Monday, December 11, 2023
Homeชีวิตและการเดินทางตามหาตำนานแก่งที่สูญหาย

ตามหาตำนานแก่งที่สูญหาย

-

คืนนี้เป็นแค้มป์ที่พิเศษที่สุดคืนหนึ่ง

ด้านหน้าของแค้มป์คือลำน้ำน่านไหลเอื่อยผ่านแก่งเจ็ดแควที่สวยงามยิ่งนักเมื่อกระทบกับแสงสีทองของพระอาทิตย์ที่กำลังลับเหลี่ยมเขา

กลางคืนแค้มป์ของเราส่องสว่างไปด้วยแสงของพระจันทร์แรมหนึ่งค่ำดวงโต โอบกอดไปด้วยเทือกเขารอบทิศ ห่มด้วยดวงดาวเต็มท้องฟ้า กรุ่นไปด้วยกลิ่นหอมจากกองไฟ และขับกล่อมด้วยเสียงน้ำน่านที่ไหลแผ่วเบา


“จะไปก็รีบไปนะน้างบ ลุงแก่ขึ้นทุกปี เดี๋ยวจะไปไม่ไหว”  ลุงเสริมนายท้ายของข้าพเจ้าพูดทุกครั้งที่เราได้ไปพายเรือล่องแม่น้ำน่านด้วยกัน (อ่านเรื่องราวตอนแรกของ “แคนูแค้มปิ้งลำนำน่าน” ได้ที่นี่ครับ)

โดยปรกติ เราจะพายเรือแคนูล่องแม่น้ำน่านด้วยกันจากบ้านส้านอำเภอเวียงสาจนถึงแก่งหลวงเป็นประจำทุกปี และทุกครั้งเราก็จะพูดถึงแม่น้ำน่านในช่วงจากแก่งหลวงลงไปถึงบ้านปากนายที่ลุงเสริมเคยไปหาปลาแต่พวกเราคนอื่นๆยังไม่เคยได้เห็น

ในหนังสือ “ปราโมทย์คลาสสิค” คุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ นักเขียนรุ่นบุกเบิกของอนุสาร อ.ส.ท. และวงการสารคดีท่องเที่ยวไทยเขียนเล่าไว้ในเรื่อง “ล่องแก่งแม่น้ำน่าน” ว่าท่านและคณะได้ล่องเรือยนต์จากจังหวัดน่านผ่านแก่งต่างๆมากมายไปจนถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยใช้เวลาเดินทางถึง 4 วัน 3 คืน ในปี พ.ศ. 2504 

พ.ศ. 2504 ! 59 ปีมาแล้ว!

หลังจากนั้นไม่นาน ได้มีการสร้างเขื่อนสิริกิติ์กั้นลำน้ำน่านในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ ลำน้ำและแก่งส่วนหนึ่งที่คุณปราโมทย์เคยบรรยายถึงความงดงามไว้จมหายลงไปใต้น้ำลึก ไม่มีใครแน่ใจว่าจะมีอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง

และสำหรับตัวข้าพเจ้าเองนั้นก็เป็นการออกไปค้นหาส่วนหนึ่งของตำนานปรัมปรา ที่พ่อเคยเล่าให้ฟังเพียงแต่ว่าปู่ของข้าพเจ้าเคยล่องเรือตามแม่น้ำน่านลงไปค้าขายในสมัยที่ยังไม่มีถนนไปถึงเมืองน่านได้


เราเริ่มต้นการเดินทางครั้งนี้จากตำแหน่งที่เคยเป็นจุดสิ้นสุดของการเดินทางทุกครั้งที่ผ่านมา 

“แก่งหลวง” เป็นแก่งใหญ่และอันตรายที่สุดในแม่น้ำน่าน ลุงเสริมบอกว่าเมื่อก่อนนี้เคยเอาเรือหาปลาผ่านลงไปได้ แต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน น้ำป่าที่รุนแรงพัดพาเอาก้อนหินขนาดใหญ่ลงไปขวางกลางแก่งจนอันตรายเกินไปที่จะเอาเรือผ่าน 

