Monday, December 11, 2023
Homeบุกไปร่อน..บนดอยม่อนจอง

บุกไปร่อน..บนดอยม่อนจอง

-

ภาพดอยม่อนจองยามเช้า
ดอยม่อนจองยามเช้า

ม่อนจอง..ดอยสวยที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวแนวอนุรักษ์ ด้วยเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ ความคงสภาพความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ การเดินทางที่ท้าทายความพร้อมของร่างกายและจิตใจ จากสถานีพิทักษ์ป่ามูเซอ อำเภออมก๋อย เชียงใหม่ ต้องนั่งรถ 4WD ขึ้นเขาเป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง และเดินเท้าขึ้นเขาต่ออีกประมาณสามชั่วโมง ดอยม่อนจองจะคอยต้อนรับเราอยู่กลางผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ การค้างแรมบนดอยนั้นทำได้เพียงการกางเต้นท์เท่านั้น ไม่มีสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นใด ความบริสุทธิ์ของม่อนจอง และเอกลักษณ์เขาสูงชัน ปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าสีทอง ยกตัวเด่นสูงกว่าป่าดิบเบื้องล่างนับร้อยเมตร ไม่เพียงแต่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการเก็บภาพสวย แต่มันคือลักษณะสุดยอดของจุดเล่นเครื่องร่อนอีกจุดหนึ่ง ที่แฟนเครื่องร่อนพันธุ์แท้ควรมาพิชิตให้ได้..อย่างน้อยสักครั้งในชีวิต

บริการลูกหาบบนดอยม่อนจอง
บริการลูกหาบ จำเป็นอย่างมากกับทางขึ้นดอยสูงชันและสัมภาระพิเศษที่เราต้องแบกเอง ทำให้สัมภาระปกติ ตกไปอยู่ในมือของลูกหาบ

ม่อนจองเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น และการเข้าไปในพื้นที่ ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่เสมอ เราตั้งใจล่วงหน้าไว้หลายเดือนสำหรับการเดินทางครั้งนี้ ผมได้ศึกษามาก่อนว่าแนวเขาม่อนจองทอดตัวยาวเหนือ-ใต้ โดยมีหน้าผาชันด้านทิศตะวันตก และป่าทึบในทิศตะวันออก นั่นหมายถึงลมสโล้ปที่เหมาะสมควรเป็นลมที่พัดปะทะเข้าหน้าผาจากทิศตะวันตก ซึ่งไม่ใช่สิ่งปกติของลมหนาวที่มักจะพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นี่เองเป็นความหนักใจอย่างหนึ่ง ได้สอบถามเพื่อนนักเดินป่าก็จะบอกได้เพียงว่า “ลมแรง” แต่จำไม่ได้ว่าเป็นลมทิศไหน

ดังนั้นการเตรียมเครื่องร่อนให้ปลอดภัย คงต้องอาศัยเครื่องที่มีมอเตอร์ในตัว เพื่อช่วยส่งตัวเองไต่ระดับได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาลมยกจากสโล้ปเพียงอย่างเดียว

จากการศึกษาจากภาพถ่ายของนักท่องเที่ยวที่ได้เดินทางไปก่อน ทำให้มีหวังอยู่พอสมควรว่าลมจะพัดเข้าทางหน้าเขาอย่างที่เครื่องร่อนต้องการ โดยสังเกตได้จากยอดหญ้าที่ลู่เอียงไปตามแนวลม แสดงว่า ณ ดอยแห่งนี้..ลมตะวันตกในฤดูหนาว ไม่ใช่เรื่องเกินฝัน

และแล้วเวลาเดินทางก็มาถึง ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ผมรวบรวมทีมเดินทางซึ่งมีนักเล่นเครื่องร่อนสองคนและญาติมิตรที่ไม่ได้เล่นเครื่องร่อนอีกสี่คน รวมคณะเดินทางหกชีวิต ออกจากกรุงเทพฯในช่วงดึกของคืนวันศุกร์ เดินทางด้วยเส้นทางสายเหนือตามเส้นทาง จังหวัดตาก อ.เถิน อ.ลี้ อ.ดอยเต่า อ.ฮอด และ อ.อมก๋อย ในที่สุด จาก อ.อมก๋อย มุ่งหน้าไปตามเส้นทางสู่บ้านแม่ตื่นได้ 40 กิโลเมตรก็จะถึงหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านมูเซอ รวมเวลาเดินทางด้วยรถยนต์จนถึงจุดนี้ประมาณ 12 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับและแนะนำเราแก่ผู้ให้บริการรถ 4WD และลูกหาบ 4 คนที่ผมติดต่อจองไว้ล่วงหน้า

