Friday, April 19, 2024
HomeDestinationCampดูช้างป่ากุยบุรี ซาฟารีสุดสัปดาห์

ดูช้างป่ากุยบุรี ซาฟารีสุดสัปดาห์

-

ขึ้นห้าง

รถแลนด์โรเวอร์ของเราทั้งสองคัน วิ่งตามกันไปบนถนนดินที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำฝนที่ตกลงมาปรอยๆเกือบทั้งวัน เส้นทางในป่านั้นยาวประมาณห้ากิโลเมตรวิ่งเป็นวงรอบในเขตป่าพิเศษผืนนี้ สองข้างทางที่เราวิ่งผ่านเป็นป่าโปร่งสลับทุ่งหญ้าเขียวขจี

หลังจากรถทั้งสองคันดิ้นสลัดหลุดจากปลักโคลนตื้นๆขึ้นมาพ้นเนิน ผมก็ชะลอรถลงก่อนจะถึงต้น มะขามใหญ่ที่อยู่ด้านหน้า

ห้างที่เราจะนั่งกันอยู่บนต้นมะขามนั้นครับ” ผมพูดขึ้นกับพี่ใหญ่ เพื่อนสนิทคนหนึ่งที่พาครอบครัวเดินทางมาด้วยกันในครั้งนี้  น้องอิงวัยแปดขวบและน้องอังวัยห้าขวบ ลูกชายสองคนของพี่ใหญ่ ตื่นเต้นเป็นพิเศษเพราะมาเที่ยวป่าครั้งนี้เป็นครั้งแรก และมีคำถามให้คุณแม่คอยตอบอยู่ตลอดเวลา
img_0926

ห้าง” ดูสัตว์ในป่านั้นแตกต่างจาก “ห้างสรรพสินค้าในกรุงที่ทั้งสองเด็กคุ้นเคยมากนัก สิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าจะเรียกว่าเป็นแคร่ลอยฟ้าที่สร้างอยู่บนยอดไม้ก็พอได้ ในป่าพิเศษแห่งนี้มีห้างดูสัตว์กระจายอยู่ตามบ่อน้ำหรือโป่งดินถึงสิบกว่าห้าง วันนี้เราเลือกมานั่งรอดูสัตว์กันห้างที่เรียกกันว่าบ่อห้า” เนื่องด้วยเป็นบริเวณที่มีทั้งทุ่งหญ้าและบ่อน้ำอยู่ติดชายป่า นอกจากนี้ยังเป็นห้างที่นั่งได้หลายคนและปีนขึ้นง่ายที่สุดอีกด้วย

บันไดไม้ที่สร้างอย่างแข็งแรงพาเราขึ้นไปบนห้างที่สร้างไว้บนต้นะขามใหญ่สูงจากพื้นราวสี่เมตร แม้จะดูสูงมากยามปืนป่าย เมื่อนั่งข้างบนแล้วกลับรู้สึกว่าห้างนั้นเตี้ยเหลือเกินถ้าหากฝูงช้างป่ามาปรากฎอยู่ตรงหน้า

และการรอคอยอย่างใจจดจ่อก็เริ่มขึ้น

img_0928

ป่าพิเศษ

ป่าพิเศษ” ที่เรากำลังอยู่นี้ไม่ใช่ป่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่หากเป็นในผืนป่าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ป่ากุยบุรีก็เหมือนกับป่าอื่นๆในประเทศไทยที่เคยมีอดีตที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าดิบดงทึบและสัตว์ป่า แต่เมื่อเราใช้ทรัพยากรกันอย่างลืมตัวเพียงไม่กี่ปี ป่าที่เคยมีอยู่นับร้อยนับพันปีก็หายไปหมดสัตว์ป่าก็แทบไม่มีเหลือให้เห็น

กว่าที่จะมีการสำรวจจัดตั้งอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พื้นที่เกือบทั้งหมดก็ผ่านการทำสัมประทานตัดไม้ใหญ่ และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือป่าที่ราบทั้งหลายในบริเวณนี้ก็ถูกจับจองไปเป็นไร่สัปปะรดจนหมดสิ้น พื้นที่อุทยานที่กันไว้ได้จึงเหลือแต่เพียงพื้นที่เขาลาดชันซึ่งเชื่อมต่อไปยังเทือกเขาตะนาวศรีชายแดนชายแดนพม่า

เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกพื้นที่ของโลก เมื่อสภาพธรรมชาติเสื่อมโทรมถึงขีดสุดก็นำมาซึ่งสงครามแย่งชิงทรัพยากรที่เหลืออยู่ แต่ในครั้งนี้เป็นการเกิดขึ้นระหว่างคนกับช้างป่า

จุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งย้อนไปตั้งแต่ช่วงปีพ.. 2525-2528 ที่มีการขยายพื้นที่เพื่อปลูก สับปะรดในพื้นที่ราบเกือบทั้งหมดจนติดขอบป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี(ในขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติกุยบุรี)  แต่ในปลายช่วงเวลานั้นเอง ราคาสับปะรดเกิดตกต่ำจนเจ้าของไร่ต้องทิ้งร้าง เมื่อถึงช่วงฤดูกาลเคลื่อนย้ายจากภูเขาลงมา ช้างป่าเดินผ่านได้เข้าไปกินสับปะรดและรู้จักรสชาติอันหอมหวานเป็นครั้งแรกเนื่องจากไม่มีเจ้าของไร่เฝ้าอยู่