ในยุคก่อนในสมัยที่ผู้คนยังต้องอาศัยแม่น้ำสายนี้เป็นเส้นทางหลัก เมื่อมาถึงแก่งหลวงผู้โดยสารทุกคนจะต้องลงจากเรือเดินไปยังท้ายแก่ง ในขณะที่คนเรือใช้เชือกช่วยกันค่อยๆจูงเรือผ่านแก่งไป และมีผู้คนไม่น้อยที่เอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่แก่งนี้ 

พวกเรามีกัน 8 คน ใช้เรือแคนู 3 ลำเดินทางออกจากท้ายแก่งหลวง เรามีสัมภาระกันมาน้อยนิดเพราะไม่รู้ว่าช่วงไหนจะต้องแบกเรือแบกของข้ามแก่งกันบ้างและเพื่อให้เรือเบาที่สุดในการเดินทางที่เราไม่รู้เส้นทางมาก่อน อาหารก็เอามาเท่าที่จำเป็นโดยหวังจะพึ่งพาอาหารธรรมชาติจากลำน้ำน่าน

พายล่องจากแก่งหลวงมาไม่นาน เราก็พบเข้ากับแก่งแรก แก่งที่ว่ากันว่าอันตรายที่สุดรองจากแก่งหลวง

ลุงเสริมลุกขึ้นยืนดูบนเรือหลายครั้ง

“ลงได้มั๊ยเนี่ยน้างบ”

ข้าพเจ้าล่องเรือกับลุงเสริมมานาน แต่ไม่เคยเห็นลุงเสริมกังวลเรื่องแก่งเท่านี้มาก่อนจึงลุกขึ้นดูบ้าง ด้วยความซุ่มซ่ามของผมเรือจึงโคลงเคลงจนผมเกรงว่าจะตกน้ำไปก่อนลงแก่ง

ยืนดูก็ไม่เห็นอะไรมากนัก แต่ด้วยความมั่นใจในฝีมือลุงเสริมและอยากให้ลุงเสริมมั่นใจ ก็เลยหันไปบอกว่า

“น่าจะได้นะ ไปกันเลย”

แก่งขามเทลงค่อนข้างชัน มีก้อนหินใหญ่ขวางทางสลับกันไปมา ข้าพเจ้าเห็นแล้วคิดในใจว่า ถ้าพายกันเองคัดท้ายเองคงไม่รอดแน่ แต่ลุงเสริมก็คัดท้ายหลบได้โดยเรือไม่กระแทกก้อนหินแม้แต่ครั้งเดียว

เรือทั้งสามลำของเราผ่านแก่งขามมาได้อย่างปลอดภัย มีการชนหินกันบ้างแต่ไม่มีอะไรร้ายแรง ในฤดูที่น้ำแรงกว่านี้แก่งขามน่าจะเป็นแก่งที่อันตรายมาก

จากแก่งขามมาได้ไม่ไกล เราก็มาเจอแก่งเล็กๆที่ต่อกันเป็นช่วงยาวๆสวยงามมาก ทางขวาเป็นเขาสูงที่เป็นจุดสังเกตชื่อว่า “ผาแดง”

เราผ่าน “ผาลิงโยน” โตรกเขาแคบที่อยู่ไกลๆทางด้านซ้ายมือ ตำนานเล่าว่า ที่มาของชื่อมาจากช่องเขานั้นแคบจนลิงป่ากระโดดข้ามได้ ครั้งหน้าเราอาจจะได้เดินไปดูใกล้ๆว่ามีลิงอยู่จริงหรือไม่

แก่งห้วยปงเป็นอีกแก่งที่สวยงามมากและสร้างความตื่นเต้นให้กับพวกเราอีกเล็กน้อย แต่เรายังคงไปกันต่อเพราะนั่นยังไม่ใช่จุดหมายของเราในวันนี้

ประมาณ 4 โมงเย็น เราก็มาถึงแก่งที่คุณปราโมทย์และลุงเสริมบรรยายไว้อย่างดงามจนข้าพเจ้าฝันอยากจะมาเห็นด้วยตาตัวเอง