มีนกับ Windy 1.7
คุณมีน อวดเครื่องร่อน Windy 1.7 สีเหลืองสด

เราจัดการจัดสัมภาระเท่าที่จำเป็นบนเขา(เต้นท์นอน เสบียง เครื่องกันหนาว ของใช้ส่วนตัว) เพื่อให้ลูกหาบจัดการแบกขึ้นเขา ส่วนเครื่องร่อนและกล้องถ่ายรูป พวกเราแบ่งกันรับผิดชอบเอง รถกระบะ 4WD พาเราเดินทางขึ้นเขาสูงชันไปอีกประมาณหนึ่งชั่วโมงก็ถึงจุดที่ต้องลงเดินด้วยเท้าต่อ ถึงจุดนี้มีความเสียหายเกิดกับเครื่องร่อนบ้าง เนื่องจากในกระบะรถอัดแน่นกันด้วยพวกเราและลูกหาบพร้อมเจ้าหน้าที่ดูแลอีกหนึ่งท่าน นั่งโขยกโยกเยกกันไปในรถ การแพคเครื่องร่อนที่ดีกว่านี้คงจะช่วยลดความเสียหายได้..หากจะมีทริปต่อไป

ทางขึ้นดอย
ระหว่างทางขึ้นดอย มีจุดให้ถ่ายภาพเป็นช่วงๆ

การเดินขึ้นดอย ใช้เวลาประมาณสามชั่วโมง ซึ่งเป็นทางค่อนข้างชัน ต้องหยุดพักหลายครั้ง จัดเป็นการเดินป่าระดับยากปานกลาง เมื่อไต่ส่วนชันของดอยขึ้นไปแล้ว ในที่สุดก็จะมาถึงลานทุ่งหญ้ากว้าง เรียกว่า “สนามกอล์ฟช้าง” ด้านหนึ่งเป็นผาลาดชัน อีกด้านเป็นป่าทึบ ซึ่งเป็นจุดที่เหมาะที่สุดในการเล่นเครื่องร่อน ถึงจุดนี้ ลมปะทะเข้าทางตะวันตก ทางด้านลาดชันของหน้าผาพอดี นับว่าเราโชคดีมาก

เราจัดแจงเข้าพื้นที่กางเต้นท์ซึ่งอยู่ใกล้ๆสนามกอล์ฟช้าง มีนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นจับจองพื้นที่จนเกือบเต็ม โชคดีที่ยังเหลือพื้นที่ให้เรากางเต้นท์ได้พอดี ที่จุดนี้มีธารน้ำเล็กๆซึ่งสามารถใช้ทำอาหารได้ ผมใช้เครื่องกรองน้ำสำหรับนักเดินป่าจัดการกรองน้ำจากธารน้ำนี้ใช้ดื่มได้ตลอดเวลาที่เราพักอยู่

เมื่อกางเต้นท์ เตรียมอาหารแล้ว ตกเย็นก็ได้เวลาชมพระอาทิตย์ตกที่บริเวณสนามกอล์ฟช้าง เก็บภาพบรรยากาศอันสวยสงบของธรรมชาติ ผืนป่าโดยรอบบริเวณนี้ช่างสมบูรณ์จริงๆ เราปิดท้ายกิจกรรมก่อนจะเข้าเต้นท์นอนด้วยการนอนดูดาวบนทุ่งหญ้าสนามกอล์ฟช้าง ชมภาพเพดานโลกที่สวยงามเกินบรรยายท่ามกลางเสียงชะนีและสัตว์อื่นๆที่ผมไม่รู้จัก

สนามก๊อล์ฟช้าง
สนามก๊อล์ฟช้าง ลานกว้างที่เหมาะเล่นเครื่องร่อน

เสียงนักท่องเที่ยวเซ็งแซ่บริเวณแค้มป์ในช่วงหัวค่ำ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการหลับของผม เนื่องจากอ่อนเพลียจากการเดินทางจริงๆ มารู้สึกตัวอีกครั้งเวลาประมาณตีสอง ซึ่งโดนปลุกให้ตื่นด้วยความหนาวเหน็บ ต้องจัดการหาเครื่องนุ่งห่มเพิ่มเติมก่อนจะหลับต่อได้

