ตะเกียง Coleman Model 275 “ตะเกียงแปลก”
ห่างหายไปนานกับบทความบน ThailandOutdoor มิตรรักแฟนคลับคงจะคิดถึงหนูเลกันตรึม..อันนี้ล้อเล่น หนูเลไม่มีแฟนคลับหรอกครับ ไม่ได้ดังแบบพี่แมงดึก อิอิ เวลาจากการเป็นนักเขียนในเวป thailandoutdoor นั้นผ่านไปเหมือนฝัน กลับมาดูอีกทีสิบกว่าปีแย้ว เมื่อตาเกิ้นเข็นเวปไซด์หน้าตาใหม่สดใสกว่าเดิมออกมา เลยขอประเดิมด้วยบทความนี้ซะ
แม้การทำบทความ การโพสต์ หรือ คอมเมนต์ในสื่อสังคมออนไลน์ จะหายไปเหมือนผมจะเลิกสนใจเตาคลาสิค/ตะเกียงเก่าไปแล้ว แต่ด้วย “ความชอบ” (ผบ.ที่บ้านเรียก “ความคลั่ง”)ในตะเกียงก็ไม่ได้หายไปไหน แถมช่วงหนึ่งมีอำนาจมืดจาก Dark Vader …เอ๊ยจาก auction sniper ทำให้ไม่ต้องนอนเฝ้า bid อีกต่อไป ผนวกกับมีระบบโลจิสติคและแวร์เฮาส์ที่ดี พูดง่ายๆคือมีคนช่วยส่งและที่ซุกของมากขึ้น ทำให้ผมแอบเพิ่มพูนตะเกียงและเตาจากค่ายเมือง Wichita มาหลายรุ่น แต่ก้อยอมรับเลยครับว่าโลกรอบตัวที่หมุนเร็วขึ้นทำให้ “เวลา” ที่นั่งอยู่กับการเรียบเรียงความคิด/ความชอบของตนออกมาเป็นตัวหนังสือมันน้อยลงไปกว่าที่อยากทำมากๆ ปีนี้จึงได้ตั้งปณิธานแล้วว่าจะพยายามเอา “ของลับ” ทะยอยเอามาแนะนำให้รู้จักกัน แต่ไม่รู้ว่าจะเอามะพร้าวห้าว…ตะเกียงเก่าไปขายซุ้มตะเกียงกันหรือเปล่า อิอิ
“การสะสมคือการบริโภค (consumption) นักสะสมมีความสุขตรงที่ได้แสวงหาสิ่งของ เพื่อเติมเต็มคอลเล็กชั่นของตนให้สมบูรณ์ แม้ของเหล่านั้นเป็นของฟุ่มเฟือยที่หาประโยชน์อะไรไม่ได้” ทีมา:บทความใน paimuseum.com

จากนิยามข้างบน ผมไม่รู้ว่าควรจะเรียกตัวเองว่า “นักสะสมตะเกียง” ดีหรือไม่ครับ เงยหน้าในห้องนั่งเล่นที่บ้านก็มีตะเกียงแขวนเกะกะอยู่ 4-5 ตัว ที่นอกบ้านก็มีแขวนและวางในชั้นอีก”นิดหน่อย” แต่ถ้าพูดว่าเป็นคน “เล่นตะเกียง” ละก้อ อันนี้เห็นด้วยครับ ความชอบตะเกียงของผมไม่ได้ขึ้นกับว่ามันจะแพงหรือเป็นที่นิยมชมชอบจากนักสะสมทั่วไปหรือไม่ ตะเกียงหลายตัวได้มาเพราะความแปลก อย่างเช่นเจ้า Coleman 275 ตะเกียง”โป๊ะกรวย” ตัวนี้ก่อนอื่นมาดูประวัติของเจ้า Coleman 275 กันก่อนครับ ถ้านับความนิยมหรือจำนวนตะเกียงที่ผลิตออกมาแล้ว 275 คงจะห่างจากตะเกียง Coleman 200A อย่างไม่ติดฝุ่น หรือถ้านับอายุปีในสายการผลิต ก้อคงมาสู้อะไรกับ Coleman model 220 ม่ายล่าย (สัญญากับท่านผู้อ่านว่าจะหาข้อมูลของเจ้า 220 มาแชร์ให้อ่านกันครับ)