“แก่งเจ็ดแคว” งดงามนัก ถูกห้อมล้อมไปด้วยเทือกเขารอบทิศ หินบริเวณแก่งเป็นหินหลากสีฉูดฉาด น้ำน่านไหลวนซอกซอนไปรอบๆก้อนหินที่เรียงรายอยู่กลางน้ำ

ร่องรอยรอบๆบอกเราว่าแก่งที่งดงามนี้บางครั้งจะจมอยู่ใต้น้ำที่เอ่อล้นขึ้นมาจากเขื่อนที่อยู่ท้ายน้ำลงไปหลายสิบกิโลเมตร จะโผล่ขึ้นมาให้เห็นในฤดูแล้ง

ตกค่ำ ลมพัดเอื่อย คลายความร้อนจากแดดตอนกลางวันไปได้ อาหารเย็นของเราวันนี้ มีปลาสดที่ได้รับความกรุณาจากสายน้ำมาลาบด้วยเครื่องแกงในตำรับของชาวน่านที่หอมกลิ่นมะแขว่น จิ้มด้วยข้าวเหนียวจากนาของพี่จรเองที่เพิ่งหุงร้อนๆส่งกลิ่นหอมกรุ่น 

“น้ำน่าน”ที่ใสราวกับน้ำกลั่นถูกส่งไปรอบวง “จิบแค่เจริญอาหาร”​ ลุงโชติบอก

อากาศเย็นขึ้นเรื่อยๆ ข้าพเจ้าเอนตัวลงนอนบนผืนผ้าพลาสติกที่ปูไว้บนหาดโล่ง หลังสัมผัสได้ถึงทรายนุ่มละมุนที่ยังคงอุ่นอยู่จากแสงแดดตอนกลางวัน เบื้องบนเต็มไปด้วยดาวคลุมท้องฟ้า

ประมาณสามทุ่ม พระจันทร์ดวงโตก็ขึ้นมาจากเขาด้านหลังแค้มป์ ส่องสว่างไปทั่วทั้งหุบเขา แสงจันทร์เป็นประกายระยิบบระยับเมื่อสะท้อนกับผิวน้ำน่านที่ตรงหน้า

ผมหันมองไปรอบตัว ตื่นเต้นกับความงามของธรรมชาติรอบตัวจนไม่อยากนอน ลุกขึ้นมานั่งชมอยู่สักพักก็ทนไม่ได้ต้องควานหาปากกาและสมุดบันทึกมาเขียนบรรยายถึงสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า

ค่ำคืนนั้นผมก็หลับไปบนหาดทรายโล่ง


ตอนเช้าอากาศหนาวเหน็บจนต้องนอนห่อตัวในผ้าห่ม พอตีห้ากว่าๆก็ต้องลุกขึ้นมานั่งผิงไฟ

พอนั่งลองข้างกองไฟ “ยาเจริญอาหาร” ของพี่โชติก็ถูกยื่นมาให้ทันที  พี่จิ่งกลับข้าวเหนียวที่นึ่งใหม่อยู่ในหวดควันฉุยหอมกรุ่น

ข้าพเจ้าเฝ้าดูการใช้ชีวิตของสหายชาวบ้านส้านกลุ่มนี้ทุกครั้งที่เราออกเดินทางร่วมกัน พวกเขามีชีวิตอย่างเรียบง่าย พึ่งพาธรรมชาติอย่างไม่ซับซ้อน มีข้าวของติดตัวแค่เท่าที่จำเป็น พวกเขาตื่นกันแต่เช้านั่งคุยนั่งหัวเราะในขณะที่ช่วยกันทำสิ่งต่างๆตระเตรียมสำหรับชีวิตในแต่ละวัน

ทุกอย่างดูง่ายและตรงไปตรงมา จนรู้สึกเหมือนว่าพวกเราคนเมืองเอาวิญญาณของอิสรภาพไปแลกสิ่งสมมุติปลอมๆ แล้วทำชีวิตให้ซับซ้อนโดยไม่จำเป็น