ยอดดอยยามเช้า
ม่อนจองยามเช้า ความชุ่มชื้นลอยตัวขึ้นเป็นกำแพง

เวลาตีห้า เจ้าหน้าที่มาปลุกเพื่อเดินทางขึ้นหัวสิงห์ ซึ่งเป็นยอดสูงสุดของม่อนจอง ผมมองหาเจ้าลูกชายซึ่งนอนอยู่ในเต้นท์เดียวกัน เห็นแต่กองถุงนอนเล็กๆ ถามพี่ชายอีกคนก็ไม่รู้เรื่องว่าน้องหายไปไหน หลังจากเดินหงุดหงิดอยู่พักหนึ่ง ด้วยความจนปัญญาเลยลองเอาเท้าเขี่ยกองถุงนอนเล็กๆนั้นดู ก็ปรากฎพบคุณลูกนอนขดเหมือนกิ้งกือพยายามแปลงกาย เออ..ทำไปได้ เราเดินเท้าเป็นระยะทางประมาณสองกิโลเมตรเพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้น ในระหว่างนี้เห็นได้ชัดว่าความชุ่มชื้นของป่าดิบบนดอยสูงได้แสดงตัวโดยหมอกไอที่ลอยขึ้นสูงเป็นกำแพงขาวยาวตลอดแนวยอดดอย เบื้องล่างเป็นป่าดิบที่ยังคงสภาพความสมบูรณ์ เป็นภาพที่ไม่นึกมาก่อนว่าจะยังพบเห็นได้ในประเทศไทย ถึงตรงนี้..คงเป็นสุดยอด climax ของนักท่องเที่ยวทั่วๆไป แต่..สำหรับนักเล่นเครื่องร่อนอย่างเรา..ดี..ยังมีได้อีก..

ในตอนสาย..ก็มาถึงเวลาเตรียมเครื่องขึ้นบินบริเวณสนามกอล์ฟช้าง เราเตรียมเครื่องร่อนมาหลายลำ ตั้งแต่ Windy 1.7 (TAFLON), AlulaSS, Metal DLG (Metalmonster), Weasel(Metalmonster), Trike Glider (Nong Alula), Eagle Glider(Nong Alula) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็น

ลูกหาบกับเครื่องร่อน
ลูกหาบให้ความสนใจกับเครื่องร่อนที่เรานำมา

เครื่องร่อนที่สร้างขึ้นโดยคนไทยทั้งสิ้น มีบรรดาลูกหาบชาวเขาเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ใจจดใจจ่อ เนื่องจากพวกเขาไม่เคยเห็นเครื่องร่อนเหล่านี้มาก่อน และคงนึกสงสัยว่ามันจะบินได้อย่างไร เล่นกันอย่างไร

Windy 1.7
Windy 1.7 เป็นลำแรกที่บินขึ้นเพื่อเช็คสภาพอากาศ

เวลาเก้าโมงเศษ มีลมปะทะอ่อนๆเข้าหน้าเขา ผมจัดแจงนำ Windy 1.7 ทยานขึ้นก่อนเป็นลำแรก คงจะถือเป็น “ลำแรกในประวัติศาสตร์” ก็ว่าได้นะครับ เพราะลูกหาบชาวเขายืนยันว่าไม่เคยมีใครนำอะไรแบบนี้มาเล่นบนม่อนจองมากก่อน

ผมเปิดมอเตอร์เพียงไม่กี่วินาทีเพื่อพา Windy 1.7 พ้นหน้าเขาไป จากนั้นลมยกจากสโล้ปก็เริ่มทำงาน พาเครื่องร่อนลอยขึ้นหลังจากปิดมอเตอร์แล้ว ลูกหาบชาวเขาต่างร้องอื้ออึงปนเสียงหัวเราะจากความประหลาดใจ “บินแล้ว..โห..” เครื่องร่อนบินโฉบไปมาอย่างเงียบๆอยู่บนท้องฟ้าโดยไม่ต้องใช้พลังงานในตัว อาศัยแต่กระแสลมยกจากธรรมชาติ คุณมีนไม่รอช้า บรรยายสรรพคุณของเครื่องร่อนให้ชาวเขาได้เข้าใจ ผมขยายวงจรบินออกกว้างเพื่อตรวจกระแสลมยก ปรากฏว่ามีบริเวณกว้างมาก สามารถส่งเครื่องร่อนไปได้ไกลจนเกือบลิบตา “โห..ไกล..ปู๊นนนน” เสียงอุทานอันน่ารักจากชาวเขามาเข้าหูพวกเราอีกครั้ง