หลังจากนั้นมาเป็นช่วงเวลาที่ราคาสับปะรดสูงขึ้นอีกครั้ง เจ้าของไร่จึงกลับเข้ามาปลูกสับปะรด ประกอบกับเหตุการณ์สู้รบทางฝั่งประเทศพม่าทวีความรุนแรงขึ้น ช้างป่าจึงต้องอพยพเข้ามาติดเกาะอยู่ในป่าเขตไทย ด้วยความที่ป่าเขตนี้เหลือแต่เพียงพื้นที่ภูเขาสูงชันและถูกล้อมไว้ด้วยไร่สับปะรดทำให้เร่ิมมีช้างป่าเริ่มออกมาหากินในไร่บ่อยครั้งมากขึ้นจนชาวไร่ต้องนอนเฝ้าคอยไล่ช้างในเวลากลางคืน

img_0925

การขัดแย้งมารุนแรงที่สุดในช่วงปี .. 2540-2545 ที่ช้างป่ามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาหากินบริเวณชายป่าใกล้ไร่สับปะรดนานขึ้น ปรากฏตัวนอกพื้นที่ป่ามากขึ้นจนนำไปสู่พฤติกรรมหากินในพื้นที่เปิดโล่งติดกับไร่สับปะรดทุกวัน และเข้ามากินสับปะรดของชาวไร่ในเวลากลางคืนเกือบจะทุกคืน กลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้างป่า ที่สำหรับชาวไร่อาจะหมายถึงการสิ้นเนื้อประดาตัวในช่วงเวลาเพียงข้ามคืน และสำหรับช้างคือการบาดเจ็บหรือสูญเสียถึงชีวิต ในช่วงเวลาดังกล่าวมีช้างป่าถูกทำร้ายจนตายนับสิบตัวจนเป็นข่าวใหญ่โตทางหน้าหนังสือพิมพ์ และเป็นจุดที่คนไทยรู้จักกุยบุรีเป็นครั้งแรก ข่าวนั้นดังเหมือนพลุ แล้วก็ดับเงียบไปเช่นเดียวกับพลุ ขณะที่คนส่วนใหญ่ลืมข่าวช้างตายที่กุยบุรีไปในไม่กี่วัน แต่ความขัดแย้งยังคงอยู่

นับเป็นโชคดีของชาวไร่กุยบุรีและช้างป่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นปัญหานี้ จึงได้พระราชทานพระราชดำริ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าว เพื่อที่ช้างป่าจะได้ไม่ออกมารบกวนพื้นที่ให้เสียหาย ไม่ก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างคนและช้างอีกต่อไป จึงได้เกิด โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นตั้งแต่พ.. 2541

2cdb27ba914de37e

แนวทางการแก้ไขปัญหาที่พระองค์ท่านทรงชี้แนะนั้นไม่ได้ทำด้วยการตัดสินว่าใครถูกใครผิด ใครบุกรุกพื้นที่ใครต้องย้ายออก แต่หากเป็นการสร้างความสมบูรณ์ของพื้นที่ให้ช้างและคนอยู่ร่วมกันได้ โดยที่มิได้ต้องทุ่มเทงบประมาณแผ่นดินลงไปให้เกินเลย

หัวใจสำคัญของโครงการณ์นี้เริ่มที่การสร้างแหล่งอาหารให้กับช้าง โดยมีการกันพื้นที่ราบในร่องหุบเขาตอนเหนือประมาณ สองหมื่นไร่ให้เป็นพื้นที่อาศัยของช้าง จากนั้นจึงสร้างแหล่งน้ำแหล่งอาหารโดยการขุดบ่อสร้างฝายขนาดเล็กสร้างโป่งเทียม และปลูกพืชอาหารในพื้นที่นั้น เพื่อให้มีอาหารและน้ำที่เพียงพอทั้งปีสำหรับช้างและสัตว์ป่าอื่นโดยที่ไม่ต้องออกมาหาอาหารนอกพื้นที่

ในขณะเดียวกันก็มีการช่วยเหลือชาวไร่โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อจะได้มีน้ำสำหรับเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปีและมีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โครงการพระราชดำรินี้ไม่ได้ทำกันอย่างอภิมหาโปรเจค แต่หากเป็นการร่วมมือและเอาใจใส่จากหลายฝ่ายตามแนวทางพระราชดำริที่ทรงชี้แนะให้ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเฝ้าดูแลให้ธรรมชาติฟื้นตัวขึ้นมาเอง  ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี ในเวลา10 ปีที่ผ่านมานี้ ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างแม้จะไม่ถึงกับสลายไปเสียทั้งหมด แต่ก็บรรเทาลง ถึงแม้จะมีช้างออกมายังไร่สับปะรดนอกพื้นที่บ้างแต่ก็ลดน้อยลงมาก นอกจากนี้ผืนป่ากุยบุรีได้กลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และพลิกฟื้นจากพื้นที่ๆมีปัญหารุนแรงกลับมาเป็นแหล่งสัตว์ป่าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย

จากการสำรวจครั้งล่าสุด อุทยานแห่งชาติกุยบุรีมีช้างกว่า 160  ตัว กระทิงกว่า 60 ตัว มีความสมบูรณ์ของสัตว์ผู้ล่าทั้งเสือโคร่งและเสือดาว และส่วนใหญ่ก็อยู่ใน “ป่าพิเศษ” แห่งนี้

ป่าพิเศษ” ที่ในหลวงทรงพระราชทานให้กับเราทุกคน

ช้าง

การรอคอยสองชั่วโมงนั้นอาจไม่ยาวนานเมื่อเทียบกับเวลาสิบปีที่ใช้ในการฟื้นฟูป่าผืนนี้ แต่ก็เป็นเวลายาวนานมากสำหรับเด็กวัยกำลังซนสองคนที่จะต้องพยายามนั่งนิ่งๆเงียบและคอยสอดส่องสายตาหาช้างในพื้นที่ป่ารอบตัว

นั่น ไงครับป่ะป๊า ช้าง ” น้องอังหน้าตาตื่น ชี้ไปที่ชายป่าที่ส่องกล้องดูอยู่เมื่อครู่

จุ๊ จุ๊” น้องอิงเอามือจ่อปากส่งสัญญาณให้น้องชายเบาเสียงลง

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ช้างป่าตัวนั้นเดินอยู่ในพงไม้ชายป่า อีกฟากหนึ่งของบ่อน้ำ การเฝ้าดูช้างป่าในธรรมชาติ ต่างกันมากกับการเห็นช้างเดินอยู่บนถนนกลางเมืองใหญ่เดินดึงใบไม้ใบหญ้าข้างทางเข้าปากบอกให้รู้ถึงอากัปกริยาที่ผ่อนคลาย ร่างกายใหญ่โตที่ปราศจากพันธนาการใดๆบ่งบอกถึงอิสรภาพในป่าใหญ่ซึ่งเป็นบ้านที่แท้จริง ช้างตัวนั้นชูงวงพ่นลมไล่แมลงบนหลัง และสะบัดหัวไปมา