ในวงสนทนานั้นลุงเสริมเล่าให้ฟังว่า พ่อของลุงเสริมเป็นคนรับจ้างพายเรือขนสินค้าขึ้นล่องแม่น้ำน่าน

ประมาณว่าเมื่อ 70 ปีและก่อนหน้านั้นยังไม่มีถนนมาถึงเมืองน่าน เส้นทางเดียวที่จะขนข้าวของเครื่องใช้และค้าขายกับเมืองอื่นๆก็คือการล่องเรือผ่านแม่น้ำน่านที่เรากำลังเดินทางอยู่นี้

พ่อของลุงเสริม, ปู่พี่จร และอีกหลายคนของบ้านส้านในยุคนั้นมีความชำนาญเรื่องแม่น้ำมากกว่าใคร พวกเขาทำอาชีพรับจ้างพายเรือและถ่อเรือขนของจากน่านไปขายที่อุตรดิตถ์หรือกระทั่งเมืองพิษณุโลก ขาขึ้นก็ขนของเช่นน้ำมันก๊าด, ปลาทูเค็ม, เกลือ ฯ ถ่อเรือทวนน้ำกลับขึ้นมาสู่เมืองน่าน เดินทางแต่ละครั้งใช้เวลานานนับเดือน

“แล้วเขาขนอะไรจากเมืองน่านลงไปขายละครับ” ข้าพเจ้าถาม

ทุกคนนิ่งเงียบไปสักพัก เรื่องราวเหล่านั้นบอกเล่ากันมานานจนแทบจะลืมเลือนไป และแล้วลุงโชติผู้เป็นน้องชายคนเล็กของลุงเสริมก็นึกได้

“จำได้แล้ว พ่อบอกว่าเขาขนหมูเป็นตัวๆลงไปขาย เขาเลี้ยงที่เมืองน่านนี่แหละ”

“เดี๋ยวนะ พ่อผมก็เคยเล่าว่า ย่าเลี้ยงหมูแล้วปู่ขนใส่เรือไปขายที่อุตรดิตถ์ ขากลับก็ขนของกลับมาขายที่เมืองน่าน คงไม่มีกี่คนหรอกที่ทำอย่างนี้ ”​ 

น่าแปลกใจมากที่เรื่องราวปรัมปราของสองครอบครัวที่ไม่ได้รู้จักกันมากว่าหนึ่งชั่วอายุคนเช่นนี้จะมาบรรจบกันได้

บางทีการที่พวกเราได้ร่วมเดินทางด้วยกันอีกครั้งอาจจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ


เราออกเดินทางกันต่อในราว 9 โมงเช้า จุดมุ่งหมายในวันนี้คือการค้นหา “แก่งพันวา” ที่ลุงเสริมบอกว่าสวยกว่าแก่งเจ็ดแควนี้เสียอีกและคุณปราโมทย์ก็เขียนบรรยายไว้ว่ามีความสวยงามพอๆกับอันตราย

พอผ่านแก่งเจ็ดแควมาได้ เราก็เจอแก่งที, หาดท่าข้าม และวังล่าน

วังล่านเป็นแม่น้ำส่วนที่น้ำลึกและไหลช้ามากได้ชื่อมาจากหอยกาบล่านที่เคยมีอยู่เยอะในบริเวณนี้ น้ำช่วงนี้นิ่งยาวหลายกิโลเมตรจนเราเริ่มใจไม่ดีว่าแก่งที่อยู่เลยจากนี้ไปอาจจะโดนน้ำท่วมจมหายไปหมดแล้วก็เป็นได้

“ลุงเสริม เสียงน้ำครับ มีแก่งข้างหน้า”​ ข้าพเจ้าหันไปบอก

แก่งนั้นมีชื่อว่าแก่งผาแป๊ะ สวยงามพอควรเลย กว้างเต็มแม่น้ำ มีช่องน้ำไหลให้เรือลงได้ทั้งซ้ายขวา