คุณมีน นำ Metal DLG ขึ้นด้วยการเหวี่ยงบนลานกว้าง ทันทีที่เครื่องบินพ้นขอบสโล้ปก็โดนลมยกพยุงขึ้นอย่างแรง แถมด้วยการบินวงจรหวาดเสียวโดยตีวงอ้อมไปเหนือกลุ่มต้นไม้บริเวณลมกด ทำให้เครื่องโฉบลงด้วยความเร็วสูง ผมแอบมองอยู่ไกลๆนึกในใจว่า “เสร็จแน่ๆ..” แต่คุณมีนก็เอาตัวรอดได้หลายครั้งในวงจรนั้น

Alula SS
อลูล่า SS เครื่องร่อนคล้ายเหยี่ยว น้ำหนักราวๆ 2 ขีด

ถึงคราวที่ผมจะเล่นลมยกเพียวๆแบบไม่ต้องมีมอเตอร์บ้าง นำเจ้า AlulaSS ขึ้นบินอยู่สักพัก ก็สังเกตเห็นการเกิดเทอมอลที่ชัดเจนมาก คือกลุ่มไอน้ำจากป่าดิบเบื้องล่างได้พร้อมใจกันยกตัวขึ้นตลอดแนวหุบเขา เกิดเป็นกลุ่มเมฆหมอกที่ลอยขึ้นมา ราวกับมีใครต้มซุปหม้อยักษ์อยู่เบื้องล่าง ผมร้องโวยวายให้ทุกคนดู “เห็นเทอมอลไม๊..เห็นโคตรเทอมอลไม๊..”

ความชุ่มชื้นของป่าดิบที่สะสมไว้ในช่วงกลางคืนที่อากาศหนาวเย็น ขณะนี้ถูกกระตุ้นด้วยแสงอาทิตย์ยามสาย ต่างพร้อมใจกันคลายตัวลอยขึ้นมาพร้อมๆกัน หุบเขาที่กว้าง-ยาวเป็นกิโลเมตร เต็มไปด้วยทะเลแห่งเทอมอลที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นปรากฎการณ์ที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับนักเล่นเครื่องร่อนมาก นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของผมจริงๆ

ผมนำเจ้า AlulaSS บินโฉบอยู่ในทะเลเทอมอลด้วยความปิติ คอยระวังไม่ให้เข้าไปลึกในกลุ่มเมฆมากเกินไปจนมองไม่เห็น แต่ก็มีบางจังหวะที่ดูเหมือนว่าเครื่องร่อนจะถูกกลืนหายเข้าไป จนผู้ชมร้องทักว่าผมยังมองเห็นและยังบังคับได้หรือเปล่า แต่ด้วยความเคยชินรู้นิสัยเครื่องร่อนลำนี้แล้ว ก็ยังไม่เกินกำลังที่จะควบคุมมัน

เทอมอลชุดมหึมานี้ปรากฎอยู่ประมาณ 20 นาที หลังจากนั้นลมก็สงบ ผมประมาณไม่ถูกว่ากลุ่มเมฆก้อนใหญ่มหึมาที่เกิดขึ้นใหม่นี้ จะมีปริมาณความชื้นกี่ร้อยตัน แต่มั่นใจว่าเมื่อถึงเวลาและสถานที่อันเหมาะสม ความชุ่มชื้นเหล่านี้จะตกลงมาชะโลมผืนดินและอำนวยความสุขแก่มนุษย์อย่างเราได้มากมาย แม้เครื่องร่อนลำอื่นๆจะไม่มีโอกาสได้บินอีก แต่เรายอมรับโดยดุษฎีว่าเราเตรียมเครื่องร่อนมามากเกินความจำเป็น ถึงเวลาต้องเดินทางกลับแล้ว..