หลังจากเดินให้ยลโฉมอยู่พักใหญ่ช้างป่าตัวโตก็หลายกลืนเข้าไปในดงไม้ด้านหลัง

ป่ะป๊าครับ ลองเอามือจับหน้าอกอิงดูซิครับ ใจเต้นตุ๊บๆ เลย เมื่อไหร่เขาจะออกมาให้เห็นชัดๆล่ะครับ

รอดูอีกสักพักซิครับ เดี๋ยวเขาอาจจะลงมาที่บ่อน้ำ

ไม่ไหวแล้วครับ อังตื่นเต้นจนปวดฉี่แล้วครับ ป่ะป๊า

อ้าว แล้วกัน

แค้มป์อันอบอุ่น

จากการไปนั่งห้างเฝ้าดูช้างที่หน่วยป่ายาง ก่อนที่จะมืดสนิทเราขับรถมาตั้งแค้มป์กันที่ชายป่าในที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรีที่ห่างออกมาประมาณ 15 กิโลเมตร ที่นี่นอกจากจะมีลานโล่งบรรยากาศดีสำหรับกางเต๊นท์และมีห้องน้ำสะอาดอยู่ไม่ไกลแล้ว ยังปลอดภัยจากฝูงช้างป่าอีกด้วย

_dsf2825-2009-08-01-at-09-20-45

ป๊ะป๊าครับ แบตเตอรี่หมดแล้วครับน้องอัง หนุ่มน้อยวัยห้าขวบเดินน้ำตาคลอออกมาจากเต๊นท์ ในมือเขามีเครื่องเล่นเกมส์ขนาดกระทัดรัดที่กำลังนิยมกัน

ป๊ะป๊า” ปลอบลูกชายคนเล็กแต่ในแววตาแฝงไว้ด้วยเสียงหัวเราะอย่างถูกใจที่ลูกชายจะเลิกเล่นเกมส์ที่ติดงอมแงม แล้วมาสนใจธรรมชาติรอบข้างบ้าง

เด็กเดี๋ยวนี้โตขึ้นมากับเกมส์คอมพิวเตอร์ และรายการโทรทัศน์ ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในชีวิตประจำวันของคนที่เป็นพ่อแม่ วันคืนดูเหมือนจะหมุนผ่านไปอย่างรวดเร็ว เผลอนิดเดียวหมดเดือน เผลออีกทีก็หมดปี บางคนลืมตัวไปนิดเดียวลูกชายลูกสาวที่วันธรรมดาไปโรงเรียน เสาร์อาทิตย์ไปเรียนพิเศษก็โตเป็นหนุ่มเป็นสาว

ป่ากุยบุรีเป็นตัวอย่างชัดเจนที่ให้เราเห็นว่า เพียงเราเผลอใช้ธรรมชาติกันไม่กี่ปี ความสมบูรณ์ของป่าใหญ่ก็หมดลงเพียงชั่วพริบตาและต้องใช้ความตั้งใจความทุ่มเท และเวลากว่าสิบปีที่จะฟื้นคืนกลับมาถึงจุดนี้ แต่โอกาสและเวลาที่ดีๆที่เราจะมีกับลูกในวัยเด็กเล่า หากสูญเสียไป เงินทองและความพยายามแค่ไหนก็ไม่สามารถเรียกวันคืนเหล่านั้นกลับมา

_dsf2750-2009-08-01-at-06-04-04-1

แสงตะเกียงส่องสว่างนวลไปทั่วแค้มป์ ความมืดเข้าปกคลุมชายป่ารอบด้านจนมืดมิด คืนนี้เมฆหนาลอยเต็มฟ้า เราคงจะต้องเจอฝนอีกแน่

นั่นเสียงอะไรครับ แม่แหม่ม

เสียงวี๊ดๆ นั่นเสียงจิ้งหรีดค่ะ ส่วนเสียงจุ๋งๆ นั่นเสียงนกตบยุง” คุณแหม่มพยายามตอบทุกคำถามของสองเด็ก พร้อมทั้งเอาหนังสือดูนกมาเปิดรูปนกตบยุงให้ดูประกอบจินตนาการ

_dsf2608-2009-07-31-at-12-18-44

ป่ะป๊าครับ หอมจังเลย อิงหิวแล้วครับ” อิงชะโงกดูเตาที่พี่ใหญ่กำลังผัดมาม่ากับเนื้อกระป๋อง

ฝนเริ่มลงโปรยปราย เรานั่งล้อมวงทานอาหารเย็นที่เตรียมอย่างง่ายๆกันใต้ฟลายชี๊ตผืนใหญ่แสงตะเกียงสว่าง และท่ามกลางเสียงธรรมชาติของป่าดง

บรรยากาศรอบข้างช่วยเจริญอาหารเป็นอย่างดี เรื่องเล่าจากประสบการณ์เดินป่าครั้งก่อนๆจากมิตรสหายที่ผลัดกันเล่ารอบวงอาหารข้างชายป่าทำให้สองเด็กนั่งฟังอย่างตื่นเต้น และรอคอยสิ่งที่จะได้พบเห็นจากการเที่ยวป่าในวันที่จะมาถึง

บางทีความขาดแคลนทางวัตถุของการออกไปนอนป่า อาจช่วยนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและแน่นแฟ้นในครอบครัว

ห้องเรียนธรรมชาติ

บริเวณนี้มีช้างอยู่ฝูงหนึ่ง 4-5 ตัว แต่เขาไม่ออกมากวนคนหรอก” พิทักษ์ป่า ใจ หนองมีทรัพย์ หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “น้าใจ” ชี้ให้ดูร่องรอยกิ่งไม้หักสดๆ ที่ปากทางเดินป่าไม่ห่างไปจากที่ทำการอุทยานมากนัก

น้าใจ เป็นเจ้าหน้าที่ของอุทยานที่อยู่มาตั้งแต่ยุคก่อตั้ง นอกเหนือไปจากนั้นน้่าใจยังเป็นคนในพื้นที่ เป็นพรานเก่าก่อนที่จะวางปืนมาทำงานอุทยานประสบการณ์เดินป่าแทบนี้กว่าสามสิบปีทำให้น้าใจชำนาญป่าจนรู้จักทางด่านทุกเส้นห้วยทุกสาย และต้นไม้ทุกชนิดในป่าแห่งนี้ การเดินป่ากับน้าใจจึงเป็นเสมือนไปกับพจณานุกรมป่าฉบับเคลื่อนที่