จากนั้นน้ำก็นิ่งอีก พายเรือมาอีกพักใหญ่ก็ยังไม่เริ่มไหลจนเริ่มใจไม่ดีอีกครั้งกลัวจะไม่ได้เห็นแก่งพันวา และเราก็เห็นเหมือนแผ่นดินมาขวางหน้าแม่น้ำอยู่ไกลๆ

“น้ำแห้งไปไม่ได้แล้วกระมัง”​ลุงเสริมพูดขึ้นจนข้าพเจ้าใจหายวาบ ถ้าต้องแบกเรือจากตรงนี้ไกลแน่

“นั่นไงมีช่องทางขวา เป็นแก่งครับ” 

แก่งนั้นคือแก่งพริก จุดเริ่มต้นของแก่งพันวา

พอผ่านแก่งพริกไปได้และเลี้ยวโค้ง เราก็มองเห็นแก่งที่ยาวลดหลั่นกันไปสุดสายตา นี่แหละครับ “แก่งพันวา”​ใช่แล้ว แก่งสองพันเมตร

ในยามนี้น้ำน้อยมากจนแทบจะแห้งติดแก่งเราจึงสามารถค่อยๆพายเรือเลี้ยวลดไปตามแก่งชมความงามไปได้ตลอดทาง เราได้แต่จินตนาการว่าถ้าน้ำมากกว่านี้แก่งพันวาจะสวยงามและตื่นเต้นเร้าใจขนาดไหน

จากร่องรอยที่ตลิ่งสองข้าง เราพอจะเดาได้ว่าในฤดูน้ำหลากของปีที่น้ำมาก แก่งนี้จะจมอยู่ใต้น้ำหลายเมตรจนทำให้สภาพของแก่งเปลี่ยนไปจากที่คุณปราโมทย์บันทึกไว้เมื่อ 59 ปีก่อนเป็นอย่างมาก บางส่วนของแก่งเต็มไปด้วยทรายที่มาทับถม ต้นไม้ใหญ่สองข้างลำน้ำหายไปหมด แต่ก็นับเป็นความโชคดีในความโชคร้ายที่ปีนี้ความแห้งแล้งรุนแรงมากจนระดับน้ำในเขื่อนลดต่ำจึงทำเราได้เห็นแก่งนี้

แก่งห้วยเดื่อเป็นแก่งสุดท้ายที่เราได้เจอตรงท้ายแก่งพันวาพอดี จากนั้นเพียง 2-3 กิโลเมตรที่ปากห้วยเคียนเราก็เจอน้ำเอ่อของจริง

เราพายเรือไปบนน้ำที่นิ่งสนิทและกว้างขึ้นเรื่อยๆ พอหลังเที่ยงลมก็แรงมากจนเราพายต่อไม่ไหว

“โน่น เลี้ยวเข้าพักที่แพโน่นก่อน” ลุงเสริมตะโกนบอกเรืออีกสองลำ

แพเล็กๆนั้นช่วยให้เราหลบลมที่พัดกระหน่ำ ในแพมีข้าวของเครื่องใช้อยู่ครบครันและดูเหมือนเจ้าของจะไม่อยู่

ขณะที่เรานั่งปรึกษากันว่าจะเอายังไงต่อดี เรือหางยาวลำหนึ่งก็วิ่งตัดน้ำมาแต่ไกล

“นั่นลุงหลี” ลุงโชติตะโกนพร้อมกับชี้ให้เราดู

“ลุงหลี”เป็นสหายเก่าแก่ของลุงเสริมที่ไม่ได้เจอกันมานานนับสิบปี เดิมเป็นคนเวียงสาแต่ย้ายมาอยู่ปากนายนานแล้วและตอนนี้ก็หนีความวุ่นวายของปากนายมาผูกแพอยู่คนเดียวตรงนี้ ปากห้วยปั๋ง

เราตัดสินใจค้างกันที่แพนี้หลังจากลุงหลีบอกว่าแพนี้เป็นของลูกชายแกเองแต่เจ้าตัวไม่อยู่และพื้นที่ชายน้ำจากนี้ไปจนถึงปากนายล้วนเป็นโคลนเลน ไม่น่าจะมีหาดให้เราแค้มป์ได้