ดอยม่อนจอง
ม่อนจอง..ธรรมชาติที่งดงาม

เราถูกบันดาลใจให้มาม่อนจองด้วยความสวยอันมีเสน่ห์ของสถานที่นี้ สำหรับนักเล่นเครื่องร่อน การได้เล่นเครื่องร่อนบนม่อนจองสักครั้ง คงถือเป็นรางวัลแก่ชีวิตที่ไขว่ขว้าได้ แต่การได้มาสัมผัสความยิ่งใหญ่และการแสดงแสนยานุภาพแห่งคุณประโยชน์ของป่าไม้ที่สมบูรณ์ ทำเราประจักษ์ว่า ป่าที่สมบูรณ์..ช่างมีพลัง..มีคุณอนันต์ ภาพแห่งเทอมอลมหึมาที่เกิดต่อหน้าต่อตา ทำให้เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ถ้ายังอยากให้ลูกหลานมีชีวิตอย่างปกติสุข ป่าไม้..ต้องถูกรักษาไว้ และการเล่นเครื่องร่อน..เป็นเพียงวิถีแห่งความสุขอีกทางเลือกหนึ่ง ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ทำให้เราได้เข้าใจ ใส่ใจ และเคารพในธรรมชาติมากขึ้น..

ปิดท้ายด้วยคลิปที่ถ่ายด้วยกล้องขนาดเล็กบนเครื่อง Windy1.7 ที่บินหน้าหน้าผาดอยม่อนจอง
สวัสดีครับ

การเล่นเครื่องร่อนบังคับวิทยุ เป็นอีกกิจกรรมกลางแจ้งที่น่าสนใจสำหรับผู้นิยมการท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงอนุรักษ์ และท้าทายสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องเทคโนโลยีการบิน สามารถเล่นเป็นกีฬาเพื่อการออกกำลังกาย และการพักผ่อนได้เป็นอย่างดี

เครื่องร่อนบังคับวิทยุ ต่างจากเครื่องบินบังคับวิทยุตรงที่ “เครื่องบิน” อาศัยกำลังจากเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ในการขับเคลื่อนตลอดเวลา ส่วน “เครื่องร่อน” นั้นอาศัยลมยกจากธรรมชาติในการยกตัว อาจจะอาศัยเครื่องยนต์หรือมอเตอร์บ้างเพื่อไต่ขึ้นระดับความสูง จากนั้นจะตัดกำลังระบบขับเคลื่อนเพื่อทำการร่อนที่แท้จริง เราจะถือเกณฑ์ตัดสินง่ายๆว่าเป็นการบินของเครื่องร่อนหากมีการใช้กำลังขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์น้อยกว่าร้อยละสิบของเวลาที่ทำการบินทั้งหมด

ความท้าทายของเครื่องร่อนจึงอยู่ที่ประสิทธิภาพการสร้าง การบิน ความเข้าใจในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่นักบินจะต้องมีความละเอียดและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธรรมชาติรอบตัวให้ได้มากที่สุด

ความท้าทายในการบินเครื่องร่อน อยู่ที่การค้นหาลมยกตามธรรมชาติ แบ่งเป็นสองวิธีหลักๆ คือ การบินโดยอาศัยลมยกบนพื้นราบ (thermal soaring) และการบินโดยลมยกปะทะหน้าเขา (slope soaring)

อุปกรณ์ในการเล่นเครื่องร่อนบังคับวิทยุที่สำคัญที่สุดสองส่วน คือ ตัวเครื่องร่อน และเครื่องส่งวิทยุ ซึ่งภายในตัวเครื่องร่อน มีระบบควบคุมการบิน (control surfaces) ที่ถูกบังคับด้วยเครื่องส่งวิทยุ เหมือนเครื่องบินบังคับด้วยวิทยุทั่วไป เพียงแต่เครื่องร่อนอาจจะไม่มีระบบขับเคลื่อนในตัวเองเลยก็ได้

สำหรับข้อมูล ความรู้เพิ่มเติม และความช่วยเหลือในการเริ่มเล่นเครื่องร่อนบังคับวิทยุ สามารถศึกษาได้ที่ ห้องเครื่องร่อน http://www.rcthai.net หรือ http://www.f3kthailand.com