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

โอ้โฮ้ นี่เราจะเข้าป่าจริงๆแล้วเหรอครับ ลุงใจครับ” การมาของน้องอัง ทำให้น้าใจได้เลือนยศเป็น “ลุงซะแล้ว

ถ้าเราเจอช้างในป่า เราจะทำยังไงครับ

ต้องดูเขาดีๆก่อน อย่าส่งเสียงดัง ช้างเขาตาไม่ดี แต่หูดีมาก เขาอาจจะไม่เห็นเราก็ได้ ถึงเขาเห็นเขาก็อาจจะไม่ไล่เราหรอก

แล้่วถ้าเขาวิ่งไล่ล่ะครับ

ปีนขึ้นต้นไม้ซิ

แล้วถ้าเขาชนต้นไม้ล้มล่ะครับ

อ้าว….

คำถามจากเด็กน้อยทั้งสองดูเหมือนจะพรั่งพรู่ออกมาจากความอยากรู้อยากเห็นแบบที่ไม่ต้องไว้ฟอร์มของวัยเด็ก หลายๆคำถามที่ผู้ใหญ่อย่างเรานึกไม่ถึง บางคำถามก็เป็นคำถามที่มีในใจแต่ไม่เคยกล้าถาม

ทางเดินป่าเส้นนั้นพาเราจากป่าโปร่งไปสู่ป่าที่รกทึบขึ้นเรื่อยๆ เด็กสองคนเดินตาม “ลุงใจ” ติดแจคอยฟังเรื่องเล่าของป่าใหญ่ที่มีแทรกการเดินทางอยู่ตลอด

นี่รอยกระทิง รู้จักมั๊ย” ลุงใจชี้ให้ดูรอยใหม่ๆที่เดินอยู่บนเส้นทางเดียวกับเรา

เหมือนรอยวัวบ้านเลย” คราวนี้พี่ใหญ่เป็นคนตั้งข้อสงสัยเอง

ถ้าสังเกตดูให้ดี รอยเท้าวัวป่าอย่างกระทิง หรือวัวแดง รอยเท้าหลังจะกลม ตรงนี้แหละที่ต่างจากวัวบ้าน

ตัวไม่ใหญ่เท่าไหร่มั๊งครับนี่” นายอิงสงสัยเพราะรอยนั้นไม่ใหญ่นัก

ก็ใหญ่พอดูนะ น่าจะประมาณ 800 กิโลกรัม ล่ะมั๊ง” คำตอบของลุงใจ สร้างความตื่นเต้นให้กับเด็กๆไม่น้อย

เราดูจากขนาดรอยเท้าอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องดูระยะก้าวด้วย ระยะก้าวจะบอกความสูงของวัว ทำให้เรากะขนาดตัวเขาได้ใกล้เคียงขึ้น

ไม่นานนักทางเส้นนั้นก็เลาะเลียบไปกับลำห้วยที่อยู่ทางด้านขวามือ  เราใช้เวลาเดินกันแค่ 30 นาที ก็มาถึงลานริมน้ำที่มีชื่อเรียกว่า “แก่งเสลา” น้ำตอนเหนือขึ้นไปนั้นเป็นแก่งเล็กๆไหลแรง จุดที่เรานั่งพักเป็นวังน้ำใสมองเห็นปลาพลวงว่ายอยู่เป็นฝูง เส้นทางเดินป่าสายนี้ยังเดินเข้าไปได้อีกไกลจนถึงน้ำตกหมาหอนใกล้ชายแดนพม่า แต่วันนี้สำหรับการเดินป่าครั้งแรกของสองเด็ก แค่นี้ก็คงเพียงพอ

นั่งพักกินข้าวกลางวันกันที่นี่นะ เดี๋ยวผมมา ขอไปเดินสำรวจรอบๆสักหน่อย” ลุงใจบอก ขณะที่เราเอาผ้ายางออกมาปูนั่งกัน

สักครู่เดียว ลุงใจก็โบกมือให้เราเดินตามไปทางเหนือน้ำ

เมื่อเราเดินไปถึงริมน้ำในจุดนั้น ลุงใจก็ชี้ให้ดูร่องรอยรอบด้านที่พงไม้แหลกเป็นลานโล่ง

นี่รอยช้างกับกระทิง มาหากินด้วยกัน ใบไม้พวกนี้ช้างชอบมาก ก็เจ้าของรอยเท้าที่เราเห็นมาตามทางนั่นแหละ ช้างกับกระทิงเขาชอบเดินหากินด้วยกัน ช้างดึงใบไม้สูงๆลงมา กระทิงก็ได้กินไปด้วย นอกจากนี้ยังพึ่งพากันนะเพราะช้างน่ะหูดี ส่วนกระทิงก็จมูกดีมาก

เรื่องการพึ่งพากันของช้างและกระทิงนั้นแม้แต่ผมเองก็เคยได้ยินแต่ในนิยายเรื่องป่า เพิ่งจะมาเห็นของจริงก็วันนี้เอง

เรานั่งทานข้าวกลางวันกันที่ริมวังน้ำ อาหารง่ายๆอย่างข้าวเหนียวเนื้อทอดที่เตรียมมาวางอยู่กลางวงดูเหมือนจะอร่อยกว่าอาหารหรูบนเหลาที่ไหนมิตรภาพความผูกพันที่แท้จริงมากมายก็เกิดขึ้นมาจากวงอาหารกลางป่าเช่นนี้

สองเด็กคว้าข้าวเหนียวได้คนละก้อนเนื้อคนละสองสามชิ้นก็แยกไปนั่งดูปลากัน

ชอบมาเดินป่าอย่างนี้มั๊ยครับอิง” ผมถาม

ชอบครับ ชอบมากเลย อิงอยากมาที่นี่อีกครับ

ได้เลย อาจะพามาอีกนะ คราวหน้าเรามานอนกลางป่ากันเลย” ได้เรื่องแล้ว ผมได้เพื่อนเที่ยวป่าเพิ่มอีกสองคนแล้ว ถึงแม้อายุจะต่างกันมากสักหน่อยก็เถอะ แต่ก็ดีเหมือนกัน เขาอาจจะเป็นคนพาอาคนนี้เที่ยวป่าเมื่อยามแก่เฒ่า