น่าแปลกใจอีกครั้งว่าจุดที่เราพักวันนี้กลายเป็นจุดเดียวกับที่คณะของคุณปราโมทย์มาตั้งแค้มป์พักเมื่อ 59 ปีก่อนโดยที่เราไม่รู้มาก่อน เพียงแต่ธรรมชาติงดงามของแก่งปั๋งที่คุณปราโมทย์บรรยายไว้นั้นจมหายไปในน้ำแล้วจนหมดสิ้น


วันรุ่งขึ้น เราออกเดินทางกันแต่เช้าเพราะลุงหลีเตือนว่าถ้าสาย ลมจะแรงเหมือนกับที่เราเจอเมื่อวาน

การเดินทางในวันนี้ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นอีกต่อไป สองข้างทางเต็มไปด้วยร่องรอยความพินาศจากการเก็บกักน้ำของเขื่อน ที่เคยท่วมสูงจากนี้ไม่ต่ำกว่า 10 เมตร หรืออาจจะถึง 20 เมตร เมื่อน้ำลดต่ำลงเช่นนี้ทำให้ตอไม้ที่ถูกตัด “ล้างอ่าง” เมื่อหลายสิบปีก่อนโผล่ขึ้นมาให้เห็นว่าแต่ก่อนนั้นป่าที่นี่สมบูรณ์เพียงใด

คงจะไม่ถูกต้องนักที่เราจะเอาความรู้, ความเข้าใจ และสถานการณ์ปัจจุบันไปตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน ในยุคที่ทุกอย่างแตกต่างไปจากวันนี้ และเขื่อนนี้ก็หล่อเลี้ยงผู้คนทั้งในชนบทและในเมืองใหญ่มาตลอดเวลาอันยาวนานแล้ว

แต่ในทางกลับกัน ก็คงไม่เหมาะสมที่จะเอาวิธีแก้ปัญหาที่ใช้เมื่อ 50ปีก่อนมาใช้ในปัจจุบันอีกทั้งๆที่เราได้เห็นและเข้าใจผลกระทบของมันเช่นนี้แล้ว

เรามาถึงหมู่บ้านปากนายหมู่บ้านหมู่บ้านชาวประมงริมอ่างเก็บน้ำกันตั้งแต่ก่อนเที่ยง ด้วยความที่เราปลีกวิเวกไปอยู่กลางป่ากันเสีย 3 วัน 2 คืน ทำให้เรารู้สึกแปลกแยกเมื่อกลับมาสู่ชุมชนอีกครั้งแม้จะเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ทุกคนดูจะเงียบไปด้วยความรู้สึกเดียวกันที่ไม่อยากให้การเดินทางครั้งนี้จบลง

เราเดินทางด้วยเรือแคนูจากแก่งหลวงมาถึงปากนายรวมระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร ถ้ารวมเส้นทางที่เราเคยเดินทางจากบ้านส้านมาถึงแก่งหลวงในครั้งก่อนๆ ก็จะเป็นเส้นทางยาว 90 กิโลเมตร แต่ก็ยังเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของระยะทางเดิมจากน่านถึงอุตรดิตถ์ และไม่ถึงหนึ่งในสามของเส้นทางไปถึงพิษณุโลก

การเดินทางครั้งนี้เป็นทั้งการเดินทางตามหาตำนานของการล่องแก่งแม่น้ำน่านในอดีต การเดินทางตามเรื่องเล่าของของบรรพบุรุษทั้งทางฝั่งของชาวบ้านส้านและของข้าพเจ้าที่เคยเกี่ยวข้องผูกพันกันโดยที่เราไม่เคยรู้มาก่อน และเรื่องเหล่านี้กลายเป็นตำนานที่บอกเล่ากันเพียงในครอบครัว มีคนรู้น้อยลงทุกทีและก็คงจะถูกลืมเลือนไปในไม่ช้า

