“ความสัมพันธ์ ที่มีช่องว่าง”
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ต่ายไปเดินเล่นที่ ถ.พระสุเมรุ มาคะ
ไม่บ่อยครั้งนักที่ต่ายเลือกจะเดินทางเที่ยวเล่นในกรุงเทพ อาจจะเหมือนกับใครหลายๆ คนคะ ที่เวลาเรานึกถึงคำว่าเดินทางเมื่อไหร่ ภาพนั้นก็จะดูใหญ่โต ห่างไกล และไม่คุ้นเคย ทั้งที่จริงๆ แล้ว การเดินทางในที่ใกล้ แต่ไม่คุ้นเคย ก็สามารถให้ความรู้สึกนั้นได้ไม่แพ้กัน
ในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ตรงกับวันหยุดยาวไม่แพ้วันสงกรานต์ กรุงเทพจะกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นมาอีกเท่าตัว เพราะถนนที่ปริมาณรถเบาบาง ผู้คนไม่วุ่นวาย และเสียงรอบตัวที่เงียบลงอย่างน่าแปลกใจ ทำให้เรามองเห็นกรุงเทพได้อย่างเต็มตามากขึ้น และในความวุ่นวายที่เคยมี ต่ายได้เจอมุมสงบเล็กๆ มุมหนึ่งในที่ที่ใกล้แต่ไม่คุ้นเคยนี้จากคำชวนของเพื่อนต่างวัย ที่ออกปากชวนให้เราร่วมเดินทางมาด้วยกัน และที่นี่ชื่อ “ร้านหนังสือเดินทาง”
เรามาถึงที่นี่ตอนบ่ายแก่ๆ และเริ่มต้นด้วยการจิบกาแฟหอมๆ รสชาติดีๆ จากนั้นจึงเริ่มค้นหาหนังสือที่เราสนใจ ถึงเราจะร่วมเดินทางมาด้วยกัน ในจุดหมายเดียวกัน แต่เราก็แยกทางเดินคนล่ะทางเพื่อค้นหาสิ่งที่เราชอบ และกลับมานั่งรวมตัวที่โต๊ะเดียวกันในเวลาต่อมา เรานั่งหันหน้าเข้าหากัน จิบกาแฟที่วางอยู่ใกล้กัน และก้มหน้าอ่านหนังสือของตัวเอง ในบางช่วงบางตอนที่เราเจอบทความที่น่าสนใจ เราก็มักจะแบ่งปันให้อีกคนได้ฟัง แลกเปลี่ยนสลับกันไปมา แล้วจึงกลับไปก้มหน้าอ่านหนังสือในโลกของตัวเองต่อไป ภาพที่ดูแล้วไม่มีอะไร กลับทำให้ต่ายคิดอะไรได้เรื่องหนึ่งคะว่า
เราทุกคนต่างมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองคะ พื้นที่ที่เราอยากใช้มันคนเดียว แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่คนเดียว เพราะความจริงแล้ว เราสามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่นได้ แต่ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าจะไม่ก้าวก่ายอีกฝ่ายมากจนเกินไป เช่นเดียวกับที่เราก็ไม่อยากให้อีกฝ่ายล้ำเข้ามาในพื้นที่ของเรามากเกินไปเช่นกัน
มันไปละม้ายคล้ายคลึงกับปรัชญาความรักของ คาลิล ยิบราน อยู่ท่อนนึงคะว่า
“จงเติมกาแฟในถ้วยของกันและกัน แต่อย่าดื่มจากถ้วยเดียวกัน
จงให้ขนมปังแก่กัน แต่อย่ากัดกินจากก้อนเดียวกัน
จงร้องเพลงเต้นรำ และมีความบันเทิงด้วยกัน
แต่ขอให้แต่ละคนได้มีโอกาสอยู่โดดเดี่ยว
ดังเช่นสายพิณที่ต่างอยู่โดดเดี่ยว
แต่ว่าสั่นสะเทือนด้วยทำนองดนตรีเดียวกัน”
หมายถึง เราควรดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ที่ห่วงใยและหวังดีซึ่งกันและกัน แต่ก็เป็นอิสระต่อกันและไม่ก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวของอีกฝ่าย สำหรับต่ายแล้ว ปรัชญาข้อนี้ใช้ได้ในทุกความสัมพันธ์คะ
“ความสัมพันธ์ ที่มีช่องว่าง”
ลองใช้ดูนะคะ
ชอบจังครับ