เมื่อได้คุยกับอิงความทรงจำครั้งเก่าของผมก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง แม้เวลาจะผ่านพ้นมาร่วมสามสิบปี ผมยังจำได้ถึงวันที่พ่อพาผมไปเดินป่าเป็นครั้งแรกในวัยใกล้กับอิง ภาพการเดินป่าและความประทับใจนั้นยังคงกระจ่างชัดมาจนวันนี้  มันทำให้ผมมั่นใจเลยว่า หากเราได้มีโอกาสได้พาเด็กไปสัมผัสธรรมชาติที่ห่างการปรุงแต่งของวัตถุในแบบที่เขาประทับใจแล้ว ความทรงจำดีๆนั้นจะอยู่กับเขาไปอีกนาน

ผมเชื่อว่าน้องอิงจะจำการเดินป่าครั้งแรกกับพ่อเขาไปอีกนานเช่นกัน

ขากลับ ลุงใจพาเราวนขึ้นไปบนเขา

ทางนี้เป็นทางของช้างเดินนะ เรียกว่าด่านช้าง ไม่ได้มีใครมาปรับมาถางทางหรอก แต่ช้างเขาเดินกันจนเป็นทางแบบนี้” ลุงใจอธิบายเรื่องต่างๆให้สองเด็กฟังเกือบตลอดทาง

นี่รอยเท้าเสือโคร่ง รอยนี้น่าจะเป็นเมื่อวาน” คำบอกนั้นทำให้เราทุกคนเข้าไปมุงดูรอยเท้าที่ใหญ่ราวๆกับฝ่ามือคนกางเต็มที่

img_0688

ในเขตอุทยานกุยบุรีนี้มีเสือโคร่งอยู่ประมาณ 6-7 ตัว

ลุงรู้ได้ยังไงครับ” น้องอังถามสวนไปทันที

เคยมีโครงการณ์สำรวจเสือโคร่งที่อุทยาน ใช้ทั้งกล้องถ่ายภาพติดไว้ตามต้นไม้ที่เราเรียกว่าคาเมร่าแทร็ป และการเดินสำรวจพื้นที่ รอยเท้าเสือแต่ละตัวไม่เหมือนกันทำให้เราแยกได้ว่าเสือมีกี่ตัว” ลุงใจเฉลย

ตลอดทางเดินในขากลับ ลุงใจ พจณานุกรมป่าฉบับเคลื่อนที่ได้ของเราก็ชี้ต้นไม้ต่างๆให้สองเด็กและพวกเราดูไปตลอดทาง

อันนี้เถาวัลย์น้ำ ถ้าหลงป่าจริงๆแล้วเอามีดตัดออกมาเป็นท่อนก็จะมีน้ำไหลออกมาพอกินได้ แต่ต้องดูให้ดีนะ น้ำจะต้องใสๆไม่มีกลิ่นเลย ถ้าเป็นยางขาวๆล่ะก็ไม่ใช่แล้ว

ต้นนี้ พญาช้างสาร นี่กำลังหนุมาน เป็นยาทั้งนั้นลุงใจชี้ให้ดูต้นไม้เล็กที่ขึ้นอยู่เป็นดงไม้พื้นล่างใต้ความร่มทึบของไม้ใหญ่

ต้นนี้ม้ากระทืบโลง เขาชอบเอาไปดองเหล้ากินกัน แต่ผมว่ากินมากไม่ดีนะ

ทำไมละครับ

ก็กินมากแล้วเมา เมียก็กระทืบเอานะซิ

อ้าว

ผมเชื่อว่าสองหนุ่ม น้องอิง น้องอังคงไม่สามารถจะจำได้หรอกว่าต้นไม้ต้นไหนชื่ออะไร แต่เขาได้เรียนรู้แล้วว่าป่าเต็มไปด้วยต้นไม้ที่มีประโยชน์สวยงาม ไม่ใช่เพียงแต่เป็นแหล่งที่เอาไว้ตัดไม้เอามาสร้างบ้านเท่านั้น

หน้าผา

หลังจากออกมาจากเส้นทางเดินป่า เราขอบคุณลุงใจสำหรับเวลาอันยอดเยี่ยมบนทางเดินป่าสายสั้นๆเส้นนี้ แล้วเราก็ขับรถกลับไปสู่ “ป่าพิเศษ” ของเราอีกครั้ง

img_1750

เราเข้าไปที่หน่วยป่ายางซึ่งตั้งอยู่กลางพื้นที่ของป่าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คุณสุชิน  วงศ์สุวรรณหัวหน้าหน่วย แนะนำว่าวันนี้โอกาสเห็นช้างที่บริเวณแปลงหญ้าน่าจะสูงเพราะเจ้าหน้าที่ของหน่วยซึ่งติดตามการเดินของช้างอยู่พบเห็นฝูงช้างออกหากินในบริเวณใกล้เคียงตั้งแต่เมื่อวาน นอกจากนี้พี่เล็กยังแนะนำให้ “ยุ่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยซึ่งติดตามฝูงช้างอยู่เป็นประจำเป็นผู้นำทางเราไป

จากหน่วยป่ายางด้วยระยะทางประมาณ สองกิโลเมตรบนทางรถ เราก็มาถึงจุดที่เรียกว่า “หน้าผา” ซึ่งเป็นลานเรียบอยู่ในตำแหน่งสูงสามารถมองลงไปเห็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ได้ทั่วทั้งสองทุ่ง

img_0588

จุดที่เรายืนที่หน้าผานี้มีทิวทัศน์ที่งดงามราวกับทุ่งหญ้าของอัฟริกาที่เราเคยเห็นในภาพยนต์ ทุ่งหญ้าเขียวขจีกว้างสุดตา แซมด้วยไม้ใหญ่ห่างๆกันล้อมไว้ด้วยทิวเขาสลับซับซ้อนทั้งสามด้าน เปิดทางเข้าไว้เพียงด้านเดียว