แม้จะดูน่าตื่นเต้นสำหรับคนยุคนี้ แต่การเดินทางของเราเทียบได้เพียงเศษเสี้ยวของการเดินทางอันยิ่งใหญ่ในยุคก่อนที่บรรพบุรุษของเราล่องเรือสินค้าผ่านแก่งอันเชี่ยวกราก, ป่าดิบดงทึบ และภยันตรายสารพัดเพื่อหล่อเลี้ยงครอบครัวของพวกเขาให้สืบต่อมาเป็นเราได้ในวันนี้

แต่กระนั้นมันก็ยังเป็นการเดินทางเพื่อเล่าขานตำนานของการล่องแก่งแม่น้ำน่านอีกสักครั้ง ก่อนที่มันจะเลือนหายไปตลอดกาล

หมายเหตุ: ถ้าคุณอยากไปพายเรือที่แม่น้ำน่านบ้าง ไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ สหายของผมชาวบ้านส้านมีเรือแคนูที่พร้อมจะพาคุณล่องแม่น้ำไปได้ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook “แคนูแม่น้ำน่าน” ได้เลยครับ


ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

คุ้มครองแต่ไม่เคยให้คุณค่า ตอน นกกรงหัวจุก

ผมเฝ้ามองการโต้เถียงกับเรื่องนกกรงหัวจุกหรือนกปรอดหัวโขน ระหว่างฝ่ายผู้เลี้ยงนกและ “นักอนุรักษ์” มาพักใหญ่แล้วในเรื่องว่า จะให้นกกรงหัวจุกคงอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือจะปลดออก หลายคนคงมองว่านี่เป็นความขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้ แต่ผมกลับมองว่าถ้าเราเปิดใจมองร่วมกันและยอมรับวิธีคิดใหม่ๆ (ที่ประเทศอื่นเขาทำกันมานานแล้ว) เรื่องของนกกรงหัวจุกอาจจะเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงให้การอนุรักษ์ของประเทศนี้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเสียทีนะครับ ก่อนจะเข้าเรื่องนกกรงหัวจุก ผมขอเล่านิทานให้ฟังสักเรื่องหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งเบื่อ อย่าเพิ่งมองว่ามันไม่เกี่ยวกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า พี่น้องสองคนทะเลาะกันเพราะแย่งส้มผลสุดท้ายในบ้าน ถึงขั้นตบตีกัน เสียงดังไปถึงแม่ แม่พยายามเจรจาให้แบ่งกันคนละครึ่งลูกก็ไม่มีใครยอม ต่างคนต่างบอกว่าต้องใช้ทั้งลูก นานเข้าพ่อที่นั่งเล่นของเล่นอยู่ทนรำคาญเสียงไม่ได้ จึงเดินมาแยกลูกสาวทั้งสองที่เริ่มจะจิกหัวฟัดกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แล้วถามรายละเอียด บอกพ่อหน่อยว่าจะเอาส้มไปทำอะไร  คนพี่สาวก็บอกว่าจะทำแยมส้ม ส่วนน้องสาวบอกจะทำน้ำส้ม เมื่อคุยกันเช่นนี้พ่อก็ปอกเปลือกส้มให้ลูกสาวคนโตไปทำแยม แล้วก็เอาเนื้อส้มให้ลูกสาวคนเล็กไปคั้นน้ำ ลงตัวไปได้ทั้งสองคน ส่วนพ่อก็เอาเมล็ดส้มไปปลูกไว้ข้างบ้านต่อไปจะได้ไม่ต้องแย่งส้มผลสุดท้ายกันอีก นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าเราคุยกันดีๆมันจะมีทางออกที่ไม่ต้องมีคนแพ้คนชนะ แต่มันจะมองไม่เห็นเวลาทะเลาะกันจนหน้ามืด ใครยังไม่ได้ติดตามข่าวยังไม่รู้เรื่องความขัดแย้งของนกกรงหัวจุก...

นิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้หนังสือรายเดือนของ “นิยมไพรสมาคม” มาจากมิตรสหายหลายเล่มและกำลังทะยอยอ่านอย่างบรรจง (เพราะหนังสือเหล่านี้มีอายุ 65 ปี แทบจะกรอบเป็นผงอยู่แล้ว)   ผมอ่านแล้วตื่นตะลึงมากครับ ผมเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลมาบ้างว่าท่านสร้างสรรค์ส่งดีๆไว้มากมาย แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องนิยมไพรสมาคมมากนัก  และดูเหมือนว่าเรื่องราวของสมาคมนี้ได้เลือนหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยแล้ว  เลยขอมาเล่าเรื่องหลายอย่างสู่กันฟังถึงประวัติศาสตร์สำคัญของการอนุรักษ์ในบ้านเราที่กำลังจะลืมเลือนไป ในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยยังไม่รู้จักกับคำว่า “อนุรักษ์” ใดๆเลย (ในหนังสือก็ยังไม่มีคำนี้) ตอนนั้นใครอยากจับจองที่ตรงไหนก็ไปแจ้งที่อำเภอแล้วก็ลงมือถาง สัตว์ป่าทุกชนิด (ยกเว้นช้าง) ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครอง ใครอยากล่าอะไรด้วยวิธีไหน...

Editor ใช้ Award เดินป่า โดยตาเกิ้น

พวกเราที่ ThailandOutdoor มีความโชคดีที่เราได้มีโอกาสทดสอบทดลองอุปกรณ์กลางแจ้งมากมาย และก็จะมีของบางอย่างที่เราทดสอบแล้วชอบจนซื้อไว้ใช้เอง เราเรียกของเหล่านั้นว่า "Editor ใช้ Award"  และนี่คือ "Editor ใช้ Award" ปี 2022 จากตาเกิ้นครับ VDO ยาวนะครับเพราะอธิบายกันทุกอย่างรวมถึงเหตุผลที่เลือกใข้ในสถานการณ์ต่างๆกัน เราแบ่งเป็นช่วงๆให้เลือกดูกันได้ครับ ตามนี้เลย บางคนอาจจะบอกว่าผมใช้แต่ของแพงๆหรูๆ ก็อาจจะจริง หรือไม่ แล้วแต่มุมมองครับ ทุกอย่างในชีวิตเราล้วนแล้วแต่ขึ้นกับว่าเราให้ลำดับความสำคัญกับอะไร  สำหรับผมแล้ว ผมไม่ได้ซื้อของอื่นหรูหราอะไร แต่การออกมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การเดินป่า คือความสุขในชีวิตผม ผมจึงเลือกใข้แต่ของดีๆ...

ไปเรียนหลักสูตรปืนพกต่อสู้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

ผมเขียนบทความนี้ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2552 เขียนข้างหลังกระดาษสำเนา ป.4 (ทะเบียนปืน) ในช่องยิงทันทีที่เรียนเสร็จ เขียนด้วยความประทับใจของการสอนยิงปืนในคอร์สนี้ ถึงวันนี้แม้ว่าหลายๆอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ผมยังคงข้อความทุกอย่างที่เขียนในบทความนี้ไว้อย่างเดิมรวมทั้งรูปภาพเดิมที่อาจจะไม่ชัดนัก ด้วยความตั้งใจปัจจุบันโรงเรียนสอนยิงปืนแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมยิงปืนเขาสามยอด ยังตั้งอยู่ที่สถานที่เดิมในค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี สอนมาต่อเนื่องถึง 14 ปีแล้วถ้านับถึงวันนี้ หลักสูตรพัฒนาไปมาก และมีถึง 8 หลักสูตรให้เรียนได้ตามลำดับขั้น และยังสอนโดยหัวหน้าชุดครูท่านเดิมที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะให้คนไทยได้เรียนรู้การใช้อาวุธปืนได้อย่างถูกต้องผมเชื่อว่าที่นี่คือโรงเรียนสอนยิงปืนที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถเรียนได้ในประเทศไทย ผมเขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้ที่ตอนท้ายของบทความนี้ครับ ในสังคมที่บิดเบี้ยวมากขึ้นทุกวัน ดูเหมือนพวกเราสุจริตชนจะต้องเสี่ยงกับภัยคุกคามรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโจร...

Most Popular

%d