ตาเกิ้น
ตาเกิ้นhttp://takern.wordpress.com
นักสำรวจ, นักเขียน และนักเล่าเรื่อง

Leave a Reply

LATEST POSTS

ไปเรียนหลักสูตรปืนพกต่อสู้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

ผมเขียนบทความนี้ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2552 เขียนข้างหลังกระดาษสำเนา ป.4 (ทะเบียนปืน) ในช่องยิงทันทีที่เรียนเสร็จ เขียนด้วยความประทับใจของการสอนยิงปืนในคอร์สนี้ ถึงวันนี้แม้ว่าหลายๆอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ผมยังคงข้อความทุกอย่างที่เขียนในบทความนี้ไว้อย่างเดิมรวมทั้งรูปภาพเดิมที่อาจจะไม่ชัดนัก ด้วยความตั้งใจปัจจุบันโรงเรียนสอนยิงปืนแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมยิงปืนเขาสามยอด ยังตั้งอยู่ที่สถานที่เดิมในค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี สอนมาต่อเนื่องถึง 14 ปีแล้วถ้านับถึงวันนี้ หลักสูตรพัฒนาไปมาก และมีถึง 8 หลักสูตรให้เรียนได้ตามลำดับขั้น และยังสอนโดยหัวหน้าชุดครูท่านเดิมที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะให้คนไทยได้เรียนรู้การใช้อาวุธปืนได้อย่างถูกต้องผมเชื่อว่าที่นี่คือโรงเรียนสอนยิงปืนที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถเรียนได้ในประเทศไทย ผมเขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้ที่ตอนท้ายของบทความนี้ครับ ในสังคมที่บิดเบี้ยวมากขึ้นทุกวัน ดูเหมือนพวกเราสุจริตชนจะต้องเสี่ยงกับภัยคุกคามรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโจร...

แค้มปิ้งชุมชน

มาถึงวันนี้เราสูญเสียพื้นที่ที่สวยงามตามธรรมชาติไปมากมายแล้ว พื้นที่ที่มีเจ้าของก็ถูกสร้างเป็นบ้านพักเป็นรีสอร์ต ในอุทยานของรัฐเองหลายแห่งก็ถูกดัดแปลงสภาพไปจนแทบไม่เหลือธรรมชาติเดิม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเป็นสนามหญ้าเรียบ, ปลูกไม้ดอกจัดแถวเป็นแนว ไปจนถึงทำทางเดินจากแท่งปูนและไม้เทียมให้ขัดตา อีกหลายๆพื้นที่ที่จัดการโดยองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นหลายที่ก็ถูกทำลายไปด้วยเรื่องคล้ายๆกัน   เรายังพอจะมีพื้นที่สวยงามหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นดอยสูง, ริมห้วย ริมแม่น้ำ หรือชายทำเลย  พื้นที่เหล่านี้ถ้าอยู่ในเขตอุทยานก็มักจะห้ามเข้า ส่วนที่อยู่นอกอุทยาน ถ้าไม่อยู่ห่างไกลก็อาจจะเข้าถึงลำบาก แต่ก็มีอีกบางส่วนที่ซ่อนเร้นอยู่ใกล้ตาที่คนมองข้าม แต่จากบทเรียนที่เราเห็นๆกันมาแล้ว ก็ทำให้เกิดคำถามว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ “การเข้าถึง”,​ “การคงอยู่ของธรรมชาติ” และ “การสร้างรายได้ของชุมชน” อยู่ร่วมกันได้ ความเป็นไปได้ทางหนึ่งก็อาจจะเป็นสิ่งที่ผมอยากเรียกว่า “แค้มปิ้งชุมชน” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ มีอยู่แล้วมากมายในหลากหลายประเทศ...

Salmon Fishing ที่นอร์เวย์

ผมรัก Fly Fishing เพราะมันพาผมไปอยู่ในที่สวยที่สุดในโลกหลายๆแห่งที่น้อยคนจะได้เห็น ครั้งนี้มันพาผมไปตกปลาแซลม่อนที่แม่น้ำที่งดงามของ Norway ผมได้ไปสัมผัสกับเรื่องราวของปลาแซลม่อนที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลกใบนี้ แต่คนเรากลับมองข้ามความสำคัญของมันและทำลายความอุดมสมบูรณ์ที่ล้ำค่านี้ไปจนเหลือเพียงเศษเสี้ยวของที่เคยมีในอดีต

Fly Fishing Yellowstone

ทริปตกปลาที่ Yellowstone National Park ที่ที่หลายคนเรียกว่า Shangri-la ของนักตกปลาเทร้าท์

Most Popular

%d