ทุ่งหญ้าที่เรามองเห็นจากหน้าผานี้ที่จริงแล้วคือแปลงหญ้าขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากโครงการพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้กับฝูงช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ ทุ่งทั้งสองทุ่งมีชื่อเรียกตรงตัวว่า แปลงสองร้อย(ไร่และแปลงหนึ่งร้อย(ไร่นอกจากหญ้าแล้วทั้งสองทุ่งยังมีหนองน้ำ และโป่งกระจายอยู่ในพื้นที่อีกด้วย

ทันทีที่เราไปถึง ยุ่ง ชี้ให้เราดูช้างในแปลงหนึ่งร้อยที่อยู่ตรงหน้า เขาบอกเสริมว่าเราสามารถเข้าไปดูได้ใกล้ๆอย่างปลอดภัยเพราะเราจะอยู่ในที่สูงชัน แต่ขอให้เงียบเสียงไว้

ช้างฝูงนั้นมีด้วยกัน 3 ตัว เป็นช้างงาตัวผู้สองตัว และตัวเมียอีกหนึ่งตัว ทั้งสามเดินกินหญ้าอยู่ห่างจากเราไปเพียงสามสิบเมตร จากจุดนั้นเราสามารถเฝ้าชมอิริยาบทของช้างในธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิดเป็นเวลาเกือบชั่วโมง

img_0891

จนกระทั่ง ยุ่ง โบกมือให้เราถอยออกมาจากจุดนั้น เมื่อเราทำหน้างงๆ เขาก็ชี้ให้ดูด้านหลังซึ่งก็เกือบจะทำให้บางคนหัวใจวาย

ช้างอีกตัวหนึ่งยืนกินหญ้าอยู่เงียบๆ ในป่าต้นยูคาด้านหลังห่างไปเพียงสามสิบเมตร โชคดีที่เขาไม่ได้มีท่าทีที่จะวิ่งเข้าใส่เราแต่อย่างใด

ผมนั่งมองทุ่งหญ้าและทิวทัศน์ที่ตรงหน้า พื้นที่ป่าในโครงการพระราชดำริแห่งนี้นับได้ว่าเป็นพื้นที่ “พิเศษ” จริงๆ เป็นที่เดียวในเมืองไทยที่เราจะสามารถพบและเฝ้าดูช้างป่าได้เกือบทุกวัน และถ้าโชคดีก็อาจจะได้พบเห็นกระทิงฝูงใหญ่อีกด้วย

ในความจริงแล้วด้วยความสมบูรณ์ของสัตว์ป่าและความเหมาะสมของพื้นที่ ป่ากุยบุรีอาจจะมีศักยภาพที่จะพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ในรูปแบบซาฟารีพาร์คในอัฟริกาเช่นเดียวกับ อุทยานพิลาเนสเบิร์ก (Pilanesberg Game Reserve) ในประเทศอัฟริกาใต้ได้ แต่จากจุดนี้ที่ธรรมชาติเริ่มฟื้นตัวไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในระดับที่รู้จักไปทั่วโลกนั้นย่อมต้องการความเข้าใจการจัดการที่ดี และความทุ่มเทจากอีกหลายฝ่ายเป็นอย่างมากและยาวนาน

แต่ถ้าหากเราไปถึงจุดนั้นได้ก็จะทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากการคงอยู่ของป่าและช้างอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างลงได้อีกมาก

อาเกิ้นครับ กระทิง” เสียงเรียกทำให้ผมตื่นจากฝันกลางวัน

ที่ทุ่งหญ้าของแปลงสองร้อยไกลออกไป กระทิงฝูงหนึ่งกำลังเลาะเลียบออกจากชายป่า เพียงครู่หนึ่งทั้งฝูงก็ออกมาอยู่กลางทุ่ง เมื่อส่องด้วยกล้องส่องทางไกลเราก็เห็นว่าในฝูงนั้นมีทั้งกระทิงโตเต็มวัยที่รูปร่างล่ำสันสง่างามหลายตัวลูกกระทิงเล็กๆอีกสี่ห้าตัวที่ยังเป็นสีน้ำตาลอ่อน และนับได้ทั้งหมดถึง 16 ตัว เห็นได้ชัดว่าฝูงสัตว์แห่งป่ากุยบุรีได้มาพบเจอพื้นที่อันสงบสุขและอุดมสมบูรณ์ที่เขาจะได้ปักหลักอาศัยและแพร่เผ่าพันธุ์แล้ว

img_1756

img_4267

เราเฝ้าดูกระทิงฝูงนั้นอยู่จนตะวันลับเหลี่ยมเขาทางด้านหลังและแสงสว่างของวันเกือบจะหมดไป

เป็นไง สนุกมั๊ยครับ” พี่ใหญ่โอบไหล่ลูกชายทั้งสองขณะที่เรากำลังจะขึ้นรถ

สนุกครับ วันนี้เป็นวันที่ดีที่สุดของอิงเลย แล้วเรามาที่นี่กันอีกนะครับ ป๊ะป๊า

ผมเชื่อว่าทั้งอิงและอังจะมีความทรงจำที่งดงามจากสิ่งที่เขาได้พบเห็นในวันนี้ วันที่พ่อเขาพามาเที่ยวป่าครั้งแรก พวกเขาจะจำวันนี้ได้จนกว่าเขาจะได้พาลูกๆของเขามาเที่ยวป่าสักครั้งเพื่อถ่ายทอดความทรงจำที่งดงามนี้สู่รุ่นต่อไป

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับกันยายน  2552

การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

โดยรถยนต์

– ใช้เส้นทาง ทางหลวงสาย 4 ถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าลงใต้

– ผ่านอำเภอปราณบุรี และกิ่งอำเภอสามร้อยยอด มุ่งหน้าสู่อำเภอกุยบุรี

ที่หลักกิโลเมตรที่  290 (ก่อนถึงอำเภอกุยบุรีประมาณ 3 กิโลเมตรเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 3217 มุ่งหน้าสู่บ้านยางชุม

  1. ไปตามถนนสาย 3217 ระยะทางประมาณ 19.2 กิโลเมตร จะมีป้ายชี้ให้เลี้ยวซ้ายไปยังอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

  2. ไปตามถนนลาดยาง(ผิวถนนค่อนข้างชำรุดซึ่งจะวิ่งเลาะอ่างเก็บน้ำยางชุม ประมาณ 8.3 กิโลเมตร จะมีป้ายชี้ให้เลี้ยวซ้ายไปยังอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

