Monday, May 29, 2023
Homeความคิดและมุมมองปัญหาที่หนักหนาที่สุด คือเราไม่เข้าใจปัญหา

ปัญหาที่หนักหนาที่สุด คือเราไม่เข้าใจปัญหา

-

ปัญหาที่หนักหนาที่สุด คือเราไม่เข้าใจปัญหา

แล้วก็มักจะลากกันไปผิดประเด็น และไม่รู้จักจัดลำดับความสำคัญ

ปรกติผมไม่ค่อยได้ติดตามเรื่องราวในโซเชี่ยล ก็ไม่เลยไม่เข้าใจอยู่หลายวันว่าทำไมคนถึงพูดกันว่า ไข่เจียวเขาเรียกไข่ทอด และถกเถียงกันเรื่องราคาโซล่าเซล

และปรกติผมจะไม่ออกความเห็นในเรื่องที่เป็นประเด็นในโซเชี่ยล เพราะมักจะมี “คนรู้” เยอะอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าพอจะรู้กับเขาอยู่บ้าง เลยขอออกความเห็นสักหน่อยครับ

ไม่ใช่เรื่องไข่ทอดหรือโซล่าเซลนะครับ แต่เป็นเรื่องวิถีชีวิตของคนในชนบทผมโชคดีที่ได้มีโอกาสได้คลุกคลีกับเพื่อนๆที่อยู่กับป่าอยู่บนดอยมาบ้าง และล่าสุดที่น่าสนใจมากก็คือ ผมมีโอกาสได้ไปนั่งฟังงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เกี่ยวกับชุมชนในจังหวัดน่าน

น่าสนใจมากครับ เพราะอาจารย์หลายท่านใช้เวลากว่า 2 ปีทำงานอยู่กับชาวบ้านจนเข้าใจรากของปัญหา และพยายามช่วยกันหาทางแก้ปัญหานั้นบ้านน้ำปี้และบ้านวนาไพรอยู่ในเขตอุทยานฯศรีน่าน ที่อยู่ในเขตอุทยานฯก็เพราะอยู่มาก่อนนานแล้วอุทยานฯมาประกาศล้อม

ทีมงานวิจัย พบว่าชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านนี้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่งขาย หลังจากปลูกข้าวโพดมาสิบกว่าปี แต่ละครัวเรือนมีหนี้สินโดยเฉลี่ยกว่า 5 แสนบาท! จะเลิกปลูกก็ไม่ได้เพราะหนี้ท่วมตัว ติดอยู่ในวงจรอุบาท จะทำอย่างอื่นสภาพพื้นที่ก็ไม่อำนวย ที่จะขายก็ไม่มี ขายข้าวโพดได้ไม่พอ ต้องกู้เงินมาซื้อข้าวกิน จนมีคำพูดที่ว่า พอวางช้อนก็ต้องไปกู้เงินมาซื้อข้าวมื้อต่อไป

ตรงนี้คือปัญหาครับ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การกดราคาจากนายทุนจากระดับเจ้าสัวไปจนถึงระดับล่าง

ปัญหาและสิ่งที่จำเป็นอันดับต้นๆของเขาและหมู่บ้านที่คล้ายๆกันนี้อีกกว่า 4,000 หมู่บ้านในประเทศไทย ย่อมไม่ใช่การอยากกินไข่ทอด, อยากดูทีวีที่มีแต่การใบ้หวยและขายผลิตภัณฑ์เสริมความงาม แต่หากเป็นการหาวิธีให้เขาสามารถมีอาหารกินได้เองไม่ต้องซื้อและอยู่กับธรรมชาติรอบๆตัวเขาให้ได้ อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ยืนรอคนไปหยิบยื่นให้ อย่าบอกให้เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่กินไข่นะครับ ข้าวยังไม่มีจะกินจะเอาอะไรมาให้หมูให้ไก่กินครับ

โชคดีอยู่บ้างที่มีคนเข้าใจปัญหานี้ พี่ฉิม บัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ทำงานมานานนับปีเพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำและสามารถทำนามีข้าวกินเองได้คนดีย่อมดึงดูดคนดี มีอาจารย์และนักวิชาการอีกหลายท่านเข้าไปช่วยพี่ฉิมและชาวบ้าน บางคนมาช่วยเรื่องน้ำ, บางคนมาช่วยเรื่องพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ บางคนมาช่วยสร้างอาชีพเสริม

การทำให้น้ำธรรมชาติไหลอยู่ได้ทั้งปีคือชีวิตของคนทั้งหมู่บ้าน

2 ปีที่ผ่านมานี้ 2 หมู่บ้านนี้มีข้าวกินเองแล้วไม่ต้องกู้เงินไปซื้อ หนี้สินเริ่มลดลง แต่รายได้ก็ลดลงไปด้วยเพราะเขาปลูกข้าวโพดน้อยลง ตอนนี้เราถึงเริ่มคุยกันว่าจะสร้างอาชีพเสริมอะไรให้ชาวบ้านได้อีกบ้าง