ตะเกียง Coleman โมเด็ล 275 ถูกออกแบบและผลิตจากโรงงาน Coleman เมือง Wichita มลรัฐ Kansas ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 ถึง 1979 และได้ถูก “ไมเนอร์เชน” ปรับปรุงแบบเป็น 275A ผลิตต่ออีก 3 ปีคือ 1980-83 สนนอายุได้แค่ 6 ปี แต่ในด้านนวตกรรมนั้น Coleman 275 ถือเป็นตะเกียงที่ผลิตในอเมริกาตัวแรกที่ใช้ระบบวาล์วแบบ Schrader Valve แปลง่ายๆ คือระบบวาล์วทางเดียวเหมือนกับที่ใช้ในระบบวาล์วยางในจักรยานครับ ซึ่งโคลแมนได้นำ Schrader Valve มาใช้ในเตา/ตะเกียงอีกมากมายหลายรุ่น นอกจากนี้ เจ้าโคลแมน 275 มีรูปทรงที่”แปลกตา” กว่าตะเกียงโคลแมนโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นถังน้ำมันทรงเตี้ยกว้าง ยังกะแอบเอาถังตะเกียง Sears ที่จ้างโคลแมนผลิตเหลือค้างสต๊อกมาใช้ โป๊ะตะเกียงทรงกรวย ที่ไม่เคยมีใช้ในตะเกียงโคลแมนรุ่นก่อนๆ (อันนี้ก็น่าจะเอามาจากตะเกียง Sears บางรุ่น) แถมเป็นโป๊ะฝ้า และหมวกตะเกียงที่แปลกตา แต่เดาว่าหน้าตานี้ “ไม่โดน” ใจคนชอบตะเกียงชาวมะกันแน่นอน ทำให้เจ้า 275 มีสายการผลิตที่สั้นจุดจู๋

ตลกดีที่นักสะสมตะเกียงในต่างประเทศหลายคนเรียกเจ้า Coleman 275 ว่า “Coleman turd” หรือ “ตะเกียงอุนจิ” อันเนื่องจากสีน้ำตาลเข้มของหมวกและถังน้ำมัน และการนำระบบ Schrader valve มาใช้ (นัยว่าเอาวาล์วของถูกมาใช้) แต่ส่วนตัวแล้วผมว่าเจ้า Coleman 275 มีความ”แปลก”กว่าโคลแมนรุ่นพี่ที่ผลิตมาก่อนหน้า และโคมแมนรุ่นน้องๆหลานๆที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบันครับ ด้วยรูปทรงตะเกียงที่แปลกตา โป๊ะทรงกรวยแถมเป็นโป๊ะฝ้าซี่ ที่ช่วยลดการกวนตาจากความสว่างของใส้ตะเกียง ถังทรงป้านเตี้ยที่โคลแมนในถังทรงนี้อยู่ในตะเกียง ยุค 70-80 เท่านั้น และสีน้ำตาลเข้มที่ไม่ค่อยเห็นในตะเกียงโคลแมนตัวอื่น สเน่ห์เท่านี้ก็เพียงพอที่ให้ผมเที่ยวไปหาในร้านสะดวกซื้อ A-B (อีเบย์) แล้ว

เจ้า”น้ำตาล” ของผมตัวนี้ ตีใต้ถังว่าผลิตที่เมือง Wichita เดือน 6 ปี ค.ศ.1981 จึงอนุมานได้ว่า เป็นโมเด็ล 275A ได้มาในสภาพนางฟ้า สภาพสมบูรณ์ เคยถูกจุดใช้งานมาแล้ว แต่น่าจะน้อยมาก ผมได้มาก็ไม่ได้ทำอะไร นอกจากใช้น้ำมันเบนซินล้างถังน้ำมัน โดยการใส่น้ำมันไปนิดหน่อย ปิดฝา เขย่า ถ่ายน้ำมันออก และสังเกตุดูสภาพน้ำมัน ว่าปรกติมีอะไรปนเปื้อนไหม ต่อมาก็ทดสอบดูว่าปั้มตะเกียงดีและตะเกียงเก็บลมไหม โดยการปิดฝา ปิดวาล์ว และทำการปั้มลมเข้าในถัง ดูว่าปั้มเริ่มตึงมือไหม มีเสียงลมรั่วไหม ทดสอบก็ปรกติดี ก็ใส่น้ำมันในถังประมาณครึ่งถัง ทำการปั้มลมและสังเกตุดูว่ามีน้ำมันไหลรั่วออกมาจากจุดไหนหรือไม่ เปิดวาล์วแล้วมีเสียงฉีดน้ำมันไหม เมื่อมั่นใจว่าตะเกียงอยู่ในสภาพปรกติ ก็หาที่โล่งๆ และห่างจากวัตถุไวไฟทั้งมวล ผูกใส้ เผาใส้และทำการจุด เจ้าน้องน้ำตาลก็เปล่งแสงสว่างสดใส ใช้งานได้เป็นปรกติครับ
อย่างนึงที่ทำให้นักเล่นไม่ค่อยอยากจะพาเจ้าโคลแมน 275 มาออกงานคงจะเป็นเรื่องของ”โป๊ะ” ครับ โป๊ะแก้วของโคลแมน 275 เป็นทรงกรวย ที่ปัจจุบันหาที่ซื้อยาก..ก ไม่เฉพาะในบ้านเราครับ ใครคิดจะใช้เจ้าโคลแมน 275 เป็น EDL (EveryDay Lantern) ควรจะหาโป๊ะมาตุนไว้ก่อนนะจ๊ะ
ด้วยรักและผูกพัน
หนูเล มค. 2559
ขออนุญาตแชร์นะครับ ขอบคุณครับ