  3. ไปตามถนนลาดยางประมาณ1.5 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

โดยรถไฟ

จากกรุงเทพฯ ขึ้นรถไฟที่สถานีหัวลำโพง ซื้อตั๋วโดยสารกรุงเทพฯ – อำเภอกุยบุรี ลงที่สถานีอำเภอกุยบุรี จากนั้นจ้างเหมารถ เดินทางต่อไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

โดยรถโดยสารประจำทาง

จากกรุงเทพฯ ขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งสายใต้ เลือกโดยสารใดก็ได้ที่เดินทางไปใต้ เนื่องจากทุกสายจะผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แจ้งพนักงานขับรถหรือพนักงานเก็บเงิน ขอลงที่อำเภอกุยบุรี จากนั้นจ้างเหมารถ เดินทางต่อไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

การเดินทางไปดูช้างที่หน่วยป่ายาง

ออกเดินทางจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรีย้อนทางเดิม ประมาณ 3กิโลเมตร จะมีป้ายชี้ให้เลี้ยวซ้ายไปดูช้างป่ากุยบุรี จากนั้นจะมีป้ายบอกทางไปตลอด รวมระยะทางจากที่ทำการอุทยานถึงด่านทางเข้าหน่วยป่ายาง (พิกัด GPS ……..) รวมระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร โดยเป็นทางลาดยางสลับทางลูกรังอัดแน่น

จากด่านทางเข้าสู่หน่วยป่ายางเป็นทางลูกรังอัดแน่น ในฤดูฝนมีการข้ามห้วยสองถึงสามครั้ง รถที่ใช้เดินทางควรจะเป็นรถที่มีช่วงล่างแข็งแรงและสูงพอสมควรแต่ไม่จำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ จากหน่วยป่ายางทางวนรอบพื้นที่โครงการพระราชดำริระยะทาง 5 กิโลเมตรเป็นทางลูกรังสลับทางดินที่ค่อนข้างนิ่ม ในฤดูฝนจำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ

ที่พัก

ที่ทำการ : อุทยานแห่งชาติกุยบุรีมีบ้านพัก ในเขตที่ทำการ 3 หลัง สามารถติดต่อ จองล่วงหน้าได้ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพรรณพืช และทางเว็บไซต์ของกรมอุทยาน http://www.dnp.go.th พื้นที่กางเต๊นท์ อยู่ใกล้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีห้องน้ำสะอาดและสะดวกสบาย

หน่วยป่ายางมีบ้านพักหนึ่งหลัง จะต้องติดต่อจองโดยตรงกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

การติดต่อ

อุทยานแห่งชาติกุยบุรี 

ตู้ ปณ.10 ปณจ.กุยบุรี  อ. กุยบุรี  จ. ประจวบคีรีขันธ์   77150

โทรศัพท์ 032-646292 แฟกซ์ 032-646292 เบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ 081-776-2410  อีเมล kui_np@hotmail.com

หมายเหตุพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีมีช้างป่าชุกชุมมาก ช้างป่าเป็นสัตว์ในธรรมชาติอาจตื่นตระหนกและทำร้ายคนได้หากเข้าใกล้ การเดินป่าในเส้นทางศึกษาธรรมชาติใกล้ที่ทำการหรือขับรถเข้าไปชมช้างที่หน่วยป่ายางจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางและคอยแนะนำ

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

1 COMMENT

Leave a Reply to เรื่องแปลกที่กลางป่า ตอน: กุยบุรี | ThailandoutdoorCancel reply

LATEST POSTS

ข้าวแช่, ร้านค้าเล็กๆ และ เศรษฐศาสตร์ “ชั่วข้ามคืน”

ที่หน้าร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดแสนอร่อยเจ้าประจำของผมที่เมืองประจวบ มีแผงขายข้าวแช่อยู่ คนขายเป็นคุณยายใจดี เราคุยกันทุกครั้งที่ผมแวะไป และก็สั่งข้าวแช่ของแกมากิน ครั้งนี้ก็เช่นกัน “เหลืออยู่แค่ 5 ชุด เหมาเลยมั๊ย” คุณยายถาม ครั้งนี้เรามากันหลายคนข้าวแช่ 5 ชุดจึงแทบจะแย่งกันกิน ข้าวแช่ของยาย ก็คล้ายๆกับข้าวแช่ที่หลายๆคนคุ้นเคยแถวเพชรบุรี ไม่ได้มีกับหลายอย่างประดิษประดอยแบบข้าวแช่ที่ขายกันแพงๆในเมืองกรุง เครื่องมีเพียง 2 อย่างคือลูกกระปิทอด กับปลาหวาน แต่อร่อยมากครับ ข้าวและน้ำข้าวแช่นั้นหอมมาก แกเคยเล่าให้ฟังว่าที่หอมอย่างนี้เพราะอบด้วยดอกชมนาดที่ออกดอกในช่วงหน้าแล้งอย่างนี้และต้องเก็บตอนเย็นจึงจะหอมที่สุด และยังคุยว่าข้าวแช่ของแกนั้นเคยได้รับรางวัลจากการประกวดด้วย อร่อยมาก ชุดหนึ่งไม่น้อยเลย แทบจะอิ่มได้หนึ่งมื้อ...