เรื่องนี้มีรายละเอียดอีกเยอะ ต้องลงมือทำกันอีกยาวครับ แต่ผมมาเล่าให้ฟังเพื่อจะบอกว่า สาระสำคัญของปัญหาชนบทไม่ใช่แค่ เรื่องของไข่ทอด, ไม่ใช่เรื่องต้องดูทีวี หรือมีโซล่าเซล

แต่ปัญหาอยู่ที่คนเมืองอย่างเราไม่เคยเข้าใจปัญหา แล้วเอาวีถีสมมุติของเราไปเป็นบรรทัดฐานและไปสร้างปัญหากันเสียเอง

อ่านแล้วไม่ต้องมาดราม่ากับผมนะครับ ถ้าอยากเห็นของจริงผมจะพาไป แต่ถ้าพาไปเห็นแล้วต้องลงมือช่วยแก้ปัญหาไปด้วยกันนะครับ

นาที่นาเกียนอุดมสมบูรณ์มากครับ หมู่บ้านนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลยครับ

ปล. ภาพประกอบนี้ไม่ได้มาจากน่าน แต่มาจากแถวๆบ้านนาเกียนที่เป็นประเด็นอยู่นี่แหละครับ จะบอกให้ว่าหมู่บ้านนี้เป็นที่ในอุดมคติมาก อยู่ที่สูงกว่า 1,000 เมตร ห้อมล้อมไปด้วยป่า น้ำท่าอุมสมบูรณ์ ปลูกข้าวได้มาก มีโครงการหลวงมาช่วยให้ปลูกกาแฟพร้อมทั้งรับซื้อ ผมยินดีที่จะไปใช้ชีวิตอยู่ที่นี่โดยยอมแลกกับการไม่กินไข่เจียวและไม่ดูทีวีไปตลอดชีวิตเลยครับ

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

ต้นแบบของสุภาพบุรุษกลางแจ้ง

จาก อลัน ควอเตอร์เมน จนถึง รพินทร์ ไพรวัลย์ และ Indiana Jones ถ้าจะพูดถึงชื่อหนึ่งที่มีบทบาทเป็นตัวอย่างของสุภาพบุรุษกลางแจ้งมานับร้อยๆปี ก็คงต้องเล่าถึง อลัน ควอเตอร์เมน ครับ อลัน ควอเตอร์เมน (Allan Quatermain) เป็นตัวละครเอกในนิยายเรื่อง King Solomon’s Mine ที่เขียนโดยนักเขียนชาวอังกฤษ H. Rider Haggard (Sir...

The Outsiders

ในเวลาหนึ่งผมเคยเขียนในบทความไว้ว่า “หมู่บ้านในนิทาน” หรือ “Shangri-la” ในนวนิยายเรื่อง Lost Horizon ของ James Hilton นั้นมีอยู่จริงในมุมเล็กๆของโลกใบนี้ หลายคนได้ค้นหามันจนเจอ แต่แล้วพวกเขาก็เป็นคนทำให้มันสูญหายไปด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนให้หมู่บ้านในนิทานนั้นให้ “ดีขึ้น” โดยการนำสิ่งที่เขาคิดว่าดีงาม จากที่ที่เขาคุ้นเคยเข้าไป การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ การถ่ายเทวัฒนธรรมในโลกใบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณและยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วขึ้นในทุกวันนี้ด้วยการเดินทางและการสื่อสารในยุคใหม่ แต่สิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาสู่สังคมที่คงสภาพเดิมมาอย่างผาสุขยาวนานย่อมมีทั้งดีและไม่ดี และที่สำคัญหลายคนที่พยายามนำมันเข้าไปอาจจะไม่เคยถามคนดั้งเดิมของสังคมว่ามันเป็นประโยชน์ให้กับพวกเขาแค่ไหน เขาต้องการมันหรือไม่

Salmon Fishing ที่นอร์เวย์

ผมรัก Fly Fishing เพราะมันพาผมไปอยู่ในที่สวยที่สุดในโลกหลายๆแห่งที่น้อยคนจะได้เห็น ครั้งนี้มันพาผมไปตกปลาแซลม่อนที่แม่น้ำที่งดงามของ Norway ผมได้ไปสัมผัสกับเรื่องราวของปลาแซลม่อนที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลกใบนี้ แต่คนเรากลับมองข้ามความสำคัญของมันและทำลายความอุดมสมบูรณ์ที่ล้ำค่านี้ไปจนเหลือเพียงเศษเสี้ยวของที่เคยมีในอดีต

Fly Fishing Yellowstone

ทริปตกปลาที่ Yellowstone National Park ที่ที่หลายคนเรียกว่า Shangri-la ของนักตกปลาเทร้าท์

Most Popular

%d bloggers like this: