้านี้ครับ ส่วนเส้นทางที่จะต่อเชื่อมกันให้ได้ 110 กิโลเมตร รออีกสักนิดครับ
- Shadow River Fly Shop, River House Lodge และ เรือ “แม่เงา Drift Boat” ยังคงเป็นความฝันอยู่ แต่ผมและนัท สุมนเตมีย์จะเริ่มไปเป็น “ไกด์อาสา” อยู่ที่แม่น้ำเงาจริงๆ ใครสนใจอยากให้เราเป็นไกด์พาตกปลาที่แม่น้ำเงา ทักมาได้ จองมาได้ครับ
- โครงการเลี้ยงผึ้ง (Honey Unlimited), โครงการกาแฟหมื่อหะคี, โครงการปลูกไผ่ซางหม่น (Bamboo Unlimited) และโครงการพืชเครื่องเทศกระเหรี่ยง (Herb Unlimited) เป็นโครงการที่ได้เริ่มต้นแล้วจริงๆ และเป็นสิ่งที่พวกเรากำลังพยายามกันอยู่ ส่วนโครงการอื่นๆยังไม่ได้เริ่ม ถ้าใครอยากมาช่วยเราทำหรือมีไอเดียอื่นๆ ก็มาช่วยกันลงมือได้ เรายินดีครับ
- ตาเกิ้นมีตัวตนอยู่จริง แต่เขาเดินทางไปมาในจักรวาลที่ทับซ้อนระหว่างโลกของความจริง, ป่าเขา, แม่น้ำ และดินแดนของความฝันอยู่เสมอ