ของแท้ดั้งเดิม (Authenticity)

เริ่มมันเริ่มจากขณะที่เรากำลังเดินทางกลับจากแค้มป์ในทริปหนึ่ง ผู้การตู้น้องรักก็ชวนเราแวะกินข้าว “พี่ครับ แถวบ้านผมมีศูนย์อาหารเปิดใหม่ มีร้านดังๆมากมาย ขาหมูตรอกจุง, ข้าวหน้าไก่หกแยก ฯลฯ เราแวะกินกันมั๊ยครับ” เท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่จะจุดประกายให้ผมเริ่มบทสนทนาที่คล้ายคนแก่เล่าเรื่องเก่า เรื่องมันมีอยู่ว่า ผมมีร้านโจ๊กเจ้าประจำอยู่ร้านหนึ่ง อยู่หน้าโรงพยาบาลหัวเฉียว ใกล้โบ้เบ้ ผมได้กินโจ๊กร้านนี้มาตั้งแต่พ่อไปหาหมอที่นั่น นับย้อนหลังไปได้กว่า 20 ปี ร้านเป็นห้องแถวห้องเดียว อาเจ็กแกต้มโจ๊กขายหม้อเดียวในแต่ละวัน สายๆขายหมดก็เลิก บ้างวันผมมาสายก็ไม่ได้กิน ผู้คนที่แวะเวียนมาก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนในละแวกนั้น อาซ้อก็มาช่วยทำช่วยขาย ผมแวะไปกินโจ๊กทุกครั้งที่ไปแถวๆนั้น นอกจากโจ๊กของแกอร่อยมากแล้ว อาเจ็กก็เป็นกันเองมาก ต้มน้ำชาร้อนมาให้ผมจิบแก้เลี่ยนจากปาท่องโก๋ที่ผมข้ามถนนไปซื้อมา  เรานั่งคุยกันเสมอ ถามสารทุกข์สุกดิบกัน แกเคยเล่าให้ผมฟังว่าอยู่ย่านนี้มาตั้งแต่เกิด...

คุณค่าที่คลาดเคลื่อน

https://www.youtube.com/watch?v=NF2EMmR3foQ ถ้าคุณใจไม่หนักแน่นพอ ผมไม่แนะนำให้ไปเดินป่าระยะไกล 101 กิโลเมตรที่แม่เงานะครับ ในชีวิตผมเดินป่ามาก็ไม่น้อย แต่การเดินป่าติดกันยาวนาน 9 วัน มันทำให้ผมเปลี่ยนไปมากว่าที่จะคาดคิด มันอาจจะเป็นความยาวนาน อาจจะเป็นสภาพที่ดิบของป่าเขา หรืออาจจะเป็นตัวผมเองอยู่ที่สุดขอบความคิดที่สุกงอมเต็มที่ หรืออาจจะเป็นสิ่งเหล่านี้ประกอบกัน ระหว่างอยู่ในป่าก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ เราก็แค่เดินไปทีละวัน มันก็แค่ไกลและหลายวันหน่อยเท่านั้น แต่มาเห็นผลตอนที่ออกจากป่ากลับมาสู่สังคมเมือง ผมพบว่าผมคุยกับใครแทบไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่เรื่องภาษาหรือคำพูด แต่หากเป็นสิ่งที่อยู่ลึกอยู่ใต้การสนทนานั้น เมื่อมีคนคุยเรื่องอะไรขึ้นมาผมก็พบว่าผมไม่สนใจจะฟังเรื่องเหล่านั้น และรู้สึกได้ว่าเรื่องที่ผมอยากจะคุยอยากจะเล่าก็ไม่มีใครอยากฟัง เปิดโซเชี่ยลมีเดียขึ้นมายิ่งหนักขึ้นไปอีก เต็มไปด้วยเรื่องที่ดูแล้วกวนใจ ทนไม่ได้กับการเห็นอะไรมากมายที่ก้าวข้ามเส้นจริยธรรมเพียงเพื่อเรียกร้องความนิยม นอกจากนั้น มองไปรอบตัวเมื่อเห็นสิ่งของมนุษย์สร้างขึ้นและเรื่องราวที่สังคมปรุงแต่งขึ้นมา ล้วนแล้วแต่มองเห็นมันเป็นของปลอมๆกับเรื่องสมมุติ  อะไรที่เราเคยอยากได้อยากมี...

คุ้มครองแต่ไม่เคยให้คุณค่า ตอน นกกรงหัวจุก

ผมเฝ้ามองการโต้เถียงกับเรื่องนกกรงหัวจุกหรือนกปรอดหัวโขน ระหว่างฝ่ายผู้เลี้ยงนกและ “นักอนุรักษ์” มาพักใหญ่แล้วในเรื่องว่า จะให้นกกรงหัวจุกคงอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือจะปลดออก หลายคนคงมองว่านี่เป็นความขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้ แต่ผมกลับมองว่าถ้าเราเปิดใจมองร่วมกันและยอมรับวิธีคิดใหม่ๆ (ที่ประเทศอื่นเขาทำกันมานานแล้ว) เรื่องของนกกรงหัวจุกอาจจะเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงให้การอนุรักษ์ของประเทศนี้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเสียทีนะครับ ก่อนจะเข้าเรื่องนกกรงหัวจุก ผมขอเล่านิทานให้ฟังสักเรื่องหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งเบื่อ อย่าเพิ่งมองว่ามันไม่เกี่ยวกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า พี่น้องสองคนทะเลาะกันเพราะแย่งส้มผลสุดท้ายในบ้าน ถึงขั้นตบตีกัน เสียงดังไปถึงแม่ แม่พยายามเจรจาให้แบ่งกันคนละครึ่งลูกก็ไม่มีใครยอม ต่างคนต่างบอกว่าต้องใช้ทั้งลูก นานเข้าพ่อที่นั่งเล่นของเล่นอยู่ทนรำคาญเสียงไม่ได้ จึงเดินมาแยกลูกสาวทั้งสองที่เริ่มจะจิกหัวฟัดกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แล้วถามรายละเอียด บอกพ่อหน่อยว่าจะเอาส้มไปทำอะไร  คนพี่สาวก็บอกว่าจะทำแยมส้ม ส่วนน้องสาวบอกจะทำน้ำส้ม เมื่อคุยกันเช่นนี้พ่อก็ปอกเปลือกส้มให้ลูกสาวคนโตไปทำแยม แล้วก็เอาเนื้อส้มให้ลูกสาวคนเล็กไปคั้นน้ำ ลงตัวไปได้ทั้งสองคน ส่วนพ่อก็เอาเมล็ดส้มไปปลูกไว้ข้างบ้านต่อไปจะได้ไม่ต้องแย่งส้มผลสุดท้ายกันอีก นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าเราคุยกันดีๆมันจะมีทางออกที่ไม่ต้องมีคนแพ้คนชนะ แต่มันจะมองไม่เห็นเวลาทะเลาะกันจนหน้ามืด ใครยังไม่ได้ติดตามข่าวยังไม่รู้เรื่องความขัดแย้งของนกกรงหัวจุก...

Most Popular

Discover more from ThailandOutdoor Netzine

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading